Friday, 26 April 2024
TodaySpecial

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ครบรอบ 67 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเปิด ‘ตึกวชริราลงกรณธาราบำบัด’ ร.พ.พระมงกุฏเกล้า อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วย และต่อสู้กับสภาวะโรคโปลิโอระบาดในขณะนั้น

แม้ในวันนี้เรากำลังต่อสู้กับสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 แต่เมื่อย้อนไปในอดีตแล้ว ประเทศไทยเคยผ่านสถานการณ์การระบาดของโรคภัยต่าง ๆ มาไม่น้อย เหมือนเมื่อครั้งหนึ่ง ที่ประสบกับภาวะโรคโปลิโอระบาด แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเล็งเห็นถึงปัญเหล่าของพสกนิกร จึงมีพระราชดำริให้จัดการแก้ไข และขจัดโรคนี้ให้หมดไป

เรื่องราวของโรคโปลิโอระบาดในเมืองไทย เกิดขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2495 ขณะนั้นเมืองไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคโปลิโอ หรือโรคไขสันหลังอักเสบ เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ ตลอดจนเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในการรักษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดซื้อเครื่องช่วยหายใจจากต่างประเทศ จำนวน 3 เครื่องให้กับผู้ป่วย รวมถึงพระราชทานเงินจัดตั้ง ‘กองทุนโปลิโอสงเคราะห์’ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ให้หายเป็นปกติ

ต่อมาทรงมีโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปที่ตึกรังสี รพ.พระมงกุฏเกล้า และได้ทอดพระเนตรกิจการของกองรังสีกรรมและแผนกกายภาพบำบัด ซึ่งรวมถึงงาน ‘ธาราบำบัด’ ที่เป็นหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโปลิโอ โดยเป็นการใช้น้ำช่วยพยุงร่างกายระหว่างการบริหารและฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

หลังจากนั้นจึงทรงพระราชทานทรัพย์จำนวน 250,000 บาท จากกองทุนโปลิโอสงเคราะห์ เพื่อเป็นค่าเครื่องเวชภัณฑ์ และโปรดให้ก่อสร้าง ‘ตึกวชิราลงกรณธาราบำบัด’ โดยพระราชทานพระนามของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระยศในณะนั้น) เป็นชื่ออาคาร ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นสถานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยโรคนี้

อาคารวชิราลงกรณธาราบำบัด สร้างแล้วเสร็จในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระยศในขณะนั้น) และพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระยศในขณะนั้น) ได้เสด็จฯ ทรงเปิด ตึกวชิราลงกรณธาราบำบัด ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อย่างเป็นทางการ

เวลาผ่านพ้นไปจนถึงวันนี้ ปัจจุบันแทบไม่มีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคโปลิโออีกแล้ว โดยเมื่อปี พ.ศ. 2557 องค์การอนามัยโลกประกาศว่าโรคโปลิโอถูกกำจัดหมดไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ไม่พบผู้ป่วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยและใส่พระทัยในการขจัดปัญหาการระบาดในครั้งนั้น

วันนี้เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยถูกยกให้เป็น ‘วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช’ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปี พ.ศ. 2175 ซึ่งตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2175 นั่นเอง

สมเด็จพระนารายณ์ หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยทรงขึ้นครองราชย์เมื่อแรม 2 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ. 2199 ในขณะที่มีพระชนมายุ 25 พรรษา

ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมให้กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการค้าขาย ทรงติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยพระองค์ทรงปรับปรุงพระคลังสินค้า โปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นหลวง เพื่อทำการค้ากับต่างประเทศ นอกจากนี้ยังทรงจัดคณะทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีถึงประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่มีความรอบรู้และปราดเปรื่อง ตลอดจนทรงมีไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วง โดยครั้งหนึ่งฝรั่งเศสได้ส่งคณะทูตนำโดย เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ มาเข้าเฝ้าเพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงเข้ารีต แต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถไปว่า

"การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาลให้เป็นไป ถ้าคริสตศาสนาเป็นศาสนาดีจริงแล้ว และเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสตศาสนิกแล้ว สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้"

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ให้เสรีภาพแก่ราษฎร ที่จะนับถือคริสตศาสนาได้ตามความเลื่อมใสของตน เรื่องนี้ทำให้เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ พอใจเป็นอย่างยิ่ง

