Wednesday, 15 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่9

๑๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม เพื่อให้บ้านเมืองและประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นับจากวันนั้น พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมาโดยตลอด

ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงห่วงใยในทุกข์สุข ของอาณาประชาราษฎร์ มิต่างจากทุกข์สุขของพระองค์เอง กษัตริย์ผู้ทรงอุทิศพระวรกาย ในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ มากมาย นำพาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ สะท้อนออกมาเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและ การพัฒนาประเทศทั้งสิ้น อาทิ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาด้านการเกษตร พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ พัฒนาด้านสาธารณสุข พัฒนา ด้านคมนาคมและการสื่อสาร พัฒนาด้านสวัสดิการสังคมและการศึกษา โครงการพัฒนา แบบบูรณาการและอื่น ๆ ซึ่งทุกโครงการที่พระองค์ได้พระราชทาน ยังประโยชน์สุข มากมายแก่ประชาชนชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน มาเป็นแนวปฏิบัติในการดำรงตน ตามวิถีแห่งความพอเพียง พออยู่ พอกิน และคงไว้ ซึ่งความดี ความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติงานในฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะเป็นองค์กรรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมก้าวเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท แห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

หลักการทรงงาน 23 ประการ ของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ พระผู้เป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ

หลักการทรงงาน 23 ประการของ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ พระผู้เป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ 🙏🏻🇹🇭✨

1.) ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
การที่จะพระราชทานพระราชดำริเพื่อดำเนินงานโครงการ จะทรงศึกษาข้อมูลรอบด้านจากเอกสาร แผนที่ สอบถามเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ ให้ได้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ครบถ้วน เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ตรงความต้องการของประชาชน

2.) ระเบิดจากข้างใน
พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ทรงตรัสว่า “... ต้องระเบิดจากข้างใน หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญ หรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาสังคมภายในหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว”

3.) แก้ปัญหาที่จุดเล็ก
พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา ทรงมองปัญหาในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่คนมักจะมองข้าม

4.) ทำตามลำดับขั้น
ในการทรงงานพระองค์ทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ งานด้านสาธารณสุข เมื่อร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้วก็จะสามารถทำประโยชน์อื่นๆ ต่อไปได้ จากนั้นด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการ-เทคโนโลยี เน้นปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

5.) ภูมิสังคม
การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน

6.) องค์รวม
ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวม (Holistic) หรือมองอย่างครบวงจรในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้น จะทรงมองเหตุการณ์ ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง ดังเช่นกรณีของ (ทฤษฎีใหม่) ที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยเป็นแนวทางประกอบอาชีพแนวทางหนึ่ง ที่พระองค์ทรงมองอย่างองค์รวม ตั้งแต่การถือครองที่ดิน โดยเฉลี่ยของประชาชนชาวไทยประมาณ 10-15 ไร่ การบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพ เมื่อมีน้ำในการเกษตรแล้ว จะส่งผลให้ผลิตดีขึ้น และหากมีผลิตมากขึ้น เกษตรกรต้องรู้วิธีการจัดการและการตลาด รวมถึงการรวมกลุ่มรวมพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพร้อมที่จะออกสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกได้อย่างครบวงจรนั้น คือ ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 2 และ 3

7. ไม่ติดตำรา
การพัฒนาตามราชดำริของพระองค์ ลักษณะพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคม จิตวิทยาแห่งชุมชน ‘ไม่ติดตำรา’ ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่แท้จริงของคนไทย

8.) ประหยัดเรียบง่าย
ได้ประโยชน์สุดในเรื่องของความประหยัดนี้ ประชาชนชาวไทยเคยเห็นว่า หลอดยาสีพระทนต์นั้นทรงใช้อย่างคุ้มค่าอย่างไร ฉลองพระองค์แต่ละองค์ทรงใช้อยู่เป็นเวลานาน หรือแม้แต่ฉลองพระบาทหากชำรุดก็จะส่งซ่อมและใช้อย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันการพัฒนาช่วยเหลือราษฎร ทรงใช้ความเรียบง่ายและประหยัดในการแก้ไขปัญหา ให้ราษฎรสามารถทำได้เอง ประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคมาแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก

9.) ทำให้ง่าย
ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้การคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไข งานพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริดำเนินไปโดยง่าย และสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ระบบนิเวศโดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพสังคมของชุมชนนั้นๆ ทรงโปรดที่จะทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย อันเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎธรรมชาติเป็นแนวทางนั้นเอง แต่การทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่ายนั้นเป็นของยาก ดังนั้นคำว่า “ทำให้ง่าย” หรือ “Simplicity” จึงเป็นหลักคิดสำคัญของการพัฒนาประเทศ ที่มาในรูปแบบของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

10.) การมีส่วนร่วม
พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย จึงทรงนำ “ประชาพิจารณ์” มาใช้ในการบริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชน

11.) ประโยชน์ส่วนรวม
การปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนา และช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ ทรงระลึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ

12.) บริการรวมที่จุดเดียว
‘การบริการรวมที่จุดเดียว’ หรือ ‘One Stop Services’ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย โดยทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบในการบริการรวมที่จุดเดียว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่ใช้บริการ ให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานราชการต่างๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว

13.) ทรงใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดธรรมชาติ ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น การแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรม ได้พระราชทานพระราชดำริ ‘การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก’ ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ หรือแม้กระทั่ง ‘การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’

14.) ใช้อธรรมปราบอธรรม
ทรงนำความจริงเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการแนวปฏิบัติที่สำคัญ ในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติเข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การทำน้ำดีขับไล่น้ำเสีย หรือเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดีตามจังหวะการขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวา ซึ่งมีตามธรรมชาติให้ดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ ดังพระราชดำรัสความว่า “ใช้อธรรมปราบอธรรม”

15.) ปลูกป่าในใจคน
เป็นการปลูกป่าลงบนแผ่นดิน ด้วยความต้องการของมนุษย์ทำให้ต้องการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพื่อประโยชน์ของตนเองและสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม ไม่รู้จักพอ ปัญหาความไม่สมดุลจึงบังเกิดขึ้น ดังนั้นในการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน

16.) ขาดทุนคือกำไร
“ขาดทุน คือ กำไร” (Our loss is our gain) “การเสีย คือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้…” จากพระราชดำรัสดังกล่าว คือหลักการที่พระองค์ ทรงมีต่อพสกนิกรไทยด้วย ‘การให้’ และ ‘การเสียสละ’ เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือความอยู่ดี มีสุขของราษฎร ซึ่งสามารถสะท้อนเป็นรูปธรรมชัดเจนได้

17.) การพึ่งพาตนเอง
การพัฒนาตามแนวพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ประชาชนแข็งแรง พอที่จะดำรงชีวิตต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และ ‘พึ่งตนเองได้’

18.) พออยู่พอกิน
การพัฒนาเพื่อให้พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในทุกภาคของประเทศ และพระองค์ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง จึงทรงเข้าพระราชหฤทัยสภาพปัญหาอย่างลึกซึ้ง ในการพัฒนานั้น หากมองในภาพรวมของประเทศมิใช่งานเล็กน้อย แต่ต้องใช้ความคิดและกำลังของคนทั้งชาติจึงจะบรรลุผลสำเร็จด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์จึงทำให้คนทั้งหลายได้ประจักษ์ว่า แนวทางพระราชดำริในพระองค์นั้น ‘เรียบง่าย ปฏิบัติได้ผล’ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

19.) เศรษฐกิจพอเพียง
‘เศรษฐกิจพอเพียง’ เป็นปรัชญาที่ทรงพระราชทานชี้แนวทางดำเนินชีวิต แก่พสกนิกรมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้พระราชทานไว้ ดังนี้

“ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อมามีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน”

20.) ความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจต่อกัน
“คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ”
- พระราชดำรัสฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2522

“ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ มากกว่าผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ”
- พระราชดำรัสฯ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533

“ผู้ว่า CEO ต้องเป็นคนที่สุจริต ทุจริตไม่ได้ ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป ข้าราชการหรือประชาชนที่มีการทุจริต ถ้ามีทุจริตแล้วบ้านเมืองพัง ที่เมืองไทยพังมาเพราะมีการทุจริต”
- พระราชดำรัสฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546

21.) ทำงานอย่างมีความสุข
พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ และทรงมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเคยมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งความว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น”

