Friday, 3 May 2024
WORLD

‘มะกัน’ จ่อส่งระบบ THAAD-ขีปนาวุธแพทริออตเพิ่มในตะวันออกกลาง เพื่อตอบโต้ท่าที ‘อิหร่าน’ หลังสถานการณ์เริ่มทวีความตึงเครียดต่อเนื่อง

(23 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเตรียมที่จะส่งระบบต่อต้านมิสไซล์เพดานบินสูง (THAAD) และระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตเพิ่มเติมไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีใส่กองทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางในช่วงที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้มีการส่งเรือบรรทุกอากาศยาน 2 ลำพร้อมเรือสนับสนุน และทหารเรือราว 2,000 คนไปในภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่อิหร่านให้การหนุนหลัง ขณะที่ความตึงเครียดในภูมิภาคดังกล่าวได้พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า “หลังมีการหารือกันอย่างละเอียดกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำของสหรัฐฯ ถึงท่าทีที่ยั่วยุของอิหร่านในช่วงที่ผ่านมา และกองกำลังตัวแทนของอิหร่านทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง วันนี้ผมได้กำหนดขั้นตอนเพิ่มเติมหลายขั้นตอนเพื่อเสริมท่าทีของกระทรวงกลาโหมในภูมิภาคดังกล่าว”

นอกจากระบบ THAAD และขีปนาวุธแพทริออตแล้ว อาจมีการส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มเติมอีกด้วย โดยไม่ได้มีการระบุตัวเลขจำนวนทหารที่แน่ชัด

“ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนความพยายามในการป้องปรามในภูมิภาค เพิ่มการป้องกันสำหรับกองกำลังของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง และช่วยเหลือการป้องกันตนเองของอิสราเอล” นายออสตินกล่าว

โดยคำสั่งดังกล่าวมีขึ้น 2 ปีหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ถอนระบบป้องกันภัยทางอากาศออกจากภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยให้เหตุผลว่า ความตึงเครียดกับอิหร่านได้คลี่คลายลงแล้ว

อย่างไรก็ดี การโจมตีใส่กองทัพสหรัฐฯ ในประเทศอิรักและซีเรียได้เพิ่มสูงขึ้นหลังสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรือรบของสหรัฐฯ ได้ยิงโดรนหลายลำและขีปนาวุธร่อน 4 ลูกที่ยิงมาจากที่ตั้งของกลุ่มกบฏฮูตีในประเทศเยเมน

‘นักวิทย์ฯ จีน’ ผุดวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ แรงบันดาลใจจาก ‘หนอนทะเล’ ช่วยประหยัดพลังงาน-ปล่อยคาร์บอนต่ำ-ลดมลพิษในภาคการก่อสร้าง

(22 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้พัฒนาวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากหนอนทะเล โดยมีศักยภาพประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซมลพิษในภาคการก่อสร้าง

‘หวังซู่เทา’ ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาและนักวิจัยประจำสถาบันเทคนิคฟิสิกส์และเคมี (TIPC) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่าวัสดุก่อสร้างจากซีเมนต์แบบดั้งเดิมใช้พลังงานมากในการผลิต ขณะเดียวกันก่อเกิดการปล่อยคาร์บอนมาก การพัฒนาวัสดุใหม่นี้จึงมีนัยสำคัญ

คณะนักวิจัยสังเกตเห็นว่าหนอนทะเลอย่าง ‘หนอนปราสาททราย’ (Sandcastle worm) สร้างรังอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถเชื่อมเม็ดทรายหรือเศษเปลือกหอยเข้าด้วยกันโดยใช้สารยึดติดที่หลั่งออกมาจากข้างในตัวมาก่อสร้างอาณาจักรปราสาททรายของตัวเอง

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยพัฒนาวัสดุก่อสร้างแบบใหม่โดยใช้ประโยชน์จากสารยึดติดธรรมชาติอันมีแรงบันดาลใจมาจากหนอนทะเลดังกล่าว โดยวัสดุใหม่นี้ผลิตได้ในอุณหภูมิและความกดอากาศต่ำ สามารถประยุกต์ใช้กับทรายจากทะเลทราย ทรายทะเล ตะกรันคอนกรีต ขี้เถ้าถ่านหิน และกากแร่ธาตุ

วัสดุใหม่นี้มีประสิทธิภาพเชิงกลที่ดี ความสามารถรีไซเคิล รวมถึงคุณสมบัติต้านทานการผุกร่อนและความสามารถปรับขนาด โดยหวังกล่าวว่าประสิทธิภาพอันรอบด้านเหล่านี้อาจช่วยให้วัสดุใหม่กลายเป็นวัสดุก่อสร้างที่น่าสนใจในการก่อสร้างแบบปล่อยคาร์บอนต่ำรุ่นใหม่

อนึ่ง คณะนักวิจัยได้เผยแพร่ผลการวิจัยผ่านวารสารแมตเตอร์ (Matter) เมื่อไม่นานนี้

‘ฟินแลนด์’ เร่งสอบสวนเรือขนส่ง ‘จีน-รัสเซีย’ หลังเกิดเหตุวินาศกรรม ทำ ‘ท่อก๊าซรั่ว-สายเคเบิลใต้ทะเลฟินแลนด์-เอสโตเนีย’ เสียหายหนัก

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 66 ‘สำนักงานสอบสวนแห่งชาติ’ ของฟินแลนด์ เดินหน้าคดีสืบสวนหาต้นต่อ การก่อวินาศกรรมท่อส่งก๊าซใต้ทะเล Baltic Connector Gas Pipeline ในบริเวณอ่าวฟินแลนด์ จนทำให้ก๊าซรั่วจนต้องปิดท่อก๊าซชั่วคราว ซึ่งในบริเวณใกล้เคียงกัน ยังพบว่า สายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลได้รับความเสียหายด้วย

ถึงแม้ว่าเบื้องต้นจะไม่พบร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากการใช้ระเบิด แต่เกิดจากการใช้กำลังเครื่องยนต์อื่น และยังพบวัตถุที่มีน้ำหนักมากตกอยู่ใกล้จุดที่เสียหาย จมฝังอยู่ใต้พื้นทะเล   ทางการฟินแลนด์จึงใช้คำว่า “มีการก่อวินาศกรรม” ท่อก๊าซ และ สายเคเบิลสื่อสาร จนได้รับความเสียหายมากที่ต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือนในการซ่อมแซม

เหตุเกิดขึ้นเมื่อช่วงราวๆ ตี 1 ของวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาเมื่อ สถาบันตัวจับแผ่นดินไหวของนอร์เวย์ พบแรงสั่นสะเทือนใต้ทะเลบริเวณทะเลบอลติก ในเขตน่านน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟินแลนด์ถึง 2 จุด แต่แรงสั่นสะเทือนดังกล่าวยังถือว่าเบากว่าเหตุระเบิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream ของรัสเซียเมื่อปี 2022 มาก

เมื่อทางการฟินแลนด์เข้าไปสำรวจ พบว่า ท่อส่งก๊าซ Baltic Connector เกิดรอยรั่ว รวมถึงสายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลในพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน

ลำพังแค่ท่อส่งก๊าซเสียหายก็เรื่องใหญ่แล้ว แต่พอมีกรณีสายเคเบิลใต้ทะเลที่เชื่อมต่อระหว่าง ‘ฟินแลนด์’ กับ ‘เอสโตเนีย’ ถูกทำลายในลักษะเดียวกันด้วย ซึ่งสายเคเบิลส่วนที่เสียหายอยู่ในเขตของเอสโตเนีย ที่บริษัทของสวีเดนเป็นเข้าของความโกลาหลจึงยังจบง่ายๆ เมื่อประเทศผู้เสียหายมีทั้งที่เป็นสมาชิก และเกือบจะเป็นสมาชิก NATO จึงทำให้ถูกมองว่าน่าจะเป็นการก่อวินาศกรรม เพื่อขัดขวางการสื่อสารภายในระหว่างเอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ หรือกับชาติสมาชิก NATO อื่นๆ

ด้าน ‘พอล โจนสัน’ รัฐมนตรีกลาโหมสวีเดนออกมากล่าวว่า มีการระดมทีมจากกองทัพ ตำรวจ และ หน่วยตระเวณชายฝั่ง ประสานงานกับทางเอสโตเนียเพื่อสืบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมองว่าเป็น ‘คดีด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับการบ่อนทำลายโครงสร้างพื้นฐานของชาติ’ จึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากเป็นอันดับต้นๆ

ตามมาด้วย ‘เยนส์ สโทเทนเบิร์ก’ เลขาธิการ NATO ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ได้พูดคุยกับนายเซาลี นีนิสเตอ ผู้นำฟินแลนด์ถึงความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเลของทั้งฟินแลนด์ และเอสโตเนียแล้ว ทาง NATO พร้อมร่วมแชร์ข้อมูล และให้การสนับสนุนพันธมิตรของเราอย่างเต็มที่ จึงกลายเป็นคดีที่มีหลายชาติ พัลวัน พัลเก เต็มไปหมด

โดยคดีท่อส่งก๊าซเป็นเขตของฟินแลนด์ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเฮลซิงกิในการสืบสวน และต่อมาได้เปิดเผยว่า มีเรือต้องสงสัย 2 ลำ ที่อยู่ใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุ ในช่วงเวลานั้น ก็คือ ‘เรือขนส่งพลังงานนิวเคลียร์ Sevmorput’ ของรัสเซีย และ ‘เรือขนส่งจีน Newnew Polar Bear’

แต่ถึงจะมีเรื่อลำอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงด้วย แต่ตอนนี้ ทีมสืบสวนขอโฟกัสแค่ 2 ลำนี้ เพราะคดีนี้ ถูกมองในมุมมองของ NATO เรียบร้อยแล้ว ก็เหลือแค่เรือจาก 2 สัญชาตินี้เท่านั้นที่น่าสงสัยที่สุด

จากข้อมูลเดินเรือ พบว่าเรือทั้ง 2 ลำกำลังมุ่งหน้าไปเทียบฝั่งที่ท่าเรือเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก โดยเรือของจีนตามหลังเรือของรัสเซียอยู่เล็กน้อย ขณะผ่านใกล้จุดเกิดเหตุ

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ ได้ประสานผ่านช่องทางการทูตถึงรัฐบาลจีน และรัสเซีย เพื่อบอกให้รู้ว่าฟินแลนด์จะต้องสืบสวนเส้นทางของเรือทั้ง 2 สัญชาตินี้แล้ว ซึ่ง ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซียออกมากล่าวว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระมาก แค่มีเรือบรรทุกน้ำมันรัสเซียลอยอยู่แถวนั้น เป็นผู้ต้องสงสัยแล้วหรือ

แต่มาวันนี้ มีรายงานเพิ่มเติมจากฟินแลนด์ว่า น่าจะโฟกัสที่เรือ Newnew Polar Bear ของจีนมากกว่า เพราะลอยอยู่ใกล้จุดที่เกิดเหตุ ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าเรือของรัสเซีย
ซึ่ง Newnew Polar Bear ปักธงฮ่องกงในการเดินทางก็จริง แต่บริษัทของจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเจ้าของชื่อ ‘Hainan Xin Xin Yang Shipping’

แต่ทางการฟินแลนด์ และเอสโตเนีย ยอมรับว่าคดีนี้มีความอ่อนไหวทางการเมือง และการทูตอย่างมาก จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เมื่อต้องแถลงข้อมูลออกสื่อ ถ้าไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจริงๆ

เพราะเดี๋ยวจะเหมือนกรณีข้อพิพาท ‘อินเดีย-แคนาดา’ ที่ตอนนี้ยังมองหน้ากันไม่ติด กลายเป็นวิกฤติการทูตที่ใช้เวลาซ่อมนานยิ่งกว่าท่อส่งก๊าซใต้ทะเลบอลติกเสียอีก

เปิดแผน ‘อิสราเอล’ หลังสู้รบจบ จะปิดกั้นจุดผ่านแดนทั้งหมด  พร้อม ‘ตัดแหล่งรายได้-สร้างความมั่นคงใหม่’ ในฉนวนกาซา

(22 ต.ค. 66) ‘อาวี ดิชเตอร์’ รัฐมนตรีเกตรกรรมของอิสราเอล แถลงว่าอิสราเอลจะบังคับใช้เขตกันชนในฉนวนกาซา เมื่อสงครามสิ้นสุดลง โดยจะตัด ‘สายสะดือ’ (Umbilical cord) ที่หล่อเลี้ยงฉนวนกาซา เพื่อสร้าง ‘ความมั่นคงที่แท้จริงใหม่’ (New security reality) และจะปิดจุดผ่านแดนทั้งหมด หลังจากฮามาสถูกถอนรากถอนโคนในปฏิบัติการบุกภาคพื้นดิน

ดิชเตอร์ บอกด้วยว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ที่โครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงชายแดนส่วนใหญ่ของอิสราเอล อยู่ห่างจากดินแดนของอิสราเอลหลายร้อยเมตร ไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป

“ไม่ใช่ว่าคุณจะเริ่มตั้งเขตกันชนในฉนวนกาซาก่อน แต่คุณต้องเริ่มจากฝั่งอิสราเอลก่อนในพื้นที่ 50-100 เมตร เรารู้ว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นข้อผิดพลาด ที่ต้องได้รับการแก้ไข” ดิชเตอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การตั้งเขตกันชน ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยถูกพูดถึงมาแล้วโดย ‘เอลี โคเฮน’ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่บอกว่า “เมื่อสิ้นสุดสงครามนี้ กลุ่มฮามาสจะไม่เพียงแต่ไม่อยู่ในฉนวนกาซาอีกต่อไป แต่ดินแดนของฉนวนกาซาจะลดลงด้วย”

ปัจจุบัน ปราการที่กั้นระหว่างอิสราเอลกับฉนวนกาซา คือ รั้วอัจริยะยาว 100 หลา สนับสนุนโดยเรดาร์และเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว รากฐานของรั้วคอนกรีตที่อยู่ใต้ดินนั้นลึกมาก เพื่อป้องกันการขุดอุโมงค์ลอดเข้าไปและหอสังเกตการณ์ ซึ่งรั้วอัจริยะถูกสร้างหลังปี 2559 และเสร็จเมื่อปี 2564

