‘เจ้าชายซาอุฯ’ ประณาม ‘ฮามาส-อิสราเอล’ ล้วนเข่นฆ่าพลเรือน พร้อมย้ำ!! สงครามครั้งนี้ไม่มีวีรบุรุษ มีแต่ประชาชนที่เป็น ‘เหยื่อ’

(21 ต.ค.66) สื่อต่างประเทศรายงานว่า เจ้าชายตุรกี อัล-ไฟซอล (Prince Turki al-Faisal) สมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นทั้งรัฐบุรุษและนักการทูตที่ได้รับการยกย่อง ทรงออกมาประณามทั้งฮามาสและอิสราเอลว่าต่างเข่นฆ่าชีวิตพลเรือนด้วยกันทั้งสิ้น พร้อมย้ำว่าสงครามครั้งนี้ไม่มีวีรบุรุษ มีแต่ประชาชนที่เป็น ‘เหยื่อ’

ความเห็นของเจ้าชายตุรกี อัล-ไฟซอล เกี่ยวกับสงครามยิว-ฮามาสถือว่าเป็นคำพูดที่ตรงไปตรงมาที่สุดจากสมาชิกราชวงศ์ซาอุฯ และอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าบรรดาผู้นำริยาดคิดเห็นอย่างไรกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ในนครฮิวสตันของสหรัฐฯ เจ้าชายตุรกีตรัสว่าการกระทำของกลุ่มฮามาสขัดต่อกฎของอิสลามที่ห้ามทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และผู้คนที่ถูกฮามาสสังหารหรือจับไปเป็นตัวประกันก็คือพลเรือนแทบทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายซึ่งทรงเป็นทั้งอดีตนักการทูตและหัวหน้าหน่วยข่าวกรองที่มีความสุขุมลุ่มลึก ก็ทรงประณามฝ่ายอิสราเอลเช่นกันว่า “ทิ้งระเบิดใส่พลเรือนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาแบบไม่เลือกหน้า อีกทั้งยังจับกุมพลเรือนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กๆ ในเขตเวสต์แบงก์โดยไม่มีการแยกแยะ”

เจ้าชายตุรกียังทรงอ้างถึงวลี ‘การโจมตีที่ปราศจากการยั่วยุ’ (unprovoked attack) ที่สื่ออเมริกันชอบใช้เมื่อจะอ้างถึงการโจมตีของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. โดยทรงตั้งคำถามว่า “สิ่งที่อิสราเอลได้กระทำต่อชาวปาเลสไตน์มา 75 ปี ยังต้องการการยั่วยุอะไรมากไปกว่านี้อีกหรือ?”

พระองค์ทรงย้ำว่า “ประชาชนที่ถูกกดขี่ยึดครองด้วยอำนาจทางทหาร ย่อมมีสิทธิ์ที่จะต่อต้านการยึดครอง” เจ้าชายยังทรงประณามพวกนักการเมืองตะวันตกที่ “ร่ำไห้เมื่อเห็นคนอิสราเอลถูกฆ่าโดยชาวปาเลสไตน์ แต่กลับไม่มีแม้แต่ท่าทีเห็นใจ เมื่อคนปาเลสไตน์ถูกฆ่าโดยอิสราเอล”

BBC ตั้งข้อสังเกตว่า คำพูดของเจ้าชายตุรกีวัย 78 พรรษาถือเป็นการ ‘แหกคอก’ จากบรรดาชาติมุสลิม รวมถึงรัฐบาลซาอุฯ เองที่ยังไม่เคยแถลงประณามฮามาสมาก่อน และเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณชนเช่นนี้โดยไม่ผ่านการปรึกษาหารือกับทางสำนักพระราชวังซาอุฯ ซึ่งมีเจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารทรงกุมอำนาจในฐานะผู้ปกครองโดยพฤตินัยอยู่ในเวลานี้

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียไม่ได้ชื่นชอบพวกฮามาส และอันที่จริงแล้วดูเหมือนจะไม่มีรัฐบาลใดในภูมิภาคที่โอเคกับพวกเขาเลย ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือบาห์เรน ที่ต่างมองว่าฮามาสและแบรนด์การปฏิวัติ ‘อิสลามเชิงการเมือง’ ของพวกเขาเป็นภัยคุกคามต่อระบบการปกครองแบบโลกวิสัย (secular rule)

อย่างไรก็ตาม ฮามาสยังคงมีสำนักงานการเมืองอยู่ในกาตาร์ และได้รับการสนับสนุนจาก ‘อิหร่าน’ ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งและไม้เบื่อไม้เมากับซาอุดีอาระเบียมายาวนาน