Wednesday, 15 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่9

8 เมษายน พ.ศ. 2537 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘สะพานมิตรภาพไทย-ลาว’ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก สร้างผลประโยชน์ในด้าน ‘เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม’ ของทั้งสองประเทศ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย และนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว ทรงเป็นประธานทำพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก เชื่อมต่อหมู่ที่ 1 คุ้มจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เข้ากับบ้านท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว

ทั้งนี้ ตัวสะพานมีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร ทางเท้า 2 ช่องทาง และรถไฟทางเดี่ยวกว้าง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลาง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2537

นอกจากนี้ สะพานแห่งนี้ได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ชาวอีสานและชาวลาวเรียกสะพานนี้ว่า ‘ขัวมิดตะพาบ’

19 เมษายน พ.ศ. 2509 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงแล่นเรือใบ ‘เวคา’ ด้วยลำพังพระองค์เอง ใช้เวลา 17 ชั่วโมง เพื่อเสด็จข้ามอ่าวไทยสู่อ่าวนาวิกโยธิน

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงแล่นใบ ประเภทโอเค (International O.K. Class) ชื่อเรือ ‘เวคา’ ด้วยลำพังพระองค์เอง จากพระราชวังไกลกังวล อําเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกเดินทางข้ามอ่าวไทยมายังอ่าวนาวิกโยธิน รวมระยะทาง 60 ไมล์ทะเล ใช้เวลาในการแล่นใบ 17 ชั่วโมงเต็ม เมื่อเสด็จถึงทรงฉลองพระองค์ชุดสนามทหารนาวิกโยธิน โดยได้ทรงนําธงราชนาวิกโยธิน ที่ทรงนําข้ามอ่าวไทยมาด้วย ปักเหนือก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวนาวิกโยธิน และหลังจากทรงปักธงราชนาวิกโยธินแล้ว พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย บนแผ่นศิลาจารึก

หลังจากนั้นเสด็จประทับเรือพระที่นั่งจันทร ข้ามอ่าวไทยกลับพระราชวังไกลกังวล ต่อมาในปีเดียวกันได้พระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่งเวคา ที่ทรงแล่นใบข้ามอ่าวไทย เพื่อเป็นรางวัลนิรันดร แก่ผู้ชนะเลิศใน การแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทยประจําปีของสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วมแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบประเภทโอเค ในรายการแข่งขันระดับนานาชาติ และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง ยังความปลาบปลื้มใจแก่ชาวไทยโดยทั่วกัน ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของชาติด้านการกีฬาของประเทศไทย ต่อมาคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติ ตราบจนปัจจุบัน

28 เมษายน พ.ศ. 2493 วันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส ’ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง‘ นับเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทย ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 28 เมษายน เป็นวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับเป็นอีกวันหนึ่ง ที่สำคัญยิ่งที่ทั้งสองพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 อันเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

ย้อนหลังไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ระหว่างที่ประทับอยู่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้รับบาดเจ็บที่พระเนตร เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ทรงได้รับการถวายการรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองโลซานน์ โดยมีหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ที่ทรงพบก่อนหน้านั้นถวายการพยาบาลอยู่ด้วย

ต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (ขณะนั้นคือ พันเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร (สนิทวงศ์) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ณ เมืองโลซานน์

และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม อีกทั้งยังทรงให้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยอีกด้วย ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนสมรสเป็นพระองค์แรก และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้ลงนามในสมุดเป็นบุคคลที่สองในฐานะคู่สมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ขณะนั้นเจ้าสาวยังมีอายุเพียง 17 ปีเศษ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครองก่อนตามกฎหมาย ดังนั้นหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบิดาของเจ้าสาวจึงต้องลงพระนาม แสดงความยินยอมและรับรู้ในการจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ด้วย

ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่สมเด็จพระราชินีในโอกาสนี้ด้วย

นอกจากนี้ในงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้เข้าร่วมพิธีจะได้รับพระราชทานของที่ระลึก คือ หีบเงินเล็ก ซึ่งบนฝาหีบประดับด้วยอักษรพระบรมนามาภิไธย และพระนามาภิไธย

ทั้งนี้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ ก็ได้ถ่ายทอดมายังพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงงานร่วมกันต่อเนื่องมามิได้ขาด

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘สระสุวรรณชาด’ ม.เกษตรศาสตร์ โครงการช่วยบำบัด-ฟื้นฟู ‘สุนัข’ ให้พ้นจากอาการเจ็บป่วย

‘สระสุวรรณชาด’ โครงการจากทุนพระราชทานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อรักษาสุนัขป่วย