แต่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. กลุ่มติดอาวุธของฮามาส ได้บุกจากกาซาเจาะทะลุผ่านรั้วเข้าไปในพรมแดนอิราเอล และกระจายกำลังเข้าไล่ล่าสังหารพลเรือนและทหาร ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนขวัญในครั้งนั้น ทำให้รัฐมนตรีเกษตรกรรมของอิสราเอลประกาศว่า ต่อไปจะไม่อนุญาตให้คนที่กาซาเข้าใกล้รั้วได้อีกต่อไป ที่ถือเป็นการบีบฉนวนกาซาอย่างมีประสิทธิภาพ

ในความเป็นจริง อิสราเอลได้ตั้งเขตกันชนในฉนวนกาซา หลังถอนกำลังออกเมื่อปี 2548 ทำให้แนวกั้นนี้ถูกกัดเซาะนับตั้งแต่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเจรจาทางอ้อมระหว่างอิสราเอลกับฮามาส เพื่อบรรเทาการปิดล้อมฉนวนกาซาที่มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ 2.3 ล้านคน ซึ่งดิชเตอร์ บอกว่า จะต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับความกว้างของเขตกันชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“เราจะทำสิ่งเหล่านี้ ตามพื้นที่ ตามความต้องการของกองทัพ ตามระยะห่างของกองทัพอิสราเอล หรือการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอล” ดิชเตอร์ ระบุ

‘โมฮาเหม็ด ซาลาห์’ ดาวเตะลิเวอร์พูล วอนเหล่าผู้นำโลกเห็นแก่สันติภาพ เร่งช่วยเหลือคนในฉนวนกาซา ลั่น!! ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ควรได้รับการปกป้อง

เมื่อไม่นานนี้ ‘มุฮัมมัด เศาะลาห์ ฮามิด มะห์รูส ฆอลี’ หรือ ‘โมฮาเหม็ด ซาลาห์’ เป็นนักฟุตบอลชาวอียิปต์ ปัจจุบันเล่นในตำแหน่งกองหน้าให้แก่ลิเวอร์พูลสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ และทีมชาติอียิปต์ ได้โพสต์คลิปวิดีโอออกมาเรียกร้องให้เหล่าผู้นำของโลกส่งความช่วยเหลือไปยังผู้คนในฉนวนกาซาโดยด่วน

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาเกิดการสู้รบกันอย่างหนักระหว่าง ‘อิสราเอล’ กับ ‘กลุ่มฮามาส’ ซึ่งเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในปาเลสไตน์ จนทำให้มียอดผู้เสียชีวิตหลายคนจากทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่สิ่งก่อสร้างของทั้ง 2 ฝั่งก็ได้รับความเสียหายอย่างมากเช่นกัน

ทั้งนี้ ไม่นานมานี้มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลอัล-อะห์ลี อัล-อาระบี แบปทิสต์ ในฉนวนกาซาจนทำให้เป็นที่เชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 500 คน ซึ่งฝั่งปาเลสไตน์ อ้างว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล ขณะที่อิสราเอล อ้างว่ามันเกิดความผิดพลาดจากฝั่งปาเลสไตน์เอง โดยเรื่องดังกล่าวทำให้สถานการณ์โดยรวมบานปลายขึ้นไปอีก

ซาลาห์ พูดผ่านคลิปที่เขาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียของตัวเองว่า “มันไม่เคยเป็นเรื่องง่ายกับการออกมาพูดในเวลาแบบนี้ แต่ทุกวันนี้มันมีความรุนแรงและความอำมหิตมากเกินไป สถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ทนดูไม่ได้ ทุกชีวิตต่างก็มีค่าและควรจะต้องได้รับการปกป้อง”

“มันจำเป็นต้องมีการหยุดการสังหารหมู่ และการทำให้ครอบครัวต้องถูกแยกห่างออกจากกันได้แล้ว สิ่งที่ชัดเจนในตอนนี้ก็คือ มันควรจะต้องอนุญาตให้มีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชาติไปยังฉนวนกาซาในทันที ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นกำลังเจอกับสถานการณ์ที่เลวร้าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเมื่อคืนนี้มันเป็นภาพที่น่าสยดสยองอย่างมาก”

“ผู้คนในฉนวนกาซาต้องการอาหาร, น้ำ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ผมขอเรียกร้องให้เหล่าผู้นำของโลกรวมพลังกัน และช่วยกันหยุดยั้งการเข่นฆ่าวิญญาณอันบริสุทธิ์ มนุษยชาติต้องได้รับชัยชนะ”

‘เจ้าชายซาอุฯ’ ประณาม ‘ฮามาส-อิสราเอล’ ล้วนเข่นฆ่าพลเรือน พร้อมย้ำ!! สงครามครั้งนี้ไม่มีวีรบุรุษ มีแต่ประชาชนที่เป็น ‘เหยื่อ’

(21 ต.ค.66) สื่อต่างประเทศรายงานว่า เจ้าชายตุรกี อัล-ไฟซอล (Prince Turki al-Faisal) สมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นทั้งรัฐบุรุษและนักการทูตที่ได้รับการยกย่อง ทรงออกมาประณามทั้งฮามาสและอิสราเอลว่าต่างเข่นฆ่าชีวิตพลเรือนด้วยกันทั้งสิ้น พร้อมย้ำว่าสงครามครั้งนี้ไม่มีวีรบุรุษ มีแต่ประชาชนที่เป็น ‘เหยื่อ’

ความเห็นของเจ้าชายตุรกี อัล-ไฟซอล เกี่ยวกับสงครามยิว-ฮามาสถือว่าเป็นคำพูดที่ตรงไปตรงมาที่สุดจากสมาชิกราชวงศ์ซาอุฯ และอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าบรรดาผู้นำริยาดคิดเห็นอย่างไรกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ในนครฮิวสตันของสหรัฐฯ เจ้าชายตุรกีตรัสว่าการกระทำของกลุ่มฮามาสขัดต่อกฎของอิสลามที่ห้ามทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และผู้คนที่ถูกฮามาสสังหารหรือจับไปเป็นตัวประกันก็คือพลเรือนแทบทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายซึ่งทรงเป็นทั้งอดีตนักการทูตและหัวหน้าหน่วยข่าวกรองที่มีความสุขุมลุ่มลึก ก็ทรงประณามฝ่ายอิสราเอลเช่นกันว่า “ทิ้งระเบิดใส่พลเรือนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาแบบไม่เลือกหน้า อีกทั้งยังจับกุมพลเรือนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กๆ ในเขตเวสต์แบงก์โดยไม่มีการแยกแยะ”

เจ้าชายตุรกียังทรงอ้างถึงวลี ‘การโจมตีที่ปราศจากการยั่วยุ’ (unprovoked attack) ที่สื่ออเมริกันชอบใช้เมื่อจะอ้างถึงการโจมตีของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. โดยทรงตั้งคำถามว่า “สิ่งที่อิสราเอลได้กระทำต่อชาวปาเลสไตน์มา 75 ปี ยังต้องการการยั่วยุอะไรมากไปกว่านี้อีกหรือ?”

