Wednesday, 26 March 2025
POLITICS NEWS

ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน-ธุรกิจบันเทิง ร้อง นายกฯ เยียวยาผู้ประกอบการ คนกลางคืน 

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาล สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย นำโดย นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเสนอแนวทางให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยากับผู้มีอาชีพธุรกิจกลางคืน

นายนนทเดช กล่าวว่า การระบาดโควิดระลอก 3 และมีข้อกำหนดให้ปิดสถานบริการ ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งไม่ได้มีแค่เจ้าของธุรกิจ แต่ยังมีพนักงานสาขาอาชีพอื่น จึงขอให้นายกฯพิจารณามาตรการเยียวยาเพื่อให้ความเป็นธรรม

โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษก ประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม ศบค.เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

“ที่ปรึกษาชวน” ดึงสติ “อนันต์” หลังตื่นตระหนกกลัวโควิด แจง ถามศบค.แล้วประชุมไม่ใช่จัดกิจกรรม ย้อน พปชร.ทำไมไม่เข้าประชุม ยันสภาไม่ล่มจมแน่นอน 

ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งงดการประชุมสภาฯ ในสัปดาห์นี้และเตือนว่าหากยังเดินหน้าประชุมสภาอาจจะล่มได้นั้น ว่า นายชวนยืนยันว่ายังคงมีการประชุมสภาในวันที่ 30 มิ.ย.และ 1 ก.ค. เพราะมีส.ส.จำนวนหนึ่งประสานมาว่าจะมาประชุม ดังนั้นจึงไม่สามารถปิดโอกาสการทำหน้าที่ของส.ส.ได้ แม้จะบอกว่าพรรคพลังประชารัฐปฏิเสธเข้าร่วมประชุม ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกเพราะดูตามระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 30 มิ.ย. ล้วนแต่เป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เสนอโดยรัฐบาลท้ังสิ้น จำนวน 6 ฉบับและยังเสนอเป็นเรื่องด่วนอีกด้วย แต่ทำไมพรรคพลังประชารัฐจะไม่เข้าร่วมประชุม ซึ่งถึงเวลาในวันพรุ่งนี้ก็คงจะทราบกันว่าองค์ประชุมจะครบหรือไม่ แต่ตนเชื่อว่าสภาไม่ล่มและไม่ล่มจมแน่นอน ดังนั้นขอให้ใช้สติพิจารณาอย่าตื่นตระหนก เพราะที่ผ่านมาสภาสามารถควบคุมดูแลการแพร่ระบาดโควิด-19 มาโดยตลอด 

นพ.สุกิจ กล่าวต่อว่า นอกจากมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้นแล้ว สภายังได้รับการรับรองจากกรมควบคุมโรค และยังได้รับการจัดสรรวัคซีนให้กับส.ส.ที่ได้รับการฉีดมาเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อส.ส.ฉีดไปแล้วจึงเชื่อว่าเมื่อมาประชุมก็จะมีความเสี่ยงน้อยต่อการติดเชื้อ แต่หากเกรงว่าอยู่ในห้องประชุมจะไม่ปลอดภัย นายชวนเคยแนะนำนายอนันต์ว่าเมื่อลงชื่อแล้วให้ไปรับฟังการประชุมในห้องส่วนตัวที่ทางสภาจัดไว้ให้ก็ได้ เมื่อถึงเวลาค่อยมาลงมติ ส่วนกรณีที่ส.ส.มาประชุมที่กทม.แล้วกลับไปต่างจังหวัดจะต้องถูกกักตัว 14 วันในพื้นที่ตนเองนั้น ข้อกำหนดทุกจังหวัดมีข้อยกเว้นให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะไม่โดนกักตัว ดังนั้นไม่ต้องกลัว ถ้ามีใบรับรองฉีดวัคซีนยืนยันเชื่อว่าแต่ละจังหวัดคงมีเหตุผล 

นพ.สุกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่บอกว่าหากมีการจัดประชุมสภาจะถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อกำหนดของศบค.ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.นั้น ทางสภาไม่ได้นิ่งนอนใจ ทั้งนี้เป็นการจัดประชุมไม่ใช่การจัดกิจกรรม ถือเป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาสภาเคยทำหนังสือสอบถามศบค.แล้ว และศบค.ก็เห็นชอบมาตรการโควิดของสภา พร้อมกับให้จัดประชุมได้ตลอดสมัยการประชุมนี้ ล่าสุดรองเลขาธิการสภาก็ได้ทำหนังสือสอบถามศบค.อีกครั้งว่าสภาต้องทำหนังสือขออนุญาตอีกหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่ต้องขออนุญาตแล้ว แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มข้น ดังนั้นการประชุมสภาไม่ใช่การฝ่าฝืนกฎหมาย 

“ประธานสภาตระหนักในอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการยังปฏิบัติหน้าที่ได้ ดังนั้นฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีเหตุผลที่จะหยุดทำงาน” นพ.สุกิจ กล่าว

กลุ่มไทยไม่ทน เปิดธรณีกันแสง อ้าง ประจานศพ พิษโควิด ล้อ ‘บิ๊กตู่’ นะจ๊ะๆ ท่ามกลางเสียงร้องไห้ประชาชน จตุพร นัด รวมตัวขอพรศาลหลักเมือง พรุ่งนี้ ก่อน เสาร์ ยังนัด ผ่านฟ้าเวลาเดิม

กลุ่มไทยไม่ทน นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. ยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับอ่านประกาศ #ไทยไม่ทน ความทุกข์ร้อนของประชาชน เพื่อให้นายกรัฐมนตรีหยุดยินดีปรีดา หัวเราะร่า ท่ามกลางคราบน้ำตา และงานศพของประชาชน โดยได้มีการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ นอนราบกับพื้น คลุมด้วยผ้าขาวบาง เปรียบเสมือนคนตายสามศพจาก การติดเชื้อ โควิด-19 ไม่ได้รับวัคซีน และพิษเศรษฐกิจ พร้อมสาดน้ำแดง เปรียบเสมือนเลือดประชาชน ขณะเดียวกันมีบุคคลแต่งกายสวมหน้ากากเป็นใบหน้าของพล.อ.ประยุทธ์ ล้อเลียนเสียงของนายก ประโยคการอ่านข้อกำหนดฉบับที่ 25 และได้มีการเอ่ยคำว่านะจ๊ะออกมา พร้อมกันนี้ได้เปิดเพลงคำนี้กันแสงควบคู่ไปด้วย

นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำไทยไม่ทน อ่านแถลงการณ์ระบุว่า มาตรการของรัฐบาลและศบค. ไม่เคยเห็นหัวประชาชน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการระบาดร้ายแรงของ โควิด-19 ได้ นับวันยิ่งมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น จนน่าสงสัยว่าพาหะที่สำคัญของโคโรนา น่าจะเป็นหัวใจที่มืดบอดของพล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้แต่ยาบำรุง คืออำนาจพิเศษตาม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่สามารถนำประเทศฝ่าข้ามวิกฤตไปได้ นอกจากนี้ยังค้ากำไรส่วนเกินจากวัคซีนโควิด โดยใช้งบประมาณแผ่นดินไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน กู้เงินในอนาคตมาจำนวนมหาศาลไม่ใหญ่ดีหนี้สินของลูกหลานที่จะต้องจ่ายในภายหน้า ซึ่งปัจจุบันมีคนตกงานและฆ่าตัวตายมากมายหลายวันท่ามกลางน้ำตาเสียงร้องไห้ที่กล้ำกลืนอุกอั่งคั่งแค้นในใจจนสุดจะทน แต่นายกและพวก กลับยืนยิ้มหัวเราะร่า อยู่ในทำเนียบท่ามกลางงานศพของประชาชนทั้งแผ่นดิน 

ด้านนายจตุพร กล่าวว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ระบุ ถูกต่อว่าด้วยถ้อยคำหยาบคายนั้นตนมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ คือนายกฯที่พูดจาหยาบคายที่สุด ตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา ถ้าอยากให้พูดเพราะตนจะขอพูดว่า พณฯ พลเอกประยุทธ์ โปรดลาออกได้แล้วนะจ๊ะ ส่วนที่บอกว่านายกทำงานหนัก และเจอปัญหาหนักกว่าประชาชนนั้น ตนมองว่าท่านหนักแผ่นดิน ไม่เข้าใจความรู้สึกประชาชนว่าทุกข์หนักขนาดไหน การประกาศข้อกำหนดลักหลับ โดยไม่รู้จักเวล่ำเวลา และได้แต่เสียงร้องไห้ของประชาชน ส่วนหลักคิดการปิดแคมป์กลาย เป็นการกระจายเชื้อไปทั่วประเทศ ไม่มีขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์สายเกินแกงแล้วไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าบริหารงานต่อไป ประชาชนจะเดินหน้าขับไล่ 

โดยในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เวลา 13.00 น. นัดรวมตัวกันที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์เพื่อเดินไปศาลหลักเมืองปกครองเพื่อขอพรให้คุ้มครองคนไทยให้รอดพ้นจากการปกครองระบอบประยุทธ์ เพราะถ้ายังบริหารต่อไปประเทศจะเกิดจราจล และยืนยันวันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคมนี้ เวลา 16.00 น. จะรวมตัวกันที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศแล้ว เวลา 18.30 จะเดินขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง

นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้คนไทยทำฉันทามติ เพื่อเสนอชื่อบุคคล มาทำหน้าที่แทนพล.อ.ประยุทธ์ ขอให้เป็นใครก็ได้เพื่อมาแก้ปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ ปัญหา โควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหารัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นของประชาชน

“เลขาฯสมช.” แจง ออกคำสั่ง ตีหนึ่ง เพราะต้องหารือให้รอบคอบ ยัน แจ้งผู้ประกอบการก่อสร้าง-ร้านอาหารรับทราบก่อนแล้ว ชี้ การสื่อสารอาจไม่ทั่วถึง แย้ม คลายไซต์ก่อสร้างเฉพาะที่จำเป็น รับ สธ. เตรียมระบบรักษาตัวที่บ้าน ย้ำทุกอย่างต้องรอบคอบ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงมาตรการชดเชยเยียวยาหลังออกข้อกำหนดฉบับที่ 25 ไปแล้ว ว่า ต้องหารือว่ามาตรการที่ออกไปแล้วบางอย่างต้องมีการผ่อนคลาย เช่น การหยุดก่อสร้าง อาจจะมีอันตรายในเชิงวิศวะ หรือกระทบกับส่วนอื่น เช่น การเร่งก่อสร้างสถานพยาบาล ถ้าหยุดแคมป์ไปก็จะทำให้การหยุดก่อสร้างหยุดไปด้วย เป็นต้น ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการก่อสร้างก็อาจจะอนุญาต ให้ดำเนินการได้ในบางแคมป์ 

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า สำหรับข้อกำหนดก่อนที่ประกาศออกไป เราประชุมกันในวันที่ 25 มิ.ย. จนถึงช่วงเย็น จากนั้นในวันที่ 26 มิ.ย.ยังมาประชุมกันต่อ จากนั้นร่างคำสั่งเสร็จได้เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลงนามในเวลา 21.00 น. ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา นี่คือสาเหตุที่ว่า ทำไมคำสั่งถึงประกาศกลางคืน แสดงให้เห็นว่าเราทำงานตลอดเวลา เพื่อให้คำสั่งออกเร็วที่สุด ในแง่ของความเร็ว ความช้า ศบค.ก็ถูกตำหนิ เช่น ร้านอาหาร ก็ต้องขอภัยที่ออกคำสั่งช้า ทำให้เตรียมตัวไม่ทัน ส่วนเรื่องแรงงานก็ถูกต่อว่าว่าบอกเร็วไป ทำให้เขาหนีไปก่อน เรื่องนี้ต้องมองให้หลายมุม ยืนยันว่าศบค. พยายามหาจังหวะที่เหมาะสม และการออกคำสั่งต้องทำอย่างรอบคอบ ขอให้สื่อดูว่าข้อกำหนดฉบับดังกล่าว มีรายละเอียดรัดกุม นั่นคือผ่านการหารือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กทม. และสำนักการโยธาธิการและผังเมือง ดังนั้นเราจะรีบไม่ได้ หรือช้าเกินไปก็ไม่ทันการ ขอให้เข้าใจตรงนี้และช่วยทำความเข้าใจต่อไปด้วย 

เมื่อถามว่า จะมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เรื่องนี้พูดคุยเรียบร้อยไปแล้ว โดยมาตรการเยียวยาจะอยู่ในความรับผิดชอบของ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือศบศ. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ได้ประชุมและมีมาตรการไปแล้ว 

เมื่อถามย้ำว่าผู้ประกอบการ ต่อว่าศบค. ทางโซเชียลที่ออกมาตรการช้า จะขอโทษผู้ประกอบการ และประชาชนอย่างไรบ้าง พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เราได้คุยกับสมาคมผู้ประกอบการก่อสร้าง และชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้ว และเขาก็รับทราบก่อนที่จะออกคำสั่ง เช่นเดียวกับร้านอาหารทางนายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่าได้รับแจ้งแล้วเช่นกัน แต่การสื่อสารอาจจะไม่ทั่วถึง ก็ต้องขออภัยที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน และประชนได้รับผลกระทบไปบ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือ จากผู้ประกอบการเหล่านี้ เพราะเราไม่อยากใช้มาตรการที่เข้มข้น ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ในเมื่อคณาจารย์แพทย์อาวุโส และเป็นระดับคณบดีแพทย์ศิริราช และมหาวิทยาลัยต่างๆ มาเสนอแนะด้วยตนเอง ศบค. ก็ต้องรับฟัง และปรับตามมาตรการที่เสนอ โดยจะพยายามดูให้ดีที่สุด ยืนยันว่าเราทำให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ เพราะขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกระจายไปตามต่างจังหวัดบ้างแล้ว พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ยอมรับว่ากังวล แต่กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำกับ เน้นย้ำ และควบคุมให้คนที่เดินทางไปจาก

