Tuesday, 14 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่9

ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านทันตกรรม ก่อให้เกิดโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนมากมายหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน

ศาสตราจารย์พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์และผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นทันตแพทย์มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการดูแลถวายงานเรื่องพระทนต์ของพระองค์ท่าน เป็นเวลาทั้งหมด 46 ปี

ภายหลังการรักษาแต่ละครั้ง พระองค์ท่านจะทรงมีพระราชปฏิสัณฐานหรือทรงคุยด้วยนาน ๆ  ท่านทรงซักถาม แนะนำ สั่งสอนให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ซึ่งคณะทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้น้อมนำพระราชดำรัสเหล่านั้นมาปฏิบัติ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริทางด้านทันตกรรมหลายโครงการด้วยกัน

ทั้งนี้ โครงการที่ถือว่ามีความสำคัญและยังมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้แก่โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยดูแลราษฎรที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ผู้ยากจน ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

ประธานกรรมการมูลนิธิฯ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทานเคลื่อนที่นั้น เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 หลังจากที่คณะแพทย์ทำพระทนต์เสร็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งว่า เวลาพระองค์ท่านมีปัญหามีหมอมาช่วยกันรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีใครช่วยดูแลไหม เมื่อได้รับคำตอบว่าไม่มี พระองค์ท่านจึงรับสั่งว่า การที่จะให้ชาวไร่ชาวนา ที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ต้องทิ้งท้องไร่ท้องนาเข้ามาหาทันตแพทย์เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับฟันหรือสุขภาพในช่องปาก ย่อมเป็นไปได้ยาก น่าที่ทันตแพทย์จะต้องเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว

จากพระราชดำรัสในครั้งนั้นทำให้เกิด รถทำฟันเคลื่อนที่หรือ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจิมรถที่พระราชวังไกลกังวลหัวหิน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2513  มีรถหนึ่งคันพร้อมอุปกรณ์และมีทันตแพทย์ จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน วิ่งไปตามอำเภอต่าง ๆ โดยจุดแรกที่ไปทำฟันคือที่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“ทำวันแรก มีคนไข้ไม่กี่คนหรอก เพราะว่า พอเปิดปากดู ก็มีแต่เรื่องจะต้องถอนทั้งหมดเพราะฉะนั้นการบริการที่เราทำ ส่วนใหญ่เป็นการถอนฟันและให้การศึกษา คนที่มารับบริการบอกว่า มีหมอฟันอยู่ในโลกนี้ด้วยหรือ ไม่รู้จักมาก่อน” ประธานกรรมการมูลนิธิเล่าบรรยากาศแรกเริ่มให้ฟัง

ศธ.เตรียมเสนอยูเนสโก ยกย่อง 'ในหลวง ร.9' เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าของโลก

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้กองการต่างประเทศสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วางแผนเตรียมการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศยกย่องเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าของโลก เนื่องจากพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระปณิธานแน่วแน่ที่จะทำประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทย และสังคมโลก โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านและทั่วโลกให้การยอมรับ เพราะในวันที่ 5 ธันวาคม 2570 จะเป็นวาระครบรอบ 100ปี วันประสูติของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังนั้นศธ.จึงต้องวางแผนเตรียมข้อมูลด้านต่างๆเอาไว้  

ด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่ประเทศฝรั่งเศสจะพิจารณาบุคคลสำคัญและผู้ทรงคุณค่าจากทุกประเทศทั่วโลกเป็นประจำทุกปี โดยในส่วนของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาศธ.ได้เสนอพระนามสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ให้ที่ประชุมยูเนสโกประกาศยกย่องเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าโลกมาแล้ว ดังนั้น ในแผนงานต่อไปเรามีแนวคิดนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ของยูเนสโกพิจารณาเช่นเดียวกัน แต่ในระหว่างนี้จึงได้เตรียมจัดทำข้อมูลเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อที่ครม.เสนอเรื่องไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นบุคคลผู้ทรงคุณค่าของโลก และจากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของยูเนสโกต่อไป

