Wednesday, 15 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่9

'ศิลปินแห่งชาติ' เผยหนึ่งภาพชัดเจนกว่าหนึ่งล้านคำพูด ที่รุ่นใหม่ไม่เคยเห็น เงาร่างหนึ่งที่ตามรอยเสด็จในหลวง ร.9 ไปทรงงานเพื่อแผ่นดินตลอดชีวิต

(14 ก.พ.67) นายวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่าตลอดเวลาเจ็ดสิบปีแห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงย่างพระบาทไปทุกตารางนิ้วทั่วประเทศ ทุกชนบท ทุกถิ่นทุรกันดาร ไม่มีจุดใดที่ทรงไปไม่ถึง ดูแลทุกข์สุขของราษฎร

บ่อยครั้งเงาร่างหนึ่งตามรอยเสด็จไปด้วย คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หรือที่คนรุ่นผมเรียกติดปากว่า 'พระเทพฯ' เสด็จฯ ตามไปด้วยเสมอ แม้ว่าทรงต้องศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์ ทรงศึกษาสาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออกจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่มเติม ก็ยังทรงเดินตามรอยพระบาทเสมอมา

ตลอดชีวิต ทรงทำงานเพื่อประโยชน์สุขของคนไทยเสมอมา

นั่นคือภาพที่คนไทยรุ่นผมจดจำได้

หนึ่งภาพชัดเจนกว่าหนึ่งล้านคำพูด

ผมโชคดีมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเทพฯ หลายครั้ง แทบทุกครั้งคือการรับรางวัลวรรณกรรม ตั้งแต่รวมเรื่องสั้นรางวัลชมเชย เรื่องสั้นรางวัลดีเด่น ไปจนถึงตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ตลอดจนในงานหนังสือทุกปี จึงรับรู้แจ่มแจ้งว่าพระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องศิลปะ วรรณกรรมอย่างยิ่ง ทรงแต่งคำประพันธ์ต่างๆ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

นอกจากนี้ยังทรงศึกษาภาษาจีน วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์จีน เสด็จไปเมืองจีนนับครั้งไม่ถ้วน ทรงอักษรจีน เป็นบุคคลที่ชาวจีนรักอย่างยิ่ง

นี่ก็คือ soft power ของจริง ทรงเป็นทูตวัฒนธรรมจากไทย นำเสนอวัฒนธรรมของเราไปนานาชาติ นานหลายสิบปีก่อนคำนี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ตลอดชีวิต ทรงแต่งานเพื่อแผ่นดิน ด้วยโครงการนับไม่ถ้วน ทั้งหมดเพื่อคนไทย ทั้งมวลเพื่อแผ่นดินไทย

ทรงเป็นหัวใจของคนทั้งชาติ

ดังนั้นคนไทยรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็นภาพนั้น ไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์ จึงอาจมิรับรู้ว่าพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระราชวงศ์ เป็นของจริง มิใช่ภาพลวงตา อาจไม่รู้ว่าเมืองไทยรอดมาถึงวันนี้ได้อย่างไร

สิ่งที่คนไทยรุ่นใหม่ควรกระทำคือ ศึกษาให้รู้ก่อนเชื่ออะไร และที่สำคัญที่สุดคือรู้จักกตัญญูรู้คุณ ต่อผู้ที่มีพระคุณต่อแผ่นดิน

เพราะปราศจากความรู้จริง เดินมุ่งไปข้างหน้าก็อาจเดินถอยหลัง ปราศจากความกตัญญูรู้คุณ อุดมคติสูงส่งแค่ไหนก็ไร้ค่า

'ศิลปินแห่งชาติ' เผยหนึ่งภาพชัดเจนกว่าหนึ่งล้านคำพูด ที่รุ่นใหม่ไม่เคยเห็น

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ‘รัชกาลที่ 9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ จ.เชียงใหม่ ช่วยอำนวยประโยชน์ด้าน ‘ชลประทาน-ผลิตไฟฟ้า-บรรเทาอุทกภัย’

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อว่า ‘เขื่อนแม่งัด’ ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และยังตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำหรับทางเข้าเขื่อนอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 41 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (สายเชียงใหม่-ฝาง) เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร

โดยเขื่อนอเนกประสงค์ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ด้านเหนือเขื่อนที่สามารถอำนวยประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ด้านการชลประทาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ การประมงในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน ซึ่งการก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เช่นกัน

