Thursday, 22 May 2025
ในหลวงรัชกาลที่9

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เสด็จเยือนนครนิวยอร์ก ประชาชนกว่า 7 แสนคน รับเสด็จเนืองแน่น

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ประชาชนกว่า 7.5 แสนคน (จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ได้มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเหรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก โดยมีแถบกระดาษขนาดเล็กจำนวนมากโปรยปรายลงมาระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของการต้อนรับขบวนพาเหรดในนครนิวยอร์ก

โดยขบวนพาเหรดดังกล่าวกินเวลาประมาณ 20 นาที นำเสด็จจากถนนโลเวอร์บรอดเวย์ ไปถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก เมื่อเวลาประมาณ 12.25 นาฬิกา

“มันอลังการมาก เราเคยเห็นการต้อนรับแบบนี้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง และเราก็ตื่นเต้นมากที่ได้รับการต้อนรับแบบเดียวกัน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสกับโรเบิร์ต แวกเนอร์ (Robert Wagner) ผู้ว่านครนิวยอร์กในขณะนั้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะสงครามเย็น สื่อสหรัฐฯ จึงตั้งคำถามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงตอบว่า…

“ประชาชนชาวไทยต้องการสันติภาพ สันติภาพอันมีเกียรติ…เราไม่เคยยั่วยุผู้ใด แต่เราพร้อมที่จะปกป้องตนเองจากการรุกรานจากภายนอก”

15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ‘ในหลวง ร.9’ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้าง ‘สะพานพระราม 8’ หวังบรรเทาการจราจรจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

‘สะพานพระราม 8’ เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งที่เสด็จทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงปัญหาการจราจรของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี และเป็นจุดเชื่อมต่อส่วนสุดท้ายของโครงข่ายจตุรทิศ ตะวันตก-ตะวันออก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ทั้งนี้ สะพานพระราม 8 จะช่วยเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีให้สะดวกสบายขึ้น ซึ่งจะช่วยระบายรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% และบนสะพานกรุงธนอีก 20% และยังสามารถลดมลพิษทางอากาศบริเวณในเมือง โดยเริ่มเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เวลา 7:00 น. ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดสะพานพระราม 8 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน ปีเดียวกัน

>> สำหรับการออกแบบ

ความโดดเด่นสวยงามที่เกิดขึ้น ผสมผสานไปด้วยศิลปะแบบไทย จากแนวคิดในการสร้างเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร กรุงเทพมหานครจึงได้อัญเชิญ ‘พระราชลัญจกร’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ มาเป็นต้นแบบในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม

ส่วนประกอบต่าง ๆ ของสะพานเน้นความโปร่งบาง เรียบง่าย และสวยงาม วัสดุที่ใช้ในโครงสร้างของสะพานเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น ในส่วนสะพานเสาสูงรูปตัว Y คว่ำ เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำหน้าที่หิ้วส่วนโครงสร้างสำคัญอื่น ๆ ของสะพาน ซึ่งมองเห็นได้ในระยะไกล ๆ ได้ออกแบบโดยใช้เค้าโครงมโนภาพของเรือนแก้ว

บริเวณด้านล่างซึ่งเป็นฐานของเสาถูกพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ หรือสวนหลวงพระราม 8 ซึ่งมีก่อสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 8 ที่ใหญ่กว่าขนาดพระองค์จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเปิดพระบรมรูปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 คู่แท้แห่งแผ่นดิน!! พระราชพิธีหมั้น ‘ในหลวง ร.9 - พระบรมราชชนนีพันปีหลวง' การสืบสานความผูกพันของทั้งสองพระองค์ ที่พสกนิกรชาวไทยล้วนปลื้มปีติ

วันนี้เมื่อ 75 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติ โดยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ทรงประกอบพระราชพิธีหมั้นกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

จุดเริ่มต้นของการสืบสานความผูกพันของทั้งสองพระองค์ เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2491 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จจากเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มายังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยการเสด็จครั้งนั้น มีหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ในฐานะเอกอัครราชทูต ให้การเฝ้ารับเสด็จฯ พร้อมด้วยครอบครัว

ทั้งนี้ หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวที่ให้การเฝ้ารับเสด็จฯ ในครั้งนั้น มีหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นบุตรีของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล เข้าร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย จึงเป็นที่มาของการที่ทั้งสองพระองค์ทรงได้พบกันเป็นครั้งแรก

ต่อมา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการ และถวายการพยาบาลอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ จึงกลายเป็นความรักความเข้าพระราชหฤทัยซึ่งกันและกัน และสืบสานความผูกพันมากขึ้นเป็นลำดับ

ราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีรับสั่งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลไปเฝ้าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระองค์จะเสด็จไปพบหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ที่โรงแรมที่พัก และทรงมีรับสั่งถึงเรื่องการหมั้น

จากนั้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 จึงได้มีการประกอบพระราชพิธีหมั้นเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินด์เซอร์ เมืองโลซาน อันเป็นที่พักของหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสวมพระธำมรงค์เป็นของหมั้นต่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ซึ่งพระธำมรงค์วงนี้ เป็นวงเดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมอบต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี ในพระราชพิธีหมั้น เมื่อปี พ.ศ. 2462

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการประจำพระองค์ ทำหนังสือแจ้งข่าวที่ทรงหมั้นมายังรัฐบาลไทย ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น รัฐบาลได้แจ้งประกาศข่าวอันเป็นมงคลนี้ให้พสกนิกรทราบ ยังความปลื้มปีติยินดีแก่เหล่าประชาชนชาวไทยถ้วนทั่วหน้ากัน

'ในหลวง ร.9' ทรงทำนายอนาคต 'แบดมินตันไทย' หนึ่งในกีฬาที่คนไทยสามารถก้าวสู่ระดับโลกได้

(7 ส.ค. 67) ‘กีฬาแบดมินตัน’ เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 'รัชกาลที่ 9' โปรดปรานมาก พระองค์ทรงนิยมเล่นหลายประเภท ทั้งประเภทคู่ และประเภทสามคน ในช่วงเวลานั้น กีฬาแบดมินตันของประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

ครั้งหนึ่ง 'ในหลวงรัชกาลที่ 9' ทรงรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถจะไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบทางด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป โดยทรงมีรับสั่งถึงประเด็นนี้หลายครั้ง และต่อมาได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ให้กับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2493

ในฐานะนักกีฬา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแบดมินตันอย่างนักกีฬาไม่ทรงแสดงอาการกริ้ว หรือพิโรธอย่างใด เมื่อทรงลูกเสีย หรือแม้กระทั่งผู้ที่ถวายตีลูกเสีย หรือทรงถูกกระทบกระทั่งถึงพระวรกาย จากความเข้มข้นในเกมการเล่น ก็ไม่ทรงถือพระองค์แต่อย่างใด อันแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นนักกีฬาที่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง

นอกจากทรงแบดมินตันเป็นการส่วนพระองค์แล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการกีฬาแบดมินตันเป็นอันมาก ทรงสามารถวิเคราะห์ถึงการเล่น และรับสั่งวิจารณ์ถึงวิธีการเล่นของนักแบดมินตันระดับโลกแต่ละคนได้เป็นอย่างดี และทรงนำมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาฝีมือเทคนิคการเล่นของพระองค์เอง

อีกทั้งยังทรงชี้แนะพระราชทานข้อแก้ไขเทคนิคการเล่นแก่นักกีฬาของไทยด้วยพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ก่อเกิดการพัฒนาอย่างใหญ่หลวง แก่กีฬาแบดมินตันในประเทศไทย จนเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในเวทีแบดมินตันโลกได้ในที่สุด

แม้ในระยะหลังของรัชกาล จะทรงเล่นแบดมินตันน้อยลงจนต้องงดไปในที่สุด แต่ก็ยังทรงสนับสนุนกีฬาชนิดนี้เรื่อยมา และส่งต่อความสนใจมาถึง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทั้งยังทรงพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพนักแบดมินตันไทยไปสู่ระดับโลกเรื่อยมา

สำหรับความเป็นมาของแบดมินตันในไทยนั้น การเล่นแบดมินตันได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในราวปี พ.ศ. 2456 โดยเริ่มเล่นกีฬาแบดมินตันแบบมีตาข่าย โดยพระยานิพัทยกุลพงษ์ ได้สร้างสนามแบดมินตันขึ้นที่บ้าน ตั้งอยู่ริมคลองสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี แล้วนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายออกไป การเล่นแบดมินตันครั้งนั้น นิยมเล่นข้างละ 3 คน

