Friday, 19 April 2024
WORLD

‘ไบเดน’ จ่อขอสภาฯ อนุมัติงบเสริมแกร่งกองทัพ ‘อิสราเอล’ ชี้!! เพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาด

(20 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว Biden to seek billions in military aid for Israel as invasion of Gaza nears ระบุว่า ในการปราศรัยของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ต.ค. 66 ตนจะขอให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการสนับสนุนอิสราเอล เพื่อเสริมขีดความสามารถของกองทัพอิสราเอลให้แข็งแกร่งขึ้น โดยย้ำว่า เพื่อรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯ จำเป็นต้องสนับสนุนพันธมิตรที่สำคัญอย่างอิสราเอล นี่เป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดที่จะจ่ายผลตอบแทนให้กับสหรัฐฯ ไปอีกหลายชั่วอายุคน

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า หากคำขอของไบเดนได้รับการอนุมัติงบประมาณด้านนี้ของสหรัฐฯ จะมีมูลค่ารวมถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท อีกด้านหนึ่ง บนพื้นดินในฉนวนกาซา ดูเหมือนว่าอิสราเอลกำลังเข้าใกล้การเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดิน บุกเข้าสู่ฉนวนกาซาเต็มรูปแบบที่ปกครองโดยกลุ่มฮามาส ซึ่งปัจจุบันกองทัพอิสราเอลระดมกำลังพลและยุทโธปกรณ์อยู่บริเวณใกล้ชายแดนฉนวนกาซา 

โดย โยฟ กัลลันท์ (Yoav Gallant) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล กล่าวกับทหารอิสราเอล เมื่อวันที่ 19 ต.ค.66 ว่า ตอนนี้เราเห็นฉนวนกาซาจากระยะไกล แต่อีกไม่นานเราจะเห็นมันจากด้านใน คำสั่งกำลังจะตามมาในเร็ว ๆ นี้

อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาด้วยการโจมตีทางอากาศหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 ที่นักรบของกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล ซึ่งคร่าชีวิตชาวอิสราเอลไป 1,400 ราย อีกทั้งยังปิดล้อมฉนวนกาซาประชาชน 2.3 ล้านคนและส่งสัญญาณการบุกภาคพื้นดินเต็มรูปแบบ พลเรือนในฉนวนกาซากล่าวว่าสถานการณ์ของพวกเขาสิ้นหวังมากขึ้น เนื่องจากขาดแคลนอาหาร น้ำ เชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์ มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 3,500 ราย และอีกกว่าล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขปาเลสไตน์ ด้าน อัยมาน ซาฟาดี (Ayman Safadi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจอร์แดน กล่าวว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในระหว่างการเยือนอิสราเอลเป็นเวลา 8 ชั่วโมงเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 ไบเดนพยายามทำข้อตกลงเพื่อขอความช่วยเหลือในฉนวนกาซา แต่ประสบความสำเร็จอย่างจำกัด เขากล่าวว่าอิสราเอลและอียิปต์เห็นพ้องกันว่ารถบรรทุก 20 คันพร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์สามารถข้ามเข้าไปในเขตนี้ได้ ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของอียิปต์ 2 รายกล่าวว่า อุปกรณ์ถูกส่งไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ผ่านการข้ามพรมแดนเพื่อซ่อมแซมถนนในฝั่งฉนวนกาซา ท่ามกลางรถบรรทุกมากกว่า 100 คันยังกำลังจอดรออยู่ในอียิปต์ ด่านดังกล่าวปิดตั้งแต่อิสราเอลเริ่มโจมตีในฝั่งปาเลสไตน์

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เดวิด แซทเทอร์ฟิลด์ (David Satterfield) ทูตพิเศษสหรัฐฯ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานด้านประเด็นด้านมนุษยธรรมในตะวันออกกลาง ยังคงเจรจากับทางการอิสราเอลและอียิปต์ ในเรื่องของรูปแบบที่แน่นอนในการส่งมอบความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันประสบความล่าช้า ขณะที่อิสราเอลเรียกร้องการรับรองว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสไม่สามารถควบคุมสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้

องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ความช่วยเหลือเร่งกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดความขัดแย้ง ซึ่งปกติแล้วจะมีรถบรรทุก 100 คันต่อวันลำเลียงสิ่งของไปช่วยเหลือชาวกาซา โดยมีรายงานว่า วันที่ 20 ต.ค. 66 อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ จะเดินทางไปเยือนด่านพรมแดนราฟาห์ จุดเชื่อมระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ กิลาด เออร์ดาน (Gilad Erdan) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ กล่าวในการชุมนุมในนิวยอร์ก ตำหนิว่า เลขาธิการใหญ่ UN ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ก่อการร้าย

ขณะเดียวกัน เหตุระเบิดในโรงพยาบาลในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 สร้างความโกรธเคืองแก่โลกอาหรับ และการรุกรานภาคพื้นดินของอิสราเอลที่คาดการณ์ไว้ เพิ่มความหวาดกลัวว่าความขัดแย้งจะขยายวงออกไป ชาวปาเลสไตน์กล่าวโทษการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลว่าเป็นต้นเหตุของเหตุระเบิดในโรงพยาบาล แต่อิสราเอลกล่าวว่ามีสาเหตุมาจากการยิงจรวดที่ล้มเหลวโดยกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอล

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ลำหนึ่งสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธร่อน 3 ลูก และโดรนหลายลำที่กลุ่มติดอาวุธฮูตียิงมาจากประเทศเยเมน ซึ่งคาดว่ามีเป้าหมายมุ่งหน้าสู่อิสราเอล โดยกลุ่มฮูตีนั้นเหมือนกับกลุ่มฮามาสที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ในวันเดียวกัน กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งเป็นพันธมิตรอีกรายหนึ่งของอิหร่าน เปิดเผยว่าา ได้ยิงจรวดใส่ที่มั่นของอิสราเอลในหมู่บ้านมานารา และดึงการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของอิสราเอล เพื่อตอบโต้หลังจากความรุนแรงบริเวณชายแดนเพิ่มความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 17 ปี

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของเลบานอน และกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ให้ข้อมูลตรงกันว่า เหตุปะทะระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ บริเวณชายแดนเลบานอน-อิสราเอล เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 มีพลเรือนเสียชีวิต 1 ราย ขณะที่กองทัพเลบานอน กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผู้สื่อข่าวชาวเลบานอนเสียชีวิต 1 ราย โดยอ้างว่ามาจากการโจมตีของอิสราเอล นอกจากนั้นยังมีสื่อมวลชน 7 คน ติดอยู่ในวงล้อม และประสานให้กองกำลังของ UN เข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่ฝ่ายอิสราเอล ชี้แจงว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ท่ามกลางความกังวลว่าเวสต์แบงก์ ดินแดนเชื่อมต่อระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน อาจกลายเป็นแนวรบที่ 3 ในสงครามที่กว้างขึ้น ชาวปาเลสไตน์ 13 คนถูกสังหารในการปะทะกับกองกำลังอิสราเอลในค่ายผู้ลี้ภัยนูร์ชามส์ในเมืองทูลคาร์ม ฝั่งตะวันตก ตามรายงานเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 โดยสภาเสี้ยววงเดือนแดง (สภากาชาด) ปาเลสไตน์ ด้าน อาบู โอเบดา (Abu Obeida) โฆษกของกลุ่มฮามาส กล่าวว่า พวกตนได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามยืดเยื้อกับกองทัพอิสราเอล และเรียกร้องให้ผู้คนในประเทศอาหรับและมุสลิมประท้วงต่อต้านอิสราเอล.

