Monday, 1 July 2024
เพื่อไทย

จับตายุทธการล้ม 'ชลน่าน' รวมไทยสร้างชาติจ่อคอหอย ฟากบ้านใหญ่ชลบุรี แอบหวั่น!! มาดามเบียร์ถูกคว่ำ

'เล็ก เลียบด่วน' พบกับท่านสัปดาห์ละ3ครั้ง...เลียบการเมือง วิเคราะห์การเมืองเบื้องลึก...แต่จากนี้ไปจำเพาะวันศุกร์สุดสัปดาห์ ท่านบก.กระซิบบอกให้ช่วยเลาะขอบสนามเลือกตั้งแบบว่า หยิบกอสซิป หรือไฮไลต์เลือกตั้งที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังบ้าง...ก็จะขอดำเนินการตั้งแต่บัดนาว...

ประเดิมเริ่มแรกขอโฟกัสไปที่ภาพรวมเลือกตั้ง..นาทีนี้พรรคเพื่อไทยเร่งทำผลสำรวจด้วยตัวเอง พร้อมๆ กับแสวงหาผลสำรวจสำนักต่างๆ กันจ้าละหวั่นเพราะอยากรู้ว่า หลังยิงปืนใหญ่นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทออกมา...บวกลบคูณหารแล้วขาดทุนหรือกำไร...คะแนนพุ่งหรือพัง...คิดใหญ่ทำเป็นยังขลังหรือไม่...เพราะดูเหมือนแรงต้านจะมีมากเหลือเกิน..

พรรคเพื่อไทยอีกซักข่าว...ข่าวนี้ถ้าเป็นไปได้จริงก็ถือว่าเป็นการล้มช้างกันเลยทีเดียว...นั่นคือมีการปิดกันให้แซ่ดว่า พรรครวมไทยสร้างชาติหมายมั่นปั้นมือที่จะปลุกปั้นให้ 'พิชิต โมกศรี' ผู้สมัครส.ส.น่านเขต 2 ของพรรคเข้าวิน...เบียดส.ส.5 สมัยอย่างนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ให้ตกเหวการเมืองสอบตกเป็นสมัยแรกให้ได้...ซึ่งหากดูโปรไฟล์ของอดีตปลัดเทศบาลเมืองแพร่อย่างพิชิต โมกศรี ก็ไม่ธรรมดา เคยลงสมัคร นายกอบจ.น่าน เมื่อปี 2563 มาแล้ว ได้ลำดับสอง แพ้ไปเพียง 2 หมื่นกว่าคะแนน...

เลือกตั้งหนนี้ ทั้ง 'แม่เลี้ยงติ๊ก' ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู, เสธ.หิ-ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ...ขุนพลภาคเหนือของพรรคลุงตู่ แว่บไปเมืองน่านถี่ยิบ...ลุ้นระทึกยิ่งกว่าลงสมัครเองเลยทีเดียว...

ครับ...ถ้าล้มหมอชลน่านได้จริงก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะหมอชลน่านเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นส.ส.เขตแบบชนะขาดมาแทบทุกครั้ง รอบนี้เป็นหัวหน้าพรรคคนเดียวที่ลง ส.ส.เขต ไม่ยอมลงปาร์ตี้ลิสต์ โดยให้เหตุผลว่าหากให้คนอื่นลงมีโอกาสแพ้...และจะทำให้พรรคเสียที่นั่ง ตัวเองจะรู้สึกผิด...อะไรประมาณนั้น...อย่างไรก็ตามหลายคนก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าความที่เป็นหัวหน้าพรรค ต้องเดินทางไปปราศรัยช่วยลูกพรรคทั่วประเทศ อาจทำให้หมอชลน่านเกิดอาการ 'ห่วงหน้าพะวงหลัง'...ดีไม่ดีอาจพลาดท่าเสียเก้าอี้ได้เหมือนกัน...

