7 เมษายน พ.ศ. 2535 หรือวันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน เป็นอีกหนึ่งวันที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อพลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนับเป็นผู้นำสูงสุดทางการเมืองลำดับที่ 19 ของประเทศไทย

ย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พลเอกสุจินดา คราประยูร ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น

ต่อมา หลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 มีพรรคการเมือง 5 พรรคได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร โดยทั้งหมดประกาศสนับสนุนให้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฎว่า นายณรงค์ติดบัญชีดำ ถูกห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีกรณีพัวพันกับเรื่องผิดกฎหมาย จนส่งผลให้ทั้ง 5 พรรค เปลี่ยนการนำเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ไปเป็นพลเอก สุจินดา คราประยูร แทน

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 จึงมีพระบรมราชโองการให้พลเอก สุจินดา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย พร้อมกับการเอ่ยประโยคสำคัญของเจ้าตัวที่ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เนื่องจากก่อนหน้านั้น พลเอก สุจินดา ปฏิเสธจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ หลังจากคืนอำนาจการบริหารประเทศให้กับนักการเมืองอีกครั้ง

ในเวลาต่อมา จึงมีกระแสคัดค้านในการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของพลเอก สุจินดา จากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม จนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของประชาชน เพื่อเรียกร้องให้พลเอก สุจินดา ลาออก กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือ ‘พฤษภาทมิฬ’ ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ต่อมา พลเอก สุจินดา จึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง และยุติบทบาททางการเมืองอย่างถาวร รวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 47 วัน


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/พฤษภาทมิฬ,

https://www.prachachat.net/politics/news-618844,

https://sites.google.com/site/doqfiqht/home/phl-xek-su-cinda-khra-prayur