Thursday, 2 May 2024
WORLD

‘สหรัฐฯ’ ชี้ เยาวชนในประเทศ 2.8 ล้านคน ใช้ ‘ยาสูบ’ เกลื่อน พบ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ หนักสุด เตรียมใช้มาตรการควบคุมมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (4 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ รายงานจำนวนนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายในประเทศที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรวมอยู่ที่ราว 2.8 ล้านคนในปี 2023 โดยบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในหมู่เยาวชนอเมริกัน

รายงานระบุว่า ร้อยละ 25.2 ของนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายในสหรัฐฯ ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวัน และร้อยละ 89.4 สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบปรุงแต่งรสชาติ โดยศูนย์ฯ เตือนว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบต่างๆ ของเยาวชนนั้นไม่ปลอดภัย

ศูนย์ฯ ระบุว่า การเฝ้าติดตามทางสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบแบบอ้างอิงหลักฐาน เช่น การเข้าช่วยเหลือเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ การรณรงค์ผ่านสื่อมวลชน ระเบียบข้อบังคับของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ และนโยบายป้องกันยาสูบที่ผ่านการพิสูจน์แล้วอื่นๆ อาจลดการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนได้

‘จีน’ พัฒนา ‘แท่นลอยน้ำ’ ผสมผสานพลังงานลมนอกชายฝั่ง ผันไฟฟ้าได้ 16 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี เอื้อฟาร์มเลี้ยงปลาในทะเลลึก

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฝูโจว รายงานข่าวการก่อสร้างแท่นลอยน้ำผสมผสานพลังงานลม-การประมงแห่งแรกของโลก ได้เสร็จสิ้นที่ฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งเกาะหนานรื่อ เมืองผูเถียน มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน เมื่อไม่นานนี้

รายงานระบุว่าโครงการแท่นลอยน้ำเชิงบูรณาการนี้ ช่วยแก้ไขความท้าทายทางเทคโนโลยีของการผสมผสานพลังงานลมนอกชายฝั่งและการเลี้ยงปลาในทะเลลึก ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานลมในทะเลหลวงของจีน

ทั้งนี้ แท่นลอยน้ำสามขาแบบกึ่งจมน้ำ (Semi-Submersible) ที่ดำเนินงานอย่างเป็นทางการ จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 16 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี

‘อิสราเอล’ ถล่มโรงเรียนในกาซา ปชช.ทั้งเด็ก-ผู้หญิง หนีตายระทึก พบผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย อ้าง!! เป็นฐานปฏิบัติการลับของกลุ่มฮามาส

(4 พ.ย. 66) จากเหตุโจมตีโดยอิสราเอล ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานโรงเรียนแห่งหนึ่งทางเหนือของกาซา เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บหลายสิบคน จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขที่บริหารงานโดยฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้ ในตอนเช้าวันเสาร์ (4 พ.ย.) แต่ฝ่ายอิสราเอลอ้างว่าโรงเรียนดังกล่าวถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการของพวกนักรบ

“พบผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บหลายสิบคน ที่ถูกส่งมาโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ในกาซา ซิตี หลังมีการเล็งเป้าหมายโดยตรงใส่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่อัล-ซาฟตาวี ทางเหนือของกาซา” กระทรวงสาธารณสุขกาซาแถลง “กระสุนปืนครกยิงจากรถถัง ตกใส่โรงเรียนซึ่งเป็นเป้าหมายโดยตรง”

สำนักข่าวสกายนิวส์ ได้ตรวจสอบวิดีโอ เป็นภาพที่เผยให้เห็นว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในโรงเรียน แต่ไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุได้ และเวลานี้กำลังรอถ้อยแถลงชี้แจงจากกองทัพอิสราเอล

ภาพในวิดีโอพบเห็นความตื่นตระหนกเกิดขึ้นทั่วจุดเกิดเหตุ บางส่วนพยายามวิ่งหนี ทั้งนี้พบเห็นชายคนหนึ่งเอามือกุมศีรษะในอารมณ์ช็อกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนผู้หญิงอีกคนพบเห็นกำลังคลุ้มคลั่งมอบไปรอบๆ เอามือปิดปากไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง

สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากมีการยิงระเบิดทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างหนักในช่วง 2 วันก่อนหน้านั้น

“ในวันเดียวกัน ค่ายพักพิงอีกแห่ง Beach Refugee Cam ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน มีรายงานเด็กเสียชีวิต 1 ราย ทั้ง 2 จุดต่างตั้งอยู่ในทางเหนือของฉนวนกาซา” ถ้อยแถลงระบุว่า “ลงไปทางใต้ โรงเรียน 2 แห่งที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวก็ถูกโจมตีเช่นกัน มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 31 ราย”

ที่ผ่านมา กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล อ้างความชอบธรรมในการโจมตีอาคารต่างๆ อย่างเช่นโรงพยาบาล โรงเรียนและสุเหร่าในกาซา โดยอ้างว่า ฮามาสใช้สถานที่แห่งนี้สำหรับจุดประสงค์ในด้านปฏิบัติการ

เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนในวันเสาร์ (4 พ.ย.) เกิดขึ้นไม่นาน หลังจากปฏิบัติการทางอากาศของอิสราเอลโจมตีใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งกำลังอพยพผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากทางเหนือของกาซาที่ถูกปิดล้อม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บ 60 คนในวันศุกร์ (3 พ.ย.)

