Wednesday, 3 July 2024
เพื่อไทย

‘สมศักดิ์’ นำทีมหาเสียงพี่น้องชาวม้ง จ.ตาก ชู นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิต

(8 เม.ย.66) สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย สุธรรม แสงประทุม ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนผลงานและนโยบาย พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่หมู่บ้านชิบาโบ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เพื่อพบปะกับพี่น้องชาวม้ง กว่า 300 คน พร้อมเดินเยี่ยมชมวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน พร้อมกับแนะนำ เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดตาก เขต 2 เบอร์ 4 ของพรรคเพื่อไทย โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก

สมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้เดินทางมา เนื่องจากอยากมาเยี่ยมพี่น้องชาวม้งนานแล้ว เพราะพี่น้องประชาชนมีประเพณีชนวัว ที่ตนก็ชื่นชอบและเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐ อาจยังไม่เข้าใจ แต่ตนก็พยายามผลักดันกฎหมายส่งเสริมปศุสัตว์ เพราะรู้ดีว่า การทำให้วัวมีคุณภาพ มีราคาสูงนั้นมีความสำคัญมาก พรรคเพื่อไทย จึงส่งเสริมเรื่องวัว เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของชุมชน อีกทั้งยังจะส่งเสริมให้การชนวัวถูกกฎหมาย ลดขั้นตอนการขออนุญาตตามกฎหมาย รวมถึงเป็นการสนับสนุนการเลี้ยง การดูแลรักษา ตลอดจนใช้วิชาการเข้ามาส่งเสริมให้วัวมีคุณภาพได้ราคาสูง รวมทั้งจะส่งเสริมการชนวัวเพื่อสร้างราคาวัวชน และวัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้ได้ราคาดีด้วย

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทย ยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเติมเงินในกระเป๋าดิจิทัล คนละ 1 หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน อย่างในหมู่บ้านชิบาโบ มีประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ประมาณ 1 พันคน เมื่อคูณกับเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท จะเป็นเงินถึง 10 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่า จะมีเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจในหมู่บ้านนี้ถึง 10 ล้านบาท จะช่วยทำให้พี่น้องประชาชน อยู่ดีกินดีขึ้น รวมถึงพรรคเพื่อไทย ยังมีนโยบายพักหนี้เกษตรกรทั้งต้นและดอก เป็นเวลา 3 ปี พร้อมส่งเสริมที่ดินทำกินแบบถูกกฎหมายด้วย ส่วนเรื่องไฟฟ้า ตนเข้าใจว่า บางพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งการขอไฟฟ้า ก็ต้องใช้เงิน และใช้เวลารอนานหลายปี แต่ถ้าพี่น้องประชาชน มีผู้แทนฯที่ประสานงานกับรัฐบาลได้ การขอไฟฟ้า ก็จะง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเสียทั้งเงินและเวลา เพราะเรื่องนี้ สามารถเร่งรัดได้ เนื่องจากเป็นเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนโดยตรง

'เพื่อไทย' แจง 10 ประเด็น 'กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท' ไม่ใช่สกุลเงินใหม่ ตรวจสอบโปร่งใส ใช้จ่ายได้จริง

(19 เม.ย.66) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และกรรมการ เลขานุการ โฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ชี้แจงเพิ่มเติม 10 ประเด็น 'กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท' ดังนี้...

1. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อ

2. เหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่มีการสร้างมูลค่า ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล

3. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นต่อความมั่นคงของระบบการเงิน ไม่เกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะไม่ใช่การสร้างสกุลเงินใหม่

4. กระเป๋าเงินดิจิทัล เงิน 10,000 บาท ลงถึงมือประชาชนทุกคน (16 ปี ขึ้นไป) ทุกบาททุกสตางค์ ใช้จ่ายจริง ซื้อของได้จริง ไม่มีการสูญหายของงบประมาณ ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมตลอดเส้นทาง

5. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่ใช่กรณีเดียวกับ Bitcoin Luna USDT ตามมีผู้กล่าวอ้าง เหล่านั้นออกโดยเอกชนและมุ่งหมายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไป ออกโดยรัฐบาล ไม่ใช่สกุลเงินคู่ขนานกับเงินบาท

‘เพื่อไทย’ ชู แก้กฎหมาย พิสูจน์สิทธิ จัดหาที่ดินทำกิน ลั่น!! ทุกครัวเรือนจะมีที่ดินทำกินอย่างพอเพียง

(10 เม.ย.66) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินและสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายโฉนดในที่ดินทำกิน ที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอต่อพี่น้องประชาชน มีหลักคิดดังนี้...

