การนับวัน เดือน ปี โดยลงท้ายด้วย ‘พุทธศักราช’ ถือเป็นความคุ้นเคยของคนไทยตลอดมา แต่หากถามว่า จุดเริ่มต้นที่มีการใช้การกำหนดปีด้วย ‘พุทธศักราช’ หรือ ‘พ.ศ.’ นั้น มีความเป็นมากว่า 109 ปีแล้ว

โดยก่อนหน้าที่จะมีการใช้พุทธศักราช ประเทศไทยใช้รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) มากว่า 24 ปี (พ.ศ. 2432 – 2455) ทั้งนี้ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 ให้นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 หรือ ร.ศ. 1

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้การนับปีแบบพุทธศักราชอยู่หลายประเทศ อาทิ ประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว โดยใช้หลักเริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ต่างจากประเทศศรีลังกาและเมียนมา ที่เริ่มนับปีพุทธศักราช ตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงทำให้พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมา เร็วกว่าของประเทศไทย 1 ปี