พระองค์ทรงย้ำว่า “ประชาชนที่ถูกกดขี่ยึดครองด้วยอำนาจทางทหาร ย่อมมีสิทธิ์ที่จะต่อต้านการยึดครอง” เจ้าชายยังทรงประณามพวกนักการเมืองตะวันตกที่ “ร่ำไห้เมื่อเห็นคนอิสราเอลถูกฆ่าโดยชาวปาเลสไตน์ แต่กลับไม่มีแม้แต่ท่าทีเห็นใจ เมื่อคนปาเลสไตน์ถูกฆ่าโดยอิสราเอล”

BBC ตั้งข้อสังเกตว่า คำพูดของเจ้าชายตุรกีวัย 78 พรรษาถือเป็นการ ‘แหกคอก’ จากบรรดาชาติมุสลิม รวมถึงรัฐบาลซาอุฯ เองที่ยังไม่เคยแถลงประณามฮามาสมาก่อน และเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณชนเช่นนี้โดยไม่ผ่านการปรึกษาหารือกับทางสำนักพระราชวังซาอุฯ ซึ่งมีเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารทรงกุมอำนาจในฐานะผู้ปกครองโดยพฤตินัยอยู่ในเวลานี้

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่ได้ชื่นชอบพวกฮามาส และอันที่จริงแล้วดูเหมือนจะไม่มีรัฐบาลใดในภูมิภาคที่โอเคกับพวกเขาเลย ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือบาห์เรน ที่ต่างมองว่าฮามาสและแบรนด์การปฏิวัติ ‘อิสลามเชิงการเมือง’ ของพวกเขาเป็นภัยคุกคามต่อระบบการปกครองแบบโลกวิสัย (secular rule)

อย่างไรก็ตาม ฮามาสยังคงมีสำนักงานการเมืองอยู่ในกาตาร์ และได้รับการสนับสนุนจาก ‘อิหร่าน’ ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งและไม้เบื่อไม้เมากับซาอุดีอาระเบียมายาวนาน

‘ฮามาส’ ปล่อยตัวประกัน 2 แม่ลูกชาวอเมริกันแล้ว ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม หลัง ‘กาตาร์’ ช่วยเจรจา

(21 ต.ค.66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ชาวอเมริกัน 2 แม่ลูกที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันตั้งแต่การเปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ถูกปล่อยตัวออกมาแล้วเมื่อวันศุกร์ (20 ต.ค.) โดยทั้งสองถูกนำตัวส่งให้หน่วยกาชาดสากลที่เข้าไปปฏิบัติงานบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ฉนวนการกาซา หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กาชาดได้พาไปมอบให้ทหารอิสราเอลบริเวณชายแดนฉนวนกาซา และคาดว่าจะเดินทางกลับสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า

ตัวประกันทั้งสองทราบภายหลังว่าเป็นชาวชิคาโก มีเชื้อสายอิสราเอล ผู้เป็นแม่ชื่อ จูดิท ไท รานัน ลูกสาวชื่อ นาตาลี รานัน อายุ 17 ปี ทั้งสองถูกจับเป็นตัวประกันตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ขณะไปเยี่ยมญาติที่คิบบุตซ์ นาฮาล ออตซ์ ทางภาคใต้ของอิสราเอล

การปล่อยตัวครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานทางมนุษยธรรมเนื่องจากผู้เป็นแม่นั้นสุขภาพย่ำแย่ และเป็นผลมาจากการเจรจาระหว่างกาตาร์กับกลุ่มฮามาสที่เริ่มมาตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม

นายอาบู อาบาอิดา โฆษกกลุ่มฮามาสแถลงว่า “เพื่อตอบสนองต่อความพยายามของกาตาร์ กองพันอัล-กัสซามได้ปล่อยตัว 2 แม่ลูกชาวอเมริกัน ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม เป็นการพิสูจน์ให้ชาวอเมริกันและทั่วโลกได้เห็นว่า ข้ออ้างของไบเดนและคณะบริหารฟาสซิสม์ของเขานั้นไม่เป็นความจริงและเลื่อนลอย”

ทางด้านนายมาเจด อัล-อันซารี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์แถลงว่า ทางกาตาร์จะยังดำเนินการเจรจาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับฮามาสและอิสราเอลเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันพลเรือนทุกคนทุกเชื้อชาติ เพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์และนำสันติภาพกลับคืนมา

ต่อมาทางกลุ่มฮามาสได้ออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า พวกเขากำลังทำงานร่วมกับตัวแทนจากอียิปต์ กาตาร์ และประเทศผู้เป็นมิตรอีกหลายประเทศ เพื่อพิจารณาปล่อยตัวประกันต่างชาติคนอื่นๆ เมื่อพวกเขาเห็นมีความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย

ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอล อ้างว่าการปล่อยตัวประกันครั้งนี้เป็นผลมาจากการกดดันทางทหารของอิสราเอล

‘จีน’ ก่อตั้ง ‘ศูนย์รักษาอาการปวด’ มาตรฐานระดับชาติ เน้นขยายขอบเขตให้เข้าถึง ‘ระดับรากหญ้า’ มากขึ้น

เมื่อวานนี้ (20 ต.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนเปิดตัวศูนย์รักษาอาการปวดที่ได้มาตรฐานระดับชาติในกรุงปักกิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ขยายขอบเขตการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสำหรับการรักษาอาการปวดในระดับรากหญ้า

อาการปวดเรื้อรังที่มีระยะเวลานานเกินกว่า 3 เดือนกลายเป็นข้อกังวลที่ผู้คนสนใจเพิ่มขึ้น โดยคณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาการปวดเรื้อรังต้องได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากมีสาเหตุที่ซับซ้อนและหลากหลาย และยิ่งเป็นต่อเนื่องนานเท่าไร จะยิ่งรักษายากขึ้นเท่านั้น

แผนงานที่เผยแพร่ในปี 2022 ระบุว่า จีนได้กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการนำร่องในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศในช่วงปี 2022-2025 ซึ่งจะเน้นจัดการอาการปวดแบบครอบคลุมครบวงจร

ศูนย์จัดตั้งใหม่นี้เริ่มทำการประเมินโรงพยาบาลระดับชุมชน 30 แห่ง และวางแผนสร้างศูนย์รักษาอาการปวดที่ได้มาตรฐานในโรงพยาบาลระดับชุมชน 10-15 แห่งภายในปี 2024

เปิดค่าบริการ ‘เอ็กซ์’ แบบรายปี ‘นิวซีแลนด์-ฟิลิปปินส์’ 2 ชาติแรก ราคาไม่เกิน 30 บาท หวังลดปัญหาสแปม ไม่จ่าย อ่านได้อย่างเดียว!!