จากข้อสังเกตของในหลวง ร.9 สู่โครงการชื่อน่ารัก สร้างคุณประโยชน์มหาศาลต่อสยามประเทศ

ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ ทำให้แผ่นดินไทยร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา ด้วยความที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ จึงเกิดโครงการในพระราชดำริมากถึง 4,000 กว่าโครงการ ที่ล้วนเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนชาวไทยทั้งสิ้น  

บางโครงการมีชื่อเป็นทางการ แต่บางโครงการก็มีชื่อน่ารักและชวนฉงน จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อคนรุ่นหลังที่เคยได้ยินชื่อโครงการเหล่านี้ แต่ไม่รู้ว่าเป็นโครงการอะไร

โครงการที่ดังที่สุดเห็นจะเป็น 'โครงการแก้มลิง'  

พระราชวังไกลกังวลที่หัวหินนั้นมักมีแขกขนฟูมาเยี่ยมเยียนเสมอ พระองค์สังเกตฝูงลิงและตรัสว่า...

“ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อย ๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”

นั่นคือจุดกำเนิดของโครงการชื่อน่ารักในชื่อโครงการแก้มลิง โครงการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ที่มีการแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง และเล็ก  

โดยพระองค์มีพระราชดำริให้จัดหาพื้นที่ลุ่ม บึง สระ เป็นที่รองรับน้ำ เมื่อฝนตกหนักให้นำน้ำเข้ามาเก็บกักไว้ในแก้มลิงชั่วคราว น้ำฝนจะไม่ไหลลงสู่ทางระบายน้ำทันที แต่จะขังไว้ในพื้นที่พักน้ำ เมื่อน้ำในคลองมีสภาพปกติ จึงระบายน้ำออกจากแก้มลิง ซึ่งนอกจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดน้ำในฤดูแล้งได้ด้วย

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงลาผนวช รวมเวลาทรงผนวชทั้งสิ้น 15 วัน

5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลาผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร รวมเวลาทรงผนวชทั้งสิ้น 15 วัน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2499 และทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า 'ภูมิพโล' ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่น ๆ อาทิ 

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499 - เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์

7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ครองราชย์สมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด

ทั้งนี้ ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 จำนวน 15 ครั้ง และจัดขบวนเรือพระราชพิธี จำนวน 2 ครั้ง 

สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม

19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เมืองสุรินทร์ เยี่ยมพสกนิการภาคอีสาน เป็นครั้งแรก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียง เหนืออย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2498 และในวันที่ 19 พฤศจิกายน ได้เสด็จฯโดยรถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีอุทุมพรพิสัยถึงสถานีศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ในเวลา 14.01 น. 

ที่สถานีศรีขรภูมิ ขบวนรถไฟพระที่นั่งหยุด 3 นาทีพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลเบิกนายพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสวยพระกระยาหารกลางวันบนรถไฟซึ่งองค์การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดถวาย 

ระหว่างทางจากสถานีศรีขรภูมิ ตามสถานีและหมู่บ้านต่าง ๆ ได้มีราษฎรมาชุมนุมเฝ้าทูล ละอองธุลีพระบาทอย่างมากมายเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะสถานีจังหวัดสุรินทร์ ขบวนรถไฟพระที่นั่งเทียบชานชาลาสถานีสุรินทร์ในเวลา 14.45 น. มีข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน สมาชิกสภาจังหวัด ผู้แทนราษฎร นักเรียน และราษฎร เฝ้ารอรับเสด็จตั้งแต่สถานีรถไฟไปตลอดถนนธนสาร จนถึงศาลากลางจังหวัดเนืองแน่น 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ประทับรถยนต์พระที่นั่งจากสถานีรถไฟไปตามถนนธนสาร ถึงสี่แยกถนนหลักเมือง แล้วเลี้ยวซ้ายไปยังศาลากลางจังหวัด จากนั้นเสด็จฯ ประทับที่หน้ามุขศาลากลางจังหวัด นายพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม กราบบังคมทูลในนามของราษฎรชาวสุรินทร์ แสดงความปีติยินดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรชาวสุรินทร์

