'ประกิต สิริวัฒนเกตุ' แชร์บทเรียนชีวิตในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ผ่านมรสุมชีวิตมาได้ถึงวันนี้ เพราะพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 

(13 พ.ค.67) จากเฟซบุ๊ก 'ประกิต สิริวัฒนเกตุ' โดยคุณประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการสายงานกลยุทธ์การลงทุน บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ได้แชร์บทเรียนจริงของครอบครัวช่วงที่ต้องพบเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ไว้ว่า...

ย้อนกลับไปปี 2540 ทำไมประเทศไทยถึงต้องเกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ต้นเหตุ มันไม่ได้มีแค่การไร้ความสามารถของรัฐบาล หรือการฝืนต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่การบริหารงานที่ผิดพลาดมันเหมือนไปกดปุ่มระเบิดนิวเคลียร์ของปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน ทั้งการเติบโตแบบไร้ทิศทาง เงินเฟ้อสูงเรื้อรัง ค่าแรงพุ่งจนทำให้ศักยภาพแข่งขันอ่อนลง การปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวมของสถาบันการเงิน การเปิดเสรีการเงิน (BIBF) ของรัฐบาลก่อนหน้า เปิดช่องให้เอกชนกู้เงินต่างประเทศ จนหนี้ระยะสั้นมีสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 2 เท่า ขณะที่ธนาคารกลางคงค่าเงินไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ โดยที่ประเทศไทยขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นช่องรูโหว่ใหญ่ให้ จอส โซรอส ถล่มค่าเงินบาท ทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหลอ เกิดหนี้เสียในระบบการเงินมากมายและลุกลามต่อเนื่องจนประเทศต้องเข้าสู่สภาวะล้มละลาย 

เศรษฐกิจไทยพังพินาศ รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือการเงินจาก IMF ดัชนีตลาดหุ้นไทยดำดิ่ง 2539-2540 ร่วงไป -90% บริษัทต่าง ๆ พากันปิดกิจการ ต้องตัดขายสินทรัพย์ให้บริษัทข้ามชาติในราคาแสนถูก คนตกงานมากมายจนต้องพากันมาเปิดท้ายขายของตามตลาดนัด

ครอบครัวของผมก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน ความทรงจำในตอนนั้น คือความสงสัย เหตุใด ครอบครัวเราที่ขยันทำมาหากินอยู่ดี ๆ ต้องลำบากมากขึ้น สินค้าที่นำเข้ามาขายต้องจ่ายในราคาแสนแพง (เพราะเชื่อผู้นำประเทศตอนนั้นว่าจะไม่ลดค่าเงินบาท) แต่ต้องขายต่อในราคาแสนถูกเพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ การเค้าซบเซาและขาดทุนหนัก ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแม่มาสารภาพบอกว่าเงินทุนการค้าไปจมสูญไปในตลาดหุ้นและที่ดิน แถมมีหนี้ก้อนมหาศาลที่แม่หยิบยืมมาในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเพื่อเอามาใช้จ่ายและหมุนเวียนทำการค้า (เงินการค้าเอาไปเล่นหุ้น)

ผมจำภาพวันที่ผมกลับจากโรงเรียนมาถึงหน้าบ้าน พี่สาวรีบวิ่งมาเปิดประตูแล้วบอกผมว่า พ่อจะฆ่าตัวตาย เพื่อหวังจะให้ครอบครัวได้เงินประกันชีวิต

นั่นคือความอ่อนแอของพ่อ ที่ผมเห็นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ตอนนั้นผมเข้าใจพ่อเป็นอย่างดี ทำงานมาด้วยความเหนื่อยยาก 20 กว่าปี สุดท้ายนอกจากจะไม่เหลืออะไรแล้ว ยังต้องติดลบหนักอีกต่างหาก

พ่อผมเริ่มตั้งสติ และค่อย ๆ วางแนวทางแก้ไขปัญหา พ่อต้องเอาบ้านไปจำนองกับธนาคารอีกครั้ง (พ่อเพิ่งปลดบ้านจากธนาคารได้ไม่นาน) พ่อดึงบัญชีจากแม่มาคุมเองทั้งหมด พ่อเลิกจ้างคนงาน และให้ลูกทุกคนช่วยงานหนักขึ้น (ปกติก็ช่วยงานหนักอยู่แล้ว) พ่อสั่งให้ทุกคนประหยัด ประหยัดในที่นี้คือประหยัดสุด ๆ อาหารในแต่ล่ะมื้อจากที่เคยกินกันอิ่มหมีพีมัน ต้องกินแบบเผื่อเหลือในมื้อต่อไป ข้าวสวยจากข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวแข็งๆและไม่อร่อยสุด ๆ (ทำให้ผมเป็นคนที่ไม่ชอบกินข้าวสวยตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้) ยามนอนต้องประหยัดไฟ เปิดได้แค่พัดลมหากใครอยากนอนแอร์ต้องมานอนห้องทำงานพ่อ (พ่อนอนในห้องทำงาน)