1. ประชาชนทุกคนต้องมีที่ดินเป็นของตนเองเกษตรกรทุกครัวเรือนจะมีที่ดินทำกินอย่างพอเพียง
2. ดำเนินการให้มีการออกโฉนดให้กับประชาชน 50 ล้านไร่ โดยแปลงที่ดินที่มีความขัดแย้ง ไปเป็นพื้นที่วนเกษตร ต้นไม้ทุกต้นมีราคา
3. ที่ดินที่เป็นโฉนดจะถูกใช้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน นำสู่สภาวะเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต

สำหรับการดำเนินการ โดยวิธีการดังนี้…
1. ผู้ครอบครองที่ดินก่อน 1 ธันวาคม 2497 ประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้ โดย สค. 1 จำนวน 1 ล้านแปลง จะได้รับการพิสูจน์สิทธิ์ และได้รับโฉนด ทั้งนี้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่อง โดยไม่มี สค.1 จะได้รับการพิสูจน์ และได้รับโฉนด

2. ที่ดินประเภท ส.ป.ก. สำหรับที่ดินประเภทเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม จะได้รับโฉนดทันที ส่วนกรณีบุคคลอื่นที่ได้ที่ดินมาจากผู้เช่าซื้อ หรือจากทายาทโดยธรรม จะได้เอกสารสิทธิ์และจะได้เอกสารสิทธิ์ และจะต้องปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่ และจำกัดรายละไม่เกิน 20 ไร่

สำหรับที่ดินประเภทเช่า ผู้เช่าที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม จะต้องปลูกไม้ยืนต้น ไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่และจะได้รับโฉนด ส่วนกรณีบุคคลอื่น มาถึงคิวที่ได้ที่ดินจากผู้เช่าหรือทายาทโดยธรรมจะได้รับอนุญาตให้เช่าต่อไปโดยจะต้องปลูกไม้ยืนต้นไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่และจะได้ไม่เกิน 20 ไร่

รู้ทันการเมืองไทย ชวนส่องนโยบาย ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ พรรคเพื่อไทย บนแนวคิด ‘หลักกู’ ที่ไม่คำนึงถึง ‘หลักการ’

หลายนโยบายก็เคยส่องแล้ว วันนี้ขอถือโอกาสส่องอีกที นโยบายก็เคยส่องแล้วขอส่องซ้ำด้วยบทความเดิม ส่วนอันไหนที่ไม่เคยส่องจะได้จัดการส่องใหม่สั้น ๆ เพื่อให้กระชับ ดังนี้ครับ

การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ผู้เขียนเชื่อว่า เศรษฐกิจของประเทศน่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน เมื่อมีพรรคการเมืองหาเสียงด้วยการกำหนดอัตราค่าจ้างและเงินเดือนโดยไม่ได้คำนวณจาก ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (Consumer Price Index : CPI) วิธีคิดค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้ฐานคิดคำนวณจาก ‘หลักกู’ โดยไม่คำนึงถึง ‘หลักการ’ ซึ่งต้องนำข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายหลายตัวมาคิดคำนวณให้ได้ ‘ดัชนีราคาผู้บริโภค’ (CPI) แล้วจึงจะสามารถคำนวณค่าแรงขั้นต่ำได้ (เป็นไปได้ไหม? ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย https://thestatestimes.com/post/2023033141)

นโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองต่าง ๆ นิยมนำมาหาเสียงกับเกษตรกรเสมอมาคือ การพักหนี้ การยกหนี้ แต่ต้องนำงบประมาณซึ่งมาจากภาษีอากรมาอุดหนุนช่วยเหลือธนาคารเจ้าหนี้เงินกู้ ซึ่งก็ได้แก่ธนาคารเพื่อเกษตรกร ส่วนวาทะกรรมที่ว่า “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นั้น คงเคยเห็นแต่นโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยที่ทำให้เกิดการทุจริตอย่างมโหฬาร หนี้จากโครงการดังกล่าวยังใช้ไม่หมดจนทุกวันนี้ ทั้ง ๆ ที่นโยบายสำหรับเกษตรกรควรเป็นเรื่องของการพัฒนาให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ และสามารถใช้หนี้สินที่มีอยู่ได้จนหมด

ทุกวันนี้ผู้คนยังเข้าใจผิดคิดว่า ที่ดินหลวงมีอยู่เอามาแปลงเป็นเอกสารสิทธิต่าง ๆ กระทั่งเป็นโฉนดกันง่าย ๆ ไม่สนับสนุนเรื่องพวกนี้ครับ เพราะที่สุดเมื่อที่ดินที่พี่น้องประชาชนได้มามีมูลค่ามากขึ้นที่สุดก็จะถูกขายเปลี่ยนมือไปจนหมด แต่ควรสนับสนุนให้ที่ดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่หน่วยราชการต่าง ๆ ครอบครองอยู่ หากหน่วยงานนั้น ๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ควรส่งคืนกรมธนารักษ์ผู้ดูแลที่ดินราชพัสดุทั้งหมด เพื่อนำมาจัดสรรให้ประชาชนที่ขาดโอกาสและรายได้น้อย ได้เช่าเพื่อประกอบอาชีพตามแต่ความถนัดและเหมาะสม แบ่งสรรพื้นที่ของที่ดินอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม โดยคำนวณค่าเช่าจากรายได้ของผู้เช่า ห้ามการเช่าช่วง การโอนเปลี่ยนผู้ครอบครองเด็ดขาด ซึ่งภาครัฐก็ได้ผลประโยชน์อย่างเหมาะสม ประชาชนผู้เช่าก็จะมีความรับผิดชอบและรู้สึกหวงแหนสิทธิที่ได้รับมา ให้เป็นความเท่าเทียมทางสังคมที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับให้เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องของสังคมต่อไป

เป็นนโยบายที่เห็นแล้ว ฮาสุด ๆ เลยต้องให้ภาพนี้เล่าเรื่องแทน

เป็นอีกนโยบายที่เห็นแล้ว ต้องอธิบายด้วยภาพเหล่านี้

ขอเน้นย้ำว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกธนบัตรคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังที่มีหน้าเพียงออกเหรียญกษาปณ์ กับส่งลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสำหรับพิมพ์ลงบนธนบัตรเท่านั้น และสำคัญที่สุดเงินดิจิทัลที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีมี เงินดิจิทัลทุกชนิดบนโลกใบนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ให้การรับรองว่าเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เงินดิจิทัลที่ถูกต้องตามกฎหมายรับรองโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเอง

‘ขัตติยา’ ส.ส.เพื่อไทย ร้องขอความเป็นธรรมให้คนเสื้อแดง ลั่น!! ต้องรื้อฟื้นคดี ลาก ‘ทหาร’ ขึ้น ‘ศาลพลเรือน’ ให้ได้

(11 เม.ย. 66) เฟซบุ๊กแฟนเพจหลักของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ เนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ 13 ปี การสลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

‘ขัตติยา สวัสดิผล’ ประกาศทวงคืนความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงอีก 62 ศพ ต้องรื้อฟื้นคดีและลาก ‘ทหาร’ ขึ้น ‘ศาลพลเรือน’ ให้ได้

ขัตติยา สวัสดิผล ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวในงานรำลึกครบรอบ 13 ปี การสลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 กล่าวทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงว่า จะรื้อฟื้นคดีเสื้อแดงที่ยังมีอีก 62 คดี ขึ้นมาฟ้องพร้อมกับเอาทหารที่ยิงประชาชนวันนั้น มาขึ้นศาลพลเรือนแทนศาลทหาร 

