Wednesday, 15 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่9

ต้นกาแฟของพ่อ!! ในหลวง ร.9 ผู้พลิกแผ่นดินดอยสูง ขจัดปัญหาปลูกฝิ่น ให้ชาวเขามีรายได้ยั่งยืน

โครงการควบคุมยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDCP ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ เนื่องจากโครงการหลวง (กาแฟ) เป็นโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลกที่แก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นได้สำเร็จ

คนไทยควรภาคภูมิใจ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ทำให้โครงการควบคุมยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDCP ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2537 เนื่องจากโครงการหลวงเป็นโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลกที่ประสบผลสำเร็จสามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่อันเป็นแหล่งต้นตอของยาเสพติดได้อย่างจริงจัง

ทีม 'สตรีทอาร์ต คิงภูมิพล' บรรจงสร้างสรรค์ ร่วมสะบัดแปรงวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 ตลาดสามชุก

เพจเฟซบุ๊ก Street Art King Bhumibol โครงการสตรีทอาร์ตวาดรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 น้อมนำคำสอนพ่อให้ครบ 77 จังหวัด โพสต์ภาพวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความว่า รวมทีมสตรีทอาร์ต คิงภูมิพล Street Art King Bhumibol

#SAKB10 สามชุก ตลาดร้อยปี (Samchuk Market) เรามากันทั้งหมด 9-10 คน มากันเองจากการคัดเลือกกำแพงที่เหมาะสม โดยมีอาจารย์สุริยะ ฉายะเจริญ จาก ม.กรุงเทพธนบุรี เป็นผู้ติดต่อและดำเนินการเรื่องสถานที่กับทางตลาดสามชุกครับ

หลายคนคงไม่รู้จักว่าทีมงานที่สำคัญในการทำงานนี้เป็นใครบ้าง เพราะไม่มีใครเคยพูดถึงชื่อพวกเขาทางสื่อกระแสหลัก ล้วนทำงานแบบปิดทองหลังพระ เดี๋ยวผมจะขอเล่าให้ฟังเองครับ

หงิม เขาศูนย์ ศิลปินที่มาด้วยความพร้อมทั้งใจและความสามารถ เป็นเสมือนหัวหน้างานให้กับน้องๆ แทนผมที่ต้องเอาจริงเอาจังในการวาดรูปพระบรมสาทิสลักษณ์ หงิม จัดการวางแผน แก้ปัญหาและจ่ายงานให้อย่างดี โดยที่ผมไม่ต้องกังวลและยิ้มกับการทำงานได้ เลิกงานก็ยังคอยแต่เล่นมุกสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ทุกคนมีความสุข ลืมร้อน ลืมเหนื่อย ลืมง่วง ลืมหิว

ครูโตน Tonawat Srisai มาพร้อมกับรอยยิ้มสดใส สู้งาน มีความสุขกับงาน เป็นเสมือนคนที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์กับคนในทีม ครูโตนใส่ใจคนอื่นมากกว่าใคร พร้อมรับฟังและแสดงความเห็น เป็นที่ปรึกษาของผมและทีมได้เป็นอย่างดี ใจเย็นที่สุดในเวลางาน แต่ใจร้อนที่สุดตอนรับประทานอาหาร เขาดูมีความสุขมากตอนอาหารแต่ละมื้อ

ครูโป๊ป Sanpetch Pope Srithong รับหน้าที่สำคัญที่ไม่มีใครทำได้ดีอีกด้านคือ เป็นทุกอย่างที่ทีมขาด ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ เหรัญญิก เลขาธิการ แอดมิน รับมือกับทุกอย่างที่อยู่ด้านล่างกำแพง ทำแทนส่วนที่ถึงผมจะพยายามแค่ไหนก็ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้ไม่ดีเท่าเขา เสียดายที่ครูโป๊ปต้องรีบกลับไปกลับมาเพื่อสอนหนังสือเด็ก ๆ เลยไม่ได้มาถ่ายรูปหมู่ด้วยกัน

