วันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือที่คนไทยรู้จักกันในพระนาม ‘พระองค์จุล’ เจ้านายชั้นสูงที่ทรงมีเชื้อสายชาวต่างชาติ เป็นพระองค์แรกในพระบรมราชวงศ์จักรี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 กับ หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก ชายาชาวรัสเซีย

เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ระดับประถม) จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ และทรงได้รับปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2477

เมื่อสำเร็จการศึกษา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงลอนดอน ต่อมา ทรงค้นพบว่า มีความสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ จึงทรงพระนิพนธ์หนังสือ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 เล่ม โดยเล่มที่ยังถูกกล่าวถึงมาจนปัจจุบัน ได้แก่ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง และไทยชนะ

ตลอดพระชนม์ชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประกอบกิจต่าง ๆ มากมาย โดยทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ อาทิ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 พระเจ้าแผ่นดินเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2477 ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ในงานพระบรมศพพระเจ้าจอร์จที่ 5 และงานพระบรมราชาภิเษก พระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมถึงทรงเป็นผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในงานพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ยังทรงมีกิจด้านการศุลมากมาย ตลอดจนบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่าง ๆ เนื่องจากทรงเล็งเห็นในความสำคัญของงานสาธารณสุข กระทั่งช่วงท้ายพระชนมชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประชวรเป็นเนื้องอกที่หลอดอาหารส่วนบน โดยพำนักรักษาพระองค์อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จะทรงสิ้นพระชนม์อย่างสงบ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงที่ทรงประกอบกิจเพื่อแผ่นดิน ตลอดจนมีผลงานทรงพระนิพนธ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างสูง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์