ขัตติยา สวัสดิผล กล่าวถึงความคืบหน้าในส่วนของคดีความคนเสื้อแดงว่า ในช่วงก่อนปี 2554 คดีคนเสื้อแดงรวมถึงคดีของคุณพ่อ (พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก) ไม่มีความคืบหน้า เพราะตอนนั้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็ได้รับความเมตตาจากท่านทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นได้แนะนำแนวทางทางกระบวนการยุติธรรมให้ซึ่งต้องยอมรับว่าบรรยากาศตอนนั้นไม่ได้เปิดโอกาสให้เราค้นหาความจริงได้เลย 

แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งปี 2554 คดีความต่าง ๆ ของคนเสื้อแดงเดินหน้าคืบหน้าไปได้เร็ว เพราะเรามีสารตั้งต้นจากชั้นตำรวจ ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ จนกระทั่งนำไปขึ้นสู่ศาลได้ ซึ่งการที่เราสามารถพาคดีไปถึงศาลได้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่ง ถึงแม้ว่าทั้งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะใช้เทคนิคทางกฎหมายบอกว่าเราไม่สามารถยื่นฟ้องเขาในศาลอาญาได้ เราก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ไปฟ้องเขาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้นหมายความว่า เราต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ และแม้จะน่าเสียดายที่ ปปช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีผลพวงจากรัฐประหารตีตกบอกว่า ทั้งคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพ ทำในฐานะผู้สั่งการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งคนที่จะต้องไปเอาผิดคือทหารที่ปฏิบัติการอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์และแยกคอกวัว ถ้าเราจะเอาผิดคนดังกล่าว เท่ากับเราต้องเอาเขาไปขึ้นศาลทหาร

ขัตติยา กล่าวต่อว่าเรื่องนี้เราจะเดินหน้าต่อไม่หยุด พรรคเพื่อไทยถ้ามีโอกาสเป็นรัฐบาล จะทวงคืนสอบถามความยุติธรรมในคดีอีก 62 ศพที่เหลือ เราจะตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่า ในแต่ละคดีของทั้ง 62 คดีนั้น จะต้องไปยื่นฟ้องใครที่ศาลใดถึงจะสัมฤทธิ์ผลที่สุด ซึ่งตรงนี้จะเกี่ยวเนื่องกับ ปปช. ที่บอกไปว่า จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้าคดีที่ ปปช. ชี้ว่าไม่มีมูล ประชาชนสามารถส่งให้อัยการสูงสุดชี้มูลได้ และถ้าอัยการสูงสุดไม่ชี้มูล ก็ต้องให้อำนาจประชาชนในฐานะผู้เสียหาย สามารถฟ้องศาลได้โดยตรง

‘พท.’ เสนอ ยกเครื่อง คกก. จัดสรรบุคลากร-งบประมาณท้องถิ่น แก้ปัญหาการกระจายอำนาจไทย หลังถดถอยสุดในรอบ 25 ปี

(11 เม.ย. 66) เฟซบุ๊กแฟนเพจหลักของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

“สังคมไทยกำลังต้องการการกระจายอำนาจอย่างมาก เราพบว่า 9 ปีมานี้ การกระจายอำนาจของประเทศไทยถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี คำถามคือปัญหาคืออะไรและเราจะต้องแก้อย่างไร”

ส่วนหนึ่งจากการเสวนาของ จาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในงานสัมมนาหัวข้อ ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองอื่นรวม 8 พรรค ที่โรงแรมไฮเอท รีเจนซี่ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 

จาตุรนต์ ฉายแสง เริ่มต้นกล่าวว่า การพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ก็คือการพูดวางบทบาทของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นว่าจะวางบทบาทอย่างไรให้เหมาะสม เพราะโลกปัจจุบันมีเรื่องใหญ่มาก ๆ ที่รัฐบาลต้องทำ ซึ่งมีทั้งทำไม่ทัน และทำทันแต่ทำได้ไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องมายืนบนหลักการให้ได้ว่า รัฐบาลหรือส่วนกลาง จะต้องไม่ไปแย่งงานท้องถิ่นหรือไปทำงานแทนท้องถิ่น

ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุด คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกำลังดำเนินเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปอีกไม่นาน ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ซึ่งการยึดอำนาจทุกครั้งทำให้การกระจายอำนาจถอยหลังเข้าคลอง อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พูดไม่ได้ขยับไม่ไป พูดไม่ดีถูกปลดถูกจับติดคุก

