Saturday, 18 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่5

27 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ไทยประกาศเลิกใช้ เงินพดด้วงทุกชนิด เหตุเศรษฐกิจขยายตัวผลิตเงินพดด้วงไม่ทัน

27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ประกาศเลิกใช้ เงินพดด้วง ทุกชนิด เนื่องจากความต้องการเงินตราไทยมีมากเพราะการค้าระหว่างประเทศขยายตัว การผลิตเงินพดด้วงไม่ทันใช้ 

ในหลวง รัชกาลที่ 5 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศลงวันที่ 27 ตุลาคม 2447 มีความสำคัญว่า ได้โปรดให้สั่งว่า เงินพดด้วงซึ่งได้จำหน่ายออกจากพระคลังฯ ใช้กันแพร่หลายอยู่ในพระราชอาณาจักรเวลานี้ มีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย สมควรให้เลิกใช้เงินพดด้วงเสีย โดยตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2447 เป็นต้นไป ให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ยกเป็นเงินตราที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับ เงินพดด้วง ทางราชอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา กรุงศรีอยุธยา ได้ผลิตคิดค้นเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นก็ยอมรับเงินตราของต่างชาติด้วย เงินตราที่ใช้ในอาณาจักรล้านนา ได้แก่ เงินไซซี เงินกำไล เงินเจียง เงินท้อก เงินดอกไม้ ส่วนราชอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ผลิตเงินพดด้วง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นใช้ และใช้เบี้ยหอยแทนเงินปลีกย่อย บางครั้งเบี้ยหอยขาดแคลนก็ได้ผลิตเบี้ยโลหะและประกับดินเผาขึ้นใช้ร่วมด้วย

ภายหลังราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสลายลง กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ถือกำเนิดขึ้นตามลำดับ ก็ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 การเปิดประเทศสยามสู่อารยประเทศ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินตราให้เป็นสากล นำไปสู่การผลิตเงินตราในลักษณะเหรียญกลมแบนออกใช้เป็นครั้งแรก ต่อมารัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง นับตั้งแต่นั้นเงินตราไทยจึงคงเป็นลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนต่อเนื่องมาจนถึง ปัจจุบัน

‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ทางรถไฟเอกชนสายแรกของแผ่นดินสยาม จากแผนยุทธศาสตร์ของ ‘ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5’ ในวิกฤตการณ์ รศ.122

(23 ต.ค. 66) นายวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือห้วงยามที่ฝรั่งเศสกับอังกฤษรุกรานไทย หาเรื่องยึดครองประเทศตลอดเวลา

การล่าอาณานิคมของชาวุโรปในภูมิภาคนี้ ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักความสำคัญของการคมนาคม เวลานั้นการเดินทางข้ามจังหวัดใช้เกวียนและเรือเป็นหลัก ในภาวะฉุกเฉินย่อมใช้รับมือศัตรูไม่ทันการ

ไทยต้องปรับตัวเรื่องการเดินทาง… รถไฟอาจเป็นคำตอบ

ทรงเห็นควรที่จะสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศ เพื่อจะติดต่อกับมณฑลชายแดนง่ายขึ้น ปกครองสะดวกขึ้น และยังสามารถดูแลสอดส่องผู้รุกรานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การค้าขาย

รถไฟสายแรกเป็นของเอกชน กรุงเทพฯ ไปสมุทรปราการ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ระหว่างสถานีรถไฟหัวลำโพงกับสถานีรถไฟปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 21.3 กิโลเมตร โดย ‘พระยาชลยุทธโยธินทร์’ แม่ทัพเรือคนหนึ่งของกองทัพเรือสยามชาวเดนมาร์ก (ชื่อเดิม ‘อองเดร รีเชอลีเยอ’ (Andreas Richelieu))

ทางรถไฟสายนี้มีวิศวกรเดินรถชื่อ ‘ร้อยเอก ที. เอ. ก็อตเช’ (T.A. Gottsche) ทหารชาวเดนมาร์ก ได้รับการชักชวนจากพระยาชลยุทธโยธิน มาช่วยกิจการทหารเรือในสมัยรัชกาลที่ 5

ก็อตเชเป็นผู้บังคับการป้อมผีเสื้อสมุทรในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ต่อมาได้รับราชทินนามเป็น ‘ขุนบริพัตรโภคกิจ’ ต้นสกุล ‘คเชศะนันทน์’ (เสียงพ้องกับ Gottsche) เป็นฝรั่งที่อยู่เมืองไทยนานจนกลายเป็นคนไทยไปแล้ว ตั้งรกรากในเมืองไทย

3 เดือนหลังจากเปิดรถไฟสายปากน้ำ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) กองเรือรบฝรั่งเศสแล่นถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ทหารไทยสู้ ฝรั่งเศสจมเรือปืนฝ่ายสยามได้ 1 ลำ แต่เรือฌอง บัปติสต์ เซย์ ถูกปืนใหญ่สยามยิงเกยตื้นที่แหลมลำพูราย ทหารไทยเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บ 14 คน ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 3 คน