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทรงพา ‘คุณทองแดง’ สุนัขทรงเลี้ยง มาร่วมในพิธีด้วย

ทั้งนี้ ‘สระสุวรรณชาด’ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเป็น สระว่ายน้ำสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัด ให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูก และโรคระบบประสาท จำนวน 2 สระ ซึ่งพระองค์พระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง จำนวน 2,131,351 บาท พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า ‘สระสุวรรณชาด’ ตามชื่อของคุณทองแดงด้วย

โดยสระว่ายน้ำสุวรรณชาดเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานคำแนะนำในการออกแบบตามหลักวิชาการ และได้ใช้สระว่ายน้ำของสุนัขทรงเลี้ยงมาเป็นต้นแบบ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จราวปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 โดยแบ่งโครงสร้างเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสระว่ายน้ำ ขนาด 15.35 เมตร X 3.80 เมตร มีความลึก 1.50 เมตร สำหรับสุนัขทั่วไปที่ต้องการออกกำลังกาย

และส่วนสระกายภาพบำบัด ขนาด 2.35 เมตร X 3.8 เมตร ลึก 1.50 เมตร ส่วนนี้จะประกอบไปด้วยหัวพ่นฟองอากาศจำนวน 4 หัว เพื่อให้เกิดการนวดตามกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและกระตุ้นระบบประสาทที่มีปัญหา โดยมีรอกที่ใช้ในการพยุงตัวสัตว์ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ส่วนนี้สำหรับสุนัขที่เป็นโรคข้อสะโพกหลวม โรคกระดูก หรือสุนัขที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

ทั้งนี้ การบำบัดและฟื้นฟูสัตว์ที่สระว่ายน้ำแห่งนี้จะมีสัตวแพทย์คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพิจารณาอาการเจ็บป่วยของแต่ละตัวว่าเหมาะสมที่จะรักษาด้วยวิธีธาราบำบัดนี้หรือไม่

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนภูมิพล’ เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย

‘เขื่อนภูมิพล’ เป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งขนาดใหญ่ สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เดิมเรียก ‘เขื่อนยันฮี’ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อน และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า อาคารโรงไฟฟ้า และองค์ประกอบต่าง ๆ

ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล ถือเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย รองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนอกจากจะใช้ระบายไปเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ตลอดจนคมนาคมขนส่งแล้ว ยังใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 นอกจากจะช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรกว่า 10 ล้านไร่ ส่งเสริมอาชีพประมงเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาทต่อปี ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 64,000 ล้านหน่วย ยังเป็นเขื่อนที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

'ประกิต สิริวัฒนเกตุ' แชร์บทเรียนชีวิตในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ผ่านมรสุมชีวิตมาได้ถึงวันนี้ เพราะพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 

(13 พ.ค.67) จากเฟซบุ๊ก 'ประกิต สิริวัฒนเกตุ' โดยคุณประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการสายงานกลยุทธ์การลงทุน บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ได้แชร์บทเรียนจริงของครอบครัวช่วงที่ต้องพบเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ไว้ว่า...

ย้อนกลับไปปี 2540 ทำไมประเทศไทยถึงต้องเกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ต้นเหตุ มันไม่ได้มีแค่การไร้ความสามารถของรัฐบาล หรือการฝืนต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่การบริหารงานที่ผิดพลาดมันเหมือนไปกดปุ่มระเบิดนิวเคลียร์ของปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน ทั้งการเติบโตแบบไร้ทิศทาง เงินเฟ้อสูงเรื้อรัง ค่าแรงพุ่งจนทำให้ศักยภาพแข่งขันอ่อนลง การปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวมของสถาบันการเงิน การเปิดเสรีการเงิน (BIBF) ของรัฐบาลก่อนหน้า เปิดช่องให้เอกชนกู้เงินต่างประเทศ จนหนี้ระยะสั้นมีสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 2 เท่า ขณะที่ธนาคารกลางคงค่าเงินไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ โดยที่ประเทศไทยขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นช่องรูโหว่ใหญ่ให้ จอส โซรอส ถล่มค่าเงินบาท ทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหลอ เกิดหนี้เสียในระบบการเงินมากมายและลุกลามต่อเนื่องจนประเทศต้องเข้าสู่สภาวะล้มละลาย 

เศรษฐกิจไทยพังพินาศ รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือการเงินจาก IMF ดัชนีตลาดหุ้นไทยดำดิ่ง 2539-2540 ร่วงไป -90% บริษัทต่าง ๆ พากันปิดกิจการ ต้องตัดขายสินทรัพย์ให้บริษัทข้ามชาติในราคาแสนถูก คนตกงานมากมายจนต้องพากันมาเปิดท้ายขายของตามตลาดนัด

ครอบครัวของผมก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน ความทรงจำในตอนนั้น คือความสงสัย เหตุใด ครอบครัวเราที่ขยันทำมาหากินอยู่ดี ๆ ต้องลำบากมากขึ้น สินค้าที่นำเข้ามาขายต้องจ่ายในราคาแสนแพง (เพราะเชื่อผู้นำประเทศตอนนั้นว่าจะไม่ลดค่าเงินบาท) แต่ต้องขายต่อในราคาแสนถูกเพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ การเค้าซบเซาและขาดทุนหนัก ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแม่มาสารภาพบอกว่าเงินทุนการค้าไปจมสูญไปในตลาดหุ้นและที่ดิน แถมมีหนี้ก้อนมหาศาลที่แม่หยิบยืมมาในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเพื่อเอามาใช้จ่ายและหมุนเวียนทำการค้า (เงินการค้าเอาไปเล่นหุ้น)

ผมจำภาพวันที่ผมกลับจากโรงเรียนมาถึงหน้าบ้าน พี่สาวรีบวิ่งมาเปิดประตูแล้วบอกผมว่า พ่อจะฆ่าตัวตาย เพื่อหวังจะให้ครอบครัวได้เงินประกันชีวิต

นั่นคือความอ่อนแอของพ่อ ที่ผมเห็นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ตอนนั้นผมเข้าใจพ่อเป็นอย่างดี ทำงานมาด้วยความเหนื่อยยาก 20 กว่าปี สุดท้ายนอกจากจะไม่เหลืออะไรแล้ว ยังต้องติดลบหนักอีกต่างหาก

พ่อผมเริ่มตั้งสติ และค่อย ๆ วางแนวทางแก้ไขปัญหา พ่อต้องเอาบ้านไปจำนองกับธนาคารอีกครั้ง (พ่อเพิ่งปลดบ้านจากธนาคารได้ไม่นาน) พ่อดึงบัญชีจากแม่มาคุมเองทั้งหมด พ่อเลิกจ้างคนงาน และให้ลูกทุกคนช่วยงานหนักขึ้น (ปกติก็ช่วยงานหนักอยู่แล้ว) พ่อสั่งให้ทุกคนประหยัด ประหยัดในที่นี้คือประหยัดสุด ๆ อาหารในแต่ล่ะมื้อจากที่เคยกินกันอิ่มหมีพีมัน ต้องกินแบบเผื่อเหลือในมื้อต่อไป ข้าวสวยจากข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวแข็งๆและไม่อร่อยสุด ๆ (ทำให้ผมเป็นคนที่ไม่ชอบกินข้าวสวยตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้) ยามนอนต้องประหยัดไฟ เปิดได้แค่พัดลมหากใครอยากนอนแอร์ต้องมานอนห้องทำงานพ่อ (พ่อนอนในห้องทำงาน)

ครอบครัวผมไม่ได้ไปกินข้าวนอกบ้านกันอีกเลยตั้งแต่เกิดวิกฤติ ผมต้องกินแต่ข้าวบ้านกับข้าวที่โรงเรียน กินอย่างประหยัดจำเจวนไปเวียนมา พ่อผมบอกว่าถ้าแม่ไม่ทำพังเราสามารถกินเหลาได้ทุกมื้อ (กินภัตตาคาร) คำพูดนั้นฝังใจผมจนถึงทุกวันนี้

ส่วนแม่ของผม ด้วยพื้นเพนิสัยที่เป็นคนดีมีคุณธรรม ประหยัด ขยันทำงาน (แต่จัดการเงินไม่เป็น) ในสภาวะที่ย่ำแย่ แม่ไม่เลือกวิธี ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’  แต่แม่เลือกที่จะเดินเข้าหาเจ้าหนี้ (เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่เอ็นดูแม่) บอกถึงความจำเป็น ขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้ทุกคนรู้จักนิสัยแม่ดี ทุกคนยอมไม่คิดดอกเบี้ย และให้เวลาแม่ในการผ่อนชำระ

แม่เป็นคนประหยัด ไม่ได้ใช้เงินฟุ่มเฟือย แต่แม่ไม่ใช่คนขี้งก แม่สปอร์ตกับลูก แม่ยอมจ่ายไม่ยั้ง ถ้าเป็นเรื่องการกินอยู่ การเรียน และการรักษาพยาบาลของลูก ความที่แม่อยากให้ลูกอยู่สบายไม่ลำบาก มันทำให้ลูกทุกคนไม่รู้ตัวว่า ไอ่ที่กินใช้อยู่นี่มันคือเงินที่มาจากหนี้