วันนี้ถือเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘สมเด็จพระนารายณ์มหาราช’ จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งในการเทิดพระเกียรติและระลึกถึงพระปรีชาสามารถ ตลอดจนพระอัจฉริยภาพอันเปี่ยมล้นของพระองค์


ที่มา: https://www.lib.ru.ac.th/journal/feb/feb16-Narai.html

‘กล้วยไม้ไทย’ มีความงดงาม และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในผู้ที่บุกเบิก และคว่ำหวอดอยู่ในแวดวงกล้วยไม้ไทยมายาวนาน นั่นคือ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยวันนี้เมื่อ 3 ปีก่อน เป็นวันที่นักวิชาการท่านนี้ได้เสียชีวิตลง...

ย้อนเวลากลับไป ศ.ระพี สาคริก ได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เนื่องจากมีความสนใจในงานด้านการวิจัยทางการเกษตรเป็นเดิมทุน จึงเริ่มต้นงานวิจัยพันธุ์ข้าว พันธุ์ผัก และยาสูบ กระทั่งได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าด้าน ‘กล้วยไม้’ อย่างจริงจัง จึงอุทิศตนให้กับงานวิจัยกล้วยไม้มาโดยตลอด

ศ.ระพี ได้รับการยอมรับจากวงการกล้วยไม้ของโลกว่า เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกล้วยไม้มากที่สุดคนหนึ่ง ยืนยันได้เป็นอย่างดีจากผลงานการค้นคว้าและส่งเสริมกล้วยไม้ ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ ขยายพันธุ์ ตลอดจนด้านธุรกิจการส่งออก ทำให้ ‘กล้วยไม้ไทย’ กลายเป็นสินค้าส่งออกด้านเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย

ศ.ระพี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเหรียญดุษฎี เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2511) รวมทั้งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2513 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนในบทบาทงานด้านการเมือง เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาแล้ว

ศ.ระพี สาคริก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ในวัย 95 ปี ซึ่งวันนี้เป็นวันครบรอบ 3 ปีของการจากไป แต่ผลงานของนักวิชาการท่านนี้ก็ยังคงถูกยกย่อง ตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็ยังคงถูกถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไป จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย’


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

หนึ่งในตำนาน ‘ตำรวจไทย’ ที่มีชื่อเสียงในการปราบโจรร้าย รวมทั้งยังขึ้นชื่อได้เรื่องวิชาอาคม จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘จอมขมังเวทย์’ วันนี้เป็นวันครบรอบ 118 ปีของตำนานตำรวจไทย ‘ขุนพันธรักษ์ราชเดช’

จากหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ ขุนพันธรักษ์ราชเดช เดิมชื่อ บุตร พันธรักษ์ เป็นชาวนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจในช่วงปี พ.ศ.2468  ครั้นเมื่อออกมาปฏิบัติหน้าที่เป็นนายตำรวจ ก็ออกปราบโจรผู้ร้ายในภูมิภาคต่าง ๆ จนมีชื่อเสียงและได้รับสมญานามมากมาย อาทิ นายพลตำรวจหนวดเขี้ยว, ขุนพันธ์ดาบแดง, รายอกะจิ(อัศวินพริกขี้หนู) หรือจอมขมังเวทย์

นอกจากความเด็ดเดี่ยว เก่งกล้า ลุยปราบโจรตั้งแต่เหนือจรดใต้ ขุนพันธ์ฯ ยังได้ชื่อว่า เป็นตำรวจที่มีวิชาอาคม เนื่องจากเคยร่ำเรียนและถูกถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ จากพระเกจิชื่อดัง ซึ่งจากหลายเรื่องเล่าปรัมปราก็ได้กล่าวขานกันว่า ขุนพันธ์เป็นมือปราบหนังเหนียว ยิงแทงไม่เข้า แต่นอกเหนือจากเรื่องราวอภินิหารย์เหล่านี้ สิ่งที่จับต้องได้ คือคุณงามความดีที่เจ้าตัวได้สร้างสมเอาไว้มากมาย

ขุนพันธรักษ์ราชเดช ได้รับตำแหน่งทางราชการตำรวจเป็นถึงยศ พลตำรวจตรี และเคยเข้ารับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็น ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราชมาแล้ว เมื่อราวปี พ.ศ. 2512 กระทั่งในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา ปิดตำนานตำรวจมือปราบอันเกรียงไกรด้วยวัย 103 ปี

ขุนพันธรักษ์ราชเดช ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของพลเมืองที่มีความซื่อตรงต่อหน้าที่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดกำลัง เพื่อให้สังคมประเทศปราศจากคนร้าย ด้วยคุณงามความดี จึงทำให้ชื่อ ‘ขุนพันธ์’ ยังถูกกล่าวถึงมาจนถึงทุกวันนี้


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

ย้อนเวลากลับไปในวันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อมีข่าวประกาศอย่างเป็นทางการ ‘เรื่องการยุติการปะทะกันของไทย - ลาว ณ สมรภูมิบ้านร่มเกล้า’ เป็นผลให้เกิดความสงบสุขกลับคืนมา ระหว่างพี่น้องสองฝั่งโขง

กล่าวถึง ‘สมรภูมิบ้านร่วมเกล้า’ เป็นการรบระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ณ บริเวณบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เหตุที่มาของการรบกันครั้งนี้ เกิดจากกรณีพิพาทด้านพรมแดนระหว่างไทยกับลาว เนื่องจากยึดถือพรมแดนจากแผนที่คนละฉบับ ซึ่งสืบย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งไทยทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส

เมื่อเวลาผ่านมา หลังจากฝรั่งเศสคืนเอกราชให้ประเทศลาว พื้นที่บริเวณนี้ (บ้านร่มเกล้า) จึงกลายเป็นพรมแดนที่มีความทับซ้อนกันระหว่างไทยและลาว จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันเรื่อยมา

กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ประกาศผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบ เป็นที่มาของ ‘ยุทธการบ้านร่มเกล้า’ ทหารฝ่ายไทยและฝ่ายลาวเกิดการปะทะกันอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดความสูญเสียเป็นอย่างมาก

การรบสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 หลังจากฝ่ายไทยได้ใช้กองทัพอากาศโจมตีเข้าไปในดินแดนลาว 30–40 กิโลเมตร และฝ่ายลาวโดยนายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ได้เจรจาขอหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 และเสนอให้ถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากกันเป็นระยะ 3 กิโลเมตร

ในเวลาต่อมา ประเทศไทยและประเทศลาว ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - ลาว (JBC) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เพื่อปักปันพรมแดนซึ่งมีความยาว 1,810 กิโลเมตร นับถึงวันนี้ ยังคงมีการจัดการประชุม JBC ไทย - ลาว กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อพูดคุย หารือ และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งสองประเทศเป็นที่ตั้ง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

คนไทยรู้จักขุนนางผู้กล้า ‘พระยาพิชัยดาบหัก’ กันเป็นอย่างดี โดยอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานของท่านนั้น ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งวันนี้เป็นวันครบรอบ 52 ปี ที่มีการเปิด ‘อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก’ ขึ้น เพื่อเป็นที่สักการะและระลึกถึงเกียรติยศของขุนนางผู้นี้

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ พระยาพิชัยดาบหัก เป็นขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อเสียงในชั้นเชิงการต่อสู้ ทั้งมือเปล่าแบบมวยไทย และอาวุธแบบกระบี่ กระบอง เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2288 โดยศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ทองดี

ต่อมานายทองดีเข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงพิชัยอาสา’ ก่อนจะมีบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้น โดยเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และตำแหน่งสูงสุดคือ เป็น ‘พระยาพิชัย’ ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย

ครั้งหนึ่งข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ จึงเป็นที่มาของสมญานาม ‘พระยาพิชัยดาบหัก’

พระยาพิชัยดาบหัก เป็นตัวอย่างของบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต และมีความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ รวมถึงความรักและหวงแหนในแผ่นดิน ด้วยเกียรติยศเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของอนุสาวรีย์ของท่าน ที่ตั้งประดิษฐานไว้ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงคุณงามความดี ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี คุณความดีก็จะยังคงอยู่สืบไป


ที่มา: http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/19524

การนับวัน เดือน ปี โดยลงท้ายด้วย ‘พุทธศักราช’ ถือเป็นความคุ้นเคยของคนไทยตลอดมา แต่หากถามว่า จุดเริ่มต้นที่มีการใช้การกำหนดปีด้วย ‘พุทธศักราช’ หรือ ‘พ.ศ.’ นั้น มีความเป็นมากว่า 109 ปีแล้ว