เรือแองกองสตองต์และโกแมตแล่นฝ่าปราการต่างๆ เข้ามาได้ ทั้ง 2 ลำแล่นฝ่ากระสุนไปจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง จ่อปืนใหญ่ไปที่พระบรมมหาราชวัง แล้วยื่นคำขาดหกข้อต่อรัฐบาลสยาม ให้ตอบภายใน 48 ชั่วโมง

1 ใน 6 ข้อคือสยามต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อฝรั่งเศสเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์

สยามจ่ายเงินให้ฝรั่งเศสก้อนหนึ่งชำระด้วยเหรียญนกจากท้องพระคลังจำนวน 801,282 เหรียญ หนักถึง 23 ตัน

‘เหรียญนก’ ก็คือ ‘เงินถุงแดง’ ที่รัชกาลที่ 3 ทรงสะสมไว้ซื้อเอกราชให้ประเทศ…

เจ้าหน้าที่ขนเหรียญนกออกจากวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือที่ท่าราชวรดิฐตลอดวันตลอดคืน
บันทึกฝรั่งเศสเขียนว่า “ด้วยนายทหารฝรั่งเศสเพียง 50 นาย ทหารญวน 150 นาย และผู้เชี่ยวชาญทางปืนใหญ่อีก 4-5 นาย ก็สามารถยึดสยามทั้งประเทศไว้ได้สำเร็จ”

แต่ฝรั่งเศสไม่พอใจแค่นั้น ขอเพิ่มเติมเงื่อนไขคือ ขอยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายครบ ฝ่ายไทยก็ต้องยอมรับอีก…

สยามสูญเสียดินแดนครั้งใหญ่ รวมเนื้อที่ประมาณ 143,800 ตารางกิโลเมตร การเสียดินแดนสยามจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง จนทรงพระประชวร

‘นายช่างเยอรมัน ลูอิส ไวเลอร์’ ที่มาทำงานรถไฟในไทยบันทึกไว้ในอนุทินของเขาว่า เวลานั้นคนไทยเกลียดชาวฝรั่งเศส เพราะคิดกลืนกินดินแดนไทย หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสในตังเกี๋ยเขียนใส่ร้ายคนไทย รวมถึงพฤติกรรมของพวกทูตฝรั่งเศสในสยาม ทำให้ไม่เพียงคนไทยไม่ชอบคนฝรั่งเศส พวกยุโรปชาติอื่นๆ ก็ไม่ชอบเช่นกัน

บันทึกของ ‘ลูอิส ไวเลอร์’ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2451 เขียนว่า “ชาวสยามเป็นชนชาติที่รักสงบมากที่สุดในโลกอย่างไม่น่าสงสัย แต่ทว่าผมจะไม่ประหลาดใจเลย หากชาวสยามจะลุกขึ้นมาจับดาบต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชของตน ภายหลังจากที่ประเทศสยามค่อยๆ ถูกตัดแบ่งออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ 15 ปีมาแล้ว” (จากหนังสือ กำเนิดการรถไฟในประเทศไทย ลูอิส ไวเลอร์ เขียน แปลโดย ถนอมนวล โอเจริญ และ วิลิตา ศรีอุฬารพงศ์)

วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักว่า “ไม่มีผู้ใดช่วยเราได้ มีแต่มหาอำนาจหลายชาติต้องการกินเรา เราต้องมีแผนการที่ดีเพื่อรักษาเอกราชของชาติ”

ทางหนึ่งคือการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เป้าหมายเพื่อหาพันธมิตรมาคานอำนาจศัตรู ก็คือ ‘พระเจ้าซาร์ นิโคลาสที่ 2’ แห่งรัสเซีย

อีกทางหนึ่งคือปรับปรุงทางรถไฟของสยามให้ดีขึ้น พร้อมรับมือกับข้าศึกได้ทุกเมื่อ

เหตุการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนแผน เลือกสร้างสายอีสานก่อน เพราะเรื่องยุทธศาสตร์ เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปแม่น้ำโขงจำต้องผ่านโคราช

ฝ่ายไทยโชคดีมากที่ได้ ‘คาร์ล เบธเกอ’ และนายช่างเยอรมันหลายคนมาทำงานนี้ รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปดูการสร้างรถไฟเสมอ

รถไฟสายอีสานแล้วเสร็จในปี 2443 รวมระยะทางทั้งสาย 265 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างทางรถไฟสายอื่นๆ ต่อไป เช่น ทางรถไฟสายเหนือจากชุมทางบ้านภาชีถึงเชียงใหม่ ระยะทาง 661 กม. เสร็จในรัชกาลต่อมา

ทรงมีวิสัยทัศน์ไกล จะต่อสู้กับอำนาจมารนอกประเทศ ต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ทั้งทางทหาร การเมืองระหว่างประเทศ การคมนาคม ไปจนถึงการปฏิรูประบบต่างๆ