พ่อและแม่ สร้างเนื้อสร้างตัวจากการเป็นพนักงานบริษัท พ่อเป็นพนักงานขาย ส่วนแม่เป็นเสมียนและทำบัญชี พอทั้งคู่แต่งงานกัน จึงออกมาทำการค้า ความที่ไม่มีทุน จึงต้องเริ่มต้นการค้าด้วยการกู้เงินจากผู้ใหญ่ที่รู้จักต่าง ๆ

ก่อนวิกฤติในยามที่เศรษฐกิจดี กิจการขยายตัว มีรายได้มากขึ้น แต่ต้องมาหมุนเวียนกับการค้าและการชำระดอกเบี้ย หนี้สินจึงไม่เคยลดลง ผมและพี่น้องเกิดมาเมื่อพ่อแม่มีกิจการแล้ว แม้ต้องช่วยงานที่บ้านตั้งแต่ยังเล็ก แต่เรามีกินมีใช้ไม่เคยขาด เราคิดกันไปเองว่าเราเป็นชนชั้นกลางในสังคม

เมื่อเกิดวิกฤติ เราถึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว เราแทบไม่มีเงินเหลือเก็บ และไม่มีทรัพย์สินที่เป็นของเราจริงๆเลย

แม่ผมต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน จากที่เคยนั่งคุมบัญชีการค้าอยู่ที่บ้าน ต้องขับมอเตอร์ไซด์ เป็นเซลล์ขายสินค้าของกิจการ และพยายามหารายได้เพิ่มด้วยการขายถุงพลาสติกให้กับร้านอาหารข้างทางต่าง ๆ (ทุกวันนี้ผมจะชอบไปทานร้านเหล่านั้นเพื่อขอบพระคุณที่ช่วยแม่ผมในยามยากลำบาก)

ในความมืดมนของประเทศ และของครอบครัวผม วันหนึ่งผมนั่งรถเมล์เพื่อเดินทางไปโรงเรียน ในระหว่างที่ผมเหม่อลอย ครุ่นคิดว่า เราจะลำบากไปแบบนี้อีกนานแค่ไหน เราจะมีวันสบายอีกครั้งได้ไหม ผมเห็นป้ายขนาดใหญ่มีรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 และข้อความที่เขียนถึงเศรษฐกิจพอเพียง

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่โลภอย่างมาก ไม่สุดโต่ง คนเราก็อยู่เป็นสุข”

“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ได้ อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”

พระราชดำรัสของในหลวง ร.9 เมื่อ 4 ธ.ค.2540 และ 4 ธ.ค.2541

ผมไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกวันนั้นอย่างไร ในวันที่มองไปทางไหนก็มีแต่ความมืดมน ป้ายของในหลวง คือป้ายแห่งความหวังจริง ๆ ป้ายที่บอกต้นตอของปัญหาและชี้ให้เห็นว่าทางออกควรต้องไปทางไหน

นับจากตอนนั้น ผมยึดคำสอนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ปี 2542 ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยไม่กู้ กยศ. ผมไม่อยากเรียนจบ และเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นหนี้  ผมเชื่อว่าหากผมกู้ กยศ. มา ชีวิตผมจะมีวังวนแบบเดิมเหมือนที่ครอบครัวเคยเป็นมา คือกู้เงินมาใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลิน ผมเห็นเพื่อนที่กู้ กยศ. ใช้จ่ายเหมือนเงินได้มาง่ายๆฟรีๆ เครื่องคิดเลขสำหรับวิศวกรรมสมัยนั้น casio ราคา 3,500 บาท ถือว่าแพง มาก ๆ แล้ว แต่เพื่อนผมกลับใช้เงิน กยศ. ซื้อเครื่อง Texas ซึ่งแพงกว่าเกือบ 2 เท่า

ผมไม่อยากเป็นแบบนั้น ผมมีบทเรียนของครอบครัวมาแล้ว การใช้จ่ายด้วยเงินกู้ของคนอื่น มันคือการเป็นทาส ผมเลือกที่จะสอนพิเศษแบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้มีเงินมาจ่ายค่าเทอม และใช้จ่ายในเรื่องอื่น ๆ ผมตระเวนนั่งรถเมล์สอนทั่วกรุงเทพมหานคร ทั่วซะจนไม่มีเขตไหนในกรุงเทพที่ผมไม่เคยไปสอน

