Saturday, 29 June 2024
เพื่อไทย

เปิดแผนไม่ลับ หยุดก้าวไกล-เพื่อไทยแลนด์สไลด์!! “ไม่เลือกลุงมันมาแน่” ปะทะ “มีเราไม่มีลุง” มนต์ไหนขลังกว่า

พรรคเพื่อไทยอุตส่าห์ย้ำแคมเปญผ่านป้ายหาเสียงตามถนนรนแคมและเสาไฟฟ้าทั่วประเทศว่า 'เพื่อไทยแลนด์สไลด์' แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผลอะไรมาก สู้กระแสไวรัลปากต่อปากตามสภากาแฟและร้านอาหารที่ไม่ทันหย่อนก้นลงนั่งก็มีเสียงตะโกนถามมาแล้วว่า...พรรคก้าวไกลมาแรงจริงหรือเปล่า จะแลนด์สไลด์แทนเพื่อไทยจริงหรือ..??

ก็ต้องบอกว่าของเขาแรงจริง ๆ แต่ 'เล็ก เลียบด่วน' จะขอหมายเหตุเป็นข้อ ๆ เพื่อกระชับพื้นที่ดังนี้...

ข้อที่หนึ่ง) จุดร่วมที่ผู้บริหารพรรคก้าวไกลประกาศตอนนี้คือ ทะลุ 100 ที่นั่ง ส่วน 160 ที่นั่ง เป็นตัวเลขยุทธศาสตร์ตัวเลขเป้าหมายเท่านั้น

เลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่หรือก้าวไกลปัจจุบันได้ ส.ส.รวม 81 ที่นั่ง เป็นส.ส.เขต 30 ปาร์ตี้ลิสต์ 51 ส.ส. เขตส่วนหนึ่งมาจาก 'ส้มหล่น' พรรคไทยรักษาชาติซึ่งเป็นแบงก์ร้อยหรือลูกแบงก์ของพรรคเพื่อไทยถูกยุบก่อนเลือกตั้ง

ข้อที่สอง) กระแสพรรคก้าวไกลมาแรงในขณะนี้มีมาจาก 3 สาเหตุ...1.นโยบายหลายอย่างดี ทันสมัยโดนใจคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางแม้บางประการจะออกอาการสุดโต่ง / 2.ภาพรวมการดีเบตพรรคก้าวไกลดูเด่นกว่าพรรคอื่น ข้อมูลชัดเจน และ 3.จุดยืนเชิงอุดมการณ์มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง เป็นจุดยืนที่ภาษาทหารต้องเรียกว่า 'สูงข่ม' พรรคเพื่อไทย คะแนนจากเพื่อไทยส่วนหนึ่งจึงเทมา

ข้อที่สาม) ก่อนยุบสภาพรรคก้าวไกล มีส.ส.ในพรรค 50 กว่าคน แนวโน้มการเลือกตั้งหนนี้ที่จะได้เป็นกอบเป็นกำคือ คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าได้คะแนนเพิ่มจากเดิม 6 ล้านเศษเมื่อปี 2562 เป็น 9 ล้านเสียง ซึ่งถ้า 1 ปาร์ตี้ลิสต์ใช้เสียง 3.7 แสน ก็จะได้ปาร์ตี้ลิสต์ 24 คน สมมติได้ ส.ส.เขตอีก 50 คน ทั้งหมดจะอยู่ที่ 74 คนเท่านั้น...แต่ก็มากพอที่จะเกินครึ่งสภาหรือ 250 คน หากไปบวกรวมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้านเดิม...

‘อุ๊งอิ๊ง’ ลั่น!! เลือกเพื่อไทยไม่ต้องลุ้น ประเทศไทยเปลี่ยนทันที

‘อุ๊งอิ๊ง’ ลั่น!! เลือกเพื่อไทยไม่ต้องลุ้น ประเทศไทยเปลี่ยนทันที

“เลือกเพื่อไทยไม่ต้องลุ้น ประเทศไทยเปลี่ยนทันที”

แพทองธาร ชินวัตร ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย กล่าว

‘เศรษฐา’ ปลุกประชาชนเลือก ‘เพื่อไทย’ เป็นรัฐบาล ชูกระเป๋าเงินดิจิทัล กระตุ้น ศก.ครั้งใหญ่ ขจัด ‘เหลื่อมล้ำ-ยากจน’