กองทัพอิสราเอลรุดชี้แจงว่า พวกเขาตรวจพบและโจมตีเข้าใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งถูกใช้งานโดยเครือข่ายก่อการร้ายฮามาสในเขตสู้รบ กองทัพบอกว่าพวกนักรบฮามาสถูกปลิดชีพในเหตุโจมตีดังกล่าว พร้อมกับกล่าวหาว่ากลุ่มนักรบกำลังใช้รถฉุกเฉินคันดังกล่าว ลำเลียงกำลังพลและอาวุธ

นอกจากนี้ เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนยังเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจากอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเมืองจาบาเลีย ทางเหนือของกาซา ซิตี สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 195 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกมาเตือนว่า การกระทำของกองทัพอิสราเอลครั้งนี้อาจเข้าข่ายเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’

ย้อนอดีตการยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศอิหร่าน เมื่อ ‘เตหะราน’ เชื่อ ‘สหรัฐฯ’ กำลังเข้ามาแทรกแซง ปท.

มองต่างมุม ‘กรณีการยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน’

การยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน ของนักศึกษาอิหร่าน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 นั้น รัฐบาลสหรัฐฯได้ยืนยันว่า กิจกรรมของสถานทูตสหรัฐฯในอิหร่านเป็นเรื่องปกติ โดยอธิบายว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิหร่านที่ยึดสถานทูตว่าไร้เหตุผลและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ อ้างตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในอนุสัญญาเวียนนาปี 1963 มีข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสถานทูตต่างประเทศ และเอกสิทธิ์คุ้มครองของสถานทูตต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม อนุสัญญายังได้ระบุด้วยว่า เมื่อสถานทูตของประเทศใดที่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองนี้ จะต้องปฏิบัติตามในสองประเด็นนี้ด้วย

อุปกรณ์สื่อสารภายในสถานสหรัฐฯซึ่งทางการอิหร่านเชื่อว่า 
มีขีดความสามารถในการดักฟังการสื่อสารของทางการอิหร่าน

ประเด็นแรกคือ การเคารพต่อกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านที่สถานทูตนั้น ๆ ตั้งอยู่ ดังนั้นแม้ว่า สถานทูตสหรัฐฯจะมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานทูตสหรัฐฯจะสามารถละเมิดกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านได้

Operation Eagle Claw ยุทธการกรงเล็บอินทรี เพื่อช่วยเหลือตัวประกันอเมริกัน
แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และกลับต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักแทน
อ่านได้ที่ https://www.facebook.com/doctoryothin/posts/pfbid0PS3swT2M1fRC5JnuEFE3APpDQjagekjPAf7XM8wMNo93ZX5Go2cv3VBad8rtvmJal

ประเด็นที่สองคือ เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศเจ้าบ้าน เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันได้ละเมิดประเด็นเหล่านี้ในอิหร่านมาหลายปีแล้ว (เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันยังคงปฏิบัติอยู่จนทุกวันนี้)

เริ่มจากประการแรกรัฐบาลสหรัฐฯให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในอิหร่าน ปี พ.ศ. 2496 จนเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลของอิหร่าน ประการต่อมา มีเอกสารหลายร้อยฉบับที่พิสูจน์ถึงการแทรกแซงกิจการภายในของอิหร่านโดยรัฐบาลสหรัฐฯ

แม้ว่า การยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่ขบวนการนักศึกษาอิหร่านเชื่อว่า อาคารนั้นไม่ใช่สถานทูตจริง ๆ เพราะกิจกรรมมากมายหลายอย่างในอาคารนั้นบ่งบอก และหลายคนเชื่อว่าหากไม่ยึดสถานทูตสหรัฐฯ อาจเกิดการรัฐประหารในอิหร่านขึ้นซ้ำอีก ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอเมริกันยังคงสนับสนุนชาห์ปาเลวีต่อ แม้หลังจากการล่มสลายของระบอบการปกครองของพระองค์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

‘เกาหลีใต้’ แจง!! ปมดรามา #แบนเที่ยวเกาหลี รับ ตม.บางคนอาจเข้มเกิน พร้อมเร่งหาทางแก้ปัญหาแรงงานผิด กม. ยัน!! ไม่ได้รังเกียจ ‘นทท.ไทย’

(4 พ.ย. 66) ตามที่มีข่าวกระแสแบนเที่ยวเกาหลีใต้ในสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากกรณีคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ใช้โอกาสการประชุมประจำปี ระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทยและเกาหลีใต้ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 หารือกับฝ่ายเกาหลีใต้ในประเด็นคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองเกาหลีใต้ และมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดของ ตม.เกาหลีใต้

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความกังวลต่อปัญหานี้ว่า ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก ที่ประสงค์ไปท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้อย่างบริสุทธิ์ใจ และกำลังกลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ที่อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ของชาวไทยในภาพใหญ่ได้

ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวแสดงความเสียใจที่ได้ทราบปัญหาดังกล่าว และไม่ประสงค์ให้ปัญหานี้มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวไทย รวมถึงต่อมิตรภาพที่ดีระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย และย้ำว่า เกาหลีใต้ไม่มีนโยบายที่จะปฏิเสธนักท่องเที่ยวไทยเข้าเมืองแต่อย่างใด โดยการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดอาจเป็นเรื่องความเข้มงวดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่ ตม.บางคน

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ยังชี้แจงด้วยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาคนไทยทำงานอย่างผิดกฎหมายซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และได้ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการทำงานอย่างผิดกฎหมาย เช่น ‘Voluntary departure programme’ หรือ โครงการให้ผู้ทำงานอย่างผิดกฎหมายสมัครใจไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ เพื่อให้ส่งกลับประเทศต้นทาง โดยไม่ต้องรับโทษและไม่ถูกขึ้นบัญชีดำในการเข้าประเทศเกาหลีใต้ในอนาคต

นอกจากนี้ ในปีนี้ เกาหลีใต้ได้เพิ่มโควตาแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ EPS (Employment Permit System) จำนวน 4,800 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับแรงงานจากไทย

ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย อาทิ ตม.เกาหลีใต้และกระทรวงแรงงานไทย อย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาทั้งสองด้านคือ การปฏิเสธคนไทยเข้าเมืองเกาหลีใต้ และการทำงานผิดกฎหมายของคนไทยในเกาหลีใต้ โดยได้สั่งการให้เร่งจัดการประชุมกลไกหารือด้านการกงสุลไทย-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 6 ที่เกาหลีใต้ เพื่อให้อธิบดีกรมการกงสุลนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่ายร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและโดยเร็วที่สุด

‘นครเดลี’ ของอินเดีย ประกาศสั่งปิดโรงเรียนทุกแห่งในเมือง 2 วัน หลังฝุ่นพิษ PM 2.5 พุ่งสูง กระทบชีวิต-สุขภาพ ปชช.กว่า 30 ล้านคน

(3 พ.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการของกรุงเดลี เขตขนาดใหญ่ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ได้มีการสั่งปิดโรงเรียนต่างๆ ทั่วเมืองหลวงทั้งหมดเป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากหมอกควันพิษที่แผ่ปกคลุมไปทั่วเมืองใหญ่แห่งนี้ ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ราว 30 ล้านคน

โดยจากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลี พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สูงกว่า 35 เท่าจากค่ามาตรฐานปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

‘นายอาร์วินด์ เกจรีวัล’ มุขมนตรีเดลี โพสต์บน X (ทวิตเตอร์) ว่า “จากระดับมลพิษที่สูงขึ้น โรงเรียนรัฐและเอกชนทั้งหมดจะยังคงปิดเรียนต่อไปอีก 2 วัน”

ด้านรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเดลี ยังได้เรียกประชุมฉุกเฉิน เพื่อทบทวนสถานการณ์หมอกควันพิษที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ กรุงเดลี ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยกลุ่มหมอกควันพิษที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการเผาพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ไอเสียรถยนต์และการปล่อยมลพิษของโรงงานรวมกัน

‘โรงเรียนภาคค่ำ’ สถานที่รวมตัว ‘พนักงานออฟฟิศเซี่ยงไฮ้’ ใช้เวลาหลังเลิกงาน เรียนรู้วัฒนธรรม-ดนตรี-ศิลปะของจีน

เมื่อวานนี้ (3 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลังจากถึงเวลาเลิกงาน เหล่าพนักงานออฟฟิศจำนวนมากในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีนต่างเร่งรีบไป ‘โรงเรียนภาคค่ำ’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาใช้เรียนรู้วิชาศิลปะหลากหลายแขนง นอกเหนือจากการเรียนรู้อ่านเขียนดังเช่นในอดีต

เครื่องดนตรีแบบดั้งเดิม การวาดภาพสีน้ำและหมึก อุปรากรปักกิ่ง และการสานไม้ไผ่ ล้วนแล้วแต่เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่หลักสูตรศิลปะจีนหลากหลายประเภท

การรวมกลุ่มคน 9-5 คนเพื่อมาโรงเรียนภาคค่ำกำลังกลายเป็นไลฟ์สไตล์ทันสมัยสำหรับหนุ่มสาวในเซี่ยงไฮ้

“โรงเรียนภาคค่ำแห่งนี้อยู่ใกล้บ้านมาก ๆ ค่ะ มันช่วยให้พนักงานออฟฟิศอย่างฉันได้เรียนชั้นเรียนเหล่านี้ด้วยราคาสมเหตุสมผล” หวัง นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว

คณะอาจารย์ในโรงเรียนภาคค่ำส่วนใหญ่มีประสบการณ์และอาจเป็นถึงศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น อาจารย์สอนอุปรากรปักกิ่งบางคนที่เป็นนักแสดงระดับชาติ ขณะชั้นเรียนงานฝีมือบางวิชาถูกสอนโดยผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

