Tuesday, 14 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่9

ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระพันปีหลวง ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ พระราชอาคันตุกะ

วันนี้ เมื่อ 17 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แด่พระประมุข พระราชอาคันตุกะ จาก 25 ประเทศ ที่มาร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี

งานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำครั้งประวัติศาสตร์จัดถวายอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติพระราชอาคันตุกะทั้ง 25 ประเทศ ภายในท้องพระโรงพระที่นั่งบรมราชาสถิตยมโหฬาร อันเป็นพระที่นั่งองค์ใหม่ที่จัดอย่างงดงามตระการตา เป็นที่ประทับพระทัยของพระราชอาคันตุกะเป็นอย่างยิ่ง ส่วนช่วงก่อนถึงงานเลี้ยงพระราชทานนั้น พระราชอาคันตุกะหลายพระองค์เสด็จพักผ่อนพระอริยาบถทั้งทอดพระเนตรความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา เสด็จวัดพระแก้ว และทรงเยี่ยมบ้านจิม ทอมป์สัน

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ถือเป็นอีกหนึ่งความสำคัญของงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นก็คืองานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ จากทั้ง 25 ประเทศ

เหตุการณ์ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รับเสด็จพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ที่ พระที่นั่งบรมราชาสถิตยมโหฬาร โดยถวายเลี้ยงพระราชทานเป็นโต๊ะเสวยรูปยาวขนานไปกับห้องจัดเลี้ยงภายในท้องพระโรงใหญ่

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสขอบพระทัยพระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศ และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะทรงเป็นผู้แทนประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

16 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ บ้านปอน อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ทรงเยี่ยมทหาร - ตำรวจ ในเขตต่อสู้ผู้ก่อการร้าย

วันนี้ เมื่อ 53 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ บ้านปอน อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ทรงเยี่ยมให้กำลังใจทหาร-ตำรวจ ที่ปฏิบัติการต่อสู้ผู้ก่อการร้าย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยัง บ้านปอน อำเภอทุ่งช้าง และบ้านน้ำยาว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เพื่อทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ และราษฎรที่ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว อยู่ในเขตปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้าย

นอกจากนั้น ยังได้เสด็จ ทอดพระเนตรรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบที่ผู้ก่อการร้ายลอบยิงจนชำรุดในพื้นที่เขตทางหลวง และทอดพระเนตรความเสียหายของเส้นทางที่ถูกผู้ก่อการร้ายคุกคาม บนถนนหมายเลข 1080 สายน่าน - ปัว - ทุ่งช้าง - ปอน - ห้วยโก๋น

ภายหลังได้ตรวจเยี่ยมบริเวณฐานปฏิบัติการ มีพระราชปฏิสันถารกับทหารและเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงทุกคนแล้ว จากนั้นเสด็จฯ ยังเขื่อนภูมิพล เพื่อประทับแรม ณ เขื่อนภูมิพล

CR. คนสร้างทาง 99 สู่100 ปี กรมทางหลวง 

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนนครนิวยอร์ก ปชช.กว่า 7.5 แสนคน รับเสด็จแน่นถนนบรอดเวย์

ภาพแห่งความทรงจำไทย-สหรัฐ: นครนิวยอร์กถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างสมพระเกียรติ ด้วยขบวนพาเหรดสายรุ้งอันสวยงาม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 โดยมีชาวนิวยอร์กกว่า 750,000 คนมาคอยเฝ้าชมพระบารมี แน่นถนนบรอดเวย์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ประชาชนกว่า 750,000 คน (จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ได้มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเหรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก โดยมีแถบกระดาษขนาดเล็กจำนวนมากโปรยปรายลงมาระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของการต้อนรับขบวนพาเหรดในนครนิวยอร์ก

ขบวนพาเหรดดังกล่าวกินเวลาประมาณ 20 นาที นำเสด็จจากถนนโลเวอร์บรอดเวย์ ไปถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก เมื่อเวลาประมาณ 12.25 นาฬิกา

“มันอลังการมาก เราเคยเห็นการต้อนรับแบบนี้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง และเราก็ตื่นเต้นมากที่ได้รับการต้อนรับแบบเดียวกัน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสกับ โรเบิร์ต แวกเนอร์ (Robert Wagner) ผู้ว่านครนิวยอร์กในขณะนั้น

ในช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะสงครามเย็น สื่อสหรัฐฯ จึงตั้งคำถามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งพระองค์ได้ทรงตอบว่า

“ประชาชนชาวไทยต้องการสันติภาพ สันติภาพอันมีเกียรติ…เราไม่เคยยั่วยุผู้ใด แต่เราพร้อมที่จะปกป้องตนเองจากการรุกรานจากภายนอก”

พาเที่ยว ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย’ ชมงานศิลป์ชิ้นเอก ที่ประเมินค่ามิได้

พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA)  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากความหลงใหลในงานศิลปะของ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ที่ได้สะสมมาตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา 

การเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยนั้น ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และก็เพื่อเชิดชูเกียรติของบิดาแห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัย อย่าง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยนั้น จะมีการออกแบบอย่างสวยงามและอาร์ทสุดๆ สมกับที่เป็นพิพิภัณฑ์ศิลปะมาก ที่ด้านนอกของอาคารแห่งนี้ ก็ได้มีการนำเอาหินทั้งก้อนมาแกะสลักอย่างประณีตให้กลายเป็นลายก้านมะลิ ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และมีลายฉลุเพื่อให้แสงแดดสามารถส่องทะลุลงมา โดยแสงที่ส่องลงมานั้น ในแต่ละช่วงเวลาก็จะให้อารมณ์ที่แตกต่างกันไปอีกด้วย

อาคารของพิพิธภัณฑ์ที่ขาวนวล ดูสะอาดตา มีพลังอันยิ่งใหญ่ที่เรารู้สึกได้ทันที เมื่อได้เดินทางมาถึงที่นี่ ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยแห่งนี้ ก็จะมีการจัดแสดงผลงานศิลปะของบรรดาศิลปินแห่งชาติหลายๆ ท่าน อาทิเช่น อ.ถวัลย์ ดัชนี อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นต้น 

เมื่อเดินเข้ามาที่ ชั้น G ที่นี่จะเป็นบริเวณของห้องนิทรรศการถาวร ที่จะจัดแสดงผลงานประติมากรรม ของ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ และ ห้องนิทรรศการถาวรงานจิตรกรรม ของ ศาสตราจารย์ชะลูด นิ่มเสมอ

ในส่วนของชั้นที่ 2 ก็จะเป็นห้องนิทรรศการถาวรงานศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งก็จะแบ่งเป็นศิลปะที่สะท้อนวิถีชีวิตของแต่ละยุคแต่ละสมัยจากรุ่นสู่รุ่น จัดแสดงความหลากหลายในปัจเจกภาพทางความคิด ผลงานศิลปะล้วนสะท้อนวิถีชีวิตของยุคสมัย ทัศนะ ความคิด อุดมคติ และความเป็นไปของเหตุการณ์ในสังคม อาทิ ผลงานสื่อผสมของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมและสื่อผสม ในส่วนของห้องนิทรรศการผลงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเชื่อของคนไทย ค่านิยมทางสังคม เช่น ผลงานของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ, ปรีชา ปั้นกล่ำ, วุฒิกร คงคา, ทวี รัชนีกร, วีรศักดิ์ สัสดี, ลำพู กันเสนาะ, เด่นพงษ์ วงศาโรจน์ รวมถึงงานจิตรกรรมเชิงพุทธปรัชญา โดยศิลปิน รุ่นใหญ่อีกหลายท่าน อาทิอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์ ปัญญา วิจินธนสาร และ อาจารย์ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ เป็นต้น

ชั้น 3 ของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย แห่งนี้ได้จัดแสดงงาน ที่เน้นศิลปะเชิงความคิดฝันและจินตนาการภายใต้คติและความเชื่อของคนไทย  หลายๆภาพในห้องจัดแสดงห้องนี้ ก็จะเล่าเรื่องผ่านภาพเรือนร่างของผู้หญิงในอุดมคติ  อย่างภาพ “นางผมหอม” นางในวรรณคดีโดยถ่ายทอดออกมาจาก จากศิลปินไทยคนสำคัญ สุภร พรินทรากุล  นอกจากนี้ยังมีเรือนไทยไม้สัก “เรือนนางพิม” ซึ่งจัดแสดงงานจิตรกรรมสองยุคสมัย ที่เล่าเรื่องราวของนางพิมพิลาไลย สตรีจากวรรณกรรมไทยที่ถูกกล่าวขานใน 2 บริบท ผ่านเรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ใน 2 รูปแบบที่แตกต่างกันโดยเหม เวชกร และสุขี สมเงิน