[ปัญหาของการกระจายอำนาจที่ผ่านมา]
ภายหลังการยึดอำนาจมา 9 ปี แต่การกระจายอำนาจประเทศไทยถอยหลังไป 25 ปี คำถามคือ ปัญหาคืออะไรและแก้ไขอย่างไร

1.) การกำกับควบคุม
พบว่า มีการกำกับควบคุมจากส่วนกลางเต็มไปหมด โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ซึ่งคำสั่งของ คสช.ครอบท้องถิ่นไปจนถึงแม้แต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เขาขาดคนแต่ไม่แต่งตั้งคนทำงานให้ ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายความจริงต้องทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น สามารถที่จะดูว่าจะได้บุคลากรอย่างไรสอดคล้องกับท้องถิ่น และทำให้เส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเขามีที่จะไปได้ทั่วประเทศ เรื่องนี้จำเป็นจะต้องมีความสมดุล

2.) เรื่องงาน และการถ่ายโอนภารกิจ
งานที่ท้องถิ่นต้องทำมีทั้งเรื่อง Reskill-Upskill เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ที่เป็นสมัยใหม่ หรือส่งเสริมนวัตกรรมฝึกอาชีพ ซึ่งถ้าทำกันจริง ๆ สตง.ก็จะบอกว่าทำไม่ได้ เพราะคณะกรรมการกระจายอำนาจไม่ได้แบ่งหน้าที่ไว้ให้เขา เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องทำให้มันเกิดความชัดเจน เมืองสมัยใหม่ต้องการการพัฒนา ทางพรรคเพื่อไทยก็คิดว่าจังหวัดไหนต้องการจังหวัดจัดการตนเอง เราจะส่งเสริมจังหวัดที่มีความพร้อมมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องประมาณ 4-5 จังหวัด ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศให้เป็นเทศบาลตำบล

3.) เรื่องเงินรายได้
9 ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นได้เงินจากงบประมาณไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่จัดรายได้ให้สอดคล้องกับภารกิจ มีแต่งาน แต่ไม่มีงบประมาณจ่ายมา และกลายเป็นท้องถิ่นไม่ได้ทำในสิ่งที่ท้องถิ่นหรือประชาชนต้องการ ทำได้แต่งานที่ส่วนกลางหรือรัฐบาลฝากทำ และที่หนักสุดคือ งบท้องถิ่น ท้องถิ่นควรได้เป็นคนพิจารณา แต่กลับเอาไปให้สภาผู้แทนพิจารณาแทน ซึ่งผิดหน้าที่ ดังนั้น ต้องเพิ่มงบท้องถิ่นให้ร้อยละ 35 ภายใน 2 ปีงบประมาณ และยกเลิกงานฝากจากส่วนกลางออกไปจากบัญชีท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ตัวเองไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้

‘โซเชียล’ ท้วง!! หลัง กกต. ชี้!! แจกเงินดิจิทัลไม่ผิด หวั่น!! สร้างบรรทัดฐานใหม่ ใช้เงินแผ่นดินหาเสียง

(12 เม.ย.66) จากเฟซบุ๊ก ‘Sompob Pordi' ของ นายสมภพ พอดี นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความถึงนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ความว่า…

ตามที่มีรายงานข่าวว่า ท่านได้กล่าวถึงนโยบายพรรคการเมืองหนึ่งที่สัญญาว่า หากได้เป็นรัฐบาลแล้ว จะแจกเงินดิจิทัลจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาทให้ประชาชนทุกคนที่อายุ ๑๖ ปีขึ้นไปนั้นว่า…

…เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณแผ่นดินอยู่แล้ว หากได้ไปเป็นรัฐบาล นโยบายลักษณะนี้จะไม่ผิดกฎหมายสัญญาว่าจะให้ ซึ่งนโยบายที่จะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ คือการใช้เงินที่ไม่ใช่เงินของแผ่นดิน...
ผมใคร่ขอให้ท่านพิจารณาข้อความตามพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา ๗๓ วรรค ๑ ซึ่งมีข้อความว่า…

ผู้สมัครหรือผู้ใด จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด…มีความผิดตามกฎหมาย โดยมีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ หรือปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น

ว่า มีถ้อยคำใดในกฏหมายดังกล่าวที่ระบุว่าการสัญญาว่าจะให้ จะต้องเป็นเงินของผู้สัญญาเอง หากเป็นเงินของแผ่นดิน ให้ถือว่าไม่เป็นความผิด หรือไม่? 

