19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ระหว่างที่รถพระที่นั่งแล่นผ่าน ฝูงชนส่งเสด็จเดินทางจากสยามประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ณ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้มีเสียงหนึ่งตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" ในขณะนั้น ทรงนึกตอบในพระทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" 

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อยู่ในพระทัยของในหลวง ร.9 มาโดยตลอด พร้อมกับได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกประจำวัน "เมื่อข้าพเจ้าจากสยาม สู่สวิตเซอร์แลนด์" พระราชทานแก่หนังสือวงวรรณคดีไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกซาบซึ้งพระราชหฤทัยถึงน้ำใจของประชาชน ที่พร้อมใจกันมาส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดินในครั้งนั้น

ในช่วงนั้น บรรยากาศแห่งความเศร้าสลดครอบคลุมชาติไทย มองไปทางไหนมีแต่สีแห่งความทุกข์ คือสีดำเต็มไปหมด ความมหาวิปโยคเพิ่งเกิดขึ้นกับทวยราษฎร์ข้าแผ่นดิน เพราะเพิ่งสูญเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระปิยราชบรมราชกษัตริย์ไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่" เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่จะเป็นความหวังและที่พึ่งของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ประชาชนได้ทุ่มเทความรัก ความหวงแหนยิ่งถวายแด่พระองค์จนหมดสิ้น

เมื่อถึงวันที่พระองค์ทรงอำลาผืนแผ่นดินไทยไปสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ ประชาชนทั้งหลายจึงรู้สึกเปล่าเปลี่ยว เหมือนคนไร้ที่พึ่ง ไร้พระบรมโพธิสมภารที่เคยร่มเย็น ขณะรถยนต์พระที่นั่งค่อย ๆ เคลื่อนอย่างช้า ๆ ผ่านหน้ามหาชนนับหมื่นนับแสนที่มาเฝ้าฯ ส่งเสด็จอยู่ด้วยความจงรักภักดี นาทีนั้นเอง ทุกคนรู้สึกตรงกัน เหมือนดวงใจถูกพรากหลุดลอยไป เกรงว่าพระองค์จะไม่เสด็จนิวัติประเทศไทยอีก เหลือสุดที่ประชาชนจะทนได้ จึงมีเสียงร้องทูลขอสัญญาว่า

" อย่าทิ้งประชาชน..."

"ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร"

นั่นคือพระราชสัจจะจากดวงพระราชหฤทัย ที่จะมีพระราชดำรัสกับประชาชนในขณะนั้น  

แม้เครื่องบินพระที่นั่งทะยานขึ้นสู่ฟ้ามหานครแล้ว แต่ถนนทุกสายยังเนืองแน่นด้วยประชาชนที่เฝ้ามอง "พระเจ้าอยู่หัว" จนระทั่งเครื่องบินลับหายไปจากสายตา  พร้อมกับดวงใจของประชาชนที่เฝ้ารอพระองค์กลับมา  ....เป็นมิ่งขวัญตลอดไป

และเสียงร้องทูลขอสัญญาของประชาชนในวันนั้น ตรึงตราประทับอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดมา เป็นสายใจผูกพัน ทำให้ทรงเป็น " พระเจ้าอยู่หัวของประชาชนอย่างแท้จริง "