Thursday, 25 April 2024
TodaySpecial

วันที่ 17 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวหมัดมวย เนื่องจากวันนี้ถูกยกให้เป็น ‘วันนายขนมต้ม’ สุดยอดนักมวยไทยเลื่องชื่อที่ถูกเล่าขานกันมาหลายร้อยปี

นายขนมต้ม เป็นนักมวยที่มีฝีไม้ลายมืออันเก่งกาจ เขาเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธา ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสมัยเด็ก ๆ นายขนมต้มอาศัยอยู่ในวัด ได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีความสามารถในศิลปะป้องกันตัวชนิดนี้เป็นอย่างมาก

ต่อมา พ่อแม่และพี่สาวของนายขนมต้มถูกฆ่าตายในสงคราม เหลือเพียงแต่นายขนมต้มที่รอดชีวิต แต่เจ้าตัวก็ถูกจับมาเป็นเชลยในระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 กระทั่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2317 นายขนมต้มได้มีโอกาสขึ้นชกมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า และสามารถเอาชนะนักมวยพม่าได้ถึง 10 คน

พระเจ้ามังระจึงปูนบำเหน็จให้เป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่นายขนมต้มปฏิเสธ และได้ขอเปลี่ยนให้เป็นการปลดปล่อยตนและเชลยคนไทยทั้งหมด ในที่สุดนายขนมต้มจึงได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิด ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งการตอสู้ในครั้งนั้น ทำให้ชื่อของนายขนมต้ม เป็นที่เลื่องลือ และศิลปะแม่ไม้มวยก็ได้รับการยกย่อง

เมื่อเวลาผ่านไป อนุชนคนรุ่นกลัง จึงได้ยกให้วันที่ 17 มีนาคมของทุกปี ให้เป็นวันนายขนมต้ม หรือ วันมวยไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูบรมครูมวยไทยคนนี้ รวมทั้งยังเป็นการให้เกียรติเหล่านักมวยไทย ที่สืบสานศิลปะป้องกันตัวของชาติให้คงอยู่สืบไป


ที่มา:

https://th.wikipedia.org/wiki/นายขนมต้ม

https://www.thairath.co.th/news/881791

วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนา พรรณวดี มีอายุครบ 36 ปีบริบูรณ์

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2528 ที่เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพี่สาวและพี่ชาย คือ ท่านผู้หญิงพลอยไพลิน และคุณพุ่ม เจนเซน ในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา หรือ คุณใหม่ ได้ศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเอิร์ลวอร์เรนจูเนียร์ (Earl Warren Junior High School) และโรงเรียนมัธยมศึกษาทอร์เรย์ไพนส์ (Torrey Pines High School) ก่อนที่สำเร็จการศึกษาด้านวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออก

หลังสำเร็จการศึกษา ท่านผู้หญิงสิริกิติยาได้ทำงานหลากหลายด้าน อาทิ ทำงานด้านการออกแบบ โดยเริ่มฝึกงานกับ โยจิ ยามาโมโตะ นักออกแบบชื่อดังชาวญี่ปุ่น และทำงานกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่างแอร์เมส กระทั่งกลับมาเมืองไทย จึงได้เข้าฝึกงานในกลุ่มงานวิชาการการอนุรักษ์ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ของกรมศิลปากร

ในปี พ.ศ. 2561 ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเป็นผู้อำนวยการในโครงการ ‘วังน่านิมิต’ ซึ่งเป็นผลงานการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชวังบวรสถานมงคล ผ่านเทคโนโลยีสื่อในรูปแบบภาพ (Visual Language) ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมาย ต่อมายังมีผลงานอันน่าสนใจอื่น ๆ อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของท่านผู้หญิงสิริกิติยา กับการตามรอยเสด็จประพาสรัชกาลที่ 5 ที่นอร์เวย์ ในวาระครบรอบ 115 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - นอร์เวย์ พ.ศ.2563

ด้วยเจตนารมย์ในการสืบสานประวัติศาสตร์ไทยในหลากหลายบริบท เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงทำให้ท่านผู้หญิงสิริกิติยา มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการผลักดันผลงานศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้ได้รับความสนใจ และถูกสานต่ออย่างถูกต้องและดีงามต่อไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สิริกิติยา_เจนเซน

กลุ่ม อสม. หรือ อาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่เป็นหน่วยหน้าในการเข้าไปพบปะดูแล ให้ความรู้เรื่องอาการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 ของคนไทยในชนบท ซึ่งในวันนี้ก็มีการยกให้เป็นวันสำคัญของพวกเขา นั่นคือ วันอสม. หรือวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ให้ทุกวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันอสม.แห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ และส่งเสริมให้อสม.ได้รวมพลังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประขาชนชาวไทย โดยได้ดำเนินการจัดงานเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา

กล่าวถึง อสม.เป็นโครงการที่กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2520 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีประหยัด ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาวะการขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในชนบท จึงได้เปิดรับมัครผู้ที่มีความสมัครใจในการทำงานเพื่อส่วนรวม โดยเป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้ใจ และมีที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อมาร่วมเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

ในระยะแรกเริ่ม มีการทดลองใน 20 จังหวัด โดยอสม.จะยึดหลักการทำงานที่ว่า ‘แก้ข่าวร้าย กระจ่ายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี’ จนต่อมาได้ขยายจำนวนของอสม. มากขึ้น กระจายไปทุก ๆ จังหวัดของประเทศไทย

กระทั่งในปัจจุบัน มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมือง และเขตชนบท เพื่อทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นเตือน และส่งเสริมชักชวนให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันโรค

โดยเฉพาะในช่วงปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติโควิด -19 ระบาด กลุ่มอสม. ถือเป็นกองทัพมดงาน ที่กระจายกำลังลงไปในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 11 ล้านครัวเรือน เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ และการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคระบาดชนิดนี้ รวมทั้งยังช่วยเก็บข้อมูลด้านสาธารณสุข ส่งกลับมาให้หน่วยงานใหญ่ หรือภาครัฐ ได้ใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญอีกด้วย

ไม่ผิดไปนัก หากจะบอกว่า อสม. คือ ผู้ปิดทองหลังพระ โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดในตอนนี้ และในวันนี้ที่เป็นวันพิเศษของพวกเขา เราจึงขอร่วมชื่นชม และเป็นกำลังใจ ให้ทำหน้าที่เพื่อสังคมประเทศชาติต่อไปให้ดีที่สุด


ที่มา: https://hrdo.org/อสม-มดงานในระบบสุขภาพไท/

วันนี้เมื่อกว่า 237 ปีมาแล้ว ถูกบันทึกว่าเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธีอัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต มาประดิษฐานในพระอุโบสถ วันพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นครั้งแรก

กล่าวถึงพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญที่สุดของประเทศไทย ถูกจารึกว่าปรากฎเมื่อราวปี พ.ศ.1977 และได้ถูกอัญเชิญไปยังดินแดนต่าง ๆ มากมาย โดยในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงเป็นแม่ทัพตีได้เมืองเวียงจันทน์ และได้เชิญพระแก้วมรกตลงมายังกรุงธนบุรี โดยพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ยังวัดอรุณราชวราราม และมีพิธีสมโพช 3 วัน

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 จึงได้ทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 2 ปี เมื่อพระอุโบสถสร้างเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระแก้วมรกต ที่ประดิษฐานอยู่วัดอรุณฯ ในเวลานั้น มาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2327

พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไทย และมีความสำคัญ โดยเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร ได้พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระแก้วมรกตว่า ‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ ซึ่งแปลโดยย่อได้ว่า เป็น ‘เมืองเทวดาที่มีพระแก้วมรกตเป็นหลักชัย’

นอกจากนี้ ที่มาของคำว่า กรุงรัตนโกสินทร์ เกิดจากคำว่า รัตน์+โกสินทร์ โดย รัตนะ แปลว่า แก้ว ส่วน โกสินทร์ แปลว่า สีเขียว กรุงรัตนโกสินทร์ ก็คือ กรุงแก้วสีเขียว ซึ่งก็คือ เมืองแห่งพระแก้วมรกต นั่นเอง

กว่า 237 ปี นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ยังคงประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไทยมายาวนาน เสมือนเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว และสัญลักษณ์แห่งความดีงาม ที่คนไทยทุกหมู่เหล่า เดินทางมากราบไหว้สักการะกันอยู่เสมอ


ที่มา: https://lanpothai.blogspot.com/2019/03/blog-post.html

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย และถูกบันทึกกันมากว่า 115 ปี โดยเป็นวันที่ชาติฝรั่งเศส ได้ทำสัญญาคืน ‘จังหวัดตราด’ รวมทั้งเกาะต่าง ๆ ในอาณาบริเวณ ให้กับประเทศไทย หลังจากที่ยึดไว้ในการครอบครองกว่า 3 ปี

ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสได้ขยายอำนาจมาทางตะวันออกของแหลมอินโดจีน โดยครอบครองญวนและเขมรส่วนนอกไว้ทั้งหมด พร้อมทั้งอ้างสิทธิดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเดิม ว่าเป็นของญวนและเขมร ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงมีสิทธิครองครองดินแดนส่วนนี้ด้วย ซึ่งในเวลานั้น พื้นที่ดังกล่าว อยู่ในการครอบครองของอาณาจักรสยาม

จึงเป็นที่มาของการการปะทะกันของกำลังทหารไทยและฝรั่งเศส กระทั่งไทยยอมทำสัญญาสงบศึกในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 โดยถอนทหารจากชายแดนทั้งหมด รวมทั้งเสียค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส และให้ยอมรับว่า ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดทั้งเกาะต่าง ๆ เป็นของฝรั่งเศส ประการที่สำคัญ รัฐบาลฝรั่งเศสยังได้ยึดครองจังหวัดจันทบุรีไว้จนกว่าจะปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนอีกด้วย

เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันท์เอาไว้ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 รัฐบาลไทยจึงได้ทำสัญญากับรัฐบาลฝรั่งเศส ยอมยกเมืองตราดและเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงลงไปถึงเกาะกูด ตลอดจนถึงเมืองประจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อให้ฝ่ายฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจังหวัดจันทบุรี จนต่อมาภายหลัง ฝรั่งเศสยินยอม และเข้าปกครองดินแดนตราดและเกาะกง ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2447 เป็นต้นมา

แต่แล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ไทยก็ได้ทำสัญญากับฝรั่งเศสอีกครั้ง โดยยอมยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองตราดคืนมา โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้ทำพิธีมอบเมืองตราดอย่างเป็นทางการให้กับประเทศไทยตามเดิม รวมเวลาที่จังหวัดตราดตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน 7 วัน

ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงดำเนินวิเทโศบายทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยพระปรีชาสามารถ จนในที่สุด ฝรั่งเศสยอมทำสัญญายกเมืองตราดคืนให้แก่ประเทศไทย จึงตั้งให้วันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันตราดรำลึก’ ทั้งนี้เพื่อน้อมถวาย และระลึกถึงวันสู่อิสรภาพของเมืองสำคัญแห่งนี้


ที่มา: http://www.trat.go.th/trat100/trat_100/trat50.htm, http://oknation.nationtv.tv/blog/buraphadialysis/2008/07/19/entry-1

วันนี้เมื่อราว 71 ปีก่อน เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยต่างรอคอย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัตประเทศไทย พร้อมด้วยพระคู่หมั้น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร (พระนาม ณ ขณะนั้น) โดยเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาสู่พระนคร

โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดระยะเวลานั้น ทรงเสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2488 พร้อมกับพระเชษฐา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลังการสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ในสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกอบพิธีหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กระทั่งในปี พ.ศ. 2493 จึงเสด็จนิวัตประเทศไทยอีกครั้ง ร่วมกับ ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้น โดยการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยพระคู่หมั้น เสด็จออกจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนา ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังท่าเรือวิลล์ฟรังซ์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประทับเรือเดินสมุทรซีแลนเดีย ออกจากฝรั่งเศส ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนลัดคลองสุเอซ สู่มหาสมุทรอินเดีย จนมาถึงสิงคโปร์

เมื่อเรือซีแลนเดียเทียบท่าที่ท่าเรือเกาะสีชัง จึงเปลี่ยนเรือพระที่นั่งเป็นเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์ เพื่อเสด็จฯ มายังป้อมพระจุลจอมเกล้า แล้วประทับเรือหลวงศรีอยุธยา เทียบที่ท่าราชวรดิฐ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย กรุงเทพมหานคร

การเสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งนั้น ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร จากนั้นในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามลำดับ


ที่มา:

https://www.hii.or.th/wiki84/

https://www.blockdit.com/posts/5ea770bcb0cefd12268089e7

http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/TheNationalArchives/index.php/exhibitions-narama9/34-building3/floor2.html

หนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการคู่กับกระบวนการทางกฎหมาย นั่นคือ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งในวันนี้ ถือเป็นวันสำคัญทางกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันก่อตั้ง กระทรวงยุติธรรม ที่มีอายุมากว่า 130 ปี

กระทรวงยุติธรรมของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยการสถาปนากระทรวงยุติธรรมขึ้นนั้น ถือได้ว่าเป็นงานปฏิรูปกฎหมายชิ้นแรกของยุคสมัยก็ว่าได้ ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง

แต่เดิมมีการใช้ชื่อว่า กระทรวงยุตติธรรม และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 โดยในระยะแรกเริ่ม ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ว่าจ้างเนติบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการต่างประเทศ เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ นายกุสตาฟ โรแลง แยกแมงส์ ชาวเบลเยี่ยม ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยราชา สยามนุกูลกิจ

เมื่อเวลาผ่านไป กระทรวงยุติธรรม ในปัจจุบัน ถูกพัฒนาเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ประเภทกระทรวงของไทย มีภารกิจเป็นหน่วยงานหลักของกระบวนการยุติธรรม ในการดำเนินการเพื่อพัฒนากฎหมาย และระบบบริหารจัดการของกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นเอกภาพ โปร่งใส คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชนทางกฎหมาย ป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหาอาชญากรรมในสังคมและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การบังคับคดีแพ่ง บังคับคดีล้มละลาย บังคับคดีทางอาญา รวมทั้งบำบัดแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

จากวันแรกจนมาสู่วันนี้ เป็นเวลากว่า 130 ปี ที่กระทรวงยุติธรรมดำเนินการด้วยหลักแห่งความเที่ยงธรรมตลอดมา ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีความสำคัญ และรักษาความเสมอภาคให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ


ที่มา:

https://www.lib.ru.ac.th/journal/oct/oct23_ck_index_6.html

https://th.wikipedia.org/wiki/กระทรวงยุติธรรม

ย้อนกลับไปราว 105 ปี วันนี้ถือเป็นวันสถาปนา ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐาน ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ขึ้นเป็น ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจาก ‘โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน’ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 โดยมี ‘พระเกี้ยว’ เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน ต่อมาได้มีการเปลี่ยนนามของโรงเรียน ไปเป็น ‘โรงเรียนมหาดเล็ก’ เพื่อใช้เป็นรากฐานของสถาบันการศึกษาขั้นสูง

จวบจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ใหม่ว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

และในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย พร้อมพระราชทานนามว่า ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ จึงถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยมีคณะวิชาที่เปิดสอน 19 คณะ ครอบคลุมสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีวิทยาลัย สำนักวิชา รวมทั้งบัณฑิตวิทยาลัย ที่แตกแยกย่อยออกไปอีกมากมาย โดยมีหลักสูตรทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และหลักสูตรนานาชาติรวมกว่า 506 หลักสูตร

ตลอดระยะเวลากว่า 105 ปี ที่มหาวิทยาลัยได้ถูกสร้างสรรค์พัฒนา จนเรียกได้ว่า เป็นสถาบันการศึกษาสำคัญแห่งหนึ่งของชาติ และจะดำรงคุณภาพ เพื่อยกระดับความรู้ให้กับประชาชนของชาติสืบไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือที่คนไทยรู้จักกันในพระนาม ‘พระองค์จุล’ เจ้านายชั้นสูงที่ทรงมีเชื้อสายชาวต่างชาติ เป็นพระองค์แรกในพระบรมราชวงศ์จักรี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 กับ หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก ชายาชาวรัสเซีย

เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ระดับประถม) จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ และทรงได้รับปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2477

เมื่อสำเร็จการศึกษา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงลอนดอน ต่อมา ทรงค้นพบว่า มีความสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ จึงทรงพระนิพนธ์หนังสือ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 เล่ม โดยเล่มที่ยังถูกกล่าวถึงมาจนปัจจุบัน ได้แก่ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง และไทยชนะ

ตลอดพระชนม์ชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประกอบกิจต่าง ๆ มากมาย โดยทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ อาทิ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 พระเจ้าแผ่นดินเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2477 ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ในงานพระบรมศพพระเจ้าจอร์จที่ 5 และงานพระบรมราชาภิเษก พระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมถึงทรงเป็นผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในงานพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ยังทรงมีกิจด้านการศุลมากมาย ตลอดจนบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่าง ๆ เนื่องจากทรงเล็งเห็นในความสำคัญของงานสาธารณสุข กระทั่งช่วงท้ายพระชนมชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประชวรเป็นเนื้องอกที่หลอดอาหารส่วนบน โดยพำนักรักษาพระองค์อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จะทรงสิ้นพระชนม์อย่างสงบ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงที่ทรงประกอบกิจเพื่อแผ่นดิน ตลอดจนมีผลงานทรงพระนิพนธ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างสูง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

วันนี้เมื่อ 71 ปีก่อน เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระราชชนกทรงเข้าทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐฯ ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขณะที่มีพระชนมพรรษา 9 พรรษา และยังทรงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 โดยระหว่างเวลานั้น ทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนเรียบร้อยแล้ว จึงจะเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวร และจะทรงรับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489

หลังจากเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top