เปิดเบื้องลึก ต้นกำเนิด 'โรงพยาบาลศิริราช' มุ่งมั่นเพื่อทุกชีวิต โดยพระมหากษัตริย์ไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี @aun_mareeyah ได้แชร์คลิปวิดีโอ ‘ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา’ อธิการบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ที่ได้ออกมาเล่าต้นกำเนิดของ ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน โดยระบุว่า…

“วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ท่านสูญเสียพระราชโอรสองค์ที่ 5 คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์’ ในขณะนั้นมีพระชนมายุ 1 ปี 7 เดือน ทรงประชวรด้วย ‘โรคบิด’ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มียาปฏิชีวนะ ท่านเป็นพระราชโอรสที่ท่านทั้งสองพระองค์รักมาก คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าการสูญเสียสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ คือต้นกําเนิดของโรงพยาบาลศิริราช แต่จริงๆ ถูกเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะอีก 3 เดือนต่อมา ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ปีเดียวกัน ทั้งสองพระองค์ก็สูญเสียพระราชธิดาองค์โต คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์’ ซึ่งมีพระชนมายุ 8 พรรษา”

“ครั้งที่สูญเสียหนึ่งพระราชโอรส และหนึ่งพระราชธิดา ตอนนั้นกําลังจะมีการจัดสร้างพระเมรุ 5 ยอด ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ของทั้งสองพระองค์ ในขณะนั้นเอง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เผยว่า แม้แต่ลูกเรา ลูกเจ้าฟ้า เจ้าพระยา ยังรักษาไม่อยู่ แล้วลูกชาวบ้านจะเป็นอย่างไร… ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีแล้ว ท่านจึงทรงรับสั่งให้ถอดอุปกรณ์ที่ใช้สร้างพระเมรุ 5 ยอด ออกมาสร้างเป็นโรงผู้ป่วยให้กับ ‘โรงศิริราชพยาบาล’ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’

แต่ทั้งหมดยังไม่จบเพียงเท่านั้น อีก 3 เดือนต่อมา ได้เกิดเหตุการณ์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นปีเดียวกัน ทั้งสองพระองค์ก็ทรงสูญเสียพระราชโอรส คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง’ ไปอีกพระองค์หนึ่ง…

อันนี้จะพูดง่ายๆ เวลาเราสื่อสารให้กับประชาคมศิริราชที่เข้ามาใหม่ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือ พ่อแม่คู่หนึ่งสูญเสียลูกไปถึง 3 คน ภายใน 6 เดือน แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านกลับใส่พระทัยในคนที่เดือดร้อนมากกว่า นั่นคือ ‘ราษฎร’ คือชาวบ้านที่เดือดร้อนมากกว่า…

เพราะฉะนั้น เราพูดกันตลอดเวลาว่า ‘ต้นกําเนิดโรงพยาบาลศิริราช’ เป็นต้นกําเนิดมาจาก ‘การใส่ใจดูแลผู้ที่เขาเดือดร้อน’ มากกว่าเรา”

“หลังจากนั้นก็สืบทอดต่อมา ผู้ที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านอย่างมากเลย คือ ‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ หรือ ‘สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล’ ท่านเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมัยนั้น ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางยุคล่าอาณานิคม ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เวลานั้น ท่านส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจให้เกิดความสมดุลกัน ทางด้านสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลก็ทรงเสด็จเข้าไปศึกษาทางด้านการทหารเรือ”

“แต่วันหนึ่งท่านเสด็จกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็มีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร’ ท่านออกกุศโลบาย ชวนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลท่องเที่ยวทางเรือ แล้วมายังที่ของโรงศิริราชพยาบาล ก็ทรงชวนขึ้นมาดูเพื่อเจตนาให้เห็นโรงผู้ป่วยในเวลานั้น ซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลท่านพินิจเห็นก็มีความรู้สึกว่า ถ้าดูแลแบบนี้ชาวสยามเวลานั้นจะมีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร? 

นั่นจึงเป็นจุดผกผันที่สําคัญ ท่านก็ตัดสินพระทัย ขอพระบรมราชานุญาตจากล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 (ณ ขณะนั้นเข้าสู่ช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6) ท่านก็ทรงมีพระราชานุญาตให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เสด็จไปศึกษาการสาธารณสุขกับการแพทย์ ท่านเสด็จไปถึงสถานีที่เมืองบอสตันรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้น ท่านได้สําเร็จการศึกษาและกลับมาประเทศไทย ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471”

“ในเวลานั้น โดยฐานันดรแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเวลานั้นจะเป็นองค์รัชทายาทโดยอนุโลม หรือผู้ที่จะขึ้นเป็น ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ องค์ถัดไป เพราะฉะนั้น โอกาสที่ท่านจะได้ดูแลสามัญชนทั่วๆ ไปก็คงยาก แต่ท่านมีพระราชประสงค์อยู่แล้ว คืออยากจะกลับมาเป็นหมอ ดังนั้น ท่านจึงตัดสินพระทัยเสด็จขึ้นไปที่เชียงใหม่ โดยท่านเสด็จไปถึงเชียงใหม่วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2472

หากถามว่าแล้วท่านเสด็จขึ้นไปทำไม? เพราะพอต้องขึ้นไปที่เชียงใหม่ ถ้าท่านไปรักษาที่โรงพยาบาล หลวง โรงพยาบาลของราชการ ก็คงไม่สามารถดูแลคนไข้ได้ ท่านเสด็จไปส่งงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เป็นโรงพยาบาลของคณะมิชชันนารี เพราะฉะนั้น ท่านจึงสามารถดูแลชาวบ้านสามัญชนที่นั่นได้”

“ดังนั้น ผมจึงชอบอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบว่า “ตะวันตกมี ‘Lady of the lamp’” คือ ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ที่ทุกคืนก่อนนอนจะจุดเทียน แล้วก็ไปถามคนไข้แต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง ประเทศไทยของเราก็มีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งทรงทำแบบเดียวกัน ที่ทุกคืนก่อนจะทรงบรรทม ท่านจะเสด็จไปเยี่ยม คนไข้ในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค พอเสร็จหมดเรียบร้อย ท่านค่อยเข้าบรรทม จนเชียงใหม่ขนานนาม พระองค์ท่านว่า ‘หมอเจ้าฟ้า’”

“ต่อมา เผอิญว่าในช่วงนั้นมีเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง สิ้นพระชนม์ในกรุงเทพฯ ท่านก็เสด็จกลับลงมา แต่ปรากฏว่าหลังจากกลับลงมาแล้ว ไม่ได้เสด็จกลับขึ้นไปที่เชียงใหม่อีกเลย จากนั้นการประชวรของพระองค์ท่านก็ทรงเป็นมากขึ้น ซึ่งในอีก 7 เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 ท่านก็เสด็จสวรรคต นี่คือเจนเนอเรชั่นที่ 2 ของราชวงศ์จักรี ที่สืบสานพระราชปณิธานมาจากรัชกาลที่ 5 ทําประโยชน์ให้กับผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย”

“ตลอดระยะเวลา 10 ปี ‘สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล’ ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบัน และการสาธารณสุขของประเทศไทย ทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย อุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย อีกทั้งพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาและค้นคว้า เพื่อการก่อสร้างตึกต่างๆ และขยายพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงศิริราช ยามใดที่มีผู้ใกล้ชิดเข้าเฝ้า จะรับสั่งถึงงานโรงพยาบาลศิริราชเสมอ ซึ่งพระราชปณิธานนั้น ก็ได้สืบทอดต่อมาจนถึงรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9”