Tuesday, 1 July 2025
POLITICS NEWS

“โจ้ ยุทธพงศ์” งัดหลักฐานหนังสือลงนามซื้อเรือดำน้ำโดย “พล.ร.อ.ลือชัย” ถึงบริษัทขายที่จีน หลังพบพิรุธเร่งจัดซื้อโดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพ ถาม”บิ๊กตู่”ไม่สงสารปชช.บ้างหรือ เรือดำน้ำปราบโควิดได้หรือไม่ เผย กมธ.งบฯฟากฝ่ายค้านเตรียมเสนอ กมธ.ชุดใหญ่ตัดทิ้งเรือด

ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  พร้อมด้วยนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ที่จะมีการนำเข้าสู่พิจารณาของคณะกรรมธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจาณาร่าพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในวันที่ 19 ก.ค.

โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ตนมีหนังสือจาก พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ไปถึงนายสู จ้าน ปิน รองประธานองค์กรบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกัน ประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในหนังสือมีพิรุธคือ หนังสืออกจากกองทัพเรือ วันที่ 24 กันยายน 2563 เร่งรัดให้มีการลงนามในสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ให้ทันในปีงบประมาณ 63 หรือภายในเดือนกันยายนปี 63 โดยระบุอีกว่า หากดำเนินการไม่ทันสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย อาจจะทำให้ต้องเริ่มต้นจัดหากันใหม่ นอกจากนี้ในหนังสือยังระบุอีกว่า หากประเทศจีนไม่สามารถส่งผู้แทนมาลงนามในสัญญาได้ก็ขอให้ผู้แทนจากสถานเอกอัคราชทูตจีนในประเทศไทยมาลงนามในข้อตกลงดังกล่าวแทน 
          
“นี่คือข้อพิรุธว่า การซื้อขายเรือกดำน้ำเที่ยวนี้ ถ้าบอกว่าเป็นการซื้อขายแบบจีทูจีจริง ทำไมพล.ร.อ.ลือชัยออกหนังสือไปวันที่ 24 กันยายน 63 จะให้ทางจีนมาเซ็นต์ก่อนวันที่ 30 กันยายน 63 หรือก่อนที่ พล.ร.อ.ลือชัย จะเกษียณ ด้วยสถานการณ์โควิด จะเดินทางเข้าประเทศได้ต้องมีการกักตัวจึงบอกว่า ถ้าทางจีนมาไม่ได้ก็ขอให้เอาคนจากสถานทูตจีนในประเทศไทยก็ได้ “นายยุทธพงศ์ กล่าว
        
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในหนังสือยังอ้างถึงเรืออีก 1 ลำ คือเรือ LPD สนับสนุนเรือดำน้ำที่กองทัพเรือของไทยซื้อมาจากประเทศจีนเช่นกัน โดยเรือลำนี้มูลค่า 6,200 ล้านบาท แต่ไม่มีระบบอำนวยการรบ และระบบใดๆทั้งที่ต้องมี แต่ได้เรือมาเปล่าๆ พล.ร.อ.ลือชัย จึงเขียนหนังสือไปขออาวุธปืนเขา ซึ่งเรือลำนี้ในงบปี 65 ที่วันที่ 19 ก.ค. จะมีการพิจารณาในกมธ.งบฯ 65 นั้นมีการของบฯเข้ามา 1,800 ล้านบาท สรุปการไปขอร้องบริษัทจีนดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่า พล.ร.อ.ลือชัยเร่งรัดเซ็นสัญญาซื้อเรือ LPD มูลค่า 6,200 ล้านบาท และเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท ในช่วงที่ตนเองเป็น ผบ.ทร. เท่านั้น โดยอ้างว่ามีงบประมาณจำกัด เอาตัวเรือมาก่อน โดยไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพของเรือแม้แต่น้อย และเป็นการแสดงให้เห็นว่า กองทัพเรือไปต่อเรือลำนี้มาโดยไม่มีความพร้อมในด้านการรบเลยแม้แต่น้อย เป็นการซื้อที่ขาดแผนงาน คำนึงถึงแต่ประโยชน์ที่ไปซื้อเรือเท่านั้น และที่เสียหายมากที่สุดคือการไปร้องขอให้เขาติดตั้งระบบอำนวยการรบ ระบบอาวุธต่างๆให้ เป็นการเสียชื่อเสียงของประเทศไทยมาก 
         
