2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ‘ปรีดี พนมยงค์’ ถึงแก่อสัญกรรม สิริอายุรวม 82 ปี ปิดฉากผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ณ บ้านอองโตนี

ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม นอกจากนี้เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ ‘รัฐบุรุษอาวุโส’

อย่างไรก็ตาม ปรีดี ต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต โดยถูกกล่าวหาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศสรวมระยะเวลากว่า 30 ปี และไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 

ปรีดี สิ้นใจด้วยอาการหัวใจวาย ขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงาน ในเวลา 11 นาฬิกาเศษ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส สิริอายุ 82 ปี

ต่อมาปี 2543 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้บรรจุชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก ในช่วงปี 2543-2544 ท่านเป็นสามัญชนคนหนึ่งที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่ชาติบ้านเมืองไว้จำนวนมาก แต่สังคมไทยกลับปฏิบัติต่อท่านต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่ไม่ยกย่องเท่านั้น แต่นายปรีดี พนมยงค์ กลับกลายเป็นบุคคลที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย