Thursday, 22 May 2025
ในหลวงรัชกาลที่9

๑๓ ตุลาคม วันนวมินทรมหาราช วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สถิตในใจตราบนิจนิรันดร์

น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สถิตในใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทย

พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ตลอดรัชสมัยที่พระองค์ทรงครองราชย์กว่า 70 ปี ได้ดำเนินพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ และทรงได้รับการยกย่องเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ 

เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทยมาโดยตลอดรัชสมัย รางวัลที่ทางสหประชาชาติจะทูลเกล้าฯ ถวายครั้งนั้น เป็นรางวัลเกียรติยศที่ริเริ่มขึ้นใหม่โดยสหประชาชาติ และเทิดพระเกียรติเป็นกรณีพิเศษ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งพระองค์จะทรงเป็นผู้ที่ได้รับการถวายรางวัลเกียรติคุณพิเศษนี้เป็นพระองค์แรก

นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระอาการพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตลอดมา แต่พระอาการประชวรได้ทรุดหนักลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15.52 น. สิริพระชนมพรรษา 88 พรรษา 313 วัน

บันทึกเรื่องราวตราตรึงจิตตราบนิจนิรันดร์ แม้ถ่ายทอดได้เพียงเศษเสี้ยว ‘พระราชกรณียกิจ’

ในหลวงในดวงใจ เรื่องราวประทับของนักเล่าเรื่องแห่ง THE STATES TIMES 

วันที่ 13 ตุลาคม 2567 วันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ 'วันนวมินทรมหาราช' เวียนมาบรรจบเป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี นักเล่าเรื่องราวอย่างผมก็ยังอยากจะเล่าเรื่องราวของพัฒนากรผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเรื่องราวของพระองค์ท่านช่างมีมากมายเสียเหลือเกิน ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยช่างโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์อย่างพระองค์ท่าน 

ผมเองไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรในการจะมานั่งเล่าเรื่องราว หรือมานั่งเขียนบทความอะไร แต่ด้วยโอกาสจาก THE STATES TIMES ที่อยากให้มาถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากการที่เป็นคนชอบอ่านและเป็นคนชอบทำ ทำให้มีเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะช่วงที่จัดรายการ “ตามรอยพระบาทยาตรา”มีเรื่องราวจำนวนมากที่ได้นำมาเล่า ซึ่งในบทความนี้ผมขอยกเรื่องเล่าประทับใจมาให้คุณได้อ่านกันเพลิน ๆ ดังนี้ 

เริ่มต้นการเล่าเรื่องของผม บอกเลยผมไม่มีความมั่นใจมากมายอะไรนัก และคิดอยู่หลายวันว่าจะเล่าเรื่องราวอะไรดี จนตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวด้วยการยกเพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา” มานำเสนอ เพราะผมเองเป็นนักดนตรี และทำมาหากินเกี่ยวกับดนตรีมาตั้งแต่เริ่มมีหน้าที่การงาน และเชื่อว่าความมหัศจรรย์ของบทเพลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาเพียง 10 นาที พระราชนิพนธ์เพลง ๆ นี้ เพลงที่แรกมีเพียงไม่กี่ห้อง แต่เมื่อเติมเต็มกลับกลายเป็นเพลงที่สร้างให้จิตใจของเรามีสำนึกในการรักบ้าน รักเมือง ซึ่งการนำเรื่องของบทเพลงนี้เป็นปฐม จะช่วยทำให้ผมเล่าเรื่องราวได้ดี ซึ่งการเล่าเรื่องเพลงพระราชนิพนธ์ในครั้งแรก ทำให้ผมมีความมั่นใจที่มากขึ้น ทั้งยังเล่าเรื่องราวของพระองค์ต่อไปได้อีกหลายตอน 

มาถึงเรื่องของป่า ที่ผมยกมาเล่าก็เป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กที่ได้ไปสัมผัสป่าในภาคเหนือจากการไปทำฝายแม้ว ได้เห็นป่าที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ หนาแน่น จนได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านหนึ่งว่า ป่าที่คุณเห็นคือป่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ปลูกเสริม เนื่องจากพระองค์ทรงทอดพระเนตรเมื่อทรงพระราชดำเนินผ่านทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเห็นว่าเขาตรงบริเวณนั้นหัวโล้น ทั้งยังแห้งแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงครู่เดียวเท่านั้นที่พระองค์ทรงบินผ่าน ทรงจำได้และทรงมีพระราชดำริให้ร่วมมือกันของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ปลูกต้นไม้สายพันธุ์เดียวกับป่าในพื้นที่เสริมและปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมันในการฟื้นฟูตนเอง โดยหลังจากปลูกเสริมพื้นที่บริเวณนั้น พร้อมกับปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูสุดท้ายจากป่าบนภูเขาหัวโล้นก็กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง อีกทั้งพระองค์ท่านยังทรงสำทับด้วยประโยคสำคัญว่า 
“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” ซึ่งปัจจุบันนี้หลายคนคงหลงลืมไปแล้ว จนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 

