Monday, 6 May 2024
TodaySpecial

วันนี้เมื่อ 37 ปีก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ โดยเป็นวันที่ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 หรือ ‘ประมุขแห่งวาติกัน’ ได้เสด็จมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรก

โดยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2527 เครื่องบินพระที่นั่งของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และคณะผู้ติดตาม ได้ลงจอด ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) เป็นผู้แทนพระองค์ในการต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาที่ท่าอากาศยาน

ต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ได้เสด็จมายังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

การเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งนั้น สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงมีภารกิจสำคัญมากมาย อาทิ การเสด็จไปยังศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ณ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี รวมถึงทรงเป็นประธานในพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่จำนวน 23 องค์ พร้อมกับทรงปิดปีศักดิ์สิทธิ์สำหรับประเทศไทย ณ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ยังเสด็จไปในงานสโมสรสันนิบาต ที่รัฐบาลจัดถวายพระเกียรติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

กล่าวถึง สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงขึ้นเป็นประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1978 โดยพระองค์ถือเป็นพระสันตะปาปาที่มีความสำคัญองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการเสด็จไปรอบโลกเพื่อเยี่ยมเยียนคริสตชน ซึ่งเป็นกิจที่ทำมากกว่าพระสันตะปาปาองค์ใด ๆ ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังทรงต่อต้านการกดขี่ทางการเมือง ปกป้องวิถีทางของศาสนจักรในเรื่องเพศของมนุษย์ และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2548 มีพระชนมายุ 84 พรรษา รวมระยะเวลาในการทรงปกครองศาสนจักรทั้งสิ้น 26 ปี 15 วัน ยาวนานที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ตามประวัติศาสตร์ของศาสนจักรโรมันคาทอลิก


ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/371104

https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระสันตปะปายอร์น_ปอลที่_2

เอ่ยชื่อ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ ผู้ชมรายการข่าวเมืองไทย คงคุ้นเคยเป็นอย่างดี พิธีกรข่าวคนนี้ได้รับฉายาว่า ‘กรรมกรข่าว’ มีชื่อเสียงอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนเมืองไทยมามากกว่า 20 ปี และในวันนี้เป็นวันเกิดของเขา มีอายุครบ 55 ปี

สรยุทธ สุทัศนะจินดา เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2509 เป็นชาวกรุงเทพมหานคร จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 

ก้าวแรกในเส้นทางการทำงานข่าว สรยุทธเริ่มต้นจากการเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ต่อมาในปี พ.ศ.2535 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวการเมือง ก่อนที่ในปี พ.ศ.2540 จะได้มาเป็นบรรณาธิการข่าว และจัดรายการวิเคราะห์ข่าวให้กับเนชั่น ชันแนล ตามมาด้วยช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ ที่มีรายการโด่งดังมาก ๆ อย่างรายการคุยคุ้ยข่าว และถึงลูกถึงคน จากนั้นจึงย้ายมาบริหารงานข่าวให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในช่วงปี พ.ศ.2546 พร้อมกับเปิดตัวรายการใหม่ เรื่องเล่าเช้านี้ และเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ ตามลำดับ

สรยุทธถูกดำเนินคดียักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ทางช่องโมเดิร์นไนน์ ทำให้ บมจ.อสมท. ได้รับความเสียหายจากค่าโฆษณาเป็นเงินกว่า 138 ล้านบาท เป็นเหตุให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการ 

ในเวลาต่อมา ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกสรยุทธเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน ก่อนที่เจ้าตัวจะยื่นอุทธรณ์ กระทั่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2563 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายสรยุทธเป็นเวลา 6 ปี 24 เดือน แต่หลังจากที่เข้าสู่เรือนจำ เจ้าตัวได้เลื่อนชั้นเป็นผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม เนื่องจากทำงานช่วยเหลือกรมราชทัณฑ์มาโดยตลอด ต่อมาจึงได้ลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง กระทั่งได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2564
.
ล่าสุด เจ้าตัวกลับมาทำงานเป็นพิธีกรเล่าข่าวอีกครั้ง ช่วยสร้างสันและความคึกคักให้กับวงการข่าวสารเมืองไทยอีกครั้ง และในวันนี้เป็นวันครบรอบวันเกิดอายุ 55 ปีของกรรมกรข่าวคนนี้ ขอให้สร้างสรรค์ผลงาน และผลิตข่าวสารที่มีคุณภาพออกสู่สังคมไทยต่อไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สรยุทธ_สุทัศนะจินดา

 