“ผมเริ่มสอนจงร่วน (เครื่องดนตรีสายประเภทหนึ่งของจีน) ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ผมเล่นเครื่องดนตรีหลายประเภทได้ดี เลยสอนกลองแอฟริกัน อูคูเลเล่ และกีตาร์ในโรงเรียนภาคค่ำด้วย นักเรียนทั่วไปของที่นี่มีอายุ 18-50 ปี และส่วนใหญ่มีอายุ 25-35 ปี” หลิวอวิ๋นฉี อาจารย์ประจำโรงเรียนภาคค่ำกล่าว

การเข้าเรียนชั้นเรียนภาคค่ำซึ่งผสมผสานการศึกษาเข้ากับวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการสร้างความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีหนึ่งในการดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์และเข้าใจคุณค่าของมันด้วย

หลักสูตรที่ครอบคลุมหมวดหมู่ศิลปะมากกว่าสิบประเภท พร้อมด้วยเหล่าอาจารย์ผู้สอนระดับมืออาชีพ ทำให้โรงเรียนภาคค่ำในเซี่ยงไฮ้กำลังเป็นกระแสจนยากจะจับจองที่นั่ง โดยช่วงสูงสุดมีผู้ลงทะเบียนเพื่อจองเรียนออนไลน์พร้อมกันกว่า 650,000 คน

“ชาวเน็ตหลายคนบอกว่าโรงเรียนภาคค่ำกลายเป็น ‘ไนต์คลับ’ สำหรับพนักงานออฟฟิศในเซี่ยงไฮ้ไปแล้ว ผมคิดว่านอกเหนือจากการไปโรงหนัง บาร์ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอื่น ๆ พวกเราสามารถเลือกมาโรงเรียนภาคค่ำที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ด้วย ที่นี่พวกเราสามารถทำความรู้จักเพื่อนใหม่ไปพร้อมกับสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไปด้วย” หลิวบอกเล่า

“เซี่ยงไฮ้เป็นมหานครระดับนานาชาติ ผมเลยคิดว่าชั้นเรียนพวกนี้มีประโยชน์มาก ๆ ต่อการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงพวกเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมด้วยนะครับ” สวี นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว

‘แอมเนสตี้ฯ’ อัด ‘อิสราเอล’ ใช้อาวุธ ‘ฟอสฟอรัสขาว' ในกาซา ควรถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหา ‘ก่ออาชญากรรมสงคราม’

(3 พ.ย. 66) ‘โดนาเทลลา โรเวรา’ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการรับมือภาวะวิกฤตของ ‘แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล’ (Amnesty International หรือ Amnesty หรือ AI) เปิดเผยว่า ผลการสืบสวน 4 เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 และ 16-17 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งในฉนวนกาซาและเลบานอน พบว่าอิสราเอลใช้ ‘ฟอสฟอรัสขาว’ เป็นอาวุธในพื้นที่ชุมชน

“เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก่อความกังวลอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากฟอสฟอรัสขาวเคยถูกใช้โดยกองกำลังอิสราเอลในอดีต ซึ่งก่อผลกระทบเลวร้ายแก่ประชากรที่เป็นพลเรือน” โรเวราระบุ “มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้ในพื้นที่ที่มีพลเรือน มันไม่ใช่อาวุธต้องห้าม มันสามารถใช้ในสมรภูมิและกับกองกำลังต่างๆ สามารถใช้มันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันไม่ควรถูกใช้ในที่ที่มีพลเรือน” เธอบอกกับอัลจาซีราห์ “เราพบเห็นมีการใช้มันในกาซาและเลบานอน และมันไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก”

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ‘องค์การนิรโทษกรรมสากล’ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (31 ต.ค.) ที่ผ่านมา ว่ามีพลเรือนในทางภาคใต้ของเลบานอน ได้รับบาดเจ็บในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หลังกองทัพอิสราเอลใช้กระสุนปืนใหญ่ที่บรรจุฟอสฟอรัส กระสุนอันเป็นที่ถกเถียง ยิงเข้าใส่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายแดน

องค์กรแห่งนี้เปิดเผยว่าด้วยว่า มีการสืบสวนตรวจสอบกรณีตัวอย่างอื่นๆ ของความเป็นไปได้ที่กองทัพอิสราเอลทิ้งระเบิดฟอสฟอรัสขาวใส่พื้นที่ต่างๆ ตามแนวชายแดนเลบานอนในเดือนที่แล้ว แต่นิรโทษกรรมสากลบอกว่า ในกรณีเหล่านั้นไม่พบว่ามันก่ออันตรายแก่พลเรือน

ฟากทนายความด้านสิทธิมนุษยชน บอกว่า การใช้ฟอสฟอรัสขาวเป็นเรื่องผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ หากว่ามีการใช้สารเคมีร้อนสีขาวชนิดนี้ยิงเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม มันสามารถทำให้อาคารต่างๆ ไฟลุกไหม้และเผาไหม้ผิวหนังมนุษย์เหลือแต่กระดูก นอกจากนี้ พวกผู้รอดชีวิตก็อาจเสี่ยงติดเชื้อ อวัยวะหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว แม้ว่าถูกเผาไหม้เพียงแค่จุดเล็กๆ ก็ตาม

