วันนี้เมื่อ 33 ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่งถือเป็นข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประชาชนให้ความสนใจในอดีต รวมทั้งยังเป็นความพยายามของนักอนุรักษ์ฯ ในยุคแรก ๆ ที่สามารถส่งแรงกระเพื่อมเรื่องสิ่งแวดล้อมไปสู่สังคมได้

ย้อนเวลากลับไปราวปี พ.ศ. 2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความพยายามในการผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมาย คือการผลิตไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2532 ทั้งนี้ เขื่อนดังกล่าวจะถูกสร้างปิดกั้นแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณเขาน้ำโจน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมาโครงการดังกล่าว ถูกฝ่ายนักอนุรักษ์ฯ อาทิ สืบ นาคะเสถียร, นพ.บุญส่ง เลขะกุล ทำการคัดค้าน เนื่องจากการสร้างเขื่อนนี้ จะส่งผลให้มีน้ำท่วมป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 150,000 ไร่ นั่นหมายถึง ระบบนิเวศ ตลอดจนชีวิตสัตว์ป่าที่ต้องสูญเสียไปมากมาย

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่นำโดย สืบ นาคะเสถียร จึงได้มีความพยายามรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการ และอภิปรายให้ความรู้แก่ผู้คน ถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำโจน โดยมุ่งชี้ความสำคัญว่า พื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแห่งนี้ มีสัตว์ป่าหายาก และเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ผลจากการรณรงค์ให้ผู้คนรู้จักกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมากขึ้น ตลอดจนความพยายามนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ จึงนำมาซึ่งมติคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งระงับโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2531

ในเวลาต่อมา ‘ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร’ ที่ได้ชื่อว่า เป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก็ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกที่มีความสำคัญ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป


ที่มา: https://www.sarakadee.com/2017/09/01/เขื่อนน้ำโจน