ชั้น 4 ของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ก็ได้จัดแสดง ผลงานที่ถือเป็นสุดยอดแห่งมหากาพย์ของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ประกอบด้วยผลงานทุกประเภทของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม ปราชญ์ผู้เป็นตำนานแห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัย ทั้งสุดยอดแห่งผลงานวาดเส้นและผลงานที่แสดงออกถึงพลังการเคลื่อนไหวของอารมณ์ด้วยฝีแปรง

เดินต่อมาทางอีกฟากหนึ่งของอาคาร เดินทะลุสะพานข้ามจักรวาลมา ก็จะได้พบกับผลงานจิตรกรรมขนาดความสูง 7 เมตร จำนวน 3 ภาพในชุด “ไตรภูมิ” บอกเล่าการเวียนว่ายตายเกิด ของสรรพสัตว์ในสังสารวัฏตามคติความเชื่อในทางพุทธศาสนา

เมื่อเดินขึ้นมาถึงที่ชั้น 5 ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็จะได้พบกับงานศิลปะร่วมสมัยจากหลายประเทศ เช่น จีน, เวียดนาม, มาเลเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, นอร์เวย์ และห้องที่โดดเด่นที่สุดก็คือห้อง Richard Green ซึ่งจำลองห้องนิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ในแถบยุโรปที่มีหลังคากระจกโค้งรับแสงธรรมชาติ โดยจัดแสดงผลงานจิตรกรรมจากศิลปินยุโรปฝีมืออันดับต้นๆ ในยุคพระนางเจ้าวิคตอเรียซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ของไทย ซึ่งผลงานทุกชิ้นถูกดูแลรักษาเก็บเอาไว้อย่างถะนุถนอมเป็นอย่างดี ผลงานบางชิ้นมีอายุตั้งเกือบ 300 ปี เก่าแก่และทรงคุณค่าทางด้านศิลปะที่มิอาจประเมินค่าได้เลย

ข้อมูลเพิ่มเติม
เปิดบริการ วันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) 10.00-18.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/JU9BpESRmL2XhCkN7  
ค่าเข้าชม ราคา 280 บาท 

‘ดร.ทมิตา’ เล่าถึงพระเมตตาของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ หลังทรงพระราชทานสัญชาติไทยแก่ชาวกะเหรี่ยง-ชาวมอญ

เมื่อไม่นานนี้ ได้มีผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่ง ชื่อ ‘dr.tammytiktok’ หรือ ‘ดร.ทมิตา วนาพิทักษ์กุล’ ได้ออกมาเล่าประสบการณ์ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานสัญชาติไทยให้แก่ชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ โดย ดร.ทมิตา กล่าวว่า…

“โอชุงลาไซค่ะ (แปลว่า สวัสดีค่ะ) ดิฉัน ‘ดร.ทมิตา วนาพิทักษ์กุล’ สาวกะเหรี่ยงบ้านๆ คนหนึ่ง ที่ได้รับ ‘สัญชาติไทย’ จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เด็กกะเหรี่ยงที่ไม่มีสัญชาติ เด็กกะเหรี่ยงที่ไม่มีทุนการศึกษา พ่อแม่ยากลำบากจนไม่มีคำไหนที่จะสามารถบรรยายได้ แต่สิ่งที่เราบรรยายจากหัวใจของเราได้ คือ กราบขอบพระคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 และราชวงศ์ทุกๆ พระองค์ ที่ยังสานต่อด้วยการดูแลประชาชน คนที่ไร้สัญชาติในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์อีกมากมาย และจนถึงทุกวันนี้ทั้งนายอำเภอ ทั้งผู้ใหญ่ที่ใจดีทุกท่าน ก็ยังคงสานต่อสิ่งเหล่านี้อยู่ ทั้งชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ ก็ยังคงได้รับโอกาสดีๆ เหมือนที่ ดร.คนนี้ได้รับเช่นกัน