เรื่องถัดมาที่ผมยกมาเล่าก็คือเรื่องของ 'น้ำ' จากพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ว่า 'น้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้' เป็นภาคต่อจากเรื่องของป่า จากแนวพระราชดำริว่าการทำลายป่าในพื้นที่ต้นน้ำจำนวนมากเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง ก่อให้เกิดภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เมื่อมีป่า จึงก่อให้เกิดน้ำ และการจัดการน้ำคือโอกาสในการมีกิน มีใช้ ของประชาชน ผมก็ยกเรื่องราวในการไปโครงการหลวงและศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ การไปพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา และการไปทำฝายแม้วในอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตอนแรกผมไม่เชื่อว่าฝายเล็ก ๆ จะสร้างผลอะไรให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ หรือทางน้ำอะไรได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกเพียง 1 ปีให้หลัง ก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงของหน้าดิน ทางน้ำ ต้นไม้ จนต้องมาเล่าให้กับชาว THE STATES TIMES ฟัง ว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่เราได้มีส่วนร่วม ตามแนวพระราชดำริมันสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับป่าได้จริง และเมื่อเราได้รู้จักการชะลอน้ำจนเกิดป่า เมื่อถึงหน้าแล้งเราก็ยังมีน้ำ เมื่อเข้าหน้าฝนเราก็จะไม่เจอน้ำหลาก นี่คือสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างประโยชน์มหาศาล 

เรื่อง 'นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด' เป็นหัวข้อที่ผมยกขึ้นมาหลังจากได้เห็นภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งบันทึกอยู่ใน ‘สมุดภาพโครงการตามพระราชดำริ’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ก็เลยไปลองหาข้อมูลต่อ โดยเฉพาะความสนใจเรื่องของ ‘ที่ดินทำกิน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนไทย อันมีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และเป็นเรื่องหลักที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทย โดยนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2507 จากโครงการเริ่มต้น 10,000 ไร่ ในจ.เพชรบุรีไปสู่ที่ดินทำกินหลายแสนไร่ทั่วประเทศ เกี่ยวเนื่องพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องที่ดินนี้ ผมขอยกบทความของท่านอดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เรื่อง ‘พระบารมีคุ้มเกล้าฯ’ ในหนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี’ โดยมีใจความบางส่วนบางตอนที่เล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’ ความว่า...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวันชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างเริ่มจาก ‘โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง’ 

เรื่องต่อไปที่ผมประทับใจและอยากยกขึ้นมาอีก 1 เรื่องก็คือเรื่องของ 'ต้นกาแฟ' 2 – 3 ต้น โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นหลังจากก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวงในปี 2512 ด้วยพระราชปณิธานของพระองค์ที่จะช่วย 'ชาวไทยภูเขา' ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ในปี 2517 พระองค์ได้เสด็จ ฯ หมู่บ้านหนองหล่ม ในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แล้วผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นคือ 'ปู่พะโย่' ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย เมล็ดกาแฟที่ได้พันธุ์มาจาก UN จำนวน 1 กิโลกรัม ซึ่งมาจากต้นกาแฟ 2 – 3 ต้น พระองค์ทรงสนใจว่าต้นกาแฟที่ว่าอยู่ตรงไหน จึงได้เสด็จ ฯ ด้วยรถยนต์พระที่นั่ง ต่อด้วยการทรงม้าที่เพื่อไปทอดพระเนตรต้นกาแฟที่ปลูกไว้เหนือหมู่บ้าน พระองค์ทอดพระเนตรแล้วก็ได้ตรัสว่า "จะกลับมาช่วยอีกครั้ง" จนมาปี 2518 พระองค์ทรงกลับไปที่หมู่บ้านแห่งนี้พร้อมเมล็ดพันธุ์กาแฟ 'อาราบิก้า' เพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาได้ปลูก จนเป็นที่มาของ 'กาแฟโครงการหลวง' จากดอยสูง กาแฟพันธุ์ดีที่ส่งขายไปสู่มูลนิธิโครงการหลวงและบริษัทกาแฟชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ 

