Tuesday, 30 April 2024
TodaySpecial

14 เมษายน ของทุกปี ครม.กำหนดให้เป็น ‘วันครอบครัวแห่งชาติ’ หวังให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว

ผ่านพ้นวันผู้สูงอายุ 13 เมษายนไปแล้ว ถัดมาในวันที่ 14 เมษายน ก็เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในช่วง ‘สงกรานต์’ เช่นกัน นั่นก็คือ ‘วันครอบครัว’ (Family Day) หรือ ‘วันครอบครัวแห่งชาติ’ เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่แม้ว่าจะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่ก็มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็มี ‘วันแห่งครอบครัว’ เช่นเดียวกันแต่อาจมีการกำหนดช่วงวันและเดือนที่แตกต่างกันออกไป 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และมีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคุณหญิงสุพัตราได้เสนอมติให้ ครม. พิจารณาให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย 

สาเหตุที่เลือกวันครอบครัวในช่วง ‘เทศกาลสงกรานต์’ เนื่องจากถือเป็นโอกาสดีในการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ขอพร ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น เป็นสุขของครอบครัว ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา ทั้งนี้ ต่อมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้วันดังกล่าวเป็น ‘วันครอบครัว’ มาจนถึงปัจจุบัน

15 เมษายน พ.ศ. 2455 โศกนาฏกรรมสุดเศร้า ‘ไททานิค’ จมดิ่งสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก หลังปะทะกับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต-สูญหายจำนวนมาก

เรือที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ในเวลานั้น เดินทางออกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร มุ่งหน้าสู่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะจมดิ่งสู่มหาสมุทรแอตแลนติก หลังปะทะกับภูเขาน้ำแข็ง เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2455

อาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) เป็นเรือโดยสารเดินทางเที่ยวแรกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร ไปนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา การจมของไททานิค เป็น 1 ใน 3 เรือโดยสารชั้นโอลิมปิก ซึ่งดำเนินการโดยไวต์สตาร์ไลน์ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2452-2454 เป็นเรือที่ได้รับการออกแบบให้มีความสะดวกสบายและความหรูหราที่สุด โดยบนเรือมียิมเนเซียม สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ภัตตาคารชั้นสูงและห้องจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีโทรเลขไร้สายทรงพลังซึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร 

ก่อนที่ไททานิคจะออกเดินทาง ได้เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณส่วนเก็บถ่านหินที่ บล็อก 5 และ 6 และไฟยังไหม้ต่อเนื่องตลอดการเดินทาง ส่งผลให้ผนังกั้นนํ้าชั้นที่ 4 ก่อนถึงห้องเครื่อง และ ส่วนที่เก็บถ่านหินนั้นร้อนมากจนผนังกั้นนํ้าร้อนจนแดง และตัวเหล็กของผนังกั้นนํ้าบิด งอ ลดการทนทานนํ้าลง

ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2455 เมื่อเดินทางห่างจากเซาท์แทมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิค เกิดอุบัติเหตุชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง ทำให้แผ่นลำเรือเกิดความเสียหาย จนนํ้าทะลักเข้าไปในเรือ และเนื่องจากผนังกั้นนํ้าชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้จากห้องเก็บถ่านหิน ส่งผลให้นํ้าทะลักเข้ามาภายในตัวเรือ จนกระทั่งเรือจมลงสู่ก้นมหาสมุทรในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2455

เหตุการณ์นี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมที่สูญเสียเป็นอย่างมาก สมาชิกลูกเรือและผู้โดยสารมากมายต้องเสียชีวิตและสูญหาย นับเป็นภัยพิบัติทางทะเลที่มีผู้เสียชีวิตมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

‘เรือเซวอล’ อับปาง ขณะเดินทางไปเกาะเชจู โศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตชาวเกาหลีใต้กว่า 300 คน

ในวันนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ได้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สะเทือนใจคนทั้งโลก โดยเฉพาะชาวเกาหลีใต้ นั่นก็คือโศกนาฏกรรม ‘เรือเซวอล’ อับปาง ที่คร่าชีวิตไปกว่า 300 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมทั้งสิ้น

