Tuesday, 14 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่9

‘เถ้าแก่โรงสี’ เมืองนครพนม ตั้งโรงทาน-มอบทุนการศึกษา เป็นปีที่ 18 ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ชาวบ้านแห่ต่อแถวเพียบ

(5 ธ.ค. 66) ที่หน้าร้านเทียมศักดิ์พาณิชย์ เลขที่ 385-7 อยู่ตรงข้ามสำนักงานยาสูบฯ ถนนอภิบาลบัญชา เยื้องทางออกตลาดสดฯ เขตเทศบาลเมืองนครพนม ‘นายเทียมศักดิ์ เวียงศรีประเสริฐ’ อายุ 76 ปี และ ‘นางเกตุวดี เวียงศรีประเสริฐ’ อายุ 74 ปี คู่สามีภรรยาเป็นชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ร่วมกับลูกหลาน และบริษัทในเครือโรงสีเทียมศักดิ์พาณิชย์ พร้อมด้วยบริษัทวิทยาอิเลคทริคเซ็นเตอร์ ได้จัดตั้งโรงทานมอบข้าวกล่อง ขนมหวาน ข้าวสาร ข้าวเหนียว และ มอบทุนการศึกษาแก่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยครอบครัวนายเทียมศักดิ์จัดมาแล้วเป็นปีที่ 18 เพื่อน้อมระลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ่อของแผ่นดินปวงชนชาวไทย โดยมีประชาชนจูงลูกเล็กเด็กแดง มายืนรอรับสิ่งของเป็นแถวยาว

นายเทียมศักดิ์เปิดเผยว่า บิดามารดาเป็นชาวเวียดนาม อพยพหนีไฟสงครามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำงานรับจ้างทุกอย่าง จนมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ โดยตั้งโรงสีผลิตข้าวสารตราเรือไฟ ส่งจำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม และขยายกิจการโรงสีเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีโรงสีอยู่ 4 แห่ง ซึ่งตนได้โอนกิจการให้ลูกๆ ไปบริหารกันเองหมดแล้ว และพวกเขาได้ขยายตลาดส่งข้าวสารไปยังแถบยุโรปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ตนกำชับลูกทั้ง 5 คน ถือเป็นคำสั่งของพ่อว่า “ให้สำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน” ดังนั้นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันพ่อแห่งชาติให้ตั้งโรงทานรวมถึงมอบทุนการศึกษาข้าวสาร ฯลฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

สืบเนื่องวันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ประชาชนน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน ทั้งนี้กิจกรรมวันพ่อ ได้จัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2523 โดยการริเริ่มของคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา

เนื่องจากพ่อถือเป็นบุคคลผู้มีพระคุณ และมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัว สังคม ที่ผู้เป็นลูกต้องเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันพ่อแห่งชาติ นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันชาติอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวามหาราช เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ

‘ท่านอ้น’ ถวายเพล วัดปทุมฯ เนื่องในวันพระบรมราชสมภพ ในหลวง ร.9 พร้อมถวายเงินสมทบทุนโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

(5 ธ.ค. 66) ที่อาคารเสนาสนะสงฆ์ วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร แขวงปทุมวัน ท่านอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพล พระสงฆ์ 9 รูป โดยมี พระพรหมวชิรเวที กรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และถวายเงินสมทบทุนโรงพยาบาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นโรงพยาบาลชุมชน สังกัดกระทรวงสาธารณสุขสำนักงานปลัดกระทรวง

ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลอำเภอบ้านม่วง เลขที่ 299 หมู่ที่ 2 บ้านโพนไค ถนนราชบัณฑิต ต.ม่วง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566

จากนั้น ท่านอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์ ได้เข้ากราบสักการะพระอัฐิ และพระราชสรีรางคาร ของพระบรมวงศานุวงศ์ พระประยูรญาติราชสกุลมหิดล

ต่อมาได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ทางวัดปทุมวนาราม ได้มอบหนังสือประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตอน จำพรรษาวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร หนังสือ พระภูริทัตโต (หมั่น) พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต วัดปทุม วนาราม และภาพถ่ายพระภูริทตฺโต (หมั่น) วัดสระปทุม แก่ท่านอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์

ท่านอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าได้ไปถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาแล้ว จึงได้มาทำบุญที่วัดปทุมวนารามเนื่องจากเป็นวัดที่มีความสำคัญกับครอบครัว และได้มาทำบุญถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับ ‘คุณทองแดง’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