นสพ.The Guardian ของอังกฤษ เสนอข่าว New York’s Jewish community rallies for release of Israeli hostages: ‘They should be on the front page’ ระบุว่า ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 19 ต.ค. 66 ชุมชนชาวยิวได้รวมตัวกันบริเวณจตุรัสไทมส์ สแควร์ เรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกัน 203 คน ที่ถูกจับไปในเหตุการณ์กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล วันที่ 7 ต.ค. 66

การชุมนุมจัดโดยสภาอิสราเอล-อเมริกัน ดึงดูดผู้เข้าร่วมทางการเมือง เช่น ชัค ชูเมอร์ (Chuck Schumer) นักการเมืองพรรคเดโมแครต ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ และ เอริก อดัมส์ (Eric Adams) นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก ซึ่งที่เมืองนี้มีผู้นับถือศาสนายิวประมาณ 1.6 ล้านคน มากกว่าใน 2 เมืองของอิสราเอลอย่างเทลอาวีฟและเยรูซาเลมรวมกัน

ในการชุมนุมครั้งนี้ ทูตอิสราเอลประจำ UN ให้คำมั่นว่า จนกว่าที่ตัวประกันชาวอิสราเอลจะต้องได้กลับบ้าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และฉนวนกาซาจะไม่มีช่วงเวลาที่เงียบสงบ พร้อมกับ ยังตำหนิท่าทีของ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่มองข้ามความเจ็บปวดของชาวอิสราเอล ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไปเยือนด่านชายแดนราฟาห์ จุดเชื่อมต่อระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา ในวันที่ 20 ต.ค. 66 ว่า ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ก่อการร้ายที่ลักพาตัวคนที่เรารัก 

“หากเลขาธิการใส่ใจต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ตัวประกันของเราก็ต้องมีความสำคัญสูงสุดของเขา” เออร์ดาน กล่าว

‘สีจิ้นผิง’ พบปะ ‘นายกฯ ไทย’ ร่วมหารือความร่วมมือระหว่างประเทศ มุ่งเพิ่มมิติใหม่สู่ความสัมพันธ์ฉันครอบครัว พัฒนาเพื่ออนาคตร่วมกัน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานความคืบหน้า นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้พบปะหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 และเยือนจีนอย่างเป็นทางการ

นายสีจิ้นผิง กล่าวว่า จีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมาก

จีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” อย่างต่อเนื่อง และทำให้ข้อได้เปรียบของมิตรภาพอันยาวนาน เป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

นายสีจิ้นผิงกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดการก่อสร้าง ‘ทางรถไฟจีน-ไทย’ ขยับขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาสีเขียว และพลังงานใหม่ ตลอดจนเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยสำหรับการพัฒนาของสองประเทศ

นายสีจิ้นผิงเสริมว่า จีนยินดีแบ่งปันโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่ และการเปิดกว้างระดับสูงของจีน เพื่อเพิ่มพูนพลังเชิงบวกสู่การพัฒนาของเอเชีย

ด้านนายเศรษฐากล่าวว่า ไทยจะทำงานร่วมกับจีนเพื่อสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ไทยจะพยายามอย่างสุดกำลังในการรับรองความปลอดภัยของพลเมืองจีนในไทย และยินดีต้อนรับผู้ประกอบการชาวจีนเข้ามาลงทุน และพลเมืองจีนเดินทางเยือนไทย

อนึ่ง คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน รวมถึงช่ายฉีและหวังอี้ ได้เข้าร่วมการพบปะหารือครั้งนี้ด้วย

‘โนเกีย’ เตรียมปลดพนง.ล็อตใหญ่ 14,000 ตำแหน่ง หวังลดค่าใช้จ่ายในองค์กร หลังผลประกอบการดิ่งฮวบ

(19 ต.ค.66) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า บิ๊กเทคโนโลยีสารสนเทศ ‘โนเกีย’ (Nokia) เตรียมลดพนักงานครั้งใหญ่สูงสุด 14,000 ตำแหน่ง คิดเป็น 16% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ให้บริการในสหรัฐและยุโรปลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ลดลง ส่งผลกระทบต่อการสร้างรายได้ของบริษัท

ซึ่งการลดพนักงานครั้งนี้อาจช่วยให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรได้ 10-15% และคาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายในปี 2567 ได้ถึง 400 ล้านยูโร (ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท) และประหยัดเพิ่มอีก 300 ล้านยูโร (ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท) ในปี 2568

รายงานข่าวระบุว่า กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 ของ Nokia อยู่ที่ 424 ล้านยูโร (ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าการประมาณการของนักวิเคราะห์ที่ 545.2 ล้านยูโร (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)

นายเพ็กก้า ลุนด์มาร์ก (Pekka Lundmark) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nokia กล่าวในแถลงการณ์ของบริษัทว่า ยอดขายสุทธิในกลุ่มธุรกิจเครือข่ายมือถือลดลง 19% เนื่องจากในอินเดียมีการใช้โครงข่าย 5G ในระดับปานกลาง หมายความว่าการเติบโตทางธุรกิจไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวในอเมริกาเหนือได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ Nokia ต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างรายได้จากการที่ผู้ให้บริการในสหรัฐและยุโรปพยายามลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและการปรับสินค้าคงคลัง ซึ่งคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Ericsson AB ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าความอ่อนแอของตลาดจะยังอยู่ในไตรมาส 4/2566 และช่วงต่อ ๆ ไป

‘รองนายกฯ ไทย’ ยก ‘แผน BRI’ เป็นสุดยอดวิสัยทัศน์ระดับโลก เชื่อมต่อความเจริญ หนุนการค้า-ลงทุน เสริมแกร่ง ศก. ‘ไทย-จีน’

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่า ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ถือเป็นวิสัยทัศน์ระดับโลกอันชาญฉลาดที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนำพาความเจริญมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

นายปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ’ (BRF) ครั้งที่ 3 ว่าแผนริเริ่มฯ เป็นโครงการที่มีความชาญฉลาดมาก มีการมองไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาภูมิภาค และเพื่อให้โลกมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น พัฒนาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้สูงมาก

แผนริเริ่มฯ ได้ยกระดับการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคผ่านโครงการต่างๆ อย่าง ‘ทางรถไฟ’ ซึ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการขนส่งสินค้าอย่างราบรื่นตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจีน ลาว และไทย

“เราหวังจะเสริมสร้างการเชื่อมต่อกับมาเลเซียและสิงคโปร์เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเหล่านี้ในด้านการค้า การลงทุน และสำคัญที่สุดคือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน” นายปานปรีย์กล่าว พร้อมชี้ว่า จีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนมากมายในสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน นายปานปรีย์กล่าวว่า ประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เวลานี้เศรษฐกิจจีนจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นกลับมาได้ในสภาพที่ปกติ เพื่อนบ้านหรือภูมิภาคที่อยู่ใกล้จีน ก็สามารถค้าขายกับจีนได้อย่างเป็นปกติเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การค้าในภูมิภาคของเอเชียมีความแข็งแรงทั้งหมด

“ในมุมมองผม ก็ยังมองเศรษฐกิจของจีนในด้านดีและด้านบวก” นายปานปรีย์กล่าว

สำหรับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยและจีนนั้นหยั่งรากลึก โดยนอกจากการค้าและการลงทุนแล้ว ความร่วมมือทวิภาคียังครอบคลุมด้านอื่นๆ เช่น ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม ขณะการทำงานร่วมกันมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการเกื้อหนุนห่วงโซ่อุปทานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยในปี 2022 อยู่ที่ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้า โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย

นายปานปรีย์ กล่าวว่า จีนเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ ไทยได้ดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเยือนไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

สำหรับการพัฒนาระดับภูมิภาค นายปานปรีย์กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่แข็งแรงจะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย ในหลากหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน และความมั่นคงของภูมิภาค

“ความสัมพันธ์นี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งอาเซียนและจีน” นายปานปรีย์กล่าว

"อยากให้ชาวบ้านได้กินเนื้อสัตว์จนพอใจ" แรงบันดาลใจ ‘สี จิ้นผิง’ สู่หัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบ ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’

เมื่อวานนี้ 17 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ห้วงยามนี้ทุกสายตาพากันจับจ้อง ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ และนักวิชาการจากทั่วทุกมุมโลก เข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ณ นครหลวงปักกิ่ง

แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) วิสัยทัศน์การพัฒนาระดับโลกอันเป็นเอกลักษณ์ของสี จิ้นผิง ได้กลายเป็นหนึ่งในสินค้าสาธารณะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก มอบโอกาสการพัฒนาแบบก้าวกระโดดแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การรวมตัว ณ กรุงปักกิ่ง จะส่งมอบโอกาสครั้งประวัติศาสตร์แก่หุ้นส่วนทั้งหมดของแผนริเริ่มฯ เพื่อต่อยอดผลสำเร็จอันโดดเด่นของแผนริเริ่มฯ และก้าวหน้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยสำนักข่าวซินหัวชวนร่วมทำความเข้าใจว่าเหตุใดสี จิ้นผิงจึงเสนอแนะแผนริเริ่มฯ อะไรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และสี จิ้นผิงมุ่งหวังบรรลุสิ่งใดด้วยแผนริเริ่มฯ นี้

>>กระตุ้นการพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก

เมื่อปลายทศวรรษ 1960 สี จิ้นผิงซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘เยาวชนผู้มีการศึกษา’ ถูกส่งไปยังชนบทเพื่อการ ‘เรียนรู้ใหม่’ และต้องประหลาดใจกับความท้าทายของการใช้ชีวิตในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ทั้งการนอนในบ้านถ้ำที่เต็มไปด้วยเห็บหมัด ตรากตรำทำงานหนักหลายชั่วโมง และต่อสู้กับความหิวโหย

"เราไม่มีเนื้อสัตว์กินกันนานหลายเดือน" สี จิ้นผิงเล่าย้อนถึงเรื่องราวเมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ขณะเดินทางเยือนเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐฯ ในฐานะประธานาธิบดีจีนในอีกหลายทศวรรษต่อมา "สิ่งหนึ่งที่ผมปรารถนามากที่สุดตอนนั้นคือการทำให้ชาวบ้านได้กินเนื้อสัตว์จนพอใจ"

รสชาติความยากจนอันขมปร่าตอกย้ำความเชื่อมั่นของสี จิ้นผิงว่า "การพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน" แต่จะทำได้อย่างไร?

สี จิ้นผิงมักหยิบยกสุภาษิตจีนอันโด่งดังอย่าง "ถนนมาก่อน ความเจริญรุ่งเรืองจึงจะตามมา" เพื่ออธิบายว่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสามารถกระตุ้นการพัฒนาได้อย่างไร และมองว่าการเปลี่ยนสายเคเบิลหรือซ่อมแซมถนน โดยเฉพาะพื้นที่ยากไร้บางแห่ง สามารถเปิดประตูสู่การบรรเทาความยากจนและความเจริญรุ่งเรืองของมวลชน

เมื่อครั้งสี จิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ จีนเพิ่งจะผงาดขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลกและเผชิญสารพัดความท้าทาย การเปิดประเทศถือเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ของจีนในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา และสี จิ้นผิงได้ยืนยันอีกครั้งถึงความทุ่มเทของจีนที่มีต่อการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

หวังอี้เหวย ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ กลายเป็นการออกแบบการปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนระดับสูงแบบใหม่ รวมถึงสะท้อนการเปิดกว้างระดับสูงยิ่งขึ้น และการแสวงหาการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง แผนริเริ่มฯ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของสี จิ้นผิงในการเปิดกว้างยิ่งขึ้น และมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมโยงความต้องการการพัฒนาอันเร่งด่วนที่สุดของโลกกับสิ่งที่จีนเชี่ยวชาญ นั่นคือสร้างถนนและสะพานเพื่อการเชื่อมโยงถึงกันยิ่งขึ้น

รายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 61.94 ล้านล้านบาท) ต่อปีจนถึงปี 2030 เพื่อรักษาทิศทางการเติบโต

นอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สมุดปกขาวว่าด้วยการพัฒนาแผนริเริ่มฯ ระบุว่าแผนริเริ่มฯ ยังเป็นแนวทางแก้ไขประเด็นปัญหาการพัฒนาระดับโลก ยามมนุษยชาติเผชิญความท้าทายอันน่าหวาดหวั่นจากการขาดดุลทางสันติภาพ การพัฒนา และธรรมาภิบาลในปัจจุบัน

สำหรับผู้นำจีนแล้ว จีนมิอาจพัฒนาโดยโดดเดี่ยวตนเองจากโลกได้ฉันใด โลกก็ต้องการจีนเพื่อการพัฒนาฉันนั้น ดังที่สี จิ้นผิงเคยกล่าวไว้ การดำเนินการตามแผนริเริ่มฯ ที่ตัวเขานำเสนอ "ไม่ได้หมายถึงการสละเวลาสร้างสิ่งที่ผู้อื่นเคยทำมาแล้วขึ้นมาใหม่" ทว่ามุ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาของนานาประเทศที่เกี่ยวข้องโดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของพวกเขา และมุ่งบรรลุการพัฒนาแบบแบ่งปันและได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มพลังการสื่อสารระหว่างอารยธรรม

สี จิ้นผิงนั้นถือเป็นคนรักการอ่านจนหนังสือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยนิสัยรักการอ่านทำให้สี จิ้นผิงรอบรู้เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทั้งตะวันออกและตะวันตก กลายเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจในแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระดับโลก

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2013 ขณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อมิร์ ติมูร์ ในกรุงทาชเคนต์ของอุซเบกิสถาน ระหว่างการเยือนเอเชียกลางครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีจีน มีแผนที่เส้นทางสายไหมโบราณฉบับหนึ่งได้ดึงดูดความสนใจจากสี จิ้นผิง

เส้นทางสายไหมโบราณนั้นเป็นมากกว่าเส้นทางการค้า เพราะการหมุนเวียนสินค้าผ่านเส้นทางนี้กระตุ้นการสื่อสารทางวัฒนธรรม โดยคลื่นคาราวาน นักเดินทาง นักวิชาการ และช่างฝีมือ ได้เดินทางระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตกในฐานะทูตวัฒนธรรม เชื่อมโยงแหล่งกำเนิดอารยธรรมอียิปต์ บาบิโลน อินเดีย และจีน รวมถึงหลายดินแดนศาสนาที่สำคัญ

"ประวัติศาสตร์เป็นครูที่ดีที่สุด" สี จิ้นผิงกล่าว พร้อมเสริมว่าการฟื้นฟูและสืบสานจิตวิญญาณแห่งเส้นทางสายไหม กอปรกับส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและระหว่างประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญของแผนริเริ่มฯ

"ขณะทำงานตามแผนริเริ่มฯ เราควรรับรองว่าเมื่อพูดถึงอารยธรรมที่แตกต่างกัน การแลกเปลี่ยนจะเข้าแทนที่ความเหินห่าง การร่วมเรียนรู้จะเข้าแทนที่การปะทะ และการอยู่ร่วมกันจะเข้าแทนที่ความรู้สึกเหนือกว่า สิ่งนี้จะเพิ่มพูนความเข้าใจ การเคารพ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างนานาประเทศ" สี จิ้นผิงกล่าวในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1

นั่นคือเหตุผลที่สี จิ้นผิงเสนอให้มีการจัดการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย (CDAC) และผลักดันแผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI) โดยสี จิ้นผิงกล่าวว่าเราควรรักษาพลวัตของอารยธรรม และสร้างเงื่อนไขอันเกื้อหนุนอารยธรรมอื่น ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองด้วย

>> จุดประกายแรงบันดาลใจเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น

"มนุษยชาติที่อาศัยอยู่บนโลกและในยุคสมัยเดียวกันกับที่ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงบรรจบ ได้กลายเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" สี จิ้นผิงกล่าวต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก ณ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมอสโกในปี 2013 ซึ่งถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของสี จิ้นผิงหลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน

สี จิ้นผิงนำเสนอการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติเป็นครั้งแรกระหว่างการเดินทางดังกล่าว แนวคิดนี้กลายเป็นหลักการพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศของจีน และอีกหลายเดือนต่อมา สี จิ้นผิงได้นำเสนอแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งถูกมองว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการทำให้วิสัยทัศน์ในการสร้างโลกที่ดีขึ้นของเขากลายเป็นความจริง

ห้วงยามที่บางประเทศตะวันตกอ้างสิ่งที่เรียกว่า ‘การลดความเสี่ยง’ (de-risking) มาบังหน้าการแยกตัว (decoupling) จากจีน โดยประเทศจีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิงยังคงยึดมั่นความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่ายและลัทธิพหุภาคีที่แท้จริง ซึ่งสี จิ้นผิงชี้ว่าการที่ผู้คนทั่วโลกมีชีวิตดีขึ้นเป็นหนทางเดียวที่จะค้ำจุนความเจริญ คุ้มครองความมั่นคง และปกป้องสิทธิมนุษยชน

สี จิ้นผิง ผู้ตระหนักดีว่ากลุ่มประเทศโลกซีกใต้ (Global South) ต้องการการพัฒนาเพิ่มขึ้น ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN) เสมอมา นำสู่การนำเสนอแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) ในปี 2021 และเรียกร้องประชาคมนานาชาติรับรองว่าทุกประเทศจะได้ร่วมสร้างความทันสมัย

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการค้าที่เพิ่มขึ้นจากความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะเพิ่มรายได้ที่แท้จริงทั่วโลกร้อยละ 0.7-2.9 และโครงการตามแผนริเริ่มฯ อาจช่วยนำพาผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง 7.6 ล้านคน

ส่วนรายงานจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) คาดการณ์ว่าแผนริเริ่มฯ มีแนวโน้มเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 258 ล้านล้านบาท) ต่อปีภายในปี 2040

พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ เป็นแผนริเริ่มระดับโลกที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล นำพาสันติภาพ ความร่วมมือ การพัฒนา และการแบ่งปันมาสู่โลก ลดความแตกต่างและความขัดแย้ง ทำให้ผู้คนหันมาแสวงหาการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวัฒนธรรม การค้า และการเดินทางท่องเที่ยว

"ผมมีโอกาสพบปะกับผู้นำของหลายประเทศ ซึ่งในสายตาของผมแล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเป็นผู้นำที่มีความคิดกว้างไกล สุขุมลึกซึ้ง และมุ่งมั่นแน่วแน่" พินิจกล่าวทิ้งท้าย

‘X’ ลุยทดสอบเก็บค่าบริการผู้ใช้ใหม่ ‘อยากโพสต์–กดไลก์’ ต้องจ่าย หวังกำจัด ‘บอต-สแปม’ นำร่อง ‘นิวซีแลนด์-ฟิลิปปินส์’ ประเทศแรก

(18 ต.ค.66) สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ‘X’ (Twitter ในอดีต) เตรียมทดสอบการสมัครสมาชิกรูปแบบใหม่ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 37 บาท) สำหรับฟีเจอร์มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ข้อความใหม่ (ทวีต), รีโพสต์ (รีทวีต), โควตข้อความ, กดถูกใจ และบุ๊กมาร์ก

ทั้งนี้ การทดสอบดังกล่าวใช้ชื่อว่า ‘Not A Bot’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการต่อสู้กับบอต (bot-robot) และบัญชีที่เป็นสแปม โดยค่าธรรมเนียมจะต่างกันไปในแต่ละประเทศตามอัตราแลกเปลี่ยน และจะเปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ใช้ในนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ก่อน

โดยผู้ใช้ที่มีบัญชีอยู่แล้วจะไม่ได้รับผลกระทบจากการทดสอบในครั้งนี้ แต่ผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่งสมัครใช้งาน X จะสามารถดูและอ่านโพสต์ ดูวิดีโอ และติดตามบัญชีได้เท่านั้น หากไม่ได้ทำการสมัครสมาชิกในแพ็กเกจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ‘บอต’ เป็นปัญหาที่ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) เจ้าของแพลตฟอร์มคนปัจจุบันพยายามหาแนวทางการจัดการมาตลอด เช่น การจำกัดปริมาณการรับชมข้อความ และการปรับปรุงนโยบายการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) เพื่อยืนยันตัวตน เป็นต้น 

‘2 มหาเศรษฐีเชื้อสายยิว’ ประกาศงดให้ทุนสนับสนุน ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ อ้าง!! ผิดหวังต่อท่าทีของสถาบัน ปมสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 ‘เลส เว็กซ์เนอร์’ มหาเศรษฐีเชื้อสายยิวระดับพันล้าน และเป็นผู้ก่อตั้ง ‘วิกตอเรีย ซีเคร็ต’ (Victoria's Secret) บริษัทออกแบบและจำหน่ายชุดชั้นในระดับ Luxury ประกาศถอนเงินทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ

‘มูลนิธิเว็กซ์เนอร์’ ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนชาวยิว ก่อตั้งโดย ‘เลส เว็กซ์เนอร์’ เอง มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้แจงว่า การตัดสินใจดังกล่าวสืบเนื่องมาจากท่าทีของมหาวิทยาลัย ที่แสดงออกต่อการโจมตีพลเรือนอิสราเอลของกลุ่มฮามาส

ขณะเดียวกัน กลุ่มนักลงทุน ผู้บริหารและผู้บริจาครายสำคัญ ๆ ของสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยในกลุ่ม ‘ไอวีลีก’ แสดงท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น ในการสนับสนุนอิสราเอลและประณามพฤติกรรมต่อต้านชาวยิว

ในแถลงการณ์ของมูลนิธิเว็กซ์เนอร์ ที่มีผู้นำไปโพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ได้กล่าวหาว่า กลุ่มผู้บริหารของ ‘ฮาร์วาร์ด’ นั้น แสดงท่าทีที่ ‘คลุมเครือ’ และ ‘ผิวเผิน’ ต่อประเด็นการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ซึ่งทางมูลนิธิได้ยืนยันว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นของจริง โดยในแถลงการณ์ระบุว่า…

“เนื่องจากฮาร์วาร์ดไม่แสดงความชัดเจนในการเลือกข้างทางศีลธรรม มูลนิธิเว็กซ์เนอร์จึงขอประกาศว่าขอยุติความร่วมมือต่าง ๆ ที่เคยมีกับวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี เนื่องจากแนวทางและค่านิยมของแต่ละฝ่ายไม่สอดคล้องกัน”

ด้านโฆษกของวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดีก็ชี้แจงว่า ทางสถาบันยืนยันอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้าย และการบุกโจมตีพลเรือนอิสราเอลอย่างโหดเหี้ยมของกลุ่มหัวรุนแรงฮามาส อย่างไรก็ตาม วิทยาลัยก็ขอแสดงความขอบคุณมูลนิธิเว็กซ์เนอร์ ที่ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่สถาบันมาตลอด

