Sunday, 20 April 2025
โรงพยาบาลศิริราช

26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลศิริราช

วันนี้ เมื่อ 135 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีอายุยาวนานที่สุด

ย้อนเวลากลับไป ในปี พ.ศ.2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดหนัก ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวในที่ชุมชนขึ้นรวม 48 ตำบล ภายหลังเมื่อโรคร้ายทุเลา จึงได้ทำการปิดโรงพยาบาลลง แต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า การมีโรงพยาบาลนั้น จะสร้างประโยชน์สุข ให้แก่พสกนิกรได้ในระยะยาว

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2429 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ( วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โรงพยาบาลใช้เวลาก่อสร้างอยู่ราว 2 ปี กระทั่งในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีเปิดโรงพยาบาลแห่งแรกนี้ และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’ หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ‘โรงพยาบาลศิริราช’

เปิดเบื้องลึก ต้นกำเนิด 'โรงพยาบาลศิริราช' มุ่งมั่นเพื่อทุกชีวิต โดยพระมหากษัตริย์ไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี @aun_mareeyah ได้แชร์คลิปวิดีโอ ‘ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา’ อธิการบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ที่ได้ออกมาเล่าต้นกำเนิดของ ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน โดยระบุว่า…

“วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ท่านสูญเสียพระราชโอรสองค์ที่ 5 คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์’ ในขณะนั้นมีพระชนมายุ 1 ปี 7 เดือน ทรงประชวรด้วย ‘โรคบิด’ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มียาปฏิชีวนะ ท่านเป็นพระราชโอรสที่ท่านทั้งสองพระองค์รักมาก คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าการสูญเสียสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ คือต้นกําเนิดของโรงพยาบาลศิริราช แต่จริงๆ ถูกเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะอีก 3 เดือนต่อมา ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ปีเดียวกัน ทั้งสองพระองค์ก็สูญเสียพระราชธิดาองค์โต คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์’ ซึ่งมีพระชนมายุ 8 พรรษา”

“ครั้งที่สูญเสียหนึ่งพระราชโอรส และหนึ่งพระราชธิดา ตอนนั้นกําลังจะมีการจัดสร้างพระเมรุ 5 ยอด ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ของทั้งสองพระองค์ ในขณะนั้นเอง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เผยว่า แม้แต่ลูกเรา ลูกเจ้าฟ้า เจ้าพระยา ยังรักษาไม่อยู่ แล้วลูกชาวบ้านจะเป็นอย่างไร… ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีแล้ว ท่านจึงทรงรับสั่งให้ถอดอุปกรณ์ที่ใช้สร้างพระเมรุ 5 ยอด ออกมาสร้างเป็นโรงผู้ป่วยให้กับ ‘โรงศิริราชพยาบาล’ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’

แต่ทั้งหมดยังไม่จบเพียงเท่านั้น อีก 3 เดือนต่อมา ได้เกิดเหตุการณ์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นปีเดียวกัน ทั้งสองพระองค์ก็ทรงสูญเสียพระราชโอรส คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง’ ไปอีกพระองค์หนึ่ง…

อันนี้จะพูดง่ายๆ เวลาเราสื่อสารให้กับประชาคมศิริราชที่เข้ามาใหม่ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือ พ่อแม่คู่หนึ่งสูญเสียลูกไปถึง 3 คน ภายใน 6 เดือน แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านกลับใส่พระทัยในคนที่เดือดร้อนมากกว่า นั่นคือ ‘ราษฎร’ คือชาวบ้านที่เดือดร้อนมากกว่า…

เพราะฉะนั้น เราพูดกันตลอดเวลาว่า ‘ต้นกําเนิดโรงพยาบาลศิริราช’ เป็นต้นกําเนิดมาจาก ‘การใส่ใจดูแลผู้ที่เขาเดือดร้อน’ มากกว่าเรา”

“หลังจากนั้นก็สืบทอดต่อมา ผู้ที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านอย่างมากเลย คือ ‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ หรือ ‘สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล’ ท่านเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมัยนั้น ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางยุคล่าอาณานิคม ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เวลานั้น ท่านส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจให้เกิดความสมดุลกัน ทางด้านสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลก็ทรงเสด็จเข้าไปศึกษาทางด้านการทหารเรือ”

“แต่วันหนึ่งท่านเสด็จกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็มีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร’ ท่านออกกุศโลบาย ชวนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลท่องเที่ยวทางเรือ แล้วมายังที่ของโรงศิริราชพยาบาล ก็ทรงชวนขึ้นมาดูเพื่อเจตนาให้เห็นโรงผู้ป่วยในเวลานั้น ซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลท่านพินิจเห็นก็มีความรู้สึกว่า ถ้าดูแลแบบนี้ชาวสยามเวลานั้นจะมีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร? 

นั่นจึงเป็นจุดผกผันที่สําคัญ ท่านก็ตัดสินพระทัย ขอพระบรมราชานุญาตจากล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 (ณ ขณะนั้นเข้าสู่ช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6) ท่านก็ทรงมีพระราชานุญาตให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เสด็จไปศึกษาการสาธารณสุขกับการแพทย์ ท่านเสด็จไปถึงสถานีที่เมืองบอสตันรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้น ท่านได้สําเร็จการศึกษาและกลับมาประเทศไทย ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471”

“ในเวลานั้น โดยฐานันดรแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเวลานั้นจะเป็นองค์รัชทายาทโดยอนุโลม หรือผู้ที่จะขึ้นเป็น ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ องค์ถัดไป เพราะฉะนั้น โอกาสที่ท่านจะได้ดูแลสามัญชนทั่วๆ ไปก็คงยาก แต่ท่านมีพระราชประสงค์อยู่แล้ว คืออยากจะกลับมาเป็นหมอ ดังนั้น ท่านจึงตัดสินพระทัยเสด็จขึ้นไปที่เชียงใหม่ โดยท่านเสด็จไปถึงเชียงใหม่วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2472

หากถามว่าแล้วท่านเสด็จขึ้นไปทำไม? เพราะพอต้องขึ้นไปที่เชียงใหม่ ถ้าท่านไปรักษาที่โรงพยาบาล หลวง โรงพยาบาลของราชการ ก็คงไม่สามารถดูแลคนไข้ได้ ท่านเสด็จไปส่งงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เป็นโรงพยาบาลของคณะมิชชันนารี เพราะฉะนั้น ท่านจึงสามารถดูแลชาวบ้านสามัญชนที่นั่นได้”

“ดังนั้น ผมจึงชอบอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบว่า “ตะวันตกมี ‘Lady of the lamp’” คือ ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ที่ทุกคืนก่อนนอนจะจุดเทียน แล้วก็ไปถามคนไข้แต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง ประเทศไทยของเราก็มีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งทรงทำแบบเดียวกัน ที่ทุกคืนก่อนจะทรงบรรทม ท่านจะเสด็จไปเยี่ยม คนไข้ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค พอเสร็จหมดเรียบร้อย ท่านค่อยเข้าบรรทม จนเชียงใหม่ขนานนาม พระองค์ท่านว่า ‘หมอเจ้าฟ้า’”

“ต่อมา เผอิญว่าในช่วงนั้นมีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง สิ้นพระชนม์ในกรุงเทพฯ ท่านก็เสด็จกลับลงมา แต่ปรากฏว่าหลังจากกลับลงมาแล้ว ไม่ได้เสด็จกลับขึ้นไปที่เชียงใหม่อีกเลย จากนั้นการประชวรของพระองค์ท่านก็ทรงเป็นมากขึ้น ซึ่งในอีก 7 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ท่านก็เสด็จสวรรคต นี่คือเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของราชวงศ์จักรี ที่สืบสานพระราชปณิธานมาจากรัชกาลที่ 5 ทําประโยชน์ให้กับผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย”

“ตลอดระยะเวลา 10 ปี ‘สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล’ ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบัน และการสาธารณสุขของประเทศไทย ทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย อุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย อีกทั้งพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า เพื่อการก่อสร้างตึกต่างๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงศิริราช ยามใดที่มีผู้ใกล้ชิดเข้าเฝ้า จะรับสั่งถึงงานโรงพยาบาลศิริราชเสมอ ซึ่งพระราชปณิธานนั้น ก็ได้สืบทอดต่อมาจนถึงรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9”

‘ชวน หลีกภัย’ มอบภาพลายเส้นในหลวง ร.9 ให้ รพ.ศิริราช หารายได้เข้าศิริราชมูลนิธิ ใช้พัฒนาบุคลากร-บริการต่อไป

(1 พ.ย. 66) เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความระบุว่า…นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะศิลปินแห่งชาติฐาปนันดรศิลปิน ร่วมชมผลงานจากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอิสระ ช่างภาพสื่อมวลชน ช่างภาพจิตอาสาและประชาชน ส่งผลงานมากกว่า 1,000 ผลงานมาจัดแสดงในงาน เพื่อหารายได้สมทบทุนศิริราชมูลนิธิ ปัจจุบันมียอดเงินจากผู้บริจาคกว่า 14.8 ล้านบาท โดยทางโรงพยาบาลศิริราช จะนำไปพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนชาวไทยต่อไป

โดยนายชวน กล่าวชื่นชม คุณสุจินตนา จรรยาทิพย์สกุล ประธานมูลนิธิ เก้า ยั่ง ยืน และอาจารย์ คณะผู้บริหารของโรงพยาบาลศิริราช ถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่รับภาระมากที่สุดแห่งหนึ่ง งบประมาณแผ่นดินหรือรายได้จากคนไข้ไม่เพียงพอ ฉะนั้นการที่คุณสุจินตนา มาทำโครงการนี้ ถือว่าช่วยหารายได้ช่วยโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้ต่อเนื่องก็จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนที่มาใช้บริการของโรงพยาบาล

“ต้องขอชื่นชมทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน อาจารย์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และบุคคลทั่วไป ที่ได้ร่วมมือกันทำโครงการหารายได้ให้กับโรงพยาบาลศิริราช ยอดรายได้ล่าสุด 14.8 ล้านบาท โดยเฉพาะภาพในหลวงที่ผมสเก็ต หรือบันทึกไว้เมื่อวันที่ 10/12/2540 เมื่อครั้งเป็นนายกฯ มีคนบริจาคมาภาพละ 50,000 บาท จำนวน 15 ท่าน ได้เงินประมาณ 800,000 กว่าบาท ก็มีความยินดีที่ได้มีโอกาสช่วยศิริราช ระลึกถึงพระคุณของโรงพยาบาลครั้งหนึ่ง แม่ถ้วน หลีกภัย เคยเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ได้อาศัยศิริราช เพื่อดูแลให้ท่านอายุยืนถึง 99 ปี” นายชวน กล่าว

โดย นายชวน มอบภาพลายเส้นในหลวงรัชกาลที่ 9 บันทึกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2540 จากพระองค์จริง เมื่อครั้งเสด็จในพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ให้กับโรงพยาบาลศิริราช มูลนิธิเก้ายั่งยืน เพื่อหารายได้สมทบทุนศิริราชมูลนิธิ ภาพนี้มีผู้ร่วมบริจาคแล้วจำนวน 15 ราย เป็นเงินจำนวน 850,000 บาท

‘สมเด็จพระสังฆราช’ ทรงผ่อนพระกรณียกิจลง ตามคำแนะนำของแพทย์ หลังรักษาพระปิตตะอักเสบ

(26 ธ.ค.66) สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ออกประกาศเรื่อง แนวปฏิบัติในการขอประทานพระกรุณา ลงวันที่ 25 ธันวาคม ความว่า ด้วย เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบทูลอาราธนาของคณะแพทย์ผู้ถวายอภิบาล เนื่องจากมีพระอาการพระปิตตะ (ถุงน้ำดี) อักเสบ คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาตามพระอาการและสมุฏฐานเป็นผลสำเร็จ และเสด็จกลับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566

การนี้ คณะแพทย์กราบทูลขอประทานให้ทรงผ่อนพระกรณียกิจลง โดยลดจำนวนและระยะเวลาในการประทานพระวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้า อันเนื่องมาจากพระชนมายุสูง กอปรกับพระศาสนกิจเพิ่มพูนขึ้นเป็นอันมาก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โดยอนุวัตตามคำแนะนำของคณะแพทย์ จึงประกาศแนวปฏิบัติในการขอประทานพระกรุณา ดังนี้