‘ท่านพุทธทาสภิกขุ’ คือหนึ่งในภิกษุที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยให้ความเคารพนับถือ แม้ปัจจุบันท่านจะละสังขารไปกว่า 28 ปี แต่ยังมีสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ นั่นคือ ‘สวนโมกขพลาราม’ วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 89 ปี ของการก่อตั้งสถานที่แห่งนี้

สวนโมกขพลาราม ถูกสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 แต่เดิม ณ สถานที่แรก สร้างขึ้นที่วัดร้างตระพังจิก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในครั้งนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุ พร้อมด้วยโยมน้องชาย และคณะธรรมทานอีก 4-5 คน ได้ออกเสาะหาสถานที่ที่มีความวิเวก และเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

กระทั่งได้มาเจอกับวัดร้างแห่งนี้ บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ จึงได้จัดทำเพิงที่พักแบบเรียบง่าย พร้อมกับเข้าอยู่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2475 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาในปีนั้นพอดี โดยที่มาของชื่อ ‘สวนโมกขพลาราม’ เนื่องมาจากบริเวณวัดดังกล่าวมีต้นโมก และต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีความหมายโดยนัยว่า ‘เป็นสวนป่าอันมีกำลังแห่งความหลุดพ้นจากทุกข์’

ต่อมาในปี พ.ศ.2486 สวนโมกข์ได้ย้ายมาอยู่ที่ ‘วัดธารน้ำไหล’ บริเวณเขาพุทธทอง ริมทางหลวงหมายเลข 41 อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยท่านพุทธทาสมีความปรารถนาให้สวนโมกข์เป็นสถานที่แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม ภายในวัดจึงมีโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งเป็นอาคารที่รวบรวมภาพศิลปะ คำสอนในศาสนานิกายต่าง ๆ รวมทั้งมีภาพพุทธประวัติมากมาย

นอกจากนี้รอบบริเวณวัดยังเป็นสวนป่าร่มรื่น ที่เต็มไปด้วยปริศนาธรรม โดยปราศจากโบสถ์และศาลาอย่างวัดทั่วไป ต่อมาภายหลังจากท่านพุทธทาสมรณภาพในปี พ.ศ.2536 สวนโมกข์แห่งนี้ก็ยังคงมีพระภิกษุและพุทธศาสนิกชน เดินทางมาตักบาตร ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์อยู่เรื่อยมา นับถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วกว่า 89 ปี สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ช่วยฝึกจิต ชำระใจ และนำทางผู้คนให้ค้นพบกับความสงบ เหมือนดังเช่นที่เป็นมานับจากวันแรก


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สวนโมกขพลาราม

 

วันนี้เป็นวันสำคัญของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นวันครบรอบการก่อตั้ง 147 ปีของโรงเรียน ถือเป็นโรงเรียนที่มีความเก่าแก่ และเป็นโรงเรียนสตรีประจำแห่งแรกของประเทศไทย

โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เดิมมีชื่อเรียกว่า โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังหลัง ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช โดยเป็นโรงเรียนสตรีประจำและโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของประเทศไทย มีมิสซิสแฮเรียต เอ็ม เฮาส์ เป็นครูใหญ่คนแรก 

เจตนารมย์ในการก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการจัดการเรียนการสอน ด้านการอ่านเขียน การศึกษาคริสตจริยธรรม และวิชาเย็บปักถักร้อย ซึ่งเป็นวิชาสำหรับกุลสตรีสมัยนั้น นอกจากจะมีบุตรหลานของประชาชนทั่วไปมาเรียนแล้ว ยังมีบุตรหลานของเจ้านายและเหล่าข้าราชบริพาร ที่ต่างรู้จักและไว้วางใจมิสซิสแฮเรียต เอ็ม เฮาส์ มาเรียนด้วยเช่นกัน

ในเวลาต่อมา กิจการของโรงเรียนวังหลังเจริญรุ่งเรืองเติบโต มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ต้องขยับขยายต่อเติมโรงเรียน แต่เนื่องจากมิสซิสโคล หรือครูใหญ่โรงเรียนในขณะนั้น เห็นว่าไม่สามารถซื้อที่ดินเพิ่มเติมบริเวณวังหลังได้แล้ว จึงได้มองหาที่ดินแห่งใหม่ โดยในปี พ.ศ.2459 มิสซิสโคลได้ซื้อที่ดินที่ทุ่งบางกะปิ (ชื่อเรียกตามสมัยนั้น) เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย’ และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดสอนระดับปฐมวัยถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รับนักเรียนไป -กลับ ในระดับปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และนักเรียนประจำในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ถือเป็นโรงเรียนสตรีประจำที่มีชื่อเสียง และมีอายุเก่าแก่ที่สุดของประเทศ