(10 พ.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย เรื่อง ‘ถึงเวลาปลุกชีวิตเศรษฐกิจที่หลับใหล’ ระบุว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่สามารถเดินต่อหน้าไปได้ และยังคงก้าวถอยหลังอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะจากสถานการณ์โรคระบาดหรือแนว การทางบริหารประเทศที่ล้มเหลว คนไทยถูกกดให้จนลงจนลง แล้วแจกเงินครั้งละไม่กี่ร้อยบาท เพื่อหยอดน้ำข้าวต้มยื้อเวลาให้พอประทังชีวิต โดยไม่มีการคำนึงถึงวิธีเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

“วันนี้ประเทศไทยรอไม่ได้อีกแล้ว ผมยืนยันว่าเราต้องชนะทันที เพื่อให้เพื่อไทยได้มีโอกาสเข้าไปเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็วที่สุด ด้วยนโยบายเติมเงิน 10,000 เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ที่จะเข้าไปปั๊มหัวใจประเทศด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ประชาชนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้รับทันที เพราะเป้าหมายของเราคือการทำให้ประเทศไทยไม่ต้องมีคนจนอีกต่อไป” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐา ระบุว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่เท่านั้น แต่เม็ดเงินจะถูกกระจายไปทั่วประเทศ ทุกอำเภอ และทุกตำบล ตามจำนวนประชาชนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปในแต่ละพื้นที่

นายเศรษฐา ระบุต่อว่า เงิน 10,000 ในกระเป๋าเงินดิจิทัลของพี่น้องประชาชนนั้น ไม่ได้แจกแล้วหมดไป แต่เราออกแบบโดยหวังผลให้นำไปสู่การใช้จ่ายเพื่อฟื้นชีวิตให้กับเศรษฐกิจทั้งระบบ และคงเงินให้หมุนเวียนอยู่ในชุมชน อยู่ในระบบ นโยบายนี้จึงมาพร้อมเงื่อนไขสำคัญ 4 อย่าง คือ 1. เปิดกระเป๋าเงินดิจิทัล 2. ใช้ได้เฉพาะอาหารของใช้ประจำวัน หรือวัตถุดิบประกอบสัมมาชีพ 3. ใช้ได้ภายในพื้นที่ 4 กิโลเมตรตามที่อยู่หน้าบัตรประชาชนเท่านั้น 4. แจกรอบเดียวเท่านั้น ต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน

“หน้าที่ของผมคือการเปลี่ยนสิ่งที่ใครก็มองว่าเป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นจริง วันที่ 14 พ.ค. นี้ ขอโอกาสให้เพื่อไทยได้เข้าไปจัดการกับศัตรูที่มีชื่อว่าความเหลื่อมล้ำและความยากจน” นายเศรษฐา ระบุ

ผ่าเกม 'ทักษิณ' ทวีตรัวๆ "ขออนุญาตกลับบ้าน" 'ตรึงคะแนนเพื่อไทย- ฝันหวานนอนเซฟเฮาส์'

อันที่จริงเรื่องการ 'ขออนุญาตกลับบ้าน' ของโทนี่ วู้ดซัม หรือ นายทักษิณ ชินวัตร 'เล็ก เลียบด่วน' ได้ปุจฉาวิสัชนาไปแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา อันเนื่องจากนายทักษิณได้ทวิตเตอร์ต้อนรับหลานคนที่ 7 ที่อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ให้กำเนิดเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 66

ทว่า จู่ ๆ วันอังคารที่ 9 พ.ค. 66 ทักษิณ ก็ทวิตเตอร์รัว ๆ สองครั้ง ประกาศเปรี้ยงอีกว่าจะกลับบ้านก่อนวันเกิดคือ วันที่ 26 ก.ค. 66 เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งห้วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลารัฐบาลรักษาการของพล.อ.ประยุทธ์

ข้อความที่ทำให้ใครต่อใครพลอยสะดุ้งก็คือท่อนที่ตบท้ายว่า ทั้งหมดคือ การตัดสินใจของผมเอง ด้วยความรักผูกพันกับครอบครัว แผ่นดินเกิด และเจ้านายของเรา 

