‘เกาหลีใต้’ แจง!! ปมดรามา #แบนเที่ยวเกาหลี รับ ตม.บางคนอาจเข้มเกิน พร้อมเร่งหาทางแก้ปัญหาแรงงานผิด กม. ยัน!! ไม่ได้รังเกียจ ‘นทท.ไทย’

(4 พ.ย. 66) ตามที่มีข่าวกระแสแบนเที่ยวเกาหลีใต้ในสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากกรณีคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ใช้โอกาสการประชุมประจำปี ระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทยและเกาหลีใต้ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 หารือกับฝ่ายเกาหลีใต้ในประเด็นคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองเกาหลีใต้ และมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดของ ตม.เกาหลีใต้

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความกังวลต่อปัญหานี้ว่า ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก ที่ประสงค์ไปท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้อย่างบริสุทธิ์ใจ และกำลังกลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ที่อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ของชาวไทยในภาพใหญ่ได้

ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวแสดงความเสียใจที่ได้ทราบปัญหาดังกล่าว และไม่ประสงค์ให้ปัญหานี้มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวไทย รวมถึงต่อมิตรภาพที่ดีระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย และย้ำว่า เกาหลีใต้ไม่มีนโยบายที่จะปฏิเสธนักท่องเที่ยวไทยเข้าเมืองแต่อย่างใด โดยการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดอาจเป็นเรื่องความเข้มงวดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่ ตม.บางคน

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ยังชี้แจงด้วยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาคนไทยทำงานอย่างผิดกฎหมายซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และได้ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการทำงานอย่างผิดกฎหมาย เช่น ‘Voluntary departure programme’ หรือ โครงการให้ผู้ทำงานอย่างผิดกฎหมายสมัครใจไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ เพื่อให้ส่งกลับประเทศต้นทาง โดยไม่ต้องรับโทษและไม่ถูกขึ้นบัญชีดำในการเข้าประเทศเกาหลีใต้ในอนาคต

นอกจากนี้ ในปีนี้ เกาหลีใต้ได้เพิ่มโควตาแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ EPS (Employment Permit System) จำนวน 4,800 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับแรงงานจากไทย

ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย อาทิ ตม.เกาหลีใต้และกระทรวงแรงงานไทย อย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาทั้งสองด้านคือ การปฏิเสธคนไทยเข้าเมืองเกาหลีใต้ และการทำงานผิดกฎหมายของคนไทยในเกาหลีใต้ โดยได้สั่งการให้เร่งจัดการประชุมกลไกหารือด้านการกงสุลไทย-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 6 ที่เกาหลีใต้ เพื่อให้อธิบดีกรมการกงสุลนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่ายร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและโดยเร็วที่สุด