โดยเหตุการณ์นี้ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557 เรือเซวอลกำลังมุ่งหน้าจากเมืองอินชอนสู่เกาะเชจูตามตารางเวลาที่กำหนด โดยบนเรือส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมของโรงเรียนดันวอน ที่กำลังออกไปทัศนศึกษา

เมื่อรวมจำนวนผู้โดยสารและลูกเรือแล้ว เรือลำนี้บรรจุผู้โดยสารกว่า 476 ชีวิต ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของน้ำหนักผู้โดยสาร ที่เจ้าของเรืออ้างว่าเซวอลสามารถบรรทุกได้

ในวันเกิดเหตุ กัปตันอีจุนซอก วัย 69 ปี ผู้กุมชะตาชีวิตคนบนเรือเกือบ 500 คน กลับไม่ได้อยู่ในห้องควบคุมเรืออย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับสั่งให้ลูกเรือเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่างแทน ซึ่งเมื่อเรือเข้าสู่ช่องแคบ ที่เต็มไปด้วยโขดหินและคลื่นแรงใต้ทะเล ลูกเรือที่ไม่มีประสบการณ์มากพอก็ตัดสินใจผิดพลาดได้หันหัวเรือกะทันหัน และกระปุกพวงมาลัยเรือที่ทำงานขัดข้อง จึงเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เซวอลศูนย์เสียการทรงตัว

นอกจากความหละหลวมในการทำหน้าที่ของเขาแล้ว เรือลำนี้ยังบรรทุกสินค้าที่ไม่สมดุลและเกินน้ำหนักมาตรฐาน คอนเทนเนอร์สินค้าที่จัดวางอย่างไม่รัดกุม รวมถึงน้ำอับเฉาที่มีน้อยกว่าที่ทางการกำหนด โดยเรือเซวอลนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรือมือสองที่ซื้อต่อมาจากบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทชองแฮจินของเกาหลีใต้ ได้ซื้อมาเพื่อใช้งานต่อเมื่อปี พ.ศ. 2555

หลังจากนั้น บริษัทชองแฮจินของเกาหลีใต้ ได้มีการปรับปรุงเรือและทำการต่อเติม เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้เองจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เพราะการต่อเติมเรือ ทำให้ศูนย์ถ่วงเรือมีปัญหา ยิ่งไปกว่านั้นทางบริษัทฯ ยังได้ยื่นขอบรรทุกสินค้าเกือบ 2,000 ตัน ซึ่งต่อมากรมทะเบียนเรือ ได้ปรับลดน้ำหนักบรรทุกสินค้าของเซวอลลงเหลือครึ่งหนึ่ง และกำหนดให้ต้องบรรทุกน้ำอับเฉาถึง 2,000 ตัน เพื่อให้เรือสามารถทรงตัวอยู่ได้

และดูเหมือนว่าโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เกิดจากความประมาทของตัวกัปตันและความเห็นแก่ได้จากทางบริษัทเจ้าของเรือเซวอล ที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร แต่ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์บนเรือยิ่งสร้างความสลดใจ เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเหล่านี้แล้วแทนที่กัปตันอีจุนซอก จะลำเลียงผู้โดยสารไปยังเรือชูชีพ แต่กลับออกคำสั่งให้ทุกคนอยู่ประจำที่รอคำสั่งต่อไป ขณะที่เรือประมงและเรือพาณิชย์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงก็ทยอยเข้าให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารบริเวณดาดฟ้าเรือและผู้โดยสารที่กระโดดลงทะเลเพื่อเอาชีวิตรอด

ส่วนกัปตันอีจุนซอกและลูกเรืออีกจำนวนหนึ่ง ก็เลือกที่จะสละเรือและหลบหนีออกมา ทำให้คนที่ยังติดค้างอยู่ภายในตัวเรือชั้นต่าง ๆ รวมกว่า 300 รายเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 ที่กำลังจะไปทัศนศึกษา แต่กลับต้องมาพบจุดจบอันน่าเศร้า สร้างความสะเทือนใจให้กับชาวเกาหลีทั้งประเทศ รวมถึงคนที่ทราบข่าวทั่วโลก