4 มีนาคม พ.ศ. 2520 ครบรอบ 47 ปี ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนสิริกิติ์’ เขื่อนอเนกประสงค์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้ปชช.นานัปการ

เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ ‘เขื่อนผาซ่อม’ ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขนานนามว่า ‘เขื่อนสิริกิติ์’

เขื่อนสิริกิติ์ สร้างปิดกั้นลำน้ำน่านที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทานเมื่อปีพ.ศ. 2506 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนดิน แกนกลางเป็นดินเหนียว สูง 113.6 เมตร ยาว 810 เมตร กว้าง 12 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุของอ่างมากเป็นที่ 3 รองจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนภูมิพลโรงไฟฟ้าและองค์ประกอบดำเนินการก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี พ.ศ. 2511 แล้วเสร็จใน ปี พ.ศ. 2515 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวม 4 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 500,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์และโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520

เขื่อนสิริกิติ์ จัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ โดยประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนนี้มีหลายประการ คือ

>> การชลประทาน น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งในปริมาณที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้กับกรม

>> การบรรเทาอุทกภัย อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัยในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร

>> การผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยออกไปเพื่อการชลประทานจะผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 4 เครื่อง ให้พลังไฟฟ้า 500,000 กิโลวัตต์ ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

>> การประมง กฟผ. ได้นำพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ช่วยเสริมรายได้ให้กับราษฎรบริเวณนั้น

>> การคมนาคมทางน้ำ ช่วยให้การคมนาคมทางน้ำบริเวณเหนือเขื่อนไปยังจังหวัดน่านสะดวกและใช้งานได้ตลอดปี

>> การท่องเที่ยว เขื่อนสิริกิติ์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว ความเงียบสงบของบรรยากาศประกอบกับพืชพันธุ์ไม้ที่งามสะพรั่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนไม่ขาดสายนอกจากนี้ ในบริเวณเขื่อนยังมีสวนสาธารณะที่ให้ความร่มรื่นอีกแห่งหนึ่งคือ สวนสุมาลัย ซึ่ง กฟผ. สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนโดยทั่วไป ภายในสวนประกอบไป ด้วยพันธุ์ไม้หลากชนิด สระบัว ลานประติมากรรม ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของสวน ชื่อ ‘ประติมากรรมสู่แสงสว่าง’ ลานอเนกประสงค์ และลานสุขภาพ

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ อัญเชิญพระราชดำรัส ‘ในหลวง ร.9’ "ปลูกป่าในใจคน" หวังคนไทยให้ความสำคัญในแหล่ง 'ดิน-น้ำ-ป่า' สืบต่อไป

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานและเปิดการสัมมนา ‘รักษ์ป่าน่าน’ ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน โดยโครงการ ‘รักษ์ป่าน่าน’ มีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้อำนวยการโครงการ ร่วมกับกองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้สนับสนุนและประสานงานโครงการ โดยได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งนำเสนอแนวคิด แนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้งหาทางฟื้นฟู จัดการให้ประชาชนชาวน่านได้ประกอบอาชีพและอยู่กินกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่า ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนได้รักษาธรรมชาติป่าไม้

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย’ โดยมีความตอนหนึ่งว่า...

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จไปตามที่ต่างๆ ของประเทศโดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ ตามไปด้วย ทั้งกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร ชลประทาน ที่ดิน และกรมแผนที่ทหาร เพราะความผาสุกของราษฎรจะทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ เช่นเดียวกับป่าไม้ที่จะเจริญได้ต้องมีน้ำ มีความชุมชื้น มีดินดี มีปุ๋ย

"สมัยก่อนการทำมาหากินในป่าไม่ค่อยมีปัญหา ปัญหามาเกิดเมื่อออกลูกออกหลาน เกิดการย้ายถิ่นฐาน และโอกาสที่จะทำลายป่าไม้ก็มีมากขึ้น ในยุคต่อมามีการสัมปทานป่าไม้ มีการตัดไม้แต่ก็ปลูกทดแทน ดังนั้น 30 ปีมานี้ ป่าที่เห็นบางแห่งก็ไม่ใช่ป่าตามธรรมชาติ"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสว่า มีโอกาสฟังเรื่องราวเมื่อต้นรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากถ้อยคำบอกเล่าโดยนายแก้วขวัญ วัชรโรทัย อดีตเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เรื่องจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ต้นยางนาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จยังจ.ประจวบคีรีขันธ์โดยรถไฟ ระหว่างทางผ่าน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีซึ่งมีต้นยางจำนวนมาก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้นำต้นยางมาไว้ในป่าสาธิตภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากที่อาจถูกทำลายในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนา 6 แห่ง ที่เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ดังนี้ 1.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา 2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี 3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร 5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ 6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เวลาศึกษาแต่ละโครงการอย่างจริงจัง เข้าถึงปัญหาของราษฎร เช่น ทรงประทับอยู่ จ.นราธิวาสและทรงขับรถไปทรงงานด้วยพระองค์เอง เป็นการปูพรมเรื่องการรักษาป่าและดินในทุกหมู่บ้าน ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าในใจคน คือต้องสอนตั้งแต่เด็กในเรื่องการอนุรักษ์ป่า สอนว่าป่าไม้มีประโยชน์อย่างไร เมื่อเขาเข้าใจชาวบ้านก็จะช่วยกันดูแลป่าไม้"

โดยสรุปคือ ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของแหล่งดินแหล่งน้ำ พัฒนาคนในประเทศให้สุขภาพดี มีการศึกษา ประชาชนก็มีกำลังเพื่อพัฒนาประเทศชาติสืบไป

9 มีนาคม พ.ศ. 2563 ‘ในหลวง ร.10’ เสด็จฯ เปิดโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ‘สืบสาน-รักษา-ต่อยอด’ พระราชปณิธาน ‘ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระพันปีหลวง’

9 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 19.43 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ อาคารบกหน่วยราชการในพระองค์ 904 (อาคาร 2) โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานโครงการ พร้อมด้วยกรรมการโครงการ และกรรมการชุมชนจากพื้นที่โครงการในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทอดพระเนตรนิทรรศการผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านเส้นทางการคมนาคม ด้านสาธารณูปโภค ด้านอาชีพ ต่างๆ

จากนั้นได้พระราชทานพันธุ์ไม้ 2 พันธุ์ คือ มะม่วงมหาชนกและต้นรวงผึ้งให้กับนางกะมุ้ย นายวราวุฒิ เกสรพฤกษาทิพย์ กรรมการชุมชนไล่โว่ นายสุวิทย์เคียว เซ้ง และนางหน่อพิใจ กรรมการชุมชน สาละวะตามลำดับหลังจากนั้นเสด็จฯ ไปทรงเปิดการประชุมโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี

การนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นทอดพระเนตรวีดิทัศน์สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แล้วทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรวมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายแก่คณะกรรมการโครงการ

โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ (หมู่บ้านสาละวะ และหมู่บ้านไล่โว่) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทั้งนี้ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่องการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต รวมทั้งทรงเห็นว่าพื้นที่ในโครงการเป็นชุมชนอยู่ติดชายแดนอันถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นพื้นที่แหล่งมรดกโลกของประเทศไทยที่ควรได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและรักษาต้นน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น ในการนี้จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานตาม โครงการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ

โดยนับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะองค์ประธานกรรมการ ได้รับพระราชทานพระบรมราโชบายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแนวทางในการทำงานกับประชาชนที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะอยู่ติดชายแดนและพื้นที่เป็นมรดกโลกที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นหัวใจหลักของความเป็นมรดกโลกโดยให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และปัญหาเรื่องเส้นทางสัญจรเข้าออกชุมชนที่ทรงทราบว่ามีความยากลำบากในการเดินทางและเรื่องสุขภาพที่สัมพันธ์กับเรื่องเส้นทางสัญจรเป็นลำดับต้นในการดำเนินงาน

ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ จึงน้อมนำแนวทางตามพระบรมราโชบายข้างต้นมาทรงงานพัฒนาชุมชนบ้านไล่โว่และบ้านสาละวะร่วมกับคณะกรรมการโครงการฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนสาละวะจานวนราย 8 และชุมชนไล่โว่ 6 รายทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานรวมทั้งนำเสนอข้อมูล ปัญหา ความต้องการในเรื่องต่างๆ ได้แก่เรื่องเส้นทางสัญจรด้านสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนและเมื่อดำเนินงานไประยะหนึ่งจึงพบว่า นอกจากเรื่องเส้นทางสัญจรแล้วชุมชนต้องได้รับการพัฒนาในเรื่อง การบริหารจัดการน้า เรื่องสาธารณูปโภค และเกษตรกรรม