นิค Dek Loso Art ร่วมงานกันครั้งแรก ฝ่ายเทคนิคอเนกประสงค์ ชำนาญการเชิงช่างแล้วยังมีฝีมือในการเพ้นท์อีกด้วย สู้งานมาก นอนหลับพร้อมกัน แต่ตื่นเช้าที่สุด มาดริปกาแฟอร่อย ๆ ให้ผมและครูโตนตื่นและผ่อนคลาย ไปสู้งานแดดร้อนต่อ มักจะหาวิธีการทำงานที่ง่ายและเร็วที่สุดให้ทีมเสมอ

วันนี้เมื่อ 65 ปีก่อน มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 9

ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีที่สืบมาแต่โบราณหลายอย่างจากที่เลิกร้างไปนับตั้งแต่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนึ่งในพระราชพิธีนี้คือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จัดให้มีขึ้นครั้งแรก พ.ศ. 2500 เนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จากนั้น พ.ศ. 2502 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค และจัดในพิธีสำคัญวโรกาสต่างๆ รวม 17 ครั้งในรัชกาล

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)

นับตั้งแต่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อคราวฉลองพระนครครบ 150 ปี พ.ศ. 2475 ในรัชกาลที่ 7 แล้ว ไม่ปรากฎหลักฐานว่าได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลย จนในปี พ.ศ. 2500 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระปณิธานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้สืบต่อเนื่องยาวนาน พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดาเนินถวายผ้าพระกฐิน

วันนี้ เมื่อ 58 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเปิดเขื่อนภูมิพลอย่างเป็นทางการ

โครงการสร้างเขื่อนภูมิพล เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยในระยะแรกนี้ใช้ชื่อว่า "เขื่อนยันฮี" ถือเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งและเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ แห่งแรกของประเทศไทยเลยทีเดียว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปรมาภิไธยให้ใช้เป็นชื่อเขื่อนนี้ว่า "เขื่อนภูมิพล"

ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกในขณะนั้น สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตรความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462  ล้านลูกบาศก์เมตร

5 กรกฎาคม พ.ศ.2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนนิวยอร์ก ปชช.กว่า 7 แสนคน รอรับเสด็จบนถนนบรอดเวย์

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนไปบนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก ท่ามกลางประชาชนรอรับเสด็จเนืองแน่น

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1960 (พ.ศ.2503) ประชาชนกว่า 7.5 แสนคน (จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ได้มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก โดยมีแถบกระดาษขนาดเล็กจำนวนมากโปรยปรายลงมาระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของการต้อนรับขบวนพาเรดในนครนิวยอร์ก

ขบวนพาเรดดังกล่าวกินเวลาประมาณ 20 นาที นำเสด็จจากถนนโลเวอร์บรอดเวย์ ไปถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก เมื่อเวลาประมาณ 12.25 นาฬิกา
 

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ในหลวง ร. ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ด้วยพระราชพิธีที่เรียบง่าย แต่งดงาม

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 หรือ วันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว สัญญะแห่งความรักอมตะได้เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของเราชาวไทยทั้ง 2 พระองค์ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงหมั้นกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ โดยจัดพิธีเป็นการภายในเรียบง่ายที่ต่างแดน

ย้อนไปในวันวาน เรื่องราวความรักของ องค์ในหลวงภูมิพล และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ในปี พ.ศ.2489 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราช สันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น

ต่อมาช่วงปี 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ เยี่ยมโรงงานต่อรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศสและการแสดงดนตรีของคณะดนตรีที่มีชื่อเสียง

และเวลานั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เป็นบุตรีของ ม.จ.นักขัตมงคล ท่านทูตประจำกรุงปารีส ได้มาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย

ฝ่ายสมเด็จพระราชชนนี ได้ทรงรับสั่งกับว่าให้พระองค์ไปทอดพระเนตรบุตรีของ ม.จ.นักขัตรมงคลด้วยว่า “สวยน่ารักไหม” และยังทรงกำชับว่า “เมื่อถึงปารีสแล้วให้โทรบอกแม่ด้วย”

ที่สุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงปารีสแล้ว จึงโทรศัพท์ตอบคำถามสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า “เห็นแล้ว น่ารักมาก”