ทั้งนี้ วันที่ 15 พฤษภาคม กัปตันอีจุนซอก หัวหน้าวิศวกรประจำเรือ และลูกเรืออีก 2 คนถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตาย ขณะที่ ลูกเรืออีก 11 คนถูกตั้งข้อหาละสละเรือละทิ้งหน้าที่ และเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ศาลได้ตัดสินให้กัปตันอีจุนซอกรับโทษจำคุก 36 ปี หัวหน้าวิศวกรรับโทษจำคุก 30 ปี ส่วนลูกเรือที่เหลือรับโทษจำคุกระหว่าง 5 ถึง 20 ปี และในปี 2560 ทางการเกาหลีใต้ จึงได้กู้ซากเรือเซวอลขึ้นมาจากใต้ท้องทะเลได้จนสำเร็จ หลังจากที่จมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานกว่า 3 ปี

17 เมษายน พ.ศ. 2331 วันคล้ายวันเกิด ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ หรือ ‘สมเด็จโต’ พระเกจิเถราจารย์ผู้มีความประพฤติอันน่าเลื่อมใส

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือนามที่นิยมเรียก สมเด็จโต, หลวงปู่โต หรือ สมเด็จวัดระฆัง เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี) ซึ่งก็คือเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระภิกษุมหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5

นอกจากนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน และนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล ‘พระสมเด็จ’ ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย และมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน

18 เมษายน พ.ศ. 2498 รำลึก ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ผู้ค้นพบ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป’ หรือ ‘แรงโน้มถ่วง’

‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่มีสัญชาติสวิสและอเมริกัน (ตามลำดับ) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม สถิติกลศาสตร์ และจักรวาลวิทยา และเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี พ.ศ. 2464 จากการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก และจาก ‘การทำประโยชน์แก่ฟิสิกส์ทฤษฎี’

หลังจากที่ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ในปี พ.ศ. 2458 เขาก็กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดานักสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ในปีต่อ ๆ มา ชื่อเสียงของเขาได้ขยายออกไปมากกว่านักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ โดยในประวัติศาสตร์ ไอน์สไตน์ ได้กลายมาเป็นแบบอย่างของความฉลาดหรืออัจฉริยะ ความนิยมในตัวของเขาทำให้มีการใช้ชื่อไอน์สไตน์ในการโฆษณา หรือแม้แต่การจดทะเบียนชื่อ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ ให้เป็นเครื่องหมายการค้า

ตัวไอน์สไตน์เอง มีความระลึกถึงผลกระทบทางสังคม ซึ่งมีผลมาจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ในฐานะที่เขาได้เป็นปูชนียบุคคลแห่งความบรรลุทางปัญญา เขายังคงถูกยกย่องให้เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่มีอิทธิพลต่อวิทยาศาสตร์ที่สุดในยุคปัจจุบัน ทุกการสร้างสรรค์ของเขายังคงเป็นที่เคารพนับถือ ทั้งในความเชื่อในความสง่า ความงาม และความรู้แจ้งเห็นจริงในจักรวาล (คือแหล่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจในวิทยาศาสตร์ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่) เป็นสูงสุด ความชาญฉลาดเชิงโครงสร้างของเขาแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของจักรวาล ซึ่งงานเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านผลงานและหลักปรัชญาของเขา ในทุกวันนี้ ไอน์สไตน์ยังคงเป็นที่รู้จักดีในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังที่สุด ทั้งในวงการวิทยาศาสตร์และนอกวงการ

อย่างไรก็ตาม ไอน์สไตน์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2498 ด้วยโรคหัวใจ