ที่มา: https://www.wattana.ac.th/wattana
https://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
https://www.silpa-mag.com/history/article_19680
 

วันนี้เป็นวันเกิดของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของประเทศไทย มีอายุครบ 89 ปี

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2475 เป็นชาวจังหวัดนนทบุรี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อ และสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อปี พ.ศ.2496 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในปี พ.ศ. 2507 ตามลำดับ

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ มีชื่อเสียงในด้านการทหาร จนได้รับฉายา ‘ขงเบ้งแห่งกองทัพบก’ รวมทั้งเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างจากการผลักดันกองกำลังต่างชาติ ที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในประเทศไทย ในเหตุการณ์ยุทธการบ้านร่มเกล้า เมื่อปี พ.ศ. 2531 ซึ่งในขณะนั้นเจ้าตัวดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก

ในเวลาต่อมา พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วเข้าสู่แวดวงการเมือง โดยทำการก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ ก่อนจะชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 จนส่งผลให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของประเทศไทยในที่สุด

ในขณะทำหน้าที่ผู้นำบริหารบ้านเมือง เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก หรือที่รู้จักกันในนาม ‘พิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง’ ในช่วงปี พ.ศ.2540 ส่งผลให้เจ้าตัวตัดสินใจลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมา ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคไทยรักไทย ในช่วงปี พ.ศ.2544 ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้มากประสบการณ์ในเส้นทางการเมือง และได้ชื่อว่า เป็นนักเจรจา พูดจานุ่มนวล และมีวาทศิลป์คนหนึ่งของวงการเมืองไทย จนนักข่าวสื่อมวลชนตั้งฉายาให้ว่า ‘จิ๋วหวานเจี๊ยบ’ แม้ปัจจุบันเจ้าตัวจะวางมือจากการเมืองไปแล้ว แต่ก็ยังถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ วันนี้อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้มีอายุครบ 89 ปี ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยทั้งปวง 


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ชวลิต_ยงใจยุทธ

สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย ชื่อของ ‘หลวงพ่อคูณ’ ถือเป็นภิกษุสงฆ์ที่ประชาชนให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างสูง และวันนี้เมื่อกว่า 6 ปีก่อน ถือเป็นวันที่เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่อันโด่งดัง ได้มรณภาพลง

หลวงพ่อคูณ หรือ พระเทพวิทยาคม มีชื่อทางโลกคือ คูณ ฉัตร์พลกรัง เป็นชาวอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัวที่ทำอาชีพเกษตกรรม โดยเข้ารับการอุปสมบทเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ณ วัดถนนหักใหญ่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีฉายาว่า ปริสุทโธ 

หลวงพ่อคูณ ปฏิบัติธรรมด้วยการออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูง ครั้งหนึ่งเคยเดินทางไกลไปถึงประเทศลาว และประเทศกัมพูชา เมื่อเวลาผ่านไป จึงเดินทางกลับสู่ประเทศไทย ต่อมาได้มีดำริให้ก่อสร้างวัดบ้านไร่ โดยเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อปี พ.ศ.2496 ก่อนจะขยับขยายให้มีการสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งจัดให้มีการสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ เพื่อการศึกษาของเยาวชนในละแวกดังกล่าวอีกด้วย

หลวงพ่อคูณ จัดเป็นภิกษุสงฆ์ที่มีกิจอันเรียบง่าย แต่มีลูกศิษย์ลูกหาที่ให้ความเคารพศรัทธาไปทั่วประเทศ ภาพที่ผู้คนจดจำได้เป็นอย่างดี คือการเดินเอาไม้เคาะหัว (แทนการรดน้ำมนต์) ให้กับประชาชนคนธรรมดาไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจเข้าใจได้ว่า เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่แท้จริงแล้ว ถือเป็นการทำเพื่อให้ผู้คนมีสติ

หลวงพ่อคูณมีอาการอาพาธ หมดสติโดยไม่รู้สาเหตุ และถูกนำส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ทีมแพทย์พยายามให้การรักษาอย่างเต็มกำลัง แต่อาการค่อย ๆ ทรุดลง ก่อนจะมรณภาพในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สิริอายุ 91 ปี 71 พรรษา

