Friday, 13 December 2024
ECONBIZ

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ผลิตชุดโซลาร์รูฟติดบ้านราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางขายปีหน้า หวังช่วยประชาชนพ้นบ่วงค่าไฟแพง

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ก.พลังงาน สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ผลิตต้นแบบอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางจำหน่ายปีหน้า ปลดภาระค่าไฟประชาชน 

เมื่อวันที่ (20 พ.ย. 67) ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปตรวจราชการ ณ  ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  เพื่อเยี่ยมชมการทดสอบเครื่อง Inverter ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  ที่เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) และห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ โดยมีคณะผู้บริหาร สวทช.ให้การต้อนรับ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การมาตรวจราชการครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับการลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนตามที่ตนได้เคยกล่าวไว้ 2 เรื่อง  นั่นคือ การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟ ให้ทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  และการจัดหาอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชนในราคาถูก  เพราะถึงแม้กระทรวงพลังงานจะพยายามตรึงค่าไฟไว้ที่ระดับ 4.18 บาท โดยไม่ได้ขยับขึ้นมาตลอด แต่ตนเข้าใจว่าปัญหาค่าไฟก็ยังเป็นภาระของพี่น้องประชาชนอยู่ ดังนั้น สิ่งที่จะลดปัญหาตรงนี้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ การปรับปรุงกฎหมาย และการจัดหาอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูก ซึ่งเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่สามารถประหยัดค่าไฟไปได้มาก

“ปัจจุบัน อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบโซลาร์ในท้องตลาดมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำต่อเนื่องจากการปรับปรุงกฎหมาย ก็คือ การผลิตอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ ที่เรียกกันว่า โซล่า รูฟ  ออกจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก และถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายในแนวทางนี้  โดยล่าสุด คณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้ผลิตต้นแบบของเครื่องอินเวอร์เตอร์ (Inverter)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้สำเร็จแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ ความเสถียร และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างครบชุดเพื่อจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนได้ในปี 2568 ที่จะถึงนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบที่นำมาทดสอบครั้งนี้ เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย  ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และเป็นหนึ่งในคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน  โดยเครื่อง Inverter ต้นแบบนี้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และมีแผนที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับพี่น้องประชาชนในราคาถูกในปี  2568 เพื่อช่วยลดภาระจากปัญหาค่าไฟแพงอีกทางหนึ่ง

"สิ่งที่ผมได้พูดไป  ผมทำจริงทุกเรื่อง กระทรวงพลังงานภายใต้การดำเนินนโยบายตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ของผม พูดจริง ทำจริงทุกเรื่อง และพร้อมทำให้เห็น ผมมั่นใจว่า เมื่อกฎหมายมี อุปกรณ์มี  พี่น้องประชาชนจะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาภาระค่าไฟที่เป็นอยู่ได้อย่างแน่นอน “ นายพีระพันธุ์ กล่าว

ททท. ผนึก EVA Air ขยายความร่วมมือต่อเนื่อง หนุนไทยสู่จุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก

'ศศิกานต์' เผย 'ททท. ร่วมกับ EVA Air ขยายความร่วมมือ 4 ปี' เดินหน้าผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก

เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.67) น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้ายกระดับเสริมมาตรการขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ EVA Air ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) ขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี กระตุ้นตลาดหลัก ทั้งระยะใกล้และระยะไกล ผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า การขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่าง ททท. และ EVA Air ครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากความร่วมมือครั้งก่อนในปี พ.ศ.2566 ด้วยศักยภาพของพันธมิตรสายการบิน EVA Air ที่มีเครือข่ายและบริการที่ครอบคลุมกลุ่มตลาดเป้าหมายทั่วโลก ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อเมริกาเหนือและยุโรป สามารถอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมายังประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายและเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถนำเสนอเสน่ห์ไทย วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และมิตรไมตรีอันอบอุ่นของคนไทยไปทั่วโลก รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว ขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

“ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของ EVA Air และ ททท. จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและยกระดับประสบการณ์การเดินทาง ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวแก่กลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดคุณภาพและกลุ่มตลาดใหม่” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ หารือผู้บริหาร Nokia ชวนร่วมพัฒนา 5G Application - จัดตั้ง Nokia Innovation Center ส่งเสริมทักษะแรงงานดิจิทัลในไทย 

เมื่อวันที่ (19 พ.ย.67) ตามเวลาสาธารณรัฐฟินแลนด์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงดีอี และ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองอำนวยการใหญ่ พร้อมคณะทำงานเข้าเยี่ยมชม Nokia Executive Experience Center ศูนย์แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5G/6G, IoT, Private Wireless, Cloud, Network Automation ณ เมืองเฮลซิงกิ โดยมี Mr. Karol Mattila, Head of Government Relations, Nokia ให้การต้อนรับ

โดย นายประเสริฐ พร้อมคณะได้รับฟังการบรรยายภารกิจการดำเนินงานของ Nokia Executive Experience Center และรับชม Tech Showcases ต่าง ๆ โดย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้เชิญชวน Nokia ร่วมพัฒนา หรือมีส่วนในการร่วมลงทุน 5G Application ในไทย และจัดตั้ง Nokia Innovation Center ในพื้นที่ Thailand Digital Valley อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่แรงงานและนักศึกษา พร้อมระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และมีนโยบาย Go Cloud First ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและรัฐสามารถเข้าถึงคลาวด์ มีการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจัดทำหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี และมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับทักษะดิจิทัลแก่กำลังคนและบุคลากรของประเทศ

จากนั้นนายประเสริฐ พร้อมด้วย นางสาวชวนาถ ทั่งสัมพันธ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐฟินแลนด์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Ville Tavio, Minister for Foreign Trade and Development ณ Ministry for Foreign Affairs of Finland พร้อมหารือแนวทางการสานต่อความร่วมมือการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล และการสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย

ทั้งนี้มีการหารือประเด็นการพิจารณาต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ลงนามไว้ระหว่าง กระทรวงดีอี กับ The Ministry of Transport and Communications ฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 และมีการต่ออายุเมื่อปี 2565 แต่ปัจจุบัน MOU ดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาเดิมให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาทักษะดิจิทัล การแบ่งปันข้อมูล และการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความประสงค์ให้เกิดการต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว และจะเพิ่มเติมเนื้อหาด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติของไทย อาทิ การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การยกระดับระบบนิเวศดิจิทัลสตาร์ทอัพ และการเชิญชวนให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของฟินแลนด์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดยกรณีดังกล่าว Mr. Tavio เห็นด้วยและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือต่อเนื่อง พร้อมแสดงความเห็นในประเด็นการสนับสนุนการลงทุนว่า นอกเหนือจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของฟินแลนด์อย่าง Nokia ที่มีการลงทุนและดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยแล้ว ยังมีการลงทุนอื่น เช่น การตั้งฐานการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของ Salo Tech (Thailand) Ltd. บริษัทโซลาร์เซลล์สัญชาติฟินแลนด์ที่เข้ามาลงทุนและดำเนินกิจการในจังหวัดระยอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไทยและฟินแลนด์ โดยความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาด้านพลังงานสะอาด และเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai – EU FTA) ในด้านเศรษฐกิจและการค้าดิจิทัล ซึ่งจะช่วยรองรับและผลักดันนโยบายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของกระทรวงอีกด้วย

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา รับฟังปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรมว. พลังงาน พร้อม ‘เจือ ราชสีห์’ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา รับฟังปัญหากำจัดและแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า

เมื่อวันที่ (18 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา นายสมโภชน์ โชติชูช่วง นายปรีชา สุขเกษม และคณะได้เดินทางมารับฟังและดูโรงงานกำจัดและแปรรูปขยะเป็นไฟฟ้า บริษัท จีเดค จำกัด ซึ่งได้สัมปทานจากเทศบาลนครหาดใหญ่ และตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานสั่งหยุดดำเนินงานเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหามาอย่างต่อเนื่อง 

