'ในหลวง ร.9' ทรงทำนายอนาคต 'แบดมินตันไทย' หนึ่งในกีฬาที่คนไทยสามารถก้าวสู่ระดับโลกได้
(7 ส.ค. 67) ‘กีฬาแบดมินตัน’ เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 'รัชกาลที่ 9' โปรดปรานมาก พระองค์ทรงนิยมเล่นหลายประเภท ทั้งประเภทคู่ และประเภทสามคน ในช่วงเวลานั้น กีฬาแบดมินตันของประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ครั้งหนึ่ง 'ในหลวงรัชกาลที่ 9' ทรงรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถจะไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบทางด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป โดยทรงมีรับสั่งถึงประเด็นนี้หลายครั้ง และต่อมาได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ให้กับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2493
ในฐานะนักกีฬา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแบดมินตันอย่างนักกีฬาไม่ทรงแสดงอาการกริ้ว หรือพิโรธอย่างใด เมื่อทรงลูกเสีย หรือแม้กระทั่งผู้ที่ถวายตีลูกเสีย หรือทรงถูกกระทบกระทั่งถึงพระวรกาย จากความเข้มข้นในเกมการเล่น ก็ไม่ทรงถือพระองค์แต่อย่างใด อันแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นนักกีฬาที่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง
นอกจากทรงแบดมินตันเป็นการส่วนพระองค์แล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการกีฬาแบดมินตันเป็นอันมาก ทรงสามารถวิเคราะห์ถึงการเล่น และรับสั่งวิจารณ์ถึงวิธีการเล่นของนักแบดมินตันระดับโลกแต่ละคนได้เป็นอย่างดี และทรงนำมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาฝีมือเทคนิคการเล่นของพระองค์เอง
อีกทั้งยังทรงชี้แนะพระราชทานข้อแก้ไขเทคนิคการเล่นแก่นักกีฬาของไทยด้วยพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ก่อเกิดการพัฒนาอย่างใหญ่หลวง แก่กีฬาแบดมินตันในประเทศไทย จนเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในเวทีแบดมินตันโลกได้ในที่สุด
แม้ในระยะหลังของรัชกาล จะทรงเล่นแบดมินตันน้อยลงจนต้องงดไปในที่สุด แต่ก็ยังทรงสนับสนุนกีฬาชนิดนี้เรื่อยมา และส่งต่อความสนใจมาถึง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทั้งยังทรงพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพนักแบดมินตันไทยไปสู่ระดับโลกเรื่อยมา
สำหรับความเป็นมาของแบดมินตันในไทยนั้น การเล่นแบดมินตันได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในราวปี พ.ศ. 2456 โดยเริ่มเล่นกีฬาแบดมินตันแบบมีตาข่าย โดยพระยานิพัทยกุลพงษ์ ได้สร้างสนามแบดมินตันขึ้นที่บ้าน ตั้งอยู่ริมคลองสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี แล้วนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายออกไป การเล่นแบดมินตันครั้งนั้น นิยมเล่นข้างละ 3 คน
จากนั้น ประมาณปี พ.ศ. 2462 สโมสรกลาโหมได้จัดแข่งขันแบดมินตันทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดการแข่งขัน 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทเดี่ยว, ประเภทคู่ และประเภทสามคน ปรากฏว่าทีมแบดมินตันบางขวางนนทบุรี (โรงเรียนราชวิทยาลัยบางขวางนนทบุรี) ชนะเลิศทุกประเภท และมีนักกีฬาแบดมินตันฝีมือดี เดินทางไปแข่งขันยังประเทศใกล้เคียงอยู่บ่อยๆ
ปี พ.ศ. 2494 พระยาจินดารักษ์ได้ก่อตั้งสมาคมชื่อว่า 'สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย' เมื่อแรกเริ่ม มีอยู่ 7 สโมสร คือ สโมสรสมานมิตร, สโมสรบางกอก, สโมสรนิวบอย, สโมสรยูนิตี้, สโมสร ส.ธรรมภักดี, สโมสรสิงห์อุดม และ สโมสรศิริบำเพ็ญบุญ ในปีเดียวกัน สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย
สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย มีนักกีฬาแบดมินตันที่มีฝีมือดีอยู่มาก และจากการที่ได้เข้าแข่งขันในรายการต่างๆ ของโลก ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งโธมัสคัพ อูเบอร์คัพ และการแข่งขันออลอิงแลนด์ ซึ่งวงการกีฬาแบดมินตันถือว่าเป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศระดับโลกประเภทรายบุคคล ซึ่งนักกีฬาของประเทศไทยก็เคยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศทั้ง ประเภทชายเดี่ยว และชายคู่มาแล้ว วงการแบดมินตันของไทยยกย่อง นายประวัติ ปัตตพงศ์ (หลวงธรรมนูญวุฒิกร) เป็นบิดาแห่งวงการแบดมินตันของประเทศไทย
ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ได้บันทึกว่า "การแข่งขันในวันนั้นเป็นการแข่งขันหน้าพระที่นั่งและเป็นการแข่งขันที่คนดูมากที่สุด เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งภายหลังจากการแข่งขันว่าเป็นการแข่งขันที่สนุก ทั้งตันโจฮอค และข้าพเจ้า แข่งขันกันอย่างนักกีฬา มียิ้มหัวกันตลอดเวลาร่วมชั่วโมงที่ขับเคี่ยวกัน"
"เป็นบุญวาสนาของวงการแบดมินตันไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย มิเพียงแต่เป็นสมาคมที่อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น แต่พระองค์ท่านยังทรงกีฬาแบดมินตันเป็นพระราชกิจวัตร และโปรดปรานแบดมินตันอย่าง ชนิดจะหาพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลกมาเปรียบเทียบมิได้ ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม วงการแบดมินตันไทยสมัยนั้นได้รับการอุ้มชูสนับสนุนอย่างดีที่สุด และพระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา จึงมีความสัมพันธ์กับวงการแบดมินตันของไทยอย่างแน่นแฟ้นตราบเท่าทุกวันนี้"
“พวกเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณเข้าเฝ้ากราบบังคมลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นักแบดมินตันไทยทั้ง 4 ให้พวกเรากระทำตนเป็นนักกีฬาที่ดี รักษาชื่อเสียงของประเทศชาติ และข้าพเจ้าเนื้อตัวสั่นด้วยความตื่นเต้นและตื้นตันใจ เมื่อรับสั่งชมข้าพเจ้าว่า วันที่แข่งขันกับ ตันโจฮอก เจริญเล่นได้ดี เล่นได้สนุก ไม่เคร่งเครียด สมเป็นนักกีฬาที่ดี จากกระแสรับสั่งในครั้งนั้น ได้มีอิทธิพลอย่างมหาศาลทำให้ข้าพเจ้าเพิ่มความสนุกในการเล่นของตนเองเสมอ และทำให้เข้าใจซาบซึ้งถึงแก่นแท้และคุณค่าของคำว่า นักกีฬา"
นี่คือส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอด คือ พระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อวงการแบดมินตันของประเทศไทย ให้พัฒนาจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา: คมชัดลึก (13 ต.ค. 64)