กทม.เข้ารับการกักกัน หรือคุมไว้สังเกต ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ด้านกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งผ่านสาธารณสุขจังหวัด ให้ช่วย ควบคุม และเตรียมการป้องกันการแพร่เชื้อในพื้นที่ โดยต่อ จากนี้สธ. จะต้องประเมินสถานการณ์ว่า เมื่อครบ 15 วันแล้วสถานการณ์เป็นอย่างไร และอาจจะมีการผ่อนคลายได้ในบางกิจการ 

เมื่อถามว่า มีเสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัดต้องการความช่วยเหลืออะไรเพิ่ม เพื่อรองรับแรงงานที่กระจายเข้าไปในพื้นที่บ้างหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ตอนนี้ยัง เพราะเขาเตรียมพร้อมกันอยู่แล้ว โดยเราแจ้งเตือนไปตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายนแล้ว 

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน โดยแพทย์ให้คำแนะนำผ่านแอพพลิเคชั่น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มี เริ่มพิจารณาแล้ว แต่แนวทางของเราคือตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม เวลานี้สถานที่และอุปกรณ์มีเพียงพอ แต่ปัญหาคือบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าเราไปดึงจากต่างจังหวัด อาจจะทำให้พื้นที่นั้นขาดความพร้อม ส่วนแนวทางการรักษาตัวที่บ้านต้องมีมาตราการที่รอบคอบ เพราะถ้าไม่รอบคอบอาจมีอาการหนักขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงตรงนี้ และเวลานี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศหลักเกณฑ์แล้ว เหลือแค่พิจารณาระบบที่จะรองรับ เพราะทุกมาตรการที่จะออกไป ศบค. และศบศ. จะต้องทำอย่างรอบด้าน 

เมื่อถามว่าศบค. ได้หารือถึงการรับเรื่องร้องเรียน อาจมีการรวมตัวเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ได้หารือ เหมือนกัน แต่ทุกครั้งทุกคณะที่มายื่นเรื่อง เราก็รับตลอด ทั้งพนักงานนวดแผนโบราณ หรือศิลปะการบันเทิง เรารับฟังตลอด อะไรที่ผ่อนคลายได้ก็ดำเนินการ อะไรที่เยียวยาได้ ก็ฝาก ศบศ. ดำเนินการ เราพยายามดูแลทั้ง 2 มิติ และสามารถมายื่นได้ตลอด ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารก็ได้รับการเยียวยาอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ครบตามที่เสนอมาเท่านั้น และยืนยันว่าครั้งนี้ดูแลมากกว่าทุกครั้ง 

เมื่อถามว่า การประชุมรัฐสภา สามารถดำเนินการได้ปกติ หรือต้องขออนุญาตจากศบค. หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค. อนุญาตไว้แล้ว ส่วนจะประชุมหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภา ไม่เกี่ยวกับศบค. เราก็อนุญาตไปแล้ว

“กรณ์” ห่วงสถานการณ์โควิดกระทบเศรษฐกิจยาว หวั่นเปิดประเทศไม่ได้ใน 120 วัน หากไม่เพิ่มจำนวนการฉีดวัคซีน เสนอรัฐอัดฉีดเงินเยียวยาลูกจ้าง และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อเนื่อง 3 เดือน ชี้เม็ดเงินน้อยนิดเมื่อเทียบกับเงินกู้ 5 แสนล้านที่รัฐมีอำนาจในมือ

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์โควิด ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นแตะเกือบห้าพันรายต่อวัน ในขณะที่มีผู้หายป่วยออกจากโรงพยาบาลมีจำนวนประมาณ 3,000 ราย นั่นหมายความว่าจำนวนเตียงที่ว่างติดลบไปถึง 2,000 เตียง พรรคกล้าและอีกหลาย ๆ องค์กรที่ได้พยายามเป็นผู้ประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยทราบดีว่ามีความยากลำบากมาก โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายครอบครัวต้องเป็นทุกข์กับการรอเตียง

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ทำให้เราสัมผัสได้ว่า จำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ และทัศนคติที่มีต่อไวรัสแน่นอนว่า คำตอบสุดท้ายคือ การฉีดวัคซีน ซึ่งในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีน 250,000 เข็มต่อวัน ซึ่งเท่ากับ 7.5 ล้านเข็มต่อเดือน และภายในสิ้นปีก็จะฉีดได้ประมาณ 40 ล้านเข็ม เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่จะไปให้ถึง 100 ล้านเข็ม จึงยังห่างไกล ต้องปรับการฉีดให้ได้วันละ 500,000 เข็ม จึงจะเข้าเป้า และครอบคลุม

นอกจากนี้สิ่งที่น่าห่วง คือ การเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ ซึ่งหมายความว่าภายใน 4 เดือน ประชาชนคนไทยจะต้องเข้าถึงวัคซีนได้แล้ว 70% แต่หากยังฉีดกันในจำนวน 250,000 เข็มต่อวัน ไม่มีทางทันแน่นอน วันนี้รัฐบาลจึงต้องประเมินตามสถานการณ์ความเป็นจริง หากไม่ยอมรับความจริงก็จะไม่สามารถเตรียมมาตรการได้ทัน และจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมา หากเราเปิดประเทศได้ช้า

“หมดเวลาที่เราจะพยายามนำเสนอข่าวให้เข้าหู ว่าเป็นข่าวดี แต่เป็นจังหวะที่ผู้นำต้องกล้าที่จะพูดความจริงกับประชาชน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เร่งเตรียมตัว ในส่วนของการฉีดวัคซีน ถ้าเราจะเปิดประเทศให้ได้ ต้องฉีด 70% ของประชากร แต่อัตราที่ฉีดปัจจุบันไม่มีทางถึงแน่นอน และการฉีดเพียงเข็มเดียวก็ยังไม่สมควร

ประเด็นที่ท้าทาย คือ รัฐบาลจะบริหารจัดการให้เพียงพอและทันท่วงทีได้อย่างไร โดยเฉพาะสถานการณ์ผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น เตียงขาดแคลน ซึ่งเป็นภาวะที่หนักหนาสาหัสต่อระบบสาธารณสุขอย่างมาก เราจึงต้องมาปรับความคิดกัน แนวโน้มการทำมาหากินของคนไทยที่ต้องทนความยากลำบากกันไปอีกเท่าไร และจะต้องปรับตัวกันอย่างไร ต่อสัญญาณที่รัฐบาลส่งออกมา” นายกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าต้นตอการแพร่เชื้อส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมใต้ดิน และในส่วนของแคมป์คนงานก็เป็นเรื่องที่พวกเราได้ตักเตือนเจ้าหน้าที่ของรัฐมาหลายเดือนว่าให้ระมัดระวังว่าจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญ ซี่งหละหลวมมากในการตรวจสอบ กทม.ควรต้องมาตรวจสอบเชิงรุกว่ามีใครอาศัยอยู่ในแคมป์บ้าง ห้ามเข้าออก ห้ามเปลี่ยนคนงาน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้เข้มงวด จนทำให้กลายเป็นคลัสเตอร์การแพร่เชื้อ และการประกาศมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่รัฐประกาศออกมาล่าสุด ก็สร้างความอึดอัดให้กับประชาชนและผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่เขารู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเพราะไม่ใช่ความผิดเขาที่ระวังตัวกันมาตลอด แต่ต้องมารับเคราะห์กรรมจากมาตรการ ที่ทำให้เขาขาดรายได้อีกรอบ และเป็นการประกาศอย่างฉับพลัน ทำให้ร้านค้า ร้านอาหารตั้งตัวแทบไม่ติด เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้นการจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน หรือ 4 เดือน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ เริ่มมีนโยบายที่เข้าเป้า พรรคกล้าเรียกร้องมาโดยตลอดโดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหาร วันนี้รัฐบาลตั้งงบไว้ที่ 7,500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นงบจากกองทุนประกันสังคมที่มีผู้ประกันตนอยู่เกือบเจ็ดแสนคน ตามกฎหมาย โดยกำหนดให้พวกเขาได้รับสิทธิชดเชยรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ชดเชยรายได้สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท รวมถึงการจัดสรรเงินจาก เงินกู้ พ.ร.ก.ห้าแสนล้าน เพิ่มเติมให้รายละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายให้แค่ครั้งเดียวและเดือนเดียว

นอกจากนี้ รัฐจะเยียวยาให้ผู้ประกอบการเพิ่มเติมตามรายหัวลูกจ้าง โดยคำนวณตามสูตร ลูกจ้างจะได้รับเยียวยา 3,000 บาท เพดานสูงสุดไม่เกิน 200 คน หรือไม่เกิน 600,000 บาทต่อกิจการ เพื่อผ่อนหนักเป็นเบาในแง่ภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะเป้าหมายหลักที่เราเรียกร้องคือ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายเล็ก ก็มีลูกจ้างแค่หลักหน่วยหลักสิบ เพดานดังกล่าว น่าจะครอบคลุมได้ทั้งหมด

“นโยบายลักษณะนี้ มาถูกทาง แต่ไม่น่าเพียงพอ สำหรับลูกจ้าง การได้รับเงินชดเชย จากกองทุนประกันสังคมสูงสุด 7,500 บาท และเมื่อร่วมกับเงินสมทบทุนอีก 2,000 บาท หากคิดเป็นสัดส่วนรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน ก็ยังต่ำกว่าครึ่ง ไม่น่าเพียงพอ ต่อภาระค่าใช้จ่ายที่ทุกคนต้องมี และยิ่งมาตรการที่ประกาศให้เพียงแค่ 1 เดือน ยิ่งทำให้ผู้ประกันตนมีความกังวลว่าเมื่อพ้นเดือนไปแล้วเขาจะอยู่อย่างไร

ดังนั้น จึงอยากฝากไปถึง ครม.เศรษฐกิจ ที่พิจารณาเรื่องนี้ว่า ขอให้ขยายวงเงินและขยายเวลาในการช่วยเหลือ โดยวงเงินสมทบที่เหมาะสม คือ 5,000 บาท บวกกับเงินชดเชยรายได้สูงสุด 7,500 บาท ก็จะเป็นเงิน 12,500 บาท ก็น่าจะพอประทังชีวิตให้กับครอบครัวช่วงนี้ ผมคำนวณแล้ว ในแง่ภาระต่องบประมาณของรัฐเป็นวงเงินที่น่าจะแบกรับไว้ได้ เพราะวงเงินที่รัฐจัดสรรไว้เพื่อการชดเชยให้ผู้ประกันตน และผู้ประกอบการโดยรวมมีเพียงแค่ประมาณ 4,000 ล้านบาท งบที่รัฐบาลประกาศไว้รวมกับกองทุนประกันสังคมเป็นเงิน 7,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินกู้ 5 แสนล้าน มันน้อยมาก นี่คือวิธีการที่จะเยียวยาที่ถูกจุด ตรงเป้าที่สุด และต้องขยายเวลาไปเป็นสามเดือน และถ้าเป็นไปอย่างที่ผมเสนอขยายวงเงินจาก 2,000 เป็น 5,000 บาท รัฐจะต้องจัดสรรเงินเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท ต่อเดือน ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ ก็จะเพิ่มเป็น 15,000 ล้าน จาก 5 แสนล้าน ซึ่งเป็นอำนาจในมือที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ และจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อในรอบปัจจุบันแต่ต้องมารับเคราะห์แทน” นายกรณ์ กล่าว

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึง ภาพยาวที่รัฐบาลต้องเตรียมการไว้เพิ่มเติมสำหรับการเยียวยาพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการ คือ เท่าที่ดูสถานการณ์ โอกาสที่เราจะอยู่สถานภาพที่จะเปิดประเทศได้ใน 120 วัน อย่างเก่งคือ 50:50 อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า โอกาสจะไปอยู่ที่ในจุดนั้นน้อยมาก และหากวัคซีนมาช้า ภายในสิ้นปีก็อาจไม่ทัน และอาจทอดยาวถึงต้นปี หรืออาจจะถึงกลางปีหน้า เราต้องอดทนไปนานถึง 6 เดือน ถ้าโชคร้ายก็เป็นปี ในสถานการณ์ที่เป็นจริงเช่นนี้ รัฐบาลมีมาตรการอะไร เพื่อที่ประชาชนจะคลายความกังวลและสบายใจในการต่อสู้ได้บ้าง งบประมาณ 5 แสนล้านต้องใช้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเพียงพอในระดับที่มีความน่าเชื่อถือ ต้องคิดให้รอบด้านเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนว่ารัฐคิดเผื่อไว้สำหรับสถานการณ์ที่อาจเลวร้าย จังหวะนี้ การเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริง เรื่องของการสื่อสาร เรื่องของแนวโน้มโอกาส และการเตรียมมาตรการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ นายกรณ์ ยังได้หยิบยก ข้อเสนอ 5 ข้อ ที่พรรคกล้า ได้เคยนำเสนอไปแล้วเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งประกอบไปด้วย

1.) ควรเร่งเจรจากับ Platform online ที่ร้านอาหารทั้งหลายใช้เป็นช่องทางขายและจัดส่งอาหารอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการหรือ GP เกินร้อยละ 15 อย่างน้อยก็ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชน

2.) รัฐควรช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานในร้านอาหารเหล่านี้ร้อยละ 50 ในช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามมีลูกค้านั่งในร้านอาหาร

3.) งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง

4.) ผ่อนผันการผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยของผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยมาตรการงดผ่อนต้นผ่อนดอก ไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน

และ 5.) ในกรณีที่ร้านอาหารมีค่าเช่าพื้นที่ เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เจ้าของพื้นที่ควรลดค่าเช่าให้ด้วย อย่างน้อยร้อยละ 50 และเจ้าของพื้นที่สามารถนำส่วนลดที่ให้กับร้านอาหารเหล่านั้น ไปขอลดหย่อนภาษีจากทางรัฐบาลได้ ในรอบบัญชีถัดไป เพื่อเป็นการชดเชยและลดค่าใช้จ่ายให้ร้านอาหารที่ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน

“อยากฝากบอกว่า พรรคกล้า เราจะติดตามและเสนอแนะรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ เราเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็น เสนอแนะวิธีการที่จะช่วยให้เขาอยู่รอดได้ มีวิธีใดได้บ้าง บางส่วนก็นำไปสู่การปฏิบัติ บางส่วนก็ยังไม่ได้ทำ” นายกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

‘ศิริกัญญา’ จี้รัฐบาลหยุดล้วงกระเป๋าผู้ประกันตน เอาเงินกองทุนประกันสังคมไปจ่ายเยียวยาล็อกดาวน์ ถาม! เงินกู้สำหรับเยียวก็มีทำไมไม่ใช้

‘ศิริกัญญา’ ร้องหยุดเยียวยาเหลื่อมล้ำลักลั่น จี้รัฐบาลหยุดล้วงกระเป๋าผู้ประกันตน เอาเงินกองทุนประกันสังคมไปจ่ายเยียวยาล็อกดาวน์ ถาม! เงินกู้สำหรับเยียวก็มีทำไมไม่ใช้??? แถมไม่มีวี่แววจะคืนเงิน ซ้ำร้ายงบประมาณปีหน้าประกันสังคมถูกตัดอีก 2 หมื่นล้าน!

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยต่อสื่อมวลชน วิจารณ์มาตรการการเยียวยาล่าสุดหลังรัฐบาลออกคำสั่งล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้างและไม่อนุญาตให้นั่งในร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล

โดยนางสาวศิริกัญญากล่าวว่ามาตรการเยียวยาล่าสุด ที่เขียนออกมาได้ซับซ้อน มีเงื่อนไขซ้อนเงื่อนไขเต็มไปหมด เงื่อนไขสำคัญคือบริษัทอยู่ในระบบประกันสังคมหรือไม่ ทำให้การจ่ายเงินเยียวยาเกิดอาการลักลั่นโดยไม่จำเป็น กลายเป็นว่าลูกจ้างใหม่จะไม่ได้รับเงินเยียวยา เพราะเงื่อนไขการเยียวยาของประกันสังคมคือต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ส่วนคนที่นายจ้างไม่ได้เข้าประกันสังคมจะได้เงินแค่ 2,000 บาท

ถามว่ามันเป็นความผิดอะไรของลูกจ้างประกันสังคมใหม่? ถามว่ามันเป็นความผิดอะไรของลูกจ้างที่นายจ้างไม่ยอมเข้าระบบ? ถามว่าแรงงานข้ามชาติที่สมทบประกันสังคม จะได้เงินเยียวยาหรือไม่? ยังไม่ต้องพูดถึงร้านอาหารที่ไม่ได้เข้าประกันสังคม ยินดีด้วยคุณจะได้เงิน 3,000 บาทถ้วน 

โดยอีกประเด็นที่สำคัญ คือการที่รัฐบาลเลือกใช้มาตรการเยียวยาจากกองทุนประกันสังคม แทนที่จะใช้จากงบประมาณตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ “จากการลดสมทบกองทุนประกันสังคม 4 ครั้ง รวม 88,831 ล้านบาท และจากเยียวยาจากเหตุสุดวิสัย 2 ครั้ง รวม 11,400 ล้านบาท รวมแล้วใช้ไปกับโควิดประมาณ 100,321 ล้านบาท รวมครั้งนี้ด้วยก็จะเป็นเงินกว่า 103,731 ล้านบาท

ต้องย้ำอีกครั้ง เงินประกันสังคมเป็นการสมทบระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อดูแลสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานในปัจจุบันและอนาคต จึงไม่ใช่งบประมาณที่จะนำออกมาใช้เยียวยาในยามวิกฤติ ดังนั้นบอร์ดประกันสังคมที่นั่งอยู่ตอนนี้แล้วอนุมัติเงินให้รัฐบาลใช้ควรตระหนักไว้ด้วยว่าคุณกำลังขูดเลือดเนื้อผู้ประกันตนทั้งประเทศเพื่อนำเงินไปใช้ในสิ่งที่ผิดวัตถุประสงค์

ที่ผ่านมา รัฐล้วงเอาเงินกองทุนประกันสังคมไปมากแล้ว ทั้งๆ ที่ก็มีเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับคือ 1 ล้านล้าน และ 5 แสนล้าน พร้อมจ่ายเยียวยาให้ตรงวัตถุประสงค์อยู่แล้ว” นางสาวศิริกัญญากล่าว โดยรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะไม่วี่แววว่ารัฐบาลจะคืนเงินให้กองทุนประกันสังคมแล้ว ในร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2565 ประกันสังคมยังถูกตัดงบลงอีกเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

ฟาดไม่ยั้ง! รองโฆษก ปชป. สวน เรืองไกร ลามปาม‘ปธ.ชวน’ปมใช้รถลงพื้นที่แจกแมสก์ช่วยชาวบ้าน แนะสอบหัวหน้าพรรคตัวเองด้วย

นางสาวศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  ให้ข่าวจะร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบการใช้รถประจำตำแหน่ง ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานมูลนิธิเพื่อสังคมและการศึกษาลงพื้นที่แจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนที่ขาดแคลนใช้สำหรับป้องกันโควิด-19

โดยยืนยันว่า การลงพื้นที่ดังกล่าวของ ประธานรัฐสภา เป็นการเดินทางลงพื้นที่เพื่อพบปะและรับฟังปัญหาของประชาชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของประธานรัฐสภาเพราะปัจจุบันมีปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ

ดังนั้น การลงพื้นที่มอบหน้ากากอนามัยให้กับหน่วยงานราชการและประชาชนของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จึงถือเป็นการปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งหน้าที่ของประธานรัฐสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งประชาชนกำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนนั้นชอบด้วยกฎหมาย หากต้องการตรวจสอบเชื่อว่าท่านชวน เองก็ยินดี เพราะท่านเป็นแบบอย่างในการปฎิบัติตามกฎหมายมาโดยตลอด และท่านเองก็กำชับในการเดินทางทุกครั้งว่าให้เดินทางเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องมีคณะติดตาม จะมีก็แต่รถที่ช่วยขนของในยามกรณีที่จำเป็นเท่านั้น 