24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ครบรอบ 12 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

ครบรอบ 12 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ รวมถึง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2

วันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญของเมืองไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ รวมถึง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ทั้งหมดเป็นโครงการในพระราชดำริที่ทรงตั้งใจแก้ปัญหาให้กับประชาชน

เวลา 16.30 น. ของวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปยังท่าเทียบเรือสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นประทับบนเรือพระที่นั่งอังสนา ซึ่งกองทัพเรือจัดถวาย ไปยังบริเวณปากคลองประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยเรือพระที่นั่งแล่นผ่านท่าช้าง ปากคลองตลาด วัดอรุณราชวราราม พระราชวังเดิม สะพานพุทธ สะพานตากสิน สะพานกรุงเทพ และสะพานพระราม 9 ซึ่งมีประชาชนริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จเป็นจำนวนมาก

26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ในหลวง ร. 9 - พระราชินี เสด็จฯ ม.รามคำแหง ทรงเปิด พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

วันนี้ เมื่อ 47 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พร้อมทั้ง พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก ณ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลางฯ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงถือ เอาวันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต
ความตอนหนึ่งว่า... 

เมื่อนักการเมืองยื่นปลา แต่พระราชาทรงยื่นเบ็ด

เนื้อหาของบทความนี้ผมตั้งใจอยากจะเล่าเรื่องของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งอีกนัยหนึ่งยังเป็น ‘วันพ่อ’ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพ่อของปวงชนชาวไทย ผมเลยขอนำเรื่องความประทับเรื่องหนึ่งมาเขียนเล่าในบทความนี้

เมื่อหลายปีก่อน ผมได้เคยเห็นภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2518 จาก ‘สมุดภาพโครงการตามพระราชดำริ’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 โดยเนื้อหาใต้ภาพระบุว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การพัฒนาที่ดินตามโครงการที่ได้ทรงเริ่มมาตั้งเเต่พุทธศักราช 2507 ที่ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้ผลเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงต้องพระราชประสงค์ที่จะขยายงานด้านการช่วยเหลือเกษตรกรให้เเพร่หลายต่อไป ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานที่นาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งหมดรวม 51,967 ไร่ 95 ตารางวา สำหรับใช้ในการปฎิรูปที่ดินเป็นการประเดิมเริ่มเเรก โดยให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พุทธศักราช 2518”

สมุดภาพเล่มนี้รวบรวมโครงการพระราชดำริจนถึง พ.ศ. 2525 ไว้ทั้งหมด 654 โครงการ (ซึ่งปัจจุบันมี 4,000 กว่าโครงการ) จากภาพหน้า 1 หนังสือพิมพ์ที่ได้เห็นจากหนังสือ ผมก็เลยไปลองหาข้อมูลต่อ โดยเฉพาะความสนใจเรื่องของ ‘ที่ดินทำกิน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนไทย ที่เกษตรกรรมคืออาชีพหลัก และเป็นเรื่องหลักที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทย 

ปฐมบทของเรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อปี 2507 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จ.เพชรบุรี แล้วทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพจึงทรงรับกลุ่มเกษตรกรนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานเงินให้กู้ยืมไปลงทุน (ย้ำว่าให้กู้นะครับ) จำนวน 300,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับสมัยนั้น แต่ทว่าไม่มีผู้ใดสามารถนำเงินที่กู้ยืมไปมาคืนได้ (ทำไมล่ะ ?) เหล่าเกษตรกรไม่ได้ขี้เกียจนะครับ แต่มูลเหตุที่เกษตรกรเหล่านี้ไม่มีเงินมาคืนก็เพราะพวกเขา ‘ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง’ ต้องเช่าที่ดินของกรมประชาสงเคราะห์ เฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน 2 ไร่ ทั้งอยู่ ทั้งเพาะปลูก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ พอพระองค์ทรงทราบถึงมูลเหตุแห่งการนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ อดีตองคมนตรี ไปจัดหาที่ดินในเขต จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร (คือวัดผลกันอีกครั้ง เงินที่ให้กู้ไป ก็ช่างมัน) 