จากนั้น ประมาณปี พ.ศ. 2462 สโมสรกลาโหมได้จัดแข่งขันแบดมินตันทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดการแข่งขัน 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทเดี่ยว, ประเภทคู่ และประเภทสามคน ปรากฏว่าทีมแบดมินตันบางขวางนนทบุรี (โรงเรียนราชวิทยาลัยบางขวางนนทบุรี) ชนะเลิศทุกประเภท และมีนักกีฬาแบดมินตันฝีมือดี เดินทางไปแข่งขันยังประเทศใกล้เคียงอยู่บ่อยๆ

ปี พ.ศ. 2494 พระยาจินดารักษ์ได้ก่อตั้งสมาคมชื่อว่า 'สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย' เมื่อแรกเริ่ม มีอยู่ 7 สโมสร คือ สโมสรสมานมิตร, สโมสรบางกอก, สโมสรนิวบอย, สโมสรยูนิตี้, สโมสร ส.ธรรมภักดี, สโมสรสิงห์อุดม และ สโมสรศิริบำเพ็ญบุญ ในปีเดียวกัน สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย 

สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย มีนักกีฬาแบดมินตันที่มีฝีมือดีอยู่มาก และจากการที่ได้เข้าแข่งขันในรายการต่างๆ ของโลก ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งโธมัสคัพ อูเบอร์คัพ และการแข่งขันออลอิงแลนด์ ซึ่งวงการกีฬาแบดมินตันถือว่าเป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศระดับโลกประเภทรายบุคคล ซึ่งนักกีฬาของประเทศไทยก็เคยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศทั้ง ประเภทชายเดี่ยว และชายคู่มาแล้ว วงการแบดมินตันของไทยยกย่อง นายประวัติ ปัตตพงศ์ (หลวงธรรมนูญวุฒิกร) เป็นบิดาแห่งวงการแบดมินตันของประเทศไทย

ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ได้บันทึกว่า "การแข่งขันในวันนั้นเป็นการแข่งขันหน้าพระที่นั่งและเป็นการแข่งขันที่คนดูมากที่สุด เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งภายหลังจากการแข่งขันว่าเป็นการแข่งขันที่สนุก ทั้งตันโจฮอค และข้าพเจ้า แข่งขันกันอย่างนักกีฬา มียิ้มหัวกันตลอดเวลาร่วมชั่วโมงที่ขับเคี่ยวกัน" 

"เป็นบุญวาสนาของวงการแบดมินตันไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย มิเพียงแต่เป็นสมาคมที่อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น แต่พระองค์ท่านยังทรงกีฬาแบดมินตันเป็นพระราชกิจวัตร และโปรดปรานแบดมินตันอย่าง ชนิดจะหาพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลกมาเปรียบเทียบมิได้ ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม วงการแบดมินตันไทยสมัยนั้นได้รับการอุ้มชูสนับสนุนอย่างดีที่สุด และพระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา จึงมีความสัมพันธ์กับวงการแบดมินตันของไทยอย่างแน่นแฟ้นตราบเท่าทุกวันนี้"

“พวกเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณเข้าเฝ้ากราบบังคมลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นักแบดมินตันไทยทั้ง 4 ให้พวกเรากระทำตนเป็นนักกีฬาที่ดี รักษาชื่อเสียงของประเทศชาติ และข้าพเจ้าเนื้อตัวสั่นด้วยความตื่นเต้นและตื้นตันใจ เมื่อรับสั่งชมข้าพเจ้าว่า วันที่แข่งขันกับ ตันโจฮอก เจริญเล่นได้ดี เล่นได้สนุก ไม่เคร่งเครียด สมเป็นนักกีฬาที่ดี จากกระแสรับสั่งในครั้งนั้น ได้มีอิทธิพลอย่างมหาศาลทำให้ข้าพเจ้าเพิ่มความสนุกในการเล่นของตนเองเสมอ และทำให้เข้าใจซาบซึ้งถึงแก่นแท้และคุณค่าของคำว่า นักกีฬา"

นี่คือส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอด คือ พระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อวงการแบดมินตันของประเทศไทย ให้พัฒนาจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน 

19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 'พสกนิกรไทย' ร่วมส่งเสด็จฯ 'ในหลวง ร.9' พร้อมตะโกนก้อง ขออย่าละทิ้งพวกเขา พระองค์ทรงนึกตอบในใจ “ถ้าปชช.ไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งปชช.อย่างไรได้”

