Wednesday, 26 June 2024
เพื่อไทย

'เพื่อไทย' รอ 'ก้าวไกล' นัดคุย 8 พรรค ลั่น!! ไม่ขอรบบนสมรภูมิที่แพ้แล้ว

(20 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วม ว่า มติรัฐสภาวานนี้ (19 ก.ค.) ที่ตีความว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติที่ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกันได้ ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซ้ำเป็นรอบสอง ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะจะผูกมัดต่อไปในอนาคต แต่จะเป็นเพียงการผูกมัดแค่มาตรา 272 เมื่อเปลี่ยนไปใช้การมาตรา 159 แต่งตั้งนายกฯ ข้อผูกพันนี้จะลดไป อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเบื้องต้นเลขาธิการของพรรคเพื่อไทย และเลขาฯ พรรคก้าวไกล พูดคุยกันแล้ว เราก็รอจะมีการนัดหมายเมื่อใด

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ไม่เห็นด้วยกับผลการลงมติของรัฐสภา และยังแนะนำว่าใครเห็นว่าถูกละเมิดสิทธิ์สามารถไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้

เมื่อถามว่า วันนี้ใช้คำว่าเพื่อไทยต้องรอพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียวได้ใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า ต้องรอ ในฐานะที่เป็น 8 พรรคร่วม การตัดสินใจและท่าทีอยู่ที่พรรคก้าวไกลก่อน เมื่อถามย้ำว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยไม่ปล่อยมือพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ขณะนี้ยัง ยังอยู่”

เมื่อถามถึงการเสนอชื่อนายกฯ ครั้งต่อไป จะต้องเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อยู่ที่การหารือที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยจะรอนัดหมาย อาจเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็แล้วแต่เขาจะนัดหมายกัน

เมื่อถามว่า แกนนำพรรคก้าวไกลหลายคนไม่พอใจการทำงานของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่มีใครพอใจ ส่วนตัวก็ไม่พอใจเหมือนกัน จะเสนอญัตติโดยใช้เสียงข้างมากธรรมดาโดยไม่มีช่องทางที่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่เมื่อออกมาเช่นนั้นก็ต้องยอมรับ เพราะเราปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบรัฐสภา ระบบเสียงข้างมาก ก็ต้องยึดถือ เพียงแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่อาจมีความแคลงใจ คาใจและไม่พอใจ คือเสียงข้างมากไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และจะทำให้ระบบรัฐสภามีปัญหาแน่นอน

“แต่บทเรียนครั้งนี้สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขได้ เมื่อหมดวาระของ ส.ว.ในวันที่ 11 พ.ค.67 เรามีความชอบที่จะแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนำเรื่องการให้ความเห็นชอบนายกฯมากำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ อะไรที่เป็นข้อจำกัดในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไปบัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ แทน” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามถึงความเป็นห่วงว่าการเสนอชื่อนายกฯ เป็นญัตติไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกันนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เมื่อข้อบังคับถูกวินิจฉัยเช่นนี้ทุกคนเป็นห่วง ถ้าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตกภาระลำบาก 

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยห่วงว่าถ้ายังจับกับพรรคก้าวไกลแล้วเสนอชื่อรอบ 3 หรือรอบต่อ ๆ ไปจะไม่ผ่านเหมือนกันใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เสนอชื่อซ้ำก็ห่วงทุกมิติ ถ้าเขาเห็นว่าเราไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทุกคน ก็ยากมากที่จะฝ่าด่านไปได้ ดังนั้น หลักการคือ พรรคแกนนำไม่ว่าพรรคใดต้องแสวงหาความมั่นใจว่าเสนอไปแล้วจะผ่าน ไม่มีใครรบบนสมรภูมิที่แพ้ แล้วจะรบอีก เพราะเราก็จะเสียคนของเราไปด้วย โดยเฉพาะถ้าเรามีเพียงคนเดียวเราเสนอไม่ได้อีก มันก็จบ นี่คือปัญหา

เมื่อถามถึงกระแสข่าวพรรคก้าวไกลจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สมควรยื่น อะไรที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญควรดำเนินการ เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายกฯ แต่ยังจับขั้วกับพรรคก้าวไกล ชื่อที่พรรคเพื่อไทยเสนอก็จะไม่ผ่าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข่าวก็คือข่าว ต้องรอพิสูจน์ว่าข่าวนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กรณีถ้าถึงคิวที่พรรคเพื่อไทยเป็นคนเสนอ คงไม่รอให้ชื่อของเราไม่ผ่าน ถ้ารอมติตรงนั้นเราก็แพ้อย่างเดียว

“ผมสงสารพรรคก้าวไกลที่ใช้ประเด็นเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไข ขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องมาตรา 112 แล้ว พรรคเพื่อไทยไม่มีความคิดก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของพรรคก้าวไกล เราเป็นพรรคร่วมก็จริง การที่บอกว่าคุณไปลดหน่อย โน่นนี่นั่น เราไม่มีสิทธิ์ อยู่ที่การตัดสินใจของพรรคเขา” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว

กูรูหลักทรัพย์มอง ‘เพื่อไทย’ จัดตั้งรัฐบาล เพิ่มแรงส่ง ‘ตลาดหุ้น-คลายกังวลขึ้นภาษี’

(20 ก.ค. 66) หลังจากเมื่อวานนี้ มติศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีหุ้นสื่อไอทีวี และสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อน ขณะที่ที่ประชุมรัฐสภาลงความเห็นห้ามนำญัตติที่ตกไปแล้วเสนอซ้ำ จึงเสนอชื่อพิธาโหวตนายกฯ รอบ 2 ไม่ได้ โดยเตรียมโหวตนายกฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.ค. 66 นั้น

ด้าน นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและนักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นมีความชัดเจนด้านการเมืองพอสมควร ปัจจุบันเหลือเพียง 2 scenario คือ…

1. พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี ‘ก้าวไกล’ ร่วมรัฐบาล และ
2. มีพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาทางใด มองเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น จากการที่ตลาดมีความเชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ทั้งยังลดแรงกดดันจากความกังวลนโยบายพรรคก้าวไกล ในเรื่องการเก็บภาษีหุ้น Capital Gain Tax  ภาษีความมั่งคั่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีนิติบุคคล ฯลฯ การปรับลดราคาพลังงาน ทำให้เราประเมินว่าว่าภาพโดยรวมของตลาดหุ้น จะมีแรงส่งจากทิศทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น และน่าจะเป็นปัจจัยดึงดูดโฟลว์จากต่างประเทศเข้าไทยได้ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง

นายกิจพณ กล่าวอีกว่า หากมองเปอร์เซนต์โอกาสที่ ‘พรรคก้าวไกล’ จะมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแค่ 30% แต่หากได้ทั้ง 2 พรรคมาร่วมรัฐบาล จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นมากกว่าในแง่ความเป็นเอกภาพ แต่หากเป็นการดึงจากหลายพรรค มาแทนที่ ‘ก้าวไกล’ เพื่อให้ได้เสียงเพียงพอ อาจมีความเสี่ยงเรื่องอำนาจต่อรอง เก้าอี้ รมต. และผลประโยชน์การบริหารกระทรวงต่างๆ

ทั้งนี้หากมองถึงปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกว่า ปัจจุบันมีความนิ่งพอสมควร ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่เคยกดดันในครึ่งปีแรก ปรับลดลงจนส่งผลต่อกำไรหุ้นพลังงานที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของกำไรตลาด แต่ครึ่งปีหลัง เข้าสู่ฤดูหนาว เศรษฐกิจสหรัฐก็ไม่ได้ถดถอยอย่างรุนแรง และประเทศจีนเปิดประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้ภาพของราคาน้ำมันดิบมีโอกาสการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นผลดีต่อกำไรตลาดในครึ่งปี มีโอกาสจะปรับขึ้นด้วย

สำหรับ บล.ยูโอบีฯ ให้กรอบเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 66 ที่ 1450- 1630 จุด พีอี 16 เท่า พร้อมมองการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง จากปัจจัยการเมืองในประเทศ และผลประกอบบริษัทจดทะเบียนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อีกทั้งกลุ่มพลังงานที่จะมีแรงส่งจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มขยับขึ้น จะทำให้ดัชนี SET ค่อยๆ ฟื้นจากระดับ 1500 จุด ในปัจจุบันได้

>> ทรีนีตี้ จับตา ‘ภูมิใจไทย’ มาแรงร่วมรัฐบาล
ด้าน บล.ทรีนีตี้ จำกัด โดยนายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้เผยบทวิเคราะห์ล่าสุด ว่า มองกรณีที่ประชุมรัฐสภา (19 ก.ค.) ลงมติเห็นด้วยกับข้อบังคับการประชุม 41 ที่ห้ามมีการเสนอญัตติซ้ำเป็นครั้งที่สอง เป็นตัวจุดประกายให้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งจะเป็นพรรคลำดับถัดไปในการเสนอชื่อนายกฯรัฐมนตรีนั้น เดินเกมส์ที่ปลอดภัยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการโหวตนายกฯ ที่มาจากแคนดิเดตพรรคนั้น จะประสบความสำเร็จตั้งแต่รอบแรก ด้วยวิธีการ 2 แบบ ดังต่อไปนี้…

1) การไปดึงพรรคอื่นมาเพิ่มเติมเสียงให้กับกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลที่มีอยู่ 8 พรรคเดิม อาทิ การจับมือกับพรรคภูมิใจไทยเข้ามา ซึ่งก็จะทำให้มีคะแนนเสียงส.ส.ในมือรวมกันใหม่เป็น 384 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
2) การตัดสินใจข้ามขั้วไปจับมือกับแกนนำฝั่งพรรคอนุรักษ์นิยมทันที เช่นพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากสว.ให้ลงมติหนุนนายกที่มาจากแคนดิเดตเพื่อไทย รวมกันเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

Winner : ไม่ว่าในกรณีไหน มองโอกาสในการก้าวขึ้นมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 3 ตอนนี้มีสูงมาก ประเด็นนี้อาจทำให้เห็นแรงเก็งกำไรต่อเนื่องไปยังกลุ่มหุ้นที่ STEC, STPI, เชื่อมโยงกับพรรคดังกล่าวอย่างเช่น PTG เป็นต้น

สำหรับใน 3 ตัวนี้มี PTG ที่อยู่ภายใต้ Coverage ของเรา โดยในเชิงพื้นฐานแม้แนะนำ ‘ถือ’ แต่มีประเด็นเชิงบวกล่าสุดได้แก่ การที่กบน.มีมติใช้กองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาดีเซลให้อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร หลังมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค.

>> เอเซียพลัส : มองการเมืองบวกกับตลาดหุ้น คาดได้รัฐบาลใหม่ช่วงส.ค.66
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พรรคที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 2 อย่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในการประชุมรัฐสภา 27 ก.ค.66 ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าพรรคเพื่อไทย จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยในครั้งนี้ (27 ก.ค. 66)

เนื่องจากการประชุมสภารอบที่ผ่านมา มีข้อสรุปว่าไม่สามารถเสนอรายชื่อ บุคคลเดิมเป็นแคนดิเดตนายกฯซ้ำได้ ภายใต้สถานการณ์อื่นไม่เปลี่ยนเป็น ‘ญัตติต้องห้าม’ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ในเบื้องต้น โดยเชื่อว่ามีโอกาสที่จะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศในช่วง ส.ค.66 โดย Scenario ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีดังนี้…

- พรรคเพื่อไทย จับมือพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทั้ง 8 พรรค และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
- พรรคเพื่อไทย จับมือพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ โดยไม่มีพรรคก้าวไกล และยังเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ยังได้ประเมินภาพการเมืองในช่วงนี้ว่า อยู่ในวิสัยที่สามารถคาดการณ์ได้มากขึ้น และน่าจะทำให้ดาวน์ไซด์ของ SET Index จำกัด โดยเชื่อว่าน่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ในช่วงเดือน ส.ค. 66 จะมีก็แค่ ‘ความเสี่ยงนอกสภาฯ’ ที่หากมีความรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดัน SET Index อีกครั้ง ซึ่งหากพิจารณา Google Trends คำว่า ‘ม็อบ-ประท้วง-Protest’ ในปัจจุบันยังอยู่ระดับต่ำกว่าในอดีตมาก

'ขัตติยา' กระทุ้ง 5 ประเด็นกองทุนประกันสังคม หลังพบติดลบหลายหมื่นล้าน ทวงถามวิธีแก้ไข

(20 ก.ค.66) ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณารับทราบรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม ปี 2564 ถามผู้บริหารถึงปัญหารายได้เฉลี่ยกองทุนประกันสังคมติดลบหลายหมื่นล้านจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร และจะบริหารกองทุนอย่างให้โปร่งใสมั่นคงและผู้จ่ายเงินสมทบสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายได้

1. กองทุนประกันสังคมถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันและความมั่นคงให้ผู้ใช้แรงงาน โดยเป็นความไว้วางใจที่ภาคแรงงานมีให้กับภาครัฐ แต่สถานการณ์ปัจจุบัน มีคำถามจากผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินสมทบว่า กองทุนประกันสังคมนี้ยังเป็นหลักประกัน ยังมีความมั่นคงและความไว้วางใจที่มีให้กับกองทุนนี้อยู่หรือไม่

2. ความท้าทายปัญหาของกองทุนประกันสังคม มี 2 ประการคือ 1. ช่วงสถานการณ์โควิด รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาเงินจากกองทุนประกันสังคมไปเยียวยาผู้ตกงานจำนวนมหาศาล จนเกิดคำถามว่าขณะนี้กองทุนเหลือเงินอยู่เท่าใด และ 2. สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในอนาคตอันใกล้ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อดูแลเป็นบำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาล กองทุนนี้จะมีเงินทุนเพียงพอหรือไม่

3. แรงงานผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 5 เปอร์เซ็นต์ สูงสุด 750 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมากไม่พอจะเป็นเงินออมในอนาคต แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภาระหนักของพี่น้องที่ต้องจ่ายเงินในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่กองทุนประกันสังคมต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่า เงินก้อนนี้จะเป็นหลักประกันในอนาคตให้เขาได้จริงๆ สำนักงานประกันสังคมต้องบริหารงานให้โปร่งใสและตรวจสอบได้

4. กองทุนประกันสังคม มียอดรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ารายจ่ายอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะปี 2563 ติดลบ 6.5 พันล้าน ปี 2564 ติดลบ 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีปัญหาติดลบมากขึ้นทุกปี แต่ไม่มีคำตอบชัดเจนจากผู้บริหารกองทุนประกันสังคมว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

5. ประชาชนผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ต่างคาดหวังที่จะมีหลักประกันและความมั่นคงที่จะได้จากสำนักงานประกันสังคม และกองทุนประกันสังคม ดังนั้น จึงต้องขอให้กองทุนพิจารณาปรับเปลี่ยนการบริหารงาน เพื่อสร้างความมั่นคง สร้างหลักประกันให้สมกับความไว้วางใจ ที่ภาคแรงงานภาคเอกชนที่มีให้กับภาครัฐต่อไป 

‘ชลน่าน’ ชี้!! ลดเพดาน 112 ต้องให้ก้าวไกลเคาะเอง ย้ำ!! เป้าหมาย ‘เพื่อไทย’ ต้องจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

(21 ก.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมโหวตนายกฯ รอบที่สามว่า เดิมทีได้นัดหารือกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เวลา 10.00 น. แต่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลได้แจ้งขอเลื่อนออกไปก่อน เพราะพรรคก้าวไกลจะมีการแถลงข่าว ส่วนจะมีเนื้อหาสาระอย่างไรคงต้องติดตาม ส่วนตัวยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าเนื้อหาจะเป็นการส่งมอบให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ส่วนกรอบเวลาฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลนั้น ยังมีเวลาถึงวันที่ 26 ก.ค.ก่อนโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 3 วันที่ 27 ก.ค.ต้องใช้เวลาให้คุ้มที่สุด ยืนยันว่าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรคการเมืองจับมือเหนียวแน่น และยังไม่ถึงคิดกรณีอื่น 

เมื่อถามถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยระบุจะไม่ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 เหมือนเป็นการโยนให้พรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่องนี้หากต้องการร่วมตั้งรัฐบาล นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นความเห็นของนายเศรษฐา แต่หากฟังจากทุกพรรคการเมือง รวมถึง ส.ว.ที่ได้อภิปรายในรัฐสภา ก็มีเสียงสะท้อนมาแบบนั้น ก็อาจเป็นประเด็นที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะโยนภาระไปให้พรรคก้าวไกลเขาพิจารณา ส่วนพรรคก้าวไกลจะพิจารณาอย่างไร ตนไม่ขอก้าวล่วง

เมื่อถามว่าหากพรรคก้าวไกลยอมถอยเพดานแก้ไขมาตรา 112 จะทำให้พรรคการเมืองเข้าร่วมรัฐบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียง ส.ว. หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หากพรรคก้าวไกลยอมถอยจริง หลายพรรคการเมืองที่เคยออกมาพูดชัดว่าถ้าไม่มีเรื่องนี้ ก็พร้อมสนับสนุน ซึ่งจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง ส่วนจะต้องอาศัยเสียง ส.ว.หรือไม่ คงต้องไปดูถึงความจำเป็นภายหลัง เป้าหมายเรา หากได้นำจัดตั้งรัฐบาลคือต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ เสียงในรัฐบาลต้องได้ 375 นี่คือสิ่งที่เพื่อไทยต้องทำ เงื่อนไขอะไรที่เป็นอุปสรรคต้องมาหารือกัน