เรื่องราวที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นเรื่องราวแห่งความประทับใจที่ผมเล่าไปพร้อมรอยยิ้มและน้ำตา ในช่องทางของ THE STATES TIMES ซึ่งเรื่องที่เล่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของโครงการต่าง ๆ หลายพันโครงการ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์ 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

‘วินทร์ เลียววาริณ’ เล่าความประทับใจ สุดซึ้ง ‘หลวงพ่อคูณ - ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เคยถวายเงิน 72 ล้าน แต่พระองค์ทรงพระราชทานคืน เพื่อนำไปแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน

(13 ต.ค. 67) วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 และนักเขียนรางวัลซีไรต์ ชาวอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้เล่าถึงเหตุการณ์ความประทับใจ ระหว่าง ‘หลวงพ่อคูณ - ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ในหนังสือเรื่อง ‘ท่ามกลางประชาชน : เรื่องเล็ก ๆ ในรัชสมัยอันยิ่งใหญ่’ โดยมีใจความว่า …

ตามกำหนด หลวงพ่อจะถวายเงิน 72 ล้านบาทตามตัวเลขพระชนมายุของในหลวง

ตามกำหนด หลวงพ่อจะเข้าเฝ้าฯในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธียกมณฑปพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเหนืออุโบสถ

ก่อนวันงาน คนรอบตัวสอนหลวงพ่อวิธีใช้ราชาศัพท์ เพราะรู้กันดีว่าหลวงพ่อพูดสรรพนามว่า ‘กู-มึง’ มาตลอดชีวิต

“ต้องระวังนะ หลวงพ่อ”

หลวงพ่อตอบว่า “เออ! กูรู้น่ะว่าต้องพูดอะไร”

หลุดปาก “กู” อีกแล้ว!!

ทางที่ดีที่สุดก็คือไม่ต้องพูด!!

ถึงเวลาเข้าเฝ้าฯ ทรงสนทนากับหลวงพ่อหลายเรื่อง หลวงพ่อทูลตอบเท่าที่จำเป็น

แล้วหลวงพ่อก็ทูลเกล้าฯถวายเงินให้พระองค์ แต่พระองค์กลับพระราชทานเงินทั้งหมดคืนให้กับวัด เพื่อให้ใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ ทรงทราบว่าพื้นที่นี้
ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี การแก้ปัญหาของชาวบ้านสำคัญกว่า

ก่อนเสด็จกลับ หลวงพ่อจับพระหัตถ์ของในหลวง

นึกในใจ ค่อนข้างกระด้างนะ... นี่เป็นมือคนทำงานหนักชัด ๆ!!

แต่ไม่ได้พูดออกมา

หลวงพ่อคูณ ราษฎรในรัชกาลที่ 9

‘เจ้าของไอส์เบิร์กไอศกรีม’ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เผย!! เปลี่ยนคันเบ็ดเป็นที่ตักไอศกรีม จากโอกาสที่ได้ดูงาน ในโรงงานสวนจิตรลดา

(13 ต.ค. 67) ‘เจ้าของไอส์เบิร์กไอศกรีม’ โพสต์ซึ้งถึงเรื่องราวในอดีต ที่เคยได้รับพระราชทานโอกาส ให้เข้าดูงานในโรงงานไอศกรีมสวนจิตรลดา ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ จนนำมาต่อยอด มีกิจการใหญ่ ได้อย่างทุกวันนี้ โดยได้เล่าว่า …

8 ปีแล้วนะ ที่พ่อหลวงร.9 จากพวกเราไป ผมคิดเสมอว่าผมช่างโชคดีที่ผมได้เกิดเป็นคนไทย ได้เกิดและเติบโต ในช่วงที่พระองค์ยังทรงมีชีวิต

ในวัยเด็ก ช่วงเวลา2ทุ่ม ผมเห็นผู้ชายคนนี้ในจอทีวี ทุกวัน ผมสงสัยจึงถามป๋าขึ้นมา 

"ในหลวงต้องไปช่วยชาวบ้านไกลๆแบบนี้ทุกวันเลยเหรอ เขาไม่เหนื่อยบ้างเหรอ" 

ป๋าตอบผมว่า " ท่านออกไปช่วยประชาชนของท่าน ช่วยสร้างแหล่งน้ำ ช่วยสร้างอาชีพ ช่วยให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ เหนื่อยมากๆ แต่ป๋าเชื่อว่า ท่านมีความสุขที่ได้ไปช่วยคนอื่น ช่วยให้ประชาชนท่านทำมาหากินเองได้"

เวลาผ่านไปจนผมเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ผมได้ดูรายการทีวีรายการหนึ่ง ทำให้ผมรู้จักโรงนมและโรงงานไอศกรีมในสวนจิตรลดา บ้านในหลวงนั่นเอง ผมจึงเขียนจดหมายด้วยลายมือ เล่าว่าผมเป็นลูกพ่อค้าขายไอศกรีมร้านหนึ่งในจ.นครปฐม ขอโอกาสในการศึกษาดูงานการผลิตไอศกรีมแบบสมัยใหม่ เพื่อมาต่อยอดองค์ความรู้เดิมในการผลิตไอศครีมของป๋า ป๋าผมขายไอศกรีมมาหลายสิบปีแล้ว ตอนนั้นท่านอายุ 70 กว่าแล้ว ผมจึงเริ่มวางแผนมาทำงานที่บ้าน จะได้ดูแลป๋ากับแม้ในช่วงบั้นปลายชีวิตได้ด้วย เวลาท่านไม่สบายจะได้ปิดร้านพาไปโรงพยาบาลได้ทันที

หลังจากส่งจดหมายไปเกือบเดือนผมก็ได้จดหมายตอบกลับมาจากทางสวนจิตรลดา ผมได้รับโอกาสในการขอดูงานในโรงงานไอศกรีมของพระองค์ ตื่นเต้นมากๆที่เราจะได้ไปบ้านในหลวง ผมลางาน1วัน ตื่นแต่เช้า เพื่อนั่งรถเมล์เข้ากรุงเทพ รถเมล์ส่งผมถึงหน้าประตูวัง ผมเดินเข้าไปสอบถามคุณตำรวจที่ยืนรักษาการณ์ที่หน้าประตูวัง

หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจดหมายผมแล้ว ก็อนุญาตให้ผมเข้าประตูด้านในได้ ผมเดินไปตามทางถนนลาดยางที่อยู่ภายใน เห็นแปลงนาสาธิตอยู่ด้านข้าง เห็นโรงสีข้าว ผมเห็นป้ายโรงนม โดยมีคอกวัวที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก นี่บ้านในหลวงจริงๆเหรอ ผมเคยเข้าใจว่าวังคงมีแต่อาคารใหญ่โตสวยงาม แต่ที่นี่มีแต่แปลงสาธิต สิ่งต่างๆ เพื่อให้ประชาชนของท่านได้นำเอาองค์ความรู้จากที่นี่ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้

มาถึงโรงงานไอศกรีมแล้วครับ ผมได้เห็นถึงขบวนการผลิตไอศกรีมแบบสมัยใหม่ของที่นี่ ผมได้นำองค์ความรู้ในวันนั้น มาผสมผสานกับการทำไอศกรีมของคุณพ่อ แล้วปรับเปลี่ยนเป็นไอกรีมของผมเอง ดึงเอาจุดเด่นของแต่ละสูตรมา ทดลองทำอยู่นาน จึงได้สูตรไอศกรีมที่ดีที่สุด 

ผมเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ได้รับความรู้ ในการประกอบอาชีพจากพระองค์ ยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอยู่เสมอมา หากไม่มีโครงการโรงนม &โรงงานไอศกรีมสวนจิตรลดา ก็คงไม่มีไอส์เบิร์กไอศกรีม หากไม่มีร้านไอศกรีมร้านนี้ ผมก็ไม่มีเงินพอฟอกไตแม่ ชีวิตผมคงแย่มากๆ ไม่ใช่แค่คนต่างจังหวัดเท่านั้นที่ได้ความช่วยเหลือจากพระองค์ ผมเป็นคนเมืองอีก1คนที่ได้ความช่วยเหลือนั้น พระราชาไม่ได้ให้ปลาแก่ผม แต่พระราชาได้มอบคันเบ็ดให้ผม เพื่อใช้ตกปลาเอง วันนี้ผมเปลี่ยนคันเบ็ดเป็นที่ตักไอศกรีมและผมสามารถทำไอศกรีมรสชาติต่างๆในจินตนาการที่ผมคิดอยากทำได้แล้ว เผลอแป๊บเดียว ปีนี้ร้านไอส์เบิร์กครบ 24 ปี แล้วครับ ขอบคุณพระองค์มากๆ ครับ

วันอาทิตย์นี้ ตรงกับ วันที่13 ตุลาคม เนื่องในวันครบรอบวันคล้ายวันสวรรคต ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงตั้งใจว่าวันอาทิตย์นี้ 

ผมจะแจกไอศกรีม จำนวน 999 ลูก 

เริ่มตักแจกเวลา 10:00 น เป็นต้นไป

1 ท่านรับไอศครีมถ้วยละ 1 ลูก จำนวน 2 ถ้วย สามารถเลือกรสได้ มีไอศกรีมให้เลือกจำนวน 10 รสชาติ