อ่านแล้วก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. บอกว่า “ขออนุญาตกลับบ้าน” จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำ นปช. ชี้ว่า เป็นการพูดที่หมิ่นเหม่ ไม่บังควร วันที่ 9 พ.ค.คนแดนไกล ก็เย้ยฟ้าท้าดินหนักกว่าเดิม เอ่ยคำว่า "เจ้านายของเรา"

ถามว่า ทวิตเตอร์รัว ๆ รอบนี้ ทักษิณต้องการอะไรกันแน่ มีอะไรลับลวงพรางหรือไม่ 'เล็ก เลียบด่วน' ขอฟันธงว่ามีสองเหตุผลสำคัญเท่านั้น

ประการแรก จุดประสงค์หลักอยู่ที่การเมืองการเลือกตั้ง ต้องการตรึงคะแนนพรรคเพื่อไทยไม่ให้ไหลทะลักไปที่พรรคก้าวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.เขต ส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่ลือกันว่าก้าวไกลจะแซงเพื่อไทยไปอยู่ที่ 12 ล้านเสียงนั้น ไม่ซีเรียสเท่ากับการตรึง ส.ส.เขตเอาไว้ ซึ่งการประกาศกลับบ้านของทักษิณรอบนี้ ทำให้คะแนนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานกระชับ และกระเตื้องขึ้นระดับหนึ่ง

ประการที่สอง ทักษิณมีความต้องการที่จะกลับจริง ๆ เขาแทงหวยว่ารัฐบาลชุดใหม่เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้ เบื้องต้นกฎกระทรวง 2 ฉบับของกระทรวงยุติธรรมที่ที่แก้ไขไว้เมื่อปี 2563 สามารถใช้เซฟเฮาส์ หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ เป็นที่คุมขังได้ ส่วนมาตรการอย่างอื่นทักษิณก็คงเตรียมการไว้แล้ว แต่ทั้งนี้หากหวยหลังเลือกตั้งยังเป็นรัฐบาลขั้วเดิม ทักษิณก็อาจจะเปลี่ยนใจยืดเวลากลับไปอีก...

คำประกาศของทักษิณที่จะกลับบ้าน 20 กว่าครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ อาจจะเป็นนิยายเดิม ๆ อีกครั้ง จะมีอะไรให้ฉุกคิดอยู่บ้างก็ตรงที่การเอ่ยอ้างใช้คำว่า ‘เจ้านาย’ ทำให้นักข่าวไปถาม ‘ลุงตู่’ ว่าการส่งสัญญาณของทักษิณเที่ยวนี้เป็นไปในลักษณะดีลพิเศษใช่หรือไม่ ซึ่งลุงตู่ถามกลับว่า เขาส่งสัญญาณมาทางไหนเหรอ ตนไม่ได้รับ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม

ครับ! สรุปว่าการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ ที่สุดก็มาเกี่ยวข้องกับเรื่อง ‘ทักษิณกลับบ้าน’ อีกครั้ง จนบางฝ่ายบอกว่าเป็นอะไรที่น่าเบื่อ ถ้าแน่จริง ‘ทักษิณ’ ควรกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะไม่มีใครห้ามกลับ...

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่น้อยว่าอาจจะยังเป็นรัฐบาลลุงตู่กับคณะเดิม ก็อาจจะถึงเวลาที่จะต้องถอดชนวนความขัดแย้งด้วยการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่ยังเป็นภูเขาใต้น้ำแข็ง นำประเทศออกจากความขัดแย้ง สลายสีเสื้อ สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับพลังแผ่นดิน อย่างจริงจัง

ใช่หรือไม่ว่า...วันนี้คำว่า ‘ระบอบทักษิณ’ หรือผีทักษิณ ไม่ได้น่ากลัวเหมือนก่อน ที่น่ากลัวกว่าก็คือระบอบส้มพันธุ์ใหม่ ซึ่งหากสุดท้ายไปผสมพันธุ์กับระบอบทักษิณด้วยแล้ว บ้านนี้เมืองนี้ดูไม่จืดแน่นอน

เรื่อง: เล็ก เลียบด่วน

‘เศรษฐา’ ลั่น ประเทศไทยไม่มีเวลาลองของใหม่ กร้าว!! พท.ต้องชนะขาด เพื่อขับเคลื่อนประเทศ