‘ประเสริฐ’ ย้ำ!! ยังจับมือ ‘ก้าวไกล’ ไม่เปลี่ยนแปลงรับกังวลเงื่อนไข ม.112 ต้องรอฟังก้าวไกลแถลง

(21 ก.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า เป็นการประเมินผลการโหวตนายกฯ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา และพูดถึงการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งต่างฝ่ายได้นําข้อแลกเปลี่ยนไปหารือในพรรค ซึ่งเดิมจะมีการนัดหมายกับพรรคก้าวไกลในวันนี้ เวลา 10.00 น. แต่ทางพรรคก้าวไกลได้ประสานงานมาว่าจะขอมีการแถลงข่าวในช่วงเช้าวันนี้ก่อน จึงมีการเลื่อนออกไป ซี่งยังไม่มีการนัดหมายรอบใหม่  

เมื่อถามว่าจากท่าทีการพูดคุยพรรคก้าวไกลพร้อมส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยหรือยัง นายประเสริฐ กล่าวว่า ขอให้ดูสาระสำคัญการแถลงข่าวก่อน หลังจากรู้ว่ามีประเด็นหรือรายละเอียดอย่างไร คงจะทํางานร่วมกันต่อได้ 

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยังคงจับมือกันต่อเพื่อร่วมกันตั้งรัฐบาลอยู่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่ายังร่วมมือกันอยู่ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยน 

เมื่อถามถึงการที่พรรคเพื่อไทยให้การบ้านกับพรรคก้าวไกล ประเด็นที่ ส.ว.ไม่ให้การสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นข้อกังวลของพรรคเพื่อไทยที่ได้บอกกับพรรคก้าวไกลไป ทั้งที่ได้ฟังจากการอภิปรายในสภาก็ดี หรือการแสดงความคิดเห็นของ ส.ว.ส่วนหนึ่ง และพรรคการเมืองหลายพรรค จึงฝากเรื่องนี้เป็นข้อคิดให้ทางพรรคก้าวไกลได้ไปหารือภายในพรรค 

เมื่อถามว่าหากมีพรรคก้าวไกลและการแก้ไขมาตรา 112 ส.ส. และ ส.ว. ก็จะนํามาเป็นเหตุผลที่จะไม่โหวตให้กับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล นายประเสริฐ กล่าวว่า ขอประเมินดูก่อนว่าเสียงที่บอกมานั้น เป็นเสียงส่วนมากหรือทั้งหมด ถ้าเรามีความชัดเจนแล้ว คิดว่าจะทําให้การตัดสินใจสะดวกขึ้น 

เมื่อถามอีกว่าพรรคก้าวไกลได้รับปากว่าจะนําเรื่องนี้ไปหาทางแก้ไขหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่าพรรคก้าวไกลมีการประชุมในช่วงเย็นเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ฉะนั้นขอให้ฟังการแถลงข่าวของพรรคก้าวไกลก่อน ส่วนหลังจากนั้น พรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไรนั้น ขอให้แกนนำพรรคได้มีการพูดคุยกันก่อน

14 ล้านเสียงกา ‘ก้าวไกล’ ยังไม่พร้อมลงถนน เชื่อ!! ปชช. สนปากท้อง มากกว่าแตกแยก

(21 ก.ค. 66) นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าว รายการคุยถึงแก่น ได้ร่วมพูดคุยกับ นายพิชิต ไชยมงคล อดีตแกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ในเรื่อง ‘ปฏิกิริยามวลชน 14 ล้านที่เลือกก้าวไกล หลัง ‘พิธา’ ไม่ได้เป็นนายกฯ และท่าทีของมวลชน หากเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ’ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ‘คุยถึงแก่น’ 

>> ประเมินแรงกดดันนอกสภาจากกองเชียร์ของพรรคก้าวไกล คิดว่าจะมีทิศทางอย่างไร?

นายพิชิต ระบุว่า ผมต้องประเมินย้อนไปถึงตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่ กรณีคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คล้ายคล้ายกรณีคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะเป็นคดีถือหุ้นสื่อเหมือนกัน ตอนนั้นคุณธนาธรออกมาแสดงความคิดเห็น (ข้อแก้ตัว) ทางคดีผ่านมวลชน ศาลตัดสินได้ไม่ถึงสัปดาห์ คุณธนาธรก็นัดมวลชนที่สวนจตุจักร มวลชนไปเยอะมาก แต่ตอนนั้นคุณธนาธร คุณช่อ และคุณปิยะบุตร ก็ไม่ได้ออกมานำมวลชน และไม่ได้มีเหตุการณ์อะไร

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมประเมินว่าสุดท้ายก็จะเป็นหนังม้วนเดิม พรรคก้าวไกลก็อาจจะถูกคดีคล้ายกับพรรคอนาคตใหม่ คีย์แมนคนสําคัญของพรรคก้าวไกลก็ไม่กล้าออกมานำมวลชนชุมนุม พรรคก้าวไกลนัดมวลชนให้ไปปกป้องคุณพิธาที่รัฐสภา แต่กลายเป็นว่ามวลชนไม่ออกไป มวลชนส่วนหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่เป็นฐานสําคัญของพรรคก้าวไกล คนทํางาน คนรุ่นใหม่ ไม่มีใครออก ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือเป็นมวลชนนี้คือพี่น้องคนเสื้อแดงที่หันมาเชียร์คุณพิธามากกว่า 

