Friday, 19 April 2024
TodaySpecial

วันนี้มีความสำคัญทางการแพทย์ และกับประชาชนทั่วไป เนื่องจากถูกยกให้เป็น ‘วันไบโพลาร์โลก’ โรคที่ผู้คนในยุคสมัยใหม่หลายราย กำลังประสบอยู่ ซึ่งนับวันจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น วันนี้จึงมีความสำคัญ เพื่อให้ผู้คนได้ตื่นรู้กับอาการผิดปกติทางอารมณ์

‘ไบโพลาร์’ จัดว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง เรียกอีกอย่างว่า ‘โรคอารมณ์สองขั้ว’ เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีการแสดงออกของความผิดปกติทางอารมณ์ กล่าวคือ ประเดี๋ยวมีอารมณ์พลุ่งพล่าน ประเดี๋ยวมีอารมณ์ซึมเศร้า เรียกว่ามีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

มีตัวเลขรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย นับจากปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ มีจำนวนที่สูงขึ้นทุกปี โดยเมื่อปี พ.ศ. 2558 พบมากถึงกว่า 9,000 ราย ทั้งนี้พบในเพศหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน

สาเหตุสำคัญของการเกิดอาการของโรค คือ มีสารเคมีในสมองที่ผิดปกติไป จนเกิดการควบคุมอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ และมีอาการแปรผันทางอารมณ์อย่างสุดขั้ว

อันตรายจากการเกิดโรคไบโพลาร์ อาจนำซึ่งภาวะการฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น จึงควรดูแลผู้ที่กำลังป่วยด้วยอาการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด มากไปกว่านั้น คือการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะร้ายแรงนี้ โดยเฉพาะในยุคที่เต็มไปด้วยข่าวสาร การแข่งขัน ความรวดเร็ว ควรใช้ชีวิตให้ผ่อนคลาย เดินทางสายกลาง ไม่มากไป ไม่น้อยไป ควบคุมเวลานอนหลับให้เพียงพอ พยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้กับตัวเอง ลดความเครียดที่มีอยู่

สำหรับวันนี้ที่เป็นวันไบโพลาร์โลก คงไม่มีใครอยากมีปัญหาทางสุขภาพจิต แต่ชีวิตของแต่ละคนก็พบเจอกับปัญหาไม่เหมือนกัน สิ่งที่ทำได้ คือความเชื่อมั่นในตนเอง และรู้จักปล่อยวางกับปัญหา คิดเสียว่า ไม่มีปัญหาใดที่จะอยู่กับเราไปตลอด เริ่มต้นฝึกวิธีคิดเสียตั้งแต่วันนี้ เมื่อจิตใจดี ชีวิตก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

.

ที่มา: คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการและดูแลโรคอารมณ์สองขั้ว โรงพยาบาลศรีธัญญา, https://th.rajanukul.go.th/preview-3181.html


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ทุกวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ถูกยกให้เป็น ‘วันมหาเจษฎาบดินทร์’ หรือวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทรฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม หรือตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุลาลัย

แต่เดิมพระองค์มีสกุลยศชั้นหม่อมเจ้า พระนามว่า หม่อมเจ้าชายทับ กระทั่งเมื่อสมเด็จพระราชชนกได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ. 2352 พระองค์จึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ จนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านความมั่นคง การศึกษา โดยในยุคสมัยของพระองค์ มีการพิมพ์หนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรก รวมทั้งมีหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศ โดยหมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) นอกจากนี้ยังมีหนังสือบทกลอนที่ชื่อ นิราศลอนดอน ที่ถูกตีพิมพ์ขายเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ในด้านกิจการค้า ที่ถือว่าเป็นยุคทองของประเทศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการค้าขาย ทั้งกับกับชาวเอเชียและชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้ากับชาวจีน โดยมีการแต่งสำเภาทั้งของข้าราชการ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าชาวจีน ไปค้าขายยังเมืองจีนและประเทศใกล้เคียง รวมทั้งเปิดการค้ากับมหาอำนาจตะวันตก ส่งผลให้พระคลังสินค้าตลอดรัชสมัยของพระองค์ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำเพื่อประเทศชาติ ในเวลาต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็น ‘วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ หรือ ‘วันเจษฎาบดินทร์’ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของชาติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ พระราชสมัญญาว่า ‘พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ มีความหมายว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่’