แว่บไปดูแนวรบด้านตะวันออกกันหน่อย...วันก่อนโน้นดีเบตที่ชลบุรีเดือดพล่าน...เมื่อ 'เสี่ยเฮ้ง' สุชาติ ชมกลิ่น  แม่ทัพพรรค รทสช.ลุกขึ้นชี้หน้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  แห่งค่ายก้าวไกล...ซึ่งอันที่จริงคู่ชิงเก้าอี้เมืองชล 10 ที่นั่งนั้นไม่ใช่พรรคก้าวไกลที่อาจจะรักษาเก้าอี้ไว้ได้ซัก 1 ที่นั่ง คือ จรัส คุ้มไข่น้ำ...แต่สนามนี้ปีนี้มวยคู่หลักคือ 'บ้านใหญ่' นำโดย แป๊ะ-สนธยา คุณปลื้ม กับ 'บ้านใหม่' นำโดย 'เสี่ยเฮ้ง' สุชาติ ชมกลิ่น ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้สูสีดู๋ดี๋ระดับที่อาจจะต้องแบ่งครึ่งกัน....

‘ดร.พงศ์ธร’ เทียบฟอร์มนโยบาย ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ 2 พรรคประชาธิปไตย ที่อาจทำแฟนคลับลุ้นเหนื่อย

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้ติ๊กต็อก บัญชี ‘PhongThon’ โดย ‘ดร.พงศ์ธร ธาราไชย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) ได้ออกมาวิเคราะห์นโยบายทางการเมืองของสองพรรค ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล โดยกล่าวว่า...

“สำหรับคนวัยผมอย่างผมก็อยากจะเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นแฟนคลับกันมานานถือว่าพรรคเพื่อไทยมีฐานแฟนคลับคน Gen X (เกิดช่วงปี พ.ศ. 2508-2522)”

“ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ชูนโยบาย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ลักษณะของพรรคคือ มีเจ้าของพรรคคือตระกูลชินวัตร เป็นเจ้าของพรรค และส่งผู้บริหารมืออาชีพอย่าง คุณเศรษฐา ทวีสิน มาเป็น CEO ของพรรค โดยลักษณะของการดำเนินนโยบายเป็นแบบไม่ค่อยไปตีการเมืองเก่าแบบแรงๆ ทำท่าเหมือนจะไปจับมือกันก็ยังสามารถทำได้ พร้อมมีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน กับนโยบายเงินเดือนคนจบปริญญาตรีเริ่มต้น 25,000 บาท และนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งอาจจะมีการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และยังมีนโยบายเด็ด แจกเงินดิจิทัลฯ 10,000 บาท ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไป ซึ่งนโยบายนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ และมีสิทธิที่จะโดนกกต. เล่นงานได้หลังที่ชนะเข้าไป” 

ผลโพลเดลินิวส์xมติชน ยก ‘เพื่อไทย’ อันดับ 1 พรรคที่ชอบ ส่วน 3 อันดับ นายกฯ ที่ใช่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ควง ‘เศรษฐา’ ขึ้นโพเดียม

ผลโหวต เดลินิวส์ x มติชน โพลเลือกตั้ง '66 ครั้งที่ 1 ออกแล้ว ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เข้าป้ายอันดับ 1 นายกฯ ที่ใช่ ตามด้วย ‘อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา’ และ ‘บิ๊กตู่’ รั้งอันดับ 4 ส่วนพรรคที่ชอบ ‘เพื่อไทย’ เข้าวินเป็นที่ 1 ตามด้วย ‘ก้าวไกล-รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย’ อันดับ 2-4 ตามลำดับ

(15 เม.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานผลการโหวตโพลการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสองสื่อสารมวลชนชั้นนำระดับประเทศ 'เดลินิวส์ x มติชน โพลเลือกตั้ง '66 ครั้งที่ 1' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ระดับอาชีพ การศึกษา และรายได้ทั่วประเทศ รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 84,076 ราย และเป็นการโหวตแบบไม่ซ้ำไอพีแอดเดรส (IP Address)

จากการสำรวจโพล 'เดลินิวส์ x มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 1' ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/thai-election66-poll/ ของสื่อเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี และ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll/ ของเดลินิวส์ ที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 84,076 ราย พบข้อมูลดังนี้....