สิ่งสำคัญที่น้องๆ คนรุ่นหลังอาจจะไม่รู้ เพราะหนูโตขึ้นมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกให้พวกหนูหมดแล้ว แต่คนรุ่นก่อนอย่างพี่ที่ผ่านการใช้ชีวิตที่ยากลำบากมา ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีทีวีดู แต่มีหนึ่งสถาบันฯ ที่เข้ามาช่วยซัพพอร์ต คือ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ วันนี้เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เราไม่ว่า… แต่ขออย่ามาเหยียบ อย่ามาย่ำสถาบันฯ นี้เลยค่ะ เพราะยังมีคนอีกมากมายที่รักและยังคงธำรงไว้ เทิดเกล้า เทิดกระหม่อม ขออย่าไปยุ่งเลยค่ะ เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเรารู้ดีอยู่แล้ว ดังนั้น ทำดีเพื่อพ่อหลวงของเรา รับผิดชอบตัวเองตามรอยพระราชดำรัส เศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีคำว่าเศรษฐกิจไม่ดีค่ะ ถ้าหากว่าวันนี้เรารับผิดชอบตัวเอง ขอบคุณค่ะ”

‘ในหลวงรัชกาลที่ 10’ ทรงใจกว้าง ส่งสารถึงคนรุ่นใหม่ หลังเคย Selfie กับนักการเมือง แล้วมาถ่ายกับในหลวง

เมื่อไม่นานนี้ มีผู้ใช้ติ๊กต็อก ชื่อบัญชี ‘klapandee’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอเมื่อนานมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะทรงตรัสกับเด็กวัยรุ่นอย่างเป็นกันเอง โดยในคลิปได้มีเด็กวัยรุ่นชายคนหนึ่งทูลถาม พร้อมกับขอพระราชทานอภัยโทษในหลวง ร.10 โดยกล่าวว่า…

“ที่กระหม่อมมีภาพถ่ายคู่กับท่านนายกฯ ท่านนักการเมืองหลายๆ คนอาจจะทําให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขุ่นเคืองพระราชหฤทัย กระหม่อมขอพระราชทานอภัยโทษด้วยนะครับ”

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสกับเด็กวัยรุ่นด้วยความเมตตาและเป็นกันเองว่า…

“จะถ่ายรูปกับใคร ชอบใครก็ถ่ายได้ เราเป็นวัยรุ่น เราจะไปถ่ายกับใครมันก็เป็นเรื่องของเราที่จะไปถ่ายกับใครก็ได้ ตัวเราเองตอนเด็กๆ ก็ยังอยากถ่ายกับนักแสดง กับดาราเหมือนกัน ถ่ายคนดีบ้างไม่ดีบ้างมันก็ของธรรมดา ไม่เห็นน่าเดือดร้อนอะไรเลย จงสบายใจได้”

เด็กวัยรุ่นชายคนนั้นได้ทูลกลับไปด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และเต็มไปด้วยความปลื้มปิติว่า “เป็นคําตอบที่ทำให้กระผมน้ำตาไหลเลยครับ ไม่คิดว่าจะได้ยินคําตอบแบบนี้”

ย้อนฟังคำสัมภาษณ์ ‘อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน’ เผยความจริงเกี่ยวกับพระราชอำนาจของสถาบันฯ

จากคลิปเมื่อนานมาแล้ว นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 18 ของไทย ได้ออกมาพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านรายการ ‘สยามวาระ’ ตอน ‘สถาบันพระมหากษัตริย์กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย’ เมื่อวันพุธที่ 12 ธ.ค.2555 ทางไทยพีบีเอส โดยระบุว่า…

“ผมมองว่าพระองค์ท่านนั้น ทรงเป็น ‘นักประชาธิปไตย’ นะครับ แต่ท่านมีขอบจํากัด อย่าไปนึกว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา หรือพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ท่านเป็นชนชาวไทย แต่ท่านขาดสิทธิมากมาย สิทธิอันหนึ่งที่ท่านทั้งสามพระองค์ทรงขาดไปอย่างมาก คือท่านไม่สามารถโต้ตอบอะไรได้เลยครับ สมมติท่านรู้ดีว่า นายกฯ รัฐมนตรี หรืออธิบดีคนนั้นคนนี้ก็ดี หรือเหล่านักธุรกิจ เวลาเขาพูดไม่จริง ท่านก็ออกมาบอกไม่ได้ หรือถ้าเขาดีท่านก็ชมไม่ได้อีก เพื่อรักษาความเป็นกลาง”