“ทางออกของปัญหาเรื่องนี้คือการให้เทศบาลนครหาดใหญ่สั่งเลิกสัญญากับทางบริษัท จีเดด จำกัดซึ่งเป็นคู่สัญญาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญาเพื่อที่จะให้รายใหม่เข้ามาดำเนินการจัดการขยะร่วมกับเทศบาลต่อไป” นายพีระพันธุ์ กล่าว

กรมธุรกิจพลังงาน ลงนามร่วม กพพ. -กฟน.-กฟภ. ผสานกำลังกำกับดูแลสถานีชาร์จไฟฟ้ารถอีวี

กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จับมือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

(20 พ.ย. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน พร้อมด้วยนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นางสาวภัทรา สุวรรณเดช รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง และนายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MOU) เรื่อง การกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงานการอนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

นายสราวุธ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอนุมัติ อนุญาต ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน 

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทางหน่วยงานทั้ง 4 จะทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวกับการขออนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการอนุมัติ อนุญาต ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ได้อย่างมั่นใจ มีความปลอดภัย และยังเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 30@30 ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ

‘เอกนัฏ’ ยกทีมบุกญี่ปุ่น ถก 2 กระทรวง - 7 เอกชนใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นลงทุนยานยนต์ - พลังงานสะอาดในไทย

‘เอกนัฏ’ เปิดทริปโรดโชว์แรกรับปีงบประมาณ 2568 หวังดึงการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่น เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมหารือ METI และ MOEJ ตอกย้ำศักยภาพการเป็นฐานการผลิตของไทย และนัดหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย

(20 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2567 มีกำหนดเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว (Tokyo) พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานสำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การใช้พลังงานสะอาด และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีกำหนดการเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ โตโยต้า มาสด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฮอนด้า อีซูซุ และมูราตะ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

“การเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของทั้งสองประเทศ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ถึงโอกาสทางธุรกิจ การลงทุน และความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งมั่นเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในไทยสำหรับเอกชนญี่ปุ่นตามคำแนะนำและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากภาคเอกชนญี่ปุ่น โดยไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยและมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

ปตท. เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ - หาพันธมิตรที่เหมาะสม เสริมความแข็งแกร่งบริษัทในเครือทั้งธุรกิจต้นน้ำ - ปลายน้ำ

ปตท. เร่งปรับโครงสร้างรับมือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคปัจจุบัน จ้างที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในบริษัทลูกเกี่ยวกับปิโตรเคมีและโรงกลั่น รวมทั้งหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต คาดแนวทางปรับโครงสร้างจะเสร็จในเดือน ธ.ค. 2567 นี้

เมื่อวันที่ (19 พ.ย. 67) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ได้ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เข้ามาช่วยศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทลูกของ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจหลักคือ ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น รวมถึงการหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้คาดว่าแนวทางการปรับโครงสร้างจะเสร็จประมาณกลางเดือน ธ.ค. 2567 นี้ และมีความชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2568 ส่วนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2568 ปตท. จะกลับมาเน้นในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจต้นน้ำที่ยังมีการเติบโตได้ดี และเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization)

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 คาดว่าในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) มีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 2567 โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้การดำเนินงานของ ปตท.สผ. คาดปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อผลประกอบการ ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าจะยังทรงตัว โดยได้ผ่านจุดต่ำสุดของธุรกิจขาลงในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 ไปแล้ว ส่วนธุรกิจโรงกลั่นฯ จะยังคงมีกำไรต่ำอยู่ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้น ยังต้องติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไป

“ปี 2568 ปตท.จะยังมุ่งลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีนี้ ทำได้ราว 8% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 5% ขณะเดียวกับจะรักษาการทำกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

