Tuesday, 21 May 2024
TodaySpecial

‘วันฉัตรมงคล’ ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ‘ในหลวง ร.10’ แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’ และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า ‘เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’

ทั้งนี้ คำว่า ‘ฉัตรมงคล’ หมายความว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า ‘พระบาท’ นำหน้า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า ‘พระบรมราชโองการ’ และอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

ครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 รัฐบาลไทย ได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 จึงถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล

หลังจากรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษายกเลิก วันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคลเดิม 

กำหนดวันฉัตรมงคลขึ้นใหม่ เป็นวันที่ 4 พฤษภาคม เนื่องจากวันฉัตรมงคลถูกกำหนดขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘สระสุวรรณชาด’ ม.เกษตรศาสตร์ โครงการช่วยบำบัด-ฟื้นฟู ‘สุนัข’ ให้พ้นจากอาการเจ็บป่วย

‘สระสุวรรณชาด’ โครงการจากทุนพระราชทานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อรักษาสุนัขป่วย

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทรงพา ‘คุณทองแดง’ สุนัขทรงเลี้ยง มาร่วมในพิธีด้วย

ทั้งนี้ ‘สระสุวรรณชาด’ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเป็น สระว่ายน้ำสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัด ให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูก และโรคระบบประสาท จำนวน 2 สระ ซึ่งพระองค์พระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง จำนวน 2,131,351 บาท พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า ‘สระสุวรรณชาด’ ตามชื่อของคุณทองแดงด้วย

โดยสระว่ายน้ำสุวรรณชาดเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานคำแนะนำในการออกแบบตามหลักวิชาการ และได้ใช้สระว่ายน้ำของสุนัขทรงเลี้ยงมาเป็นต้นแบบ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จราวปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 โดยแบ่งโครงสร้างเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสระว่ายน้ำ ขนาด 15.35 เมตร X 3.80 เมตร มีความลึก 1.50 เมตร สำหรับสุนัขทั่วไปที่ต้องการออกกำลังกาย

และส่วนสระกายภาพบำบัด ขนาด 2.35 เมตร X 3.8 เมตร ลึก 1.50 เมตร ส่วนนี้จะประกอบไปด้วยหัวพ่นฟองอากาศจำนวน 4 หัว เพื่อให้เกิดการนวดตามกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและกระตุ้นระบบประสาทที่มีปัญหา โดยมีรอกที่ใช้ในการพยุงตัวสัตว์ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ส่วนนี้สำหรับสุนัขที่เป็นโรคข้อสะโพกหลวม โรคกระดูก หรือสุนัขที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

ทั้งนี้ การบำบัดและฟื้นฟูสัตว์ที่สระว่ายน้ำแห่งนี้จะมีสัตวแพทย์คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพิจารณาอาการเจ็บป่วยของแต่ละตัวว่าเหมาะสมที่จะรักษาด้วยวิธีธาราบำบัดนี้หรือไม่

5 พฤษภาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ หรือพระนามลำลองว่าพระองค์ติ๊ด ทรงประสูติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ทรงเป็นพระธิดาองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2527 ได้มีการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ตามโบราณราชประเพณี โดยพระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งทรงเป็นพระภาคิไนยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อครั้งประสูติ พระองค์มีฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ทุกพระองค์

ต่อมาในรัชสมัย รัชกาลที่ 10 วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เฉลิมพระนาม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ เป็น ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ’ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูม ทรงเจิมแล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา เมื่อปี พ.ศ. 2530 จากนั้นประทับ ณ รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา และทรงเข้าศึกษาที่สถาบันศิลปะวอชิงตัน (The Art Institute of Washington) จนสำเร็จการศึกษา ต่อมาทรงย้ายไปศึกษาต่อด้านแฟชั่นดีไซน์ในสถาบันศิลปะแคลิฟอร์เนีย (The Art Institute of California) ด้วยสนพระทัยด้านกราฟิกดีไซน์และแอนิเมชั่น และประทับอยู่ลำพังพระองค์ในอพาร์ตเมนต์ใกล้สถาบันดังกล่าว

ต่อมาในปี 2552 ได้ทรงโอนย้ายหน่วยกิตทั้งหมด เพื่อมาทรงศึกษาต่อในสาขาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้เวลาเพียง 4 เทอม ประมาณ 1 ปีครึ่งเท่านั้นก็สามารถสำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ตามที่ตั้งพระทัยไว้

ทรงสำเร็จการศึกษาในปี 2553 และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2554 จาก ‘สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี’ ณ อาคารชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หอประชุมกองทัพเรือ

เมื่อสำเร็จการศึกษา พระองค์ทรงนำความรู้มาออกแบบผลิตภัณฑ์ในโครงการสวนจิตรลดา โดยทรงเลือกทำการรีแบรนดิ้งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของแบรนด์จิตรลดา เพื่อให้ดูร่วมสมัย และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทรงลงมือปรับโลโก้ใหม่ให้ดูทันสมัยแต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย และคงความเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของจิตรลดาไว้อย่างเหนียวแน่น

พร้อมกันนี้ พระองค์ได้ทรงออกแบบแพคเกจจิ้งสินค้าของจิตรลดาใหม่ มากกว่า 20 ไลน์ เพื่อสร้างความสดใหม่และน่าสนใจให้กับแบรนด์ ตลอดจนออกแบบลายเสื้อฝีพระหัตถ์ ‘ทุ่งภูเขาทอง’ เพื่อสมทบทุนบูรณะอุโบสถวัดภูเขาทอง และออกแบบลายเสื้อและถุงผ้า ‘ช้างนพสุบรรณ’ เพื่อนำทุนไปบูรณะวัดวัง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เสียหายจากอุทกภัย เมื่อปี พ.ศ. 2554

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงประกอบพระกรณียกิจเกี่ยวกับศิลปะ, พระพุทธศาสนา และโครงการเกษตรตัวอย่างในพระดำริที่จังหวัดสุรินทร์ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในโครงการเกษตรส่วนพระองค์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงสนพระทัยด้านกราฟิกดีไซน์และแอนิเมชั่นเป็นทุนเดิม รวมถึงโปรดการออกแบบโบรชัวร์และโปสเตอร์ ผลงานศิลปนิพนธ์หลังสำเร็จการศึกษานิเทศศิลป์คือ ‘โครงการปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ทางการเกษตรโครงการสวนจิตรลดา’ ที่ปรับเปลี่ยนและออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าโครงการจิตรลดา ภายใต้แนวคิด ‘ชีวิตที่กลมกลืน (Living Harmony)’

ผลงานของพระองค์ถูกจัดในนิทรรศการมีเดียอาตส์เอ็กซีบีเชิน (Media Arts Exhibition : MAX 2011) ร่วมกับผลงานของบัณฑิตท่านอื่น ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรจิตรกรรมและศิลปกรรมในปีนั้น ซึ่งผลงานของพระองค์ได้รับคำชื่นชมจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย ว่าทำได้ดีและมีลักษณะเฉพาะ

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 'ศาล รธน.' วินิจฉัย ‘ยิ่งลักษณ์’ พ้นเก้าอี้นายกฯ หลังมีส่วนเกี่ยวข้องปมย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ได้พ้นจากเก้าอี้รักษาการนายกฯ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ขัดรัฐธรรมนูญ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ พร้อมกับ 9 รัฐมนตรี ที่ร่วมลงมติเห็นชอบให้ย้ายนาย ถวิล เปลี่ยนศรี  

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น ได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้าย นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเร่งรีบอย่างผิดสังเกต ซึ่งไม่เป็นไปตามการปฏิบัติราชการปกติ ถือเป็นการกระทำที่รวบรัด ปราศจากเหตุผลอันสมควรที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการที่ย้าย นายถวิล เลขาธิการ สมช. ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ คือความประสงค์ให้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ว่างลง เพื่อโอนย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แทน อันจะทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง เพื่อย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้น ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการ และเป็นเครือญาติของนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน

ดังนั้น การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตัวเอง มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รวมถึงรัฐมนตรีในขณะนั้นจำนวน 9 คนที่ร่วมมีมติดังกล่าวก็ให้พ้นตำแหน่ง ถือว่ามีส่วนร่วมในการก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการด้วย