หัวข้อคำถามที่ 1 ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรก ผู้ได้รับการโหวตเป็น อันดับ 1 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ร้อยละ 29.42, อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 23.23, อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 16.69, อันดับ 4 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 13.72, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจ (ว่าจะเลือกใคร) ร้อยละ 2.97

อันดับ 6 นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 2.94, อันดับ 7 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จากพรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 2.25, อันดับ 8 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.90, อันดับ 9 นายกรณ์ จาติกวณิช จากพรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.40 และอันดับ 10 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.24

ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย จากผลการทำโพลในหัวข้อคำถามที่ 1 ดังกล่าว พบว่า เมื่อนำผลโหวตของ น.ส.แพทองธาร นายเศรษฐา และนายชัยเกษม นิติสิริ มารวมกัน จะอยู่ที่ร้อยละ 40.34

สำหรับแคนดิเดตนายกฯ คนอื่น ๆ ที่ได้รับการโหวตคะแนนลดหลั่นกันไป ประกอบด้วย อันดับ 11 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.08, อันดับ 12 นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.96, อันดับ 13 บุคคลอื่น ๆ ร้อยละ 0.49, อันดับ 14 นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 0.42, อันดับ 15 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 0.26, อันดับ 16 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคไทยภักดี ร้อยละ 0.25

อันดับ 17 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ ร้อยละ 0.21, อันดับ 18 นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ ร้อยละ 0.20, อันดับ 19 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.11, อันดับ 20 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 0.10, อันดับ 21 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ร้อยละ 0.08, อันดับ 22 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ ร้อยละ 0.06 และอันดับ 23 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.01

ต่อด้วยหัวข้อคำถามที่ 2 ท่านจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรกนั้น พรรคการเมืองได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 38.89, อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 32.37, อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 12.84, อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.30, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใด ร้อยละ 2.21, อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.83, อันดับ 7 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.73, อันดับ 8 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.63, อันดับ 9 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.55 และอันดับ 10 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.14

ส่วนพรรคอันดับอื่น ๆ มีผลโหวตโพลดังนี้ อันดับ 11 พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.96, อันดับ 12 พรรคไทยภักดี ร้อยละ 0.41, อันดับ 13 พรรคอื่นๆ ร้อยละ 0.36, อันดับ 14 พรรคประชาชาติ ร้อยละ 0.33, อันดับ 15 พรรคเปลี่ยน ร้อยละ 0.31 และอันดับ 16 พรรคไทยศรีวิไลย์ ร้อยละ 0.14

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ร่วมทำโพลออนไลน์ 'เดลินิวส์ x มติชน โพลเลือกตั้ง '66 ครั้งที่ 1' 84,076 ราย แยกเป็นกลุ่มช่วงอายุ 42-57 ปี หรือ 'GEN-X' มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวนร้อยละ 35.08 ตามด้วยกลุ่มช่วงอายุ 58-76 ปี หรือ 'เบบี้บูมเมอร์' จำนวนร้อยละ 27.63, ช่วงอายุ 26-41 ปี หรือ 'GEN-Y' จำนวนร้อยละ 26.50, ช่วงอายุ 18-25 ปี หรือ 'GEN-Z' จำนวนร้อยละ 9.77 และช่วงอายุ 77 ปีขึ้นไป หรือ “Silent-GEN” จำนวนร้อยละ 1.02

‘กกต.’ เปิดยอดเงิน-รายชื่อผู้บริจาค หนุนพรรคการเมือง ม.ค. 66 เผย ‘รทสช.’ รับเยอะสุด!! 26 ล้านบาท รองลงมา ‘พท.-ชพท.’