‘เต้น ณัฐวุฒิ’ รำลึก 13 ปี สลายการชุมนุม 10 เม.ย.53 ให้คำมั่น!! จะตามหาความยุติธรรมให้ทุกคนอย่างถึงที่สุด

(12 เม.ย.66) เพจ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้โพสต์ข้อความเล่าเรื่องราวของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ระบุว่า…ในคืนวันที่ 10 เมษายน ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ไม่เคยหลับตาลงง่ายๆ บางปีถ้าอยู่คนเดียว มันก็จะคิดอ่านรำพึงรำพันกับตัวเองไปสารพัด บางช่วงบางปีอยู่ในสถาการณ์อยู่กับเพื่อนพี่น้อง ก็นั่งคุยกันจนดึกดื่นขึ้นรุ่ง เพื่อที่จะให้มันหลับลงได้ 

คืนวันนั้น เราอยู่กันที่นั้นแต่แต่หัวค่ำยังเช้า อยู่เพื่อให้พี่น้องเราไปแย่งศพของคนที่ถูกยิงตาย เพราะเรากลัวว่าเขาจะเอาศพไปทำลาย เพื่อนพี่น้องเราถูกไล่ยิงตามตรอกซอกซอย หนีตายหัวซุกหัวซุน จนเสื้อแดงตัวที่ใส่ไม่ใช่เปียกแค่เหงื่อ แต่มันเปียกไปด้วยน้ำตาประชาชน น้ำตาพี่น้องที่วิ่งมาร้องไห้หลังเวที

สำหรับผม มันไม่มีอะไรหนาวเท่าหนาวน้ำตาประชาชนอีกแล้ว เวลาเขามาร้องไห้กับอกเรา เวลาเขาเข้ามากรีดร้องอยู่กับอก แล้วผมให้คำตอบไม่ได้ว่าใครอยู่ที่ไหน ใครเจ็บ ใครตายแล้วศพอยู่ตรงไหนอย่างไร นี่มันคือ มันคือสิ่งที่ มันวิ่งอยู่ในชีวิตผมมาตลอด

ผมก็เลยไม่รู้ว่า จะต้องแสดงออกอย่างไรว่า ว่าเรื่องนี้มันคือชีวิตผม ผมก็เลย ตั้งชื่อลูกผมนี่แหละครับ ผมตั้งชื่อลูกสาวผมซึ่งเกิดท่ามกลางสถานการณ์ล้อมปราบที่ราชประสงค์ว่า ด.ญ.ชาดอาภรณ์ ซึ่งกว่าผมจะได้อุ้มลูกครั้งแรกก็ต้องไปติดคุกอยู่ 9 เดือนกว่าเราจะได้เจอหน้ากัน

ชื่อเสื้อแดง เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตเอ่ยปากได้ภูมิใจว่าเป็นคนเสื้อแดง ชีวิตเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง อยากเป็นผู้แทนฯ สมัครตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยไม่เคยคิดออกมาต่อสู้เป็นแกนนำม็อบ ไม่เคยคิดเกิดมามีอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ใดๆที่จะเติบโตมากับโลกที่บอกว่ามาเพื่อความเปลี่ยนแปลงอะไร 

‘เฉลิม’ ลั่น หากงบแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทไม่พอ  จะไล่รื้อ ‘งบทหาร-เรือดำน้ำ-งบลับนายกฯ’ มาโปะ

‘เฉลิม อยู่บำรุง’ กร้าวถาม ‘เรือดำน้ำซื้อไปทำไม’ ถ้างบนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทไม่พอ ก็ไปรื้องบทหาร-งบลับนายกฯ มาใช้เป็นประโยชน์กับประชาชนดีกว่า  