นางสาวศิริภา กล่าวว่า หากนายเรืองไกรว่างงาน หรืออยากสร้างผลงานให้กับพรรคใหม่ ที่ย้ายมา แนะนำให้เอาเวลาไปตรวจสอบหัวหน้าพรรคท่านเองด้วยว่าการใช้รถประจำตำแหน่งเดินทางไปยังมูลนิธิป่ารอยต่อทุกๆเช้านั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถือเป็นการใช้รถประจำตำแหน่งในภารกิจของมูลนิธิหรือเป็นภารกิจของรองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าหัวหน้าพรรคท่านเองก็คงยินดีให้มีการตรวจสอบเหมือนที่โดนตรวจสอบอยู่บ่อยครั้ง

ศ.ดร.กนก บี้ ประภัตร ฉีดวัคซีนวัวแก้โรคลัมปี สกิน หลังรับปากสภาเร่งแก้ไขตั้งแต่ 17 มิ.ย. ผ่านไปเกือบสองสัปดาห์ ไร้เงาปศุสัตว์ลงพื้นที่แก้ปัญหา แถมมีไอ้โม่งโผล่ รับฉีดวัคซีนตัวละ 500-700 บาท ถาม ปศุสัตว์จังหวัดทำอะไรอยู่ เกษตรกรรอไม่ไหวแล้ว

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ รีบแก้ปัญหาโรคลัมปีสกินกำลังระบาดหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกำลังแพร่ระบาดไปในหลายพื้นที่ ของประเทศ หลังรับปากที่ประชุมสภาไว้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ยืนยันจะเร่งเยียวยาเกษตรกรด้วยอัตราค่าเสียหายใหม่พร้อมกับจัดหาวัคซีนไปฉีดวัวโดยเร็วที่สุด แต่จนถึงวันนี้ (28 มิถุนายน) เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์แล้ว ที่รัฐมนตรีประภัตรบอกสภาว่า สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งจัดหาวัคซีนและไปฉีดวัคซีนให้วัวของเกษตรกรนั้น เกษตรกรยังไม่พบเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เลย

มีส.ส.จำนวนหนึ่งติดต่อสอบถามไปยังปศุสัตว์จังหวัดว่าเมื่อไหร่จะไปฉีดวัคซีนให้วัวของเกษตรกรในพื้นที่ คำตอบที่ได้รับจากปศุสัตว์จังหวัดคือ “กำลังทำแผนการฉีดวัคซีน” นับเป็นคำตอบที่ไม่ตรงกับคำถามคือ “เมื่อไหร่จะไปฉีดวัคซีน” คำถามคืออะไรเกิดขึ้นที่กรมปศุสัตว์และปศุสัตว์จังหวัด ในเวลาเดียวกันกลับมีบุคคลจำนวนหนึ่งลงไปรับจ้างฉีดวัคซีนวัวให้เกษตรกร โดยคิดค่าบริการตัวละ 500-700 บาท

“เกษตรกรต้องเห็นวัวของตัวเองตายไปทีละตัวสองตัว หลายคนวัวตายจนหมดแล้ว ทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งนอนร้องไห้ที่บ้าน และอย่างดีที่ทำได้คือบอกส.ส.ในพื้นที่ของตนเท่านั้นวิกฤตโรคลัมปีสกินเกิดขึ้นคู่ขนานกับโรคโควิด-19 ทั้งสองโรคมีหลักการแก้ปัญหาเหมือนกัน คือ ด้วยความเร็ว ความแม่นยำ ความทั่วถึงของการแก้ปัญหา ซึ่งดูเหมือนกรมปศุสัตว์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไปไม่ถึงการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและควรจะเป็น ถ้ากรมปศุสัตว์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก ผมขอเสนอข้อคิดง่าย ๆ และปฏิบัติได้ คือ

1.) อะไรที่ศบค.ทำถูกต้องให้ทำตาม

และ 2.) อะไรที่ศบค.ทำไม่ถูกต้องไม่ต้องทำซ้ำ เกษตรกรเลี้ยงวัวรอไม่ไหวแล้วจริง ๆ ครับ” ศ.ดร.กนก กล่าว

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. เขตบางขุนเทียน และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความเห็นต่อแนวทางบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการลักหลับออกคำสั่งปิดแคมป์แรงงานเป็นเวลา 30 วัน ว่า...

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. เขตบางขุนเทียน และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความเห็นต่อแนวทางบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการลักหลับออกคำสั่งปิดแคมป์แรงงานเป็นเวลา 30 วัน ว่า...

คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ออกมาเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่านี่คือเข้าสู่ระลอก 4 แล้ว โดยการกระจายเชื้อเกิดขึ้นเป็นวงกว้างไม่ใช่เฉพาะในแคมป์แรงงานหรือร้านอาหารเท่านั้น แต่สามารถจะพบได้จากชีวิตประจำวันในชุมชน หมู่บ้าน หอพัก คอนโดมิเนียม ที่ทำงาน แต่การสั่งที่เน้นลงไปที่แรงงาน เป็นเรื่องของการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่นั่งเป็นประธานสารพัดชุดเฉพาะกิจ ไม่ว่าจะเป็น ประธานศูนย์อำนวยการจัดการวัคซีนแบบ Single Command, ผู้อำนวยการ ศบค.กรุงเทพและปริมณฑล, ผู้อำนวยการ ศบค. และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ได้รวบอำนาจใน พ.ร.บ. ทั้ง 31 ฉบับจากสาธารณสุขและหน่วยงานมาไว้กับตนเอง ต้องการหาแพะมารับบาปแทนตัวเองที่ไม่สามารถบริหารสถานการณ์ได้ หรือต้องบอกว่าเป็นตัวการสำคัญที่ลากให้สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้

“การโทษไปที่แคมป์แรงงาน ก็เพื่อบอกชาวกรุงเทพว่าคนกลุ่มนี้เป็นต้นเหตุของตัวเลขที่พุ่งสูงในช่วงนี้ทั้งที่สถานการณ์ที่เป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้นเสียทั้งหมด ในสถานการณ์นี้ยังมีคนทำงานหรือคนกรุงเทพทั่วไปอย่างพวกเราที่ต้องออกไปทำงานแลกข้าว แลกอาหาร แลกค่าแรง ที่หยุดงานไม่ได้และยังสามารถที่จะกระจายเชื้อได้อยู่ดี แต่อาจเป็นเพราะแรงงานเป็นกลุ่มที่มีปากเสียงในสังคมน้อยอยู่แล้ว จึงทำให้รัฐบาลเลือกพวกเขามาเป็นเหยื่อรองรับอารมณ์ของสังคมแทนตัวเองในครั้งนี้ และพยายามตีเนียนหาวิธีลดตัวเลขผู้ติดเชื้อและการหาเตียงในกรุงเทพฯ ด้วยการลักหลักออกประกาศปิดแคมป์ตอนตี 1 เป้าหมายเพื่อให้เกิดความโกลาหลและให้คนรีบกลับต่างจังหวัดก่อนประกาศจะมีผลบังคับใช้จริง กรุงเทพฯ จะได้มีเตียงเหลือพอ