(16 เม.ย.66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้บริจาค และจำนวนเงินที่บริจาคให้แก่พรรคการเมือง ประจำเดือน ม.ค.66 โดยพบว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มียอดได้รับการบริจาคสูงสุดถึง 26 ล้านบาท รองลงมา เป็นพรรคเพื่อไทย (พท.) ยอดได้รับบริจาค 12 ล้านบาท และอันดับสาม พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ยอดได้รับบริจาค 9.8 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในรายละเอียดพบว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มียอดบริจาค 19 รายการ รวมวงเงิน 26,004,500 บาท ผู้บริจาคที่น่าสนใจ เช่น นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดี ม.กรุงเทพธนบุรี (เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น) บริจาค 5 ล้านบาท, น.ส.สุทธาพัฒน์ อมรเรืองตระกูล บริจาค 5 ล้านบาท, น.ส.เสาวณี อนุกูล บริจาค 5 ล้านบาท

‘ประภัสร์ จงสงวน’ ควง ‘ดร.ตั้น กฤชนนท์’ เยือนบางแค  ลั่น!! นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ทำได้จริง!

เมื่อวันที่ 16 เม.ย.66 แขวงบางไผ่ เขตบางแค นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่และขึ้นเวทีปราศรัยที่เขตบางแค พร้อม ดร.ตั้น กฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ลงสมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 29 เบอร์ 9 เพื่อประกาศนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย สามารถทำได้จริง!

นายประภัสร์ กล่าวว่า เสียดายโอกาสในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การทำสัญญารถไฟฟ้าหลายสายนั้นทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นฮับในการผลิตรถไฟฟ้าของเอเชีย แต่จากการที่ไม่วางแผนให้ดีทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในเรื่องนี้ไปหลายปี

‘อุ๊งอิ๊ง’ ปลุกประชาชน เข้าคูหากาเลือก ‘เพื่อไทย’ ชี้!! ต้องเลือกทั้งคนทั้งพรรค ให้แลนด์สไลด์เกิดขึ้นจริง

(18 เม.ย.66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย แถลงถึงยุทธศาสตร์หาเสียงเลือกตั้งโค้งสุดท้ายพรรคเพื่อไทยว่า ขณะนี้มีกระแสต่าง ๆ มากมายถาโถมใส่พรรค ล่าสุดมีเสียงสะท้อนจากประชาชนถึงกระแสวิจารณ์ผู้สมัครส.ส.เขต พรรคเพื่อไทย ไม่ลงพื้นที่หาเสียง ชาวบ้านหาตัวผู้สมัครพรรคไม่เจอ และไม่ค่อยเห็นป้ายหาเสียงของพรรคนั้น ตนและพรรคเพื่อไทยไม่นิ่งนอนใจ ส่งทีมงานไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ต่างๆ พบว่าส.ส.เขตลงพื้นที่สม่ำเสมอ อาจมีส่วนน้อยลงพื้นที่ไม่มากพอ แต่นโยบายต่างๆ ของพรรคที่ไปสู่ประชาชน อาทิ ค่าแรง 600 บาท กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็เป็นผลมาจากการที่ส.ส.ลงพื้นที่พบประชาชน เชื่อว่า ผู้สมัครทุกคนอยากเข้าสภา ก็ต้องพบปะประชาชน ส่วนเรื่องป้ายหาเสียงในบางพื้นที่ที่ไม่ค่อยพบเห็นมากนั้น เนื่องจากต้องทำกฎคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยอมรับเป็นข้อจำกัด พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ ถูกเพ่งเล็งตลอด จำเป็นต้องทำตามกฎ แต่อีกไม่กี่วันจะมีป้ายหาเสียงชุดใหม่ออกมาอธิบายนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล และการเติมเงินให้ครอบครัวละ 20,000 บาทต่อเดือน 

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยหนักแน่น เลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์จะเลือกพรรค ไม่เลือกคนไม่ได้ ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่ตอบโจทย์ให้ได้ ประชาชนอย่าเพิ่งแผ่ว ต้องเลือกพรรคเพื่อไทยทั้งคน และพรรค ให้แลนด์สไลด์