วันอาทิตย์นี้ไม่ได้ขายไอศครีมนะครับ ผมแจกฟรีท่านใดทานหมดเอาถ้วยเก่ากลับมาเติมใหม่ได้ครับ จนกว่าไอศกรีมจะหมดตู้ 

‘ครูอะไหล่’ หัวหน้าโครงการสตรีทอาร์ตคิงภูมิพล น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เผยความตื้นตัน!! หลังได้วาด ‘พระพักตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9’ สูงเท่าตึก 3 ชั้น

(13 ต.ค. 67) นายชวัส จำปาแสน (ครูอะไหล่) หัวหน้าโครงการสตรีทอาร์ตคิงภูมิพล ประธานมูลนิธิสานต่อที่พ่อทำ ได้เล่าให้ฟังถึง แรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ‘โครงการสตรีทอาร์ตคิงภูมิพล’ และความรู้สึกตื้นตัน น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ‘พ่อหลวงของแผ่นดิน’ โดยมีใจความว่า ...

ผมได้วาดรูปพระองค์ท่านขึ้นมาในไซส์ประมาณสองเมตร ผมเห็นบรรยากาศของศิลปินทุกคนที่วาดกัน ทุกคนก็เศร้า ทุกคนเงียบ ทุกคนสงบแล้วก็วาดรูปอย่างเดียว มีระยะเวลาสองวันก็วาดกันข้ามคืน วาดกันสองวันเต็ม อาจารย์บางคนก็แทบจะไม่ทานข้าวเลย บรรยากาศตอนนั้นเนี่ย ก็เหมือนผลักดันความรู้สึก เหมือนกับว่าสองเมตรยังไม่พอซึ่ง เวลานั้น ทําให้ผมรู้สึกอยากจะวาดให้ใหญ่ขึ้นอีก

แล้วก็ได้มาวาดที่แรก ที่อําเภอเบตง ก็ใหญ่ในระดับประมาณ 3 ชั้น ตึก 3 ชั้น ซึ่งความรู้สึกตอนนั้นเนี่ยตอนที่วาดรูปตึก 3 ชั้นสําเร็จเนี่ยรู้สึกโล่งใจขึ้นจากความรู้สึกที่เราอั้นมันอยู่ข้างในแล้วน้ำตาไม่ไหล แต่กลายเป็นว่า พอเราปล่อยออกมาผ่านการวาดรูปเนี่ย เหมือนเราได้ร้องออกมาผ่านผลงานศิลปะ

ทําให้เรารู้สึกว่า เราหายคิดถึง เราหายเสียใจ พระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจในการทําศิลปะอย่างแท้จริง 

บางคนที่ว่าผมวาดรูป ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ อาจจะดูเหมือนไม่ใช่งานส่วนตัว แต่จริงๆ เนี่ย ‘สตรีทอาร์ตคิงภูมิพล’ เนี่ยคืองานส่วนตัวที่ผมทําและมีแพชชั่นกับตัวงานอย่างแท้จริง ก็ด้วยว่าการที่เราวาดบุคคลอื่นเนี่ย เราไม่รู้สึกว่าเราได้รับพลัง แล้วเรามีพลังในการทํางานเท่ากับการที่เราได้วาด ‘พระพักตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9’

รำลึกถึงพระองค์ท่านไม่เคยลืมเลือน ใครไม่อินกับสถาบัน แต่นายชวัส จำปาแสน หรือครูอะไหล่ เขาอิน เพราะพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงทำจริงเพื่อคนไทย 

ไม่มีวันไหนไม่คิดถึงพ่อ 

‘พีระพันธุ์’ ย้อนรำลึกเหตุการณ์ วันที่คนไทย ร้องไห้กันทั้งประเทศ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9

(13 ต.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โพสต์ข้อความ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของคนไทยทั้งประเทศ โดยมีใจความว่า ... 