โดยก่อนหน้าที่จะมีการใช้พุทธศักราช ประเทศไทยใช้รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) มากว่า 24 ปี (พ.ศ. 2432 – 2455) ทั้งนี้ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 ให้นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 หรือ ร.ศ. 1

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้การนับปีแบบพุทธศักราชอยู่หลายประเทศ อาทิ ประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว โดยใช้หลักเริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ต่างจากประเทศศรีลังกาและเมียนมา ที่เริ่มนับปีพุทธศักราช ตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงทำให้พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมา เร็วกว่าของประเทศไทย 1 ปี

นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโครงการสร้างเขื่อนต่าง ๆ อยู่มากมาย และในวันนี้เมื่อ 35 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเปิด ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ จังหวัดเชียงใหม่

ที่มาของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อทำการชลประทานให้แก่พื้นที่เพาะปลูกบริเวณที่ราบเชิงเขาทั้งสองฝั่งของลำน้ำ รวมทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำปิง สามารถบรรเทาน้ำหลากเข้าท่วมเมืองเชียงใหม่ มากไปกว่านั้น ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ สร้างประโยชน์แก่ชาวประมงน้ำจืดด้วยอีกทาง

และเนื่องจากเป็นเขื่อนที่สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดถึง 26.5 ล้านลูกบาสก์เมตร และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงปีละ 24.5 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ใช้เวลาในการก่อสร้างกว่า 8 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2528 กระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดเขื่อนอย่างเป็นทางการ และนับถึงวันนี้ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ยังคงสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกร และรวมถึงประชาชนที่สามารถเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจยังเขื่อนแห่งนี้ เนื่องจากถูกประยุกต์ให้มีที่พัก และมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

วันนี้เป็นวันสำคัญของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนเก่าแก่ของประเทศไทย โดยเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนวัดบวรนิเวศขึ้นเป็นครั้งแรก

โดยที่มาของโรงเรียนวัดบวรนิเวศนั้น เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง ‘วิทยาลัย’ ขึ้นในวัดบวรนิเวศ โดยพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 แผนก คือ ส่วนที่ใช้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และอีกส่วนจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยแห่งนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ โดยในยุคแรกเริ่ม ได้เชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส มาทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระองค์แรก ต่อมาการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามลำดับ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงถือได้ว่า โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เป็นโรงเรียนสาธิตในการใช้หลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน นอกจากจะเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อาคารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 128 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนวัดบวรริเวศได้เปิดการเรียนการสอนตลอดมา และเหนือสิ่งอื่นใด คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ออกสู่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกยกให้เป็นวันสำคัญของชาติอีกวันหนึ่ง นั่นคือ วันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งที่มาของวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

โดยพระองค์ทรงได้รับการสรรเสริญว่า มีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมต่าง ๆ หลายสาขา เพื่อเป็นการเชิดูพระเกียรติคุณ วันนี้จึงถูกยกให้เป็น ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ ร่วมด้วยอีกวันหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี พระองค์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า ฉิม พระราชสมภพเมื่อวันพุธขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 โดยทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และขึ้นเสวยราชสมบัติในช่วงปีพ.ศ. 2352 - 2367

ตลอดการขึ้นครองราชย์ ทรงได้รับการยกย่องว่า เป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี โดยทรงโปรดการแต่งบทกลอน และมีเครื่องดนตรีชิ้นโปรด นั่นคือ ซอสามสาย และทรงเคยพระราชนิพนธ์บทเพลงที่มีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ เพลงบุหลันลอยเลื่อน

ด้วยพระปรีชาสามารถอันเปี่ยมล้น ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริม และทำนุบำรุงศิลปกรรมของชาติ ตลอดรัชสมัยของพระองค์

ธรรมเนียมหนึ่งในวันศิลปินแห่งชาตินั้น คือการประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 และมีการประกาศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูทรัพยากรบุคคลทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติ รวมถึงการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้ดำรงอยู่ และสืบต่อไปยังอนาคตข้างหน้าด้วยนั่นเอง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

https://hilight.kapook.com/view/56456

https://www.m-culture.go.th/chiangmai/ewt_news.php?nid=631&filename=index


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top