1.การขอประทานพระกรุณาทุกกรณี ให้เสนอเรื่องเป็นหนังสือถึงเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช พร้อมแนบผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติของผู้ขอประทานพระกรุณา ในการดังกล่าว สำนักงานจะพิจารณาเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม และสวัสดิภาพแห่งพระอนามัยเป็นสำคัญ โดยสำนักงานจะขอประทานพระวโรกาสให้เฝ้าถวายสักการะไม่เกิน 3 วันต่อสัปดาห์ และจำนวนคณะไม่เกิน 5 คณะต่อวัน

2.การขอรับประทานน้ำพระพุทธมนต์ในโอกาสต่างๆ เช่น การมงคลสมรส เมื่อเสนอเรื่องตามขั้นตอนแล้ว สำนักงานจะจัดให้เข้ารับประทานน้ำพระพุทธมนต์ที่หน้าพระรูป หรือพระเถระที่โปรดให้เชิญมา แล้วแต่กรณี

3.ให้ผู้ถวายงานและผู้ที่ได้รับประทานพระกรุณาปฏิบัติตามประกาศนี้อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากพบการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามประกาศนี้ สามารถแจ้งกลุ่มงานกิจการพิเศษ สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected]

4.ให้ใช้บังคับแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ตั้งแต่วันประกาศ ยกเว้นกรณีที่ได้รับประทานพระกรุณาตามหลักเกณฑ์เดิมไว้ก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ สำนักงานงดการพิจารณาการขอเฝ้าถวายสักการะตามแนวทางนี้จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของคณะแพทย์

30 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง ร.10 - พระราชินี’ เสด็จฯ เปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา รพ.ศิริราช ใช้รองรับผู้ป่วยนอกได้ 5 แสนราย/ปี พร้อมมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยเทียบเท่าสากล

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรุงเทพฯ

ครั้นเมื่อเสด็จฯ ถึงโรงพยาบาลศิริราช สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทรงเฝ้าฯ รับเสด็จ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น พระองค์ทรงเสด็จฯ ไปถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แล้วเสด็จฯ ไปยังศาลาศิริราช 100 ปี ถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล และจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ความว่า…

“ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปโภคทดแทนกลุ่มอาคาร 3 หลัง ได้แก่ อาคารหริศจันทร์-ปาวา ตึกผะอบนพ สุภัทรา ระเบียบ และอาคารเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม”

“ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานกว่า 50 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชมีอาคารแพทย์ที่ให้บริการเฉพาะทางอย่างครบวงจร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนคุณภาพและประสิทธิภาพด้านบริการ”

“การนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา มีความหมายว่าอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา”

“อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา สูง 25 ชั้นมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น แบ่งการใช้งานพื้นที่ตามลักษณะงาน ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจพิเศษต่าง ๆ รองรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในประมาณ 20,000 รายต่อปี สามารถให้บริการทางแพทย์และและการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยเครื่องมือทันสมัยได้อย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล”

“นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงทางเดินยกระดับ และทางเชื่อมระหว่างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา กับอาคารอื่น ๆ เพื่อความสะดวกคล้องตัวและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ รวมทั้งรับปรุงสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ให้สวยงาม ปัจจุบันการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดบริการให้ประชาชนมาระยะหนึ่งแล้ว”

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา 

ซึ่งพระองค์ทรงเสด็จฯ ไปยังอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทอดพระเนตรนิทรรศการ ‘นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์’ ภายในอาคารจัดแสดงข้อมูลและนวัตกรรมภายในอาคาร เช่น ศูนย์รังสีวินิจฉัยกับเครื่องถ่ายภาพรังสีโพซิตรอนและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้ตรวจหาการแพร่กระจายในระยะเริ่มต้นของโรคมะเร็ง, ห้องจัดยาผู้ป่วยนอกอัตโนมัติ ซึ่งนำระบบจัดยาอัตโนมัติแบบครบวงจรมาให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ต่อมาเสด็จฯ ทอดพระเนตรเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็คตรอน พร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเครื่องแรก และเครื่องเดียวในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