วันเวลาผ่านไป ความอดทน พยายามต้องสู้ของทุกคนในครอบครัวของผมเริ่มออกผล พ่อสามารถไถ่ถอนบ้านจากธนาคารในปี 2544 และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าต้นปี 2545 พ่อผมต้องป่วยหนักกลายเป็นเจ้าชายนิทรา แม่และพี่สาวได้มาช่วยกันดูบัญชีต่าง ๆ ที่พ่อทำเอาไว้

นอกจากบ้านที่พ่อไถ่ถอนออกมาได้แล้ว ผลจากการประหยัด ผลจากการที่ทุกคนช่วยกันทำงานอย่างยากลำบาก พ่อมีเงินสดในบัญชี 3 ล้านกว่าบาท ขณะที่ยังมีหนี้สินค้างอยู่ 12 ล้านบาท แม่ผมได้ใช้เงินนั้นทำการค้าต่อด้วยความระมัดระวังจนเคลียร์หนี้สินได้หมด เจ้าหนี้ทุกคนได้รับเงินครบทุกบาทในปี 2553

ครอบครัวผมได้ประกาศเป็นไท แม่ผมได้สัมผัสถึงอิสรภาพครั้งแรกในวัย 60 ปีพอดิบพอดี ส่วนผมตอนนั้นอายุ 30  สนใจแต่เรื่องทำงานหนัก ไม่อยากเป็นหนี้อะไรทั้งนั้น ไม่มีความต้องการรถคันงามหรือบ้านหลังใหญ่ มีแต่อยากจะเติบโตในหน้าที่การงาน อยากเป็นสุดยอดนักวิเคราะห์ของประเทศนี้ ผมต้องการแค่นั้นจริง ๆ

ทุกวันนี้ผมขอบคุณพระเจ้า บทเรียนของครอบครัวในอดีต ได้ทำให้ผมมีฐานะทางการเงินในปัจจุบันที่ดี ผมมีอิสรภาพทางการเงิน ผมได้ภรรยาที่ดี เข้าใจเรื่องการเงิน และรู้คุณค่าของคำว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ แม้เราจะมีเงินในบัญชี มีทรัพย์สินต่าง ๆ แต่เราไม่เคยใช้เงินเกินกว่าที่หามาได้ในแต่ล่ะเดือน กลับกันเราจะต้องกันเงินไปเก็บเพิ่มเสมอ เราไม่เคยประมาท และจะไม่มีวันประมาทเด็ดขาด

และไม่ใช่แค่ผมที่มีอิสรภาพทางการเงิน พี่สาวและน้องสาวของผม ทุกคนได้ประโยชน์จากบทเรียนในอดีต พี่สาวมีธุรกิจที่มั่นคงปลอดหนี้สิน เช่นเดียวกับน้องสาวที่ทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่ก่อหนี้ใดๆทั้งนั้น

ขอบพระคุณคำสอนของในหลวง ร.9 เศรษฐกิจพอเพียง คือที่สุดของปรัชญาของการดำรงชีวิตในโลกทุนนิยม วันใดที่ผมได้นำคำสอนของในหลวงไปถ่ายทอดให้กับใครต่อใครฟัง ผมอยากบอกกับทุกคนว่า เศรษฐกิจพอเพียงช่วยพวกคุณได้ คุณควรเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินก่อนที่จะสายเกินไป คุณสามารถเปลี่ยนได้ในตอนนี้ด้วยความเข้าใจ มันจะดีกว่าถูกวิกฤติบังคับให้คุณจำใจต้องเปลี่ยน

คำพูดของพ่อผม ‘เราสามารถกินเหลาได้ทุกมื้อ’ ขอบคุณพระเจ้าที่วันนี้ผมยิ้มกับคำพูดนี้ได้แล้ว

23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีผู้ปกป้องเมืองถลาง จากทัพข้าศึกพม่าในสงครามเก้าทัพ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร และปิดทอง เจิมช่อฟ้าพระอุโบสถวัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) เมื่อครั้งเสด็จประพาส จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2510

โดยในปัจจุบัน รูปอนุสาวรีย์นำไปใช้เป็นตราประจำจังหวัดภูเก็ต โดยเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2528 เป็นรูปอนุสาวรีย์สองวีรสตรี อยู่ในวงกลมล้อมด้วยลายกนก ซึ่งแสดงถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร 

ทั้งนี้ ท้าวเทพกระษัตรี และ ท้าวศรีสุนทร นามเดิมว่าคุณหญิงจันและคุณมุกตามลำดับ เป็นสองวีรสตรีในประวัติศาสตร์ไทย ผู้มีบทบาทในการป้องกันเมืองถลาง เกาะภูเก็ต จากการรุกรานของพม่าในสงครามเก้าทัพเมื่อปี พ.ศ. 2328


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top