Tuesday, 21 May 2024
TodaySpecial

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ‘แคนาดา’ ประกาศใช้ ‘ธงเมเปิลสีแดง’ เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการ

แคนาดา มีประวัติศาสตร์หลังการมาถึงของชาวตะวันตกยาวนานราว 400 ปี เบื้องแรกในฐานะดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ก่อนตกมาอยู่ในความครอบครองของอังกฤษในเวลาถัดมา

การใช้ธงชาติของรัฐก่อนที่จะมาเป็นแคนาดาในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยมีสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นรัฐภายใต้อิทธิพลของเจ้าอาณานิคมอยู่เสมอ

เมื่อเข้าถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสถานการณ์ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ และความเป็นชาติของแคนาดา การสนับสนุนอังกฤษในสงครามยังมีส่วนที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง เมื่อประชาชนจำนวนมากพากันต่อต้านการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะกลุ่มชาวแคนาดาในควิเบกที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 แคนาดาเดินหน้าสู่ความเป็นรัฐเอกเทศมากขึ้น และพยายามหาธงชาติใหม่เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2507 ที่รัฐสภาได้ประกาศคัดเลือกธงชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 รัฐสภาได้มีมติเลือกธงชาติพื้นแดงขาว ที่มีใบเมเปิลสีแดง ปลายใบ 11 แฉก อยู่ตรงกลาง ให้เป็นธงชาติของแคนาดา โดยสีแดงบนธงซ้ายและขวา หมายถึง มหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนสีขาว หมายถึง ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่และหิมะ ใบเมเปิลคือสัญลักษณ์ของแคนาดา ซึ่งใช้เป็นตราแผ่นดินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

ทั้งนี้ พิธีสถาปนาธงชาติแคนาดาอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ณ รัฐสภาแคนาดา

16 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ‘วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช’ กษัตริย์ผู้มีความรอบรู้-ปราดเปรื่อง

วันนี้เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยถูกยกให้เป็น ‘วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช’ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปี พ.ศ. 2175 ซึ่งตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2175 นั่นเอง

ทั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์ หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยทรงขึ้นครองราชย์เมื่อแรม 2 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ. 2199 ในขณะที่มีพระชนมายุ 25 พรรษา

ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมให้กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการค้าขาย ทรงติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยพระองค์ทรงปรับปรุงพระคลังสินค้า โปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นหลวง เพื่อทำการค้ากับต่างประเทศ นอกจากนี้ยังทรงจัดคณะทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีถึงประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่มีความรอบรู้และปราดเปรื่อง ตลอดจนทรงมีไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วง โดยครั้งหนึ่งฝรั่งเศสได้ส่งคณะทูตนำโดย เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ มาเข้าเฝ้าเพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงเข้ารีต แต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถไปว่า

"การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาลให้เป็นไป ถ้าคริสตศาสนาเป็นศาสนาดีจริงแล้ว และเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสตศาสนิกแล้ว สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้"

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ให้เสรีภาพแก่ราษฎร ที่จะนับถือคริสตศาสนาได้ตามความเลื่อมใสของตน เรื่องนี้ทำให้เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ พอใจเป็นอย่างยิ่ง

วันนี้ถือเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘สมเด็จพระนารายณ์มหาราช’ จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งในการเทิดพระเกียรติและระลึกถึงพระปรีชาสามารถ ตลอดจนพระอัจฉริยภาพอันเปี่ยมล้นของพระองค์

17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สิ้น ‘พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น’ ศิลปินแห่งชาติ ผู้อยู่เบื้องหลังสร้างพระเมรุ ‘สมเด็จย่า-พระพี่นาง-เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ’

วันนี้เมื่อ 11 ปีที่แล้ว 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลาประมาณ 05.40 น. พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อย สถาปัตยกรรม ประจำปี 2541 ในวัย 71 ปี ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งตับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างต่อเนื่อง และญาติได้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร พร้อมทั้งขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในเย็นวันนี้ เวลา 15.00 น. 