(20 ต.ค. 66) สื่อต่างประเทศ รายงานว่า ‘อีลอน มัสก์’ เตรียมจะเปลี่ยนแปลงแอปพลิเคชันเต็มรูปแบบ จากแอปฯ ที่ให้ใช้ฟรี เป็นแอปฯ ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อใช้บริการ

โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 ‘เอ็กซ์’ (ทวิตเตอร์) ประกาศว่าได้เริ่มทดสอบระบบ ‘ไม่ใช่บอต’ เป็นวิธีการสมัครสมาชิกใหม่ 2 ประเทศ คือ นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์ พร้อมระบุว่า เพื่อสนับสนุนความพยายามที่สำคัญในการลดสแปม ขณะเดียวกันก็รักษาความสมดุลในการเข้าถึงแพลตฟอร์ม

ขั้นตอนแรก คือ การยืนยันทางโทรศัพท์ บัญชีใหญ่ที่สร้างขึ้นบนเอ็กซ์ของทั้ง 2 ประเทศนี้ จะต้องยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ก่อนใช้งาน ขั้นตอนที่ 2 คือ เลือกแผนการสมัครสมาชิก

สำหรับค่าธรรมเนียมนี้ จะคิดราคา 1 ดอลลาร์ต่อปี (แตกต่างกันไปตามประเทศและสกุลเงิน) ผู้ใช้ใหม่จะสามารถดำเนินการบางอย่างในเอ็กซ์เวอร์ชันเว็บได้ อาทิ โพสต์เนื้อหา ถูกใจโพสต์ ตอบกลับ โพสต์ซ้ำ โควท หรือ บุ๊กมาร์กโพสต์

ผู้ใช้ใหม่ที่เลือกไม่สมัครรับข้อมูลจะสามารถดำเนินการ อ่านอย่างเดียวเท่านั้น เช่น อ่านโพสต์ ดูวิดีโอ และติดตามบัญชี

สำหรับราคาของ 2 ประเทศนั้น นิวซีแลนด์ อยู่ที่ 1.43 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ประมาณ 30.43 บาท) ขณะที่ ฟิลิปปินส์ อยู่ ที่ 42.51 เปโซ (ประมาณ 27.33 บาท)

‘ไบเดน’ จ่อขอสภาฯ อนุมัติงบเสริมแกร่งกองทัพ ‘อิสราเอล’ ชี้!! เพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาด

(20 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว Biden to seek billions in military aid for Israel as invasion of Gaza nears ระบุว่า ในการปราศรัยของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ต.ค. 66 ตนจะขอให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการสนับสนุนอิสราเอล เพื่อเสริมขีดความสามารถของกองทัพอิสราเอลให้แข็งแกร่งขึ้น โดยย้ำว่า เพื่อรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯ จำเป็นต้องสนับสนุนพันธมิตรที่สำคัญอย่างอิสราเอล นี่เป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดที่จะจ่ายผลตอบแทนให้กับสหรัฐฯ ไปอีกหลายชั่วอายุคน

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า หากคำขอของไบเดนได้รับการอนุมัติงบประมาณด้านนี้ของสหรัฐฯ จะมีมูลค่ารวมถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท อีกด้านหนึ่ง บนพื้นดินในฉนวนกาซา ดูเหมือนว่าอิสราเอลกำลังเข้าใกล้การเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดิน บุกเข้าสู่ฉนวนกาซาเต็มรูปแบบที่ปกครองโดยกลุ่มฮามาส ซึ่งปัจจุบันกองทัพอิสราเอลระดมกำลังพลและยุทโธปกรณ์อยู่บริเวณใกล้ชายแดนฉนวนกาซา 

โดย โยฟ กัลลันท์ (Yoav Gallant) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล กล่าวกับทหารอิสราเอล เมื่อวันที่ 19 ต.ค.66 ว่า ตอนนี้เราเห็นฉนวนกาซาจากระยะไกล แต่อีกไม่นานเราจะเห็นมันจากด้านใน คำสั่งกำลังจะตามมาในเร็ว ๆ นี้

อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาด้วยการโจมตีทางอากาศหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 ที่นักรบของกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล ซึ่งคร่าชีวิตชาวอิสราเอลไป 1,400 ราย อีกทั้งยังปิดล้อมฉนวนกาซาประชาชน 2.3 ล้านคนและส่งสัญญาณการบุกภาคพื้นดินเต็มรูปแบบ พลเรือนในฉนวนกาซากล่าวว่าสถานการณ์ของพวกเขาสิ้นหวังมากขึ้น เนื่องจากขาดแคลนอาหาร น้ำ เชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์ มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 3,500 ราย และอีกกว่าล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขปาเลสไตน์ ด้าน อัยมาน ซาฟาดี (Ayman Safadi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจอร์แดน กล่าวว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในระหว่างการเยือนอิสราเอลเป็นเวลา 8 ชั่วโมงเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 ไบเดนพยายามทำข้อตกลงเพื่อขอความช่วยเหลือในฉนวนกาซา แต่ประสบความสำเร็จอย่างจำกัด เขากล่าวว่าอิสราเอลและอียิปต์เห็นพ้องกันว่ารถบรรทุก 20 คันพร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์สามารถข้ามเข้าไปในเขตนี้ได้ ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของอียิปต์ 2 รายกล่าวว่า อุปกรณ์ถูกส่งไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ผ่านการข้ามพรมแดนเพื่อซ่อมแซมถนนในฝั่งฉนวนกาซา ท่ามกลางรถบรรทุกมากกว่า 100 คันยังกำลังจอดรออยู่ในอียิปต์ ด่านดังกล่าวปิดตั้งแต่อิสราเอลเริ่มโจมตีในฝั่งปาเลสไตน์

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เดวิด แซทเทอร์ฟิลด์ (David Satterfield) ทูตพิเศษสหรัฐฯ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานด้านประเด็นด้านมนุษยธรรมในตะวันออกกลาง ยังคงเจรจากับทางการอิสราเอลและอียิปต์ ในเรื่องของรูปแบบที่แน่นอนในการส่งมอบความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันประสบความล่าช้า ขณะที่อิสราเอลเรียกร้องการรับรองว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสไม่สามารถควบคุมสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้

องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ความช่วยเหลือเร่งกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดความขัดแย้ง ซึ่งปกติแล้วจะมีรถบรรทุก 100 คันต่อวันลำเลียงสิ่งของไปช่วยเหลือชาวกาซา โดยมีรายงานว่า วันที่ 20 ต.ค. 66 อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ จะเดินทางไปเยือนด่านพรมแดนราฟาห์ จุดเชื่อมระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ กิลาด เออร์ดาน (Gilad Erdan) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ กล่าวในการชุมนุมในนิวยอร์ก ตำหนิว่า เลขาธิการใหญ่ UN ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ก่อการร้าย

ขณะเดียวกัน เหตุระเบิดในโรงพยาบาลในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 สร้างความโกรธเคืองแก่โลกอาหรับ และการรุกรานภาคพื้นดินของอิสราเอลที่คาดการณ์ไว้ เพิ่มความหวาดกลัวว่าความขัดแย้งจะขยายวงออกไป ชาวปาเลสไตน์กล่าวโทษการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลว่าเป็นต้นเหตุของเหตุระเบิดในโรงพยาบาล แต่อิสราเอลกล่าวว่ามีสาเหตุมาจากการยิงจรวดที่ล้มเหลวโดยกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอล

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ลำหนึ่งสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธร่อน 3 ลูก และโดรนหลายลำที่กลุ่มติดอาวุธฮูตียิงมาจากประเทศเยเมน ซึ่งคาดว่ามีเป้าหมายมุ่งหน้าสู่อิสราเอล โดยกลุ่มฮูตีนั้นเหมือนกับกลุ่มฮามาสที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ในวันเดียวกัน กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งเป็นพันธมิตรอีกรายหนึ่งของอิหร่าน เปิดเผยว่าา ได้ยิงจรวดใส่ที่มั่นของอิสราเอลในหมู่บ้านมานารา และดึงการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของอิสราเอล เพื่อตอบโต้หลังจากความรุนแรงบริเวณชายแดนเพิ่มความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 17 ปี