“เพราะฉะนั้น การเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นเจ้านายอื่นๆ นั้นมีข้อจํากัดมาก ท่านไม่สามารถใช้สิทธิตามสิทธิมนุษยชน เยี่ยงปวงชนชาวไทยได้เลยนะครับ เพราะท่านมีหน้าที่ที่ท่านต้องทำ ปัจจุบันท่านอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ท่านไม่มีพระราชอํานาจอะไรจริงจัง ส่วนพระราชอํานาจลงนามแต่งตั้งอธิบดีคนนั้น นายพลคนนี้ เป็นอํานาจซึ่งมาจากการเสนอของรัฐบาลและของนายกรัฐมนตรี และเมื่อพระองค์ท่านลงพระปรมาภิไธยไปแล้ว ก็จะต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือประธานสภา หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่รับมอบหมายเป็นผู้สนองรับพระบรมราชโองการ สืบมาว่าผู้รับสนองนั้น คือผู้รับผิดชอบโดยตรง”

“ซึ่งในสังคมไทยยังคงมีความสับสนกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวของเมืองไทยนั้นมีพระราชอํานาจมาก แต่พระราชอํานาจจริงๆ ตามรัฐธรรมนูญนั้น ท่านไม่มีเลย แต่ที่ท่านดูมีพระราชอํานาจมากนั้น เป็นเพราะท่านมีบารมีมาก เพราะท่านปกครองประเทศชาติมาตั้ง 60-70 ปี ท่านทําดีไว้มาก และท่านยังเข้าถึงประชาชน อีกทั้งประชาชนคนไทยทุกคนก็เทิดทูนท่าน รักท่านมาก จนอาจจะทำให้มีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่ชอบท่าน ก็ไม่ใช่เป็นของแปลกอะไร

แต่หากเราดูดีๆ ว่าเมืองไทยมีพลเมืองมากกว่า 70 ล้านคน ถ้าไปเปรียบเทียบกับพลเมืองของประเทศอังกฤษหรือประเทศอื่นๆ ที่เขามีพระมหากษัตริย์เหมือนกัน ความจงรักภักดีที่ราษฎรถวายให้กับพระมหากษัตริย์ของแต่ละประเทศนั้น ผมว่าเมืองไทยสูงสุดนะครับ แต่สิ่งที่สําคัญคือ พระองค์ท่านมีพระบารมีมากและตลอดเวลาที่ท่านทรงทํางานมานั้น ท่านนึกถึงแต่ทุกข์สุขของประชาชนคนไทยอย่างเดียว”

“เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1950 ท่านก็มีพระบรมราชโองการที่ทรงตรัสมาอย่างแน่ชัดว่า…

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ดังนั้น คนไทยต้องถามตัวเองว่าตลอดกว่า 60-70 ปี ที่ท่านครองราชย์มานั้น ท่านทรงทําตามสิ่งที่ท่านตรัสไว้หรือเปล่า ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเห็นว่า ท่านแน่วแน่ในคําสัญญาที่ท่านให้ไว้กับประชาชนชาวไทย แต่หากจะถามต่อว่า ทุกอย่างที่ท่านทํานั้นสําเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ก็คงไม่ใช่ เพราะตัวพระองค์ท่านเองก็ทรงเคยบอก

แต่ทุกอย่างที่ท่านทรงทํานั้น ก็เพื่อประโยชน์สุขของชาวสยาม และเพื่อความเป็นธรรม ความถูกต้อง อันนี้เราไม่สามารถหาข้อโต้แย้งได้ และจากเหตุผลเหล่านี้ก็ทำให้มีคนที่รักท่านมาก และคนที่ไม่ชอบท่านก็คงจะมี แต่ผมคิดว่ามีส่วนน้อยมาก”

‘คุณอ้อย พอใจ’ เผย ความภาคภูมิใจที่ได้ถวายงาน ‘ในหลวง ร.9’ เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าหน้าที่กระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 66 คุณพอใจ กิจถาวรรัตน์ หรือ ‘พี่อ้อย’ ข้าราชการบำนาญ อดีตหัวหน้าผู้ประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตการทำงาน ในบทบาทของเจ้าหน้าที่กระจายเสียง ผ่านรายการ ‘Baby Boom ภูมิใจ วัยเก๋า ไปด้วยกัน’ EP.1 ตอน อายุเป็นเพียงตัวเลข ออกอากาศเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 66 รับชมผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES และ MAYA Channel ช่อง 71, 93