“ทหารมีไว้ทำไม?”
“กษัตริย์มีไว้ทำไม?”
… หากไม่มีป่านนี้คนไทยคงพูดภาษาฝรั่งเศสกัน

วินทร์ เลียววาริณ
23 ตุลาคม 2566

‘ในหลวง ร.5’ ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘กระทรวงมหาดไทย’ พร้อมวางรากฐานให้หน่วยงานมุ่งมั่นในการ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ แก่ประชาชน

ครบรอบ 132 ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงมหาดไทย โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนากระทรวงมหาดไทยขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 และได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และพระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย พร้อมทั้งได้ทรงปรับปรุงงานของกระทรวงมหาดไทยหลายประการ อาทิ การแก้ไขระเบียบการปฏิบัติงาน การจัดตั้งศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงจัดระเบียบการปกครอง ‘รูปแบบเทศาภิบาล’ และทรงวางรากฐานให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่มุ่งมั่นในการ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ นับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 132 ปี

ทั้งนี้ ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย หลัก ๆ มีดังนี้

>> ด้านการเมืองการปกครอง
รับผิดชอบเกี่ยวกับการอำนวยการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การปกครอง และการบริหาร หน่วยราชการส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และการรักษาความมั่นคงของชาติ

>> ด้านเศรษฐกิจ 
รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจะต้องประสานกับส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังรับผิดชอบการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร

>> ด้านสังคม
รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชน และการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

>> ด้านการพัฒนาทางกายภาพ
รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดชุมชนการจัดที่ดิน การให้บริการขั้นพื้นฐานในชนบท การจัดผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะ และการให้บริการสาธารณูปโภคในเขตเมือง

11 เมษายน พ.ศ. 2436 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ เปิดทางเดินรถไฟสายแรกของสยาม เส้นทาง ‘กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ’ ระยะทาง 21 กิโลเมตร

ครบรอบ 131 ปี เปิดทางเดินรถไฟสายปากน้ำ ระหว่างกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ รถไฟสายแรกในสยามประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2429 รัฐบาลสยามได้อนุมัติสัมปทานแก่ กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429

บริษัทชาวเดนมาร์คสร้างทางรถไฟสายแรก ขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์คจะได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง นับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนยอมให้เป็นครั้งแรกในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุน

ต่อมาวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ และจากนั้นวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกจำนวนมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."

อย่างไรก็ตาม แต่เดิมทางรถไฟสายปากน้ำมีทั้งหมด 10 สถานี ต่อมาจึงเพิ่มเติมเป็น 12 สถานี และหลังสิ้นสุดสัมปทานในเวลา 50 ปี เส้นทางรถไฟดังกล่าวตกอยู่ในการบริหารกิจการของกรมรถไฟต่อ ครั้นในรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 โดยได้มีการสร้างถนนแทน ปัจจุบัน คือ ถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ

26 เมษายน พ.ศ. 2431 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ ประกอบพิธีเปิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ทรงหวังให้ประชาชนมีที่พึ่งพิง ในยามโรคภัยมาเบียดเบียน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2424 อหิวาตกโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (พ.ศ. 2424-2439) รวมทั้งไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชการอื่นรวม 48 คน จัดตั้ง ‘โรงรักษาผู้ป่วย’ หรือ ‘โรงพยาบาลชั่วคราว’ ขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยในกรุงเทพฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเหรียญเงินเทพดาถือพวงมาลัย เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ตั้งโรงรักษาคนเจ็บ

ต่อมาเมื่อการระบาดของโรคยุติลง โรงพยาบาลชั่วคราวต่างก็ปิดทำการ หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญของโรงพยาบาลที่จะยังประโยชน์เมื่อประชาชนเจ็บป่วยบำบัดทุกข์ ทั้งนี้ ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย…

1.พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ 2. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 3. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ 4. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์  5.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, 6.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ 7. พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เถียร โชติกเสถียร) 8. หลวงสิทธินายเวร (บุศย์ เพ็ญกุล) 9. ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน

ทั้งนี้ คณะกรรมการประชุมกันและตกลงกันว่า จะจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ วังหลัง เพราะขณะนั้นได้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และมีต้นไม้ร่มเย็น เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย

ระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ขณะมีพระชันษาเพียง 1 ปี 7 เดือน ทำให้ความเศร้าโศกมาสู่สมเด็จพระบรมราชชนกชนนีเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระราชดําริถึงความทุกข์ ทรมานของประชาชนทั่วไปซึ่งเจ็บไข้ได้ป่วยและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ต้องล้มตายไปเป็นจํานวนมากทุกปี

ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น จึงได้โปรดพระราชทานสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เนื่องในงานพระเมรุ รวมทั้งเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ที่ใช้แต่ในวันลักพระศพให้แก่โรงพยาบาลวังหลังที่กําลังก่อสร้าง พร้อมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จํานวน 50,000 บาท มาสมทบสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลด้วย

ในระยะแรกคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ หรือที่ประชาชนขณะนั้นนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลศิริราช ที่ให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมตามพระบรมราชปณิธานมาจนปัจจุบันนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top