และทรงเสด็จฯ ไปทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก แล้วฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับผู้บริหารและคณะกรรมการ สมควรแก่เวลาเสด็จฯ กลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนทั่วไป ครอบครัวผู้ป่วย เดินผ่านเข้าจุดคัดกรองเพื่อมารอเฝ้าฯ รับเสด็จ ซึ่งจัดไว้ตามเส้นทางเสด็จภายในโรงพยาบาลศิริราช ครั้นเสด็จฯ ถึงบริเวณด้านหน้าอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ประชาชนพร้อมใจเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงแย้มพระสรวลทักทายประชาชน

สำหรับอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อศูนย์การแพทย์ว่า ‘อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา’ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2556 และชื่อกำกับภาษาอังกฤษว่า ‘Navamindrapobitr 84th Anniversary Building’ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีความหมายว่า “อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา”

โดยนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงิน 100 ล้านบาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเงิน 700 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ในอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตลอดจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน

นอกจากนี้ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อสมทบทุนอาคารมาอย่างต่อเนื่อง นับจากวันแรกที่โครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายจนเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของศิริราชและประชาชาติไทย

ทั้งนี้ อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นอาคารสูง 25 ชั้น มีชั้นพื้นดิน 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช มีพื้นที่ใช้สอยถึง 67,551 ตารางเมตร สามารถบริการแบบเต็มศักยภาพโดยรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000 รายต่อปี ขณะที่เตียงไอซียูเพิ่มขึ้นถึง 62 เตียง

ที่สำคัญภายในอาคารมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการแบ่งส่วนงานบริการเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน และงานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ในแต่ละชั้น อาทิ ชั้นบี 2 ศูนย์รังสีรักษาศิริราช (Siriraj Radiation Oncology Center) ศูนย์แห่งนี้มีเครื่องฉายรังสีที่ใช้รักษาผู้ป่วย มะเร็งที่เรียกว่า LINAC (Linear Accelerator) จำนวน 5 เครื่อง

นอกจากสามารถฉายรังสีในหลากหลายเทคนิคแล้ว ยังมีเครื่องที่มีนวัตกรรมทางการฉายรังสีขั้นสูง คือ เครื่องเร่งอนุภาค MR LINAC ที่เป็นเครื่องแรกและเครื่องเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความแม่นยำสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

โดยชั้น 4 ศูนย์รังสีวินิจฉัย (Diagnostics Radiology Center) ให้บริการ MRI จำนวน 2 เครื่อง CT จำนวน 1 เครื่อง ห้องตรวจ PET/CT (PET/CT Imaging Unit) จำนวน 1 เครื่อง และศูนย์ภาพวินิจฉัยเต้านมศิริราช (Siriraj Breast Imaging), ชั้น R3 ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (Helipad) เป็นต้น โดยเริ่มเปิดทยอยให้บริการทางการแพทย์มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2561 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

26 เมษายน พ.ศ. 2431 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ ประกอบพิธีเปิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ทรงหวังให้ประชาชนมีที่พึ่งพิง ในยามโรคภัยมาเบียดเบียน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2424 อหิวาตกโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (พ.ศ. 2424-2439) รวมทั้งไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชการอื่นรวม 48 คน จัดตั้ง ‘โรงรักษาผู้ป่วย’ หรือ ‘โรงพยาบาลชั่วคราว’ ขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเหรียญเงินเทพดาถือพวงมาลัย เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ตั้งโรงรักษาคนเจ็บ

ต่อมาเมื่อการระบาดของโรคยุติลง โรงพยาบาลชั่วคราวต่างก็ปิดทำการ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญของโรงพยาบาลที่จะยังประโยชน์เมื่อประชาชนเจ็บป่วยบำบัดทุกข์ ทั้งนี้ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย…

1.พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ 2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ 4. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์  5.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, 6.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ 7. พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เถียร โชติกเสถียร) 8. หลวงสิทธินายเวร (บุศย์ เพ็ญกุล) 9. ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน

ทั้งนี้ คณะกรรมการประชุมกันและตกลงกันว่า จะจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ วังหลัง เพราะขณะนั้นได้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และมีต้นไม้ร่มเย็น เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย

ระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ขณะมีพระชันษาเพียง 1 ปี 7 เดือน ทำให้ความเศร้าโศกมาสู่สมเด็จพระบรมราชชนกชนนีเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระราชดําริถึงความทุกข์ ทรมานของประชาชนทั่วไปซึ่งเจ็บไข้ได้ป่วยและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ต้องล้มตายไปเป็นจํานวนมากทุกปี

ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น จึงได้โปรดพระราชทานสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เนื่องในงานพระเมรุ รวมทั้งเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ที่ใช้แต่ในวันลักพระศพให้แก่โรงพยาบาลวังหลังที่กําลังก่อสร้าง พร้อมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จํานวน 50,000 บาท มาสมทบสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลด้วย

ในระยะแรกคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ หรือที่ประชาชนขณะนั้นนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลศิริราช ที่ให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมตามพระบรมราชปณิธานมาจนปัจจุบันนี้

'สถานีศิริราช' สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพแห่งแรกของประเทศไทย โมเดลต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งแก่โครงการอื่นๆ ในอนาคต

(29 ก.ค. 67) เพจ 'Thailand Update' โพสต์ข้อความเผยความคืบหน้าการก่อสร้าง 'สถานีศิริราช' ว่า...

ได้เวลาสร้างแล้ว!! 'สถานีศิริราช' ที่มีทั้งอาคารรักษาพยาบาลและสถานีรถไฟฟ้าแห่งแรกของไทย โดยจะมีรถไฟฟ้า MRT สายสีส้ม (OR02) อยู่ใต้ดินที่เริ่มก่อสร้างแล้ว กับรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (RWS03) อยู่ชั้น 1 และ 2 ที่คาดว่าจะเริ่มภายในปีนี้ (ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย)

สำหรับ อาคารรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 55,057 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่โรงพยาบาล 50,741 ตารางเมตร พื้นที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570

เมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การบริการ Ambulatory Unit/ One Day Surgical โดยผู้ป่วยสามารถเดินทางมารับบริการแล้วกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องพักค้าง รวมถึงบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวกสบายจากการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะและการบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้นด้วย

ดังนั้น สถานีศิริราช จึงนับเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางที่สำคัญ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไป ผู้เข้ารับบริการรักษา และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ภายในและโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชอย่างยั่งยืน

‘คุณหมอศิริราช’ ขอบคุณ ‘น้องหมีเนย’ ช่วยฮีลใจเด็กป่วยโรคมะเร็ง หลังมาหาเพราะได้อ่านจดหมายจากเด็กๆ ไม่แปลกใจ!! ทำไมมีแต่คนรัก

(2 ส.ค.67) นาทีนี้ต้องยกให้เป็นขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ สำหรับ Butterbear หรือ ‘หมีเนย’ มาสคอตหมีน้อยวัย 3 ขวบ ที่ใคร ๆ ก็ต้องตกหลุมรัก

ล่าสุด ‘น้องหมีเนย’ ก็เพิ่งจะเดินทางไปทำกิจกรรมการกุศล ที่หอผู้ป่วยอานันทมหิดล 6 โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้กำลังใจน้อง ๆ ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง

ท่ามกลางเสียงชื่นชมจากแฟนคลับแล้ว ก็ยังมีเสียงชื่นชมจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาเล่าเบื้องหลังสุดซึ้ง แสนประทับใจ เมื่อ รศ.พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ หัวหน้าหน่วยกุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ รพ.ศิริราช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Wanatpreeya Phongsamart ระบุข้อความว่า…

“ฮีลใจ ได้เห็นความสุข แววตา และรอยยิ้มของเด็ก ๆ โรคมะเร็งที่น้องหมีเนยมามอบให้ ป้าหมอขอบคุณจากหัวใจเลยนะคะ”

“ศิริราชขอขอบคุณ น้องหมีเนย แทนผู้ป่วยเด็ก ๆ โรคเลือด และโรคมะเร็งจากหัวใจเลยนะคะ เด็ก ๆ ได้รับกำลังใจเต็มเปี่ยมเลยค่ะ เด็ก ๆ ทำกิ๊บติดผมไว้ให้น้องหมีเนย ซ้อมเต้นเพลงน่ารักไหมไม่รู้ไว้เต้นกับน้องหมีเนย และตื่นเต้นที่สุดเลยค่ะที่จะได้พบน้องหมีเนย”