กาฬสินธุ์ เพื่อไทยยกทัพตอกเสาเข็มแลนด์สไลด์กาฬสินธุ์ทั้ง 6 เขต

เพื่อไทยยกทัพนำขุนพลเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงช่วย “บอล” พลากร พิมพะนิตย์ ผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 ตอกเสาเข็มกาฬสินธุ์ต้องแลนด์สไลด์ทั้ง 6 เขต  ด้าน“อุ๊งอิ๊ง”วีดีโอคอลอ้อนคิดถึงชาวกาฬสินธุ์ขออย่าปันใจ ย้ำพรรคเพื่อไทยไม่มีสาขา  ให้เลือกทั้งคน ทั้งพรรคแลนด์สไลด์ทั่วประเทศ ขณะที่ “เศรษฐา”ประกาศเดินหน้านโยบายกระเป๋าตังค์ดิจิทัลให้คนละ 10,000 บาท ยืนยันไม่ยกเลิกบัตรคนจน ระบุพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล คนจนจะหมดไปเอง


เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 18 เมษายน 2566 ที่สนามกีฬาโรงเรียนวังมนวิทยาคาร ต.หัวงัว อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายอดิศร เพียงเกษ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย  และนายพานทองแท้ ชินวัตร เปิดเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยนายพลากร พิมพะนิตย์ ผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 พรรคเพื่อไทย เบอร์ 4 โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์  ผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย นางยรรยงรัตน์ ไชยศิวามงคล ผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 3 นายทินพล ศรีธเรศ ผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 และผู้สมัคร ส.ส.จาก จ.ร้อยเอ็ดเข้าร่วมปราศรัย พร้อมประกาศตอกเสาเข็มแลนด์สไลด์กาฬสินธุ์ทั้ง 6 เขต ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมรับฟังกว่า 20,000 คน หลังจากเมื่อช่วงเวลา 15.00 น.ได้เปิดเวทีปราศรัยจุดแรกที่อำเภอกมลาไสย


โดยเวทีการปราศรัยครั้งนี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ยังได้ปราศรัยผ่านระบบออนไลน์ หรือวีดีโอคอลมาถึงพี่น้องประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งนางสาวแพทองธาร บอกว่า คิดถึงพี่น้องชาวกาฬสินธุ์ รอคลอดน้องแล้วจะไปหา พร้อมขอแรงเชียร์ แรงใจ จากพี่น้องประชาชนชาวกาฬสินธุ์ เลือกพรรคเพื่อไทย เราไม่มีพรรคอื่น ขออย่าปันใจ ให้เลือกทั้งคน ทั้งพรรค เลือกพรรคเพื่อไทยเท่านั้นให้แลนด์สไลด์ทั้ง 6 เขต และแลนด์สไลด์ทั่วประเทศ เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหายาเสพติด และแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศ


ด้านนายอดิศร เพียงเกษ  กล่าวปราศรัยว่า ผ่านมา 8 ปีแล้ว และหมดเวลาแล้วสำหรับการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของรัฐบาล"ประยุทธ์"  ซึ่งขณะนี้พรรคเพื่อไทยพร้อมที่สุด พร้อมทั้ง ส.ส.เขต พร้อมทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพร้อมทั้งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะเข้าไปกู้หน้าตาให้ประเทศไทยกลับคืนมา ขอพี่น้องประชาชนเปิดโอกาสให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลและขอพี่น้องชาวกาฬสินธุ์เลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์ทั้ง 6 เขต

‘เศรษฐา’ ยกทีมลงพื้นที่ตลาดบางลำภู จ.ขอนแก่น บรรยากาศคึกคัก แม่ค้าโผกอดขอถ่ายรูป เชียร์เป็นนายกฯ