หรือแม้กระทั่งเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมต้องใช้คําว่า ‘สอบไม่ผ่าน’ ถ้าดูจากคะแนนเสียงที่ถูกเคลมอ้างตลอดว่า 14 ล้านเสียงพร้อมจะออกมา พรรคก้าวไกลก็พยายามปั่นว่า ถ้าคุณพิธาไม่ได้เป็นนายก มวลชน 14 ล้านเสียงจะปิดบริษัทชุมนุม แต่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ยืนยันว่าเป็นแค่คำขู่ 

มวลชน 14 ล้านเสียงที่เลือกก้าวไกล ไม่ใช่มวลชนที่พร้อมจะลงถนนทั้ง 14 ล้านคน ต้องมองแบบแยกแยะกันพอสมควร จะมาเคลมแบบก้าวไกลว่า 14 ล้านเสียงคือแรงผลักดันทางการเมืองที่พร้อมจะลงถนน ผมว่า ณ วันนี้ต้องประเมินกันใหม่ บางส่วนเขาไม่ได้พร้อมที่จะมาปกป้องคุณพิธา บางส่วนของ 14 ล้านเสียงที่เขาเลือกก้าวไกล เพราะเขาอาจจะเบื่อลุงก็ได้ หรือจะเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่พร้อมจะลงถนน 

>> สาเหตุที่ 14 ล้านเสียงไม่ไปลงถนนชุมนุม มาจากกลุ่มแกนนำชุมนุมยังเป็นกลุ่มเดิมๆ เนื้อหาที่พูดก็ค่อนข้างสุดโต่งเกินไป ทำให้คนไม่ค่อยอยากสุงสิงหรือเปล่า?

นายพิชิต กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งครับ ผมถึงบอกตั้งแต่ต้นว่าถ้าจะให้จริงจังคุณพิธา คุณธนาธรต้องออกมานําเอง ผมว่ามวลชนจะเชื่อใจ คณะแกนนำชุมนุมต้องพูดเรื่องเดียวกับที่เกิดขึ้นในสภา อธิบายเนื้อหาว่าทําไมคุณพิธาไม่ได้ถูกเลือกเป็นนายก มีเนื้อหาอะไรบ้าง? มีการเล่นเกมโกงกันยังไง? รัฐธรรมนูญมีปัญหาอะไร? แต่เนื้อหาที่พูดบนเวทีกลายเป็นเรื่อง ม.112 ผมเชื่อว่ามวลชนเขาก็ไม่กล้าเสี่ยง เพราะกลัวคดี แต่หากอยากให้มวลชนออกมา คุณพิธา คุณธนาธรต้องออกมานำเอง อยู่ที่ว่าพวกเขากล้าหรือเปล่า

>> ประเมินธนาธร ซึ่งเป็นประธานคณะก้าวหน้า กล้าถือไมค์อยู่บนหลังรถกระบะนําคนเป็นพัน เป็นหมื่นพร้อมจะโดนคดี เขาจะกล้าไหม?

นายพิชิต ให้ความเห็นว่า ให้ประเมินตอนนี้ผม ผมฟันธงได้เลยว่า ‘ไม่กล้า’ ถ้าเป็นการชุมนุมแบบเดิมคือ ปักหลักยืดเยื้อขึ้นบนรถหลังเวที นอนพักค้างคืน แบบนี้เขาไม่กล้าแน่ หรือถ้าเอาแบบใหม่ แบบที่เขาถนัดคือมาแล้วกลับ ผมก็ยังฟันธงว่า ‘เขาไม่กล้า’ เพราะการชุมนุมมันมีผลแห่งการรับผิดชอบมวลชนเยอะพอสมควร ฟันธงว่าทั้งคุณธนาธรและคุณพิธาก็ไม่กล้า

>> หากพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล จะเจอแรงคนกดดันจากกองเชียร์พรรคก้าวไกลแค่ไหน? แล้วทางกองเชียร์เพื่อไทยจะหนุนหลังพรรคเพื่อไทยมากน้อยแค่ไหน?

นายพิชิต กล่าวว่า ถ้าเพื่อไทยมีนโยบายเรื่องปากท้องเพื่อพี่น้องประชาชน เชื่อว่ามวลชนจะไม่ออกมา เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนเหนื่อยกับการชุมนุม ประเทศไทยมีการชุมนุมมา ในช่วง 20 ปีก็หลายครั้งชุมนุมใหญ่ก็หลายหน มวลชนจะเหนื่อยกับการชุมนุม คณะราษฎร์ก็มีการชุมนุมใหญ่มาแล้ว มีการเคลื่อนไหว มวลชนออกมาค่อนข้างเยอะ แล้วจะกล้าไหมที่จะออกมาแค่ปกป้อง ‘พิธาหรือพรรคก้าวไกล’ 

ผมว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่น สิ่งที่ต้องคํานึงให้มากที่สุดคือ การแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน เอานโยบายที่สามารถจับต้องได้ แก้ปัญหาของพี่น้องได้ เรื่องปากท้อง เรื่องแรงงาน เรื่องชาวนา เชื่อว่าประชาชนจะอินกับการแก้ปัญหามากกว่าที่จะออกมาเคลื่อนไหวบนถนน 

แน่นอนว่าอาจจะมีการโวยวายในโลกโซเชียล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่จะออกมาเคลื่อนไหว ผมคิดว่า มันจะถูกลดทอนด้วยการทํางาน เอาการทํางานมาเป็นตัวพิสูจน์ ถึงแม้เราจะไม่ค่อยไว้ใจเพื่อไทยเท่าไหร่ แต่ในการจับขั้วรัฐบาลอย่างน้อยมันก็ต้องมีรัฐบาลในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ ถ้าคํานึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก การชุมนุมมันจะไม่มีเหตุผลอะไรเลย เพราะเกมการเดินหน้าการแก้ปัญหาของประเทศยังเดินอยู่ ผมคิดว่าคนที่คิดออกมาชุมนุมก็ต้องเลือกระหว่างจะ ‘ทําให้ประเทศเดินหน้า’ หรือว่าจะเอามาชุมนุม ‘เพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการ’

>> ประชาชนคนทั่วไป ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ผ่านช่วงที่เศรษฐกิจบอบช้ำ สงครามรัสเซีย-ยูเครน คนก็คงไม่อินกับการไปม็อบ ใช่ไหม?