“วันนี้เด็ก ๆ ได้กอดน้องหมีเนยเติมพลังบวกให้สู้ต่อ ได้เห็นแววตาและรอยยิ้มแห่งความสุขของเด็ก ๆ เด็กบางคนถึงกับน้ำตาไหลเลยนะคะ ป้าหมอเห็นแล้วชุ่มชื่นหัวใจแทนเด็ก ๆ ทุกคนจริง ๆ ค่ะ”

“ขอบคุณทีมงานและน้องหมีเนยมาก ๆ นะคะ ที่มอบความสุขและฮีลใจให้เก็บเด็ก ๆ ป้าหมอเข้าใจแล้วค่ะว่าทำไมใคร ๆ ถึงรักน้องหมีเนย ป้าหมอต้องขอสมัครเป็นมัมหมีอีกคนแล้วนะคะ”

พร้อมกันนี้ ทาง รศ.พญ.วนัทปรียา พงษ์สามารถ ยังลงคลิปวิดีโอภาพบรรยากาศสุดน่ารัก และเขียนแคปชันเล่า เหตุผลที่น้องหมีเนยเดินทางมาส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยเด็กที่โรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า…

“เมื่อน้องหมีเนยได้อ่านจดหมายจากคนไข้เด็ก ๆ ของโรงพยาบาลศิริราช ว่าอยากให้น้องหมีเดินมาหา กิจกรรมดี ๆ ในวันนี้จึงเกิดขึ้นค่ะ ขอบคุณน้องหมีเนยมาก ๆ นะคะที่มาเติมพลังบวกให้กับคนไข้เด็ก ๆ โรคมะเร็งของโรงพยาบาลศิริราชค่ะ ฮีลใจ ทั้งคนไข้เด็ก ๆ และบุคลากรทางการแพทย์ของศิริราชเลยค่ะ ป้าหมอไม่แปลกใจจริง ๆ ค่ะ ที่ทำไมใคร ๆ ถึงรักน้องหมีเนย”

ท่ามกลางคอมเมนต์ชื่นชมความน่ารักของ ‘หมีเนย’ ในโลกโซเชียล

'รพ.ศิริราช' แจ้ง!! ระบบคอมพิวเตอร์ของ รพ. ใช้งานได้ตามปกติแล้ว หลังเกิดปัญหา 'ใช้การไม่ได้' ยัน!! ข้อมูลผู้ป่วยไม่มีรั่วไหล

(8 ส.ค.67) จากกรณีระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลศิริราช 'ใช้การไม่ได้' ทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยที่นัดไว้ตามปกตินั้น

ล่าสุด ระบบคอมพิวเตอร์ของ รพ. ศิริราช สามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว โดยไม่มีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย

ทั้งนี้ ทางรพ.ได้ขออภัยผู้รับบริการทุกท่านที่ไม่ได้รับความสะดวกในวันนี้ และขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าใจ ดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ระหว่างการแก้ไขปัญหา และให้ความอนุเคราะห์แก่ศิริราชด้วยการช่วยเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ช่วยเข้าไปอัปเดตข้อมูลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว รวมถึงให้กำลังใจบุคลากรอีกด้วย 

ทั้งหมดนี้ทางศิริราชขอรับไว้ด้วยความซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง

เปิดภารกิจ!! ส่งต่อหัวใจดวงที่ 109 จากอุดรธานี ถึงกรุงเทพ ส่งด่วนที่สุด!! จากดอนเมือง ไปศิริราช เพื่อให้ทันปลูกถ่าย

(5 ม.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ฝูงบิน 604 หรือ Sunny604 หน่วยฝึกการบินพลเรือน กองทัพอากาศ โพสต์ภาพพร้อมคลิปวิดีโอ การปฏิบัติภารกิจ ส่งต่อหัวใจ ดวงที่ 109 จากจังหวัดอุดรธานี ถึงดอนเมือง และจากดอนเมือง ถึงรพ.ศิริราช เพื่อปลูกถ่ายหัวใจให้กับผู้ป่วย ในเวลาเพียง 50 นาที