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สวรรคตกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สืบต่อไป

แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

เดิมทีรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติ แค่ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบรมเชษฐาธิราชเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน แต่ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ที่ทรงจดจำไม่มีวันลืม คือ…

พระราชนิพนธ์บันทึกประจำวันบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ระหว่างวันเสด็จพระราชดำเนิน จากสยามสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คงพอจะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของประชาชน ที่พร้อมใจส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 

“...วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้นแล้ว ก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้าและแววตาชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใย อันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกคน ถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัย และขอบใจเขาเช่นกัน ขวัญของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสียมีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอและแตกสลาย

พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริง ๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพรได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดัง ๆ เข้าพระกรรณ์ ว่า…”

“ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน...”

พระองค์จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “...ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้...”

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ ดังที่ได้ตรัสตอบชายคนเดิมนั้นในอีก 20 ปีต่อมา หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระอิสริยยศ ขณะนั้น) ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก

แม่น้ำเจ้าพระยา 2 ทางน้ำเลี่ยงเมืองหยุดน้ำท่วมอยุธยา คลองยักษ์ระบายน้ำ จากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9

ไม่นานมานี้ เพจ 'Bangkok I Love You' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

หนึ่งเมกะโปรเจกต์ อลังการงานสร้าง ที่ก่อสร้างกันแบบเงียบ ๆ เงียบมากกกกกก ไร้การโปรโมต ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่อนุมัติโครงการนี้ เมื่อปี 2560 คลองยักษ์ระบายน้ำบางบาล-บางไทร ระยะทางกว่า 22.5 กม. ความกว้างของคลอง 100-200 เมตร มูลค่าการก่อสร้าง 21,000 ล้านบาท

จากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 54 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงก่อให้เกิดเมกะโปรเจกต์ แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ แบบเต็มรูปแบบ ในสมัยรัฐบาล คสช. นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติโครงการนี้ ในการประชุม ครม. สัญจรที่ จ.อยุธยา เมื่อปี 2560 โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้าง

อยุธยา น้ำจะไม่ท่วมอีกต่อไป!! เผื่อคนอยุธยาไม่รู้

‘กองทัพเรือ’ ลำเลียงเรือหลวง ต.99 จัดวางหน้าประตูกองเรือยุทธการ เพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจ ‘ในหลวง ร.9’ อันมากล้นต่อกองทัพเรือ

(6 ก.ย. 67) พล.ร.ต.วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือเปิดเผยว่า กองทัพเรือ ได้ทำการลำเลียงเรือ ต.99 ที่ได้ปลดระวางประจำการแล้ว มายังหน้าประตูใหญ่ กองบัญชาการกองเรือยุทธการ ถนนสุขุมวิท อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังจากได้ทำการปรับภูมิทัศน์ พร้อมทั้งจัดทำโครงสร้างรองรับเรือ ต.99 บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้ากองเรือยุทธการ รองรับไว้แล้ว

สำหรับเรือ ต.99 เป็นเรือที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชทานพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพึ่งพาตนเอง โดยเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการต่อเรือยนต์รักษาฝั่ง ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2503 จึงทำให้กองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ รับสนองพระราชดำริ โดยการต่อเรือในชุดเรือ ต.91 ( เรือ ต.91 - เรือ ต.99 ) 

ในระหว่างการดำเนินการนั้น โดยพระองค์ ทรงพระราชทานคำแนะนำ ตลอดจนแก้ปัญหาต่าง ๆ อันเกิดจากกระบวนการต่อเรือ รวมถึงทรงเป็นธุระ ติดต่อกับสถาบันวิจัย และทดลองแบบเรือแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ให้ทำการทดสอบแบบของเรือ ต.91 แม้แต่การทดสอบเรือในทะเล พระองค์ก็ทรงเสด็จไปร่วมทดสอบด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงตรวจแก้ข้อผิดพลาดต่าง ๆ จนทำให้การต่อเรือสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ในส่วนของเรือ ต.99 นั้นเป็นเรือที่ประจำการอยู่ในสังกัดกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ ปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวนรักษาอธิปไตยของชาติและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นระยะเวลายาวนานถึง 34 ปี และได้ปลดระวางเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีคุณูปการต่อกองทัพเรือเป็นอเนกอนันต์ กองทัพเรือ จึงได้พิจารณานำ เรือ ต.99 ซึ่งถือเป็น 1 ใน 9 เรือรบหลวงที่ต่อขึ้นใช้เองในช่วงปี 2511 - 2530 มาตั้งทดแทนประตูทางเข้ากองเรือยุทธการเดิม เพื่อเป็นสถานที่อนุรักษ์ และเชิดชูชุดเรือหลวงของพ่อที่ทรงมีดำริให้กองทัพเรือต่อเรือใช้เอง สนองโครงการเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

บทเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ โอบอุ้มหัวใจคนไทยให้รัก-โอบกอดประเทศ | THE STATES TIMES Story EP.153

เพลง 'แผ่นดินของเรา' หรือ 'Alexandra' เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 34 ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เนื่องในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. 2502 

วันนี้ THE STATES TIMES Story ได้หยิบยกเรื่องราวของเพลง 'แผ่นดินของเรา' มาเล่าสู่กันฟัง รับรองเลยว่าท่านผู้ฟังจะรู้สึกอบอุ่นหัวใจ และอยากโอบกอดประเทศไทยไปพร้อม ๆ กันแน่นอน

18 กันยายน พ.ศ. 2521 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงมีรับสั่ง “ถ้าน้ำแรง ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย” จุดเริ่มต้นก่อสร้าง ‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ’ จังหวัดยะลา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2521 หรือ 46 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง ร.9 พร้อมด้วยสมเด็จฯพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ เสด็จฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งจากการเสด็จฯ ในวันนี้ ได้ทำให้เกิดโครงการ ‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ’ ขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง ในเวลาต่อมา 

ในช่วงเวลาของการก่อสร้างเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกของภาคใต้ตอนล่างนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากในการก่อสร้าง เนื่องด้วยในขณะนั้นยังมีการต่อสู้กับผู้ก่อการความไม่สงบคอมมิวนิสต์ โดยในระหว่างการก่อสร้างในหลวง ร.9 และพระราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขื่อนแห่งนี้หลายครั้ง ด้วยพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน 

ในการเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อ 46 ปีก่อน เพื่อมาทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเขื่อนบางลาง โดยมีนายเกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในขณะนั้นร่วมรับเสด็จ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรฝายละแอ ซึ่งเป็นฝายทดน้ำขนาดเล็กจากคลองละแอที่สร้างด้วยการเจาะอุโมงค์ขนาดเล็กและต่อท่อส่งน้ำไปให้ประชาชนในหมู่บ้านสันติใช้ 

พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กราบบังคมทูลว่า น้ำประปาไหลแรง เพราะต่อน้ำลงมาจากที่สูงทำให้ก๊อกน้ำเสียเป็นประจำ ในหลวง ร.9 จึงทรงมีรับสั่งขึ้นว่า 

“ถ้าน้ำแรง ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย”

จากแนวพระราชดำริดังกล่าวนั้นเอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 1,275 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง และติดตั้งท่อส่งน้ำยาว 1,800 เมตร สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเดือนตุลาคม 2525 

นับเป็นอีกหนึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริ เพราะทรงห่วงใยต่อพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารหรือในพื้นที่ห่างไกล ทรงสนพระทัยสอบถามถึงความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องน้ำบริโภคและทำการเกษตร ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พึ่งพาตนเองได้ และทุกครั้งที่ทรงมองเห็นโอกาสในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน จะทรงมีแนวพระราชดำริ ให้ใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็ก ที่นอกจากเพื่อเก็บกักน้ำแล้วยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนได้อีกด้วย

5 ตุลาคม ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ เทิดพระเกียรติ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’

วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และทรงได้มีพระราชดำรัสแสดงถึงความเป็นนวัตกรรมของ ‘โครงการแกล้งดิน’ ที่ไม่มีใครทำมาก่อน ทั้งนี้ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ทำเป็นตำรา คือ ‘คู่มือปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร’ สำหรับที่จะใช้พัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่น ๆ ต่อไป

ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณกันทั่วทิศานุทิศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์เป็น ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ จากการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ 

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้

1. เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น 'พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย'
2. ให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น 'วันนวัตกรรมแห่งชาติ'


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top