(12 เม.ย. 66) ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย และผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ, ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ผู้บริหารพรรคเพื่อไทย, นายประภัสร์ จงสงวน ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ, นายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และ นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้สมัครส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 29 เบอร์ 9 เขตบางแค (เฉพาะแขวงบางแคเหนือ) และ แขวงบางไผ่, เขตหนองแขม (ยกเว้นแขวงหนองแขม) ร่วมพิธีเปิดศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย ที่ซอยบางแวก 97 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีพี่น้องประชาชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาให้กำลังใจผู้สมัคร ส.ส.อย่างอบอุ่น 

ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตนเองเป็น ส.ส.สมัยแรก เริ่มต้นที่เขตบางแค และวันนี้ ได้กลับมาช่วย ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา หาเสียงที่เขตบางแคอีกครั้ง จึงรู้สึกอบอุ่นใจและมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งในเขตบางแคนี้แน่นอน ส่วนกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน กล่าวว่านโยบายเงินดิจิทัล ไม่มีกฎหมายรองรับและถ้าเข้าสภาฯ ส.ว.จะคว่ำนโยบายนี้ว่า นายไพบูลย์พูดไร้สาระ เหมือนมีคนเขียนบทละครมาให้พูด 

ตนขอเรียนว่า คนที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายพรรคเพื่อไทย เขาตกใจกับนโยบายของพรรคเพื่อไทย เพราะทีมงานพรรคเพื่อไทยได้คิดผลิตนโยบายออกมาอย่างละเอียด รอบด้าน ตอบโจทย์ทั้งในมิติเศรษฐศาสตร์ มิติด้านกฎหมาย มิติด้านสังคม นโยบายเดียวสามารถแก้ปัญหาให้พี่น้องได้หลายมิติในเวลาเดียวกันและทรงพลัง จนพวกเขาเหล่านั้นนั่งอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ดังนั้น ถ้าใครถามอะไรพรรคเพื่อไทยตอบได้ทั้งหมด

ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม ออกมาบอกว่า งบประมาณปี 2567 เหลืองบประมาณให้ใช้แค่ไม่ถึง 200,000 ล้านบาทเท่านั้น ตนขอบอกว่า ที่เงินไม่พอก็เพราะพวกคุณใช้กันไปแบบไร้ประโยชน์ และถ้าเงินไม่พอจริง ผมก็จะไปรื้องบทหาร งบซื้อเรือดำน้ำ และงบลับของนายกรัฐมนตรีที่เขาปิดปากเงียบไม่เอ่ยถึง ถ้าไม่พอเราจะไปค้นมาใช้เอง

“บอกเงินเหลือแค่ 200,000 ล้านบาทไม่พอใช้ ไม่เป็นไร ถ้าเงินไม่พอ งบเรือดำน้ำเราจะซื้อไปทำไม กฎหมายเรารู้ ระบบราชการเรารู้ เราจะไปรื้องบทหาร งบลับที่นายกฯ นั้นแหละ ถืออยู่เงียบ ๆ เราจะไปเอางบที่ใช้กันอีลุ่ยฉุยแฉก เอามาเป็นงบประมาณมาใช้เพื่อปากท้องและความกินอยู่ที่ดีของประชาชน” ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง กล่าว

ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ทีมงานของพรรคเพื่อไทยทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ มีหลักคิด ทุกนโยบายของเพื่อไทยเช่นนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตอบโจทย์อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเราคิดทั้งระบบภาพรวม ไม่ได้คิดออกมาเป็นส่วน ๆ ดังนั้น ถ้ามีคนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจุดไหน เราพร้อมยินดีตอบคำถาม และขอให้พี่น้องเชื่อใจว่า ทุกนโยบายของเพื่อไทยทำได้ ทำจริง และถ้าเลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์เป็นรัฐบาลเมื่อใด เราจะลงมือทำนโยบายทันทีให้ประสบความสำเร็จเหมือนสมัยที่พรรคไทยรักไทยเคยทำในอดีต

'คริปโตมายด์' วิเคราะห์!! 'แอปฯ เป๋าตัง' ตัวเลือกน่าสนใจ หาก 'เพื่อไทย' จะปั้น Digital Wallet แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ บริษัทที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. วิเคราะห์นโยบาย “พรรคเพื่อไทย” ความเป็นไปได้ของ Digital Wallet สำหรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เมื่อวันที่ (12 เม.ย.66) หนึ่งในประเด็นใหญ่ในช่วงนี้ที่เป็นที่พูดถึงและถกเถียงในโลกโซเชียลกันอย่างแพร่หลาย ก็คือการประกาศนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าด้วยเรื่องการเติมเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายใกล้บ้านในรัศมี 4 กิโลเมตร ผ่าน Digital Wallet โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาดท้องถิ่น สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย

หนึ่งในรายละเอียดของนโยบายที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการนำ “เทคโนโลยีบล็อกเชน” มาสร้าง Digital Wallet เพื่อสร้างเงื่อนไขการใช้งานที่จะทำให้นโยบายเป็นไปได้อย่างตรงจุด ในประเด็นนี้นายอภินัทธ์ เดชดอนบม นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำ Digital Wallet นั้นอาจไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลเรื่องข้อจำกัดด้านการออกแบบบางอย่างซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีข้อจำกัดในเรื่องของการออกแบบ เนื่องด้วยสิ่งที่เรียกว่า Blockchain Trilemma หรือหลักพื้นฐานบล็อกเชน 3 ประการ ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้พร้อมกัน อันประกอบด้วย ความปลอดภัย (Security), การขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต (Scalability) และการกระจายอำนาจ (Decentralization)

ซึ่งตัวเลือกแรกก็เป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก Security การที่จะทำระบบบล็อกเชนให้สามารถรองรับธุรกรรมมหาศาลจากประชากรหลายสิบล้านคน ก็จำเป็นต้องเลือก Scalability มาเป็นอันดับสอง นั่นหมายความว่าต้องยอมสูญเสีย Decentralization ไป
 
อีกทั้งการทำระบบการชำระเงินของรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเป็นบล็อกเชนสาธารณะ (Public Blockchain) ที่เปิดรายละเอียดของโครงสร้างระบบให้คนทั่วไปเห็น ทำให้ตัวเลือกเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Private Blockchain แต่การจะทำให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ โดยไม่ติดขัด Digital Wallet นี้ก็ต้องเป็นแบบ Custodial Wallet ที่ทำให้ Decentralization ลดลงไปอีก

ซึ่งทำให้ระบบโดยรวมนั้นอาจไม่ได้แตกต่างจากการใช้ระบบฐานข้อมูลแบบเดิมที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่มี Case Study ของบล็อกเชนที่สามารถรองรับธุรกรรมได้มากระดับหลายสิบล้านธุรกรรมต่อวันได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงมองว่าตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดในการทำ Digital Wallet นี้ก็คือ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีอยู่ก่อนแล้ว และคาดว่า “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวได้ไม่ยาก มีประวัติการรองรับธุรกรรมจากการใช้งานจริงจากโครงการก่อนหน้านี้

ประชาชนมีความคุ้นเคยกับแอปพลิเคชันเป๋าตังอยู่แล้ว อีกทั้งการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีอยู่เดิมก็จะสามารถประหยัดงบประมาณการพัฒนาระบบใหม่และดูแลรักษาได้อีกด้วย

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่พูดถึงก็คือความเกี่ยวข้องของ Digital Wallet กับ Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งในเรื่องนี้ทางเรามองว่าไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากทางแบงก์ชาติมีแนวทางพัฒนาของตัวเอง โดยในตอนนี้ Retail CBDC ก็กำลังอยู่ในช่วง Pilot Test ระหว่างช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566 ร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด

โดยหาก Pilot Test แล้วมีปัญหาหรือมีจุดต้องแก้ไขก็ต้องนำกลับไปพัฒนาใหม่ และ Pilot Test อีกครั้งไปเรื่อย ๆ จนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือนหรือหลายปี เพราะ CBDC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่สามารถรีบเร่งได้ ทำให้ไทม์ไลน์อาจไม่ตรงกับการบังคับใช้ นโยบายดังกล่าวหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top