(19 เม.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วย นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รองหัวหน้าพรรคพท. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจ พรรคพท. พานายชัชวาล พรอมรธรรม ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น เขต 1 เบอร์ 6 พรรคเพื่อไทย เดินหาเสียงในพื้นที่ตลาดบางลำภู อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น สำหรับบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีแม่ค้าอาหารทะเลสดตะโกน “อยากกอดนายกฯ จังเลย” ก่อนเข้าโผกอดและขอเซลฟี่ โดยนายเศรษฐา กล่าวตอบรับว่า “ฝากเบอร์ 6 และเบอร์ 29 ด้วยนะครับ” ด้านแม่ค้าร้านขายปลา ทักทายนายพานทองแท้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสว่า “ลูกทักษิณใช่หรือไม่”

'เพื่อไทย' ผวา 'แลนด์ไถล' หลัง 'คะแนนนิยมนิ่ง-คู่แข่งจ่อ' ต้องออกใบเตือนผู้สมัคร 'เสาไฟฟ้า' ให้ทำงาน-ลงพื้นที่

อาการของพรรคเพื่อไทยยามนี้ไม่สู้ดีนัก..ประมาณว่า 'พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก' ก็มิปาน

วันที่ 5 เม.ย.2566 จัดบิ๊กแคมเปญ เปิด 3 แคนดิเดทฝตนายกฯ ภายใต้ธีม 'ONE TEAM FOR ALL THAIS' และให้หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ 'เศรษฐา ทวีสิน'   ประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท กะว่าจะเปรี้ยงปร้างระเบิดเถิดเทิงสมราคาคุย...คิดใหญ่ทำเป็น

แต่อนิจจา...ที่ไหนได้ นโยบายนี้กลายเป็นบั้งไฟที่ไปไม่สุด เกิดอาการแป๊ก...เสียฟอร์ม เสียรังวัดไม่น้อย...ว่ากันว่าถ้าเป็นโค้ง 7 วันสุดท้ายคงหวิดตายหมู่...แบบว่าคงแลนด์ไถลเหลืออย่างมากแค่ 170 ที่นั่งเหมือนที่โพลลับฝ่ายความมั่นคงเขาทำไว้เป็นแน่แท้...

ตอนนี้บรรดาเสนาธิการ และนักรบในห้องแอร์ทั้งหลายต้องช่วยกันแก้เกมเรื่องนโยบายหมื่นบาท ทั้งในส่วนคำชี้แจงต่อ กกต.และคำอธิบายต่อสาธารณชน ซึ่งอย่าว่าแต่ชนชั้นกลางเลยที่มีคำถามเลย ระดับรากหญ้าเองก็เริ่มมีคำถาม เพราะผู้บริหารพรรคบางคนพูดชัดเจนว่า...ใครที่มารับบริการเงินดิจิทัลหมื่นบาท ต้องสละสิทธิ์การรับสวัสดิการจากบัตรคนจน...

ร้อนจนวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้ง 'ภูมิธรรม เวชชชัย' รองหัวหน้าพรรค และตัวนายเศรษฐาเอง ต้องรีบออกมาดับไฟเสียแต่ต้นลมว่า...นโยบายนี้จะเดินหน้าโดยไม่ยกเลิกบัตรคนจน...

จะเป็นเพราะนโยบายแจกเงินหมื่นบาทด้วยหรือเปล่าก็มิทราบได้...ผลปรากฏว่าการทำโพลของค่ายต่างๆ ระบุว่า แม้คะแนนของแพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง และพรรคเพิ่อไทยจะยังคงนำ แต่เป็นการนำในลักษณะหยุดนิ่ง ในขณะที่คู่แข่งดีวันดีคืน โดยเฉพาะคู่ต่อสู้อย่างพรรคก้าวไกลเริ่มหายใจรดต้นคอ...

ไม่แต่เท่านั้น โพลของค่ายมติชน-เดลินิวส์ ที่ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-14 เม.ย.ระบุชัดว่าคะแนนตำแหน่งว่าที่นายกฯ นั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แห่งก้าวไกล แซงอุ๊งอิ๊ง ห่างในระดับ 29 ต่อ 23 เปอร์เซ็นต์กันเลยทีเดียว...