นายพิชิต กล่าวว่า ประเมินจากพรรคก้าวไกล กรณีคุณพิธาที่โดน กกต. โดนศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ามวลชนเยอะจริงอย่างที่พูดในโซเชียล ผมว่ามวลชนจะออกเยอะกว่านี้ แต่ที่นัดชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมาหลายครั้ง คนไม่ออกนะ ดังนั้นผมมองว่าแม้เขาจะชอบก้าวไกล แต่เขายังไม่พร้อมที่จะลงถนนแบบแตกหัก บางส่วนก็คิดว่าประเทศบอบช้ำจากการชุมนุม และคนก็ต้องทำมาหากิน เขาก็ไม่ลงถนน อีกฝั่งก็คิดว่าที่คุณพิธาเป็นแบบนี้ก็เพราะไม่จัดการตัวเองเรื่องถือหุ้นสื่อ มันก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ เรื่องพวกนี้จะทำให้คนไม่อิน

ในอนาคต ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนําจัดตั้งร่วมกับพรรคอื่น แต่ถ้าบริหารจัดการนโยบายดี ๆ ผมคิดว่าคนพร้อมอยากให้รัฐบาลใหม่มาแก้ไขปัญหาของประเทศ มากกว่าที่จะออกมาชุมนุม

>> หากเปรียบการเมืองไทยเป็นสามก๊ก มีเพื่อไทย ก้าวไกล และ ฝั่ง กปปส. รวมกับพันธมิตร คิดว่ามวลชนกลุ่มที่ไม่ได้เชียร์เพื่อไทย หรือก้าวไกล จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยเหตุผลอะไร?

นายพิชิต กล่าวว่า จุดแตกหักของมวลชนคงจะเป็นเรื่อง 112 ที่หลายคนกังวล มีโอกาสที่จะทําให้พันธมิตรเดิม หรือ กปปส. เดิม กลุ่มที่เคยออกมาปกป้องสถาบันได้ขยับอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าการขยับอาจจะไม่ใช่การแสดงพลังชุมนุมใหญ่ แต่มันจะไปกระตุ้น ให้เกิดการตื่นตัวและการเคลื่อนไหวออกมา ผมว่ามีปมเดียวคือเรื่อง 112 ยกเว้นกรณีคุณทักษิณจะกลับมา ซึ่งหลายคนก็เฝ้าจับตามอง จะกลับมาในลักษณะไหน มาแล้วต้องเคารพกฎหมาย ถ้าไม่เคารพกฎหมาย นี่อาจจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะทําให้ กลุ่มที่เคยต่อต้านคุณทักษิณได้กลับมาแสดงพลังอีกรอบ

>> คิดว่าจะเป็นโอกาสทองในการก้าวข้ามความขัดแย้งของคนในสังคมหรือไม่?

นายพิชิต กล่าวว่า ที่จริงเรื่องความปรองดองเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันมาตั้งนานแล้ว แกนนำหลายท่านก็เคยมานั่งคุยกัน แต่การปรองดองก็ต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะบอกว่าปรองดองหมด หากปรองดองภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง สามารถเกิดขึ้นได้ อยู่ที่รัฐบาลจะกล้าหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันให้จริงจังขนาดไหน 

>> เมื่อถามว่า หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะเกิดการพูดคุยเรื่องการปรองดองหรือไม่?

นายพิชิต กล่าวว่า เพื่อไทยก็จะถูกจับตามองเรื่องคุณทักษิณ ขยับตัวยาก จึงต้องเป็นรัฐบาลที่หลายฝ่ายยอมรับ แต่ทุกวันนี้ก็ระแวงกันอยู่พอสมควร ดังนั้นต้องใช้ตัวเนื้อหาเป็นต้นแบบในการพูดคุย และให้สังคมได้ร่วมวิพากย์วิจารณ์กัน

‘ก้าวไกล’ เปิดทางพรรคอันดับสองตั้งรัฐบาล พร้อมเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จาก ‘เพื่อไทย’

(21 ก.ค.66) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวความคืบหน้าในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลว่า การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการประกาศเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจนชนะเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม

แต่ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ทุกอย่างชี้ชัดว่าทุกองคาพยพของฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งการเมืองจารีต ทุนผูกขาด และสถาบันองค์กรต่างๆ ที่เป็นบริวารแวดล้อม ทั้งหมดไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเอาเรื่อง ม.112 มาบังหน้า และอ้างความจงรักภักดีมาปะทะกับการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังตัดสิทธิการเมืองของแกนนำพรรคและยุบพรรคก้าวไกลให้ได้

ด้วยเหตุนี้ ส.ว. จึงฝืนมติมหาชน ไม่โหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร มิหนำซ้ำ ยังกล้าทำลายหลักการ ตีความข้อบังคับของรัฐสภาให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนการล้มล้างการปกครอง หรือฉีกรัฐธรรมนูญผ่านกฎหมู่ เพียงเพื่อต้องการขัดขวางไม่ให้เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ในครั้งที่สอง

พรรคก้าวไกลไม่ยอมรับการตีความข้อบังคับดังกล่าว แต่ภายใต้การทำงานที่สอดประสานกันทั้งองคาพยพของฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นนี้ เราจำเป็นต้องขอโทษต่อประชาชน และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ดี การที่พิธาไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ได้หมายความว่าภารกิจการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อพลิกขั้วอำนาจรัฐบาลจะไม่สำเร็จไปด้วย เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 ยังคงอยู่ นั่นคือการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิมให้สำเร็จ