สำหรับผลงานของไอน์สไตน์ในสาขาฟิสิกส์มีมากมาย อาทิเช่น…

- ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ซึ่งนำกลศาสตร์มาประยุกต์รวมกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นไปตาม equivalence principle
- วางรากฐานของจักรวาลเชิงสัมพัทธ์ และค่าคงที่จักรวาล
- ขยายแนวความคิดยุคหลังนิวตัน สามารถอธิบายจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของดาวพุธได้อย่างลึกซึ้ง
- ทำนายการหักเหของแสง อันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงและเลนส์ความโน้มถ่วง
- อธิบายการเกิดปรากฏการณ์ของแรงยกตัว
- ริเริ่มทฤษฎีการแกว่งตัวอย่างกระจาย ซึ่งอธิบายการเคลื่อนที่ของบราวน์ของโมเลกุล
- ทฤษฎีโฟตอนกับความเกี่ยวพันระหว่างคลื่น-อนุภาค ซึ่งพัฒนาจากคุณสมบัติอุณหพลศาสตร์ของแสง
- ทฤษฎีควอนตัมเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของอะตอมในของแข็ง
- ริเริ่มโครงการทฤษฎีแรงเอกภาพ

ทั้งนี้ ไอน์สไตน์ ได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 300 ชิ้น และงานอื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อีกกว่า 150 ชิ้น ปี พ.ศ. 2542 นิตยสารไทมส์ ยกย่องให้เขาเป็น ‘บุรุษแห่งศตวรรษ’ และความสำเร็จทางปัญญาและความคิดริเริ่มของเขาส่งผลให้ ไอน์สไตน์ กลายเป็นคำพ้องที่มีความหมายตรงกับคำว่า ‘จีเนียส’ (อัจฉริยะ)

19 เมษายน พ.ศ. 2509 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงแล่นเรือใบ ‘เวคา’ ด้วยลำพังพระองค์เอง ใช้เวลา 17 ชั่วโมง เพื่อเสด็จข้ามอ่าวไทยสู่อ่าวนาวิกโยธิน

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงแล่นใบ ประเภทโอเค (International O.K. Class) ชื่อเรือ ‘เวคา’ ด้วยลำพังพระองค์เอง จากพระราชวังไกลกังวล อําเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกเดินทางข้ามอ่าวไทยมายังอ่าวนาวิกโยธิน รวมระยะทาง 60 ไมล์ทะเล ใช้เวลาในการแล่นใบ 17 ชั่วโมงเต็ม เมื่อเสด็จถึงทรงฉลองพระองค์ชุดสนามทหารนาวิกโยธิน โดยได้ทรงนําธงราชนาวิกโยธิน ที่ทรงนําข้ามอ่าวไทยมาด้วย ปักเหนือก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวนาวิกโยธิน และหลังจากทรงปักธงราชนาวิกโยธินแล้ว พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย บนแผ่นศิลาจารึก

หลังจากนั้นเสด็จประทับเรือพระที่นั่งจันทร ข้ามอ่าวไทยกลับพระราชวังไกลกังวล ต่อมาในปีเดียวกันได้พระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่งเวคา ที่ทรงแล่นใบข้ามอ่าวไทย เพื่อเป็นรางวัลนิรันดร แก่ผู้ชนะเลิศใน การแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทยประจําปีของสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วมแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบประเภทโอเค ในรายการแข่งขันระดับนานาชาติ และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง ยังความปลาบปลื้มใจแก่ชาวไทยโดยทั่วกัน ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของชาติด้านการกีฬาของประเทศไทย ต่อมาคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติ ตราบจนปัจจุบัน

20 เมษายน พ.ศ. 2454 วันคล้ายวันเกิด ‘พล.ต. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’ อดีตนายกฯ คนที่ 13 ของไทย ผู้ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ - ประพันธ์นวนิยายชื่อดัง ‘สี่แผ่นดิน’

พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นโอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) เป็นน้องชายของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของไทย) เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

จากนั้นไปเรียนต่อวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง จากวิทยาลัยควีนส์ (The Queen’s College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กลับมารับราชการที่กรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าเป็นทหาร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรีในปี พ.ศ.  2531

เริ่มเล่นการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 โดยก่อตั้ง พรรคก้าวหน้า ต่อมาได้ยุบรวมกับ พรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นก่อตั้ง พรรคกิจสังคม ในปี พ.ศ. 2517 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518

นอกจากบทบาททางการเมือง ท่านยังมีบทบาทสำคัญในด้านหนังสือพิมพ์และวรรณกรรมอีกด้วย โดยก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในปี พ.ศ. 2493 นอกจากนี้ยังมีผลงานทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ เรื่องแปล สารคดี และผลงานที่สำคัญได้แก่ สี่แผ่นดิน ไผ่แดง กาเหว่าที่บางเพลง ฯลฯ ท่านได้รับยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. 2528 และท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538