‘ดัก เอลเมนดอร์ฟ’ คณบดีของวิทยาลัยออกแถลงการณ์กล่าวประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาส แต่ก็แสดงความกังวลเรื่องที่มีการข่มขู่ คำพูดแสดงความเกลียดชัง การกลั่นแกล้งออนไลน์และพฤติกรรมแสดงความบ้าคลั่งอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนใน ‘ชุมชนฮาร์วาร์ด’

ก่อนหน้ายุติความร่วมมือ มูลนิธิเว็กซ์เนอร์มอบทั้งทุนการศึกษาให้นักศึกษาจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดีมากว่า 3 ทศวรรษ และจัดให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิสราเอลเข้าอบรมด้านการบริหารจัดการและความเป็นผู้นำองค์กรจากทางสถาบัน

ด้าน ‘ไอแดน โอเฟอร์’ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยลำดับที่ 81 ของโลก เจ้าของบริษัทควอนตัม แปซิฟิก กรุ๊ป และผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในอิสราเอล พร้อม ‘บาเทีย โอเฟอร์’ ภรรยาของเขา ก็ถอนตัวออกจากคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี ซึ่งครอบครัวของเขามอบทุนการศึกษาแก่ทั้งชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ ให้เข้าเรียนที่นี่มาตั้งแต่ปี 2560

นอกจากนี้ สำนักข่าวของชุมชนชาวยิว ‘เดอะ มาร์เคอร์’ ยังระบุว่า สองสามีภรรยาโอเฟอร์ยังยกเลิกโครงการบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่สถาบันอีกด้วย

มีผู้แสดงความเห็นว่า การถอนตัวนี้อาจเป็นเพราะ ฮาร์วาร์ดปล่อยให้มีการแสดงออกอย่างอิสระจากกลุ่มนักศึกษาฝั่งปาเลสไตน์ โดย ‘คริสทีน เกย์’ อธิการบดีของฮาร์วาร์ด ชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยต่อการก่อการร้าย แต่ก็ไม่เห็นด้วยต่อการรังควานหรือข่มขู่ใคร โดยอ้างอิงจากพื้นฐานความเชื่อส่วนบุคคล

เกย์ ยังกล่าวว่า สถาบันยึดมั่นต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ซึ่งรวมถึงมุมมองที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วย หรือแสดงความอุกอาจจนดูเหมือนการล่วงละเมิด

ด้าน โอเฟอร์ แสดงความเห็นว่าคณะผู้บริหารของฮาร์วาร์ด ได้ทำลายความเชื่อมั่นในสถาบันของพวกเขาไปแล้ว ซึ่งทำให้พวกเขาไม่อาจทำใจสนับสนุนสถาบัน และชุมชนของมหาวิทยาลัยได้อีกต่อไป

ครอบครัวโอเฟอร์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ถึงเหตุผลที่พวกเขาถอนตัวออกจากการเป็นกรรมการบริหารของวิทยาลัยว่า สืบเนื่องมาจากท่าทีที่ไม่ชัดเจนของกลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนชาวอิสราเอล หลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในดินแดนอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งเจตนาที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘ไม่ยอมรับว่ากลุ่มฮามาสคือองค์การก่อการร้าย’

สองสามีภรรยาโอเฟอร์ระบุว่า ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จที่กระจายไปทั่วแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย สถาบันศึกษาชั้นนำของโลกเหล่านี้ จำเป็นต้องแสดงตัวอย่างชัดเจนว่า คิดเห็นอย่างไรในช่วงเวลาอันวิกฤติเช่นนี้

‘ตอลิบาน’ เข้าร่วมการประชุม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ที่กรุงปักกิ่ง ตอกย้ำมิตรภาพ ‘จีน-อัฟกานิสถาน’ หนุนค้าขายกับนานาชาติ-ฟื้น ศก.

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 ผู้แทนของรัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถาน คาดว่า จะเข้าร่วมการประชุมเวที ‘ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ’ (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ในกรุงปักกิ่ง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

บรรดาผู้เชี่ยวของจีนเชื่อว่า การมาปรากฏตัวของ ‘ตอลิบาน’ ในการประชุม ซึ่งเป็นเวทีระหว่างประเทศที่เปิดกว้างและครอบคลุมครั้งนี้ คือ ‘สิ่งตอกย้ำ’ ถึงความสัมพันธ์ที่กำลังเติบโตระหว่างจีนกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน และตอกย้ำการสนับสนุนของจีน ในการนำพาประเทศที่ยับเยินจากสงครามมาเข้าร่วมในประชาคมโลก

ตามรายงานสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งอ้างโฆษกกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอัฟกานิสถานนั้น ‘นายฮาจี นูรุดดิน อาซีซี’ (Haji Nooruddin Azizi) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม พร้อมคณะจะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยคาดว่า ผู้แทนรัฐบาลตอลิบานคณะนี้ ต้องการเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามายังอัฟกานิสถาน

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถานได้มีการหารือกับจีนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการทำเหมืองทองแดง และแผนการก่อสร้างถนนในภาคเหนือของอัฟกานิสถาน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางขนส่งกับจีนโดยตรง

‘นายจู หย่งเปียว’ ผู้อำนวยการศูนย์อัฟกานิสถานศึกษาของมหาวิทยาลัยหลันโจว ระบุว่า การเข้าร่วมการประชุมของตอลิบานเท่ากับเป็น ‘สปอตไลต์’ ฉายส่องความพยายามของจีน ในการเปิดเวทีให้รัฐบาลตอลิบานอัฟกานิสถานได้มีโอกาสคบค้าสมาคมกับนานาชาติมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยทั้งรัฐบาลตอลิบานและรัฐบาลชุดก่อนของอัฟกานิสถาน ซึ่งชาติตะวันตกหนุนหลัง ต่างก็ชื่นชอบความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เนื่องจากคาดหวังว่า จะดึงให้จีนมาลงทุนในโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในประเทศได้นั่นเอง

การประชุม BRF ครั้งที่ 3 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค. ในกรุงปักกิ่ง มีผู้แทนจากกว่า 130 ประเทศ และ 30 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม โดยคาดว่า BRF จะเป็นเวทีที่เน้นย้ำถึงความสำเร็จอันน่าทึ่งของการก่อสร้างเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ BRI

‘นายอิ้น กัง’ นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันตกและแอฟริกาศึกษาแห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน ระบุว่า บริษัทจีนบางรายกลับมาดำเนินโครงการในอัฟกานิสถานอีกครั้งตั้งแต่ปี 2565 เช่น การขุดเจาะน้ำมัน และคงจะดีมาก หากการประชุม BRF ครั้งนี้ มีความคืบหน้าในการหารือเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองแดงขนาดใหญ่ทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน และการกลับมาดำเนินความร่วมมือในโครงการอื่นๆ มากขึ้น

ประโยคชวนคิดจาก ‘สี จิ้นผิง’

ประโยคชวนคิดจาก ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ พิธีเปิดการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 

“เมื่อคุณมอบดอกกุหลาบให้ผู้อื่น กลิ่นหอมยังคงติดตรึงอยู่ที่มือคุณ”

'หุ้นชิปเมกา' ว้าวุ่น!! มูลค่าหายวับ 2.7 ล้านล้านบาท  หลังแบนส่งออกชิปจีนเข้ม ด้าน 'Nvidia' ติดร่างแห

(18 ต.ค.66) เพจเฟซบุ๊ก 'เดือดทะลักจุดแตก' โพสต์ข้อความถึงกรณีหุ้นชิปสหรัฐฯ วูบ หลังแบนส่งออกชิปให้กับจีน ว่า...

