Saturday, 20 April 2024
WORLD

‘X’ ลุยทดสอบเก็บค่าบริการผู้ใช้ใหม่ ‘อยากโพสต์–กดไลก์’ ต้องจ่าย หวังกำจัด ‘บอต-สแปม’ นำร่อง ‘นิวซีแลนด์-ฟิลิปปินส์’ ประเทศแรก

(18 ต.ค.66) สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ‘X’ (Twitter ในอดีต) เตรียมทดสอบการสมัครสมาชิกรูปแบบใหม่ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 37 บาท) สำหรับฟีเจอร์มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ข้อความใหม่ (ทวีต), รีโพสต์ (รีทวีต), โควตข้อความ, กดถูกใจ และบุ๊กมาร์ก

ทั้งนี้ การทดสอบดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘Not A Bot’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการต่อสู้กับบอต (bot-robot) และบัญชีที่เป็นสแปม โดยค่าธรรมเนียมจะต่างกันไปในแต่ละประเทศตามอัตราแลกเปลี่ยน และจะเปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ใช้ในนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ก่อน

โดยผู้ใช้ที่มีบัญชีอยู่แล้วจะไม่ได้รับผลกระทบจากการทดสอบในครั้งนี้ แต่ผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่งสมัครใช้งาน X จะสามารถดูและอ่านโพสต์ ดูวิดีโอ และติดตามบัญชีได้เท่านั้น หากไม่ได้ทำการสมัครสมาชิกในแพ็กเกจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ‘บอต’ เป็นปัญหาที่ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) เจ้าของแพลตฟอร์มคนปัจจุบันพยายามหาแนวทางการจัดการมาตลอด เช่น การจำกัดปริมาณการรับชมข้อความ และการปรับปรุงนโยบายการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) เพื่อยืนยันตัวตน เป็นต้น 

‘2 มหาเศรษฐีเชื้อสายยิว’ ประกาศงดให้ทุนสนับสนุน ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ อ้าง!! ผิดหวังต่อท่าทีของสถาบัน ปมสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 ‘เลส เว็กซ์เนอร์’ มหาเศรษฐีเชื้อสายยิวระดับพันล้าน และเป็นผู้ก่อตั้ง ‘วิกตอเรีย ซีเคร็ต’ (Victoria's Secret) บริษัทออกแบบและจำหน่ายชุดชั้นในระดับ Luxury ประกาศถอนเงินทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ

‘มูลนิธิเว็กซ์เนอร์’ ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนชาวยิว ก่อตั้งโดย ‘เลส เว็กซ์เนอร์’ เอง มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้แจงว่า การตัดสินใจดังกล่าวสืบเนื่องมาจากท่าทีของมหาวิทยาลัย ที่แสดงออกต่อการโจมตีพลเรือนอิสราเอลของกลุ่มฮามาส

ขณะเดียวกัน กลุ่มนักลงทุน ผู้บริหารและผู้บริจาครายสำคัญ ๆ ของสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยในกลุ่ม ‘ไอวีลีก’ แสดงท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น ในการสนับสนุนอิสราเอลและประณามพฤติกรรมต่อต้านชาวยิว

ในแถลงการณ์ของมูลนิธิเว็กซ์เนอร์ ที่มีผู้นำไปโพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ได้กล่าวหาว่า กลุ่มผู้บริหารของ ‘ฮาร์วาร์ด’ นั้น แสดงท่าทีที่ ‘คลุมเครือ’ และ ‘ผิวเผิน’ ต่อประเด็นการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ซึ่งทางมูลนิธิได้ยืนยันว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นของจริง โดยในแถลงการณ์ระบุว่า…

“เนื่องจากฮาร์วาร์ดไม่แสดงความชัดเจนในการเลือกข้างทางศีลธรรม มูลนิธิเว็กซ์เนอร์จึงขอประกาศว่าขอยุติความร่วมมือต่าง ๆ ที่เคยมีกับวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี เนื่องจากแนวทางและค่านิยมของแต่ละฝ่ายไม่สอดคล้องกัน”

ด้านโฆษกของวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดีก็ชี้แจงว่า ทางสถาบันยืนยันอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้าย และการบุกโจมตีพลเรือนอิสราเอลอย่างโหดเหี้ยมของกลุ่มหัวรุนแรงฮามาส อย่างไรก็ตาม วิทยาลัยก็ขอแสดงความขอบคุณมูลนิธิเว็กซ์เนอร์ ที่ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่สถาบันมาตลอด

‘ดัก เอลเมนดอร์ฟ’ คณบดีของวิทยาลัยออกแถลงการณ์กล่าวประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาส แต่ก็แสดงความกังวลเรื่องที่มีการข่มขู่ คำพูดแสดงความเกลียดชัง การกลั่นแกล้งออนไลน์และพฤติกรรมแสดงความบ้าคลั่งอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนใน ‘ชุมชนฮาร์วาร์ด’

ก่อนหน้ายุติความร่วมมือ มูลนิธิเว็กซ์เนอร์มอบทั้งทุนการศึกษาให้นักศึกษาจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดีมากว่า 3 ทศวรรษ และจัดให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิสราเอลเข้าอบรมด้านการบริหารจัดการและความเป็นผู้นำองค์กรจากทางสถาบัน

ด้าน ‘ไอแดน โอเฟอร์’ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยลำดับที่ 81 ของโลก เจ้าของบริษัทควอนตัม แปซิฟิก กรุ๊ป และผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในอิสราเอล พร้อม ‘บาเทีย โอเฟอร์’ ภรรยาของเขา ก็ถอนตัวออกจากคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี ซึ่งครอบครัวของเขามอบทุนการศึกษาแก่ทั้งชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ ให้เข้าเรียนที่นี่มาตั้งแต่ปี 2560