ทั้งนี้ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2485 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชโอรส เมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนช่างศิลป และศึกษาสถาปัตยกรรมไทยจนได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2507 ซึ่งในสมัยนั้นยังมิได้สถาปนาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังเช่นปัจจุบัน

เมื่อจบการศึกษาและทำงานเป็นผู้ออกแบบเล็กๆ น้อยๆ กับสถาปนิกรุ่นพี่มาระยะหนึ่ง เห็นว่าไม่ค่อยมั่นคงจึงสมัครเข้ารับราชการเป็นสถาปนิกประจำกองทัพอากาศอยู่นาน 9 ปี จนติดยศเรืออากาศเอก โดยพลอากาศตรี อาวุธ ได้เคยเล่าเกร็ดชีวิตทหารให้ฟัง ในวันงานเลี้ยงเชิดชูเกียรติ โดยสภาสถาปนิกครั้งหนึ่งว่า

เป็นโชคร้ายหรือโชคดีก็ไม่ทราบ ที่ในเช้าวันหนึ่ง เกิดมองไม่เห็นทหารชั้นนายพลผู้บังคับบัญชาที่เดินสวนมา จึงไม่ได้ยืนตรงทำความเคารพ เลยถูกสั่งขังเสียหลายวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ได้โอนมาเป็นนายช่างศิลป์ สังกัดกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2518 

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2521 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบูรณปฏิสังขรณ์ ในกองสถาปัตยกรรมไทย ในกรมศิลปากรนั้นเอง และได้เจริญเติบโตเรื่อยมา จากที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ ระดับ 9 จนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2544 และมาดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์สถาปนิกระดับ 10 เมื่อ พ.ศ. 2545 และเกษียณอายุราชการในปีนั้น

พลอากาศตรี อาวุธ มีผลงานมากมาย โดยเฉพาะผลงานสำคัญ ด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ และออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมไทย เช่น

งานบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์, งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งได้เป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณสถานแห่งชาติที่สำคัญอีกหลายแห่ง

ส่วนงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม เช่น ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง พระที่นั่งสันติชัยปราการ ในสวนสันติชัยปราการ, พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ฯลฯ 

และงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรมที่ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนจดจำคือ เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างพระเมรุมาศ ทรงปราสาทจตุรมุขยอดเกี้ยว และอาคารรายรอบที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 

และเป็นหัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 

ในด้านการเผยแพร่วิชาความรู้ ด้านสถาปัตยกรรมไทย และการอนุรักษ์ พลอากาศตรี อาวุธ ได้เป็นอาจารย์พิเศษ ที่เป็นกำลังสำคัญ ที่ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย ให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จบการศึกษามา นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้บรรยาย และเป็นวิทยากรในกิจกรรมทางวิชาการมากมาย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ พ.ศ. 2550 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) และ พ.ศ. 2551  มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ‘ไคลด์ ทอมบอห์’ ค้นพบ ‘ดาวพลูโต’ อดีตดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 เป็นวันค้นพบ ‘ดาวพลูโต’ อดีตดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ของระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งถูกค้นพบโดย ‘ไคลด์ ทอมบอห์’

ดาวพลูโต (Pluto) เป็นอดีตดาวเคราะห์อันดับที่ 9 ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ เป็นวัตถุแถบไคเปอร์ชิ้นแรกที่ถูกค้นพบ มีขนาดใหญ่และมีมวลมากที่สุดเป็นอันดับสองในบรรดาดาวเคราะห์แคระที่รู้จักในระบบสุริยะ และยังเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 9 และมวลมากเป็นอันดับที่ 10 ในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์

ดาวพลูโตมีลักษณะเหมือนกับวัตถุอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน ประกอบด้วยหินและน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ มีมวลและปริมาตรประมาณ 1 ใน 6 และ 1 ใน 3 ของดวงจันทร์ตามลำดับ ซึ่งวงโคจรของดาวพลูโตมีความเยื้องศูนย์กลางมาก อยู่ที่ 4.4-7.4 พันล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ดาวพลูโตมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 32.6 หน่วยดาราศาสตร์

ดาวพลูโตมีดาวบริวารที่ 5 ดวง ได้แก่ แครอน, สติกซ์, นิกซ์, เคอร์เบอรอส และไฮดรา ซึ่งในบางครั้งดาวพลูโตและแครอนถูกจัดเป็นระบบดาวคู่ เนื่องจากจุดศูนย์กลางมวลของวงโคจรไม่ได้อยู่ในดาวดวงใดดวงหนึ่งเฉพาะ ทำให้ไอเอยูยังไม่มีการให้คำนิยามของระบบดาวเคราะห์แคระคู่อย่างเป็นทางการ และแครอนกลายเป็นดาวบริวารของดาวพลูโตอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559