โร้ดแม็ปนี้เป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เองที่หลุดพูดออกมา การกระทำแบบนี้ต้องบอกว่าเลวร้ายมากเพราะนอกจากวิกฤติในกรุงเทพฯ จะไม่ลดแล้วยังจะเป็นการส่งเชื้อให้กระจายไปทั่วประเทศอีกด้วย และถ้าเกิดสถานการณ์นั้นเมื่อไหร่ เชื่อได้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะออกมาด่าตราหน้าพวกเขาว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งที่สถานการณ์นี้เป็นท่านเองที่สร้างมันขึ้นมาทั้งนั้น”

ณัฐชา กล่าวว่า การกระทำกับแรงงานเช่นนี้คือภาพสะท้อนอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลนี้มองคนไม่เท่ากันมาโดยตลอด และบริหารวิกฤติอย่างอำมหิต แรงงานคือคนอีกระดับที่จะถูกจัดการอย่างไรก็ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่แรงงานต้องการก็ไม่ต่างจากคนอื่นในประเทศนี้ เขาต้องการได้รับการตรวจที่รัฐบาลต้องตรวจเชิงรุก เขาต้องการพื้นที่กักตัวแยกตัวที่ได้รับการดูแลอย่างเป็นมนุษย์ไม่ใช่คุกสังกะสีที่เรียกว่าแคมป์คนงานที่มีทหารเฝ้าคุม เขาต้องการหมอพยาบาลและการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และเขาก็ต้องการการชดเชยเยียวยาอย่างสมเหตุสมผลเมื่อมีคำสั่งของรัฐมากระทบ ตนเชื่อว่า หากพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ ยอมรับ และเข้าใจ ไม่ว่ามาตรการจะเข้มงวดแค่ไหนเขาก็ยินดีจะปฏิบัติตาม

“ถ้ารัฐบาลมองคนเท่ากันจะไม่มีประกาศลักหลับเช่นนี้ออกมา สิ่งที่ผู้นำที่มีวุฒิภาวะทั่วโลกทำให้เห็นตลอด คือทุกครั้งที่เขาจะมีมาตรการใดออกมากระทบต่อพี่น้องประชาชน เขามักเริ่มต้นด้วยคำขอโทษ เริ่มต้นด้วยความเห็นใจและเริ่มต้นด้วยการชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากนั้นเขาจะพูดถึงวิธีการดูแลเยียวยาที่เขาจะทำเพื่อชดเชยผลกระทบเหล่านี้ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการแถลงข่าวอย่างยิ้มแย้มเล่นมุกกันในวันที่ผู้ติดเชื้อพุ่งไปกว่า 4,000 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการลักหลับออกคำสั่งโดยไม่พูดถึงการเยียวยาอะไรเลยและหายหน้าไปเพราะติดเสาร์อาทิตย์ ผมคิดว่าหากเราจะต้องมีผู้นำที่ไร้วุฒิภาวะเช่นนี้ สู้เราไม่มีเสียเลยจะดีกว่า เพราะถ้าไม่มีเรายังพอหาทางออกกันเองได้ แต่ถ้ามีแบบนี้ ต่อให้คนทั้งประเทศมีทางออก คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ นี่แหละที่จะขวางทางออกไปหาความหวังของประเทศนี้ตลอดเวลา”

ณัฐชา ยังได้กล่าวต่อว่า วิกฤตของพี่น้องแรงงานที่กำลังประสบในขณะนี้ตนเองสัมผัสได้ดีในฐานะที่เคยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และอยู่ในสายงานนี้มาตลอดตั้งแต่เรียนจบในฐานะเด็กอาชีวะคนหนึ่ง การสั่งแรงงานก่อสร้างหยุดทำงานเป็นเวลาหนึ่งเดือน มันคือ ‘คำสั่งตาย’ สั่งให้พวกเขาอด สั่งให้ขาดรายได้ และจะขาดลมหายใจในท้ายที่สุด คำสั่งที่ออกมาจึงเป็นเหมือนคำสั่งของคนที่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้เลย เหตุใดตนจึงกล้าพูดเช่นนี้ นั่นก็เพราะแรงงานก่อสร้างมากกว่าร้อยละ 90 คือผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน วันไหนที่ไม่ทำงานเท่ากับว่าไม่มีรายได้

ส่วนที่พักของคนงานจะถูกสร้างและออกแบบเพื่อนอนตอนกลางคืนอย่างเดียว เวลากลางวันอาศัยอยู่ไม่ได้เพราะก่อสร้างด้วยสังกะสี อากาศจะร้อนจนแทบสุก ปกติเขาจึงทำงานเกือบ 7 วัน น้อยมากที่จะอยู่ที่แคมป์นอกจากกลับมานอน

ดังนั้น เมื่อมีการสั่งพวกเขาห้ามทำงาน จึงเท่ากับสั่งให้เขาต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีรายได้ภายในแคมป์สังกะสีร้อน ๆ เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งแค่อยู่จริงแค่วันสองวันก็แทบอยู่ไม่ได้แล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเมื่อคำสั่งออกมาว่าจะต้องอยู่แบบนี้เป็นเดือน ๆ ทำไมเขาจึงตัดสินใจไปเสี่ยงตายเอาที่บ้านเกิดดีกว่า

“ล่าสุด ได้ยินว่าท่านจะชดเชยค่าแรงให้แค่ร้อยละ 50 เรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน แต่หนี้และดอกเบี้ยชัดมากและยังเดินเต็มที่ ปกติแรงงานยังสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการกินกับไซต์งานได้ แต่เท่าที่ทราบเรื่องกระทั่งเรื่องการดูแลอาหารการกินก็ยังไม่ชัดเจน ที่ร้ายกว่านั้นคืองบเยียวยาท่านยังจะไปเอามาเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้ จึงยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมมาก เพราะเงินก้อนนี้คือเงินของนายจ้างและลูกจ้างที่สะสมไว้เพื่ออนาคต ส่วนรัฐมีแต่ค้างหนี้ประกันสังคมอีกหลายหมื่นล้านบาท ไม่ยอมจ่ายแล้วยังจะไปล้วงเงินกระเป๋าของเขาเองแล้วบอกว่าเป็นเงินเยียวยาได้อย่างไร กู้เงินมาแล้วตั้งมากมายทำไมจึงไม่ใช้เงินของรัฐชดเชย เงินกองทุนประกันสังคมที่ควรจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของคนทำงานหรือเป็นบำนาญยามแก่เฒ่าของลูกจ้างกลับถูกรัฐบาลล้วงกระเป๋ามาใช้เพื่อแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของตัวเอง ถ้ายังทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ กองทุนประกันสังคมก็อาจมีความเสี่ยงที่จะล้มได้”

ณัฐชา ย้ำว่า ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และศบค. รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้ออกคำสั่งที่สิ้นคิดนี้ว่า จะต้องมีการชดเชยทันทีอย่างเต็มที่ การชดเชยในที่นี้คือการชดเชยรายได้ การรับผิดชอบต่อชีวิตข้างหลังของพวกเขา ไม่ใช่แค่การแจกอาหารแห้งให้ประทังชีวิต ภาระที่อยู่เบื้องหลังของคนงานก่อสร้าง คือครอบครัว พ่อแม่ ลูกเมีย หากพวกเขาไม่มีรายได้ อีกหลายชีวิตก็ไร้อนาคตเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กระทบเฉพาะแรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้ทั้งระบบ อย่างผู้รับเหมาก่อสร้างเองก็มีผลกระทบเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่ส่งมอบงานล่าช้าเขาก็ต้องจ่ายค่าปรับ ยังมีค่าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่แพงขึ้น หรือต้องสั่งใหม่ ต้นทุนเหล่านี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จนถึงตอนนี้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศอวดครวญ ร่ำร้อง เป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่ไหวแล้ว

การบริหารจัดการที่ล้มเหลวซ้ำ ๆ ของรัฐบาลเวลานี้ไม่ต่างอะไรเลยกับการบดขยี้ชีวิตของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เชื่อว่าสำหรับประชาชนตอนนี้คงเหลือแค่คำตอบเดียวเท่านั้นที่เขาอยากให้ความหวังเป็นจริงที่สุด นั่นก็คือ การได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไปเสียที


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ทบ. ระดมศักยภาพช่วยประชาฟันฝ่าโควิด พร้อมสนับสนุน สธ. เตรียม รพ.สนาม รับผู้ป่วย เดินหน้าฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กำลังพลและประชาชน ขณะที่ฌาปนสถาน ทบ. ประกอบพิธีศพผู้ติดเชื้อแล้ว 231 ราย

ร้อยเอกหญิง กัญญ์ณณัฐ พรนิพัทธ์กุล ผู้ช่วยโฆษก ทบ. เปิดเผยว่า กองทัพบกดำรงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหน่วยทหารทั่วประเทศได้จัดชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน (ชป.กร.) และอาสาสมัครกิจการพลเรือน (อส.กร.) ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสาธารณสุขของรัฐบาล อาทิ ร่วมรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิด-19 และบริการลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านช่องทางที่ สธ. กำหนด พร้อมแจกอุปกรณ์หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ให้กับประชาชน นอกจากนี้ในพื้นที่ที่พบการระบาดเฉพาะกลุ่ม (Cluster) หรือพื้นที่ที่ประชาชนประสบปัญหาการดำเนินชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพนั้น กำลังพลจิตอาสาและรถครัวสนามได้ลงพื้นที่ประกอบอาหารปรุงสุกแจกจ่ายให้กับประชาชน ดำเนินการตั้งแต่ 1 พ.ค.64 รวม 315,376 กล่อง พร้อมนำผลผลิตจากโครงการทหารพันธุ์ดีและพืชผลที่กองทัพบกได้อุดหนุนเกษตรกรรับซื้อจากไร่สวน มามอบให้กับประชาชนพื้นที่ดังกล่าว ช่วยเหลือเกษตรกรรวม 50,647 ราย

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านระบบสาธารณสุข กองทัพบกได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพบก” เพื่อเป็นสื่อกลางให้ความรู้คำแนะนำ และประสานข้อมูลระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ ผ่านเบอร์โทรศัพท์ 02-270-5685 ตลอด 24 ชม. ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 3 พ.ค.64 ถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการแล้ว 748 คู่สาย ส่วนผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อและพบผลบวกหรือเป็นผู้ติดเชื้อนั้น กองทัพบกโดยศูนย์เคลื่อนย้ายฯ ได้สนับสนุนรถพยาบาลรวมทั้งปรับยานพาหนะทางทหารที่มีอยู่และมีความเหมาะสม ในการรับ-ส่ง ผู้ติดเชื้อจากที่บ้านไปเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม และส่งกลับบ้านหลังครบกำหนดระยะเวลารักษาตามกระบวนการ สธ. รวมดำเนินการทั้งสิ้น 1,028 ครั้ง ขณะที่การสนับสนุนด้านสถานพยาบาลเพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยปัจจุบันยังคงพบยอดผู้ติดเชื้อกระจายตามพื้นที่ต่างๆ กองทัพบกจึงได้ปรับพื้นที่ในหน่วยทหารเป็นโรงพยาบาลสนามจำนวน 14 แห่งทั่วประเทศ สามารถรองรับได้ 2,317 เตียง ปัจจุบันมีผู้ครองเตียง 530 ราย ซึ่งยังคงมีปริมาณเตียงว่างเพียงพอต่อการสนับสนุน สธ.จังหวัด รับผู้ติดเชื้อในพื้นที่นั้นๆ ได้ 

ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 กองทัพบกยังคงสนับสนุนฌาปนสถาน ทบ. ทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง ได้แก่ วัดโสมมนัสวรวิหาร, วัดอาวุธวิกสิตาราม และวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต และส่วนภูมิภาค วัดสุทธจินดาวรวิหาร จ.นครราชสีมา สำหรับประกอบพิธีและฌาปนกิจศพอย่างต่อเนื่องให้กับครอบครัวที่มีความประสงค์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้การบริหารจัดการตามมาตรการป้องกันโรคของ สธ. ซึ่งปัจจุบันสามารถดำเนินการฌาปนกิจศพ ช่วยเหลือคลายความกังวลให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตไปแล้ว 231 ราย 

ในส่วนของมาตรการป้องกันสำหรับกำลังพลและครอบครัว กองทัพบกได้กำหนดมาตรการระดับบุคคล หน่วยทหารและประชาชนทั่วไป ควบคู่ไปกับมาตรการพิทักษ์พลและแนวทางของ ศบค. พร้อมมอบโรงพยาบาลในสังกัด 37 แห่ง ดำเนินการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับกำลังพลโดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานพื้นที่เสี่ยงตามแนวทางจัดสรรของ สธ. ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์, กกล.ป้องกันชายแดน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทหารใหม่ รวมได้รับวัคซีนแล้ว 56,234 นาย และจะดำเนินการต่อเนื่องตามที่ได้รับการจัดสรร ตลอดจนการเตรียมการฉีดวัคซีน-19 ให้กับทหารใหม่ผลัดที่ 1/64 ที่จะเข้ากองประจำการในวันที่ 1 และ 3 ก.ค.64 นี้ เพื่อสร้างความปลอดภัย เสริมความมั่นใจให้กับทหารใหม่และครอบครัว นอกจากนี้โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบกทั่วประเทศได้สนับสนุน สธ. จังหวัด ร่วมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมและโครงการที่รัฐบาลกำหนด ตั้งแต่ 7 มิ.ย.64 มีประชาชนผู้เข้ารับบริการรวม 36,350 ราย 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่กำชับให้หน่วยทหารระดมศักยภาพในทุกมิติ สนับสนุนรัฐบาล ลดภาระสาธารณสุข พร้อมช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ดูแลให้ปลอดภัยและสามารถดำเนินชีวิตปกติได้อย่างดีที่สุดภายใต้สถานการณ์วิกฤตนี้


 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top