'เพื่อไทย' รอ 'ก้าวไกล' นัดคุย 8 พรรค ลั่น!! ไม่ขอรบบนสมรภูมิที่แพ้แล้ว

(20 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วม ว่า มติรัฐสภาวานนี้ (19 ก.ค.) ที่ตีความว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติที่ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกันได้ ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซ้ำเป็นรอบสอง ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะจะผูกมัดต่อไปในอนาคต แต่จะเป็นเพียงการผูกมัดแค่มาตรา 272 เมื่อเปลี่ยนไปใช้การมาตรา 159 แต่งตั้งนายกฯ ข้อผูกพันนี้จะลดไป อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเบื้องต้นเลขาธิการของพรรคเพื่อไทย และเลขาฯ พรรคก้าวไกล พูดคุยกันแล้ว เราก็รอจะมีการนัดหมายเมื่อใด

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ไม่เห็นด้วยกับผลการลงมติของรัฐสภา และยังแนะนำว่าใครเห็นว่าถูกละเมิดสิทธิ์สามารถไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้

เมื่อถามว่า วันนี้ใช้คำว่าเพื่อไทยต้องรอพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียวได้ใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า ต้องรอ ในฐานะที่เป็น 8 พรรคร่วม การตัดสินใจและท่าทีอยู่ที่พรรคก้าวไกลก่อน เมื่อถามย้ำว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยไม่ปล่อยมือพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ขณะนี้ยัง ยังอยู่”

เมื่อถามถึงการเสนอชื่อนายกฯ ครั้งต่อไป จะต้องเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อยู่ที่การหารือที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยจะรอนัดหมาย อาจเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็แล้วแต่เขาจะนัดหมายกัน

เมื่อถามว่า แกนนำพรรคก้าวไกลหลายคนไม่พอใจการทำงานของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่มีใครพอใจ ส่วนตัวก็ไม่พอใจเหมือนกัน จะเสนอญัตติโดยใช้เสียงข้างมากธรรมดาโดยไม่มีช่องทางที่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่เมื่อออกมาเช่นนั้นก็ต้องยอมรับ เพราะเราปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบรัฐสภา ระบบเสียงข้างมาก ก็ต้องยึดถือ เพียงแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่อาจมีความแคลงใจ คาใจและไม่พอใจ คือเสียงข้างมากไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และจะทำให้ระบบรัฐสภามีปัญหาแน่นอน

“แต่บทเรียนครั้งนี้สามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขได้ เมื่อหมดวาระของ ส.ว.ในวันที่ 11 พ.ค.67 เรามีความชอบที่จะแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนำเรื่องการให้ความเห็นชอบนายกฯมากำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ อะไรที่เป็นข้อจำกัดในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไปบัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ แทน” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามถึงความเป็นห่วงว่าการเสนอชื่อนายกฯ เป็นญัตติไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกันนั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เมื่อข้อบังคับถูกวินิจฉัยเช่นนี้ทุกคนเป็นห่วง ถ้าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตกภาระลำบาก 

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยห่วงว่าถ้ายังจับกับพรรคก้าวไกลแล้วเสนอชื่อรอบ 3 หรือรอบต่อ ๆ ไปจะไม่ผ่านเหมือนกันใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เสนอชื่อซ้ำก็ห่วงทุกมิติ ถ้าเขาเห็นว่าเราไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทุกคน ก็ยากมากที่จะฝ่าด่านไปได้ ดังนั้น หลักการคือ พรรคแกนนำไม่ว่าพรรคใดต้องแสวงหาความมั่นใจว่าเสนอไปแล้วจะผ่าน ไม่มีใครรบบนสมรภูมิที่แพ้ แล้วจะรบอีก เพราะเราก็จะเสียคนของเราไปด้วย โดยเฉพาะถ้าเรามีเพียงคนเดียวเราเสนอไม่ได้อีก มันก็จบ นี่คือปัญหา

เมื่อถามถึงกระแสข่าวพรรคก้าวไกลจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สมควรยื่น อะไรที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญควรดำเนินการ เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายกฯ แต่ยังจับขั้วกับพรรคก้าวไกล ชื่อที่พรรคเพื่อไทยเสนอก็จะไม่ผ่าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข่าวก็คือข่าว ต้องรอพิสูจน์ว่าข่าวนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กรณีถ้าถึงคิวที่พรรคเพื่อไทยเป็นคนเสนอ คงไม่รอให้ชื่อของเราไม่ผ่าน ถ้ารอมติตรงนั้นเราก็แพ้อย่างเดียว

“ผมสงสารพรรคก้าวไกลที่ใช้ประเด็นเหล่านี้มาเป็นเงื่อนไข ขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องมาตรา 112 แล้ว พรรคเพื่อไทยไม่มีความคิดก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของพรรคก้าวไกล เราเป็นพรรคร่วมก็จริง การที่บอกว่าคุณไปลดหน่อย โน่นนี่นั่น เราไม่มีสิทธิ์ อยู่ที่การตัดสินใจของพรรคเขา” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว