สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทย ชื่อของ ‘หลวงพ่อคูณ’ ถือเป็นภิกษุสงฆ์ที่ประชาชนให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างสูง และวันนี้เมื่อกว่า 6 ปีก่อน ถือเป็นวันที่เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่อันโด่งดัง ได้มรณภาพลง

หลวงพ่อคูณ หรือ พระเทพวิทยาคม มีชื่อทางโลกคือ คูณ ฉัตร์พลกรัง เป็นชาวอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัวที่ทำอาชีพเกษตกรรม โดยเข้ารับการอุปสมบทเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ณ วัดถนนหักใหญ่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีฉายาว่า ปริสุทโธ 

หลวงพ่อคูณ ปฏิบัติธรรมด้วยการออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูง ครั้งหนึ่งเคยเดินทางไกลไปถึงประเทศลาว และประเทศกัมพูชา เมื่อเวลาผ่านไป จึงเดินทางกลับสู่ประเทศไทย ต่อมาได้มีดำริให้ก่อสร้างวัดบ้านไร่ โดยเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อปี พ.ศ.2496 ก่อนจะขยับขยายให้มีการสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งจัดให้มีการสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ เพื่อการศึกษาของเยาวชนในละแวกดังกล่าวอีกด้วย

หลวงพ่อคูณ จัดเป็นภิกษุสงฆ์ที่มีกิจอันเรียบง่าย แต่มีลูกศิษย์ลูกหาที่ให้ความเคารพศรัทธาไปทั่วประเทศ ภาพที่ผู้คนจดจำได้เป็นอย่างดี คือการเดินเอาไม้เคาะหัว (แทนการรดน้ำมนต์) ให้กับประชาชนคนธรรมดาไปจนถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจเข้าใจได้ว่า เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่แท้จริงแล้ว ถือเป็นการทำเพื่อให้ผู้คนมีสติ

หลวงพ่อคูณมีอาการอาพาธ หมดสติโดยไม่รู้สาเหตุ และถูกนำส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ทีมแพทย์พยายามให้การรักษาอย่างเต็มกำลัง แต่อาการค่อย ๆ ทรุดลง ก่อนจะมรณภาพในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สิริอายุ 91 ปี 71 พรรษา

ต่อมา ท่านได้ฝากฝังไว้ในพินัยกรรม โดยมอบสังขารให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อมอบให้กับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำไปศึกษาค้นคว้า หรือที่เรียกกันว่า ‘ครูใหญ่’ และเมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้า ได้ขอให้ทางมหาวิทยาลัย ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างเรียบง่าย โดยจัดให้มีการสวดอภิธรรม 7 วัน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการจัดพิธีพระราชทานเพลิงพระศพหลวงพ่อคูณขึ้น ณ เมรุชั่วคราว วัดหนองแวงพระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2562 ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งในเวลาต่อมาว่า เหตุที่ต้องขอพระราชทานเพลิงศพ เนื่องจากเป็นไปตามวิถีของการจัดงานศพให้กับ ‘เหล่าบรรดาครูใหญ่’ ที่มอบสังขารให้กับทางมหาวิทยาลัย และเหตุที่เลือกวัดดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าจะมีลูกศิษย์และประชาชน เดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก จึงพยายามเลือกสถานที่ให้ลงตัวและเหมาะสมที่สุด

วันนี้ผ่านมากว่า 6 ปีกับการมรณภาพของพระครูชื่อดัง แต่คำสอนและความศรัทธาในตัวท่าน ยังอยู่ในการระลึกถึงของลูกศิษย์ลูกหา ตลอดจนประชาชนชาวไทยอยู่เสมอ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระเทพวิทยาคม_(คูณ_ปริสุทโธ)