Saturday, 4 May 2024
TodaySpecial

25 เมษายน พ.ศ. 2148 วันคล้ายวันสวรรคต ‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ และทรงกอบกู้เอกราชของชาติ

วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ประชาชนชาวไทยควรตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่พระองค์ทรงเสียสละ ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูแม้ในยามที่ทรงประชวรหนัก ก็ยังไม่ห่วงพระวรกายยังคงทำหน้าที่ของนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่ยอมให้ศัตรูมารุกรานบ้านเมือง จนกระทั่งสวรรคตในสนามรบ จึงได้ทำให้เหล่าทวยราษฎร์ต่างเทิดทูนถึงพระมหากรุณาธิคุณ เราชาวไทยควรรำลึกถึงพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยของเราให้ได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีย์ ทรงพระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2098 พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา คือ พระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ ในขณะที่พระองค์ทรงพระเยาว์ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก และทรงขอสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นตัวประกันที่หงสาวดี จนพระชนมายุได้ 15 พรรษา พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2098 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ณ เมืองแครง ประกาศอิสรภาพของชาติไทยโดยไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป และทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์สุโขทัย

ในรัชสมัยของพระองค์ทรงกระทำสงครามขยายพระราชอาณาจักรไทยให้แผ่ไพศาลไปในจตุรทิศ ทรงเป็นกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่และกล้าหาญ โดยพระองค์ได้กู้คืนอิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ช่วยกอบกู้เอกราชของชาติ ทรงผดุงความเป็นไทย ปกป้องรักษาแผ่นดินให้ปลอดพ้นภัยจากอริราชศัตรู เพื่ออิสรภาพของปวงชนชาวไทย

โดยในปี พ.ศ. 2124 ทรงแสดงแสนยานุภาพในการยกกองทัพเข้าตีเมืองคังจนได้รับชัยชนะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2127 ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนได้รับชัยชนะ ทำให้พระบรมเดชานุภาพ แผ่ไพศาลไปทั่วปฐพี และปราบปรามหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ได้เมืองตะนาวศรี มะริด ทวาย ต่อมาปี พ.ศ. 2138 และ พ.ศ. 2142 ทรงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีได้เมืองเมาะลำเลิง และเมืองตองอู จนหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวงยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา

24 เมษายน ของทุกปี ‘กระทรวงมหาดไทย’ กำหนดเป็น ‘วันเทศบาล’ หวังให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงบทบาท ในฐานะผู้ให้บริการปชช.

จุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดเทศบาล เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ให้ทันสมัย เป็นอันเดียวกันกับนานาอารยประเทศ โดยจัดให้มีการปกครอง ส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และได้ขยายการจัดตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

ตอมาเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ ประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 ขึ้น และได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2476 โดยได้มีการยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลหลายแห่ง ต่อมาได้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลหลายครั้ง จนในที่สุดได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม จึงทำให้เทศบาลเป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งตั้งแต่นั้นมา

ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย จึงได้ออกประกาศลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 กำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปีเป็น ‘วันเทศบาล’ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของการก่อกำเนิดเทศบาล และเพื่อให้พนักงานเทศบาลตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการประชาชน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี ให้กับบุคลากรในเทศบาล เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะส่งผลเชิงบวก ต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ การให้บริการ การอำนวยความสะดวก พร้อมสร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม โดยปัจจุบันมีเทศบาลจำนวน 2,472 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การเรียกชื่อของเทศบาลนั้นแตกต่างกันตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้แก่

- เทศบาลตำบล คือ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวง มหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ประกาศกระทรวง มหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิก สภาเทศบาลได้ 12 คน

- เทศบาลเมือง คือ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลาง จังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คน ขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำ ตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะ เป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขต ของเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 18 คน

- เทศบาลนคร คือ ท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่ อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อ และเขตของเทศบาลไว้ด้วย มีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 24 คน