ครอบครัวผมไม่ได้ไปกินข้าวนอกบ้านกันอีกเลยตั้งแต่เกิดวิกฤติ ผมต้องกินแต่ข้าวบ้านกับข้าวที่โรงเรียน กินอย่างประหยัดจำเจวนไปเวียนมา พ่อผมบอกว่าถ้าแม่ไม่ทำพังเราสามารถกินเหลาได้ทุกมื้อ (กินภัตตาคาร) คำพูดนั้นฝังใจผมจนถึงทุกวันนี้

ส่วนแม่ของผม ด้วยพื้นเพนิสัยที่เป็นคนดีมีคุณธรรม ประหยัด ขยันทำงาน (แต่จัดการเงินไม่เป็น) ในสภาวะที่ย่ำแย่ แม่ไม่เลือกวิธี ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’  แต่แม่เลือกที่จะเดินเข้าหาเจ้าหนี้ (เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่เอ็นดูแม่) บอกถึงความจำเป็น ขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้ทุกคนรู้จักนิสัยแม่ดี ทุกคนยอมไม่คิดดอกเบี้ย และให้เวลาแม่ในการผ่อนชำระ

แม่เป็นคนประหยัด ไม่ได้ใช้เงินฟุ่มเฟือย แต่แม่ไม่ใช่คนขี้งก แม่สปอร์ตกับลูก แม่ยอมจ่ายไม่ยั้ง ถ้าเป็นเรื่องการกินอยู่ การเรียน และการรักษาพยาบาลของลูก ความที่แม่อยากให้ลูกอยู่สบายไม่ลำบาก มันทำให้ลูกทุกคนไม่รู้ตัวว่า ไอ่ที่กินใช้อยู่นี่มันคือเงินที่มาจากหนี้

พ่อและแม่ สร้างเนื้อสร้างตัวจากการเป็นพนักงานบริษัท พ่อเป็นพนักงานขาย ส่วนแม่เป็นเสมียนและทำบัญชี พอทั้งคู่แต่งงานกัน จึงออกมาทำการค้า ความที่ไม่มีทุน จึงต้องเริ่มต้นการค้าด้วยการกู้เงินจากผู้ใหญ่ที่รู้จักต่าง ๆ

ก่อนวิกฤติในยามที่เศรษฐกิจดี กิจการขยายตัว มีรายได้มากขึ้น แต่ต้องมาหมุนเวียนกับการค้าและการชำระดอกเบี้ย หนี้สินจึงไม่เคยลดลง ผมและพี่น้องเกิดมาเมื่อพ่อแม่มีกิจการแล้ว แม้ต้องช่วยงานที่บ้านตั้งแต่ยังเล็ก แต่เรามีกินมีใช้ไม่เคยขาด เราคิดกันไปเองว่าเราเป็นชนชั้นกลางในสังคม

เมื่อเกิดวิกฤติ เราถึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว เราแทบไม่มีเงินเหลือเก็บ และไม่มีทรัพย์สินที่เป็นของเราจริงๆเลย

แม่ผมต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน จากที่เคยนั่งคุมบัญชีการค้าอยู่ที่บ้าน ต้องขับมอเตอร์ไซด์ เป็นเซลล์ขายสินค้าของกิจการ และพยายามหารายได้เพิ่มด้วยการขายถุงพลาสติกให้กับร้านอาหารข้างทางต่าง ๆ (ทุกวันนี้ผมจะชอบไปทานร้านเหล่านั้นเพื่อขอบพระคุณที่ช่วยแม่ผมในยามยากลำบาก)

ในความมืดมนของประเทศ และของครอบครัวผม วันหนึ่งผมนั่งรถเมล์เพื่อเดินทางไปโรงเรียน ในระหว่างที่ผมเหม่อลอย ครุ่นคิดว่า เราจะลำบากไปแบบนี้อีกนานแค่ไหน เราจะมีวันสบายอีกครั้งได้ไหม ผมเห็นป้ายขนาดใหญ่มีรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 และข้อความที่เขียนถึงเศรษฐกิจพอเพียง

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่โลภอย่างมาก ไม่สุดโต่ง คนเราก็อยู่เป็นสุข”

“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ได้ อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”

พระราชดำรัสของในหลวง ร.9 เมื่อ 4 ธ.ค.2540 และ 4 ธ.ค.2541

ผมไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกวันนั้นอย่างไร ในวันที่มองไปทางไหนก็มีแต่ความมืดมน ป้ายของในหลวง คือป้ายแห่งความหวังจริง ๆ ป้ายที่บอกต้นตอของปัญหาและชี้ให้เห็นว่าทางออกควรต้องไปทางไหน