ที่ผ่านมาคณะกรรมการได้มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจริง 3 ครั้ง รวมทั้งมีการนำคณะกรรมการชุมชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานพื้นที่ทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในจังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการในพื้นที่ และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้ข้อสรุปในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านสาธารณสุขที่ได้มีการอบรมประชาชนให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข มีการสร้างโรงเรือนอนามัยใน 2 ชุมชน ด้านเส้นทางการคมนาคมที่มีการแก้ปัญหาน้ำหลากบนเส้นทางสัญจรด้วยการสร้างรางระบายน้ำ ปรับผิวทางสัญจร และสร้างทางข้ามบริเวณเส้นทางตัดทางน้ำ ด้านสาธารณูปโภคที่ปรับปรุงระบบโซลาร์เซลล์ และจัดทำระบบ Hydropower เนื่องด้วยใน 2 ชุมชน มีปริมาณน้ำมาก จึงนำน้ำมาใช้เป็นไฟฟ้าพลังงานน้ำได้เป็นอย่างดี ด้านอาชีพและเกษตรกรรม และด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เน้นเรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการเกษตรทฤษฎีใหม่

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเน้นย้ำว่า ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการสร้างความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาเป็นแนวทางการทรงงานในโครงการฯ รวมทั้งพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในเรื่องการสืบสาน รักษา ต่อยอด ในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งมีการประสานความร่วมมือร่วมใจของส่วนราชการ กรรมการชุมชน และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มรดกโลก อีกทั้งยังทรงเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่

13 มีนาคม พ.ศ. 2553 'ในหลวง ร.9' พระราชทานชื่อ ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เทิดพระเกียรติน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ’สมเด็จย่า‘

ท่าอากาศยานเชียงรายเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2535 สังกัดกรมการบินพาณิชย์ (บพ.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งใช้ชื่อว่า ‘สนามบินบ้านดู่’ ต่อมา บพ.ได้ถูกโอนมาขึ้นอยู่กับการบริหารของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2541 และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 ถึงปัจจุบัน

ต่อมา คณะกรรมการ ทอท. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มชื่อท่าอากาศยานเชียงรายเป็น ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามที่ได้มีการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเชียงราย ดังนั้น ทอท. จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

17 มีนาคม พ.ศ. 2509 'ในหลวง ร.9' ทรงพระราชทาน ‘ปลานิล’ ให้กรมประมงเพาะขยายพันธุ์ พัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจสู่การสร้าง ‘อาชีพ-รายได้-อาหาร’ ให้คนไทย

'ปลานิล' เป็นปลาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนชาวไทย มีต้นกำเนิดมาจากพันธุ์ปลา Nile tilapia จำนวน 50 ตัว ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในบ่อที่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต จนแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตดี เลี้ยงง่าย และเนื้อมีรสชาติดี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของประชาชนทั่วไป พระองค์จึงพระราชทานปลาที่เพาะเลี้ยงจากสวนจิตรลดาจำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อนำไปเลี้ยงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า ‘ปลานิล’ ปัจจุบันปลานิลเป็นปลาที่นิยมบริโภคโดยทั่วไปในประเทศ และสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าถึงประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี

‘ปลานิล’ เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ง่าย มีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็กๆ และมีรสชาติดี จนตอนนี้กลายเป็นปลาที่เราสามารถหาพบได้ตามแหล่งธรรมชาติ และเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยบริโภคมากที่สุดในปัจจุบัน

19 มีนาคม พ.ศ. 2502 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงพระบรมราโชวาทแก่ ‘ทหารค่ายเสนาณรงค์’ “ประเทศเราอยู่มาได้แต่โบราณ ต้องอาศัยความสามัคคี-ความพร้อมเพรียงของทุกคน”

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ณ ท่าเรือเทศบาลสงขลาเพื่อประทับเรือยนต์ ‘พัทลุง’ ซึ่งจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง ทอดพระเนตรทะเลสาบสงขลา วิถีชีวิตของชาวบ้านและการแข่งเรือของชาวประมงในทะเลสาบสังขลา ชาวบ้านจัดซุ้มเฉลิมพระเกียรติอย่างสวยงามไว้กลางน้ำเพื่อรับเสด็จ ปัจจุบันเรือพัทลุงได้รับการซ่อมแซมและขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรจอดอยู่ในคลองลำปำ หลังวังเจ้าเมืองพัทลุง