“สัญาญาระหว่างกองทัพเรือไทย และประเทศจีนผ่านบริษัท china shipbuilding & offshore international co. ltd (CSOC) ในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำแรก และลำที่ 2 และ 3 ที่มีลักษณะเดียวกันนั้น ระบุให้รัฐบาลจีนมอบอำนาจให้บริษัทนี้เป็นตัวแทนฝ่ายจีนต่อเรือดำน้ำระหว่างรัฐบาลไทยที่มีพล.ร.อ.ลือชัย ลงนาม กับรัฐบาลจีนที่มีนายสู จีคี ประธานบริษัท CSOC เป็นตัวแทน ซึ่งสัญญาเป็นการซื้อขายแบบจีทูจี แต่เหตุใดตอนจ่ายเงิน รัฐบาลไทยจึงจ่ายเข้าบัญชีของบริษัท CSOC ที่ปักกิ่ง ทำไมไม่จ่ายเงินไปที่กระทรวงกลาโหมของจีน หรือรัฐบาลจีน” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีคนติดเชื้อโควิดวันละหมื่นกว่าคน คนวันละร้อยกว่าคน ระบบสาธารณสุขเราสู้ไม่ได้ คนป่วยล้น คนรอเข้ารับการรักษาอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันประชาชนจำนวนมาก อดอยาก หิวโหย แต่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับจะไปซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน แล้วพล.อ.ประยุทธ์อย่าบอกว่าไม่รู้เรื่อง ไม่ได้นะ เพราะท่านในฐานะรมว.กลาโหมที่ต้องเป็นผู้ลงนามในสัญญา และในฐานะนายกฯ ที่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของ ครม. ท่านไม่สงสารประชาชนเลยหรือ แล้วท่านไม่สงสัยในประสิทธิภาพของเรือดำน้ำหรือ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเหมือนวัคซีนซิโนแวกที่ประชาชนสงสัยทั้งประเทศ เหตุใดท่านไม่เอาลำแรกมาลองใช้กอน ทำไมจึงต้องเร่งซื้อทีเดียวถึง 2 ลำ
 
“ 19 ก.ค. จะมีการประชุมของ กมธ.งบฯ 65 ซึ่งเป็นการประชุมออนไลน์ โดยกมธ.ซีกรัฐบาลไม่ยอมให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 4 ท่าน มาชี้แจง โดยอ้างว่ากลัวโควิด ฝ่ายค้านพยายามต่อสู้ให้ผบ.เหล่าทัพมาชี้แจง แต่กมธ.ซีกรัฐบาลก็ไม่ยอม เรื่องนี้ต้องถามนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กมธ.ฯฟากรัฐบาล ว่าทำไมถึงไม่ให้ผบ.เหล่าทัพมาชี้แจง ทั้งนี้กมธ.ฯซีกฝ่ายค้านทุกพรรค เราได้หารือร่วมกัน และมีมติแล้วว่า จะขอให้ กมธ.ชุดใหญ่ตัดทิ้งงบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำไปเลย โดยไม่ต้องส่งไปให้อนุกมธ.ฯพิจารณา ถ้ากมธ.ฯซีกรัฐบาลไม่ยอมเราจะขอเสนอให้โหวตเลย แพ้เป็นแพ้ จะได้รู้ว่าใครบ้างที่ยกมือโหวตผ่านให้ซื้อเรือดำน้ำ อยากถามว่าเรือดำน้ำปราบโควิดได้หรือไม่  และในวันที่ 19 ก.ค. ผมมีหลักฐานใหม่ที่จะเอามาแฉให้ห้องประชุม กมธ.ใหญ่ ได้เห็นอีก”นายยุทธพงศ์ กล่าว

“องอาจ” จี้นายกฯ ช่วยคนติดโควิดให้มีที่ไป อย่าให้ตายคาบ้าน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้นทุกวันในขณะนี้ว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ของอดีต ส.ส. อดีต ส.ก. ตัวแทนพรรค สาขาพรรค พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นหลักหมื่นกว่าคนและยอดผู้เสียชีวิตมากกว่าหลักร้อยคน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร ที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดมากๆ ทางเดินแคบๆ แทบจะเดินสวนกันไม่ได้ บ้านที่อยู่อาศัยซึ่งน่าจะเรียกว่าห้องพักอยู่กันมากกว่า 2-3 คน ขึ้นไป ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หาเช้ากินค่ำ เมื่อมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นทำให้ง่ายต่อการแพร่ระบาดออกไปมาก

สาเหตุสำคัญเกิดจากผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดไม่มีที่ไป ไม่มีใครให้คำแนะนำ จนกว่าจะหาคนมาช่วยเหลือได้ บางครั้งก็สายเกินไป ต้องเสียชีวิตก่อนที่จะได้รักษา 