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เทศบาลถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างดีที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาเทศบาลเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ในทุกมิติตลอดช่วงชีวิต เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ความเดือดร้อนเร่งด่วน และสร้างความเจริญต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในเขตชุมชนเมือง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ เพื่อให้การพัฒนาตรงกับความต้องการของประชาชนและเป็นรูปธรรม มีนวัตกรรมการพัฒนา และผลการปฏิบัติงานที่โดดเด่น เป็นองค์กรต้นแบบที่มีการขับเคลื่อนด้วยการสานงานต่อ ก่องานใหม่ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ทั้งหลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้การพัฒนาท้องถิ่นสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

26 เมษายน พ.ศ. 2431 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ ประกอบพิธีเปิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ทรงหวังให้ประชาชนมีที่พึ่งพิง ในยามโรคภัยมาเบียดเบียน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2424 อหิวาตกโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (พ.ศ. 2424-2439) รวมทั้งไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชการอื่นรวม 48 คน จัดตั้ง ‘โรงรักษาผู้ป่วย’ หรือ ‘โรงพยาบาลชั่วคราว’ ขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเหรียญเงินเทพดาถือพวงมาลัย เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ตั้งโรงรักษาคนเจ็บ

ต่อมาเมื่อการระบาดของโรคยุติลง โรงพยาบาลชั่วคราวต่างก็ปิดทำการ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญของโรงพยาบาลที่จะยังประโยชน์เมื่อประชาชนเจ็บป่วยบำบัดทุกข์ ทั้งนี้ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย…

1.พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ 2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ 4. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์  5.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, 6.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ 7. พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เถียร โชติกเสถียร) 8. หลวงสิทธินายเวร (บุศย์ เพ็ญกุล) 9. ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน

ทั้งนี้ คณะกรรมการประชุมกันและตกลงกันว่า จะจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ วังหลัง เพราะขณะนั้นได้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และมีต้นไม้ร่มเย็น เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย

ระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ขณะมีพระชันษาเพียง 1 ปี 7 เดือน ทำให้ความเศร้าโศกมาสู่สมเด็จพระบรมราชชนกชนนีเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระราชดําริถึงความทุกข์ ทรมานของประชาชนทั่วไปซึ่งเจ็บไข้ได้ป่วยและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ต้องล้มตายไปเป็นจํานวนมากทุกปี

ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น จึงได้โปรดพระราชทานสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เนื่องในงานพระเมรุ รวมทั้งเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ที่ใช้แต่ในวันลักพระศพให้แก่โรงพยาบาลวังหลังที่กําลังก่อสร้าง พร้อมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จํานวน 50,000 บาท มาสมทบสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลด้วย

ในระยะแรกคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ หรือที่ประชาชนขณะนั้นนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลศิริราช ที่ให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมตามพระบรมราชปณิธานมาจนปัจจุบันนี้

27 เมษายน พ.ศ. 2382 ‘ในหลวง ร.3’ โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ ‘พระบรมราชโองการห้ามสูบ-ค้าฝิ่น’ นับเป็นเอกสารทางราชการฉบับแรก ที่ใช้วิธีการพิมพ์ด้วยตัวอักษรไทย

ฝิ่นนับเป็นพืชที่เป็นสารเสพติดและมอมเมาผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย รวมถึงประเทศไทยเองก็เคยถูกมอมเมาด้วย ‘ฝิ่น’ ทำให้พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ หาทางปราบปรามและป้องกัน การค้า การสูบฝิ่นมาโดยตลอด

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 3 เองก็ได้ทรงตระหนักถึงพิษภัยของฝิ่น ทำให้ในช่วงปีพุทธศักราช 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกวดขัน กวาดล้างการค้าฝิ่นครั้งใหญ่ ทั้งปราบปรามผู้เสพติดอย่างหนัก ริบฝิ่นในปริมาณมาก และโปรดให้รวมนำมาเผาทำลายที่สนามไชย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2382

นอกจากการปราบปรามอย่างจริงจังแล้วพระองค์ยังได้ออก ‘พระบรมราชโองการห้ามสูบและค้าฝิ่น’ โดยในวันนี้ 27 เมษายน พ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน พิมพ์พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง ห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่น เป็นใบปลิวจำนวน 9,000 ฉบับ

ซึ่ง ‘พระบรมราชโองการห้ามสูบและค้าฝิ่น’ นี้จึงนับเป็นเอกสารทางราชการฉบับแรกที่ใช้วิธีการพิมพ์ด้วยตัวอักษรไทย และพิมพ์โดยโรงพิมพ์ในประเทศสยาม โดยสั่งซื้อตัวพิมพ์มาจากประเทศสิงคโปร์