สิ่งสำคัญในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องพิธาจะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ แต่คือเรื่องประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ หยุดการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคก้าวไกลจะเปิดโอกาสให้ประเทศ โดยให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรคที่ได้เคยทำ MOU กันไว้

ดังนั้น ในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล

เมื่อเสร็จการแถลง สื่อมวลชนได้สอบถามถึงเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยนายชัยธวัชกล่าวว่า หลังจากนี้จะเป็นบทบาทหลักของพรรคเพื่อไทยในการพูดคุยถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาล ขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยว่าจะเสนอแคนดิเดตนายกฯ คนไหนในการประชุมรัฐสภาครั้งหน้า พรรคก้าวไกลไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นใครโดยเฉพาะจงเจาะ ขึ้นอยู่กับมติของพรรคเพื่อไทย เราต้องเคารพ

ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืน ‘มีลุง ไม่มีเรา’ พรรคก้าวไกลยังเหมือนเดิมหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นจุดยืนที่ชัดเจนสำหรับพรรคก้าวไกล สิ่งที่เราได้สัญญาพูดคุยต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราไม่สามารถเสียสัจจะเรื่องนี้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยเสนอแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ จะถือว่าการเสนอแคนดิเดตคนนั้นจบลงเลยหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลไม่ยอมรับการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 เรายืนยันว่า มติของรัฐสภาในครั้งที่แล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อถูกถามต่อว่า คิดเห็นอย่างไรต่อบทบาทการทำหน้าที่ของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมา นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงกันในสมาชิกรัฐสภา เราเห็นว่าประธานสภาสามารถวินิจฉัยได้ แต่เมื่อมีความเห็นแตกต่างกันเยอะ ประธานสภาอาจเห็นว่าควรให้สมาชิกได้อภิปรายถกเถียงกันอย่างเต็มที่และมีมติร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว หวังว่ารัฐสภาชุดนี้จะไม่มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกล ที่อาจมองว่าพรรคถอย ชัยธวัชกล่าวว่า ไม่กังวล ตอนนี้ไม่ใช่แค่ผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกล แต่ตนกำลังพูดว่าผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่ให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล มีส่วนสำคัญ ตนเชื่อว่าคนที่เลือกทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แม้วันนี้พรรคก้าวไกลจะเป็นไปได้ยากในการเป็นนายกฯ แต่ประชาชนทั้งสองส่วนก็ยังอยากเห็นรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ

ในช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรกับคำพูดว่าก้าวไกลต้องเสียสละ นายชัยธวัชกล่าวว่า “ผมคิดว่าคนที่ไม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง คนที่ไม่ยอมรับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยต่างหาก ที่ควรจะมีสำนึกว่าการกระทำแบบนี้จะไม่ส่งผลดีต่อบ้านเมืองในระยะยาว”

‘เพื่อไทย’ แถลง!! ขอบคุณ ‘ก้าวไกล’ ส่งมอบภารกิจจัดตั้งรัฐบาลให้ พท.

(21 ก.ค.66) พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการดังนี้…

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย

1. พรรคเพื่อไทยขอขอบคุณพรรคก้าวไกล ที่ส่งมอบภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้เงื่อนไขของการร่วมรัฐบาลจาก 8 พรรคการเมืองเดิม ตามที่พรรคก้าวไกลได้แถลงต่อสื่อมวลชนไปแล้ว เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะได้หารือกับ 8 พรรคการเมืองเดิมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

2. พรรคเพื่อไทยเห็นว่าภายใต้ข้อตกลงของ 8 พรรคการเมืองเดิม พรรคการเมืองทั้ง 8พรรคสามารถรวมเสียงได้ 312 เสียง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่เห็นชอบเนื่องจากมีเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงส่งผลให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

3. พรรคเพื่อไทยจึงมีความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่า 375 เสียง เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะขอเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภา และจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในที่สุด

4. หากผลการดำเนินเป็นประการใด จะได้แจ้งให้ 8 พรรคการเมืองและสาธารณชนทราบต่อไปโดยเร็ว

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

พรรคเพื่อไทย

21 กรกฎาคม 2566

‘ชลน่าน’ ลุยหารือ ‘ภูมิใจไทย’ ร่วมรัฐบาล ส่วนพลังประชารัฐ ชี้!! ยังไม่ถึงขั้นนั้น

(22 ก.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคพท.เปิดเผยถึงการพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในวันนี้ ว่า ไม่ได้เตรียมพร้อมอะไรมาก การพูดคุยเป็นการทำงานต่อเนื่องหลังจากที่ประชุม 8 พรรค ซึ่งมีทางเลือกให้ไปพูดคุยกับทาง ส.ว.และพรรคการเมืองเพื่อหาเสียงเพิ่มเติม แต่ไม่ใช่การตกลงกัน กติกาคือแค่พูดคุยมีแนวโน้มจะได้เสียงจาก ส.ว. หรือพรรคการเมืองเพิ่มเติมหรือไม่ จากนั้นค่อยเอามาพูดคุยกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพราะที่ประชุมให้แนวทางเมื่อวาน ให้การบ้านไว้แบบนั้น ทั้งนี้ การติดต่อไปทางพรรคภท.เกิดขึ้นหลังจากคุยกับ 8 พรรคร่วมแล้ว โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเป็นผู้ติดต่อไป และเดิมทีพรรคพท.จะไปหาที่พรรคเองตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ดี ในฐานะแกนนำมักจะไปส่งเทียบเชิญ เพื่อให้มาร่วมงาน แต่พรรคภท.ประกาศว่าเมื่อพท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคภท.ก็ยินดีเดินทางมาหาเอง ซึ่งก็ต้องขอบคุณพรรคภท.ด้วย 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนพรรคอื่น ๆ ยังไม่ได้พูดคุย เลือกติดต่อพรรคที่มีความเป็นไปได้ก่อน ไม่ติดต่อทั้งหมดพร้อม ๆ กัน เพราะการที่จะเพิ่มพรรคที่ 9 และ 10 มีเงื่อนไข ในการพูดคุยระหว่าง 8 พรรคร่วม ต้องดูพรรคที่เราไปส่งเทียบเชิญด้วยว่าเขารับเราได้หรือไม่ เพราะฟังจากแถลงการณ์แล้วเขาไม่เอา ซึ่งต้องไปพูดคุยเหตุและผลอีกที เชื่อว่าถ้าเอาประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้งก็คงมีความหวัง 