ทั้งนี้ หลังจากอิสราเอลโจมตีหมู่บ้านดูไฮรา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ทำบ้านเรือนและรถเกิดไฟลุกไหม้ มีพลเรือน 9 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ในอาการหายใจติดขัด องค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่า พวกเขามีภาพถ่ายที่ผ่านการยืนยันความถูกต้องแล้ว เป็นภาพที่กระสุนฟอสฟอรัสถูกวางเรียงอยู่ใกล้กับปืนใหญ่ของอิสราเอล ใกล้แนวชายแดนเลบานอน-อิสราเอล

องค์การนิรโทษกรรมสากลประณามเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการ “โจมตีแบบไม่เลือกหน้า” ที่ทำร้ายพลเรือน และควรถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม

‘ฝรั่ง’ เฉลย!! ทำไมต่างประเทศถึงไม่มีการ ‘เรียกพี่ เรียกน้อง’ เพราะ ‘วัยวุฒิ-อยู่บนโลกมานาน’ ไม่สำคัญเท่า ‘การกระทำ’

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 ผู้ใช้งานติ๊กต็อก ชื่อ ‘jpex.official’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอตอบกลับคอมเมนต์ที่เข้ามาถามว่า “ทำไมเพื่อนพ่อ หรือคนที่โตกว่าเรา ถึงเรียกเราว่าเป็นเพื่อนของเขาครับ? ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่าที่ต่างประเทศเขาเรียกกันแบบไหนครับ”

เจ้าของช่องจึงได้ตอบกลับคอมเมนต์ดังกล่าว โดยระบุว่า…

ทําไมฝรั่งถึงไม่มีคําว่า ‘พี่น้อง’?

วัฒนธรรม ‘พี่น้อง’ หรือว่าการเรียกผู้อื่นตามวัยวุฒินั้น จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่เรามักจะพบเห็นได้ในวัฒนธรรมของประเทศแถบเอเชียมากกว่าที่อื่นๆ เช่น ที่สหรัฐอเมริกา ไม่มีคําว่า “มาก่อนเรียก พี่ มาทีหลังเรียก น้อง” เพราะทุกคนเท่ากันหมด

วัฒนธรรมของฝรั่ง เขาจะตั้งคําถามว่า “ทําไมเราจะต้องเคารพใครบางคน เพียงเพราะว่าเขาอยู่บนโลกนี้มานานมากกว่าเรา?”

ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นวัฒนธรรมที่แฟร์ดีเหมือนกัน เพราะมันคือการวัดคนจากการกระทํา ไม่ได้วัดจากวัยวุฒิ

เพราะฉะนั้น เวลาผมไปอยู่ที่อเมริกา พ่อของเพื่อนผม ก็ถือว่าเป็นเพื่อนผม เด็กที่แคมป์ในอเมริกา ต่อให้เขาจะอายุแค่ 7-8 ขวบ ผมก็ถือว่าเขาเป็นเพื่อนผม หรือแม้แต่คุณลุงคนนึงที่ผมสนิทด้วยที่อเมริกา เขาก็คือเพื่อนผม

ซึ่งบางทีสิ่งเหล่านี้มันก็ชวนให้ผมตั้งคําถามว่า “ถ้าหากสังคมไทยของเรานั้น เลิกคิดถึงแต่เรื่องของวัยวุฒิ และหันมาให้ความสําคัญผู้อื่นโดยวัดจากการกระทํา หรือตัวตนจริง ๆ ของคนคนนั้น สังคมไทยของเรา จะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน?”

‘นักวิทย์จีน’ พัฒนา ‘แบตเตอรี่’ ชาร์จเร็ว 90% ภายใน 10 นาที!! ชี้ ประสิทธิภาพสูง-ทนทาน-คุ้มค่า เดินหน้าสายการผลิตเต็มสูบ

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. สำข่าวซินหัว, อู่ฮั่น รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จเร็ว ซึ่งสามารถทำให้ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือแตะ 90 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาเพียง 10 นาที

ผลการศึกษาจากวารสารเนเจอร์ เอ็นเนอจี (Nature Energy) เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่า แบตเตอรี่กราไฟต์นี้มีชั้นฟอสฟอรัสแบบบางพิเศษบนพื้นผิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนอินเทอร์เฟสอิเล็กโทรไลต์ของแข็งด้วยการนำไฟฟ้าของไอออนสูง

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง ได้ทดสอบแบตเตอรี่ชนิดเพาช์เซลล์ที่มีขั้วบวกกราไฟต์นี้ และพบความจุแบตเตอรี่แตะ 80 เปอร์เซ็นต์ใน 6 นาที และ 91.2 เปอร์เซ็นต์ใน 10 นาที

ผลการศึกษาเสริมว่า ความสามารถเก็บประจุของแบตเตอรี่นี้ยังคงอยู่ที่ 82.9 เปอร์เซ็นต์ในการชาร์จกว่า 2,000 รอบ ณ อัตราการชาร์จระยะ 6 นาที

คณะนักวิจัยเผยว่า การผลิตแบตเตอรี่ที่มีคุณสมบัติทางเคมีไฟฟ้าอันยอดเยี่ยมนี้ สามารถทำได้ง่ายและคุ้มทุน จึงมีศักยภาพทางการตลาดอย่างมาก

‘ผู้นำสูงสุดอิหร่าน’ ปลุกกลุ่มประเทศมุสลิม ร่วมกันบอยคอต ‘อิสราเอล’ ระงับการค้าทุกด้าน โต้ตอบสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

(2 พ.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ว่า ‘อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี’ ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าวเมื่อวันพุธ (1 พ.ย.) ที่ผ่านมา เรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของรัฐบาลในโลกมุสลิม ในการร่วมมือกันระงับการค้าขายกับ ‘รัฐไซออนิสต์’ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง อาหารและสินค้าจำเป็นอื่น

ขณะเดียวกัน คาเมเนอี กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ว่าเป็นประเทศ ‘ที่มีรัฐบาลต่อต้านปาเลสไตน์’

ด้าน พล.จ.เรซา การาอี อัชเตียนี รมว.กลาโหมอิหร่าน กล่าวว่า “บางประเทศในยุโรปที่ช่วยเหลืออิสราเอล ควรขับเคลื่อนนโยบายอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้สร้างความโกรธเคืองแก่ชาวมุสลิม”

ทั้งนี้ นายนาสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ถึงการที่ทหารอเมริกันในอิรักและซีเรีย ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางทหารโดยกองกำลังหลายกลุ่มบ่อยครั้งขึ้น เป็นผลจาก ‘นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลวอชิงตันที่ผิดพลาด’ หนึ่งในนั้น คือ การสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส

‘จีน-แทนซาเนีย’ ผนึกความร่วมมือ ปั้น ‘ศูนย์การค้า-ขนส่ง’ ครบวงจร หนุนเป็นศูนย์กลางการค้าข้ามพรมแดน โกยเงินสะพัดกว่าพันล้าน

(2 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานข่าว การสร้างเขตความร่วมมือด้านการบริการที่ครอบคลุมของนิคมอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ และการขนส่งแอฟริกาตะวันออกในประเทศแทนซาเนีย เป็นหนึ่งในรายการผลลัพธ์จากความร่วมมือเชิงปฏิบัติของการ ที่มีการเปิดเผยในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา

เขตความร่วมมือดังกล่าวลงทุนและพัฒนาในปี 2020 โดย ‘เวยไห่ หัวถ่าน ซัพพลาย เชน เมเนจเมนต์ จำกัด’ (Weihai Huatan Supply Chain Management Co., Ltd.) วิสาหกิจจากเมืองเว่ยไห่ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน โดยครอบคลุมพื้นที่รวม 109,700 ตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ในแอฟริกาตะวันออก (EACLC) ศูนย์นิทรรศการ 1 แห่ง คลังสินค้าหัวถ่านในต่างประเทศ 1 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดาร์เอสซาลาม ประเทศแทนซาเนีย และคลังสินค้าทัณฑ์บนและศูนย์ขนส่ง ณ สนามบินแซนซิบาร์ ในเกาะแซนซิบาร์ของแทนซาเนีย อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอีก 1 แห่งด้วย

จากโครงการทั้งหมดนี้ โครงการศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ในแอฟริกาตะวันออก ระยะที่ 1 ได้ให้การรองรับวิสาหกิจของจีนและแทนซาเนียแล้วมากกว่า 200 ราย และโครงการฯ ระยะที่ 2 ซึ่งมีกำหนดเปิดใช้งานในเดือนมีนาคมปี 2024 คาดว่าจะมีการตั้งถิ่นฐานของผู้ค้ากว่า 1,600 องค์กร หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ศูนย์แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแทนซาเนีย

3 ปีหลังจัดตั้ง เขตความร่วมมือดังกล่าวกลายเป็นโครงการความร่วมมือที่โดดเด่นระหว่างจีนและแทนซาเนีย โดยสามารถให้บริการที่ครอบคลุม อาทิ การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ นิทรรศการและการจัดแสดง คลังสินค้าในต่างประเทศ การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และห่วงโซ่อุปทานด้านการเงิน

ในปี 2022 เขตความร่วมมือฯ มีมูลค่าผลผลิตรวม 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.59 พันล้านบาท) หนุนให้เกิดการส่งออกสินค้าทั่วไปที่ผลิตในประเทศเป็นมูลค่ามากกว่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.77 พันล้านบาท)

ปัจจุบัน เขตความร่วมมือดังกล่าวเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจมากกว่า 230 ราย ในจำนวนนี้ 60 รายมาจากประเทศจีน สร้างตำแหน่งงานทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 2,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 5,000 ตำแหน่งหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ

‘ระเบิดฟองน้ำ’ ระเบิดเคมีชนิดฟองโฟม อาวุธลับของกองทัพอิสราเอล ใช้ปิดกั้นทางเข้า-ออกอุโมงค์ใต้ดินฉนวนกาซา สกัดเส้นทางกลุ่มฮามาส


ระเบิดฟองน้ำ (Sponge Bomb) จะทำลายกลุ่มฮามาสลงราบคาบได้หรือไม่?