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นการพยายามก่อการรัฐประหาร รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ก่อการเป็นนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7

หรือมีชื่อเรียกรุ่นว่า ‘ยังเติร์ก’ จนเป็นที่มาของชื่อการก่อการในครั้งนี้ว่า ‘กบฏยังเติร์ก’

‘กบฏยังเติร์ก’ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ‘กบฏเมษาฮาวาย’ เป็นการก่อรัฐประหารระหว่างวันที่ 1 - 3 เมษายน พ.ศ. 2524 โดยผู้ก่อการเป็นนายทหาร จปร. รุ่น 7 ได้แก่ พันเอก มนูญกฤต รูปขจร, พันเอก ชูพงศ์ มัทวพันธุ์, พันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร, พันโท พัลลภ ปิ่นมณี, พันเอก ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล, พันเอก แสงศักดิ์ มงคละสิริ, พันเอก บวร งามเกษม, พันเอก สาคร กิจวิริยะ โดยมีพลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ

โดยสาเหตุของการก่อกบฏครั้งนี้ เกิดจากความไม่พอใจของพลเอกสัณห์ ที่มีต่อพลเอกเปรม นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น เนื่องจากทางกองทัพบกมีการต่ออายุราชการให้กับพลเอกเปรม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ออกไปอีก 1 ปี ทำให้พลเอกสัณห์ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบก หมดสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงได้รวบรวมนายทหารสาย จปร.7 ก่อการรัฐประหาร

ทางฝ่ายรัฐบาล นำโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตั้งกองบัญชาการขึ้นมาตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร พร้อมส่งเครื่องบินเอฟ-5 อี ออกบินสังเกตการณ์ จนในที่สุดก็เคลื่อนกำลังพลเข้าปะทะกัน การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็วในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 เมื่อฝ่ายก่อการเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวม 155 คน นับเวลาของการทำรัฐประการครั้งนี้รวมแล้วทั้งสิน 55 ชั่วโมง

‘กบฏยังเติร์ก’ ถือเป็นการก่อการรัฐประหารที่มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต่อมาภายหลัง แกนนำฝ่ายก่อการได้หลบหนีออกนอกประเทศ จนเมื่อเวลาผ่านไป นายทหารผู้ร่วมก่อการหลายคนก็ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ รวมทั้งมีหลายคนที่นำธูปเทียนไปขอขมาพลเอกเปรม ณ บ้านสี่เสาเทเวศน์ ซึ่งเป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

.

ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/กบฏยังเติร์ก,

https://www.thairath.co.th/news/politic/1501676


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีพระชันษาครบ 66 ปี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะทรงเข้าศึกษาต่อในระดับอุมดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญามหาบัณฑิตจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2529

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย พระองค์ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จนได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า ‘เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย’ และ ‘วิศิษฏศิลปิน’ ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรียังมีมติให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น ‘วันอนุรักษ์มรดกของชาติ’ เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ก่อนจะขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า_กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ_สยามบรมราชกุมารี

เราได้ยินชื่อ ‘โรงเรียนเสนาธิการทหารบก’ กันมายาวนาน แต่รู้หรือไม่ว่า วันนี้เมื่อ 112 ปีก่อน เป็นวันแรกที่มีการก่อตั้งสถานที่แห่งนี้ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ คือผู้ที่ทรงเล็งเห็นการพัฒนาทางการทหารของประเทศ