(10 พ.ค.66) ที่โรงแรม Wintree City Resort อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคพท. และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรค, นายปานปรีย์ พหทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจ พร้อมด้วยผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ อาทิ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1, น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผู้สมัครส.ส.เขต 5 พบปะผู้ประกอบการใน จ.เชียงใหม่ มีภาคธุรกิจเข้าร่วม อาทิ สภาหอการค้าเชียงใหม่

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้ พท.มาเต็มทีม เพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่า พท.มีความพร้อมในทุกด้าน โดย 8 ปีที่ผ่านมาประเทศมีปัญหาต่างๆ มากมาย ประเทศจึงต้องการเปลี่ยนแปลง และในอดีตตั้งแต่สมัยไทยรักไทย, พลังประชาชน, ประชาชนเชื่อว่าเราคิดใหญ่ทำเป็น ผลงานที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เพื่อไทยพร้อมรับใช้ประชาชนทุกกลุ่ม การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ ที่เราบอบช้ำมาเยอะ การเติบโตสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ จำเป็นต้องใช้มืออาชีพมาเปลี่ยน เราไม่มีเวลามาลองของใหม่อีกแล้ว ต้องการทีมงานที่มีคุณภาพ ต้องเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนประเทศต้องใช้กระทรวงต่างๆ ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ถ้าเพื่อไทยชนะไม่ขาด การเข้าไปบริหารจัดการจะลำบาก และเรามั่นใจว่าเพื่อไทยพร้อมที่สุด 

จากนั้น นายเศรษฐาและคณะเดินทางต่อไปยังสหกรณ์นครลานนาเดินรถ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อพูดคุยกับผู้ประกอบการรถแดงถึงปัญหาการคมนาคมขนส่งใน จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า มั่นใจในพื้นที่นี้แค่ไหน นายเศรษฐา ตอบว่า “บ้านของเราตรงนี้ เราจะยกทั้งจังหวัด”

เมื่อถามต่อว่าพื้นที่เมืองพรรคก้าวไกลพยายามจะตี นายเศรษฐา กล่าวว่า “ไม่ใช่แค่เฉพาะพรรคก้าวไกล มีหลายพรรค วันนี้เราจึงมาให้ความสำคัญด้วยการยกทีมใหญ่มา” 

เมื่อถามว่ากังวลถึงกระแสของพรรคก้าวไกลที่มาแรงช่วงนี้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “ไม่ครับ ยังมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงส่วนมากอยู่” 

เมื่อถามถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทวีตขอความจะกลับประเทศไทยในเดือน ก.ค. โดยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะมีผลต่อคะแนนเสียงของพรรคหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า “ท่านเป็นคุณพ่อ คุณตา และเป็นคุณปู่ ตรงนี้ก็น่าเห็นใจ เพราะท่านพูดมาว่า 17 ปีไม่ได้กลับบ้าน และอายุท่านก็มาก ท่านเองก็อยากที่จะกลับมา แต่ท่านก็พูดชัดเจนคือการกลับเข้ามาตามกระบวนการยุติธรรม และไม่เกี่ยวกับพรรคพท. เหนือสิ่งอื่นใดการที่ท่านประกาศจะกลับช่วงเดือน ก.ค.ก็เป็นช่วงที่รัฐบาลปัจจุบันยังรักษาการอยู่ ฉะนั้นก็ไม่เกี่ยวกับพรรคพท. ส่วนจะส่งผลเป็นแรงบวกหรือแรงลบประชาชนต้องตัดสินเอง ผมพูดในฐานะแคนดิเดตนายกฯ และคนเป็นพ่อว่าเห็นใจท่าน” 

เมื่อถามว่าจากเนื้อหาการทวีตประเมินหรือไม่จะเป็นผลบวกหรือผลลบต่อการเลือกตั้ง นายเศรษฐา กล่าวว่า “ยังไม่ได้มีการประเมิน” และเมื่อถามย้ำว่ามีคนออกมาตั้งขอสังเกตว่าเป็นการเรียกคะแนนให้พรรคพท.หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “ไม่มีคอมเมนต์ตรงนี้”

โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง ปราศรัยใหญ่ 12 พ.ค.นี้

โค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้ หลายพรรคปักธงสนาม ‘กรุงเทพฯ’ เป็นเวทีปราศรัยใหญ่ เวทีสุดท้าย THE STATES TIMES รวบรวมมาให้แล้วว่าพรรคไหน จัดที่ไหนกันบ้าง พร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย
 