กองทัพอิสราเอล (IDF) เตรียม ‘ระเบิดฟองน้ำ’ เป็นอาวุธปิดกั้นอุโมงค์ฉนวนกาซา ขณะที่กองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลเริ่มเข้าสู่ฉนวนกาซา การวิเคราะห์จำนวนมากที่เผยแพร่นับตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้ง ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่กองทัพอิสราเอลจะเผชิญในการรุกภาคพื้นดินในฉนวนกาซา คือ อุโมงค์ใต้ดินที่เรียกว่า ‘รถไฟใต้ดินของฉนวนกาซา’

อุโมงค์ใต้ดินเขาวงกตที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มฮามาสในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ใช้เพื่อเก็บจรวดและกระสุนปืน และช่วยให้สมาชิกกลุ่มฮามาสสามารถเคลื่อนที่ได้โดยไม่ถูกตรวจพบ เครือข่ายอุโมงค์เหล่านี้มีขนาดประมาณตั้งแต่ 40–80 เมตร และขยายออกไปกระทั่งหลายร้อยกิโลเมตร อุโมงค์เหล่านี้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มฮามาส และส่วนใหญ่อยู่ใต้พื้นที่พลเรือน

ภายในอุโมงค์ กลุ่มฮามาสเก็บสะสมอาวุธและสามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีของ IDF ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 กลุ่มฮามาสเริ่มสร้างอุโมงค์เหล่านี้ และสามารถสร้างเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อกลุ่มฮามาสเข้าควบคุมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ในปี 2006 


หนังสือพิมพ์ Telegraph ระบุว่า IDF กำลังพยายามใช้หุ่นยนต์และโดรนในอุโมงค์ เพื่อไม่ให้ทหารของตนตกอยู่ในอันตราย โดยสังเกตว่า จนถึงขณะนี้ยานพาหนะเหล่านี้ยังคงประสบปัญหาในการทำงานในอุโมงค์ใต้ดิน

สำหรับ ‘ระเบิดฟองน้ำ’ ได้รับการพัฒนาโดย IDF เพื่อจัดการกับสงครามอุโมงค์ของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา โดยเป็นอุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาเพื่อปิดกั้นอุโมงค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นระเบิดเคมีที่ไม่มีการระเบิด แต่จะสร้างฟองโฟมที่สามารถขยายและแข็งตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีขนาดเล็กพอที่จะใช้โดยทหารเพียงหนึ่งหรือสองคนในการติดตั้ง (คล้ายสเปรย์โฟมที่ใช้อุดรอยหลังคาหรือผนังอาคารบ้านเรือนที่ใช้กันทั่วไป)

ปกติแล้ว ‘ระเบิดฟองน้ำ’ จะถูกบรรจุอยู่ในภาชนะพลาสติก โดยมีแท่งโลหะกั้นเพื่อแยกของเหลว 2 ชนิดที่แตกต่างกัน เมื่อมีการใช้งานแท่งโลหะกั้นจะถูกดึงออก และทำให้ของเหลวผสมกันจนเกิดการขยายตัว กระทั่งสามารถปิดกั้นอุโมงค์เป้าหมายที่ต้องการได้


ในปี 2021 มีรายงานว่า IDF ได้ทำการทดสอบระเบิดฟองน้ำในอุโมงค์จำลอง ระหว่างการทดสอบระเบิดเหล่านี้ครั้งแรกพบว่า ‘สารเคมีเหลว’ (liquid emulsion) เป็นอันตรายหากใช้งานไม่อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ทหารอิสราเอลหลายนายถึงกับตาบอดมาแล้ว

เคยมีการใช้โฟมเหนียวทางการทหารเพื่อเป็นอาวุธทางเลือก โดยมีรายงานว่า กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ใช้โฟมเป็นอาวุธที่ไม่อันตรายถึงชีวิตในการควบคุมฝูงชน หรือควบคุมนักรบที่เป็นฝ่ายศัตรู การใช้ ‘ระเบิดฟองน้ำ’ ทำให้เกิดข้อกังวลด้านศีลธรรมเป็นอย่างมาก การกำหนดเป้าหมายในการทำลายอุโมงค์เหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อชีวิตของพลเรือน กลายเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนสำหรับ IDF ในการต่อต้านภัยคุกคามจากกลุ่มฮามาสโดยไม่ทำอันตรายต่อผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังต้องเผชิญความเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อการถูกประณามจากนานาชาติอีกด้วย

‘ญี่ปุ่น’ เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เกือบ 9 ล้านล้านบาท พยุงเงินเฟ้อครัวเรือน-หนุนเอกชนขึ้นค่าแรง-ลงทุนในประเทศ

(2 ต.ค.66) บลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ วงเงินราว 37.4 ล้านล้านเยน (เกือบ 9 ล้านล้านบาท) เพื่อเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในหลายด้าน ตั้งแต่การช่วยเหลือภาคครัวเรือน ไปจนถึงการลงทุนในประเทศ