วันนี้ เมื่อ 25 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับ ‘คุณทองแดง’ เป็นสุนัขทรงเลี้ยง

คุณทองแดง เป็นลูกของ ‘แดง’ สุนัขจรจัดบริเวณซอยศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงนำมาเลี้ยงหลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดศูนย์การแพทย์พระราม 9 และนายแพทย์คนหนึ่งนำคุณทองแดงมาทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร คุณทองแดงเกิดหลังลูก ๆ ของคุณมะลิไม่กี่วัน และทรงยกให้คุณมะลิเลี้ยงดู ทองแดง มีพี่น้องรวม 7 ตัว ซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อให้ว่าทองแดง เพศเมีย, คาลัว เพศเมีย, หนุน เพศเมีย, ทองเหลือง เพศผู้ ได้ไปอยู่บ้านของข้าราชบริพารคนหนึ่ง, ละมุน เพศเมีย, โกโร เพศเมีย, โกโส เพศเมีย

คุณทองแดงมีลักษณะพิเศษต่างจากลูกสุนัขตัวอื่น คือ มีสายสร้อยรอบคอครึ่งเส้น มีถุงเท้าขาวทั้ง 4 ขา มีหางม้วนขดเป็นวง ปลายหางดอกสีขาว และมีจมูกแด่น ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ขณะมีอายุได้ 5 สัปดาห์ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงค้นในหนังสือว่า ‘คุณทองแดง’ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสุนัขพันธุ์บาเซนจิ ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์โบราณ มีถิ่นกำเนิดทางแอฟริกาใต้ นิยมใช้งานในการล่าสัตว์ แต่ ‘คุณทองแดง’ มีขนาดตัวใหญ่กว่าสุนัขพันธุ์บาเซนจิทั่วไป พระองค์จึงทรงเรียกคุณทองแดงว่าเป็นสุนัขพันธุ์ไทยซูเปอร์บาเซนจิ ก่อนหน้านี้ทรงเรียกว่า เป็นสุนัขพันธุ์เทศ (ย่อมาจาก เทศบาล)

คุณทองแดงเป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวโปรดและปรากฏตัวตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง 'ทองแดง’ หรือ ส.ค.ส. พระราชทาน โดยพระองค์ทรงฉายพระบรมรูปร่วมกับสุนัขทรงเลี้ยงต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2559 รวมไปถึงระหว่างที่พระองค์ประทับรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช ก็มีคุณทองแดงเฝ้าติดตามพระวรกายไม่ห่าง จนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558 หลังอายุได้ 17 ปี คุณทองแดงก็สิ้นลมหายใจด้วยโรคชรา ณ วังไกลกังวล

16 ธันวาคม พ.ศ. 2510  ในหลวง รัชกาลที่ 9  ชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง

วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย โดยกำหนดให้เป็น ‘วันกีฬาแห่งชาติ’ เพื่อน้อมรำลึกถึง ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเข้าร่วมการแข่งขันแล่นเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 (ปัจจุบันคือซีเกมส์) ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ ทั้งยังโปรดที่จะต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดปรานการช่างอยู่แต่เดิมแล้ว และเรือ ‘นวฤกษ์’ เรือใบประเภท OK ที่พระองค์ใช้ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ก็เป็นเรือที่พระองค์ทรงต่อขึ้นเองเช่นกัน

เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถและในฐานะที่เคยเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบและกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี เป็นวัน ‘วันกีฬาแห่งชาติ’

‘คนไทยเที่ยวญี่ปุ่น’ โพสต์ความประทับใจที่มากกว่าการได้มาเที่ยว หลังเจอร้านอาหารไทย มีภาพ ‘ในหลวง ร.๙’ ตระหง่านอยู่ในร้าน

(17 ธ.ค. 66) จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘สม ดำรงสิริรัช’ ได้โพสต์ข้อความเล่าถึงความประทับใจจากการไปทริปที่ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า…

เที่ยวจนเป๋าแห้ง…
แวะ อิออน AEON ยืมตังหน่อย 😅🤣😂

เอ้า… ที่นี่ไม่ใช่เงินด่วนหรอกรึ?