เป็นความบังเอิญที่โชคดีอย่างยิ่ง!! เพราะในขณะนั้น รัฐบาลอิสราเอล โดย เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้ขอทราบหลักการของโครงการเรื่องของที่ดินเกษตรในครั้งนั้นและอาสาช่วยเหลือในด้านผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ทำให้เกิดการทำสัญญาร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล โดยเริ่มโครงการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ให้ชื่อว่า ‘โครงการไทย - อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)’ นั่นคือการต่อยอดจากพระราชดำริในการสร้างที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร 

พื้นที่โครงการเดิมเป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ มีราษฎรเข้าไปจับจองอยู่บ้าง แต่ทำกินไม่ค่อยได้ผล เพราะดินไม่ดีและขาดแคลนน้ำ การทำกินจึงเป็นไปในลักษณะไร่เลื่อนลอย ย้ายที่ทำกินทุก 3-4 ปี จึงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากพื้นที่ป่า โดยทรงจับจองที่ดินตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วนำมาจัดให้ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนและมีความขยันหมั่นเพียร แต่ขาดแคลนที่ทำกินได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำประโยชน์ นั่นคือจุดเริ่มต้นจนเกิดเป็นข่าวนี้ในปี พ.ศ. 2518 

เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องที่ดิน ผมขอยกบทความของท่านอดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เรื่อง ‘พระบารมีคุ้มเกล้าฯ’ ในหนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี’ โดยมีใจความบางส่วนบางตอนที่เล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’ ความว่า...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวันชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างเริ่มจาก ‘โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง’

“รัฐบาลแต่ละชุดหลังจากนั้น ก็ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทในเรื่องปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำริของพระองค์มาเป็นลำดับ (พระองค์ไม่ได้บังคับให้ทำตามนะครับ แต่ถ้ารัฐบาลไหนเห็นประโยชน์ตรงนี้ก็สนองพระราชดำริของพระองค์เพื่อประโยชน์ของประชาชน)”

“ตั้งแต่รัฐบาลชุดศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เสนอและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ขึ้น ช่วงที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ พระองค์ทรงพระกรุณาฯ รับโครงการไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยการพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 51,967 ไร่ 95 ตารางวา ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลาง แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นประเดิม โดยมีพระราชประสงค์ให้ผู้เช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่แต่เดิม ได้ทำกินในที่ดินนั้นต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ตราบที่ยังยึดถืออาชีพเกษตรกรรมอยู่ แต่จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น (ให้ทำกินได้ แต่ไม่ให้ขายเพราะจะหมดที่ทำกินหากขายไป)”

“ต่อมาในสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานพระราชดำริเรื่องการปฏิรูปที่ดิน โดยทรงขอให้รัฐบาลดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่ช้านัก แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้มีเวลาอยู่ในหน้าที่ไม่นาน (เป็นรัฐบาลผสมยิบย่อยมาก ๆ) จึงยังไม่มีโอกาสสนองพระราชดำริเต็มที่ การปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำรินั้น จึงเริ่มดำเนินการในสมัยรัฐบาลชุดของผม (รัฐบาลของ ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร) ตามที่ได้มีพระราชดำรัสแนะนำ คือ ให้มีการแจกเอกสารสิทธิแก่ราษฎรผู้ไร้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และจัดให้มีการบูรณาการต่อไปด้วยการสร้างถนน สะพาน ขุดคลอง สร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงคุณภาพดิน แจกปุ๋ย ฝึกอบรมสาธิตการเพาะปลูกพืชต่างๆ ที่ดูแลง่าย โตเร็ว ให้ราคาสูง และจัดสรรเงินทุนของกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกษตรกรกู้ยืมเพื่อการเกษตรด้วย…”

ถึงตรงนี้จบเรื่องราวที่ดินในบทความเล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’