‘ชลน่าน’ ยินดี ปชช. ไว้วางใจ ‘ก้าวไกล’ อันดับ 1 รับ!! ยังไม่เห็นเงื่อนไขจัดตั้งรัฐบาล ปัดตอบเป็นฝ่ายค้าน

(15 พ.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค เดินทางเข้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อเตรียมประชุมกับแกนนำพรรคและกรรมการบริหารพรรค หลังจากผลคะแนนการเลือกตั้งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพรรคพท.ได้คะแนนมาเป็นอับดับสอง โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้กรรมการบริหารพรรคจะมาคุยกันเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานหลังจากนี้ ว่าจะดำเนินต่ออย่างไร ส่วนเรื่องการจับมือจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีชัดว่ายอมรับเสียงของประชาชน ที่ไว้วางใจพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้มาเป็นอันดับหนึ่ง ก็ยินดีกับพรรคก้าวไกล และยินดีที่จะให้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนจะร่วมมือกันอย่างไรนั้น ในฐานะพรรคอันดับรอง ก็ต้องฟังเสียงของพรรคอันดับหนึ่งว่าจะมีท่าที ทิศทางอย่างไร 

เมื่อถามถึงการลงนามเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลจะมีข้อไหนที่อาจร่วมกันไม่ได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่รู้ คือเป็นแนวทางที่พรรคก้าวไกลประกาศไว้ ซึ่งการลงนามชัดเจนถือเป็นเรื่องดี เพราะจะเป็นการเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยว่าหากร่วมกับทำงานแล้ว จะทำอะไรได้บ้าง ต้องคุยกัน ถ้าร่วมกันไม่ได้ ข้อไหน จะผ่อนคลายหรือยอมกันได้แค่ไหน คงต้องดูตรงนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบเนื้อหาว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง อาจยังตอบไม่ได้ถึงการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งเบื้องต้นที่ทราบจะเน้นไปทางการทำงานตามนโยบาย 

เมื่อถามอีกว่าหากลงนามเอ็มโอยูไม่ได้ พรรคเพื่อไทยพร้อมเป็นฝ่ายค้านอีกหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องดูในรายละเอียด ตอนนี้ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เมื่อประชาชนมอบคะแนนให้กับฝ่ายประชาธิปไตยท่วมท้นแบบนี้ เจตจำนงคงต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามาทำงานเป็นรัฐบาล สิ่งนี้สำคัญกว่า จะมาคิดว่าตัวเองจะต้องเป็นอะไร ไม่ใช่ว่าพอไปด้วยกันไม่ได้ แล้วต้องมาเป็นฝ่ายค้าน

‘เศรษฐา’ ลั่น!! พร้อมจับมือ ‘ก้าวไกล’ ตั้ง รบ. ดักคอ ส.ว. เคารพฉันทามติประชาชน

(15 พ.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ามาที่พรรคเพื่อไทย ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1

นายเศรษฐา ระบุว่า ถือเป็นความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง และส่วนตัวพร้อมที่จะเห็นพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยยินดีที่จะจับมือกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างก้าวไกล

“ถ้าจะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไทยต้องจับกับก้าวไกลเท่านั้น หากจับกับพรรคการเมืองอื่น ถือว่าไม่เคารพเสียงของประชาชนที่ต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นผู้บริหารประเทศ และส.ว.เอง ก็ต้องเคารพฉันทามติของประชาชน ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องและเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน และแสดงความยินดีกับคุณพิธาด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามย้ำว่าไม่น่าจะมีการพลิกขั้วใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตามกติกาชัดเจนอยู่แล้วและโดยส่วนตัว ฝ่ายประชาธิปไตยของเราทำงานร่วมกันมานาน และเราก็เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนกัน

ส่วนจะมีอะไรพลิกหรือสถานการณ์อะไรหรือไม่ที่จะทำให้สถานการณ์พลิกจนไม่สามารถจับมือทำงานร่วมกันได้ นายเศรษฐายืนยันว่า มันไม่น่าเกิดขึ้นประชาชนรู้แล้ว ชัดเจนแล้วว่าสองพรรคนี้เป็นฝ่ายประชาธิปไตยและก้าวไกลเป็นฝ่ายได้คะแนนอันดับหนึ่งเราต้องเคารพเสียงประชาชน ตนชัดเจนตรงนี้

“สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับมติของกรรมการบริหารพรรค ส่วนผมแม้จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็พร้อมทำงานทางการเมือง โดยไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งใดๆ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการโทรศัพท์พูดคุยหรือมีดีลลับใด ๆ กับนายพิธา และส่วนตัวไม่มีเบอร์โทรศัพท์ของนายพิธาด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

สูตรจัดตั้งรัฐบาล 5 พรรค ‘309 เสียง’ คงไม่พอ อาจต้องบากหน้าง้อ ‘ภูมิใจไทย’ รวมให้เกิน 376 เสียง

เมื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งได้เสียงมากสุด 152 เสียง ประกาศชัดว่าจะจับมือกับฝ่ายค้านเดิมจัดตั้งรัฐบาล 309 เสียง ได้แก่ ก้าวไกล 152 เสียง เพื่อไทย 141 เสียง ประชาชาติ 9 เสียง ไทยสร้างไทย 6 เสียง เสรีรวมไทย 1 เสียง 

โดย 5 พรรคการเมืองเมื่อรวมเสียงกันแล้วได้แค่ 309 เสียง ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 750 เสียง คือ 376 เสียง พรรคก้าวไกลยังจะต้องหาเสียงสนับสนุนอีก 67 เสียง ตรงนี้คือประเด็นว่าพรรคก้าวไกลจะเดินเกมอย่างไร ซึ่งก็มีทางเลือกอยู่

-เจรจากับพรรคภูมิใจไทย 70 เสียง ถ้าพรรคภูมิใจไทยตกลงเข้าร่วม ก็จะทำให้เป็นรัฐบาล 6 พรรค 379 เสียง ถ้าเอาแค่นี้ถือว่าเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เพราะเกินกึ่งไปแค่ 3 เสียง จะให้ใครเจ็บใครป่วย ใครเป็นไข้ไม่ได้เลย

-ที่พิธาประกาศว่าปิดทางรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้น ไม่น่าจะจริง เพราะพรรคก้าวไกลเองก็ยังก้าวไม่ผ่าน 376 เสียง เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. มีอยู่แค่ 309 เสียงเอง เพื่อให้รัฐบาลเดินไปได้ พรรคก้าวไกลอาจจะต้องบากหน้าไปคุยกับ ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง หรือรวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง แต่อาจจะยากเพราะทั้งก้าวไกล และเพื่อไทยต่างประกาศไปแล้วว่า “มีเราไม่มีลุง” แต่มีความเป็นไปได้กับการเจรจากับพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง

ถ้าชาติไทยพัฒนาเข้าร่วม อย่างนั้นก็ต้องเอาพรรคภูมิใจไทยมาด้วยอยู่ดี ประเด็นว่า พรรคภูมิใจไทย จะร่วมกับก้าวไกล และเพื่อไทยได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ง่ายเพราะมีอะไรหลายอย่างที่เคมีไม่ตรงกัน แต่การเมืองก็คือการเมือง เมื่อผลประโยชน์ลงตัวก็สามารถร่วมกันได้หมด

แต่กล่าวสำหรับประชาธิปัตย์ ไม่น่าจะร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยได้ เพราะมีอะไรมากมายที่เห็นไม่ตรงกัน จะเจรจาร่วมกัน เพื่อลงนามในเอ็มโอยู ก็น่าจะยังยาก พรรคประชาธิปัตย์ จึงควรจะครองตนเป็นฝ่ายค้าน

ยิ่งประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านยิ่งจะเป็นผลดี ผลดีทั้งต่อชาติบ้านเมือง และต่อพรรคเอง ต่อชาติบ้านเมืองเพราะประชาธิปัตย์เคยทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดีเยี่ยมมาแล้วหลายยุคหลายสมัย ตรวจสอบรัฐบาล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ทำได้ดี เป็นผลดีต่อพรรค เพราะถ้าเป็นฝ่ายค้านแล้วทำหน้าที่ได้ดี ประชาชนก็จะเห็นผลงานเห็นฝีมือ อาจจะเป็นช่องทางให้ฟื้นฟูพรรคกลับคืนมาได้ ดีกว่าร่วมหัวจมท้ายกับพรรคที่มีเจตนารมณ์-อุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ยิ่งจะนำมาซึ่งความเสื่อม