22.) ความเพียร
พระองค์ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ในระยะแรกไม่ได้มีความพร้อมมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ก็มิได้ท้อพระราชหฤทัย ทรงอดทนและมุ่งมั่นดำเนินงานนั้น ให้สำเร็จลุล่วง ดังเช่นพระราชนิพนธ์ ‘พระมหาชนก’ ซึ่งพระองค์ทรงใช้เวลาค่อนข้างนานในการคิดประดิษฐ์ถ้อยคำให้เข้าใจง่าย และปรับให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยปฏิบัติตามรอยพระมหาชนก กษัตริย์ผู้เพียรพยายามแม้จะไม่เห็นฝั่งก็จะว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรว่ายก็จะตกเป็นอาหารปู ปลา และไม่ได้พบกับเทวดาที่ช่วยเหลือมิให้จมน้ำ เช่นเดียวกับพระองค์ทรงริเริ่มทำโครงการต่างๆ ในระยะแรกที่ไม่มีความพร้อมในการทำงานมากนัก และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้นแต่พระองค์ก็มิได้ท้อพระราชหฤทัย มุ่งพัฒนาบ้านเมืองให้บังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข

23.) รู้ รัก สามัคคี
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง ‘รู้ รัก สามัคคี’ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีคุณค่าและมีความหมายลึกซึ้ง สามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย

รู้ : การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา

รัก : คือ ความรัก เมื่อเรารู้ครบถ้วนกระบวนความแล้วจะต้องมีความรัก การพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ คือ การสร้างฉันทะ

สามัคคี : การที่จะลงมือปฏิบัติควรคำนึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะจึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

‘ดร.สุวินัย’ ยก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เปรียบดั่งมหาบุรุษของแผ่นดินสยาม ขอคนไทยจงภูมิใจที่ครั้งหนึ่งเคยได้มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของพระองค์

(13 ต.ค. 66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suvinai Pornavalai’ ถึงความเมตตาอันล้ำลึกของมหาบุรุษ โดยระบุว่า…

เมตตาอันล้ำลึกของ ‘มหาบุรุษ’

เมตตาอันล้ำลึก คือการยอมเสียเปรียบโดยไม่มีประมาณ

เมตตาอันล้ำลึก ดุจ ‘ใจน้ำ’ (水心)  ที่อยู่ใต้ทะเล 100 เชียะ (水下百尺)

มหาบุรุษทุกคนล้วนมีเมตตาอันล้ำลึกเช่นนี้

เมตตาเป็นพลังบุญชนิดหนึ่ง ทุกครั้งที่ใจแผ่เมตตาออกไป เปรียบดังเทหยดน้ำลงเติมใน ‘ทะเลบุญ’ หยดน้ำแห่งบุญที่เทเติมลงไปรวมกับทะเลบุญ ย่อมไม่มีวันสูญหายไปไหน ตราบใดที่ทะเลบุญยังอยู่ ทะเลแห่งบุญนี้ย่อมกลายเป็นคลื่นน้อมนำ เกื้อหนุน นำพาผู้นั้นว่ายข้ามสังสารวัฏ ลุถึงความรู้แจ้งได้ในที่สุด

โลกทั้งหมดก็คือ ‘ใจ’

โลกทั้งหมดมิใช่สิ่งใดอื่นที่อยู่นอกเหนือใจ การเห็นโลกทั้งหมดเป็นแค่บ้านที่กำลังถูกไฟไหม้ 
ย่อมนำมาซึ่งการตื่นรู้และความเมตตาอันล้ำลึก เพราะด้วยเมตตาอันล้ำลึกเช่นนี้ มหาบุรุษจึงมองมนุษย์ทุกคนคือเพื่อนกัน เป็นหนึ่งเดียว มหาบุรุษมักเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ชีวิตเรียบง่าย รักสันโดษ ไม่มีนอกไม่มีใน มิหนำซ้ำ มหาบุรุษยังเป็นคนแบบเดียวกันกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

คนทั้งโลกส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจแห่งวัตถุ เมื่อมีผู้ใดหลุดจากอำนาจนี้ได้ ผู้นั้นย่อมข้ามพ้นขีดจำกัดของความเป็นคนธรรมดา กลายเป็นมหาบุรุษผู้มีความพิเศษอันน่าทึ่ง และล้ำลึกสุดหยั่งถึง

มหาบุรุษทุกคนล้วนเป็นผู้ใช้ชีวิตที่ถูกต้องทั้งทางโลกและทางธรรม มหาบุรุษเป็นผู้ที่ทำหนึ่งแต่ได้ทั้งหมด… ไม่ใช่ผู้ทำทุกอย่างแต่ไม่ได้อะไรซักอย่าง…

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสกับพระสารีบุตรเอาไว้ว่า “เรารักราหุลเยี่ยงไร เราก็รักเทวทัตเยี่ยงนั้น” 
หมายความว่า พระองค์ทรงรักผู้ที่เคยลอบปลงพระชนม์พระองค์ เท่ากับที่พระองค์ทรงรักบุตรชายคนเดียวของพระองค์

คนเราต้องใช้ความเมตตามากขนาดไหน จึงสามารถทำจิตใจให้เป็นเช่นนี้ได้?

มหาบุรุษทุกคนล้วนมีความเมตตาอันล้ำลึกเช่นนี้ หากแม้สามารถรับบาปกรรมในนรกอเวจีแทนสรรพสัตว์ได้ พวกท่านจะไม่ลังเลรีรอเลยที่จะทำ มิหนำซ้ำมหาบุรุษไม่เคยคาดหวังให้ผู้อื่นมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองได้กระทำ

“เขาตบแก้มขวา ให้เอียงแก้มซ้ายให้ตบอีก” มหาบุรุษท่านหนึ่งเคยกล่าว

“เรารักราหุลเยี่ยงไร เราก็รักเทวทัตเยี่ยงนั้น” มหาบุรุษพระองค์นั้นทรงตรัสไว้

“เมตตาแปลว่ายอมเสียเปรียบ” พระอริยเจ้ารูปหนึ่งเคยกล่าวไว้

“เศรษฐกิจพอเพียงคือทางรอด ความพอเพียงคือกุญแจสู่อิสรภาพ” มหาบุรุษคนล่าสุดของแผ่นดินนี้เคยสอนไว้

จะมีใครกี่คนกันที่รับรู้ถึงความลึกซึ้งของถ้อยคำเหล่านี้ได้?

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวาทะจากจิตวิญญาณที่เขย่าโลก เพราะมันเป็นคำพูดที่มาพร้อมการกระทำอันเป็นแบบอย่าง จึงมีพลังถึงขั้นสามารถกระตุ้นปลุกความเมตตาในจิตใจของผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายให้ลุกโชน ตื่นรู้จากความเห็นแก่ตัวที่ปกปิดห่อหุ้มจิตวิญญาณให้มืดบอดหลับใหล

เมตตาอันล้ำลึกคืออะไร?
แม้เราเกลียดท่าน ท่านยังเมตตา
แม้เราทำร้ายท่าน ท่านยังรักใคร่
แม้เราแล้งน้ำใจต่อท่าน ไม่เคารพท่าน
ท่านก็ยังเอาชีวิตของท่านรับใช้เพื่อประโยชน์แห่งเราทุกคน

นี่มิใช่หรือ ที่เรียกว่า ‘ความเมตตาอันล้ำลึก’ เท่าที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งสามารถยกระดับจิตวิญญาณของตนไปถึงได้ คนธรรมดาย่อมกลายเป็นคนไม่ธรรมดา หรือมหาบุรุษได้ หากมีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนจิตวิญญาณของตนเพียงพอ

หากแม้น ชีวิตคือบทสนทนาไม่รู้จบ กับเหล่า ‘บุคคลต้นแบบ’ ของตนเอง นิยามใหม่ของชีวิต ย่อมมิใช่สิ่งใดอื่น… นอกจากการใช้เวลาทั้งชีวิตของตนเอง เพื่อถมเต็ม ‘ช่องว่าง’ ระหว่างจิตวิญญาณของตน กับจิตวิญญาณของมหาบุรุษเหล่านั้น ผู้มีเมตตาอันล้ำลึก และเป็น ‘บุคคลต้นแบบ’ ของตนนั่นเอง

จงภูมิใจเถิดว่า ครั้งหนึ่งพวกเราเคยมีชีวิตร่วมสมัยเดียวกับมหาบุรุษคนล่าสุดของแผ่นดินสยาม

สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavalai

‘นัท มีเรีย’ แบ่งปันคลิป ‘ในหลวง ร.9’ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

(13 ต.ค.66) สืบเนื่องวันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า ‘สัตตมวรรษ’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อ วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามที่รัฐบาลขอพระราชทานพระมหากรุณา จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันนวมินทรมหาราช’

โดยคนบันเทิงต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หนึ่งในนั้น มี นักร้องหญิงมากความสามารถ ‘นัท มีเรีย’ โพสต์คลิป พร้อมข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว @myriabenedetti พร้อมข้อความระบุว่า...

“คลิปนี้คือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่อยากจะนำมาแบ่งปันในปีนี้ที่ขึ้นสู่ปี 7 🙏🏻💛 วันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2566 ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร #13ตุลาคม #วันนวมินทรมหาราช”

‘สุวัจน์’ นำคณะกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนากล้า วางพวงมาลา ถวายบังคม พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 เนื่องในวันนวมินทรมหาราช

(13 ต.ค. 66) ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า ได้นำกรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนากล้า ประกอบด้วย

นายอดุลย์ เลาหพล รองหัวหน้าพรรค นาย อรัญ พันธุมจินดา ผู้อำนวยการพรรค และ นางสาวเยาวภา บุรพลชัย โฆษกพรรค ร่วมพิธีวางพวงมาลา และ ถวายบังคม พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องใน ‘วันนวมิทรมหาราช’ 13 ตุลาคม 2566 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้

19 ตุลาคม ของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เทิดพระเกียรติ ร.9 ‘พระบิดาเทคโนโลยีไทย’

วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี กำหนดเป็น วันเทคโนโลยีของไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย’

จุดเริ่มต้น วันเทคโนโลยีของไทย มาจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หรือเมื่อ 51 ปีที่แล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นฐานปฏิบัติการ และประสบความสำเร็จฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่คณะผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอย่างมาก

การสาธิตฝนเทียมในครั้งนั้นถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนเทียมของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำอยู่ในปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ รัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันเทคโนโลยีของไทย’ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด 

พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์ และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย นอกจากนี้ พระองค์ยัง ยังทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายอีกด้วย

26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ม.รามคำแหงรุ่นแรก

วันนี้ เมื่อ 48 ปีก่อน ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ’ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เป็นวันเสด็จพระราชดำเนินในพิธี โดยใช้สถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก คือ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง

หลังจากพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทางด้านหลังสำนักหอสมุดกลาง เสด็จขึ้นหอสมุดกลางทางประตูด้านหลัง เสด็จเข้าห้องรับรอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรองอธิการบดีทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางสังคมวิทยา แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ครุย แล้วทรงลงปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย เมื่อถึงหมายกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเสด็จพระราชดำเนินเข้าเวทีที่ประทับ ทรงบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าสำนักหอสมุดกลาง

นายกสภามหาวิทยาลัย ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลสดุดี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อธิการบดีเชิญปริญญาบัตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและรองอธิการบดีเชิญปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางสังคมวิทยาขึ้นทูลเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

จากนั้น เป็นการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามลำดับ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2517 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า...

“มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้เป็นมหาวิทยาลัยในแบบที่ให้โอกาสแก่ ผู้ปรารถนาวิชาความรู้ ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง และอย่างอิสระจึงอำนวยประโยชน์ได้มาก ในด้านสนับสนุนส่งเสริมบุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว ให้ได้ฟื้นฟูเพิ่มพูนความสามารถของตนทางด้านวิชาการ เพื่อนำไปปรับปรุง การงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยกฐานะหน้าที่ให้สูงขึ้น มหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริม ผู้ที่เข้ามาศึกษาดังนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วทุกคนควรจะได้มองเห็น และควรที่จะได้น้อมนำมาเป็นคติในการดำเนินชีวิต และการงานต่อไป โดยทำความตั้งใจและความเพียรให้มั่นคง ในอันที่จะฝึกฝนและปรับปรุงตนเอง ในการทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดควรจะได้พยายาม หาทางนำความคิดวิทยาการซึ่งอุตส่าห์ฝึกฝนศึกษามาได้ด้วยยากนั้นมาใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความ เจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองของเรา”

'จ.ชลบุรี' ร่วม 'พิพิธภัณฑ์ปราสาทสัจธรรม' แถลงข่าวการจัดงาน 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศลและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.66 นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวการจัดงานพิธี 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พิพิธภัณฑ์ปราสาทสัจธรรม โดยมีนางศุภาวี บำรุงศักดิ์ วัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี, เรือตรีปราโมทย์ ทับทิม ปลัดเมืองพัทยา, นางวรากร วิริยะพันธุ์ รองประธานบริหารพิพิธภัณฑ์ปราสาทสัจธรรม ร่วมแถลงข่าว 

ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า สำหรับการจัดงานพิธี 5 ศาสนา เพื่อถวายพระราชกุศลและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5-9 ธันวาคม 2566 ณ พิพิธภัณฑ์ปราสาทสัจธรรม เมืองพัทยา อีกทั้งยังเป็นการมุ่งหวังให้ทุกคนทุกศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข 

ด้านนางวรากร วิริยะพันธุ์ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ปราสาทสัจธรรม ได้จัดกิจกรรม 5 ศาสนา มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งจัดในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิ-เบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เพื่อเทิดพระเกียรติ และรำลึกใน พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจ เข้ามามีส่วนร่วมในพิธีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และร่วมในพิธี 5 ศาสนา ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ปราสาทสัจธรรมได้จัดเตรียมโต๊ะสำหรับวางของใส่บาตร พร้อมกับจัดโรงทานให้บริการสำหรับผู้ที่มาร่วมในพิธี 5 ศาสนาด้วย

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงานพิธี 5 ศาสนา โดยในวันที่ 5 ธันวาคม จะเป็นพิธีบรรพชาสามเณร 300 รูป, วันที่ 6 ธันวาคม มีเวทีเสวนา 5 ศาสนา และในวันที่ 9 ธันวาคม พิธีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ 400 รูป และพิธี 5 ศาสนา โดยเริ่มจากศาสนาพุทธ, ศาสนาคริสต์, ศาสนาอิสลาม, ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์

4 ธันวาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ วันที่ ในหลวง ร.9 ดำรัสถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันสิ่งแวดล้อมไทย ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงพระราชดำรัสของของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม 

ประวัติของวันสิ่งแวดล้อมไทย เกิดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ทรงมีพระราชดํารัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำว่า

“สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกที่มีความรุนแรงขึ้น และทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกําลังประสบอยู่ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกรให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย”

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี พ.ศ. 2534 ให้กำหนดวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันมีความสำคัญต่อชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยต้องร่วมมือกันปกป้อง รักษาให้คงอยู่สมบูรณ์ในประเทศอย่างยั่งยืนตลอดไป

‘ท่านอ้น’ เข้ากราบ ‘เสด็จปู่’ น้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมร่วมกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติ 66 หลังกลับไทยครั้งที่ 2

ท่านอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์ โอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว ซึ่งการมาครั้งนี้ ถือเป็นการเดินทางกลับไทยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี โดยท่านอ้น เดินทางมาเป็นการส่วนตัว ตั้งใจร่วมทำกิจกรรมน้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทำกิจกรรมเนื่องในวันพ่อ 5 ธันวาคม รวมถึงเดินทางท่องเที่ยวตามจังหวัดต่าง ๆ โดยจะไปแบบเรียบง่าย โดยมีกำหนดการจะอยู่ประเทศไทยนาน 14 วัน หรือประมาณ 2 สัปดาห์

(5 ธ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘ท่านอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์’ ได้นำพานพุ่มมาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566

จากนั้นได้ทักทายและถ่ายภาพร่วมกับประชาชน ก่อนเดินทางกลับพร้อมคณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมา ท่านอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์ โพสต์ภาพและข้อความผ่านเพจ ‘Vacharaesorn Vivacharawongse’ ระบุว่า…

“ไปกราบทูลกระหม่อมปู่

ถวายราชสักการะ พระบรมราชานุเสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องใน วันคล้ายวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top