ในวันเดียวกันนี้หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรกิจการของสถานีการยางคอหงส์แล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังค่ายเสนาณรงค์ ทรงมีพระปฏิสันถารและพระราชดำรัสตอบแก่ทหารและข้าราชการที่มารอรับเสด็จดังนี้

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมค่ายเสนาณรงค์ ซึ่งค่ายนี้เป็นค่ายของกองทัพบกที่อยู่ทางใต้ที่สุดของประเทศไทยเรา อาณาเขตกรมผสมที่ 5 ที่จะต้องปกครอง ที่ต้องป้องกัน ที่เป็นอาณาเขตที่สำคัญ ยิ่งเป็นชายแดนข้าพเจ้าก็พอใจที่ท่านได้ฟัง ท่านแสดงความเจตนาอันแน่วแน่ที่จะทำหน้าที่ป้องกันประเทศ โดยที่ท่านได้กล่าวเสียงให้คำปฏิญาณ ขอให้การเปล่งเสียงปฏิญาณนั้นจงเป็นสัญลักษณ์ว่าทุกคนจะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถในเวลาปกติไม่ทำสงคราม ทหารก็มีหน้าที่หลายอย่าง แต่หน้าที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือฝึกฝนอดทนและเรียนรู้ความรู้ต่างๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอเพื่อที่จะให้ตนเองดีขึ้นมีความสามารถดีขึ้น และให้หมู่คณะเข้มแข็งขึ้น ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของทหารมาก่อนอื่น คือต้องรู้จักรักชาติ การเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประเทศเราอยู่มาได้แต่โบราณก็ต้องอาศัยความสามัคคีและความพร้อมเพรียงของทุกคน ขอให้ทหารทุกคนมีกำลังใจกำลังกายที่จะประกอบกิจการของตน เพื่อให้เป็นกำแพงป้องกันประเทศชาติในเมื่อมีความจำเป็น ขอให้ค่ายเสนาณรงค์นี้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปชั่วกาลนาน”

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติพระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมเหล่าทหารและข้าราชการที่ค่ายเสนาณรงค์แล้ว จึงเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังโรงเรียนหาดใหญ่ (ปัจจุบันคือโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย) ประทับ ณ พลับพลา ที่ประทับ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 16.45 น. เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรซึ่งมีทั้งคณะครู นักเรียน ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จอย่างหนาแน่น

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักเขาน้อย ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรซุ้มรับเสด็จของอำเภอหาดใหญ่ซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม

21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ ติดตามการดำเนินงาน ‘โครงการชั่งหัวมัน’ พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้ง สู่โครงการต้นแบบด้าน ‘การเกษตร’ เพื่อคนไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อำเภอท่ายาง (เป็นการส่วนพระองค์) ในการทอดพระเนตรโรงเลี้ยงโคนม ทรงป้อนนมโคและทรงป้อนหญ้า พันธุ์แทงโกล่า แก่ลูกโค เพศเมียอายุ 3 เดือน จำนวน 2 ตัว ซึ่งดำเนินงานสนองพระราชดำริ ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้เกษตรกรที่สนใจ และทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

ทั้งนี้ ก่อนจะมาเป็น ‘โครงการชั่งหัวมัน’ ในอดีตนั้นเป็นพื้นที่ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เคยเป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง และเป็นพื้นที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสไว้ตัดขาย มีแปลงปลูกมะนาวเดิมอยู่ประมาณ 35 และ ไร่อ้อยประมาณ 30 ไร่

ปลายปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงซื้อที่ดินจากราษฎร พื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ หมู่ที่ 5 ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาปี พ.ศ. 2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 250 ไร่ และทรงมีดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา

โดยกองงานส่วนพระองค์ ขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วยกันปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เช่น การทำถนนเข้าโครงการ ขุดสระเก็บน้ำ ทำรั้วรอบโครงการ ก่อสร้างอาคาร และสาธารณูปโภค ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ทำระบบชลประทาน ทำให้พื้นที่โครงการ และหมู่บ้านใกล้เคียงมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับชื่อโครงการ ‘ชั่งหัวมัน’ ความหมายนั้นมาจาก ‘การชั่งน้ำหนักมันเทศ’ ตามปฐมเหตุที่รองเลขาธิการพระราชวัง ‘ดิสธร วัชโรทัย’ เล่าไว้ ก่อนจะสาธยายต่อไปถึงแก่นแท้หัวใจอันเป็นที่มาแห่งโครงการพระราชดำริอีกหนึ่งโครงการนี้ที่คนไทยทุกคนต่างทราบกันเป็นอย่างดี