เมื่อถามว่าได้ติดต่อพรรคพลังประชารัฐด้วยหรือไม่  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น

‘บก.ลายจุด’ ขอโทษ ‘หมอชลน่าน’ ปมม็อบนำภาพมาเหยียบ เผย!! ตอนนั้นตนไม่เห็นกิจกรรมนี้ หากเห็นคงเข้าไปห้ามแล้ว

(24 ก.ค. 66) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง ‘บันทึก 23 ก.ค. 66 #พร้อม ครั้งที่ 1 แยกอโศกมนตรี’ โดยระบุว่า…

- ม็อบกลางสายฝนตั้งแต่เริ่มจนจบม็อบ ให้ข้อคิดถ้าใจมันมาแค่เม็ดฝนหยุดพวกเราไม่ได้ ฝนเป็นทั้งอุปสรรคและ KPI วัดสภาวะความรู้สึกของผู้คน แปลว่าเดือดจัด 
- ตำรวจรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่าเมื่อวานนี้มีผู้ชุมนุมประมาณ 700 คน 
- การยื่นการชุมนุมในที่สาธารณะกับตำรวจเป็นกลไกที่ถูกต้อง ต่างคนต่างเห็นเงื่อนไขกันและกัน ที่เหลือไปว่ากันหน้างานยืดหยุ่นกันไป ดีกว่าไม่คุยกันก่อนถึงเวลาต่างคนต่างระแวง โอกาสเกิดสิ่งไม่คาดฝันสูง
- ป้า ลุง มวลชนเสื้อแดงยังเป็นมวลชนพื้นฐานของม็อบประชาธิปไตย เจอตั้งแต่คนที่ประท้วง คมช. ปี 49 เสื้อแดงปี 53 ที่น่าสนใจมีหลายคนบอกว่านี่เป็นการมาชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกของชีวิต นี่คือก้าวที่สำคัญที่ยืนยันว่าคุณเป็นพลเมืองและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพราะคุณหวงแหนมัน 

- ตัวอักษร ค.ขนาดใหญ่ ดำเนินการโดยกลุ่ม Free Art ทำได้เหลือเชื่อมาก ๆ
- การเดินขบวนรอบที่ชุมนุมโดยใช้เสียงกลองนำ เป็นกิจกรรมที่พัฒนาต่อได้และควรทำต่อ มีโอกาสที่จะสร้างรูปแบบการประท้วงในอีกรูปแบบหนึ่ง ดำเนินการโดยราษดรัม 
- การยืนบนเวทีโดยมีพี่สมยศ พฤกษาเกษตรสุข ยืนอยู่ด้วย เหมือนได้ผู้กำกับเวที คำแนะนำสด ๆ บนเวทีสำคัญมากต่อการประเมินสถานการณ์และการตัดสินใจ ขอบคุณมากครับพี่ยศ
- อ.ธิดา ส่งสาส์นผ่านผู้ช่วยมา สนับสนุนการเคลื่อนไหว และยืนยันว่าเสื้อแดงคือมวลชนที่ต่อสู้กับเผด็จการและสร้างสรรค์ประชาธิปไตยตลอดไป 
- สื่อมวลชนให้ความสนใจจำนวนมาก แต่ผมพยายามกวาดตามอง ทำไมไม่มีช่องดังอย่าง ITV

- เกิดเหตุมีการนำภาพ นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาวางกับพื้นแล้วมีคนไปเหยียบ ผมไม่เห็นกิจกรรมตรงนั้น (หลุดรอดสายตา) คำถามคือ ถ้าผมเห็นผมจะทำยังไง ผมคิดว่าผมจะเดินไปขอร้องคนที่นำกิจกรรมนี้ ในยามนี้ขณะที่ยังฝุ่นตลบให้รักษาน้ำใจกันไว้ ความสามัคคีสำคัญยิ่ง และคงขอให้ช่วยยุติกิจกรรมนี้ และขออภัย นพ.ชลน่าน และมิตรสหายที่สนับสนุน เพื่อไทย มา ณ โอกาสนี้ 
- แนวทางการชุมนุมแบบใช้เวลาน้อย ๆ ถูกต้องแล้ว และถ้าพัฒนาให้มันใกล้เคียงกับ Flash Mob ได้เท่าไหร่ นั่นคือรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง
- ดีใจที่ลูกนัทกลับสู่กิจกรรมทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนาน
- ได้กล่าวคำขออภัยต่อหน้าแฟนหนุ่มของน้องมันแกวว่าที่ผ่านมาอาจแซวน้องมันแกวในเพจแรงไปหน่อย แฟนหนุ่มบอกว่า “เต็มที่เลยพี่”

- #พร้อม ครั้งที่ 2 ถ้ามีจะเป็นการเดินขบวน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในสภาฯ ว่ามีคำตอบที่ประชาชนพอใจหรือไม่ 
- ผมไม่ได้พูดคำว่า สว.หัวควย คนตะโกนเป็นใครนั้นผมไม่ทราบเพราะมันมืด แต่ในใจผมก็เห็นด้วยแต่ไม่ได้พูด
- ขอบคุณมิตรสหายคนเล็กคนน้อยที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งค่าเครื่องเสียง เสื้อกันฝน และค่าการจัดการต่าง ๆ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top