8 มิถุนายน พ.ศ. 2514 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ‘ถนนรัชดาภิเษก’ บรรเทาความเดือดร้อนด้านการจราจรให้แก่ประชาชน

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ถนนรัชดาภิเษก ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุง โดยถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนรอบในของกรุงเทพฯ ความยาวกว่า 45 กิโลเมตร เริ่มเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2519 สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่จะต้องประสบปัญหาการจราจร

ทั้งนี้ ความเป็นมาของถนนรัชดาภิเษก ปี พ.ศ. 2514 ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) โดยรัฐบาลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี

แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นแทน ให้เป็นถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ และมีถนนออกจากศูนย์กลางไปรอบตัวตัดกับวงแหวนเหล่านั้น เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“ขอเถิด อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน...”
ทั้งนี้ ถนนรัชดาภิเษกสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2536 โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 23 ปี ถนนเส้นนี้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ ชั้นในให้คลี่คลายไปได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สัญจรเข้า-ออกระหว่างใจกลางเมืองกับชุมชนส่วนนอก ตลอดจนถึงผู้ที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถเดินทางผ่านกรุงเทพฯ ออกไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น


ที่มา : สํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ / True ปลูกปัญญา