ต่อมา ท่านได้ฝากฝังไว้ในพินัยกรรม โดยมอบสังขารให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อมอบให้กับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำไปศึกษาค้นคว้า หรือที่เรียกกันว่า ‘ครูใหญ่’ และเมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้า ได้ขอให้ทางมหาวิทยาลัย ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างเรียบง่าย โดยจัดให้มีการสวดอภิธรรม 7 วัน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการจัดพิธีพระราชทานเพลิงพระศพหลวงพ่อคูณขึ้น ณ เมรุชั่วคราว วัดหนองแวงพระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2562 ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งในเวลาต่อมาว่า เหตุที่ต้องขอพระราชทานเพลิงศพ เนื่องจากเป็นไปตามวิถีของการจัดงานศพให้กับ ‘เหล่าบรรดาครูใหญ่’ ที่มอบสังขารให้กับทางมหาวิทยาลัย และเหตุที่เลือกวัดดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าจะมีลูกศิษย์และประชาชน เดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก จึงพยายามเลือกสถานที่ให้ลงตัวและเหมาะสมที่สุด

วันนี้ผ่านมากว่า 6 ปีกับการมรณภาพของพระครูชื่อดัง แต่คำสอนและความศรัทธาในตัวท่าน ยังอยู่ในการระลึกถึงของลูกศิษย์ลูกหา ตลอดจนประชาชนชาวไทยอยู่เสมอ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระเทพวิทยาคม_(คูณ_ปริสุทโธ)

วันนี้เป็นวันสำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยเป็นวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ‘เขื่อนภูมิพล’ ซึ่งเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

เขื่อนภูมิพล เดิมมีชื่อว่า เขื่อนยันฮี ตั้งอยู่บนแม่น้ำปิง อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ย้อนเวลากลับไปเมื่อกว่า 57 ปีก่อน แนวคิดในการสร้างเขื่อนแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ณ ขณะนั้น มีโอกาสเดินทางไปดูงานชลประทานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำปิง จึงนำเสนอต่อรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ.2492 

ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้ทำการสำรวจศึกษาโครงการ จนได้ข้อสรุปในการสร้าง และระบุสถานที่คือบริเวณตำบลยันฮี จังหวัดตาก การอนุมัติการก่อสร้างเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2496 โดยใช้งบประมาณกว่า 2,250 ล้านบาท

แรกเริ่มใช้ชื่อว่า เขื่อนยันฮี ต่อมาในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อัญเชิญพระนามาภิไธยมาเป็นชื่อเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล และวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2504 การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อน โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนภูมิพลแห่งนี้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2507

เขื่อนภูมิพล มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง ความสูง 154 เมตร ความยาว 486 เมตร และมีความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร โดยอ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อแรกก่อสร้างเสร็จถือเป็นเขื่อนรูปโค้งที่ใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของโลก

วันนี้เขื่อนภูมิพล มีอายุกว่า 57 ปี และยังคงทำหน้าที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศต่อไป โดยมีภารกิจหลักคือ การระบายน้ำ โดยปริมาณน้ำที่ระบายออกไปจากเขื่อน จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งด้านการเกษตร สนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 9.5 ล้านไร่ รวมทั้งการคมนาคมและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้า ให้ตรงตามแผนที่กรมชลประทานกำหนดเอาไว้อีกด้วย


ที่มา: 
http://www.bhumiboldam.egat.com/index.php/2014-10-10-05-07-47/history
https://th.wikipedia.org/wiki/เขื่อนภูมิพล


 

วันนี้มีความพิเศษต่อผู้คนทั่วโลก เนื่องจากถูกยกให้เป็น ‘วันพิพิธภัณฑ์สากล’ โดยเป็นวันที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ในหลากหลายมิติ

วันพิพิธภัณฑ์สากลถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่ราวปี ค.ศ.1977 โดยสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ (International Council of Museum หรือ ICOM) สาระสำคัญของการมีวันพิเศษวันนี้ เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญ ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงสร้างเครือข่าย/ชุมชนพิพิธภัณฑ์นานาชาติ โดยให้คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างประเภทพิพิธภัณฑ์ ได้มาแลกเปลี่ยนสัมพันธ์กันในเวทีโลก

นอกจากนี้ในแต่ละปี ทาง ICOM จะกำหนดประเด็นร่วม หรือธีมประจำปี เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาแลกเปลี่ยนหารือ รวมทั้งกำหนดจุดยืนของการทำหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมีการพัฒนาต่อไปยิ่งขึ้น