นับจากตอนนั้น ผมยึดคำสอนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ปี 2542 ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยไม่กู้ กยศ. ผมไม่อยากเรียนจบ และเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นหนี้  ผมเชื่อว่าหากผมกู้ กยศ. มา ชีวิตผมจะมีวังวนแบบเดิมเหมือนที่ครอบครัวเคยเป็นมา คือกู้เงินมาใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลิน ผมเห็นเพื่อนที่กู้ กยศ. ใช้จ่ายเหมือนเงินได้มาง่ายๆฟรีๆ เครื่องคิดเลขสำหรับวิศวกรรมสมัยนั้น casio ราคา 3,500 บาท ถือว่าแพง มาก ๆ แล้ว แต่เพื่อนผมกลับใช้เงิน กยศ. ซื้อเครื่อง Texas ซึ่งแพงกว่าเกือบ 2 เท่า

ผมไม่อยากเป็นแบบนั้น ผมมีบทเรียนของครอบครัวมาแล้ว การใช้จ่ายด้วยเงินกู้ของคนอื่น มันคือการเป็นทาส ผมเลือกที่จะสอนพิเศษแบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้มีเงินมาจ่ายค่าเทอม และใช้จ่ายในเรื่องอื่น ๆ ผมตระเวนนั่งรถเมล์สอนทั่วกรุงเทพมหานคร ทั่วซะจนไม่มีเขตไหนในกรุงเทพที่ผมไม่เคยไปสอน

วันเวลาผ่านไป ความอดทน พยายามต้องสู้ของทุกคนในครอบครัวของผมเริ่มออกผล พ่อสามารถไถ่ถอนบ้านจากธนาคารในปี 2544 และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าต้นปี 2545 พ่อผมต้องป่วยหนักกลายเป็นเจ้าชายนิทรา แม่และพี่สาวได้มาช่วยกันดูบัญชีต่าง ๆ ที่พ่อทำเอาไว้

นอกจากบ้านที่พ่อไถ่ถอนออกมาได้แล้ว ผลจากการประหยัด ผลจากการที่ทุกคนช่วยกันทำงานอย่างยากลำบาก พ่อมีเงินสดในบัญชี 3 ล้านกว่าบาท ขณะที่ยังมีหนี้สินค้างอยู่ 12 ล้านบาท แม่ผมได้ใช้เงินนั้นทำการค้าต่อด้วยความระมัดระวังจนเคลียร์หนี้สินได้หมด เจ้าหนี้ทุกคนได้รับเงินครบทุกบาทในปี 2553

ครอบครัวผมได้ประกาศเป็นไท แม่ผมได้สัมผัสถึงอิสรภาพครั้งแรกในวัย 60 ปีพอดิบพอดี ส่วนผมตอนนั้นอายุ 30  สนใจแต่เรื่องทำงานหนัก ไม่อยากเป็นหนี้อะไรทั้งนั้น ไม่มีความต้องการรถคันงามหรือบ้านหลังใหญ่ มีแต่อยากจะเติบโตในหน้าที่การงาน อยากเป็นสุดยอดนักวิเคราะห์ของประเทศนี้ ผมต้องการแค่นั้นจริง ๆ

ทุกวันนี้ผมขอบคุณพระเจ้า บทเรียนของครอบครัวในอดีต ได้ทำให้ผมมีฐานะทางการเงินในปัจจุบันที่ดี ผมมีอิสรภาพทางการเงิน ผมได้ภรรยาที่ดี เข้าใจเรื่องการเงิน และรู้คุณค่าของคำว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ แม้เราจะมีเงินในบัญชี มีทรัพย์สินต่าง ๆ แต่เราไม่เคยใช้เงินเกินกว่าที่หามาได้ในแต่ล่ะเดือน กลับกันเราจะต้องกันเงินไปเก็บเพิ่มเสมอ เราไม่เคยประมาท และจะไม่มีวันประมาทเด็ดขาด

และไม่ใช่แค่ผมที่มีอิสรภาพทางการเงิน พี่สาวและน้องสาวของผม ทุกคนได้ประโยชน์จากบทเรียนในอดีต พี่สาวมีธุรกิจที่มั่นคงปลอดหนี้สิน เช่นเดียวกับน้องสาวที่ทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่ก่อหนี้ใดๆทั้งนั้น

ขอบพระคุณคำสอนของในหลวง ร.9 เศรษฐกิจพอเพียง คือที่สุดของปรัชญาของการดำรงชีวิตในโลกทุนนิยม วันใดที่ผมได้นำคำสอนของในหลวงไปถ่ายทอดให้กับใครต่อใครฟัง ผมอยากบอกกับทุกคนว่า เศรษฐกิจพอเพียงช่วยพวกคุณได้ คุณควรเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินก่อนที่จะสายเกินไป คุณสามารถเปลี่ยนได้ในตอนนี้ด้วยความเข้าใจ มันจะดีกว่าถูกวิกฤติบังคับให้คุณจำใจต้องเปลี่ยน

คำพูดของพ่อผม ‘เราสามารถกินเหลาได้ทุกมื้อ’ ขอบคุณพระเจ้าที่วันนี้ผมยิ้มกับคำพูดนี้ได้แล้ว