28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

วันนี้เมื่อ 51 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชพิธีประวัติศาสตร์ การสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร ‘พระองค์ที่ 3’ ของไทย

ในปี พ.ศ. 2515 อันเป็นวาระที่ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ’ ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษานั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร’ ตามโบราณขัตติยราชประเพณี หลังจากพระราชพิธีนี้ได้ว่างเว้นมาเป็นเวลากว่า 80 ปี 

โดยได้มีการอนุโลมการจัดพระราชพิธีฯ ตามโบราณราชขัตติยราชประเพณี โดยกำหนดเป็น 5 ตอน คือ

วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและพระราชลัญจกร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล การเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ พระบรมมหาราชวัง 

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีสถาปนา เฉลิมพระนามาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต 

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง 

ทั้งนี้ ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร’ และทรงเป็น ‘มกุฎราชกุมาร’ พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีและของประเทศไทย 

‘พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร’ เป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และพระบรมราชจักรีวงศ์ เกี่ยวกับการแต่งตั้งรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 

ราชประเพณีการแต่งตั้งรัชทายาทเพื่อสืบราชสมบัติ ได้ปรากฏเป็นกฎหมายมั่นคงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นไว้เมื่อจุลศักราช 720 (พ.ศ. 1901) ลำดับพระอิสริยยศพระราชโอรสว่า ‘พระราชกุมารอันเกิดด้วยพระอัครมเหสีเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า พระราชกุมารอันเกิดแต่แม่ยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช’ แต่ก็มิได้กำหนดให้ชัดเจนว่า ตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าเป็นรัชทายาท 

จนถึงแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตราพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1998 ทรงกำหนดให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งได้เฉลิมพระราชมณเฑียรแล้วทรงศักดินาหนึ่งแสน และทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ 

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานตำแหน่ง ‘พระมหาอุปราช’ แก่พระบรมวงศ์ผู้มีความชอบอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เมื่อตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง ก็มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบรมวงศ์พระองค์ใดขึ้นดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลาสืบต่อกันหลายปีก็มี 

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชเสด็จทิวงคต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428 พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่าตำแหน่งนี้ไม่เหมาะสมกับกาลสมัย มีประโยชน์น้อยและทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน จึงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อวันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน 

และมีพระราชดำริต่อมาว่า พระราชอิสริยยศ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช’ ซึ่งเรียกว่า ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองนั้น เป็นขัตติยราชประเพณีอันมีมาแต่โบราณกาล และสอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ ที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี พระราชพิธีสถาปนา ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ’ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ ดำรงพระราชอิสริยยศตำแหน่งรัชทายาท เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2429 

เวลาต่อมา ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร’ ทรงเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาพระราชโอรสพระองค์ลำดับถัดมา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ขึ้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2437 โดยทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