ประชาธิปัตย์ควรจะนำบทเรียนของการเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นข้อสรุปว่า เป็นต้นเหตุให้พรรคได้แค่ 25 เสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่

พรรคประชาธิปัตย์ควรจะมานั่งคิดหาเวลาฟื้นฟูพรรค ดีกว่ามานั่งคิดจะเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อนำนโยบายที่เป่าประกาศไว้ไปสู่การปฏิบัติ เหมือนคราวที่แล้ว สุดท้ายล้มไม่เป็นท่า วันนี้ประชาชนได้ตัดสินใจแล้วว่าจะต้องเปลี่ยน ด้วยการเลือกก้าวไกล เพื่อไทยมาจำนวนมาก จึงควรให้เจตนารมณ์ของประชาชนเป็นจริง

สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงก็ควรตอบรับให้ความร่วมมือกับเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างไม่มีอิดออด เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก และล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะยิ่งล่าช้าก็จะยิ่งมีผลกระทบ กระทบทั้งการค้า การลงทุน และความเชื่อมั่น รวมถึงการต่างประเทศ

แม้สมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการแต่งตั้งของอดีตหัวหน้า คสช. ก็ตาม แต่ควรใช้ดุลยพินิจพิจารณาเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ที่มา: นายหัวไทร

'โบว์' อบรมนิ่มๆ ส.ส.ที่อยากได้พิธาเป็นนายกฯ มี 150 คนจาก 500 ซึ่งไม่ถึงครึ่ง ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

(16 พ.ค.66) โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ว่า...

ส.ส.ที่อยากได้พิธาเป็นนายก มี 150 คนจาก 500 .. ซึ่งไม่ถึงครึ่ง

อีก 150 กว่าเสียงที่ไปเติม คือตัวแทนจากพรรคที่อยาก “ร่วมรัฐบาล” ไม่ใช่ตัวแทนของคนที่อยากให้พิธาเป็นนายก เพราะส.ส.เหล่านั้นหาเสียงให้แคนดิเดตคนอื่นหมด ตอนเลือกตั้ง

จะไปเหมาว่านี่คือการแสดงว่าคนไทยส่วนใหญ่อยากให้พิธาเป็นนายก จนต้องบีบให้พรรคที่เขาไม่อยากได้ “พิธา” มาหลับหูหลับตาโหวตให้ .. ไม่ได้

ไม่มีใครต้องไปโหวตสนับสนุน “การร่วมรัฐบาล” หรือความอยากเป็นนายกของใคร ถ้าเขาไม่ได้ต้องการ เหตุผลพื้นฐานที่สุดของการโหวตคือการแสดงความต้องการ เพื่อเอามานับกันแล้วกำหนดทิศทางประเทศ

การบีบให้คนต้องเลือกในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ไม่ใช่ประชาธิปไตยค่ะ อย่าใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ให้มันมั่วไปกว่านี้

เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขกติกาเพี้ยนๆ ก็ต้องหาทางเอาชนะตามกติกาให้ได้ ไม่ใช่ไปสร้างความเพี้ยนใหม่ขึ้นมา

(ตอนเรารณรงค์แก้ ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ มีคนมาร่วมลงชื่อแปดหมื่นคน ที่เหลือบอกจะทำไปทำไมไร้สาระ เดี๋ยวชนะเลือกตั้งถล่มทลายก็ปิดสวิตช์ ส.ว. ได้เอง ถึงตอนนี้ทำไม่ได้ตามนั้น จะเลือกใช้วิธีไปบีบบังคับคนอื่น)

ถ้าพิธาได้โหวตไม่พอ พรรคต่อไปมีสิทธิลองเสนอแคนดิเดตของตัวเองแล้วจัดสูตรใหม่บ้าง และควรทำด้วย ถ้าไม่ทำก็ประหลาดแล้ว ตกลงคุณหาเสียงมาแทบตาย เพื่อให้พรรคอื่นซึ่งได้เสียงไม่ถึงครึ่งเป็นนายกหรือ?

ลองดูว่าคุณ “เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” ได้มากกว่าหรือไม่ นั่นคือคุณสมบัติที่นายกฯ ของวันพรุ่งนี้ต้องมี

ถ้าพรรคเพื่อไทยยังไม่ Get a grip ทุกอย่างจะหลุดไปอยู่ในมือของคนที่คุณไม่ต้องการแน่นอน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top