ขณะเดียวกันบรรดา FC ของพรรคได้ร้องเรียนไปยังพรรคว่า มีผู้สมัครจำนวนไม่น้อยที่ไม่ลงพื้นที่ หวังโหนกระแสพรรคเป็นหลัก...ทำให้เมื่อวันที่ 16 เม.ย. กองอำนวยการเลือกตั้งต้อง ทำจดหมายน้อยกระตุกเตือนบรรดาผู้สมัคร ทั้งที่เป็นอดีตส.ส.และผู้สมัครหน้าใหม่ที่ทำตัวเป็นพวก 'เสาไฟฟ้า' แบบประชาธิปัตย์ภาคใต้เมื่อหลายปีก่อนโน้น คือไม่หาเสียง โหนกระแสพรรค อาศัยยี่ห้อพรรคเข้าสภา...

“...ถ้าพวกท่านยังขยันไม่พอและไม่เข้าหาประชาชน..เราคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการแลนด์สไลด์ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยวดยิ่ง...” ตอนหนึ่งของจดหมายเตือนระบุ

‘เศรษฐา’ เปิดอกคุย ‘ไก่ย่างเขาสวนกวาง’ ปัญหารอบด้าน ลั่น!! เป็นรัฐบาลแก้ให้ทันที

‘เพื่อไทย’ เปิดอกคุย ‘ไก่ย่างเขาสวนกวาง’ ค่าเช่าที่แพง เข้าไม่ถึงแหล่งทุน จดลิขสิทธิ์ยาก ‘เศรษฐา’ ให้คำมั่น นโยบายเราพร้อม หากเป็นรัฐบาล เดินหน้าแก้ปัญหาทันที 

(19 เม.ย.66) ที่อำเภอเขาสวน จังหวัดขอนแก่น แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย กรรมการบริหารพรรค ผู้บริหารพรรค และผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น ประกอบด้วย จตุพร เจริญเชื้อ ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เขต 3 เบอร์ 5, มุกดา พงษ์สมบัติ ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เขต 4 เบอร์ 11 พบกลุ่มผู้ประกอบการปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมไก่ย่างเขาสวนกวาง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังปัญหา

ตัวแทนกลุ่มผู้ค้าไก่ย่างเขาสวนกวาง สะท้อนปัญหาว่า 1.ในกลุ่มสมาชิกกว่า 420 ร้านค้า เป็นแผงลอยชั่วคราวเกือบครึ่งหนึ่ง ไม่มีร้านค้าขายหรือแผงเป็นของตนเอง ค่าเช่าแพงและไม่แน่นอน ค่าน้ำค่าไฟแพงเพราะเป็นร้านเช่า 2. ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ถูกกฎหมาย จึงต้องไปกู้นอกระบบมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงขอให้ตั้งกองทุนเช่น กองทุนพัฒนาอาชีพ หรือกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเข้ามาช่วยเหลือ 3. ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์เป็นของชุมชน จึงต้องไปซื้อลิขสิทธิ์นายทุนมาขาย และสุดท้าย 4.แม้จะเป็นไก่ย่างเขาสวนกวางแท้ๆ แต่มีปัญหาการควบคุมคุณภาพ รสชาติ เพราะว่าทุกคนเอาชื่อไปใช้ได้หมดโดยที่ควบคุมไม่ได้

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการโรงเชือด สะท้อนปัญหาว่า ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เข้าถึงแหล่งทุนยาก เมื่อเจอโรคระบาดไม่ว่าจะโรคระบาดไก่ หรือโรคระบาดคน ก็ไม่มีเงินพยุงกิจการได้ และสุดท้าย อยากให้สร้าง “เขาสวนกวาง” ให้เป็นแลนด์มาร์ก ส่งเสริมเศรษฐกิจและท่องเที่ยวได้ชัดเจน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top