วันนี้เมื่อกว่า 237 ปีมาแล้ว ประเทศไทยมีการสร้างโบราณสถานชิ้นสำคัญ นั่นคือ เสาชิงช้า โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1

โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้พระครูสิทธิชัย สร้างเสาชิงช้าขึ้น ณ บริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นเสาชิงช้าที่ทำด้วยไม้สัก ทาสีแดง สูงประมาณ 21 เมตร มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน บริเวณฐานก่อเป็นฐานปัทม์ ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีแดง

เหตุของการสร้างเสาชิงช้านั้น เพื่อใช้ในพิธีโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย โดยความเชื่อแต่โบราณ เป็นการต้อนรับพระอิศวร ที่เสด็จลงมาสู่โลกในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือนยี่ ทั้งนี้จึงจัดให้มีการโล้ชิงช้า และมีการแห่พระเป็นเจ้า ไปถวายพระพรแก่พระเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีดังกล่าว ถูกยกเลิกเมื่อเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 7 แต่ยังคงเสาชิงช้าเอาไว้เพื่อให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยที่ผ่านมา เสาชิงช้าได้ถูกบูรณะซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้า ให้เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของชาติ

และนับถึงวันนี้ เสาชิงช้ามีอายุมากว่า 237 ปีแล้ว รวมทั้งกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่ง ที่สะท้อนความเป็นเมืองหลวงกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/เสาชิงช้า