โดยทาง เพจได้ลงข้อความว่า วันที่ 3 มกราคม 2568 ผู้บังคับการกองบิน 6 ผู้บังคับฝูง 604

เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจจราจร และตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ รวมถึง คุณเกียรติชัย มนต์เสรีนุสรณ์ และ คุณชนาธิป สีต์วรานนท์ เจ้าของเครื่องบินที่ได้ให้การสนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้ ที่ได้ร่วมกันอำนวยความสะดวกในการนำส่ง อวัยวะหัวใจดวงที่ 109 และอวัยวะอื่น ๆ เพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 3 มกราคม 2568

การดำเนินการครั้งนี้มีความรวดเร็วและปลอดภัย ระยะทาง 30 กิโลเมตรใช้เวลาเพียง 16 นาที ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ 1.การประสานงานจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย 2.การจัดทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ 3.การสนับสนุนด้านการเดินทางทางอากาศและภาคพื้นดิน ความเสียสละและความทุ่มเทของทุกฝ่ายในครั้งนี้ เป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาชีวิตผู้ป่วย ขอแสดงความขอบพระคุณอย่างสูงและยกย่องในความเสียสละนี้เป็นอย่างยิ่งครับ

ขณะที่ เฟซบุ๊กของทาง พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ รอง ผบก.จร. ซึ่งร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปว่า 3ม.ค.68 หัวใจดวงที่ 109 ดวงแรกของปี 2568 ดวงแรกมันต้องตื่นเต้นหน่อยๆ เครื่องบินมาจากอุดรธานี แต่ด้วยสภาพอากาศทำให้ล่าช้ากว่าปกติคำนวณคร่าวๆจะเหลือเวลาแค่ 50 นาทีเท่านั้น (รวมเวลาเดินทางและผ่าตัดปลูกถ่าย ซึ่งคุณหมอทีมผ่าตัดก็หลังไมค์ว่าขอเร็วที่สุดนะครับ)

ทีนี้ก็วุ่นสิ ผมถามคนขับรถพยาบาลว่าวิ่งความเร็วสูงสุดได้เท่าไหร่ เอาให้สุด เราประสานเส้นทางตั้งแต่บนฟ้า ขอบินตัดตรงแบบไม่ต้องอ้อม (อันนี้ต้องขอขอบคุณท่านผู้บังคับการ กองบิน 6 และผู้ฝูงบิน 604 ประสานขอหอบังคับการบิน) พื้นราบก็ประสานเส้นทางผ่านทั้งหมด เพื่อความคล่องตัว

ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ผมยอมรับว่าเสี่ยงมาก เราบิดที่ความเร็ว 160-170 ตั้งแต่ขึ้นโทลเวย์ ผมมีปัญหาที่แว่น เนื่องจากใช้ความเร็วมาก ลมเข้าตาชนิดหรี่ตาขี่!!! คิดแล้วแบบนี้ อันตรายแน่ๆ ผมตัดสินใจออกจากขบวนให้คนอื่นขึ้นแทน ลดความเร็ว ขี่ตามแล้วค่อยไปทันที่ด่านดินแดง และในที่สุด เราทำเวลา 16 นาทีจากฝูงบิน 604 ดอนเมือง ถึง โรงพยาบาลศิริราช

ต้องขอบคุณทุกท่านทุกฝ่ายทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง พี่เกียรติชัย นักบินเจ้าของเครื่อง HS-GOD เสียสละใช้เครื่องส่วนตัวมาทำภารกิจให้ ผู้การกองบิน6 ผู้ฝูง 604 sunny 604 ประสาน อำนวยความสะดวกในพื้นที่ ทอ . (ต้องบอกว่านักบินก็เป็นซันนี่ผมและน้องรองฟลุ๊ค ก็เป็นศิษย์การบินซันนี่ once sunny always sunny เราประสานงานได้ดี) ขอบคุณหอบังคับการบินที่ช่วยอำนวยความสะดวก ขอบคุณพี่น้องประชาชนเพื่อนร่วมทางที่เปิดทางให้ กราบขอบพระคุณทุกท่านครับ เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่น่าจดจำ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top