แน่นอน นั่นคือจุดเริ่มต้นแรกแห่งความรัก ซึ่งเกิดขึ้น ณ เมือง Fontainebleau ชานกรุงปารีส ในปีพ.ศ.2491 นั้นเอง

ต่อมา วันที่ 4 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เรื่องนี้ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขียนเล่าใน “บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ตอนหนึ่งเล่าว่า สิ่งแรกเมื่อรู้สึกพระองค์คือทรงหยิบรูป ม.ร.ว.สิริกิติ์ออกจากพระกระเป๋า

โดยเป็นรูปแรกที่ทรงถ่าย ซึ่งเป็นรูปหมู่ที่ถ่ายตอนบุคคลเข้าเฝ้าฯ ณ สถานทูต ม.ร.ว.สิริกิติ์อยู่เป็นคนสุดท้าย เห็นหน้าไม่ชัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “ยู้ฮู คนข้างหลังโผล่หน้ามาหน่อยสิ” รูปนั้นทรงตัดเฉพาะหน้าม.ร.ว.สิริกิติ์ไว้ในพระกระเป๋า

จนกระทั่ง ม.ร.ว.สิริกิติ์ได้เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการ และถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ ที่สุดความรักความเข้าพระราชหฤทัยซึ่งกันและกัน ก็ได้สืบสานได้ถักทอเป็นความผูกพันแน่นแฟ้น

ที่สุด ผ่านมาราว 1 ปี ราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 ในหลวงได้มีรับสั่งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ไปเฝ้าที่สวิตเซอร์แลนด์ โดย ม.จ.นักขัตรมงคล ประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ 3 วัน คือ วันที่ 17-19 กรกฎาคม พ.ศ.2492

ในวันที่ 18 ในหลวงเสด็จฯ ไปพบหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ที่โรงแรมที่พัก ทรงมีรับสั่งถึงเรื่องการหมั้นกับหม่อมเจ้านักขัตรมงคลด้วยพระองค์เอง เมื่อพระองค์ทรงเจรจาเสร็จแล้ว สมเด็จพระราชชนนีจึงได้เสด็จตามเข้าไป

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอ ม.ร.ว.สิริกิติ์ต่อ ม.จ.นักขัตรมงคล ในระหว่างการเจรจาเรื่องการหมั้น ทรงรับสั่งว่า “ขอให้ทำกันเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น เมื่อคราวฉันเองก็ทำอย่างนี้ จะมีอะไรขัดข้องไหม?”

ม.จ.นักขัตรมงคลทูลตอบว่า “ตามแต่จะมีพระราชประสงค์”

จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 จึงได้มีการประกอบพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โฮเตลวินเซอร์ในเมืองโลซานน์ อันเป็นที่พักของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัว

‘ไบโอดีเซล’ เชื้อเพลิงพลังงานชีวภาพ จากพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9

พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงศึกษาวิจัยค้นคว้าพลังงานชีวภาพ แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล จากผลิตผลทางเกษตรในประเทศ และช่วยให้ประชาชนสามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาถูก กว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพของโครงการส่วนพระองค์จิตรลดา เริ่มต้นในปี 2528 ด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย มีพระราชดำริว่า ในอนาคตอาจเกิดการขาดแคลนน้ำมัน จึงมีพระราชประสงค์ให้นำอ้อยมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ต่อมาโครงการได้ศึกษาวิจัยการผลิตและกลั่นแอลกอฮอล์ จากพืชผลทางเกษตรหลายอย่าง เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง อ้อย มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมา จนสามารถผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% หรือที่เรียกว่า เอทานอล ไปกลั่นแยกน้ำ และใช้เป็นวัตถุดิบผสมน้ำมันเบนซินผลิตแก๊สโซฮอล์ โดยศึกษาทดลองสูตรการผสม และผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ใช้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์ฯ