ดูจากดัชนี PHLX Semiconductor Sector ของตลาดวอลล์ สตรีท สหรัฐอเมริกานะครับ วัดอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ หรือว่า 'ชิป' น่ะเอง ปรากฏว่าหุ้นดิ่งจนมูลค่าหายวับ 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ทีแรกว่าจะไม่โพสต์แล้วนะครับ แบนแล้วแบนอีก แบนไม่รู้จบ ซึ่งก็แบนซ้ำๆ --- คนก็รู้ๆ อยู่แล้วว่าอเมริกา 'แบน' ห้ามส่งออกชิปขั้นสูงไปให้จีน

การแบนโน่นนิดนี่หน่อยเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้มีอันใดน่าประหลาดใจ ... แต่เห็นข่าวนี้มันกระเพื่อมตลาดหุ้นพอควร ก็ต้องโพสต์ครับ!!!

เรื่องใหญ่ยังไง? เดิมก็ 'แบน' อยู่แล้วนะครับ ชิปขั้นสูงสำหรับ AI และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อสกัดกั้นจีนมิให้ผงาดง้ำ

แต่ว่าตรงนี้ จะขยับเกณฑ์ความสูงลงมาหน่อย --- ว่าง่ายๆ ก็คือ ชิปขั้นไม่ต้องสูงมากก็ต้องโดนไปด้วย

วงกว้างขึ้นว่างั้น

แล้วก่อนนี้ บริษัท Nvidia ของอเมริกาเอง ที่โดน 'แบน' ชิปรุ่น A100 และ รุ่น H100 นั้น ก็ 'แก้ลำ' ด้วยการออกรุ่น A800 และรุ่น H800 ซึ่งรองๆ ลงมา ผ่านเกณฑ์ที่ส่งออกไปให้จีนได้ (แล้วก็ยังดีพอจะถูไถสำหรับทำ AI แม้จะลดหลั่นลงมา) ... ปรากฏว่าล่าสุด อเมริกาก็รวบรุ่นที่ว่านี้เข้าไปด้วย

เสร็จเลยครับ

สำหรับ หุ้น Nvidia Corp. ร่วงลงมากที่สุดระหว่างวันถึง 7.8% ขณะที่ ณ เวลา 10.26 ตามเวลาประเทศไทยหุ้นชิปดังกล่าวลดลง 4.68% หรือ 21.57 ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 439.38 ดอลลาร์

‘Flash Coffee’ ร้านกาแฟสัญชาติอินโดฯ ปิดแล้วทุกสาขาในสิงคโปร์ ด้านใน ‘ไทย’ พบขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท หลังติดลบต่อเนื่อง 

เมื่อไม่นานนี้ ‘แฟลช คอฟฟี่’ (Flash Coffee) ร้านกาแฟสตาร์ตอัปสัญชาติอินโดนีเซีย ประเดิมสาขาแรกในบ้านเกิดเมื่อปี 2020 และสามารถขยายไปอีกหลายประเทศทั่วเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไทยที่มีสาขากระจายทั่วทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ล่าสุดสำนักข่าว ‘เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์’ (South China Morning Post) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดของ ‘แฟลช คอฟฟี่’ ในประเทศสิงคโปร์ว่า บริษัทปิดทำการร้านแฟรนไชส์ทุกสาขาในสิงคโปร์ทั้งหมดแล้ว โดยโฆษกของแบรนด์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของบริษัทจะไม่กระทบกับสาขาในประเทศอื่นๆ อาทิ สาขาในฮ่องกงที่ยังคงดำเนินกิจการตามปกติ พร้อมกันนี้ บริษัทจะยังคงเดินหน้าลงทุนและขยายตลาดในภาคส่วนอื่นๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวระบุถึงสาเหตุการถอนทัพจากสิงคโปร์ของ ‘แฟลช คอฟฟี่’ ว่า อาจมาจากสองประเด็นหลักๆ คือ ‘ภาระหนี้สินบริษัทที่เพิ่มขึ้น’ ส่งผลถึงการหยุดงานประท้วงของพนักงาน เนื่องจากการจ่ายเงินเดือนที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทว่า โฆษกของแฟลช คอฟฟี่ได้ออกมายืนยันภายหลังว่า พนักงานในสิงคโปร์ไม่ได้มีการนัดหยุดงานประท้วงแต่อย่างใด บาริสต้าและพนักงานในส่วนอื่นๆ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว เนื่องจากร้านค้ามีการหยุดดำเนินการไปก่อนหน้า

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการปิดตัวลงในสิงคโปร์ ‘แฟลช คอฟฟี่’ ได้ประกาศถอนตัวออกจากไต้หวันไปเมื่อเดือนมีนาคม 2566 รวมถึงสาขาในไทยที่มีการระบุบนเว็บไซต์ทางการว่า เปิดให้บริการกว่า 84 สาขานั้น ได้มีการทำการสำรวจข้อมูลแล้ว ล่าสุดบนแอปพลิเคชัน ‘แฟลช คอฟฟี่’ พบว่า ปัจจุบันมีสาขาเปิดบริการทั้งหมด 42 สาขา ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง หลังจากเข้ามาทำตลาดในไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563

สำหรับข้อมูลผลประกอบการของ ‘บริษัท แฟลช คอฟฟี่ ทีเอช จำกัด’ พบว่า ยังคงมีตัวเลข ‘ติดลบ’ ต่อเนื่องกันทั้งสองปี ดังนี้

- ปี 2563 : รายได้รวม 3.2 ล้านบาท ขาดทุน 8.5 ล้านบาท
- ปี 2564 : รายได้รวม 60 ล้านบาท ขาดทุน 100 ล้านบาท

‘นายกฯ มาเลเซีย’ ประกาศหนุน ‘กลุ่มฮามาส-ชาวปาเลสไตน์’ ลั่น!! พร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บรรเทาทุกข์เหยื่อสงคราม

นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ประกาศตัวชัดเจน ให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสและชาวปาเลสไตน์ แม้ต้องเผชิญแรงกดดันจากชาติตะวันตก พร้อมเรียกร้องอิสราเอลยุติการโจมตีฉนวนกาซา และเปิดพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีอย่างเป็นทางการของตนในโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและ X หรือทวิตเตอร์เดิม เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (17 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ประกาศยืนยันการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการทิ้งระเบิดโจมตีฉนวนกาซาทันที และจัดตั้งเขตปลอดภัยจากการสู้รบที่เมืองราฟาห์ ซึ่งมีจุดผ่านแดน ‘ด่านราฟาห์’ จากกาซาไปอียิปต์ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์
.
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) เขาโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายอิสมาอิล ฮานิเยะห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส เพื่อแสดงการสนับสนุนอย่างแน่วแน่ของมาเลเซียต่อชาวปาเลสไตน์

“เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายมากในฉนวนกาซา ผมจึงขอเรียกร้องให้ยุติการทิ้งระเบิดทันที พร้อมจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) (เขตปลอดภัยจากการสู้รบ ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือน) นอกพื้นที่สู้รบ ที่เมืองราฟาห์” นายอันวาร์ กล่าว

นายกฯ อันวาร์ยังเรียกร้องให้อิสราเอลละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการแย่งชิง (Politics of Dispossession) และดำเนินการตามสันติวิธีเพื่อยุติความขัดแย้งนี้

นอกจากนี้ นายอันวาร์ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอาหาร และยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความทุกข์ของเหยื่อจากการสู้รบนี้

ทางการมาเลเซียได้เปิดเผยว่า พวกเขาได้รับแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้ออกมาประณามการบุกโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ซึ่งนายกฯ อันวาร์ ก็ได้กล่าววานนี้ว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการกดดันจากชาติตะวันตก อีกทั้งมาเลเซียก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสมาตั้งนานแล้ว และประเทศจะคงความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสต่อไป

ทั้งนี้ มาเลเซียถือเป็นหนึ่งในชาติที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มฮามาส และให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์มาเป็นเวลานาน อีกทั้งมาเลเซียก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

ระเบิด 'โรงพยาบาลฉนวนกาซา' ดับครึ่งพัน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก 'ฮามาส' ชี้!! นี่คืออาชญากรรมสงคราม ฟากอิสราเอลปัดเอี่ยว

(18 ต.ค. 66) เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่โรงพยาบาลในฉนวนกาซาซึ่งเต็มไปด้วยผู้ได้รับบาดเจ็บรวมถึงชาวปาเลสไตน์อื่น ๆ ที่หาพี่พักพิงเพื่อหลบหนีความรุนแรง เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขกาซา ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 500 ราย

เหตุระเบิดโรงพยาบาลที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงครั้งนี้ เกิดขึ้นที่อัล-อะห์ลี ซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ในฉนวนกาซาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่เต็มไปด้วยชาวปาเลสไตน์จำนวนมากซึ่งพากันลี้ภัยไปอยู่ในโรงพยาบาล โดยหวังว่าพวกเขาจะรอดพ้นจากการทิ้งระเบิด หลังจากอิสราเอลได้สั่งให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองทั้งหมดรวมถึงพื้นที่โดยรอบทางตอนเหนืออพยพลงไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

ภาพวิดีโอที่ได้รับการยืนยันว่า มาจากโรงพยาบาลที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นเพลิงไหม้ลุกท่วมอาคาร ขณะที่บริเวณโรงพยาบาลเต็มไปด้วยศพผู้คนที่ฉีกขาดจากแรงระเบิด ผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นเพียงเด็กเล็ก ซึ่งรอบศพของพวกเขาที่อยู่บนพื้นหญ้ามีผ้าห่ม เป้สะพายหลังของโรงเรียน และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ กระจัดกระจายอยู่

หลังเกิดเหตุระเบิดทั้งรถพยาบาลและรถยนต์ส่วนตัวได้เร่งนำผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 350 คนไปยังโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักในฉนวนกาซาที่เต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บจากการโจมตีจากที่อื่นๆ อยู่แล้ว โดยสภาพภายในโรงพยาบาลผู้บาดเจ็บต่างนอนจมกองเลือดบนพื้นและกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด

ด้าน อิสราเอลและปาเลสไตน์ ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นฝ่ายยิงจรวดใส่โรงพยาบาลดังกล่าว โดยฮามาสอ้างว่าเป็นการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล และเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการสังหารหมู่ที่น่าสยดสยอง

ขณะที่ กองทัพอิสราเอล ก็กล่าวโทษว่าโรงพยาบาลถูกโจมตีจากจรวดที่ยิงพลาดเป้าของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตล์ ที่ได้ทำการยิงจรวดจำนวนมากใกล้กับโรงพยาบาลในขณะนั้น โดยอ้างข่าวกรองจากหลายแหล่งที่อิสราเอลมีในมือซึ่งบ่งชี้ว่า กลุ่มญิฮาดอิสลามเป็นผู้รับผิดชอบต่อการยิงจรวดที่ล้มเหลวครั้งนี้

ในเวลาต่อมาฝ่ายสื่อของรัฐบาลฮามาสได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การโจมตีโรงพยาบาลในฉนวนกาซาถือเป็นอาชญากรรมสงคราม เพราะโรงพยาบาลเป็นที่พักพิงของผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน รวมถึงผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากบ้านเรือนของตนเอง และขณะนี้มีเหยื่อหลายร้อยคนยังคงติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังของโรงพยาบาลดังกล่าว

ขณะที่โฆษกของกองทัพอิสราเอลไม่สามารถยืนยันได้ว่าพวกเขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้น หรือไม่โดยบอกเพียงว่ากำลังตรวจสอบอยู่

นอกจากเหตุโจมตีโรงพยาบาลแล้ว องค์กรบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยสำหรับขาวปาเลสไตน์ของยูเอ็นยังระบุด้วยว่า รถถังของอิสราเอลได้ยิงจรวดโจมตีโรงเรียนของยูเอ็นในตอนกลางของฉนวนกาซา ซึ่งมีชาวปาเลสไตน์ลี้ภัยอยู่ราว 4,000 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายและได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของยูเอ็นในพื้นที่ฉนวนกาซาอย่างน้อย 24 แห่งที่ถูกโจมตีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 14 ราย

‘นายกฯ เศรษฐา’ หวังเพิ่มความร่วมมือ BRI กับจีน ปั้น ‘โครงสร้างพื้นฐาน-พลังงานสีเขียว’ ดึงทุนใหญ่เข้าไทย

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว เผยบทสัมภาษณ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ระบุว่า แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ได้ส่งเสริมการร่วมสร้างการเชื่อมต่อระดับชาติ และไทยมุ่งหวังเสริมสร้างความร่วมมือกับจีนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสีเขียว รวมถึงขยับขยายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะสัมภาษณ์พิเศษก่อนเดินทางเยือนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในกรุงปักกิ่ง นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา แผนริเริ่มฯ ได้พัฒนาการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ และไทยหวังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังล้าหลังของประเทศผ่านความร่วมมือตามแผนริเริ่มฯ

“ถ้าไม่มีวิธีการขนส่งที่ทันสมัย ย่อมไม่สามารถหมุนเวียนสินค้าได้ดี” นายเศรษฐากล่าว โดยหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แล้ว เศรษฐาได้เดินทางเยือนจังหวัดหนองคายเพื่อตรวจสอบการเชื่อมต่อทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย และเผยว่าสถานะจุดเปลี่ยนผ่านของหนองคายบนทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย จะส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมาก

นายกฯ ให้สัมภาษณ์อีกว่า ไทยจะขยับขยายการเชื่อมต่อระหว่างทางรถไฟภายในประเทศกับทางรถไฟจีน-ลาว พร้อมกับเดินหน้าการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ยกระดับทางรถไฟที่มีอยู่เดิมและกระตุ้นการเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงปรับปรุงท่าอากาศยานและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการอำนวยความสะดวกอื่นๆ

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังมีสิ่งที่สามารถทำได้และควรทำให้สำเร็จอยู่อีกมาก” นายเศรษฐา กล่าว

ขณะเดียวกันการร่วมสร้างแผนริเริ่มฯ มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ โดยนายเศรษฐาสำทับว่าไทยหวังยกระดับการพัฒนาพลังงานสีเขียว ดึงดูดการลงทุนระดับสูงเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น และเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานสีเขียวภายใต้แผนริเริ่มฯ

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนที่กำลังเติบโต นายเศรษฐากล่าวว่า มีบริษัทจีนเข้าลงทุนและก่อสร้างโรงงานในไทยไม่น้อย ทำให้ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยไทยและจีนควรเสริมสร้างความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะสร้างงานในไทย รวมถึงยกระดับการผลิตและการส่งมอบยานยนต์

นอกจากนั้น นายเศรษฐา ยังแสดงความหวังว่าไทยและจีนจะเสริมสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยี โดยชี้ว่าการจัดตั้งโรงงานในไทย บริษัทจีนย่อมต้องนำทีมวิศวกรชั้นนำมาด้วย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ความก้าวหน้าของจีน ขณะเดียวกันหวังว่าบุคลากรของไทยจะมีโอกาสเดินทางไปฝึกอบรมที่จีนด้วย