หนึ่งในแผนการช่วยเหลือสำคัญภายใต้มาตรการนี้คือการช่วยบรรเทาผลกระทบเงินเฟ้อให้ภาคครัวเรือนญี่ปุ่น ช่วยภาคเอกชนปรับขึ้นค่าแรง และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังคาดว่ารัฐบาลจะประกาศงบการลงทุนก้อนใหญ่  21.8 ล้านล้านเยน (ราว 5.22 ล้านล้านบาท) รวมอยู่ด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เคยเกริ่นถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่เอาไว้ว่า จะมีเรื่องการลดภาษีเงินได้ไปจนถึงการแจกเงินช่วยครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ยังมีขึ้นท่ามกลางคะแนนนิยมของคิชิดะที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดลงมาแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว โดยผลสำรวจคะแนนนิยมของสถานีโทรทัศน์ เอเอ็นเอ็น พบว่า คะแนนนิยมคิชิดะลดลงมาอยู่ที่ 26.9% ส่วนผลสำรวจของหนังสือพิมพ์นิกเกอิ อยู่ที่ 33% โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง 58% ยังระบุด้วยว่า ไม่มีความหวังอะไรมากนักกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้

ทั้งนี้ ค่าแรงที่แท้จริงของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงมา 17 เดือนติดต่อกันแล้ว เนื่องจากอัตราค่าแรงไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีการปรับค่าแรงตามฤดูกาลเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีนี้ไปแล้วก็ตาม

‘สหรัฐฯ’ ผุดแผนสร้างระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ พลังทำลายล้างสูงกว่าเดิม 24 เท่า!! เติมเต็มแสนยานุภาพให้กองทัพ เสริมแกร่งหลักประกันความสงบสุขของโลก

(1 พ.ย. 66) ‘กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา’ ชงแผนพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุด ที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงที่สุดที่เคยมีมา รุนแรงกว่ารุ่นที่เคยใช้ถล่มญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 24 เท่า รอเพียงไฟเขียวจากสภาคองเกรซเท่านั้น ก็จะสามารถเดินหน้าโครงการได้ทันที

โดยระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯ นี้ มีชื่อว่า ‘B61-13 Gravity Bomb’ ที่มีน้ำหนักมากถึง 360 กิโลตัน มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับ ‘Little Boy’ ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ที่มีน้ำหนัก 15 กิโลตัน หรือ ‘Fat Man’ ที่ทิ้งลงในเมืองนางาซากิหลังจากนั้นอีก 3 วัน ก็มีน้ำหนักเพียง 24 กิโลตัน แต่ถึงกระนั้น แรงของระเบิดนิวเคลียร์ทั้ง 2 ลูกในครั้งนั้นก็ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และทำให้มีพลเมืองชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตมากกว่า 2 แสนคน

ส่วนงบประมาณในการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยคาดว่าจะผลิตในปริมาณจำกัดไม่เกิน 50 ลูก และจะนำมาใช้แทนหัวรบนิวเคลียร์รุ่นเก่า ‘B61-7’ ที่ผลิตตั้งแต่ช่วงปี 1980 เพื่อให้โควตาคลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ยังคงเท่าเดิม

การใช้งานระเบิด B61-13 Gravity Bomb ก็เป็นไปตามชื่อของมัน คือจะต้องบรรจุระเบิดในเครื่องบินขับไล่พาไปสู่เป้าหมาย และทิ้งลงกลางเป้าโดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลก แทนการบรรจุลงในขีปนาวุธแล้วยิงออกสู่เป้าหมายในการโจมตี

‘จอห์น พลัมบ์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมด้านนโยบายอวกาศ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การพัฒนาศักยภาพด้านอาวุธของสหรัฐฯ ในวันนี้ เป็นไปตามสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป จากภัยคุกคามจากศัตรูในรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

โดยสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ในการประเมินศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ในการยับยั้งภัยคุกคาม และตอบสนองต่อการโจมตีทางยุทธศาสตร์เมื่อจำเป็น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรของเรา ซึ่งระเบิดรุ่นใหม่จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้แก่ฝ่ายทำเนียบขาว ในการโจมตีเป้าหมายทางทหารในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นได้

แต่เมื่อมีผู้สนับสนุน ก็ย่อมมีผู้เห็นต่าง โดย ‘เมลิสซา พาร์ก’ ผู้อำนวยการบริหารของการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ของเพนตากอน ว่าเป็น ‘การเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารอย่างไร้ความรับผิดชอบ’ ที่จะนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่

ทางองค์กรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการพัฒนา Gravity Bomb โดยทันที เพราะการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นการสังหารเป้าหมายโดยไม่เลือกหน้า ทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของพลเรือน ซึ่งเข้าข่ายอาชญากรรมทางสงคราม

แต่ข้อเรียกร้องนี้ คงไม่อาจหยุดยั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาได้ เพราะล่าสุดทางรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าจะเตรียมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ฐานทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินในรัฐเนวาดา หลังจากเกิดเหตุสงครามระหว่างกลุ่มฮามาส และอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ไม่นานนี้

เพราะในมุมมองของสหรัฐฯ การยกระดับแสนยานุภาพทางทหารของตน เป็นหนทางที่จะรักษาความสงบสุขของโลกได้นั่นเอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top