จากการทำงานดูแลช่วยเหลือประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยประสบการณ์ที่สัมผัสกับเหตุการณ์จริงๆ ในแต่ละวันพบว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะอยู่ในระดับสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดงก็ตาม แล้วไม่มีที่รักษาตัว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในรายที่อาการหนัก หรือโรงพยาบาลสนามในรายที่อาการยังไม่หนักมาก คนเหล่านี้ก็จะรอการช่วยเหลืออยู่ที่บ้าน ทำให้เอาเชื้อโควิดมาติดกับสมาชิกในบ้าน และเนื่องจากคนในชุมชนแออัดต้องหาเช้ากินค่ำ จึงต้องออกไปทำงานรับจ้างต่างๆ ทำให้นำเชื้อไปแพร่ต่อให้คนอื่นๆ อีกจำนวนมาก 

ถึงแม้ภายหลังจะเริ่มมีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) แต่คนในชุมชนแออัดเมื่อติดโควิดแล้ว ถึงแม้จะอยู่ระดับสีเขียว ก็ไม่สามารถแยกกักตัวในบ้านได้ เพราะสภาพบ้านที่อยู่คือห้องที่อยู่รวมกันหลายคน 

จากสภาพความจริงส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้นในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานครดังกล่าว จึงขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ประธาน ศบค. เร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนดังนี้

1. เมื่อมีผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดต้องรีบนำออกไปดูแลรักษาตามความหนักเบาของอาการ จะใช้วิธีแยกกักตัวที่บ้านไม่ได้ เพราะในชุมชนแออัดจะอยู่รวมกันอย่างแออัดในห้องเดียวกัน ไม่ได้มี 2-3 ห้องเหมือนบ้านคนมีฐานะทั่วไปที่จะทำให้ใช้วิธีแยกกักตัวได้
2. รีบตรวจหาเชื้อสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดเชื้ออย่างเร่งด่วน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้าติดเชื้อจะได้ดูแลรักษาต่อไป ถ้าไม่ติดเชื้อก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงควรให้กักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน
3. ภาครัฐควรจัดหาข้าวสาร อาหารแห้งมามอบให้ผู้กักตัวมีข้าวกิน เพราะถ้าไม่มีอะไรกิน ผู้กักตัวเหล่านี้ก็จะต้องออกไปดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงชีพ เนื่องจากเป็นผู้หาเช้ากินค่ำ ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อหรือรับเชื้อได้โดยง่าย

ขอให้นายกฯ หาทางแก้ไขตามข้อเสนอนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

เพราะถ้ายังปล่อยให้ผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดไม่มีที่ไป จะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน จึงขอวิงวอนนายกฯ รีบบริหารจัดการให้แตกต่างจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดผู้ติดเชื้อให้ได้ในที่สุด

ทหารตำรวจ  พร้อมจัดกำลังเสริมการสนับสนุนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระบบ รับมือสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังมีแนวโน้มรุนแรง

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึง กรณีการเตรียมสนับสนุนของ กระทรวงกลาโหม ในการรับมือกับการแก้ปัญหานำผู้ป่วยติดเชื้อตามบ้านและชุมชนที่มีมากขึ้นออกมารักษาในระบบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้นว่า  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กำชับให้ทุกเหล่าทัพและตำรวจ เตรียมจัดกำลังและยานพาหนะเพิ่ม เสริมการทำงานร่วมกับ สธ.แล้ว  จากเดิม ที่ได้จัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด 19” ขึ้น โดยระดมยานพาหนะจากทุกเหล่าทัพและตำรวจกว่า 100 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ควบคุมการปฏิบัติ โดย ศปม.  เข้าสนับสนุนการทำงานร่วมกับ กทม.โดย “ศูนย์เอราวัณ” และ สธ.โดย “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่อาจตกค้างหรือมีเพิ่มตามบ้านและชุมชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เข้ารับการรักษาตามระบบ โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ 24 เม.ย.64 ถึงปัจจุบัน ศูนย์ดังกล่าวที่ กระทรวงกลาโหม จัดตั้งขึ้น ได้สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว รวมกว่า 15,000 ราย

โดยมีขั้นตอนการทำงานร่วมกัน เมื่อได้รับแจ้งจากผู้ป่วยติดเชื้อตามบ้านหรือในชุมชน ผ่านบริการสายด่วน หมายเลข 1668  1669 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ หมายเลข 062 -442-7903 “ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด 19” ที่กองทัพจัดตั้งเสริมขึ้น  

โดยจะประสานทำงานร่วมกันในการประเมินอาการผู้ป่วยและเตรียมสถานพยาบาลปลายทางรองรับ หลังจากนั้นจะจัดเจ้าหน้าที่และยานพาหนะไปรับถึงบ้าน เพื่อนำพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระบบ ตามอาการในสถานพยาบาลระดับต่างๆที่จัดขึ้น เช่น ผู้ป่วยสีเขียวในรพ.สนาม ผู้ป่วยสีเหลืองและแดงใน รพ.หลัก หรือ Hospitel เป็นต้น  ทั้งนี้ผู้ป่วยสีเขียวที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ สามารถขอรับการกักและรักษาตัวที่บ้าน ( Home Isolation ) หรือในสถานที่พักคอยของชุมชน (Community Isolation) ได้ ภายใต้มาตรการและการดูแลที่สาธารณสุขที่กำหนด 

“บิ๊กตู่”ห่วงผู้ป่วยโควิด-19 สั่งปรับการบริหารให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ได้ รวมทั้งจัดการดูแลผู้ป่วยในลักษณะที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. รับทราบด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์โควิด-19  ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 และการรักษาพยาบาล จึงได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาการจัดการและปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีอยู่อย่างจำกัด โดยในที่ประชุมศบค. วานนี้(16 ก.ค.)นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งการตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมให้มากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง และการจัดการดูแลผู้ติดเชื้อในลักษณะการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือการดูแลรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) และปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อตรวจให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด และนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว ลดการแพร่ระบาดในชุมชน

“ซึ่งมาตรการ Home Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน และมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน เป็นมาตรการเสริมซึ่งนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสูงโดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อน้อย ก็ยังคงใช้มาตรการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชนก็จะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดส่ง Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team ที่ประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และเจ้าหน้าที่เขตของกทม. ติดตามการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชนของผู้ป่วยด้วย”นายอนุชา กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ มาตรการ Home Isolation มีหลักการดังนี้ 1.ผู้ป่วยติดเชื้ออาการต้องไม่รุนแรงหรือเป็นผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการปอดอักเสบ ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก หรือมีภาวะโรคเสี่ยง 2.ที่พักต้องเป็นแบบที่อยู่ด้วยกันแบบไม่แออัดจนแยกกักตัวไม่ได้ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายคนแล้วต้องนอนรวมกัน ก็ไม่เหมาะกับ Home Isolation เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อ ต้องจัดเป็น Community Isolation หรือที่ชุมชนจัดให้แทน 3.ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการกักตัว ไม่ควรออกไปนอกบ้านจนทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ 4.โรงพยาบาลจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีแพทย์ที่สามารถทำ Video call ติดตามอาการคนไข้ได้ทุกวัน มีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนให้  มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และยาฟ้าทะลายโจร และมีอาหารให้ผู้ติดเชื้อ 3 มื้อ และในกรณีที่อาการเปลี่ยนแปลง จะส่งต่อรักษาโรงพยาบาลทันที

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน คกก.โรคติดต่อจังหวัด และเจ้าของสถานที่หรือชุมชน จะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์และความพร้อม โดยพิจารณาจากจำนวนและระดับอาการผู้ติดเชื้อ จำนวนและระดับอาการของผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ผู้ป่วยยืนยันติดโควิด-19 เป็นผู้ที่อยู่ในชุมชน เป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ท่ีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา และรองรับได้ทุกกลุ่มผู้ป่วย โดยจะคัดเลือกพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนหรือภาคเอกชนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ เป็นความร่วมมือระหว่างเขต โรงพยาบาล (ทั้งภาครัฐและเอกชน) และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และเป็นชุมชนที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการที่บ้านหรือแยกกักในชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เข้ารับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด รวมทั้งยังช่วยสงวนเตียงโรงพยาบาล เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงได้เพียงพอ นอกจากนี้ ผอ. ศบค. ยังขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่จะมีการยกระดับที่เข้มข้น เช่น งดการรวมกลุ่ม จำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่ อยู่ในที่พักตามเวลาที่กำหนด โดยขอให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน

พท.อัดรัฐล็อกดาวน์ 6 วัน ตายทะลุร้อย ติดทะลุหมื่น เชื่อ ปชช.ไม่ทนให้ “ประยุทธ์” ยกระดับอะไรอีกแล้วนอกจากลาออก

 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวกรณีที่รัฐบาลเตรียมล็อกดาวน์เข้มข้น หลังพบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่ลดลงแต่กลับเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องว่า ขอแสดงความสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์การเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น เป็นเช้าวันสาร์ที่รันทด หดหู่สลดใจเป็นที่สุด เส้นทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเดินทางมาถึงจุดที่วิกฤตหนัก ฝันร้ายได้กลายเป็นจริง สถานการณ์เช้านี้ที่มีผู้เสียชีวิตทะลุ 100 ราย ผู้ติดเชื้อทะลุ 1 หมื่นคนต่อวัน

รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์มา 6 วัน เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ นอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้สียชีวิตไม่ลดลงแล้ว ยังเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ แสดงว่าแนวทางที่ทำมานั้นเดินมาถูกทางหรือไม่ จะยกระดับล็อกดาวน์เรื่อยๆหรือ คำถามคือสถานการณ์วิกฤตขนาดนี้ รัฐบาลควรจะแสดงความรับผิดชอบแล้วหรือยัง 

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์วิกฤตหนักขนาดอียูถอดไทยออกจากประเทศปลอดภัยจากโควิด  บริษัทประกันภัยขอยกเลิกประกันภัยโควิด-19 แม้พล.อ.ประยุทธ์จะปลอบใจตัวเองว่าจะไม่ลาออก จะไม่ยอมถอดฟันยาง จะสู้จนกว่าชนะ ไม่แน่ใจว่าท่านสู้กับอะไร ถ้าสู้กับโควิด พล.อ.ประยุทธ์แพ้มาทุกระลอก แพ้ทุกสถานการณ์ แม้จะพร้อมสู้ ไม่ยอมแพ้ แต่ถ้าประชาชนเป็นกรรมการคงสั่งยุติการชกไปตั้งนานแล้ว เพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะแก้ไขปัญหาอะไรได้ แทนที่จะเร่งทำงานแข่งกับความเป็นความตายของประชาชน ลดขั้นตอนให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้มากขึ้น แยกคน แยกโรค เร่งจัดหาวัคซีนคุณภาพมาฉีดให้กับประชาชน แต่ก็ทำท่ากลายเป็นวัคซีนทิพย์ ที่ผ่านมาประกาศผิด ประกาศใหม่ เยียวยาผิด ยกเลิกคำสั่ง ล็อกดาวน์ไม่ได้ผล เตรียมยกระดับล็อกดาวน์ พล.อ.ประยุทธ์ใช้โอกาสไปเปลืองมากแล้ว ถึงเวลาต้องแสดงความรับผิดชอบ
 
“ตายทะลุร้อย ติดทะลุหมื่น เห็นท่าไม่ดี เตรียมยกระดับเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์ ถ้าติด ถ้าตายมากกว่านี้อีก ประเทศชาติและประชาชนไม่พร้อมที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ยกระดับอะไรอีกแล้ว นอกจากให้ท่านยกระดับแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก” นายอนุสรณ์ กล่าว      

“บิ๊กตู่” สั่งกองทัพ จัดกำลังร่วม กทม. เร่งค้นหาเชิงรุก ฉีดยากลุ่มเสี่ยงตามบ้านและแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน พร้อท เร่งจัดตั้ง รพ.สนามเพิ่ม

.ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม  เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ  ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุม หน่วยงาน กอ.รมน. หน่วยขึ้นตรวกระทรวงกลาโหม  เหล่าทัพ และ ตร. ผ่านระบบ VTC เพื่อเร่งเข้าไปสนับสนุนรับมือกับวิกฤตโควิด-19 สายพันธ์ุใหม่ ที่พบแนวโน้มการแพร่ระบาดในประเทศยังสูงต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวม กองกำลังป้องกันชายแดนทั้งทหาร ตำรวจ ยังตรึงกำลัง เฝ้าระวังคัดกรองบุคคลผ่านเข้า-ออกชายแดน และจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายได้อย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ที่ผ่านมา จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ถึง 248 คน ( ลาว 110 กัมพูชา 69 พม่า 25 และจีน 4 คน ) โดยเจ้าหน้าที่ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง เพื่อหยุดและลดความเสี่ยงของการกระจายเชื้อสายพันธ์ใหม่ในพื้นที่ชายแดน 

ขณะเดียวกัน กำลังทหารตำรวจ ยังคงกระจายกันควบคุมดูแลแคมป์คนงาน 606 แห่งในพื้นที่ต่างๆของ กทม. พร้อมทั้งจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจ 88 จุด ในพื้นที่ต่างๆ ทำความเข้าใจกับประชาชนและเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายตามข้อกำหนดกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชนและการรวมกลุ่มในกิจกรรมเสี่ยง เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติในการควบคุมโรคอย่างจริงจังร่วมกัน

“เหล่าทัพ และตำรวจ ร่วมมือกันเร่งหยุดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ  กองทัพได้จัดกำลังร่วมกับ กทม.ทำหน้าที่ชุดตรวจค้นหาเชิงรุก ( CCRT ) จำนวน 69 ชุด และเตรียมจัดเพิ่มเป็น 188 ชุด เร่งเข้าชุมชนต่างๆใน 50 เขต ตรวจคัดกรองแยกผู้ป่วยออกจากบ้านและชุมชน เข้ารับการรักษาในระบบ พร้อมทั้งฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงตามบ้านในคราวเดียวกัน ระหว่าง 15-25 ก.ค.64 เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยถึงชีวิต”โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว 

ทั้งนี้พล.อ.ชัยชาญ ได้ย้ำสั่งการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ขอให้ทุกเหล่าทัพ ให้ความสำคัญ คงความเข้มข้นเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย  พร้อมทั้งขอให้สำรวจพื้นที่ในหน่วยทหาร ขยายผลจัดตั้ง รพ.สนามเพิ่มเติมใน จว.ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่  10 จว.สีแดงเข้ม และเตรียมบุคลากรทางการแพทย์แถวสองและอาสาสมัคร เพื่อดูแลรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มมากขึ้นให้เพียงพอ

นอกจากนี้ รมช.กลาโหม ยังได้กำชับทุกเหล่าทัพ ให้ความสำคัญสนับสนุน จว.สีแดงเข้มเร่งตรวจค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน และให้ประสานทำงานร่วมกับศูนย์เอราวัณดำรงความต่อเนื่องสนับสนุนยานพาหนะและเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ยังมีในชุมชนเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว  พร้อมกันนี้ ขอให้ทุกเหล่าทัพที่มีหน่วยทหารในพื้นที่สีแดงเข้ม ทำการตรวจเชิงรุกในชุมชนหน่วยทหาร และจัดตั้งพื้นที่คัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน ( CI ) รองรับการดูแลกันเองในหน่วยทหาร ควบคู่ไปกับการสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่  เพื่อร่วมมือกันลดการแพร่ระบาดของโรคให้ได้โดยเร็ว

ทร. รับ เสนอจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ในงบฯปี 65 เจรจาจ่ายงวดแรก 1 ใน 3 ยืนยันมีหน้าที่ต้องเสนอ เตรียมข้อมูลแจง กมธ. 

พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 พรรคฝ่ายค้านคัดค้านการตั้งงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่2-3 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19ว่า มีการเสนอในการจัดทำงบประมาณทุกปี ซึ่งปีนี้ก็เช่นกัน โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขอตัดงบฯ นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 

“กองทัพเรือทำตามหน้าที่ ที่เราต้องเสนอทุกปี เป็นขั้นตอนตามปกติ เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรม ในการดำรงภารกิจของตัวเอง ส่วนจะผ่านหรือไม่ผ่านนั้นก็ไม่เป็นไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กรรมาธิการฯ และรัฐสภา ไม่ได้มีอะไรซ่อนเร้น”โฆษกกองทัพเรือ กล่าว 

เมื่อถามว่า การเสนอจัดซื้ออาวุธช่วงนี้ถูกโจมตีว่าไม่เหมาะสมในช่วงสถานการณ์โควิด พล.ร.อ.เชษฐากล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอขึ้นไป ไม่ว่าเสนอปีไหนก็โดน และไม่ใช่เพิ่งโดน ก็โดนมาตลอด จะเลือกจากประเทศใดไหน เยอรมัน สวีเดน จีน ก็โดนโจมตี

เมื่อถามว่า กรณีสังคมไม่เห็นด้วยเพราะประชาชนกำลังเดือดร้อนนั้น โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอ คงต้องรอการพิจารณาในขั้นตอนของกรรมาธิการฯ ซึ่งฝ่ายค้านเขาก็ทำหน้าที่ของเขา กองทัพเรือก็ทำหน้าที่ของเรา หากเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไร   เมื่อกองทัพมีแผนพัฒนาเพื่อดำรงความพร้อมตามหน้าที่ เราก็ต้องทำ เมื่อเว้นไปก็จะมีผลกระทบ เนื่องจากโครงการเป็นลักษณะของแพ็คเกจ เมื่อจัดหาลำหนึ่งมาแล้ว จำเป็นต้องมีลำที่2-3 เพื่อนำมาหมุนเวียน ช่วงซ่อมบำรุง ซึ่งมีปัจจัยหลายหลายอย่างเข้ามาประกอบ

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวอีกว่า ในการตั้งงบประมาณปี 65  ได้มีการเจรจากับจีนขอลดวงเงินในปีแรกลง1 ใน3 ตามคำแนะนำของฝ่ายค้านเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งเราจะเตรียมข้อมูล เหตุผล จำเป็น ชี้แจงในคณะกรรมาธิการ ส่วนรายละเอียดเรื่องตัวเลข โดยทางกองประชาสัมพันธ์กองทัพเรือจะนำมาเผยแพร่ต่อไป

สำหรับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯนั้น จะใช้ระบบออนไลน์ โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ เสนาธิการเหล่าทัพผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม ปลัดบัญชีทุกเหล่าทัพ จะอยู่ ณ ที่ตั้งหน่วยของตัวเองแล้วชี้แจงไปยังห้องประชุมคณะกรรมาธิการ

ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานฯ นำทีมร่วมบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค พัดลม แก่รพ.สนาม จ.สมุทสาคร สู้โควิด-19 

นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานด้านติดตามศึกษานโยบายแรงงาน และโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค พัดลม ในนามสถาบันอนุสรีรวมใจให้กัน มูลนิธิพุทธรังษี ร่วมกับ กลุ่ม "เฮียธิ พี่อาย ทนายกันต์" (ธิติรัตน์ พุ่มไสว อนุสรี และ กันต์กวี ทับสุวรรณ) แก่โรงพยาบาลสนามพื้นที่เทศบาลตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์และนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้รับมอบ มีหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

จากนั้น ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานด้านติดตามศึกษานโยบายแรงงาน และโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะได้เยี่ยมชมสถานที่ที่เป็น (Factory Quaranteen : FQ) ตามคำเชิญของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ตำบลท่าไม้ และที่โรงงานพัทยาฟูดส์  ซึ่งเป็นต้นแบบภาคเอกชนที่เสียสละให้พื้นที่แก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดมาเข้ารับการกักตัว โดยมีระบบติดตาม เฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า การทำ FQ นี้ เป็นวิธีการแบ่งเบาภาระการขาดแคลนเตียงในการรักษาจากสถานพยาบาล โดยชุมชนร่วมกันดูแล ในลักษณะ Community Isolation ซึ่งในอนาคตหากมีปริมาณผู้ติดเชื้อมากขึ้น กลุ่มโรงงานเล็ก ๆ ที่ร่วมกันจัดตั้งสถานที่นี้ในชุมชน ช่วยกัน จะเป็นการช่วยคนป่วยที่ไม่มีเตียง และอยู่ในบ้านที่ไม่สามารถจัดการกักตัวได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรสนับสนุนภาคเอกชนในเรื่องการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวหารือในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

“โฆษกศบศ.” แจง “บิ๊กตู่” สั่งเร่งช่วยลูกหนี้ 10 จังหวัดล็อกดาวน์ เผยคลังถกแบงค์ชาติเตรียมพักชำระหนี้ 2 เดือน ช่วยผู้ประกอบการ-แรงงาน ที่ปิดกิจการจากมาตรการของรัฐ ส่วนลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการแต่ได้รับผลกระทบ เตรียมพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็น

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ก.ค. 64) ให้รีบหารือกันโดยเร่งด่วน เพื่อหามาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า ทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ จึงร่วมกันออกออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วประเทศ ซึ่งได้แก่ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมแต่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป แล้วแต่กรณี

นายธนกร กล่าวต่อว่า สำหรับลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ ควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น 

นายธนกร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการหลายๆ มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ให้ผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain สามารถกู้เงินกับธนาคารออมสิน วงเงินต่อรายอยู่ที่ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ซึ่งตอนนี้ อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว จำนวน 2,885 ราย วงเงินรวม 1,218 ล้านบาท
สินเชื่ออิ่มใจ ธนาคารออมสินให้กู้กับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม วงเงินต่อราย อยู่ที่ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และสินเชื่อสำหรับ SMEs ขนาดย่อมและขนาดกลาง  ได้แก่ สินเชื่อ Extra cash โดย SME Bank ให้กู้กับ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น วงเงินรายละ 3 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติแล้ว 4,283 ราย วงเงินรวม 7,335 ล้านบาท และสินเชื่อมีที่มีเงิน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป ได้แก่ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูอีกด้วย 

 

กอ.รมน. ร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน เชิงรุก แก้ไขปัญหาหลบหนีเข้าเมือง ทุกพื้นที่ 

พล.ต.ธนาธิป  สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า กอ.รมน. ได้ประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. เพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการจัดประชุมผ่านระบบวิดิทัศน์ทางไกล (VTC) เพื่อป้องกันการอยู่ร่วมกันเป็น หมู่คณะตามนโยบายของรัฐบาล และมาตรการที่ ศบค. กำหนด โดยมี พล.อ.วรเกียรติ  รัตนานนท์ เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานการประชุม ว่า ทางกอ.รมน. ได้ร่วมบูรณาการจัดตั้งทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการเชิงรุกแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และบุคคลหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จับกุมบุคคลหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาการจับกุมบุคคลต่างด้าวที่ใช้ช่องทางธรรมชาติลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทย ยังคงมีการตรวจพบและจับกุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลการจับกุมในพื้นที่ชายแดนมีแนวโน้มลดลง แต่มีผลการจับกุมที่ตรวจพบในสถานประกอบการเพิ่มขึ้น
 
โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ยังคงตรวจพบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่ม (คลัสเตอร์) ใหม่ๆ และมีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ, ปริมณฑล และจังหวัดเศรษฐกิจ/อุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยให้ห้วงเดือนที่ผ่านมา  กอ.รมน. ร่วมบูรณการกับกระทรวงมหาดไทย กรมอนามัย และสภาอุตสาหกรรม ประชาสัมพันธ์ จึงขอความร่วมมือให้สถานประกอบการปฏิบัติตามแนวทางที่ดีของโรงงาน (Good Factory Practice) (GFP)  สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันโรค ด้วยการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม มาตรฐานความปลอดภัยป้องกันโควิค – 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่   Thai Stop COVID Plus (TSC) และร่วมจัดตั้งทีมสหวิชาชีพเข้าประเมินโรงงานแบบ on site ในระดับจังหวัด โดยจะสุ่มตรวจให้ทุกจังหวัดต้องมีการประเมินโรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-20 ตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้
  
พล.ต.ธนาธิป กล่าวอีกว่า การดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ผ่านมามีการควบคุมโรคในรูปแบบพื้นที่ปิดเฉพาะ (Bubble and Seal) โดย กอ.รมน. ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐร่วมสกัดกั้นควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ตรวจสอบสถานประกอบการ ยกระดับมาตรการการป้องกันโรค และเร่งรัดการฉีดวัคซีน รวมทั้งหาแนวทางที่จะดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น คาดว่าจะสามารถควบคุมการแพร่การกระจายเชื้อโควิด - 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  
 

โฆษกอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน.จัดโครงการตู้ปันสุขช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิค - 19 โดยกอ.รมน. ได้ดำเนินการจัดทำโครงการตู้ปันสุข ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ที่ต้องการให้ กอ.รมน. มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระในการครองชีพให้กับประชาชนในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งกอ.รมน. ได้ดำเนินการจัดตั้งตู้ปันสุขที่บริเวณด้านหน้า กอ.รมน. และชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ซึ่งได้ประสานผู้นำชุมชนและให้ช่วยดูแลและบริหารจัดการในการแบ่งปันสิ่งของอุปโภค บริโภคในตู้ปันสุขให้กับประชาชนในชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม, ชุมชนซอยโซดา และชุมชนนครไชยศรี ให้ได้รับสิ่งของต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ โดยกำหนดเวลาการเติมสิ่งของในตู้ปันสุขในวันราชการ จำนวน 2 ครั้ง คือ 09.00 น. และ เวลา 14.00 น. ซึ่งที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง 

“ก่อนปิดการประชุม พล.อ.วรเกียรติ ได้กล่าวถึงนโยบายของ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ได้สั่งการให้เหล่าทัพสนับสนุนยุทโธปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิค – 19 (สีเขียว) ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับไปรักษายังภูมิลำเนา โดยที่  ผ่านมาได้ดำเนินการ “โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ทบ. และ กอ.รมน. พาคนกลับบ้าน” เพื่อสนับสนุนรัฐบาลลดภาระระบบสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถช่วยแบ่งเบาภาระการรักษาผู้ป่วยฯ ของโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลในระบบของกระทรวงสาธารณสุขได้ในระดับหนึ่ง โดยในห้วงต่อไปจะดำเนินการขยายผลโดยใช้อากาศยานของกองทัพบก สนับสนุนการเดินทางให้กับผู้ป่วยโควิค – 19 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเดินทางกลับไปพักรักษาตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ กอ.รมน. ใคร่ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยดำเนินการขยายผลและประชาสัมพันธ์ให้ได้รับทราบต่อไป” พล.ต.ธนาธิป กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top