ส่วนแผนลงทุน 5 ปี ของ ปตท.(ปี 2568-2572) ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการปรับพอร์ตธุรกิจใหม่ของปตท. คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด ปตท.ได้ในช่วงเดือน ธ.ค. 2567 จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับวงเงินลงทุน 5 ปี  ได้ภายในกลางเดือน ธ.ค. 2567 นี้ โดยเบื้องต้นงบลงทุนจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) อย่างธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ ปตท.สผ. จะต้องเร่งขยายการลงทุนหาแหล่งผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม และธุรกิจก๊าซฯ ที่จะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯในอนาคต เป็นต้น

ด้านการขับเคลื่อนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผู้รับเหมาช่วงของโครงการฯ นั้น บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ส่งทีมงานเข้าไปให้คำแนะนำ รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายให้รอบคอบ และ ไทยออยล์ ปัจจุบันก็ยังประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลกำไรที่ดี มีสถานะการเงินที่พร้อมจะเดินหน้าการลงทุนต่อ ซึ่งโครงการ CFP ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดประโยชน์ในอนาคต ดังนั้นโครงการนี้จะต้องเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จ แต่จะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไปนั้น ทางไทยออยล์ จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ต่อไป

‘คงกระพัน’ เผยผลประกอบการ ปตท. 9 เดือน ยังแข็งแกร่ง เดินหน้ารุกธุรกิจคาร์บอนต่ำ หนุนเติบโตรับกระแสพลังงานโลก

(19 พ.ย. 67) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2 % เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยหลักจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ในเดือนมีนาคม2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น 

แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มี Market GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% แบ่งเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล

ทั้งนี้ ซีอีโอ ปตท. ยังได้เน้นย้ำเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างสมดุล มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) สอดรับกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจพลังงานโลก  ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ Climate Resilience Business ปรับ Portfolio ธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน Carbon-Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All 

พร้อมทั้ง ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า ซึ่งสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีได้ขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการของเสีย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนการบูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ในการร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

อย่างไรก็ดี นอกจากพันธกิจหลักในการรักษาเสถียรภาพทางพลังงานแล้ว ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ได้ร่วมช่วยเหลือและดูแลสังคม เร่งบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์วิกฤต โดยได้ส่งมอบความช่วยเหลือแก่พี่น้องผู้ประสบเหตุอุทกภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม ประกอบด้วย ถุงยังชีพ 25,170 ถุง น้ำดื่ม 81,740 ขวด ยารักษาโรค ผ้าห่ม เรือพาย และก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร รวมมูลค่ากว่า 15.73 ล้านบาท อีกทั้งได้ส่งทีมปฏิบัติการ PTT Group SEALs ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง พร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการมอบถุงยังชีพ อพยพประชาชน และน้ำมันเชื้อเพลิงในการฟื้นฟูพื้นที่และบ้านเรือนในจังหวัดสุโขทัย เชียงราย และเชียงใหม่อีกด้วย

“ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ควบคู่กับการดูแลสังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว

พร้อมกันนี้ ดร.คงกระพัน ยังได้กล่าวถึงธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งบริษัทได้ร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn Group)  ผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก สัญชาติไต้หวัน เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิต EV ในประเทศไทย ด้วยว่า ปัจจุบันโรงงานได้หยุดดำเนินการไปก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร เนื่องจากมีความต้องการให้พันมิตรดังกล่าว เป็นผู้ดำเนินการหลัก เพราะมีความเชี่ยวชาญ โดยหากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง

ก่อนหน้านี้ PTT ลงนามความร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn Group) โดยอนุมัติให้ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) บริษัทย่อย PTT จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn)ภายใต้บริษัท JV ชื่อ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus) โดย Arun Plus ถือหุ้น 60% และ Lin Yin ถือหุ้น 40%

กต. เปิดตัวตราสัญลักษณ์ ครบรอบสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูตสองชาติ

(19 พ.ย. 67) กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานเปิดตัวตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สุราลัย ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม 