นอกจากนี้ สำนักข่าวของชุมชนชาวยิว ‘เดอะ มาร์เคอร์’ ยังระบุว่า สองสามีภรรยาโอเฟอร์ยังยกเลิกโครงการบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่สถาบันอีกด้วย

มีผู้แสดงความเห็นว่า การถอนตัวนี้อาจเป็นเพราะ ฮาร์วาร์ดปล่อยให้มีการแสดงออกอย่างอิสระจากกลุ่มนักศึกษาฝั่งปาเลสไตน์ โดย ‘คริสทีน เกย์’ อธิการบดีของฮาร์วาร์ด ชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยต่อการก่อการร้าย แต่ก็ไม่เห็นด้วยต่อการรังควานหรือข่มขู่ใคร โดยอ้างอิงจากพื้นฐานความเชื่อส่วนบุคคล

เกย์ ยังกล่าวว่า สถาบันยึดมั่นต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ซึ่งรวมถึงมุมมองที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วย หรือแสดงความอุกอาจจนดูเหมือนการล่วงละเมิด

ด้าน โอเฟอร์ แสดงความเห็นว่าคณะผู้บริหารของฮาร์วาร์ด ได้ทำลายความเชื่อมั่นในสถาบันของพวกเขาไปแล้ว ซึ่งทำให้พวกเขาไม่อาจทำใจสนับสนุนสถาบัน และชุมชนของมหาวิทยาลัยได้อีกต่อไป

ครอบครัวโอเฟอร์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ถึงเหตุผลที่พวกเขาถอนตัวออกจากการเป็นกรรมการบริหารของวิทยาลัยว่า สืบเนื่องมาจากท่าทีที่ไม่ชัดเจนของกลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนชาวอิสราเอล หลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในดินแดนอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งเจตนาที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘ไม่ยอมรับว่ากลุ่มฮามาสคือองค์การก่อการร้าย’

สองสามีภรรยาโอเฟอร์ระบุว่า ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จที่กระจายไปทั่วแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย สถาบันศึกษาชั้นนำของโลกเหล่านี้ จำเป็นต้องแสดงตัวอย่างชัดเจนว่า คิดเห็นอย่างไรในช่วงเวลาอันวิกฤติเช่นนี้

‘ตอลิบาน’ เข้าร่วมการประชุม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ที่กรุงปักกิ่ง ตอกย้ำมิตรภาพ ‘จีน-อัฟกานิสถาน’ หนุนค้าขายกับนานาชาติ-ฟื้น ศก.

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 ผู้แทนของรัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถาน คาดว่า จะเข้าร่วมการประชุมเวที ‘ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ’ (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ในกรุงปักกิ่ง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

บรรดาผู้เชี่ยวของจีนเชื่อว่า การมาปรากฏตัวของ ‘ตอลิบาน’ ในการประชุม ซึ่งเป็นเวทีระหว่างประเทศที่เปิดกว้างและครอบคลุมครั้งนี้ คือ ‘สิ่งตอกย้ำ’ ถึงความสัมพันธ์ที่กำลังเติบโตระหว่างจีนกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน และตอกย้ำการสนับสนุนของจีน ในการนำพาประเทศที่ยับเยินจากสงครามมาเข้าร่วมในประชาคมโลก

ตามรายงานสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งอ้างโฆษกกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอัฟกานิสถานนั้น ‘นายฮาจี นูรุดดิน อาซีซี’ (Haji Nooruddin Azizi) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม พร้อมคณะจะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยคาดว่า ผู้แทนรัฐบาลตอลิบานคณะนี้ ต้องการเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามายังอัฟกานิสถาน

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถานได้มีการหารือกับจีนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการทำเหมืองทองแดง และแผนการก่อสร้างถนนในภาคเหนือของอัฟกานิสถาน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางขนส่งกับจีนโดยตรง

‘นายจู หย่งเปียว’ ผู้อำนวยการศูนย์อัฟกานิสถานศึกษาของมหาวิทยาลัยหลันโจว ระบุว่า การเข้าร่วมการประชุมของตอลิบานเท่ากับเป็น ‘สปอตไลต์’ ฉายส่องความพยายามของจีน ในการเปิดเวทีให้รัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถานได้มีโอกาสคบค้าสมาคมกับนานาชาติมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยทั้งรัฐบาลตอลิบานและรัฐบาลชุดก่อนของอัฟกานิสถาน ซึ่งชาติตะวันตกหนุนหลัง ต่างก็ชื่นชอบความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เนื่องจากคาดหวังว่า จะดึงให้จีนมาลงทุนในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในประเทศได้นั่นเอง

การประชุม BRF ครั้งที่ 3 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค. ในกรุงปักกิ่ง มีผู้แทนจากกว่า 130 ประเทศ และ 30 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม โดยคาดว่า BRF จะเป็นเวทีที่เน้นย้ำถึงความสำเร็จอันน่าทึ่งของการก่อสร้างเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ BRI

‘นายอิ้น กัง’ นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันตกและแอฟริกาศึกษาแห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน ระบุว่า บริษัทจีนบางรายกลับมาดำเนินโครงการในอัฟกานิสถานอีกครั้งตั้งแต่ปี 2565 เช่น การขุดเจาะน้ำมัน และคงจะดีมาก หากการประชุม BRF ครั้งนี้ มีความคืบหน้าในการหารือเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองแดงขนาดใหญ่ทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน และการกลับมาดำเนินความร่วมมือในโครงการอื่นๆ มากขึ้น

ประโยคชวนคิดจาก ‘สี จิ้นผิง’

ประโยคชวนคิดจาก ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ พิธีเปิดการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 

“เมื่อคุณมอบดอกกุหลาบให้ผู้อื่น กลิ่นหอมยังคงติดตรึงอยู่ที่มือคุณ”

'หุ้นชิปเมกา' ว้าวุ่น!! มูลค่าหายวับ 2.7 ล้านล้านบาท  หลังแบนส่งออกชิปจีนเข้ม ด้าน 'Nvidia' ติดร่างแห

(18 ต.ค.66) เพจเฟซบุ๊ก 'เดือดทะลักจุดแตก' โพสต์ข้อความถึงกรณีหุ้นชิปสหรัฐฯ วูบ หลังแบนส่งออกชิปให้กับจีน ว่า...

ดูจากดัชนี PHLX Semiconductor Sector ของตลาดวอลล์ สตรีท สหรัฐอเมริกานะครับ วัดอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ หรือว่า 'ชิป' น่ะเอง ปรากฏว่าหุ้นดิ่งจนมูลค่าหายวับ 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ทีแรกว่าจะไม่โพสต์แล้วนะครับ แบนแล้วแบนอีก แบนไม่รู้จบ ซึ่งก็แบนซ้ำๆ --- คนก็รู้ๆ อยู่แล้วว่าอเมริกา 'แบน' ห้ามส่งออกชิปขั้นสูงไปให้จีน

การแบนโน่นนิดนี่หน่อยเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้มีอันใดน่าประหลาดใจ ... แต่เห็นข่าวนี้มันกระเพื่อมตลาดหุ้นพอควร ก็ต้องโพสต์ครับ!!!

เรื่องใหญ่ยังไง? เดิมก็ 'แบน' อยู่แล้วนะครับ ชิปขั้นสูงสำหรับ AI และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อสกัดกั้นจีนมิให้ผงาดง้ำ

แต่ว่าตรงนี้ จะขยับเกณฑ์ความสูงลงมาหน่อย --- ว่าง่ายๆ ก็คือ ชิปขั้นไม่ต้องสูงมากก็ต้องโดนไปด้วย

วงกว้างขึ้นว่างั้น

แล้วก่อนนี้ บริษัท Nvidia ของอเมริกาเอง ที่โดน 'แบน' ชิปรุ่น A100 และ รุ่น H100 นั้น ก็ 'แก้ลำ' ด้วยการออกรุ่น A800 และรุ่น H800 ซึ่งรองๆ ลงมา ผ่านเกณฑ์ที่ส่งออกไปให้จีนได้ (แล้วก็ยังดีพอจะถูไถสำหรับทำ AI แม้จะลดหลั่นลงมา) ... ปรากฏว่าล่าสุด อเมริกาก็รวบรุ่นที่ว่านี้เข้าไปด้วย

เสร็จเลยครับ

สำหรับ หุ้น Nvidia Corp. ร่วงลงมากที่สุดระหว่างวันถึง 7.8% ขณะที่ ณ เวลา 10.26 ตามเวลาประเทศไทยหุ้นชิปดังกล่าวลดลง 4.68% หรือ 21.57 ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 439.38 ดอลลาร์

‘Flash Coffee’ ร้านกาแฟสัญชาติอินโดฯ ปิดแล้วทุกสาขาในสิงคโปร์ ด้านใน ‘ไทย’ พบขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท หลังติดลบต่อเนื่อง 

เมื่อไม่นานนี้ ‘แฟลช คอฟฟี่’ (Flash Coffee) ร้านกาแฟสตาร์ตอัปสัญชาติอินโดนีเซีย ประเดิมสาขาแรกในบ้านเกิดเมื่อปี 2020 และสามารถขยายไปอีกหลายประเทศทั่วเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไทยที่มีสาขากระจายทั่วทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ล่าสุดสำนักข่าว ‘เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์’ (South China Morning Post) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดของ ‘แฟลช คอฟฟี่’ ในประเทศสิงคโปร์ว่า บริษัทปิดทำการร้านแฟรนไชส์ทุกสาขาในสิงคโปร์ทั้งหมดแล้ว โดยโฆษกของแบรนด์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของบริษัทจะไม่กระทบกับสาขาในประเทศอื่นๆ อาทิ สาขาในฮ่องกงที่ยังคงดำเนินกิจการตามปกติ พร้อมกันนี้ บริษัทจะยังคงเดินหน้าลงทุนและขยายตลาดในภาคส่วนอื่นๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวระบุถึงสาเหตุการถอนทัพจากสิงคโปร์ของ ‘แฟลช คอฟฟี่’ ว่า อาจมาจากสองประเด็นหลักๆ คือ ‘ภาระหนี้สินบริษัทที่เพิ่มขึ้น’ ส่งผลถึงการหยุดงานประท้วงของพนักงาน เนื่องจากการจ่ายเงินเดือนที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทว่า โฆษกของแฟลช คอฟฟี่ได้ออกมายืนยันภายหลังว่า พนักงานในสิงคโปร์ไม่ได้มีการนัดหยุดงานประท้วงแต่อย่างใด บาริสต้าและพนักงานในส่วนอื่นๆ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว เนื่องจากร้านค้ามีการหยุดดำเนินการไปก่อนหน้า

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการปิดตัวลงในสิงคโปร์ ‘แฟลช คอฟฟี่’ ได้ประกาศถอนตัวออกจากไต้หวันไปเมื่อเดือนมีนาคม 2566 รวมถึงสาขาในไทยที่มีการระบุบนเว็บไซต์ทางการว่า เปิดให้บริการกว่า 84 สาขานั้น ได้มีการทำการสำรวจข้อมูลแล้ว ล่าสุดบนแอปพลิเคชัน ‘แฟลช คอฟฟี่’ พบว่า ปัจจุบันมีสาขาเปิดบริการทั้งหมด 42 สาขา ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง หลังจากเข้ามาทำตลาดในไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563

สำหรับข้อมูลผลประกอบการของ ‘บริษัท แฟลช คอฟฟี่ ทีเอช จำกัด’ พบว่า ยังคงมีตัวเลข ‘ติดลบ’ ต่อเนื่องกันทั้งสองปี ดังนี้

- ปี 2563 : รายได้รวม 3.2 ล้านบาท ขาดทุน 8.5 ล้านบาท
- ปี 2564 : รายได้รวม 60 ล้านบาท ขาดทุน 100 ล้านบาท

‘นายกฯ มาเลเซีย’ ประกาศหนุน ‘กลุ่มฮามาส-ชาวปาเลสไตน์’ ลั่น!! พร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บรรเทาทุกข์เหยื่อสงคราม

นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ประกาศตัวชัดเจน ให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสและชาวปาเลสไตน์ แม้ต้องเผชิญแรงกดดันจากชาติตะวันตก พร้อมเรียกร้องอิสราเอลยุติการโจมตีฉนวนกาซา และเปิดพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีอย่างเป็นทางการของตนในโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและ X หรือทวิตเตอร์เดิม เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (17 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ประกาศยืนยันการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการทิ้งระเบิดโจมตีฉนวนกาซาทันที และจัดตั้งเขตปลอดภัยจากการสู้รบที่เมืองราฟาห์ ซึ่งมีจุดผ่านแดน ‘ด่านราฟาห์’ จากกาซาไปอียิปต์ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์
.
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) เขาโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายอิสมาอิล ฮานิเยะห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส เพื่อแสดงการสนับสนุนอย่างแน่วแน่ของมาเลเซียต่อชาวปาเลสไตน์

“เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายมากในฉนวนกาซา ผมจึงขอเรียกร้องให้ยุติการทิ้งระเบิดทันที พร้อมจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) (เขตปลอดภัยจากการสู้รบ ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือน) นอกพื้นที่สู้รบ ที่เมืองราฟาห์” นายอันวาร์ กล่าว

นายกฯ อันวาร์ยังเรียกร้องให้อิสราเอลละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการแย่งชิง (Politics of Dispossession) และดำเนินการตามสันติวิธีเพื่อยุติความขัดแย้งนี้

นอกจากนี้ นายอันวาร์ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอาหาร และยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความทุกข์ของเหยื่อจากการสู้รบนี้

ทางการมาเลเซียได้เปิดเผยว่า พวกเขาได้รับแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้ออกมาประณามการบุกโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ซึ่งนายกฯ อันวาร์ ก็ได้กล่าววานนี้ว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการกดดันจากชาติตะวันตก อีกทั้งมาเลเซียก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสมาตั้งนานแล้ว และประเทศจะคงความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสต่อไป

ทั้งนี้ มาเลเซียถือเป็นหนึ่งในชาติที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มฮามาส และให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์มาเป็นเวลานาน อีกทั้งมาเลเซียก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

ระเบิด 'โรงพยาบาลฉนวนกาซา' ดับครึ่งพัน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก 'ฮามาส' ชี้!! นี่คืออาชญากรรมสงคราม ฟากอิสราเอลปัดเอี่ยว

(18 ต.ค. 66) เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่โรงพยาบาลในฉนวนกาซาซึ่งเต็มไปด้วยผู้ได้รับบาดเจ็บรวมถึงชาวปาเลสไตน์อื่น ๆ ที่หาพี่พักพิงเพื่อหลบหนีความรุนแรง เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขกาซา ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 500 ราย

เหตุระเบิดโรงพยาบาลที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงครั้งนี้ เกิดขึ้นที่อัล-อะห์ลี ซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ในฉนวนกาซาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่เต็มไปด้วยชาวปาเลสไตน์จำนวนมากซึ่งพากันลี้ภัยไปอยู่ในโรงพยาบาล โดยหวังว่าพวกเขาจะรอดพ้นจากการทิ้งระเบิด หลังจากอิสราเอลได้สั่งให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองทั้งหมดรวมถึงพื้นที่โดยรอบทางตอนเหนืออพยพลงไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

ภาพวิดีโอที่ได้รับการยืนยันว่า มาจากโรงพยาบาลที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นเพลิงไหม้ลุกท่วมอาคาร ขณะที่บริเวณโรงพยาบาลเต็มไปด้วยศพผู้คนที่ฉีกขาดจากแรงระเบิด ผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นเพียงเด็กเล็ก ซึ่งรอบศพของพวกเขาที่อยู่บนพื้นหญ้ามีผ้าห่ม เป้สะพายหลังของโรงเรียน และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ กระจัดกระจายอยู่

หลังเกิดเหตุระเบิดทั้งรถพยาบาลและรถยนต์ส่วนตัวได้เร่งนำผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 350 คนไปยังโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักในฉนวนกาซาที่เต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บจากการโจมตีจากที่อื่นๆ อยู่แล้ว โดยสภาพภายในโรงพยาบาลผู้บาดเจ็บต่างนอนจมกองเลือดบนพื้นและกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด

ด้าน อิสราเอลและปาเลสไตน์ ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นฝ่ายยิงจรวดใส่โรงพยาบาลดังกล่าว โดยฮามาสอ้างว่าเป็นการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล และเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการสังหารหมู่ที่น่าสยดสยอง

ขณะที่ กองทัพอิสราเอล ก็กล่าวโทษว่าโรงพยาบาลถูกโจมตีจากจรวดที่ยิงพลาดเป้าของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตล์ ที่ได้ทำการยิงจรวดจำนวนมากใกล้กับโรงพยาบาลในขณะนั้น โดยอ้างข่าวกรองจากหลายแหล่งที่อิสราเอลมีในมือซึ่งบ่งชี้ว่า กลุ่มญิฮาดอิสลามเป็นผู้รับผิดชอบต่อการยิงจรวดที่ล้มเหลวครั้งนี้

ในเวลาต่อมาฝ่ายสื่อของรัฐบาลฮามาสได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การโจมตีโรงพยาบาลในฉนวนกาซาถือเป็นอาชญากรรมสงคราม เพราะโรงพยาบาลเป็นที่พักพิงของผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน รวมถึงผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากบ้านเรือนของตนเอง และขณะนี้มีเหยื่อหลายร้อยคนยังคงติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังของโรงพยาบาลดังกล่าว

ขณะที่โฆษกของกองทัพอิสราเอลไม่สามารถยืนยันได้ว่าพวกเขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้น หรือไม่โดยบอกเพียงว่ากำลังตรวจสอบอยู่

นอกจากเหตุโจมตีโรงพยาบาลแล้ว องค์กรบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยสำหรับขาวปาเลสไตน์ของยูเอ็นยังระบุด้วยว่า รถถังของอิสราเอลได้ยิงจรวดโจมตีโรงเรียนของยูเอ็นในตอนกลางของฉนวนกาซา ซึ่งมีชาวปาเลสไตน์ลี้ภัยอยู่ราว 4,000 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายและได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของยูเอ็นในพื้นที่ฉนวนกาซาอย่างน้อย 24 แห่งที่ถูกโจมตีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 14 ราย

‘นายกฯ เศรษฐา’ หวังเพิ่มความร่วมมือ BRI กับจีน ปั้น ‘โครงสร้างพื้นฐาน-พลังงานสีเขียว’ ดึงทุนใหญ่เข้าไทย

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว เผยบทสัมภาษณ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ระบุว่า แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ได้ส่งเสริมการร่วมสร้างการเชื่อมต่อระดับชาติ และไทยมุ่งหวังเสริมสร้างความร่วมมือกับจีนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสีเขียว รวมถึงขยับขยายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะสัมภาษณ์พิเศษก่อนเดินทางเยือนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในกรุงปักกิ่ง นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา แผนริเริ่มฯ ได้พัฒนาการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ และไทยหวังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังล้าหลังของประเทศผ่านความร่วมมือตามแผนริเริ่มฯ

“ถ้าไม่มีวิธีการขนส่งที่ทันสมัย ย่อมไม่สามารถหมุนเวียนสินค้าได้ดี” นายเศรษฐากล่าว โดยหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แล้ว เศรษฐาได้เดินทางเยือนจังหวัดหนองคายเพื่อตรวจสอบการเชื่อมต่อทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย และเผยว่าสถานะจุดเปลี่ยนผ่านของหนองคายบนทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย จะส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมาก

นายกฯ ให้สัมภาษณ์อีกว่า ไทยจะขยับขยายการเชื่อมต่อระหว่างทางรถไฟภายในประเทศกับทางรถไฟจีน-ลาว พร้อมกับเดินหน้าการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ยกระดับทางรถไฟที่มีอยู่เดิมและกระตุ้นการเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงปรับปรุงท่าอากาศยานและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการอำนวยความสะดวกอื่นๆ

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังมีสิ่งที่สามารถทำได้และควรทำให้สำเร็จอยู่อีกมาก” นายเศรษฐา กล่าว

ขณะเดียวกันการร่วมสร้างแผนริเริ่มฯ มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ โดยนายเศรษฐาสำทับว่าไทยหวังยกระดับการพัฒนาพลังงานสีเขียว ดึงดูดการลงทุนระดับสูงเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น และเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานสีเขียวภายใต้แผนริเริ่มฯ

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนที่กำลังเติบโต นายเศรษฐากล่าวว่า มีบริษัทจีนเข้าลงทุนและก่อสร้างโรงงานในไทยไม่น้อย ทำให้ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยไทยและจีนควรเสริมสร้างความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะสร้างงานในไทย รวมถึงยกระดับการผลิตและการส่งมอบยานยนต์

นอกจากนั้น นายเศรษฐา ยังแสดงความหวังว่าไทยและจีนจะเสริมสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยี โดยชี้ว่าการจัดตั้งโรงงานในไทย บริษัทจีนย่อมต้องนำทีมวิศวกรชั้นนำมาด้วย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ความก้าวหน้าของจีน ขณะเดียวกันหวังว่าบุคลากรของไทยจะมีโอกาสเดินทางไปฝึกอบรมที่จีนด้วย

ส่วนการดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นระยะเวลา 5 เดือน นายเศรษฐากล่าวว่า จีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดของไทย การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าจะเกื้อหนุนนักท่องเที่ยวชาวจีนมาไทย รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสองประเทศ วางรากฐานอันแข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือเพิ่มเติม

เมื่อเอ่ยถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน นายเศรษฐา เผยว่า ไทย-จีน มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยและหนึ่งในแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งเขาจะนำคณะผู้แทนชุดใหญ่ที่ร่วมเยือนจีนครั้งนี้เข้าหารือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการเกษตร การค้า การลงทุน และอื่นๆ

“ผมตั้งตารอการเดินทางเยือนครั้งนี้อย่างมาก” นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย

ส่องจุดยืนนานาชาติต่อสงคราม ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ภายใต้เสียงแบ่งขั้ว ที่มองทั่วๆ แล้ว มีมากกว่าปัญหาแก่งแย่งดินแดน

(17 ต.ค. 66) มีคำกล่าวว่า ต่อให้เราไม่ยุ่งกับการเมือง เดี๋ยวการเมืองก็จะมายุ่งกับเราเอง เช่นเดียวกันกับสงคราม ที่ต่อให้เราไม่ได้เป็นคนก่อ และไม่ใช่คู่กรณี แต่สุดท้ายก็จะถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

ไม่ต่างจากสงครามระหว่างอิสราเอล และ กองกำลังฮามาส ณ ขณะนี้ ที่ทั่วโลกกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในหลายประเทศ แม้ไม่ได้อยู่เขตพื้นที่สงครามแต่อย่างใด

ซึ่งต้องยอมรับว่าการโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา ถือเป็นการโจมตีชุมชนชาวอิสราเอลที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังถือเป็นหนึ่งในเหตุก่อการร้ายช็อกโลกที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน และทำให้ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ผู้นำอิสราเอลประกาศภาวะสงครามในอิสราเอลเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก ทำลายอาคาร บ้านเรือนย่อยยับ และทำให้ชาวปาเลสไตน์นับล้านพลัดถิ่นกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย

ท่ามกลางวิกฤติสงครามในฉนวนกาซา โลกก็ได้แบ่งขั้วเป็น 2 ฝั่ง โดยชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และอีกกว่า 40 ประเทศออกมาประณามกลุ่มก่อการร้ายฮามาส และสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล โดยมองว่าอิสราเอลมีความชอบธรรมตามกฎหมายในการป้องกันตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิมในตะวันออกกลาง นำโดย อิหร่าน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต ซีเรีย และอิรัก มองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีต้นเหตุเกิดจากอิสราเอล ที่สร้างความขัดแย้ง และความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ ในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา มานานนับ 10 ปี รวมถึงการก่อเหตุรุนแรงของทางการอิสราเอลในมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ ‘อัล-อัคซอร์’ และการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาที่ผ่านมา ได้สังหารชีวิตพลเรือนชาวปาเลสไตน์ไปเป็นจำนวนมาก และต้องไม่ลืมว่า การรุกไล่ที่ดิน และครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ของรัฐบาลอิสราเอลเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ทั้งนี้ ก็มีหลายชาติมหาอำนาจที่พยายามชูนโยบายสายกลาง โดยมองว่า ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาเลือกข้าง หรือประณามการกระทำของใครว่าเป็นฝ่ายผิดทั้งหมด ซึ่งกลุ่มพันธมิตรสายกลาง นำโดย จีน รัสเซีย ตุรกี กลุ่มประเทศสหภาพแอฟริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายลดความรุนแรงลง เพื่อสามารถถอยกลับไปสู่จุดที่สามารถเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพได้ และยังเชื่อว่า ‘การแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ (Two-state Solution) สามารถยุติความขัดแย้งได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ก็ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม

แต่หากมองมาทางฟากฝั่งเอเชียแปซิฟิก ก็จะพบว่าประเทศที่เป็นพันธมิตรอันดีกับสหรัฐอเมริกา มักแสดงท่าทีออกมาประณามกลุ่มฮามาส หรือสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งไทยด้วย แต่ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ มักเลือกที่จะสนับสนุนปาเลสไตน์ หรือ เลือกนโยบายเป็นกลางที่ประณามความรุนแรงจากทุกฝ่าย อาทิ เกาหลีเหนือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ในขณะที่ ประเทศในโซนอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก แสดงท่าทีไปในทางสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน แต่โซนอเมริกาใต้กลับเสียงแตก มีทั้งสนับสนุนอิสราเอล และขอยืนเป็นกลาง หรือประณามความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ส่วนกลุ่มทวีปแอฟริกาค่อนข้างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความรุนแรงในกาซา และไม่ขอออกตัวประณามกลุ่มฮามาสแต่เพียงฝ่ายเดียวด้วยเช่นกัน

เมื่อทั่วโลกมีความเห็นที่แตกต่างกันชัดเจน 2 กลุ่ม ความรุนแรงในกาซา จะยกระดับไปสู่สงครามตัวแทน หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่?

‘เจเรมี โบเวน’ ผู้สื่อข่าวนานาชาติ ของสำนักข่าว BBC มีความเห็นว่า สงครามครั้งนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหากมีการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก อาทิ อิหร่าน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน รวมถึง กองทัพสหรัฐฯ เช่นกัน และจำนำความเสียหายใหญ่หลวงมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลของชาติในตะวันออกกลางรู้ดี และเชื่อว่าไม่น่าจะชาติใดกล้าแบกรับความเสี่ยงนี้  ดังนั้น การสู้รบในฉนวนกาซาน่าจะถูกจำกัดวงไม่ให้กระจายออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มฮามาส ต้องการบรรลุเป้าหมายใดจากการใช้กำลังทหารโจมตีอิสราเอล แม้จะรู้ว่าเป็นการสงครามแบบอสมมาตร

เรื่องนี้ ‘โมฮัมเหม็ด อัล-เดอิฟ’ โฆษกกลุ่มฮามาส เคยออกมาประกาศว่า “ความอดทนสิ้นสุดแล้ว” ดังนั้น เหตุผลหลักของการขับเคลื่อนยุทธวิธีของกลุ่มฮามาส คือ ตอบโต้นโยบายกดขี่ของรัฐบาลอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ที่สั่งสมเป็นปัญหามานานหลายสิบปี

แต่ทั้งนี้ ‘อับดุลาซิส เซเกอร์’ หัวหน้าศูนย์วิจัย Gulf Research Center แห่งซาอุดีอาระเบีย มองว่า สิ่งที่ถือว่าฮามาสบรรลุเป้าหมายจากสถานการณ์นี้ คือ สามารถเปิดเผยจุดอ่อนด้านความมั่นคงของอิสราเอล และทัศนคติของรัฐบาลอิสราเอลที่มีต่อปาเลสไตน์อย่างหมดเปลือก

อีกทั้งยังทำให้ทั่วโลกหันกลับมามองปัญหาในดินแดนปาเลสไตน์ และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก แทนที่จะถูกมองเป็นประเด็นรองๆ หรือ ถูกลดทอนความสำคัญโดยสื่อตะวันตกอย่างที่แล้วมา ซึ่งนั่นทำให้ปัญหาด้านสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ถูกซุกไว้ใต้พรมที่เขียนด้วยคำสวยหรูว่า “แผนสันติภาพ” มาโดยตลอด

และทำให้วันนี้ มีการขุดคุ้ย ตีแผ่ ไล่เรียง ประวัติศาสตร์เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์ กันอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และมองสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยใจที่เป็นธรรมมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกข้าง หรือกล่าวประณามฝ่ายใด

‘เปปเปอร์ เอ็กซ์’ ทุบสถิติกินเนสส์บุ๊ก ขึ้นแท่นพริกที่เผ็ดที่สุดในโลก ค่าความ ‘เผ็ด’ แซงหน้า ‘แคโรไลนา รีเปอร์’ เจ้าของสถิติเดิมถึง 2 เท่า!!

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ‘กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด’ (Guinness World Records) รับรองสถิติอย่างเป็นทางการของพริกที่เผ็ดที่สุดในโลกอย่าง ‘เปปเปอร์ เอ็กซ์’ (Pepper X) ด้วยคะแนนระดับ 2.693 ล้านสกอวิลล์ ซึ่งเป็นหน่วยวัดระดับความเผ็ด แซงหน้าเจ้าของสถิติเดิมอย่างพริกสายพันธุ์ ‘แคโรไลนา รีเปอร์’ ที่มีระดับความเผ็ดอยู่ที่ 1.64 ล้านสกอวิลล์

โดยเจ้าของพริกที่เผ็ดที่สุดในโลก คือ นายเอ็ด คูร์รีย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท พัคเกอร์บัตต์ เปปเปอร์ ในเซาท์ แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายเอ็ด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและดัดแปลงสายพันธุ์พริกที่มีความเผ็ดในระดับโลก และยังเป็นผู้ดัดแปลงและพัฒนาพริกสายพันธุ์แคโรไลนา รีเปอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของสถิติเดิมด้วย

‘เปปเปอร์ เอ็กซ์’ เป็นพริกที่มีสีเหลือง เกิดจากการดัดแปลงสายพันธุ์ที่ใช้ต้นแบบของพริกสายพันธุ์แคโรไลนา รีเปอร์ พร้อมใช้เวลากว่า 5 ปี ในการพิสูจน์ว่าเปปเปอร์ เอ็กซ์ เป็นพริกชนิดใหม่ที่ไม่ซ้ำกับพริกใด ตัวพริกให้ความรู้สึกเผ็ดร้อนในปากและใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงกว่าอาการเผ็ดจะลดลง ทำให้พริกทรินิแดด มอรูก้า สกอร์เปี้ยน เจ้าของสถิติพริกที่เผ็ดสุดในโลกก่อนหน้าพริกสายพันธุ์แคโรไลนา รีเปอร์ ที่มีความเผ็ดระดับ 2.009 ล้านสกอวิลล์ จึงหล่นลงมาอยู่อันดับ 3 ส่วนพริกเซเว่น พอต ดักลาห์ ที่มีความเผ็ดระดับ 1.853 ล้านสกอวิลล์ ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 4 ตามลำดับ

‘เยียนไถ’ รุกคืบปลูกสมุนไพรใต้แผงโซลาร์เซลล์ หนุนพลังงานสะอาด เดินเครื่องสถานีไฟฟ้าผสานเกษตรฯ สร้างมูลค่า ศก.กว่า 5 แสนหยวน

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ จางเจียจวง ศูนย์กลางการขนส่งในเขตฝูซาน เมืองเยียนไถ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน เริ่มดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) ระยะที่ 1 โดยผสมผสานการผลิตไฟฟ้ากับการเกษตร

แผงเซลล์แสงอาทิตย์ของสถานีผลิตไฟฟ้าแห่งนี้จะรับแสงแดดได้เต็มที่ ซึ่งจะถูกแปลงเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งเข้าไปที่บริษัทสเตต กริด เยียนไถ พาวเวอร์ ซัพพลาย คอมพานี (State Grid Yantai Power Supply Company) ก่อนจะจ่ายไปยังบ้านเรือนของประชาชน

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ดำเนินการสอดประสานกับลักษณะเกษตรกรรมของท้องถิ่น มีจุดมุ่งหมายเพื่อการ ‘ผลิตไฟฟ้าบนแผงเซลล์ ปลูกพืชใต้แผงเซลล์’ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการบรรเทาความยากจนที่ผสมผสานการเกษตร และการผลิตไฟฟ้าผ่านการปลูกผักอินทรีย์ ผลไม้คุณภาพสูง หรือสมุนไพรจีน ในพื้นที่โครงการผลิตไฟฟ้า

สถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้มีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยปีละราว 70.22 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง สร้างรายได้สุทธิทางเศรษฐกิจแก่หมู่บ้านกว่า 500,000 หยวน (ราว 2.52 ล้านล้านบาท) และสร้างประโยชน์แก่ผู้คนกว่า 700 คน ขณะเดียวกันลดการใช้ถ่านหินมาตรฐานได้ 21,417.67 ตันในแต่ละปี และลดก๊าซอันตรายและการปล่อยไอเสียได้

ขณะนี้ กำลังการผลิตติดตั้งของการผลิตพลังงานสะอาดในเยียนไถอยู่ที่ 11.74 ล้านกิโลวัตต์ เป็นอันดับหนึ่งในมณฑลซานตง โดยคิดเป็นร้อยละ 54.49 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมดในซานตง

BYD ฟันยอดขายเดือน 8 พาผงาดอันดับ 4 ของโลก  เหตุ 'กระแสรถไฟฟ้าบูม-ส่งรถใหม่' สู่ตลาดต่อเนื่อง

(17 ต.ค.66) เว็บไซต์ CarNewChina.com ได้เปิดเผยว่า จากการรวบรวมยอดขายรถยนต์ใน 37 ตลาดใหญ่ของโลกในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก โดยนอกจากตลาดจะมียอดขายอยู่ที่ 5.55 ล้านคันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อแยกตามแบรนด์แล้ว จะพบว่า BYD ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีน สามารถทำยอดขายแซงหน้า Ford และ Hyundai ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกสำหรับยอดขายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการเปิดเผยยอดขายในเชิงตัวเลขออกมา แต่ระบุว่าเป็นการวัดจากส่วนแบ่งยอดขายที่เกิดขึ้นในเดือนนั้นๆ โดย BYD ทำตัวเลขของส่วนแบ่งทางตลาดอยู่ที่ 4.8% เหนือจากเจ้าของเดิมอย่าง Hyundai และ Ford อยู่ที่ 0.5 และ 0.6% ตามลำดับ และเบียดกับอันดับ 3 คือ Honda ด้วยตัวเลขที่ห่างกันเพียง 0.1% เท่านั้น

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ BYD สามารถทำยอดขายในเดือนสิงหาคมได้นั้น เป็นผลมาจากความต้องการรถยนต์พลังไฟฟ้าในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ BYD เองเริ่มส่งผลผลิตใหม่ๆ ของตัวเองออกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงการขยายตลาดออกสู่ประเทศต่างๆ ซึ่งช่วยทำให้ยอดขายในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมถึง 5% สวนทางตลาดรถยนต์ในจีนที่กำลังประสบปัญหาในเรื่องยอดขายที่ไม่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลความต้องการที่ลดลง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อ BYD

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนก็ยังเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่ง และทาง BYD พยายามที่รุกตลาดอยู่แล้วด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีความคุ้มค่าออกสู่ตลาด เมื่อความต้องการ 2 ส่วนมาสอดคล้องกันก็เลยทำให้เกิดตัวเลขยอดขายที่ดีขึ้น และยังต้องดูและติดตามถึงความคงที่ในเรื่องของการสร้างยอดขายของแบรนด์กันต่อไปว่า BYD จะยังรักษาตัวเลขของการเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน หากมองในเรื่องของ The Most Valuable Car Company หรือบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงสุดนั้น BYD กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่ได้รับการประเมินและมีตัวเลขในส่วนนี้ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดสามารถแซง Volkswagen ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 3 ของโลก ต่อจาก Tesla และ Toyota ที่อยู่ในอันดับ 1 และ 2 โดยเป็นบริษัทรถยนต์จีนเพียงรายเดียวในท็อปเท็นลิสต์

สำหรับ BYD ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 ในฐานะผู้ผลิตแบตเตอรี่และเข้าสู่ตลาดรถยนต์ในปี 2003 ซึ่งตอนนั้นพวกเขามีรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นทางเลือกที่มีอยู่ในตลาด ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ซึ่งในปัจจุบันพวกเขาเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายสูงสุดในจีน

ปัจจุบัน BYD เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนเพียงรายเดียวที่ติดอันดับ 10 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกตามมูลค่าตลาด ผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่รายอื่นๆ ที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ได้แก่ Li Auto, Nio และ Xpeng แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ได้เพิ่มพวกเขาเข้าไปในรายการ 'การเพิกถอนก่อนจดทะเบียน' พร้อมด้วยอีกกว่า 80 รายจากบริษัทจีน สิ่งนี้ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ใช้มาตรการตอบโต้ เช่น Nio เปลี่ยนไปจดทะเบียนในสิงคโปร์แทน

'Qualcomm' จ่อปลดพนักงาน 1,258 ตำแหน่ง  เซ่น 'รายได้หด-หัวเว่ยหนีซบพันธมิตรในท้องถิ่น'

(17 ต.ค. 66) สื่อต่างประเทศ รายงานว่า ควอลคอมม์ (Qualcomm) บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ สัญชาติอเมริกา เตรียมจะปลดพนักงานประมาณ 1,258 คน ในสำนักงาน 2 แห่งในแคลิฟอร์เนีย ตามเอกสารที่ยื่นกับแผนกพัฒนาการจ้างงานของรัฐแคลิฟอร์เนีย

ทั้งนี้ บริษัทมีพนักงานประมาณ 51,000 คน ณ เดือนกันยายน 2565 ตามเอกสารการเงินประจำปีครั้งล่าสุด ดังนั้นจำนวนนี้ จึงถือเป็น 2.5% ของพนักงาน สาเหตุหลักของการลดตำแหน่งงานคือ รายได้ลดลงหลังจากธุรกิจชิปที่ซบเซาในไตรมาสที่ 3 ของบริษัท

ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายนี้ แจ้งกับรัฐว่า จะเลิกจ้างพนักงานในซานดิเอโกประมาณ 1,064 คน และพนักงานในซานตาคลารา 194 คน จะมีผล 13 ธันวาคม ทั้ง 2 แห่ง

ควอลคอมม์ ระบุกับ ซีเอ็นบีซี ว่า บริษัทชี้ไปที่รายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุด โดยระบุว่า คาดว่าจะมีการลดจำนวนสถานที่ทำงานและค่าธรรมเนียมในการปรับโครงสร้าง

เมื่อเดือนที่แล้ว นักวิเคราะห์ หมิงชื่อ กัว เปิดเผยว่าควอลคอมม์ อาจสูญเสียลูกค้ารายใหญ่เมื่อเผชิญหน้ากับหัวเว่ย ผู้ผลิตชาวจีนซื้อ SoC มากกว่า 40 ล้านตัวในปี 2566 แต่กำลังเปลี่ยนไปสู่พันธมิตรในท้องถิ่นในปี 2567 และต่อ ๆ ไป

‘UNSC’ ตีตกข้อเสนอ ‘รัสเซีย’ ไม่ผ่านมติหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม หลังเรียกร้องให้ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ปล่อยตัวประกัน-อพยพ ปชช.

(17 ต.ค. 66) จากกรณีที่รัสเซียยื่นร่างข้อเสนอ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 ซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวตัวประกัน การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือนที่ต้องการอย่างปลอดภัย ในพื้นที่ฉนวนกาซา ระหว่างการสู้รบของกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส เข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) นั้น ล่าสุด มติดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม

รายงานข่าว Russia push for UN Security Council action on Israel, Gaza fails จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ในการประชุม UNSC เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา มติซึ่งต้องการคะแนนเสียงขั้นต่ำ 9 จากกลุ่มสมาชิก 15 ชาติ ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเพียง 5 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top