ชื่อของดาวพลูโตถูกตั้งขึ้นตามชื่อของเทพเจ้าแห่งยมโลก ซึ่งถูกเสนอโดยนักเรียนหญิงวัย 11 ปีในออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2473 โดยสมาชิกทุกคนได้ลงคะแนนให้ชื่อพลูโตทั้งหมดและได้ถูกประกาศในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2473

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ชื่อดาวพลูโตเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทำให้วอลต์ ดิสนีย์ได้รับแรงบันดาลใจ โดยเขาได้เสนอชื่อเพื่อนสุนัขของมิกกี้ เมาส์ว่า พลูโต

ทั้งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ประกาศลดขั้นของดาวพลูโตให้เป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์แคระ จึงทำให้ระบบสุริยะเหลือดาวเคราะห์เพียง 8 ดวงเท่านั้น

19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ‘ไทย-ลาว’ หยุดยิงใน ‘สมรภูมิร่มเกล้า’ ความขัดแย้งจากข้อพิพาทเส้นแบ่งดินแดน

วันนี้เมื่อ 36 ปีก่อน ‘ไทย-ลาว’ ประกาศหยุดยิงใน ‘สมรภูมิร่มเกล้า’ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมาแล้วกว่าสามทศวรรษ

ความขัดแย้งระหว่างไทยและลาวบริเวณชายแดน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทในการกำหนดเส้นแบ่งดินแดนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพรานไทยและลาวหลายครั้งตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2530 เมื่อทหารลาวได้เข้าทำลายรถแทรกเตอร์ของเอกชนไทย ทำให้คนงานเสียชีวิตหนึ่งราย ในพื้นที่ซึ่งลาวอ้างว่าอยู่ในเขตตาแสงของแขวงไชยะบุรี พร้อมระบุว่าบ้านร่มเกล้าอยู่เข้าลึกไปในเขตลาว 2 กิโลเมตร

ด้านกองทัพภาคที่ 3 ได้ส่งกองกำลังหลักเข้าผลักดันกองกำลังลาวที่เข้ามายึดพื้นที่ยุทธศาสตร์หลายแห่ง โดยวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า ยุทธการบ้านร่มเกล้า ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เมื่อ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) ประกาศจะผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบด้วยการใช้กำลังทหาร จึงทำให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือด

ทหารไทยได้รุกตอบโต้ยึดที่มั่นต่างๆ ที่ลาวครองไว้กลับมาได้เป็นส่วนมาก รวมทั้งได้ทำการโอบล้อมบริเวณตีนเนิน 1428 ไว้ได้ แต่ไม่สามารถบุกขึ้นไปถึงยอดเนินซึ่งทหารลาวใช้เป็นฐานต่อต้านได้ ซึ่งไทยต้องเสียเครื่องบินรบแบบเอฟ-5 หนึ่งลำ และโอวี-10 อีกหนึ่งลำพร้อมกับชีวิตทหารอีกนับร้อยนายในการศึกครั้งนี้

หลังการสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือด ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 นายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาวในขณะนั้น ได้ส่งสาส์นถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอให้หยุดยิง พร้อมตั้งคณะกรรมการพิสูจน์เขตแดน และติดต่อสหประชาชาติให้ช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ซึ่งพล.อ.เปรมตอบรับ นำไปสู่การเจรจาและได้ข้อตกลงโดยทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เวลา 08.00 น. และถอยจากแนวปะทะฝ่ายละ 3 กิโลเมตร

20 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันทนายความ’ หนึ่งในสถาบันด้านกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความทั่วประเทศถือเป็นวันทนายความ

วันนี้ในอดีต เมื่อปี พ.ศ. 2500 เป็นวันที่ทนายความในขณะนั้นมีแนวความคิดริเริ่มที่ต้องการให้วิชาชีพทนายความ ควรจะมีสถาบันที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพทนายความ และเป็นอิสระควบคุมดูแลกันเอง จึงได้ประชุมกันก่อตั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขึ้น โดยจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

ต่อมาสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันใช้ความเพียรพยายามเรียกร้องและผลักดันร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติทนายความเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2528 จึงประสบผลสำเร็จออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2528 และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

ในวันทนายความของทุกปีสมาชิกสภาทนายความทั่วประเทศจึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อแสดงพลังสามัคคี และแสดงความพร้อมในการทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทนายความ

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ‘รัชกาลที่ 6’ ทรงประกาศใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) เป็นศักราชประจำชาติ แทน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.)

