‘นักวิทย์ฯ จีน’ ผุดวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ แรงบันดาลใจจาก ‘หนอนทะเล’ ช่วยประหยัดพลังงาน-ปล่อยคาร์บอนต่ำ-ลดมลพิษในภาคการก่อสร้าง

(22 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้พัฒนาวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากหนอนทะเล โดยมีศักยภาพประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซมลพิษในภาคการก่อสร้าง

‘หวังซู่เทา’ ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาและนักวิจัยประจำสถาบันเทคนิคฟิสิกส์และเคมี (TIPC) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่าวัสดุก่อสร้างจากซีเมนต์แบบดั้งเดิมใช้พลังงานมากในการผลิต ขณะเดียวกันก่อเกิดการปล่อยคาร์บอนมาก การพัฒนาวัสดุใหม่นี้จึงมีนัยสำคัญ

คณะนักวิจัยสังเกตเห็นว่าหนอนทะเลอย่าง ‘หนอนปราสาททราย’ (Sandcastle worm) สร้างรังอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถเชื่อมเม็ดทรายหรือเศษเปลือกหอยเข้าด้วยกันโดยใช้สารยึดติดที่หลั่งออกมาจากข้างในตัวมาก่อสร้างอาณาจักรปราสาททรายของตัวเอง

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยพัฒนาวัสดุก่อสร้างแบบใหม่โดยใช้ประโยชน์จากสารยึดติดธรรมชาติอันมีแรงบันดาลใจมาจากหนอนทะเลดังกล่าว โดยวัสดุใหม่นี้ผลิตได้ในอุณหภูมิและความกดอากาศต่ำ สามารถประยุกต์ใช้กับทรายจากทะเลทราย ทรายทะเล ตะกรันคอนกรีต ขี้เถ้าถ่านหิน และกากแร่ธาตุ

วัสดุใหม่นี้มีประสิทธิภาพเชิงกลที่ดี ความสามารถรีไซเคิล รวมถึงคุณสมบัติต้านทานการผุกร่อนและความสามารถปรับขนาด โดยหวังกล่าวว่าประสิทธิภาพอันรอบด้านเหล่านี้อาจช่วยให้วัสดุใหม่กลายเป็นวัสดุก่อสร้างที่น่าสนใจในการก่อสร้างแบบปล่อยคาร์บอนต่ำรุ่นใหม่

อนึ่ง คณะนักวิจัยได้เผยแพร่ผลการวิจัยผ่านวารสารแมตเตอร์ (Matter) เมื่อไม่นานนี้


ที่มา : Xinhua / Xinhuathai
https://www.xinhuathai.com/china/392817_20231022