พระองค์เป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ เป็นยิ่งกว่าพ่อของแผ่นดิน

สำหรับผม พระองค์เป็นเทพที่จุติมาเพื่อชาวไทยและประเทศไทยโดยแท้ 
ผมเห็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระองค์มาตั้งแต่จำความได้จนเติบใหญ่ ไม่เคยเห็นพระองค์หยุดคิดถึงประชาชนแม้ในยามประชวร 
พระองค์ไม่เคยหยุดปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์เลย

ผมยังจำเหตุการณ์เมื่อ 8 ปีที่แล้วได้ดี ความรู้สึกนั้น ในวันที่พระองค์จากพวกเราไป

ผมรู้สึกใจคอไม่ดี ตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม เมื่อผมได้ทราบข่าวพระอาการของพระเจ้าอยู่หัว ผมรู้สึกใจหายวูบ เป็นอาการในลักษณะเดียวกันกับที่ผมเคยรู้สึกเมื่อครั้งที่ผมได้สูญเสียคุณแม่

ในขณะนั้น ผมได้แต่ภาวนาให้พระองค์ท่านทรงหายพระประชวรโดยเร็ว 

โดยในวันที่ 12 ตุลาคม ผมรีบเดินทางไปลงนามถวายพระพร ซึ่งในเย็นวันนั้น ก็มี
แถลงการณ์สำนักพระราชวังบอกว่าพระอาการ ยังไม่ดีขี้น และมีอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิตมากขึ้น ผมทนไม่ได้น้ำตาไหล และรีบเดินทางไปยังโรงพยาบาลศิริราชอีกครั้ง เพราะอยากอยู่ให้ใกล้พระองค์ท่านให้มากที่สุด

เมื่อไปถึงก็พบว่ามีพสกนิกรของพระองค์จำนวนมากต่างเดินทางมาร่วมสวดมนต์ภาวนาให้ทรงหายจากอาการพระประชวร สายตาทุกคู่มุ่งตรงไปที่ชั้น 16 ของอาคารเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์ประทับอยู่ด้วยความหวังอย่างเปี่ยมล้นหัวใจ

และในวันแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ผมจำได้อย่างแม่นยำ มีข่าวที่ไม่สู้ดีแพร่ออกมาตั้งแต่ช่วงสาย และเมื่อถึงตอนบ่ายข่าวลือยิ่งโหมสะพัด

ผมไม่รอช้า รีบเดินทางไปโรงพยาบาลศิริราช ทันที!! 

เพื่อขอให้ได้อยู่ใกล้พระองค์ท่านให้มากที่สุด รถติดมาก เส้นทางเดิมที่ควรใช้เวลาไม่เกินชั่วโมง กลายเป็นสามชั่วโมง ก็ยังไม่เข้าใกล้ที่หมายเลย

จนกระทั่งรถของผมได้มาถึงบริเวณลานพระรูปทรงม้า หน้ากองทัพภาคที่ ๑ เหมือนสายฟ้าฟาดลงกลางใจ ‘สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ’ ว่าเจ้าชีวิตของชาวไทยทั้งชาติ ได้ทรง ‘เสด็จสวรรคต’ แล้ว 

ผมรู้สึกตกใจมาก ทุกข์ใจ เศร้าใจ สมองตื้อ ทำอะไรไม่ถูก นั่งน้ำตาไหลพรากอยู่ในรถยนต์

นาทีนั้น ผมนึกแต่เพียงอย่างเดียวว่า จะต้องไปอยู่ใกล้พระองค์ท่านให้ได้ เมื่อรถเคลื่อนมาถึงทางแยกไปโรงพยาบาลศิริราช บนสะพานพระราม 8 ตำรวจกั้นถนน ผมก็ต้องให้รถวิ่งอ้อมไปทางพุทธมลฑล แล้วหาทางกลับรถวิ่งมาใหม่ทางถนนข้างล่าง ถึงแยกถนนจรัญสนิทวงศ์รถก็ติดมาก ผมจึงตัดสินใจลงจากรถ แล้วเดินเท้ามุ่งหน้าไปหาพระองค์ท่าน ที่โรงพยาบาลศิริราช 

เดินไปน้ำตาไหลไป 

เมื่อถึงโรงพยาบาลศิริราช ผมก็ได้เข้าไปที่ลานหน้าพระบรมรูปสมเด็จพระบิดา เพื่อกราบบังคมถึงพระองค์ท่านด้วยน้ำตานองหน้า

ไม่เพียงผมเท่านั้น ประชาชนอยู่เป็นจำนวนมากก็เช่นเดียวกัน ร้องไห้กันไม่หยุด เสียงตะโกนว่า “เรารักในหลวง....ทรงพระเจริญ...เราจะอยู่รอปาฏิหาริย์” ดังขึ้นเป็นระยะๆ 
แต่ที่บาดใจที่สุดก็ตรงที่ประชาชนร่วมกันร้องตะโกนว่า “เอาในหลวงของเราคืนมา” 

ผมรู้สึก ‘เหมือนใจจะขาด’ เคว้งคว้างล่องลอย เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างดับสูญไปหมด นึกถึงแต่คำว่า ‘พระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น’ ที่พระองค์ท่านมีต่อประเทศชาติและประชาชน 

พระองค์จากพวกเราไปแล้ว เหมือนโลกหยุดหมุน เสียงร่ำไห้ดังทั่วแผ่นดิน น้ำตาผมไหลออกมาเองแบบหยุดไม่ได้

แม้เหตุการณ์ในวันนั้น จะผ่านมาถึง 8 ปีแล้ว แต่มันก็ยังคงฝังลึกในความทรงจำอย่างไม่รู้ตัว แค่นึกถึงก็น้ำตาไหลอีกแล้ว…

ในเช้าวันนี้ (13 ต.ค. 67) ผมได้ไปวางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ร่วมกับคณะรัฐมนตรี 

สำหรับผม ไม่ใช่เพียงการปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นการรำลึกถึงพระผู้มีพระคุณใหญ่หลวงกับปวงชนชาวไทยและประเทศไทยมายาวนานกว่า 70 ปี

ผมรักและเทิดทูนพระองค์มากจริงๆ มากที่สุดในชีวิต

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ในหลวง ร. 9 เสด็จฯ ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามฯ

วันนี้ เมื่อ 28 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ครองราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัชกาล ครั้งใหญ่ซึ่งเป็นที่จดจำ คือ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เฉลิมฉลองในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 

ซึ่งทรงครองราชย์นานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีต โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 อย่างยิ่งใหญ่ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม

ซึ่งขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ได้มีการจัดริ้วขบวนอย่างยิ่งใหญ่และสง่างาม อีกทั้งยังมีเรือพระราชพิธีลำใหม่ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย

โดยได้นำโขนหรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มาเป็นแม่แบบ ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินการสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างของตัวเรือ พายและคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด

โดยหัวเรือพระที่นั่ง จำหลักรูปพระวิษณุประทับยืนบนครุฑ ซึ่งได้แสดงรูปพระวิษณุและลักษณะอันโดดเด่นของพระองค์ เช่น พระวรกายคล้ำ ในพระกรทั้ง 4 ทรงถือจักร สังข์ คทา และตรีศูล ประทับบนครุฑยุดนาค หรือครุฑที่จับนาค 2 ตัวชูขึ้น

ตามคัมภีร์ปุราณะ ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน แต่ทั้งสองก็รับใช้พระวิษณุ ครุฑ เจ้าแห่งนกทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของท้องฟ้า นาค เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของน้ำ เมื่อพระวิษณุอยู่เหนือครุฑและนาค ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีพลังในการพิทักษ์ปกป้องโลกทั้งมวล

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 จำนวน 15 ครั้ง

และจัดขบวนเรือพระราชพิธี จำนวน 2 ครั้ง สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ส่วนใหญ่จะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม

ส่วนการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้ง ได้แก่ การจัดขบวนเรือพระราชพิธี เนื่องในการประชุมเอเปก 2003 (20 ตุลาคม พ.ศ. 2546)

และเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (12 มิถุนายน พ.ศ. 2549) โดยการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้งนี้ เป็นเพียงการสาธิตแห่ขบวนเรือซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จในขบวนด้วย

13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวง ร.9 เสด็จเยือนจังหวัดนครพนม ก่อเกิดภาพประวัติศาสตร์ ‘ดอกไม้แห่งหัวใจ’

วันนี้เป็นวันครบรอบ 69 ปี ของภาพเหตุการณ์ที่กลายมาเป็นภาพประวัติศาสตร์สำคัญภาพหนึ่ง ...ของประเทศเล็กๆ..บนโลกใบนี้ที่ชื่อว่าประเทศไทย กับภาพ ‘ดอกไม้แห่งหัวใจ’ ที่ตราตรึงอยู่ในใจคนไทยตลอดมา

วันนั้นเป็นหนึ่งวันในพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน 2498 โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2498 ทรงสร้างประวัติศาสตร์อย่างแรกคือทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯไปสักการะ พระธาตุพนม 

แต่ในวันเดียวกันนั้นยังเกิดภาพประทับใจ ที่คนไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี และถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึง 'ความอ่อนโยน' ( หรือ มทฺทวํ) ของพระผู้เป็นประมุขของประเทศ ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ 

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากพระราชกรณียกิจภาคเช้าที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จกลับมายังที่ประทับแรม ตลอดทางมีราษฎรมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ตามรายทางเป็นระยะ ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็ทรงหยุดรถพระที่นั่ง เสด็จลงไปทักทายปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้นเป็นระยะ 

ที่สามแยกชยางกูร-เรณูนคร มีราษฎรอุ้มลูกจูงหลานมารอเฝ้าอยู่กลุ่มใหญ่ หนึ่งในนั้นคือครอบครัวจันทนิตย์ ที่บรรดาลูกหลานได้พา แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี(อายุในขณะนั้น) มาเฝ้าอยู่ ณ จุดนั้นด้วย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน 700 เมตร และได้หาดอกบัวสาย สีชมพูให้แม่เฒ่ามาถวาย 3 ดอก แล้วพาไปนั่งแถวหน้าสุดเพื่อให้ได้โอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท 

ตั้งแต่เช้าจนบ่าย แม้ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้ดอกบัวในมือของแม่เฒ่าเหี่ยวเฉา แต่ก็ไม่อาจจะแผดเผาให้หัวใจแม่เฒ่าวัย 102 ปีเหี่ยวเฉาไปได้ จะขอเฝ้าล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์สักครั้งในชีวิต 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงตรงหน้า แม่เฒ่ายกดอกบัวสายที่เหี่ยวทั้ง 3 ดอกนั้นขึ้นเหนือหัว แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง 

พระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่า และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมืออันกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยน รับดอกบัวทั้ง 3 ดอกไว้ด้วยพระหัตถ์ 

ขอบพระคุณ ที่วินาทีนั้น คุณอาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ ได้กดชัตเตอร์บันทึกภาพนี้ไว้ได้ในนาทีประวัติศาสตร์ 

ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีรับสั่งกับแม่เฒ่าอย่างไร ภาพนี้ก็ไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ ทั้งสิ้น และบอกถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ที่ทรงมีกับราษฎรของพระองค์ ได้มากกว่าคำอธิบายใด ๆ เป็นล้านคำ 

หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว สำนักพระราชวังยังได้ส่งภาพนี้ พร้อมด้วยพระบรมรูปหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึกด้วย และนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แม่เฒ่าวัย 102 ปียังคงมีชีวิตยืนยาวอย่างชุ่มชื่นหัวใจต่อมาอีก 3 ปี 

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของพวกเราคงไม่เคยพบเห็นภาพ ประมุขหรือผู้นำของประเทศไหน ๆ ในโลกใบนี้ ได้แสดงออกถึงความรักและให้ความใกล้ชิดกับประชาชนของตนอย่างมากในลักษณะเช่นนี้อีกแล้ว ภาพนี้จึงมักเป็นภาพแรกๆ ที่ปรากฏในห้วงความทรงจำของคนไทยเมื่อยามที่ระลึกถึงพระองค์ท่าน....

ร.9 เสด็จพระราชดำเนินอีสาน: จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์จอมพล ป. | THE STATES TIMES Story EP.159

พฤศจิกายน 2498 การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานของในหลวง ร.๙ ไม่ใช่เพียงการพบปะประชาชนครั้งประวัติศาสตร์ แต่ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สถานะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่นคลอนลงอย่างไม่คาดฝัน

ติดตามเรื่องราวการต่อรองอันแยบยล ความศรัทธาที่เปี่ยมล้นของประชาชน และบทเรียนทางการเมืองที่สะท้อนถึงพลังของ "ผู้นำที่แท้จริง"

16 ธันวาคม วันกีฬาแห่งชาติ น้อมระลึกถึงพระปรีชาสามารถ ในหลวง ร.9 ทรงร่วมแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วม การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศไทย นอกเหนือจากกีฬาเรือใบแล้ว แบดมินตันก็เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดปรานมากเช่นกัน ในหอประชุมวังจิตรลดาฯ ได้ปรับแต่งเป็นสนามแบดมินตันมาตรฐาน ส่วนมากพระองค์จะทรงแบดมินตันในตอนเย็นและวันศุกร์ และเช้าวันอาทิตย์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางการกีฬานี้ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงและทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัด

ดังนั้นในการประชุมใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลครั้งที่ 29 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีนายฮวน อันโตนีโอ ซามาร้านซ์ ประธานคณะโอลิมปิกสากล เป็นประธานการประชุมพร้อมทั้งสมาชิกเข้าร่วมประชุมอีก 87 ประเทศ ได้มีมติเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกสากล คือ 'อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด' (ทอง) แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูง สมควรที่นักกีฬาและประชาชนชาวไทยควรที่จะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท อันจะเป็นโอกาสให้สามารถนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติและวงศ์ตระกูล

เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนของชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าความสำคัญของการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2529 กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวัน 'วันกีฬาแห่งชาติ'


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top