“เหตุผลจริงๆ คือ ขนาดว่าหัวมันที่วางอยู่บนตาชั่งซึ่งเป็น ‘เหล็ก’ ยังสามารถงอกขึ้นมาได้ บนผืนดินที่แห้งแล้ง มันก็ต้องขึ้นได้ ดังนั้น นี่ก็จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พระองค์ท่านมาซื้อที่ดินที่นี่ ที่หมู่บ้านหนองคอกไก่ ซึ่งแห้งแล้งมากๆ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก ผืนดินที่นี่ยังมีแต่ต้นยูคาลิปตัส จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ แต่ก็อย่างที่เราทุกคนคงทราบนั่นล่ะว่าอะไรที่ยากลำบาก พระองค์ท่านทรงโปรด พระองค์ท่านจะทำให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่าทำได้ เพื่อจะได้เป็นแม่บท และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านที่นี่”

“เมื่อก่อนนั้น ที่ดินแถวนี้ดินไม่ดี พระองค์ท่านทรงเลือกซื้อที่ดินที่ไม่ดี ที่ดินดีทรงไม่โปรด เพราะพระองค์ท่านทรงอยากแก้เรื่องที่ดิน จึงเจาะจงซื้อที่ดินที่มีต้นยูคาลิปตัส เพราะจะได้แก้ปัญหาเรื่องดิน”

แต่ปัจจุบันผ่านมาหลายปีแล้ว ผืนดินที่เคยแห้งแล้งแห่งนี้ ได้แปรสภาพกลายเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบด้านการเกษตร มีการจัดสรรทําการเกษตรทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจที่ปลูกหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว ข้าว ฟักทอง มันเทศ พืชผักสวนครัว ยางพารา ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังมีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวนสวยให้ผู้มาเยือนแวะมาเยี่ยมชมเพื่อการท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

29 มีนาคม พ.ศ. 2561 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ เสด็จฯ เปิดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ สะท้อนอีกมุมพระปรีชาด้านงานศิลปะที่รัก ควบคู่ภารกิจนานัปการ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 นับเป็นผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่รวบรวมมาจัดแสดงครั้งแรก ภายใต้ชื่อนิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ ขณะเดียวกันก็เป็นการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ในการทรงศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.)

โดยการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดและทอดพระเนตรนิทรรศการ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยพระองค์ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ถึงแรงดลใจที่ทำให้สนพระทัยในการวาดรูปว่า

“สมเด็จแม่เคยรับสั่งว่าทรงมีลูกเพียง 4 คน โปรดที่จะให้ศึกษาในแขนงต่าง ๆ กัน เพื่อที่จะได้มาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้หลายด้าน ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ก่อนแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจมาเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะชอบศิลปะก็ตาม”

“แต่เมื่อข้าพเจ้ากลับมาดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ข้าพเจ้าค้นพบตัวเองว่ายังมีสิ่งที่ข้าพเจ้ารัก และมีความสุขเมื่อได้คิดถึงและมีโอกาสทำได้ สิ่งนั้นคือ การทำงานศิลปะ ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ามีเวลาเหลือจากการปฏิบัติพระราชภาระ ข้าพเจ้ามีความสุขมากเมื่อได้ทำงานที่อยู่กับตัวเองและรู้สึกถึงโลกของตัวเอง มีอิสรภาพ ไม่คิดฝัน จินตนาการได้ตามใจไม่มีขีดจำกัด ความรู้สึกขณะนั้นทำให้เข้าใจและตระหนักรู้ได้ว่า สิ่งนี้อาจเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ได้พบกับความสุขที่แท้จริง ข้าพเจ้าจึงเลือกใช้การทำงานศิลปะเพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ให้กับตัวเอง”

ส่วนแรงบันดาลพระทัยที่ทำให้ทรงวาดรูป ‘เสือ’ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“เสือและสิงโตเป็นสัตว์สี่เท้าที่ข้าพเจ้ารักและสนใจมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้ข้าพเจ้าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เสือและสิงโตเป็นรูปธรรมในการแสดงออกในผลงานศิลปะของข้าพเจ้า”