เมื่อครั้งที่ จอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก (ระหว่างปี พ.ศ. 2449 - 2452) ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทั้งนี้เพื่อให้การศึกษาแก่นายทหาร ที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ โดยทรงเป็นผู้จัดการวางแนวทางหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนเสนาธิการ ตลอดจนการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ในยุคแรกเริ่มนั้น นอกจากการวางรากฐานสำคัญให้กับโรงเรียนเสนาธิการทหารบก สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ยังทรงเรียบเรียงตำรา เรื่อง ‘พงศาวดารยุทธศิลปะ’ และเอกสารอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในช่วงเริ่มต้น ซึ่งตำราเหล่านี้ ถือเป็นแนวทางในการพัฒนาของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกตราบถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เปิดให้การสอนด้านยุทธวิธีทางการทหาร ให้กับเหล่านายทหารระดับมันสมองของกองทัพ โดยยังมีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้ามารับการศึกษา รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย และเปิดรองรับหลักสูตรมากมาย ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้หลักของกองทัพบก ที่เปี่ยมด้วยความรอบรู้ทางทหาร มีลักษณะผู้นำ มีจริยธรรม และมีวิสัยทัศน์


ที่มา:

http://www.cgsc.ac.th/,

https://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนเสนาธิการทหารบก,

https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเชษฐาธิราช_เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ_กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

วันนี้เมื่อ 33 ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่งถือเป็นข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประชาชนให้ความสนใจในอดีต รวมทั้งยังเป็นความพยายามของนักอนุรักษ์ฯ ในยุคแรก ๆ ที่สามารถส่งแรงกระเพื่อมเรื่องสิ่งแวดล้อมไปสู่สังคมได้

ย้อนเวลากลับไปราวปี พ.ศ. 2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความพยายามในการผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมาย คือการผลิตไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2532 ทั้งนี้ เขื่อนดังกล่าวจะถูกสร้างปิดกั้นแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณเขาน้ำโจน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมาโครงการดังกล่าว ถูกฝ่ายนักอนุรักษ์ฯ อาทิ สืบ นาคะเสถียร, นพ.บุญส่ง เลขะกุล ทำการคัดค้าน เนื่องจากการสร้างเขื่อนนี้ จะส่งผลให้มีน้ำท่วมป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 150,000 ไร่ นั่นหมายถึง ระบบนิเวศ ตลอดจนชีวิตสัตว์ป่าที่ต้องสูญเสียไปมากมาย

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่นำโดย สืบ นาคะเสถียร จึงได้มีความพยายามรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการ และอภิปรายให้ความรู้แก่ผู้คน ถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำโจน โดยมุ่งชี้ความสำคัญว่า พื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแห่งนี้ มีสัตว์ป่าหายาก และเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ผลจากการรณรงค์ให้ผู้คนรู้จักกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมากขึ้น ตลอดจนความพยายามนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ จึงนำมาซึ่งมติคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งระงับโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2531

ในเวลาต่อมา ‘ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร’ ที่ได้ชื่อว่า เป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก็ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกที่มีความสำคัญ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป


ที่มา: https://www.sarakadee.com/2017/09/01/เขื่อนน้ำโจน

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของชาวไทย โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจริญพระชันษาครบ 70 ปี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และลาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry) จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประชาชนมากมาย ที่ผ่านมา ทรงตั้งมูลนิธิ Miracle of Life เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการศาสนา

นอกจากนี้ยังทรงมีโครงการที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง นั่นคือ โครงการ TO BE NUMBER ONE ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาทั่วประเทศ มุ่งหมายให้เยาวชนใช้เวลาว่างมาร่วมกิจกรรม อันเปิดโอกาสให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ในเรื่องราวอันเป็นประโยชน์ โดยปัจจุบัน โครงการ TO BE NUMBER ONE ยังคงดำเนินงานต่อไป และกลายเป็นแม่แบบในการรณรงค์แก้ปัญหายาเสพติด ให้กับหลายประเทศได้นำไปใช้

ด้วยพระกรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระที่เป็นวันคล้ายวันประสูติครบ 70 ปี ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา_สิริวัฒนาพรรณวดี