ส่วนการดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นระยะเวลา 5 เดือน นายเศรษฐากล่าวว่า จีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดของไทย การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าจะเกื้อหนุนนักท่องเที่ยวชาวจีนมาไทย รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสองประเทศ วางรากฐานอันแข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือเพิ่มเติม

เมื่อเอ่ยถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน นายเศรษฐา เผยว่า ไทย-จีน มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยและหนึ่งในแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งเขาจะนำคณะผู้แทนชุดใหญ่ที่ร่วมเยือนจีนครั้งนี้เข้าหารือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการเกษตร การค้า การลงทุน และอื่นๆ

“ผมตั้งตารอการเดินทางเยือนครั้งนี้อย่างมาก” นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย

ส่องจุดยืนนานาชาติต่อสงคราม ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ภายใต้เสียงแบ่งขั้ว ที่มองทั่วๆ แล้ว มีมากกว่าปัญหาแก่งแย่งดินแดน

(17 ต.ค. 66) มีคำกล่าวว่า ต่อให้เราไม่ยุ่งกับการเมือง เดี๋ยวการเมืองก็จะมายุ่งกับเราเอง เช่นเดียวกันกับสงคราม ที่ต่อให้เราไม่ได้เป็นคนก่อ และไม่ใช่คู่กรณี แต่สุดท้ายก็จะถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

ไม่ต่างจากสงครามระหว่างอิสราเอล และ กองกำลังฮามาส ณ ขณะนี้ ที่ทั่วโลกกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในหลายประเทศ แม้ไม่ได้อยู่เขตพื้นที่สงครามแต่อย่างใด

ซึ่งต้องยอมรับว่าการโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา ถือเป็นการโจมตีชุมชนชาวอิสราเอลที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังถือเป็นหนึ่งในเหตุก่อการร้ายช็อกโลกที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน และทำให้ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ผู้นำอิสราเอลประกาศภาวะสงครามในอิสราเอลเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก ทำลายอาคาร บ้านเรือนย่อยยับ และทำให้ชาวปาเลสไตน์นับล้านพลัดถิ่นกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย

ท่ามกลางวิกฤติสงครามในฉนวนกาซา โลกก็ได้แบ่งขั้วเป็น 2 ฝั่ง โดยชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และอีกกว่า 40 ประเทศออกมาประณามกลุ่มก่อการร้ายฮามาส และสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล โดยมองว่าอิสราเอลมีความชอบธรรมตามกฎหมายในการป้องกันตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิมในตะวันออกกลาง นำโดย อิหร่าน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต ซีเรีย และอิรัก มองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีต้นเหตุเกิดจากอิสราเอล ที่สร้างความขัดแย้ง และความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ ในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา มานานนับ 10 ปี รวมถึงการก่อเหตุรุนแรงของทางการอิสราเอลในมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ ‘อัล-อัคซอร์’ และการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาที่ผ่านมา ได้สังหารชีวิตพลเรือนชาวปาเลสไตน์ไปเป็นจำนวนมาก และต้องไม่ลืมว่า การรุกไล่ที่ดิน และครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ของรัฐบาลอิสราเอลเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ทั้งนี้ ก็มีหลายชาติมหาอำนาจที่พยายามชูนโยบายสายกลาง โดยมองว่า ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาเลือกข้าง หรือประณามการกระทำของใครว่าเป็นฝ่ายผิดทั้งหมด ซึ่งกลุ่มพันธมิตรสายกลาง นำโดย จีน รัสเซีย ตุรกี กลุ่มประเทศสหภาพแอฟริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายลดความรุนแรงลง เพื่อสามารถถอยกลับไปสู่จุดที่สามารถเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพได้ และยังเชื่อว่า ‘การแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ (Two-state Solution) สามารถยุติความขัดแย้งได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ก็ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม

แต่หากมองมาทางฟากฝั่งเอเชียแปซิฟิก ก็จะพบว่าประเทศที่เป็นพันธมิตรอันดีกับสหรัฐอเมริกา มักแสดงท่าทีออกมาประณามกลุ่มฮามาส หรือสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งไทยด้วย แต่ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ มักเลือกที่จะสนับสนุนปาเลสไตน์ หรือ เลือกนโยบายเป็นกลางที่ประณามความรุนแรงจากทุกฝ่าย อาทิ เกาหลีเหนือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ในขณะที่ ประเทศในโซนอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก แสดงท่าทีไปในทางสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน แต่โซนอเมริกาใต้กลับเสียงแตก มีทั้งสนับสนุนอิสราเอล และขอยืนเป็นกลาง หรือประณามความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ส่วนกลุ่มทวีปแอฟริกาค่อนข้างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความรุนแรงในกาซา และไม่ขอออกตัวประณามกลุ่มฮามาสแต่เพียงฝ่ายเดียวด้วยเช่นกัน

เมื่อทั่วโลกมีความเห็นที่แตกต่างกันชัดเจน 2 กลุ่ม ความรุนแรงในกาซา จะยกระดับไปสู่สงครามตัวแทน หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่?

‘เจเรมี โบเวน’ ผู้สื่อข่าวนานาชาติ ของสำนักข่าว BBC มีความเห็นว่า สงครามครั้งนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหากมีการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก อาทิ อิหร่าน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน รวมถึง กองทัพสหรัฐฯ เช่นกัน และจำนำความเสียหายใหญ่หลวงมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลของชาติในตะวันออกกลางรู้ดี และเชื่อว่าไม่น่าจะชาติใดกล้าแบกรับความเสี่ยงนี้  ดังนั้น การสู้รบในฉนวนกาซาน่าจะถูกจำกัดวงไม่ให้กระจายออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มฮามาส ต้องการบรรลุเป้าหมายใดจากการใช้กำลังทหารโจมตีอิสราเอล แม้จะรู้ว่าเป็นการสงครามแบบอสมมาตร

เรื่องนี้ ‘โมฮัมเหม็ด อัล-เดอิฟ’ โฆษกกลุ่มฮามาส เคยออกมาประกาศว่า “ความอดทนสิ้นสุดแล้ว” ดังนั้น เหตุผลหลักของการขับเคลื่อนยุทธวิธีของกลุ่มฮามาส คือ ตอบโต้นโยบายกดขี่ของรัฐบาลอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ที่สั่งสมเป็นปัญหามานานหลายสิบปี

แต่ทั้งนี้ ‘อับดุลาซิส เซเกอร์’ หัวหน้าศูนย์วิจัย Gulf Research Center แห่งซาอุดีอาระเบีย มองว่า สิ่งที่ถือว่าฮามาสบรรลุเป้าหมายจากสถานการณ์นี้ คือ สามารถเปิดเผยจุดอ่อนด้านความมั่นคงของอิสราเอล และทัศนคติของรัฐบาลอิสราเอลที่มีต่อปาเลสไตน์อย่างหมดเปลือก

อีกทั้งยังทำให้ทั่วโลกหันกลับมามองปัญหาในดินแดนปาเลสไตน์ และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก แทนที่จะถูกมองเป็นประเด็นรองๆ หรือ ถูกลดทอนความสำคัญโดยสื่อตะวันตกอย่างที่แล้วมา ซึ่งนั่นทำให้ปัญหาด้านสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ถูกซุกไว้ใต้พรมที่เขียนด้วยคำสวยหรูว่า “แผนสันติภาพ” มาโดยตลอด

และทำให้วันนี้ มีการขุดคุ้ย ตีแผ่ ไล่เรียง ประวัติศาสตร์เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์ กันอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และมองสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยใจที่เป็นธรรมมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกข้าง หรือกล่าวประณามฝ่ายใด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top