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 รัชกาลที่ 6 ประกาศยกเลิกใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) หลังใช้มาได้เพียง 24 ปี (พ.ศ. 2432-2455)

รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 (ร.ศ. 1) แต่ในทางพระพุทธศาสนา ยังคงใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ตามธรรมเนียมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีพระราชดำริว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งก่อนหน้าที่จะใช้พุทธศักราชและรัตนโกสินทร์ศก ประเทศไทยเคยใช้ ‘มหาศักราช’ (ม.ศ.) และ ‘จุลศักราช’ (จ.ศ.) มาก่อน

นอกจากนี้ ประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว เริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ส่วนที่ศรีลังกาและเมียนมา เริ่มนับปีพุทธศักราชตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือเมื่อ 544 ปีก่อนคริสตศักราช พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมาจึงเร็วกว่าไทย 1 ปี

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ‘รัชกาลที่ 9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ จ.เชียงใหม่ ช่วยอำนวยประโยชน์ด้าน ‘ชลประทาน-ผลิตไฟฟ้า-บรรเทาอุทกภัย’

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อว่า ‘เขื่อนแม่งัด’ ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และยังตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำหรับทางเข้าเขื่อนอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 41 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (สายเชียงใหม่-ฝาง) เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร

โดยเขื่อนอเนกประสงค์ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ด้านเหนือเขื่อนที่สามารถอำนวยประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ด้านการชลประทาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ การประมงในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน ซึ่งการก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เช่นกัน

23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 5’ ทรงสถาปนา ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ รร.ต้นแบบแห่ง ‘หลักสูตร-วิธีการสอน’ ที่เผยแพร่ไปทั่วไทย

‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง ‘วิทยาลัย’ ขึ้นในวัดบวรนิเวศ โดยพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 แผนก คือ ส่วนที่ใช้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และอีกส่วนจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยแห่งนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ โดยในยุคแรกเริ่ม ได้เชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส มาทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระองค์แรก ต่อมาการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามลำดับ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงถือได้ว่า โรงเรียนวัดบวรนิเวศ กลายเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการใช้หลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน นอกจากจะเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อาคารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 131 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนวัดบวรริเวศได้เปิดการเรียนการสอนตลอดมา และเหนือสิ่งอื่นใด คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ออกสู่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 2’ พระมหากษัตริย์ผู้สร้าง ‘ยุคทองของวรรณคดี’

‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ มีพระนามเดิมว่า ‘ฉิม’ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 2 ของสยามในสมัยราชวงศ์จักรีและทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 46 ตามประวัติศาสตร์ไทย ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา

ต่อมาพระองค์ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งภายหลังเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสี หลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยทั้ง 2 พระองค์มีพระราชโอรสร่วมกัน 3 พระองค์ พระองค์ใหญ่ซึ่งปรากฏพระนามภายหลังว่าเจ้าฟ้าราชกุมาร สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ รองลงมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 40 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สถาปนาพระเกียรติยศขึ้นเป็น ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ แต่ให้คงเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม มิให้ขึ้นไปประทับ ณ พระราชวังบวรฯ ด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบทูลไว้แต่เมื่อประชวรหนักว่าขอให้ลูกเธอได้อาศัยในพระราชวังบวรฯ ต่อไป ทั้งทรงพระราชดำริเห็นว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว ไม่ช้านานเท่าใดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็จะได้เสวยราชสมบัติ การย้ายวัง ควรไว้ย้ายเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังทีเดียว

ถึงปี พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จสวรรคต กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า…

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติ อาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ หริสกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หรหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลยคุณ อกนิฐฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฐวิสุทธิ์ รัตนมกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร

โดยรัชสมัยของพระองค์ทรงสงบสุข ปราศจากความขัดแย้ง รัชสมัยของพระองค์เป็น ‘ยุคทองของวรรณคดี’ เนื่องจากพระองค์ทรงอุปถัมภ์กวีหลายคนในราชสำนัก และพระองค์เองก็มีชื่อเสียงในฐานะกวีและศิลปิน กวีที่โดดเด่นที่สุดในราชสำนักคือสุนทรภู่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top