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของเลบานอน และกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ให้ข้อมูลตรงกันว่า เหตุปะทะระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ บริเวณชายแดนเลบานอน-อิสราเอล เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 มีพลเรือนเสียชีวิต 1 ราย ขณะที่กองทัพเลบานอน กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผู้สื่อข่าวชาวเลบานอนเสียชีวิต 1 ราย โดยอ้างว่ามาจากการโจมตีของอิสราเอล นอกจากนั้นยังมีสื่อมวลชน 7 คน ติดอยู่ในวงล้อม และประสานให้กองกำลังของ UN เข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่ฝ่ายอิสราเอล ชี้แจงว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ท่ามกลางความกังวลว่าเวสต์แบงก์ ดินแดนเชื่อมต่อระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน อาจกลายเป็นแนวรบที่ 3 ในสงครามที่กว้างขึ้น ชาวปาเลสไตน์ 13 คนถูกสังหารในการปะทะกับกองกำลังอิสราเอลในค่ายผู้ลี้ภัยนูร์ชามส์ในเมืองทูลคาร์ม ฝั่งตะวันตก ตามรายงานเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 โดยสภาเสี้ยววงเดือนแดง (สภากาชาด) ปาเลสไตน์ ด้าน อาบู โอเบดา (Abu Obeida) โฆษกของกลุ่มฮามาส กล่าวว่า พวกตนได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามยืดเยื้อกับกองทัพอิสราเอล และเรียกร้องให้ผู้คนในประเทศอาหรับและมุสลิมประท้วงต่อต้านอิสราเอล.

นสพ.The Guardian ของอังกฤษ เสนอข่าว New York’s Jewish community rallies for release of Israeli hostages: ‘They should be on the front page’ ระบุว่า ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 19 ต.ค. 66 ชุมชนชาวยิวได้รวมตัวกันบริเวณจตุรัสไทมส์ สแควร์ เรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกัน 203 คน ที่ถูกจับไปในเหตุการณ์กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล วันที่ 7 ต.ค. 66

การชุมนุมจัดโดยสภาอิสราเอล-อเมริกัน ดึงดูดผู้เข้าร่วมทางการเมือง เช่น ชัค ชูเมอร์ (Chuck Schumer) นักการเมืองพรรคเดโมแครต ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ และ เอริก อดัมส์ (Eric Adams) นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก ซึ่งที่เมืองนี้มีผู้นับถือศาสนายิวประมาณ 1.6 ล้านคน มากกว่าใน 2 เมืองของอิสราเอลอย่างเทลอาวีฟและเยรูซาเลมรวมกัน

ในการชุมนุมครั้งนี้ ทูตอิสราเอลประจำ UN ให้คำมั่นว่า จนกว่าที่ตัวประกันชาวอิสราเอลจะต้องได้กลับบ้าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และฉนวนกาซาจะไม่มีช่วงเวลาที่เงียบสงบ พร้อมกับ ยังตำหนิท่าทีของ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่มองข้ามความเจ็บปวดของชาวอิสราเอล ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไปเยือนด่านชายแดนราฟาห์ จุดเชื่อมต่อระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา ในวันที่ 20 ต.ค. 66 ว่า ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ก่อการร้ายที่ลักพาตัวคนที่เรารัก 

“หากเลขาธิการใส่ใจต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ตัวประกันของเราก็ต้องมีความสำคัญสูงสุดของเขา” เออร์ดาน กล่าว

‘สีจิ้นผิง’ พบปะ ‘นายกฯ ไทย’ ร่วมหารือความร่วมมือระหว่างประเทศ มุ่งเพิ่มมิติใหม่สู่ความสัมพันธ์ฉันครอบครัว พัฒนาเพื่ออนาคตร่วมกัน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานความคืบหน้า นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้พบปะหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 และเยือนจีนอย่างเป็นทางการ

นายสีจิ้นผิง กล่าวว่า จีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมาก

จีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” อย่างต่อเนื่อง และทำให้ข้อได้เปรียบของมิตรภาพอันยาวนาน เป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

นายสีจิ้นผิงกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดการก่อสร้าง ‘ทางรถไฟจีน-ไทย’ ขยับขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาสีเขียว และพลังงานใหม่ ตลอดจนเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยสำหรับการพัฒนาของสองประเทศ

นายสีจิ้นผิงเสริมว่า จีนยินดีแบ่งปันโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่ และการเปิดกว้างระดับสูงของจีน เพื่อเพิ่มพูนพลังเชิงบวกสู่การพัฒนาของเอเชีย

ด้านนายเศรษฐากล่าวว่า ไทยจะทำงานร่วมกับจีนเพื่อสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ไทยจะพยายามอย่างสุดกำลังในการรับรองความปลอดภัยของพลเมืองจีนในไทย และยินดีต้อนรับผู้ประกอบการชาวจีนเข้ามาลงทุน และพลเมืองจีนเดินทางเยือนไทย

อนึ่ง คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน รวมถึงช่ายฉีและหวังอี้ ได้เข้าร่วมการพบปะหารือครั้งนี้ด้วย

‘โนเกีย’ เตรียมปลดพนง.ล็อตใหญ่ 14,000 ตำแหน่ง หวังลดค่าใช้จ่ายในองค์กร หลังผลประกอบการดิ่งฮวบ

(19 ต.ค.66) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า บิ๊กเทคโนโลยีสารสนเทศ ‘โนเกีย’ (Nokia) เตรียมลดพนักงานครั้งใหญ่สูงสุด 14,000 ตำแหน่ง คิดเป็น 16% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ให้บริการในสหรัฐและยุโรปลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ลดลง ส่งผลกระทบต่อการสร้างรายได้ของบริษัท

ซึ่งการลดพนักงานครั้งนี้อาจช่วยให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรได้ 10-15% และคาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายในปี 2567 ได้ถึง 400 ล้านยูโร (ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท) และประหยัดเพิ่มอีก 300 ล้านยูโร (ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท) ในปี 2568

รายงานข่าวระบุว่า กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 ของ Nokia อยู่ที่ 424 ล้านยูโร (ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าการประมาณการของนักวิเคราะห์ที่ 545.2 ล้านยูโร (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)

นายเพ็กก้า ลุนด์มาร์ก (Pekka Lundmark) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nokia กล่าวในแถลงการณ์ของบริษัทว่า ยอดขายสุทธิในกลุ่มธุรกิจเครือข่ายมือถือลดลง 19% เนื่องจากในอินเดียมีการใช้โครงข่าย 5G ในระดับปานกลาง หมายความว่าการเติบโตทางธุรกิจไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวในอเมริกาเหนือได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ Nokia ต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างรายได้จากการที่ผู้ให้บริการในสหรัฐและยุโรปพยายามลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและการปรับสินค้าคงคลัง ซึ่งคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Ericsson AB ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าความอ่อนแอของตลาดจะยังอยู่ในไตรมาส 4/2566 และช่วงต่อ ๆ ไป

‘รองนายกฯ ไทย’ ยก ‘แผน BRI’ เป็นสุดยอดวิสัยทัศน์ระดับโลก เชื่อมต่อความเจริญ หนุนการค้า-ลงทุน เสริมแกร่ง ศก. ‘ไทย-จีน’

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่า ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ถือเป็นวิสัยทัศน์ระดับโลกอันชาญฉลาดที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนำพาความเจริญมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

นายปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ’ (BRF) ครั้งที่ 3 ว่าแผนริเริ่มฯ เป็นโครงการที่มีความชาญฉลาดมาก มีการมองไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาภูมิภาค และเพื่อให้โลกมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น พัฒนาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้สูงมาก

แผนริเริ่มฯ ได้ยกระดับการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคผ่านโครงการต่างๆ อย่าง ‘ทางรถไฟ’ ซึ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการขนส่งสินค้าอย่างราบรื่นตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจีน ลาว และไทย

“เราหวังจะเสริมสร้างการเชื่อมต่อกับมาเลเซียและสิงคโปร์เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเหล่านี้ในด้านการค้า การลงทุน และสำคัญที่สุดคือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน” นายปานปรีย์กล่าว พร้อมชี้ว่า จีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนมากมายในสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน นายปานปรีย์กล่าวว่า ประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เวลานี้เศรษฐกิจจีนจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นกลับมาได้ในสภาพที่ปกติ เพื่อนบ้านหรือภูมิภาคที่อยู่ใกล้จีน ก็สามารถค้าขายกับจีนได้อย่างเป็นปกติเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การค้าในภูมิภาคของเอเชียมีความแข็งแรงทั้งหมด

“ในมุมมองผม ก็ยังมองเศรษฐกิจของจีนในด้านดีและด้านบวก” นายปานปรีย์กล่าว

สำหรับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยและจีนนั้นหยั่งรากลึก โดยนอกจากการค้าและการลงทุนแล้ว ความร่วมมือทวิภาคียังครอบคลุมด้านอื่นๆ เช่น ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม ขณะการทำงานร่วมกันมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการเกื้อหนุนห่วงโซ่อุปทานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยในปี 2022 อยู่ที่ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้า โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย

นายปานปรีย์ กล่าวว่า จีนเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ ไทยได้ดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเยือนไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

สำหรับการพัฒนาระดับภูมิภาค นายปานปรีย์กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่แข็งแรงจะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย ในหลากหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน และความมั่นคงของภูมิภาค

“ความสัมพันธ์นี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งอาเซียนและจีน” นายปานปรีย์กล่าว

"อยากให้ชาวบ้านได้กินเนื้อสัตว์จนพอใจ" แรงบันดาลใจ ‘สี จิ้นผิง’ สู่หัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบ ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’

เมื่อวานนี้ 17 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ห้วงยามนี้ทุกสายตาพากันจับจ้อง ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ และนักวิชาการจากทั่วทุกมุมโลก เข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ณ นครหลวงปักกิ่ง

แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) วิสัยทัศน์การพัฒนาระดับโลกอันเป็นเอกลักษณ์ของสี จิ้นผิง ได้กลายเป็นหนึ่งในสินค้าสาธารณะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก มอบโอกาสการพัฒนาแบบก้าวกระโดดแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การรวมตัว ณ กรุงปักกิ่ง จะส่งมอบโอกาสครั้งประวัติศาสตร์แก่หุ้นส่วนทั้งหมดของแผนริเริ่มฯ เพื่อต่อยอดผลสำเร็จอันโดดเด่นของแผนริเริ่มฯ และก้าวหน้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยสำนักข่าวซินหัวชวนร่วมทำความเข้าใจว่าเหตุใดสี จิ้นผิงจึงเสนอแนะแผนริเริ่มฯ อะไรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และสี จิ้นผิงมุ่งหวังบรรลุสิ่งใดด้วยแผนริเริ่มฯ นี้

>>กระตุ้นการพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก

เมื่อปลายทศวรรษ 1960 สี จิ้นผิงซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘เยาวชนผู้มีการศึกษา’ ถูกส่งไปยังชนบทเพื่อการ ‘เรียนรู้ใหม่’ และต้องประหลาดใจกับความท้าทายของการใช้ชีวิตในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ทั้งการนอนในบ้านถ้ำที่เต็มไปด้วยเห็บหมัด ตรากตรำทำงานหนักหลายชั่วโมง และต่อสู้กับความหิวโหย

"เราไม่มีเนื้อสัตว์กินกันนานหลายเดือน" สี จิ้นผิงเล่าย้อนถึงเรื่องราวเมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ขณะเดินทางเยือนเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐฯ ในฐานะประธานาธิบดีจีนในอีกหลายทศวรรษต่อมา "สิ่งหนึ่งที่ผมปรารถนามากที่สุดตอนนั้นคือการทำให้ชาวบ้านได้กินเนื้อสัตว์จนพอใจ"

รสชาติความยากจนอันขมปร่าตอกย้ำความเชื่อมั่นของสี จิ้นผิงว่า "การพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน" แต่จะทำได้อย่างไร?

สี จิ้นผิงมักหยิบยกสุภาษิตจีนอันโด่งดังอย่าง "ถนนมาก่อน ความเจริญรุ่งเรืองจึงจะตามมา" เพื่ออธิบายว่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสามารถกระตุ้นการพัฒนาได้อย่างไร และมองว่าการเปลี่ยนสายเคเบิลหรือซ่อมแซมถนน โดยเฉพาะพื้นที่ยากไร้บางแห่ง สามารถเปิดประตูสู่การบรรเทาความยากจนและความเจริญรุ่งเรืองของมวลชน

เมื่อครั้งสี จิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ จีนเพิ่งจะผงาดขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลกและเผชิญสารพัดความท้าทาย การเปิดประเทศถือเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ของจีนในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา และสี จิ้นผิงได้ยืนยันอีกครั้งถึงความทุ่มเทของจีนที่มีต่อการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

หวังอี้เหวย ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ กลายเป็นการออกแบบการปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนระดับสูงแบบใหม่ รวมถึงสะท้อนการเปิดกว้างระดับสูงยิ่งขึ้น และการแสวงหาการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง แผนริเริ่มฯ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของสี จิ้นผิงในการเปิดกว้างยิ่งขึ้น และมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมโยงความต้องการการพัฒนาอันเร่งด่วนที่สุดของโลกกับสิ่งที่จีนเชี่ยวชาญ นั่นคือสร้างถนนและสะพานเพื่อการเชื่อมโยงถึงกันยิ่งขึ้น

รายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 61.94 ล้านล้านบาท) ต่อปีจนถึงปี 2030 เพื่อรักษาทิศทางการเติบโต

นอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สมุดปกขาวว่าด้วยการพัฒนาแผนริเริ่มฯ ระบุว่าแผนริเริ่มฯ ยังเป็นแนวทางแก้ไขประเด็นปัญหาการพัฒนาระดับโลก ยามมนุษยชาติเผชิญความท้าทายอันน่าหวาดหวั่นจากการขาดดุลทางสันติภาพ การพัฒนา และธรรมาภิบาลในปัจจุบัน

สำหรับผู้นำจีนแล้ว จีนมิอาจพัฒนาโดยโดดเดี่ยวตนเองจากโลกได้ฉันใด โลกก็ต้องการจีนเพื่อการพัฒนาฉันนั้น ดังที่สี จิ้นผิงเคยกล่าวไว้ การดำเนินการตามแผนริเริ่มฯ ที่ตัวเขานำเสนอ "ไม่ได้หมายถึงการสละเวลาสร้างสิ่งที่ผู้อื่นเคยทำมาแล้วขึ้นมาใหม่" ทว่ามุ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาของนานาประเทศที่เกี่ยวข้องโดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของพวกเขา และมุ่งบรรลุการพัฒนาแบบแบ่งปันและได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มพลังการสื่อสารระหว่างอารยธรรม