และเหนือสิ่งอื่นใด ‘พระราชบิดา’ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแรงบันดาลพระทัยในผลงานศิลปะครั้งนี้ด้วย

“เสือที่ปรากฏในผลงานชุดวิทยานิพนธ์ คือรูปสัญลักษณ์แทนความหมายของเจ้าป่าหรือพระราชา เป็นราชาผู้ปกครองดินแดนด้วยพระเมตตา ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”

“แรงบันดาลใจจากความใกล้ชิดผูกพัน เคารพรัก เทิดทูน และตระหนักซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ผสมผสานกับภาพลักษณ์ของเสือ สิ่งมีชีวิตที่สงบสง่าเป็นเจ้าป่า เป็นราชาแห่งพงไพร นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ทางศิลปะเชิงจินตนาการ โดยหยิบยืมลักษณะของเสือที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตามาถ่ายทอดผ่านทักษะกระบวนการวาดเส้นและงานจิตรกรรม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในจิตใจภายใต้แนวคิด ราชาแห่งความรักและความเมตตา”

ส่วนรูปแบบและแนวความคิดของผลงานสร้างสรรค์ศิลปะ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเสนอในรูปแบบของงานศิลปะกึ่งแฟนตาซี กึ่งเหนือจริงผสมผสานกับคุณลักษณะของงานศิลปะที่ซื่อตรง บริสุทธิ์ใจ โดยไม่ยึดถือแนวทางตามหลักวิชาการ โดยทรงใช้เทคนิคการทรงงานด้วยสีวิทยาศาสตร์สำเร็จรูป ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ทรงงานด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสีเมจิกหลายสีชนิดหัวแหลม เป็นสีน้ำที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ ไม่มีกลิ่นและทำลายสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

“การสร้างสรรค์ผลงานชุดวิทยานิพนธ์ จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารแสดงแนวคิดเกี่ยวกับเสือเจ้าป่า ผู้เปรียบเสมือนราชา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน โดยการสร้างสรรค์ของเสือท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปตามเรื่องราวของเนื้อหาในแต่ละภาพ เป็นเสือที่ใจดี มีเมตตา เพียรสอนสั่งและกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อผู้อื่น เป็นเสือที่มีความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน เป็นเสือที่มีแต่ความรู้สึกด้านบวก มีพลังแห่งความดีงามอยู่ภายในจิตใจเสมอ”

ทั้งนี้ นิทรรศการศิลปกรรม ‘หลากลาย หลายชีวิต’ จัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์ชุดเสือและผีเสื้อในอิริยาบถต่างๆ รวม 239 ภาพ แบ่งเป็นนิทรรศการชั้น 1 จัดแสดงผลงานประติมากรรมเสือ, ชั้น 2 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดเสือกับสิ่งแวดล้อมและการจัดวาง เสือกับสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเสือกับจินตนาการสร้างสรรค์, ชั้น 3 เสือกับลายเส้น ขาว-ดำ อัตลักษณ์ของเสือ และเสือกับธรรมชาติ และชั้น 4 ภาพฝีพระหัตถ์ชุดผีเสื้อ ลวดแขวนชุดผีเสื้อ และผลงานอินเตอร์แอคทีฟ (Interactive) ชุดผีเสื้อ

ด้าน ศ.พิษณุ ศุภนิมิตร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มศก. กล่าวว่า การที่พระองค์เสด็จเข้าศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ ได้สร้างความแปลกใจแก่ตนอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน จนกระทั่งมีผู้ขอพระราชทานถวายพระสมัญญาว่า ‘เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ แต่เมื่อเสด็จฯ มาทรงศึกษาในสาขาศิลปกรรม กลับทรงสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปกรรมในระดับเท่าเทียมกับศิลปินอาชีพ

“ในระหว่างทรงศึกษาในสาขาวิชาทัศนศิลป์ ทรงปฏิบัติพระองค์ดังเช่นนักศึกษาทั่วไป ทรงปฏิบัติตามเงื่อนไขของหลักสูตรและการสอน ทรงเสนอผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เพื่อให้คณาจารย์กราบทูลสอนและแนะนำ จนมีจำนวนผลงานที่มากกว่านักศึกษาที่ศึกษากันตามปกติ แสดงให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะกับผลงานมากกว่า 300 ชิ้น และเมื่อคณาจารย์กราบทูลสอนแต่ละครั้ง ทรงมีผลงานมากกว่า 10 ชิ้น มาพระราชทานคณาจารย์กราบทูลแนะนำทุกครั้ง ทำให้คณาจารย์ตั้งข้อสงสัยว่า การที่ต้องทรงปฏิบัติภารกิจอื่นๆ เป็นอันมาก แต่ยังทรงมีเวลาเพื่อทำงานศิลปะได้มากมายเช่นนั้นได้อย่างไร” ศ.พิษณุ กล่าว