เดินเข้าไปมีแต่ร้านขายของ
มีโซน ขายอาหาร เครื่องดื่ม
มีร้านอาหารไทย ชื่อ ‘แก้วใจ’
รู้สึกดีใจ… ที่เห็นคนไทย
มาเปิดร้านอาหารไทย ที่ญี่ปุ่น

ที่รู้สึกประทับใจมาก… คือ
มีภาพ ‘ในหลวงรัชกาลที่ ๙’
ให้นึกถึง… รูปที่มีทุกบ้าน
มีมาไกลถึงเกาะญี่ปุ่น
🙏🙏🙏

25 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ บ้านผาหมี จ.เชียงราย

วันนี้เมื่อ 52 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมพระราชทานเหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา ที่มีเลขโค้ด 6 หลัก เพื่อใช้แทนเลขบัตรประชาชน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย

การเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงเป็นการเสด็จฯ ไปทรงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชต่าง ๆ ทั้งกาแฟ ลิ้นจี่ แมคคาเดเมีย รวมถึงนำวัวพระราชทานให้เลี้ยง พร้อมหาจุดรับซื้อให้ ทำให้ชาวเขาเหล่านั้นไม่ต้องปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย และมีชีวิตความเป็นอยู่ของดีขึ้นเท่านั้น…แต่ยังเป็นการยืนยันว่า ชาวเขาเผ่ามูเซอทุกคนก็คือคนไทย ไม่ใช่คนเร่ร่อนไร้สัญชาติ 

เนื่องด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำ ‘เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา’ ซึ่งตรงกลางคือตัวย่อ ‘ชร’ (หมายถึงจังหวัดเชียงราย) ตามด้วยหมายเลขโค้ด 6 หลัก สำหรับใช้แทนเลขบัตรประชาชน พระราชทานแก่ชาวเขาบ้านผาหมีด้วย 

ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานเหรียญที่ระลึกแก่ชาวเขาตามจังหวัดต่าง ๆ ประมาณ 20 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2506 รวมทั้งหมดกว่า 200,000 เหรียญ โดยทุกเหรียญจะมีอักษรย่อของจังหวัด พร้อมหมายเลขประจำเหรียญตอกกำกับ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสำรวจสำมะโนประชากรและการพิสูจน์สัญชาติเพื่อทำบัตรประชาชนให้กับชาวเขา

กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ ทราบแผนรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

กรณีการกล่าวว่า ‘ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ ของ ณัฐพล ใจจริง
ประเด็นสำคัญอีกประเด็น คือ

‘ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’

ซึ่งณัฐพล กล่าวว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า ‘ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว’ ทั้งนี้ พล ท.กาจ กาจสงครามให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร”

โดย ณัฐพล อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พวกเราต้องการบอกทุกท่านเป็นอย่างแรกคือ จะเป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือพิมพ์เอกราชจะลงข่าวในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ.1947) ?

เนื่องจากว่า “หนังสือพิมพ์เอกราชถือกำเนิดขึ้นโดยโรงพิมพ์เอกราชได้ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2500”!

กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งปี พ.ศ. 2500 จะนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปลงข่าว 10 ปีที่แล้วก่อนการก่อตั้งได้อย่างไร!? 

(ดูประวัติการก่อตั้งจาก พัชราภรณ์ ครุฑเมือง, การดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เอกราช ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม วิทยานิพนธ์นิเทศนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวารสารสนเทศ ภาควิชาสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552) 

มิหนำซ้ำ เรายังรู้สึกแปลกใจที่ ณัฐพล ใช้ปี ค.ศ. 1947 ในการระบุปี ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เขากลับใช้ พ.ศ. ทั้งหมด 

ดังนั้น การอ้างถึง ‘หนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947’ ของ ณัฐพลจึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีที่มาจากไหนกันแน่ ?  

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่เคยปรากฏหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นในบรรณพิภพในเวลานั้น ประกอบทั้งการใช้ปี ค.ศ. ที่ไม่ปรากฏความต่อเนื่องสม่ำเสมอ (consistency) กับการเขียนวิทยานิพนธ์ในส่วนอื่น ๆ ของ ณัฐพล

เราจึงสงสัยว่าณัฐพลเอาข้อมูลในส่วนนี้มาจากไหนกันแน่ ? 
หรือถ้ามีจริงทำไมเขาไม่อ้างจากหลักฐานชั้นต้นเช่นในจุดอื่น ๆ ?  