วันนี้เป็นวันครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์ โดยถือเป็นหนึ่งในสถาบันการเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตลอดจนเป็นองค์ประกอบสำคัญ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นผู้นำในการรวมตัวกันของนักการเมือง วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งพรรคในครั้งนั้น เพื่อเป็นฝ่ายค้านคานอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีก 6 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2518, 2519 (2 ครั้ง), 2535, 2540 และ 2551 รวมทั้งได้เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลอีก 4 ครั้ง และเป็นพรรคฝ่ายค้านอีกรวมทั้งหมด 16 ครั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ยังถือเป็นพรรคแรกที่มีการหาเสียงด้วยวิธีการปราศรัย โดยเริ่มใช้ในการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ยังเป็นที่รับรู้กันว่า พรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงที่กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์สร้างสรรค์บุคลากรทางการเมืองออกมาทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศมากมาย และหลายคนก็ได้ก้าวขึ้นสู่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอีกด้วย

วันนี้ในวาระครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งพรรค ชื่อ ‘ประชาธิปัตย์’ ยังคงอยู่ในเวทีการเมืองไทยเช่นเดิม และยังคงทำหน้าที่เป็นสถาบันการเมืองหลักของชาติ รวมทั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พรรคประชาธิปัตย์

7 เมษายน พ.ศ. 2535 หรือวันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน เป็นอีกหนึ่งวันที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อพลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนับเป็นผู้นำสูงสุดทางการเมืองลำดับที่ 19 ของประเทศไทย

ย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกสุจินดา คราประยูร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น

ต่อมา หลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 มีพรรคการเมือง 5 พรรคได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร โดยทั้งหมดประกาศสนับสนุนให้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฎว่า นายณรงค์ติดบัญชีดำ ถูกห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีกรณีพัวพันกับเรื่องผิดกฎหมาย จนส่งผลให้ทั้ง 5 พรรค เปลี่ยนการนำเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ไปเป็นพลเอก สุจินดา คราประยูร แทน

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 จึงมีพระบรมราชโองการให้พลเอก สุจินดา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย พร้อมกับการเอ่ยประโยคสำคัญของเจ้าตัวที่ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เนื่องจากก่อนหน้านั้น พลเอก สุจินดา ปฏิเสธจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ หลังจากคืนอำนาจการบริหารประเทศให้กับนักการเมืองอีกครั้ง

ในเวลาต่อมา จึงมีกระแสคัดค้านในการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของพลเอก สุจินดา จากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม จนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของประชาชน เพื่อเรียกร้องให้พลเอก สุจินดา ลาออก กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือ ‘พฤษภาทมิฬ’ ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ต่อมา พลเอก สุจินดา จึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง และยุติบทบาททางการเมืองอย่างถาวร รวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 47 วัน


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/พฤษภาทมิฬ,

https://www.prachachat.net/politics/news-618844,

https://sites.google.com/site/doqfiqht/home/phl-xek-su-cinda-khra-prayur

วันนี้เมื่อกว่า 237 ปีมาแล้ว ประเทศไทยมีการสร้างโบราณสถานชิ้นสำคัญ นั่นคือ เสาชิงช้า โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1

โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้พระครูสิทธิชัย สร้างเสาชิงช้าขึ้น ณ บริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นเสาชิงช้าที่ทำด้วยไม้สัก ทาสีแดง สูงประมาณ 21 เมตร มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน บริเวณฐานก่อเป็นฐานปัทม์ ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีแดง

เหตุของการสร้างเสาชิงช้านั้น เพื่อใช้ในพิธีโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย โดยความเชื่อแต่โบราณ เป็นการต้อนรับพระอิศวร ที่เสด็จลงมาสู่โลกในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือนยี่ ทั้งนี้จึงจัดให้มีการโล้ชิงช้า และมีการแห่พระเป็นเจ้า ไปถวายพระพรแก่พระเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีดังกล่าว ถูกยกเลิกเมื่อเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 7 แต่ยังคงเสาชิงช้าเอาไว้เพื่อให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยที่ผ่านมา เสาชิงช้าได้ถูกบูรณะซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้า ให้เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของชาติ

และนับถึงวันนี้ เสาชิงช้ามีอายุมากว่า 237 ปีแล้ว รวมทั้งกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่ง ที่สะท้อนความเป็นเมืองหลวงกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/เสาชิงช้า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top