กล่าวถึง พิพิธภัณฑ์ คือสถาบันถาวรที่ไม่แสวงผลกำไรในการบริการต่อสังคมและการพัฒนาสังคม โดยเป็นสถานที่ที่นำผลงานผ่านการอนุรักษ์ การวิจัย การสื่อสารต่าง ๆ หรือเป็นมรดกของมนุษยชาติ ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ มาจัดแสดงไว้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า หรือแม้แต่เพื่อความบันเทิง

กลับมาที่ประเทศไทย เรามีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แห่งแรกของประเทศไทย แต่ถ้ารวมพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยไทยทุกแขนง ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,580 แห่งทั่วประเทศ สนใจไปเที่ยวชม หรือศึกษา สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://db.sac.or.th/museum/ กันได้เลย


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พิพิธภัณฑสถาน

https://th.wikipedia.org/wiki/วันพิพิธภัณฑ์สากล

https://www.facebook.com/340609796616268/posts/537418320268747/

วันนี้ถือเป็นวันที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ ‘เสด็จเตี่ย’ ซึ่งทรงได้รับสมัญญานามว่า ‘องค์บิดาของทหารเรือไทย’

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับลำดับราชสกุลวงศ์เป็นองค์ที่ 28 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2423

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ถือเป็นเจ้านายพระองค์แรก ที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือ จากประเทศอังกฤษ โดยพระองค์ทรงมีจุดประสงค์อันแรงกล้าที่จะฝึกให้ทหารเรือไทย เดินเรือทะเลได้อย่างชาวต่างประเทศ เมื่อทรงเข้ารับราชการ พระองค์ได้แก้ไข ปรับปรุงระเบียบการ และทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ โดยทรงจัดเพิ่มวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือ เพื่อให้สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลได้ อาทิ วิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ อุทกศาสตร์ การเดินเรือเรขาคณิต พีชคณิต ฯลฯ

ในปี พ.ศ.2462 พระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ โดยนำเรือหลวงพระร่วงจากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทย เดินเรือไกลข้ามทวีป ต่อมา พระองค์ยังทรงผลักดันให้มีการก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ทำให้กิจการทหารเรือ มีรากฐานอันมั่นคงนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุดทางราชการ เป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ก่อนที่ช่วงบั้นปลายพระชนมชีพ จะทรงลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไปรักษาพระองค์จากอาการประชวรเรื้อรังจากพระโรคประจำตัว โดยประทับพักรักษาพระองค์อยู่ที่ตำบลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ระหว่างนั้นทรงถูกฝนและประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ พระอาการได้ทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2466 สิริพระชันษา 42 ปี 

ต่อมา ในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ได้ถูกยกให้เป็น ‘วันอาภากร’ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในการณ์ที่ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ให้มีความเจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ โดยพระองค์ยังทรงได้รับสมัญญานามว่า ‘องค์บิดาของทหารเรือไทย’


ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

 

วันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน ถือเป็นวันที่มีความสำคัญ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความรุนแรง ‘พฤษภาทมิฬ’ เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชดำรัส จนนำไปสู่การยุติเหตุการณ์ลงในที่สุด

เหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลที่มี พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีความเข้าใจว่า การขึ้นดำรงตำแหน่งของพลเอกสุจินดา เป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยหนึ่งในแกนนำของประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง นั่นคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง

เหตุการณ์ค่อย ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม พ.ศ.2535 จนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร ประกาศห้ามมิให้บุคคลใดในกรุงเทพมหานครออกนอกเคหสถาน แต่ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีรับสั่งให้ผู้นำทั้งสองฝ่าย คือพลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ โดยมีบุคคลที่นำเข้าเฝ้าฯ คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ในขณะนั้น

ในการณ์นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีใจความบางท่อนบางตอนว่า...

“การเผชิญหน้าตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้งสองฝ่ายได้ชัดเจนพอสมควร แต่ต่อมาภายหลัง 10 กว่าวัน ก็เห็นแล้วว่า การเผชิญหน้านั้น เปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก จนกระทั่งออกมาอย่างไรก็ตาม เสียทั้งนั้น เพราะว่าทำให้มีความเสียหาย...”

“...ฉะนั้น การที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไป จะเป็นเหตุผลหรือต้นตออย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไป ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทย ที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก...”

ภายหลังการเข้าเฝ้าฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาการแทนเป็นการชั่วคราว พร้อมกับประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ทั้งหมด จนนำมาซึ่งการคลี่คลายความขัดแย้ง และความรุนแรงลงนับจากนั้น

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พฤษภาทมิฬ 

https://siamrath.co.th/n/188944


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top