ด้าน อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมปี 2557 หนึ่งในคณาจารย์ผู้ถวายการสอน กล่าวว่า พระองค์เคยมีรับสั่งถึงแรงบันดาลพระทัยด้านศิลปะ มาจากการได้ทรงออกแบบจิวเวลรีให้บริษัทแห่งหนึ่งจากประเทศอังกฤษ ที่ว่าจ้างเพื่อนำไปผลิตและจำหน่าย ขณะที่ทรงนำรายได้จากการออกแบบไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กระทั่งทรงออกแบบต่อเนื่องเป็นหลายร้อยชิ้น จึงสนพระทัยงานศิลปะโดยตรงอย่างจริงจัง

“ตอนสอนก็สังเกตว่า พระองค์หากสนพระทัยด้านใด ก็จะไปศึกษาค้นคว้า แต่กับงานด้านศิลปะ ทราบว่าพระองค์ไม่เคยเรียนที่ไหนมาก่อน แต่ทรงศึกษาเองโดยธรรมชาติ จึงเป็นจุดเด่นของศิลปะของพระองค์คือ การใช้จินตนาการและความคิดที่มองข้ามการใช้ทักษะ อย่างวาดเสือ ผีเสื้อ ดอกไม้ จากจินตนาการกว่าความเป็นจริงทางธรรมชาติ และทรงต้องการจะสื่อความหมายออกมา”

“อย่างช่วงงานพระบรมศพในหลวง ร.9 ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ผีเสื้อกับดอกบัวที่สวยมาก ไปถวายที่เบื้องหน้าพระบรมโกศ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ไม่ได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ แต่ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่นำมาจัดแสดงอื่น ๆ ก็สื่อไปด้วยความหมายต่อความรักความผูกพันที่มีต่อในหลวง ร.9 เช่น เสือที่นอนแนบกับแผ่นดิน เสือลุยไฟ ที่ต้องการสื่อถึงความยากลำบาก อุปสรรคของในหลวง ร.9 เสือที่มองเหลียวกลับมายังแผ่นดิน แฝงความหมายว่าในหลวง ร.9 มองมาที่แผ่นดินและราษฎร เหล่านี้ทรงสื่อความหมายเสือคือผู้ปกครองเหนือราชอาณาจักร อันสื่อถึงในหลวง ร.9 พระราชาผู้ปกครองแผ่นดินด้วยพระเมตตา”

ซึ่ง อ.ปัญญา จึงขอยกย่อง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ว่าทรงเป็นศิลปินที่หายากในโลก ด้วยทรงใช้เหตุผลและจินตนาการสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานศิลปะ ดั่งศิลปินระดับโลก เช่น เลโอนาร์โด ดาวินชี และเหมือนอัครศิลปินคือ ในหลวง ร.9 และมีความเพียรในการวาดภาพฝีพระหัตถ์ โดยจะทรงพกกระดานวาดภาพไปทุกครั้ง อย่างบนเฮลิคอปเตอร์ก็ยังทรงงานด้านศิลปะ ทรงวาดภาพเป็นประจำทุกวัน กระทั่งภายใน 3 ปี มีภาพวาดฝีพระหัตถ์กว่า 300 ภาพดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสื้อลายเสือ จากภาพวาดฝีพระหัตถ์ บริเวณบูธ Art Shop ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โดยเสื้อลายเสือจากภาพวาดฝีพระหัตถ์นี้ จะเป็นภาพเสือในอิริยาบถต่าง ๆ และด้านล่างจะมีลายเซ็นพระนาม ‘ChulabhornMahidol’ ทุกตัว ราคาจำหน่าย ‘เสื้อยืด’ 350 บาท และ ‘เสื้อโปโล’ 450 บาท โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะทูลเกล้าถวายสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยยากไร้ในพระอนุเคราะห์ สนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและนักศึกษาที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติ ตลอดจนพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ และเสริมรายได้ให้ประชาชน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top