นอกจากนี้ ก่อนการรัฐประหาร 2490 บรรยากาศขณะนั้นก็เป็นที่รับรู้ทั่วไป ดังปรากฏข่าวลือว่าจะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแน่ ๆ ไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง 

เนื่องจากสถานภาพของรัฐบาลปรีดี-หลวงธำรงฯ นั้นง่อนแง่นเต็มที่ ประชาชนไม่ให้ความเชื่อถือเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลที่คอร์รัปชันอย่างรุนแรง 

กระแสการรัฐประหารนั้นรุนแรงกระทั่งว่า หลวงธำรงฯ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นถึงกับให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า ‘นอนรอคอยอยู่ที่บ้านก็ไม่เห็นมีปฏิวัติ’

ดังนั้น ไม่ว่าจะใครก็ตามในประเทศไทยหรือนอกประเทศในเวลานั้นก็ย่อมต้องคุ้นเคยกับข่าวรัฐประหารอยู่แล้ว เพราะข่าวนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปไม่ใช่แค่เฉพาะในแวดวงชนชั้นสูง

เมื่อประมวลทั้งหมดแล้ว เราจึงขอถามกลับไปยัง ณัฐพล ว่า ในหนังสือขุนศึกฯ ที่เขาได้ตัดประเด็นทั้งส่วนทั้งสองนี้ออกไป ย่อมแสดงว่าณัฐพลรู้อยู่แก่ใจใช่หรือไม่ว่าไม่มีน้ำหนักใช่หรือไม่ ? 

ทั้งในประเด็นแรกที่ณัฐพลเชื่ออย่างสนิทใจว่า ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร’

ซึ่งหากณัฐพลต้องการจะให้น้ำหนักแก่สมมติฐานพวกเจ้าสนับสนุนการรัฐประหาร เขาก็ต้องคงเนื้อหาในส่วนนี้ไว้ เพราะได้จะสอดคล้องกับการให้ภาพที่ชัดขึ้นของพวกฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนคณะรัฐประหารโดยดุษฎี (ไม่ใช่มาพบความจริงตอนหลังว่าไม่ได้สนับสนุนแต่ต้น แต่เพราะถูกคณะรัฐประหารใช้ปืนจี้บังคับให้เซนแบบกรมขุนชัยนาทฯ เช่นที่พวกเราได้นำเสนอไปแล้ว) 

อีกทั้งในประเด็นหนังสือพิมพ์เอกราชที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500 ซึ่งสามารถสาวโยงถึงในหลวงได้โดยตรง แต่ ณัฐพล ก็กลับตัดข้อเสนอสำคัญนี้ทิ้งเสียอย่างน่าแปลกใจ

อย่างไรก็ดี พวกเรามีความกังวลใจว่า สิ่งที่ณัฐพลกระทำไว้ในวิทยานิพนธ์นั้นได้แผ่ขยายออกไปไกลจนมีการอ้างอิงในวิกิพีเดียไปเสียแล้ว ควรบันทึกไว้ด้วยว่าไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลในประเด็นสมเด็จย่าสนับสนุนการัรฐประหารนี้ในวิกิพีเดียได้เลยจนบัดนี้ 

เพราะหากเมื่อทำการแก้ไขทีไร ก็มักจะมี ‘มือที่มองไม่เห็น’ แก้กลับให้เป็นข้อมูลของณัฐพลทุกครั้ง 
เราหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าการกระทำของพวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ในครั้งนี้ จะทำให้ทุก ๆ ท่านได้เห็นถึงการใช้หลักฐานและการพิจารณาบริบทแวดล้อมที่รายล้อมอยู่มากขึ้น 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนข้อมูลวิชาการในฐานะผู้ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่ปรากฏขึ้นนี้ด้วย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

วันนี้เมื่อ 51 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชพิธีประวัติศาสตร์ การสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร ‘พระองค์ที่ 3’ ของไทย

ในปี พ.ศ. 2515 อันเป็นวาระที่ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ’ ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษานั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร’ ตามโบราณขัตติยราชประเพณี หลังจากพระราชพิธีนี้ได้ว่างเว้นมาเป็นเวลากว่า 80 ปี 

โดยได้มีการอนุโลมการจัดพระราชพิธีฯ ตามโบราณราชขัตติยราชประเพณี โดยกำหนดเป็น 5 ตอน คือ

วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล การเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต 