หลังจากนั้นอีก 15 วันต่อมา (วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557) ทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ จึงได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ครบรอบ 138 ปี เครื่องดื่ม 'Coca-Cola’ น้ำดำสุดซ่าที่ครองใจลูกค้าทั่วโลก

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 เครื่องดื่ม 'Coca-Cola' หรือ 'Coke' สูตรต้นตำรับถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยเภสัชกร ดร.จอห์น สติชท์ เพมเบอร์ตัน โดยเภสัชกรรายนี้เป็นผู้ผลิตหัวเชื้อน้ำหวาน

โดยมีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า เมื่อ ดร.เพมเบอร์ตัน ปรุงหัวเชื้อน้ำหวานขึ้นมาได้สำเร็จในหม้อทองเหลืองสามขา ซึ่งตั้งอยู่ในสนามหญ้าหลังบ้านของเขา ก็รีบถือเหยือกที่บรรจุน้ำหวานรสชาติใหม่ มุ่งตรงไปยังร้านขายยาชื่อ ‘จาค็อป’ และ ณ ที่นั่นเอง หลายต่อหลายคน ได้ลิ้มลองน้ำหวานของ ดร.เพ็มเบอร์ตัน ต่างก็ชมเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติเยี่ยม หลังจากนั้นไม่นาน ดร.เพมเบอร์ตัน ก็เริ่มปรุงเครื่องดื่มชนิดนี้ขายที่ร้าน ‘จาค็อป’ โดยคิดราคาแก้วละ 5 เซ็นต์ และโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงสมองและประสาท แก้ปวดหัวและอาการเมาค้าง ในครั้งนั้นยังไม่มีส่วนผสมของโซดา ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ต่อมาหุ้นส่วนและสมุห์บัญชีของเขา ได้ตั้งชื่อเครื่องดื่มว่า 'Coca-Cola' เพราะใช้ส่วนผสมหลักมาจากใบของต้นโคคาและลูกโคลา ต่อมาได้มีการผสมโซดาลงไปด้วย เรียกว่า น้ำอัดลม และเติมกาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นให้เกิดความสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า ส่วนใบโคคาก็เลิกใช้แล้ว เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบของยาเสพติดประเภทโคเคน

ปัจจุบัน 'Coca-Cola' เป็นเครื่องดื่มประเภทที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในเครื่องหมายการค้าที่มีคนจดจำได้มากที่สุด 

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ ลงนามอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกัน ณ กรุงโตเกียว ทำให้ไทยได้ดินแดนบางส่วนกลับคืน หลังสิ้นสุดข้อพิพาทสงครามอินโดจีน

วันนี้ในอดีต เมื่อ 83 ปีก่อน ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน เป็นผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า 'ความตกลงวอชิงตัน' มีผลให้อนุสัญญากรุงโตเกียวสิ้นสุดลง โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศสตามเดิม

ทั้งนี้ เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้เสียชีวิต จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นจนถึงในปัจจุบัน

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 รำลึก 31 ปี ไฟไหม้ ‘โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์’ หลังคร่าชีวิต 188 ราย โศกนาฏกรรมที่ทำให้รัฐต้องกำหนดเป็น ‘วันความปลอดภัยแห่งชาติ’

ครบรอบ 31 ปี โศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรง กับเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ ย่านพุทธมณฑล สาย 4 คร่าชีวิตผู้คนรวม 188 ราย

เหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลา 16.00 น. ที่ โรงงานของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ถนนพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสินค้าของเล่นสำหรับเด็กส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ตุ๊กตา เป็นต้น นับเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 188 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน 

ก่อนหน้านี้ โรงงานของเล่นดังกล่าว เคยเกิดเพลิงไหม้อาคารแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2532 เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย

จากการสืบสวน พบว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ประมาณ 15 นาที โรงงานก็ได้ยุบตัวพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้สร้างบันไดหนีไฟ หรือสำรองเอาไว้ ประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูโรงงาน เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคาร เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วเกิดการติดไฟกับผ้าในโรงงาน

สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น ‘วันความปลอดภัยแห่งชาติ’ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540

11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ถือกำเนิด ‘อิน-จัน’ แฝดสยามคู่แรกของไทย ที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต

รู้หรือไม่ ทุกวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของ ‘อิน-จัน’ แฝดสยามคู่แรกของไทยที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกันใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดย ‘อิน-จัน’ เป็นชื่อของฝาแฝดสยามที่มีชื่อเสียงทั่วโลก โดยคำว่า ‘แฝดสยาม’ เนื่องจากเกิดที่ประเทศไทย โดยในสมัยนั้นยังใช้ว่าประเทศสยาม ซึ่งเป็นฝาแฝดที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกัน เป็นฝาแฝดคู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต

ทั้งนี้ อิน-จัน เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยเกิดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาเป็นชาวจีนอพยพมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มารดาเป็นคนไทย ซึ่งฝาแฝดอิน-จัน สามารถเติบโตและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แตกต่างไปจากแฝดติดกันคู่อื่น ๆ ที่มักเสียชีวิตหลังคลอดได้ไม่นาน ซึ่งตามกฎหมายในเวลานั้น ทั้งคู่ต้องถูกประหารชีวิตเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเป็นตัวกาลกิณี แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ได้มีเหตุการณ์ใด ๆ ตามความเชื่อ โทษนั้นจึงได้รับการยกเลิก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2367 ความพิเศษของ อิน-จัน ทราบไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นางนาก และ อิน-จัน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และได้มีพระบรมราชานุญาตให้ อิน-จัน ได้เดินทางร่วมไปกับคณะทูตเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเวียดนาม

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2367 นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ หรือที่คนไทยสมัยนั้นเรียกว่า ‘นายหันแตร’ ได้นั่งเรือผ่านแม่น้ำแม่กลอง และได้พบแฝดคู่นี้กำลังว่ายน้ำเล่นอยู่ ด้วยความประหลาดและน่าสนใจ นายฮันเตอร์จึงคิดที่จะนำฝาแฝดคู่นี้ไปแสดงโชว์ตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเข้าทำความสนิทสนมกับครอบครัวของฝาแฝดอยู่นานนับปี จนพ่อแม่ของทั้งคู่ไว้วางใจ จนกระทั่งในที่สุดนายอาเบล คอฟฟิน กัปตันเรือสินค้าซึ่งขณะนั้นได้เข้ามาทำการค้าในประเทศไทยก็ได้นำตัว อิน-จัน เดินทางจากประเทศไทยไปยังเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้น อิน-จัน มีอายุได้ 18 ปี 

12 พฤษภาคม ของทุกปี ‘สภาพยาบาลระหว่างประเทศ’ กำหนดให้เป็น ‘วันพยาบาลสากล’ ระลึก ‘มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ผู้กำเนิดวิชาชีพพยาบาล

สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses, ICN) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาล ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971)

ทั้งนี้เนื่องจากวันที่ 12 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของ ‘มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาล เป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ ตั้งใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่องและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

สำหรับวัตถุประสงค์มีเพื่อสดุดีคุณงามความดีของ ‘มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ที่ทำประโยชน์อย่างมากมายให้แก่มวลมนุษย์ รวมทั้งเพื่อเป็นการยกย่อง ให้เกียรติ และเชิดชูเป็นต้นแบบ อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางเพื่อให้พยาบาลทั่วโลกรณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพในแต่ละปี

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ‘พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล’ ถูกลอบยิงจนเสียชีวิต ขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ‘เสธ.แดง’ หรือ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ถูกลอบยิงขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ และเสียชีวิต 4 วันต่อมา

สำหรับเหตุการณ์ลอบยิงเกิดขึ้นบริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสีลม ฝั่งสวนลุมพินี บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อเวลาประมาณ 19.20 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงด้วยกระสุนจากพลซุ่มยิงมุมสูงเข้าที่ศีรษะท้ายทอยด้านขวา และทะลุท้ายทอยด้านซ้าย ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว หลังจากนั้นทางญาติจึงตัดสินใจย้ายไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในกลางดึกของวันเดียวกัน โดยทางแพทย์ผู้ให้การรักษาได้ให้เหตุผลว่าทางวชิรพยาบาลมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียบพร้อมกว่า อาการของ พลตรีขัตติยะ อยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอดจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลันเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09.20 น. โดยมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร ในวันที่ 22 มิถุนายน 2553 เวลา 17.00 น.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top