สี จิ้นผิงนั้นถือเป็นคนรักการอ่านจนหนังสือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยนิสัยรักการอ่านทำให้สี จิ้นผิงรอบรู้เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทั้งตะวันออกและตะวันตก กลายเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจในแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระดับโลก

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2013 ขณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อมิร์ ติมูร์ ในกรุงทาชเคนต์ของอุซเบกิสถาน ระหว่างการเยือนเอเชียกลางครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีจีน มีแผนที่เส้นทางสายไหมโบราณฉบับหนึ่งได้ดึงดูดความสนใจจากสี จิ้นผิง

เส้นทางสายไหมโบราณนั้นเป็นมากกว่าเส้นทางการค้า เพราะการหมุนเวียนสินค้าผ่านเส้นทางนี้กระตุ้นการสื่อสารทางวัฒนธรรม โดยคลื่นคาราวาน นักเดินทาง นักวิชาการ และช่างฝีมือ ได้เดินทางระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตกในฐานะทูตวัฒนธรรม เชื่อมโยงแหล่งกำเนิดอารยธรรมอียิปต์ บาบิโลน อินเดีย และจีน รวมถึงหลายดินแดนศาสนาที่สำคัญ

"ประวัติศาสตร์เป็นครูที่ดีที่สุด" สี จิ้นผิงกล่าว พร้อมเสริมว่าการฟื้นฟูและสืบสานจิตวิญญาณแห่งเส้นทางสายไหม กอปรกับส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและระหว่างประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญของแผนริเริ่มฯ

"ขณะทำงานตามแผนริเริ่มฯ เราควรรับรองว่าเมื่อพูดถึงอารยธรรมที่แตกต่างกัน การแลกเปลี่ยนจะเข้าแทนที่ความเหินห่าง การร่วมเรียนรู้จะเข้าแทนที่การปะทะ และการอยู่ร่วมกันจะเข้าแทนที่ความรู้สึกเหนือกว่า สิ่งนี้จะเพิ่มพูนความเข้าใจ การเคารพ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างนานาประเทศ" สี จิ้นผิงกล่าวในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1

นั่นคือเหตุผลที่สี จิ้นผิงเสนอให้มีการจัดการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย (CDAC) และผลักดันแผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI) โดยสี จิ้นผิงกล่าวว่าเราควรรักษาพลวัตของอารยธรรม และสร้างเงื่อนไขอันเกื้อหนุนอารยธรรมอื่น ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองด้วย

>> จุดประกายแรงบันดาลใจเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น

"มนุษยชาติที่อาศัยอยู่บนโลกและในยุคสมัยเดียวกันกับที่ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงบรรจบ ได้กลายเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" สี จิ้นผิงกล่าวต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก ณ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมอสโกในปี 2013 ซึ่งถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของสี จิ้นผิงหลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน

สี จิ้นผิงนำเสนอการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติเป็นครั้งแรกระหว่างการเดินทางดังกล่าว แนวคิดนี้กลายเป็นหลักการพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศของจีน และอีกหลายเดือนต่อมา สี จิ้นผิงได้นำเสนอแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งถูกมองว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการทำให้วิสัยทัศน์ในการสร้างโลกที่ดีขึ้นของเขากลายเป็นความจริง

ห้วงยามที่บางประเทศตะวันตกอ้างสิ่งที่เรียกว่า ‘การลดความเสี่ยง’ (de-risking) มาบังหน้าการแยกตัว (decoupling) จากจีน โดยประเทศจีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิงยังคงยึดมั่นความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่ายและลัทธิพหุภาคีที่แท้จริง ซึ่งสี จิ้นผิงชี้ว่าการที่ผู้คนทั่วโลกมีชีวิตดีขึ้นเป็นหนทางเดียวที่จะค้ำจุนความเจริญ คุ้มครองความมั่นคง และปกป้องสิทธิมนุษยชน

สี จิ้นผิง ผู้ตระหนักดีว่ากลุ่มประเทศโลกซีกใต้ (Global South) ต้องการการพัฒนาเพิ่มขึ้น ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN) เสมอมา นำสู่การนำเสนอแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) ในปี 2021 และเรียกร้องประชาคมนานาชาติรับรองว่าทุกประเทศจะได้ร่วมสร้างความทันสมัย

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการค้าที่เพิ่มขึ้นจากความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะเพิ่มรายได้ที่แท้จริงทั่วโลกร้อยละ 0.7-2.9 และโครงการตามแผนริเริ่มฯ อาจช่วยนำพาผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง 7.6 ล้านคน

ส่วนรายงานจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) คาดการณ์ว่าแผนริเริ่มฯ มีแนวโน้มเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 258 ล้านล้านบาท) ต่อปีภายในปี 2040

พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ เป็นแผนริเริ่มระดับโลกที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล นำพาสันติภาพ ความร่วมมือ การพัฒนา และการแบ่งปันมาสู่โลก ลดความแตกต่างและความขัดแย้ง ทำให้ผู้คนหันมาแสวงหาการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวัฒนธรรม การค้า และการเดินทางท่องเที่ยว

"ผมมีโอกาสพบปะกับผู้นำของหลายประเทศ ซึ่งในสายตาของผมแล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเป็นผู้นำที่มีความคิดกว้างไกล สุขุมลึกซึ้ง และมุ่งมั่นแน่วแน่" พินิจกล่าวทิ้งท้าย

‘X’ ลุยทดสอบเก็บค่าบริการผู้ใช้ใหม่ ‘อยากโพสต์–กดไลก์’ ต้องจ่าย หวังกำจัด ‘บอต-สแปม’ นำร่อง ‘นิวซีแลนด์-ฟิลิปปินส์’ ประเทศแรก

(18 ต.ค.66) สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ‘X’ (Twitter ในอดีต) เตรียมทดสอบการสมัครสมาชิกรูปแบบใหม่ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 37 บาท) สำหรับฟีเจอร์มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ข้อความใหม่ (ทวีต), รีโพสต์ (รีทวีต), โควตข้อความ, กดถูกใจ และบุ๊กมาร์ก

ทั้งนี้ การทดสอบดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘Not A Bot’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการต่อสู้กับบอต (bot-robot) และบัญชีที่เป็นสแปม โดยค่าธรรมเนียมจะต่างกันไปในแต่ละประเทศตามอัตราแลกเปลี่ยน และจะเปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ใช้ในนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ก่อน

โดยผู้ใช้ที่มีบัญชีอยู่แล้วจะไม่ได้รับผลกระทบจากการทดสอบในครั้งนี้ แต่ผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่งสมัครใช้งาน X จะสามารถดูและอ่านโพสต์ ดูวิดีโอ และติดตามบัญชีได้เท่านั้น หากไม่ได้ทำการสมัครสมาชิกในแพ็กเกจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ‘บอต’ เป็นปัญหาที่ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) เจ้าของแพลตฟอร์มคนปัจจุบันพยายามหาแนวทางการจัดการมาตลอด เช่น การจำกัดปริมาณการรับชมข้อความ และการปรับปรุงนโยบายการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) เพื่อยืนยันตัวตน เป็นต้น 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top