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

ทั้งนี้ ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร’ และทรงเป็น ‘มกุฎราชกุมาร’ พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีและของประเทศไทย 

‘พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร’ เป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และพระบรมราชจักรีวงศ์ เกี่ยวกับการแต่งตั้งรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 

ราชประเพณีการแต่งตั้งรัชทายาทเพื่อสืบราชสมบัติ ได้ปรากฏเป็นกฎหมายมั่นคงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นไว้เมื่อจุลศักราช 720 (พ.ศ. 1901) ลำดับพระอิสริยยศพระราชโอรสว่า ‘พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครมเหสีเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า พระราชกุมารอันเกิดแต่แม่ยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช’ แต่ก็มิได้กำหนดให้ชัดเจนว่า ตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าเป็นรัชทายาท 

จนถึงแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตราพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1998 ทรงกำหนดให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งได้เฉลิมพระราชมณเฑียรแล้วทรงศักดินาหนึ่งแสน และทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ 

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานตำแหน่ง ‘พระมหาอุปราช’ แก่พระบรมวงศ์ผู้มีความชอบอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เมื่อตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง ก็มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบรมวงศ์พระองค์ใดขึ้นดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลาสืบต่อกันหลายปีก็มี 

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชเสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่าตำแหน่งนี้ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย มีประโยชน์น้อยและทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน จึงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อวันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน 

และมีพระราชดำริต่อมาว่า พระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช’ ซึ่งเรียกว่า ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองนั้น เป็นขัตติยราชประเพณีอันมีมาแต่โบราณกาล และสอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ ที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี พระราชพิธีสถาปนา ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ’ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ ดำรงพระราชอิสริยยศตำแหน่งรัชทายาท เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2429 

เวลาต่อมา ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ ทรงเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาพระราชโอรสพระองค์ลำดับถัดมา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ขึ้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 โดยทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ

19 มกราคม พ.ศ. 2545 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์  ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ออกแบบอาคารโดย เฮลมุต ยาห์น (Helmut Jahn) สถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน

โดยโครงสร้างหลักของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบด้วยเหล็กและแก้ว ซึ่งยาห์นบอกว่านี่เป็น ‘สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21’ โดยสนามบินแห่งนี้ได้เริ่มเปิดทดลองใช้ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 155,000 ล้านบาท

2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ‘วันนักประดิษฐ์’ วันทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา ‘พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย’ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอ โดยกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ และเพื่อให้ประชาชนเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท รวมทั้งปลูกฝัง เสริมสร้าง และส่งเสริม ให้เยาวชนไทยให้มีทุนทางสังคมของความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น พัฒนา และส่งเสริมนักประดิษฐ์ ให้ร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญและความมั่นคงของประเทศชาติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย ด้วยทรงสนพระราชหฤทัย ในเรื่องการประดิษฐ์เครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการพัฒนาการเกษตรรูปแบบต่างๆ โดยอยู่บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ใช้ภูมิปัญญาของเราเอง ใช้วัสดุภายในประเทศ เน้นความง่ายต่อการใช้งาน การซ่อมบำรุงและราคาถูก เช่น เครื่องสีข้าว กังหันน้ำ และทรงออกแบบเรือใบมด ซึ่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เครื่องกลเติมอากาศ ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียน และออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่าเป็น ‘สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก’

>> สิ่งประดิษฐ์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แก่... 

1.) เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุดซ้ำแบบทุ่นลอย (กังหันน้ำชัยพัฒนา)
ยื่นคำขอวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ประกาศวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536

2.) การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล (น้ำมันไบโอดีเซล)
ยื่นคำขอวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544 ประกาศวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2544

3.) กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน)
ยื่นคำขอวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ประกาศวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

4.) ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ
ยื่นคำขอวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ประกาศวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

5.) เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
ยื่นคำขอวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2544 ประกาศวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2544

6.) อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว (ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง)
ยื่นคำขอวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2546

7.) การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน เป็นสิ่งประดิษฐ์ชื่อ ‘ฝนหลวง’
ยื่นคำขอวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2545

8.) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
ยื่นคำขอวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2545

9.) ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย
ยื่นคำขอวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2546 ประกาศวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546

10.) การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ 2 จังหวะ
ยื่นคำขอวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ประกาศวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top