โดยคุณพอใจ ได้เล่าย้อนกลับไปในสมัยเข้าบรรจุครั้งแรกที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ จังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะย้ายเข้ามารับตำแหน่งที่กรุงเทพฯ ด้วยฝีมือและผลงานของตัวเอง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากเนื่องจากในสมัยก่อน งานสื่อวิทยุกระจายเสียงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และต้องมั่นฝึกฝนทักษะ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงจะโลดแล่นในวงการได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม ในขอบเขตงานที่คุณพอใจได้ทำ และมีความภาคภูมิใจที่สุด คือการได้ถ่ายทอดเสียงพระราชกรณียกิจ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ท่านนั้น พระองค์ทรงงานเยอะมาก รวมถึงยังได้มีโอกาสถ่ายทอดเสียงพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งทำให้คุณพอใจมีความภาคภูมิใจมากๆ ที่ได้ทำงานตรงนี้

“ในตอนเด็กๆ พี่เคยสงสัยว่า เวลาเขาเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ทำไมเขาถึงดูซาบซึ้งกันจังเลย ซึ่งนั่นเป็นไปด้วยความคิดแบบเด็กๆ ของพี่ในตอนนั้น แต่เมื่อเราโตขึ้น เราได้ไปศึกษา หาข้อมูล เราได้ติดตาม ได้รู้ ได้เห็น ก็ทำให้เข้าใจว่า ที่เขาเคยๆ พูดกันเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านนั้น ไม่มีอะไรเกินจริงเลย”

“อย่าลืมนะว่าในยุคสมัยนั้นไม่มีสื่อโซเชียลเหมือนอย่างในยุคสมัยนี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมีการมานั่ง ‘สร้างภาพ’ อะไรกันเลย ทำงานก็คือทำงานกันจริงๆ”

“ดังนั้น พี่พอใจ จึงมีความภาคภูมิใจที่เราได้ทันเห็นพระองค์ท่าน ได้มีโอกาสถวายงานแก่พระองค์ท่าน ได้มีโอกาสทำงานรับใช้บ้านเมืองค่ะ” คุณพอใจ ทิ้งท้าย

หากต้องการติดตามเรื่องราวดีๆ จาก ‘Baby Boom ภูมิใจ วัยเก๋า ไปด้วยกัน’ EP.1 ตอน อายุเป็นเพียงตัวเลข แบบเต็มๆ สามารถคลิกลิงก์ >> https://www.youtube.com/live/FSYnVvf4WZQ?si=MYKTE708E9GwEeb8

‘ครม.’ ประกาศให้ 13 ตุลาคม เป็นวัน ‘นวมินทรมหาราช’ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9

(26 ก.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวัน ‘นวมินทรมหาราช’ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ล้นกระหม่อมแก่อาณาประชาราษฎร์ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความวิวัฒน์พัฒนาของบ้านเมือง เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์ และยังความผาสุก ร่มเย็นแก่ผองพสกนิกรชาวไทย พระเกียรติคุณเป็นที่แซ่ซ้องก้องประจักรทั้งแก่ปวงชนชาวไทยและนานาอารยประเทศ แม้การเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จะล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน แต่พสกนิกรทุกหมู่เหล่ายังล้วนคำนึง ซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่รู้ลืมเลือน 

นายชัย กล่าวว่า วันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือ ‘สัตตมวรรษ’ ดังนั้นเพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคต เป็นวันแห่งการร่วมรำลึก และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ แห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน การนี้รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าวัน ‘นวมินทรมหาราช’ ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันนวมินทรมหาราช นับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

5 ตุลาคม ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ’ รำลึกพระอัจฉริยภาพ ในหลวง ร. 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย

วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็นวันนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม

เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และทรงได้มีพระราชดำรัสแสดงถึงความเป็นนวัตกรรมของ ‘โครงการแกล้งดิน’ ที่ไม่มีใครทำมาก่อนและทั้งนี้ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริให้ทำเป็นตำรา คือ ‘คู่มือปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร’ สำหรับที่จะใช้พัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่น ๆ ต่อไป

ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณกันทั่วทิศานุทิศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระองค์เป็น ‘พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย’ จากการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 ให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้

1. เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น 'พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย'
2. ให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น 'วันนวัตกรรมแห่งชาติ'


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top