ศธ.เตรียมเสนอยูเนสโก ยกย่อง 'ในหลวง ร.9' เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าของโลก

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้กองการต่างประเทศสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วางแผนเตรียมการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศยกย่องเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าของโลก เนื่องจากพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระปณิธานแน่วแน่ที่จะทำประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทย และสังคมโลก โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านและทั่วโลกให้การยอมรับ เพราะในวันที่ 5 ธันวาคม 2570 จะเป็นวาระครบรอบ 100ปี วันประสูติของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังนั้นศธ.จึงต้องวางแผนเตรียมข้อมูลด้านต่างๆเอาไว้  

ด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่ประเทศฝรั่งเศสจะพิจารณาบุคคลสำคัญและผู้ทรงคุณค่าจากทุกประเทศทั่วโลกเป็นประจำทุกปี โดยในส่วนของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาศธ.ได้เสนอพระนามสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ให้ที่ประชุมยูเนสโกประกาศยกย่องเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าโลกมาแล้ว ดังนั้น ในแผนงานต่อไปเรามีแนวคิดนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ของยูเนสโกพิจารณาเช่นเดียวกัน แต่ในระหว่างนี้จึงได้เตรียมจัดทำข้อมูลเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อที่ครม.เสนอเรื่องไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นบุคคลผู้ทรงคุณค่าของโลก และจากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของยูเนสโกต่อไป

สำหรับการวางแผนเตรียมดำเนินการในเรื่องนี้จะเสนอให้ครม.พิจารณาเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และต้นปี 2566 จะต้องส่งเรื่องไปยังที่ประชุมใหญ่ยูเนสโกประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม การเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นบุคคลผู้ทรงคุณค่าของโลกนั้น เนื่องจากพระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม ด้านประติมากรรม ด้านการช่าง นวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านการถ่ายภาพ ด้านการกีฬา ด้านดนตรี และด้านภาษาและวรรณกรรมเป็นอย่างมาก