28 เมษายน พ.ศ. 2493 วันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส ’ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง‘ นับเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทย ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 28 เมษายน เป็นวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับเป็นอีกวันหนึ่ง ที่สำคัญยิ่งที่ทั้งสองพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 อันเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

ย้อนหลังไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ระหว่างที่ประทับอยู่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้รับบาดเจ็บที่พระเนตร เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ทรงได้รับการถวายการรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองโลซานน์ โดยมีหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ที่ทรงพบก่อนหน้านั้นถวายการพยาบาลอยู่ด้วย

ต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (ขณะนั้นคือ พันเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร (สนิทวงศ์) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ณ เมืองโลซานน์

และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม อีกทั้งยังทรงให้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยอีกด้วย ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนสมรสเป็นพระองค์แรก และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้ลงนามในสมุดเป็นบุคคลที่สองในฐานะคู่สมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ขณะนั้นเจ้าสาวยังมีอายุเพียง 17 ปีเศษ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครองก่อนตามกฎหมาย ดังนั้นหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบิดาของเจ้าสาวจึงต้องลงพระนาม แสดงความยินยอมและรับรู้ในการจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ด้วย

ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่สมเด็จพระราชินีในโอกาสนี้ด้วย

นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้เข้าร่วมพิธีจะได้รับพระราชทานของที่ระลึก คือ หีบเงินเล็ก ซึ่งบนฝาหีบประดับด้วยอักษรพระบรมนามาภิไธย และพระนามาภิไธย

ทั้งนี้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ ก็ได้ถ่ายทอดมายังพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงงานร่วมกันต่อเนื่องมามิได้ขาด

29 เมษายน วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ขณะยังเป็นพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระเชษฐภคินีต่างพระมารดา 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

คณะแพทย์ถวายพระประสูติโดยการผ่าตัด เมื่อแรกประสูติ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม ความยาวพระองค์ 47 เซนติเมตร รอบพระเศียร 31 เซนติเมตร ลืมพระเนตรเวลา 19.00 น. มีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง พระเนตรโต พระนาสิกโด่ง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชหัตถเลขาขนานพระนามว่า ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ’ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 และพระราชทานเสมาอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ทองคำ ส่วนพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชตินั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระมหากรุณาธิคุณอธิบายพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ว่า ‘ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง, ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง’

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เขียนพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เป็นภาษาอังกฤษว่า ‘His Royal Highness Prince Dipangkorn Rasmijoti’

30 เมษายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย’ ปกป้องผู้บริโภคจากการฉ้อฉลของผู้ประกอบการ

30 เมษายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย’ ประกอบกับมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภคในปี พ.ศ.2522 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากพฤติกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา หรือมีการโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อสินค้าหรือบริการไม่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบข้อมูลทางการตลาดที่แท้จริง ทั้งเรื่องคุณภาพสินค้าและราคา รวมทั้งยังระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครอง 5 ข้อ ดังนี้

1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้ง โฆษณา แสดงฉลาก คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ไม่หลงผิดซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ โดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3. สิทธิที่จะใช้สินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน 
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายเมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ การพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในประเทศไทยมุ่งเน้นเพียงแก้ไขปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าการแก้ไขเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบ อีกทั้งหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคแม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็มีเพียงองค์กรของรัฐ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีผู้แทนโดยตรงที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้ในการสะท้อนปัญหาของตนเองแก่รัฐ ดังนั้น จะต้องยกระดับปัญหาปัจเจกขึ้นเป็นการแก้ไขเชิงโครงสร้าง เพื่อส่งเสริมให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามจัดตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาคประชาชน ที่จะทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานของรัฐ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค

รวมถึงมีตัวแทนผู้บริโภคทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นหู เป็นตา เป็นปาก เป็นเสียงให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังสามารถเปิดเผยข้อมูลสินค้า ตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค และสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคให้สามารถแก้ปัญหาผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ได้