น่าสังเกตว่าโครงการหุบกะพงที่ทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างนั้น มีการทดลองปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ วางแผนผังการจัดที่ดิน บำรุงรักษาพัฒนาแหล่งน้ำรวมกลุ่มเกษตรจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร เพื่อการผลิต การจำหน่าย จัดหาสินเชื่อ มีการส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาอาชีพ ครบวงจร 

ที่น่าสนใจ คือ พระองค์พระราชทานที่ดินเพื่อใช้ประเดิมสำหรับการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินในท้องที่ภาคกลางด้วย โดยรัฐบาลในขณะนั้นเริ่มทำการปฏิรูปที่ดินที่ได้รับพระราชทานมาทั้ง 50,000 ไร่เศษก่อน โดยมีที่ดิน ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถปฏิรูปได้ 43,902ไร่ จากนั้นก็บุกเบิกปฏิรูปที่ดินในท้องถิ่นทุรกันดารอื่น ๆ ตามพระราชดำริ รวมอีก 17 จังหวัด ปฏิรูปไปถึงท้องที่ ที่แห้งแล้งที่สุดในอีสาน คือ ทุ่งกุลาร้องไห้!! (วันนี้ไม่มีกุลามาร้องไห้ มีแต่ข้าวเจ้าที่อร่อยมาก ๆ) 

ต่อจากนั้น รัฐบาลชุดต่อ ๆ มาก็ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำรินี้จวบจนถึงปัจจุบัน จนสามารถช่วยเกษตรกรไทยให้มีที่ดินทำกิน และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ยังได้พระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพิ่มเติม โดยทรงชี้แนะด้วยว่า การปฏิรูปที่ดินในแต่ละท้องที่ จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้เกษตรกรเห็นผลโดยไม่ชักช้าส่วนเงินชดเชยค่าที่ดินที่ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทาน ซึ่งรัฐบาลจะต้องทูลเกล้าฯ ถวายตามกฎหมายนั้น เพื่อพระราชทานให้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินงานของสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินเหล่านั้น (คือเงินพระองค์ที่ชาวบ้านมาใช้ที่ดินของพระองค์พระองค์ไม่รับ ที่จ่าย ๆ กันมาให้เอาไปหมุนเวียนในสหกรณ์) พูดง่าย ๆ ว่า ทรงให้ทั้งที่ดินทำกิน ให้ทั้งเงิน แล้วยังให้พัฒนาทรัพยากรเพื่อการผลิตอื่น ๆ พร้อมด้วยความรู้ในการผลิตและการดำเนินการต่อไปด้วย

5 ธันวาคมของทุกปี วันสำคัญที่สุดของคนไทย พระองค์ยังอยู่ในหัวใจทุกคนอย่างไม่ลืมเลือน

(5 ธ.ค. 65) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.)​ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า...

วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี จะเป็นวันที่คนไทย ทุกคนจะลืมไม่ได้ เพราะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 คนไทยจึงยึดถือกันว่า วันนี้เป็นวันพ่อแห่งชาติ เป็นวันชาติของไทย

ต่อมาสหประชาชาติ ได้กำหนดให้เป็น วันดินโลก (World Soil Day) ซึ่งเป็นผลมาจาก นักปฐพีวิทยาทั่วโลก 60,000 คน ได้ตกลงที่จะนำ วันคล้ายวันพระราชสมภพ มากำหนดเป็น 'วันดินโลก' ขึ้น โดยดูจากพระราชกรณีกิจ ของพระองค์มาเป็นตัวกำหนด ในการพิจารณา

พระมหากรุณาธิคุณ ที่ปกห่มประชาชนชาวไทย ในทุกด้านซึ่งแผ่กว้างไพศาล มานานถึง 70 ปี นั้น ไม่ว่าจะเรียกว่าวันอะไรก็ตาม วันนี้ก็ยังเป็นวันสำคัญที่สุดของคนไทย และ พระองค์ยังอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน อย่างไม่ลืมเลือน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top