26 เมษายน พ.ศ. 2431 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ ประกอบพิธีเปิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ทรงหวังให้ประชาชนมีที่พึ่งพิง ในยามโรคภัยมาเบียดเบียน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2424 อหิวาตกโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (พ.ศ. 2424-2439) รวมทั้งไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชการอื่นรวม 48 คน จัดตั้ง ‘โรงรักษาผู้ป่วย’ หรือ ‘โรงพยาบาลชั่วคราว’ ขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเหรียญเงินเทพดาถือพวงมาลัย เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ตั้งโรงรักษาคนเจ็บ

ต่อมาเมื่อการระบาดของโรคยุติลง โรงพยาบาลชั่วคราวต่างก็ปิดทำการ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญของโรงพยาบาลที่จะยังประโยชน์เมื่อประชาชนเจ็บป่วยบำบัดทุกข์ ทั้งนี้ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย…

1.พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ 2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ 4. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์  5.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, 6.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ 7. พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เถียร โชติกเสถียร) 8. หลวงสิทธินายเวร (บุศย์ เพ็ญกุล) 9. ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน

ทั้งนี้ คณะกรรมการประชุมกันและตกลงกันว่า จะจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ วังหลัง เพราะขณะนั้นได้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และมีต้นไม้ร่มเย็น เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย

ระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ขณะมีพระชันษาเพียง 1 ปี 7 เดือน ทำให้ความเศร้าโศกมาสู่สมเด็จพระบรมราชชนกชนนีเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระราชดําริถึงความทุกข์ ทรมานของประชาชนทั่วไปซึ่งเจ็บไข้ได้ป่วยและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ต้องล้มตายไปเป็นจํานวนมากทุกปี

ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น จึงได้โปรดพระราชทานสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เนื่องในงานพระเมรุ รวมทั้งเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ที่ใช้แต่ในวันลักพระศพให้แก่โรงพยาบาลวังหลังที่กําลังก่อสร้าง พร้อมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จํานวน 50,000 บาท มาสมทบสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลด้วย

ในระยะแรกคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ หรือที่ประชาชนขณะนั้นนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลศิริราช ที่ให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมตามพระบรมราชปณิธานมาจนปัจจุบันนี้