ต่อมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำผลการศึกษาของโครงการส่วนพระองค์จิตรลดามาต่อยอด ผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เริ่มจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2545 ส่วน บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ศึกษาทดลองผลิตเอทานอลบริสุทธิ 99.5% จากมันสำปะหลัง แล้วนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 10% ทดแทนสาร เพิ่มออกเทน MTBE ที่ใช้แทนสารตะกั่ว ซึ่งต้องนำเข้าเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เริ่มจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ถ.ติวานนท์

ปัจจุบันน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน ซึ่งช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ส่วนหนึ่ง และยังช่วยลดมลพิษในอากาศได้อีกด้วย เพราะแก๊สโซฮอล์ไม่ต้องเติมสารตะกั่ว และสารเพิ่มออกเทน MTBE

ไบโอดีเซลในประเทศไทย เริ่มพัฒนามาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2526 ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มทดลองขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ.กระบี่ และอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา ในปี 2543 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และกองงานส่วนพระองค์ วังไกลกังวล หัวหิน เริ่มการทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จากการทดลองพบว่า น้ำมันปาล์ม บริสุทธิ์ 100% สามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลได้ โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นฯ หรืออาจใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลได้ ตั้งแต่น้อยสุด 1 - 99% ทั้งนี้องคมนตรี (อำพล เสนาณรงค์) เป็นผู้แทนในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ‘การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล’ แล้ว

จากโครงการพัฒนาและทดลองการผลิตการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในโครงการส่วนพระองค์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนเทคโนโลยีการผลิตการใช้ไบโอดีเซลก้าวหน้า สามารถนำมาใช้ในเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในทางพาณิชย์ได้ ผลการวิจัยในการนำน้ำมันพืชมาใช้ผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทย พบว่าน้ำมันพืชที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการผลิตไบโอดีเซล คือ น้ำมันปาล์ม

>> ไบโอดีเซลในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็นไบโอดีเซลชุมชน และไบโอเชิงพาณิชย์
ไบโอดีเซลชุมชน คือไบโอดีเซลที่กลั่นน้ำมันปาล์มออกมาเหมือนน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียว รอบเครื่องยนต์คงที่ เช่น รถไถนาเดินตาม รถอีแต๋น เครื่องสูบน้ำ แต่ไม่เหมาะกับการใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีหลายสูบ เช่นเครื่องยนต์ที่ใช้กับรถยนต์ เพราะระยะยาวจากเกิดยางเหนียวในเครื่องติดที่ลูกสูบ

สำหรับไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ คือ ไบโอดีเซลที่ใช้น้ำมันปาล์มผ่านกระบวนการไปผสมกับน้ำมันดีเซล โดยผู้ผลิตรถยนต์ทดสอบและให้การรับรองว่าใช้กับรถยนต์รุ่นที่ทดสอบแล้วได้

>> ไบโอดีเซลช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์ม
นอกจากการส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้ไบโอดีเซล เพื่อลดการการนำเข้าน้ำมันแล้ว ในยามที่ปาล์มมีราคาตกต่ำ รัฐบาลก็สนับสนุนส่งเสริมให้มีการผลิต การจำหน่าย การใช้ไบโอดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มในรถยนต์ด้วย

ที่ผ่านมาใช้น้ำมันดีเซลผสมกับน้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการในอัตรา 95 : 5 จะได้ไบโอดีเซล ที่เรียกว่า บี 5 ถ้าเป็นอัตรา 93 : 7 จะได้ไบโอดีเซลเรียกว่า บี 7 ซึ่งเป็นการเพิ่มความต้องการน้ำมันปาล์ม ที่สามารถยกระดับราคาปาล์ม ตามกลไกตลาดได้ระดับหนึ่ง

>> ปัจจุบันมีปัญหาราคาปาล์มตกต่ำอีก กระทรวงพลังงานจึงได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันไบโอดีเซล บี 10 เพื่อแก้วิกฤตราคาปาล์ม

บี 10 คือ น้ำมันไบโอดีเซล ที่มีอัตราผสมน้ำมันดีเซลอัตรา 90 ส่วน ต่อน้ำมันปาล์มผ่านกรรมวิธี 10 ส่วน ซึ่งจะสามารถเพิ่มความต้องการน้ำมันปาล์มได้ดีกว่า บี 5 และบี 7 นอกจากนี้ยังมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล บี 20 ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มผ่านกรรมวิธี 20% ด้วย

ในการผลักดันการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 10 ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซล นอกจากช่วยผู้ใช้รถประหยัดค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันแล้ว ยังเป็นการช่วยชาวสวนปาล์มด้วยทางหนึ่ง 

'ผู้พันเบิร์ด' เผย ข่าวให้ร้ายสถาบันฯ มาจากผู้เสียผลประโยชน์ ยืนยัน!! 'ในหลวง' ไม่เคยแบ่งแยก มองทุกคนเป็นคนไทย

'ผู้พันเบิร์ด' บรรยายพิเศษ เนื่องในวันเฉลิมพระชนม 70 พรรษา ย้ำ ข่าวลือให้ร้ายสถาบัน เกิดจากกลุ่มเสียผลประโยชน์ ยัน 'ในหลวง' ไม่เคยแบ่งแยก มองทุกคนเป็นคนไทย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 65 พ.อ. วันชนะ สวัสดี หรือ ผู้พันเบิร์ด รองโฆษกกระทรวงกลาโหม และจิตอาสา 904 บรรยายพิเศษในงานกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ วันเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ จ.นครนายก และนักเรียนเสธนาธิการทหารบกหลักสูตรหลักประจำชุดที่ 100 ในตอนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องข่าวลือให้ร้ายสถาบันว่า เกิดจากพวกเสียประโยชน์ประกอบกับ พวกแสวงประโยชน์ผสมโรงให้ร้าย บิดเบือน ในหลวงไม่เคยมองใครเป็นคนอื่น ทุกคนคือ เรา พวกเรา คือคนไทย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และทรงตอบคำถามแบบเป็นกันเอง ว่า

"ไม่มีใครคิดว่าหนูเป็นอื่น และหนูก็ไม่ได้เป็นอื่น เป็นคนไทย"

ผู้พันเบิร์ด ยังระบุอีกว่า ในต้นรัชกาลที่ 9 ก็เจออุปสรรคมากมาย แต่พระองค์ก็ใช้ความเพียร จนเอาชนะมาได้ จนมาวันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็อยู่ช่วงต้นรัชกาลเช่นกัน ข่าวลือในทางลบก็เกิดมาก แต่พระองค์ก็มีราชธรรมและบารมี ที่รวมใจคนไทยไว้ได้ โดยทั้งสองพระองค์ไม่เคยคิด แบ่งเขาแบ่งเรา ทุกคนที่ได้อาศัยผืนดินแห่งนี้ คือ พวกเราทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ชนชาติใด ไม่มีคำว่าคนอื่น เป็นครอบครัว

19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ระหว่างที่รถพระที่นั่งแล่นผ่าน ฝูงชนส่งเสด็จเดินทางจากสยามประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ณ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้มีเสียงหนึ่งตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" ในขณะนั้น ทรงนึกตอบในพระทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" 

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อยู่ในพระทัยของในหลวง ร.9 มาโดยตลอด พร้อมกับได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกประจำวัน "เมื่อข้าพเจ้าจากสยาม สู่สวิตเซอร์แลนด์" พระราชทานแก่หนังสือวงวรรณคดีไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกซาบซึ้งพระราชหฤทัยถึงน้ำใจของประชาชน ที่พร้อมใจกันมาส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดินในครั้งนั้น

ในช่วงนั้น บรรยากาศแห่งความเศร้าสลดครอบคลุมชาติไทย มองไปทางไหนมีแต่สีแห่งความทุกข์ คือสีดำเต็มไปหมด ความมหาวิปโยคเพิ่งเกิดขึ้นกับทวยราษฎร์ข้าแผ่นดิน เพราะเพิ่งสูญเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระปิยราชบรมราชกษัตริย์ไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่" เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่จะเป็นความหวังและที่พึ่งของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ประชาชนได้ทุ่มเทความรัก ความหวงแหนยิ่งถวายแด่พระองค์จนหมดสิ้น

๑๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สถิตในใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทย

พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top