21 เมษายน พ.ศ. 2325 วันสถาปนา ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบัน

รู้หรือไม่? วันที่ 21 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันกำเนิดเมืองหลวงของไทย นั่นคือ ‘กรุงเทพมหานคร’ โดยมีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 น. จากวันนั้นถึงวันนี้กรุงเทพฯ ก็มีอายุครบ 242 ปีแล้ว

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงและนครที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงิน การธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญของประเทศ ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

ย้อนกลับไปในสมัยที่เกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นมีการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า ฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีมีชัยภูมิดีกว่าตะวันตก เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขต หากข้าศึกยกมาถึงชานพระนคร ก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา

พระองค์ทรงประกอบ ‘พิธียกเสาหลักเมือง’ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 9 บาท (54 นาที) ปีขาล จ.ศ.1144 จัตวาศก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 น. และทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325

ทั้งนี้ พื้นที่ของเมืองหลวงแห่งนี้ แต่เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า ‘บางกอก’ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และที่มาของคำว่า ‘บางกอก’ นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า ‘บางเกาะ’ หรือ ‘บางโคก’ หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า ‘บางมะกอก’ ต่อมากร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า ‘บางกอก’

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น ‘นครหลวงกรุงเทพธนบุรี’ และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่นิยมเรียกกันว่า กรุงเทพฯ 

ต่อมามีการตั้งชื่อเมืองว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ แปลว่า ‘พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร’ มาจากชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร เป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย ไม่ได้มีสถานะเป็นจังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตร.กม. มีประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 6 ล้านคน ทำให้กรุงเทพมหานครจัดเป็นเอกนคร (Primate City) มีผู้กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็น ‘เอกนครที่สุดในโลก’ เพราะมีประชากรมากกว่านครที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ถึง 40 เท่า อีกทั้งเป็นเมืองที่มีตึกระฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี พ.ศ. 2563 

22 เมษายน ของทุกปี ‘องค์การสหประชาชาติ’ กำหนดให้เป็น 'วันคุ้มครองโลก' หวังให้ผู้คนร่วมตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

22 เมษายน ของทุกปีเป็น ‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) เพื่อให้ผู้คนบนโลกได้ตระหนักถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ

ทั้งนี้ ผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา โดยในปี พ.ศ. 2505 เกย์ลอร์ด เนลสัน ได้ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้เห็นด้วย และได้ออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่ม ‘วันคุ้มครองโลก’

ต่อมา เนลสัน ได้ผลักดันให้มีการชุมนุม แสดงความคิดเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา จากนั้นในวันที่ 22 เมษายน ประชาชนชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก ซึ่งผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น ‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day) 

สำหรับในประเทศไทย ได้มีการจัดให้มีการรณรงค์วันคุ้มครองโลกขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นยุคเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากที่ นายสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กระทำอัตวินิบาตกรรม อาจารย์และนักศึกษารวม 16 สถาบันได้จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่า และตระหนักถึงวิกฤตการณ์ทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ของประเทศไทย

23 เมษายน พ.ศ. 2517 วันก่อตั้ง ‘คณะมนุษยศาสตร์’ ม.สงขลานครินทร์ ครอบคลุมหลายหลักสูตร ให้นักศึกษาได้เล่าเรียน

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเปิดสอนในรายวิชาทางด้านดังกล่าวให้กับนักศึกษาสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ทั้งนี้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (Faculty of Humanities and Social Sciences, Prince of Songkla University) ได้จัดตั้งขึ้นตามโครงการ ที่ได้กำหนดไว้ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ( พ.ศ. 2515 - 2519 ) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2517 โดยทบวงมหาวิทยาลัยได้ อนุมัติให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดตั้ง ‘คณะมนุษยศาสตร์’ ต่อมา ได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์’ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2518 เพื่อสนองนโยบายที่คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ได้วางไว้ว่าจะให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นศูนย์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมและสังคม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top