ประกาศจัดตั้ง ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ ‘สภาผู้บริโภค’ ที่เกิดจากการรวมตัวองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้อย่างเบ็ดเสร็จ ครบ จบ ในที่เดียว (One-stop Service)

ไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่มีสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ทำหน้าที่ช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทำงาน 8 ด้านและอีก 1 คณะทำงาน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานด้านการศึกษา

ผู้ที่ประสบปัญหา ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อขายสินค้าหรือบริการสามารถยื่นเรื่องต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคได้โดยตรง เพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ยหรือฟ้องคดีแทนผู้บริโภค พร้อมดำเนินการอื่น ๆ จนกว่าจะสิ้นสุด 

สภาผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคน รวมทั้งเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการให้ความคิดเห็น เสนอแนะนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน ‘เพราะทุกคน คือ ผู้บริโภค’

1 พฤษภาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ยกย่องให้เห็นความสำคัญของแรงงาน

ย้อนกลับไปในสมัยก่อนประเทศแถบยุโรปจะถือเอา ‘วันเมย์เดย์’ (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม จึงมีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงขอให้ปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งทางภาคเหนือของยุโรปก็จะมีการจัดงานรอบกองไฟในวันนี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังมีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

จากตอนแรกที่เป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศจึงถือเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ 

ซึ่งความหมายของ วันเมย์เดย์ (May Day) จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้มีการเรียกร้องในหลายประเทศทางตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น ‘วันแรงงานสากล’ ทำให้หลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และได้สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน 

สำหรับวันแรงงานในประเทศไทยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และรัฐบาลได้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2499 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วันแรงงาน’ ในปี พ.ศ. 2500 

โดยอุตสาหกรรมไทยในสมัยก่อนได้เริ่มขยายตัวมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานต่างก็มีปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปัญหาแรงงานก็ยังมีความซับซ้อนยากที่จะแก้ไขได้โดยง่าย ทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดีขึ้น ซึ่งในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุมขึ้น โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เป็นวันที่ ‘ระลึกถึงแรงงานไทย’ จึงได้มีหนังสือถึงนายรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นับแต่นั้นมา วันที่ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็น ‘วันกรรมกรแห่งชาติ’ จนต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปีเพื่อเป็นการเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยในบางที่ก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยได้มอบหมายให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี ภายในงานได้มีการจัดให้ทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแแสดงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

สำหรับ วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดทางราชการ ฉะนั้น หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น

2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ‘ปรีดี พนมยงค์’ ถึงแก่อสัญกรรม สิริอายุรวม 82 ปี ปิดฉากผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ณ บ้านอองโตนี

ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม นอกจากนี้เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ ‘รัฐบุรุษอาวุโส’

อย่างไรก็ตาม ปรีดี ต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต โดยถูกกล่าวหาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศสรวมระยะเวลากว่า 30 ปี และไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 

ปรีดี สิ้นใจด้วยอาการหัวใจวาย ขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน ในเวลา 11 นาฬิกาเศษ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส สิริอายุ 82 ปี

ต่อมาปี 2543 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้บรรจุชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก ในช่วงปี 2543-2544 ท่านเป็นสามัญชนคนหนึ่งที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่ชาติบ้านเมืองไว้จำนวนมาก แต่สังคมไทยกลับปฏิบัติต่อท่านต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่ไม่ยกย่องเท่านั้น แต่นายปรีดี พนมยงค์ กลับกลายเป็นบุคคลที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

3 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 'องค์การสหประชาชาติ' กำหนดให้เป็น 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก' ปกป้องสิทธิเสรีภาพ-ความปลอดภัยในการแสดงออกของสื่อมวลชน

3 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก' (World Press Freedom Day) เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีและปลอดภัย เพราะในระยะหลัง ๆ นักข่าวที่ลงพื้นที่ภาคสนามได้มีจำนวนผู้เสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และถูกจับกุมเพิ่มมากขึ้น 

ต่อมาจึงได้ถือเอาวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก' เพื่อระลึกถึงข้อปฏิบัติว่าด้วยเสรีภาพสื่อ และเพื่อเป็นการปกป้องนักข่าวที่ถูกโจมตีเพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น ซึ่งการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกนั้นถือเป็นงานที่หนักพอสมควร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top