งานนี้จัดขึ้นร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ โดยได้รับเกียรติจากนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเป็นประธานในงาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน รวมถึงสื่อมวลชนจากหลายแขนงที่มาร่วมงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดงานว่า ความสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-จีนที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและมั่นคงตลอด 50 ปี นับตั้งแต่การลงนามในแถลงการณ์ร่วมในปี 2518 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมีความร่วมมือที่ไม่เคยหยุดยั้ง แม้ว่าโลกและสถานการณ์ภายในประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลง และถือเป็นความสำเร็จสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศที่ครบรอบ 150 ปีการสถาปนาในปี 2568 เช่นกัน

งานนี้ยังมีการเสวนาจากผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี และบทบาทของหน่วยงานในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทย-จีน

กระทรวงการต่างประเทศยังได้ประกาศความร่วมมือพิเศษกับ POP MART INTERNATIONAL GROUP LIMITED ในการจัดทำ Dimoo รุ่น Limited Edition ที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งจะเปิดตัวในปี 2568

ภายในงานยังมีการแสดงพิเศษจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในชุด 'ตอแบ๋ตั่วะ' ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ของคณะงิ้วสตรีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และการแสดงจากศิลปินพิเศษ 'นนกุล' ที่ได้รับความนิยมทั้งในไทยและจีน

ตราสัญลักษณ์ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ถูกออกแบบร่วมกันโดยกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ โดยใช้ภาพพญานาคและมังกร สัตว์มงคลของทั้งสองประเทศ มารวมกันเป็นเลข 50 ซึ่งแสดงถึงการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

หน่วยงานต่าง ๆ ที่จะนำตราสัญลักษณ์นี้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ได้ตามความเหมาะสมในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนนี้

‘สุริยะ’ ลุยแก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงช่วงปีใหม่ ถก 6 สายการบินเพิ่มไฟล์ทอีก 247 เที่ยวบิน

(19 พ.ย. 67) ‘สุริยะ’ ลุยแก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพงช่วงเทศกาลปีใหม่ หารือ 6 สายการบินเพิ่ม 247 เที่ยวบิน เพิ่มที่นั่งอีก 73,388 ที่นั่ง เตรียมเปิดให้จองได้ตั้งแต่ 18 พ.ย. 67 มอบ ทอท.-ทย. ขยายเวลาสนามบินช่วงเช้าและดึก กำชับ กพท.ติดตามราคาตั๋วอย่างใกล้ชิด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ตั๋วเครื่องบินมีราคาสูงในช่วงปลายปี และเทศกาลปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 27-28 ธันวาคม 2567 และวันที่ 1-2 มกราคม 2568 เนื่องจากมีความต้องการเดินทางมากกว่าปกติประกอบกับสายการบินยังมีจำนวนอากาศยานน้อยกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ประมาณ 76 ลำ หรือคิดเป็น 25% ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการโดยสารด้วยเครื่องบินโดยตรง

ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ติดตามสถานการณ์ค่าโดยสารอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้หารือร่วมกับสายการบินและหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการในการเดินทาง และแก้ปัญหาราคาตั๋วแพงในช่วงวันหยุดยาว พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายเตรียมการเพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วย

ล่าสุดได้รับความร่วมมือจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย สายการบินบางกอกแอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท จัดทำแผนเพื่อเพิ่มเที่ยวบิน รวมถึงปรับชนิดอากาศยานให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อทำการบินทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครพนม เชียงใหม่ เชียงราย น่าน กระบี่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี และสมุย

ในการนี้ สมาคมสายการบินประเทศไทยจะมีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น 247 เที่ยวบิน และมีจำนวนที่นั่งเพิ่มถึง 48,244 ที่นั่ง ซึ่งจำนวนที่นั่งที่เพิ่มมานี้จะมีตั๋วราคาไม่สูงรวมอยู่ด้วย และจะเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2567 ถึง 5 มกราคม 2568 โดยตั๋วเที่ยวบินพิเศษที่เพิ่มมานี้จะเข้าสู่ระบบการขายตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567

ส่วนบริษัทการบินไทย จะมีการปรับขนาดอากาศยานเพื่อให้มีจำนวนที่นั่งมากขึ้นในบางวัน ในเส้นทาง ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2567 ไปจนถึงต้นเดือนมกราคม 2568 และทำให้มีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวถึง 25,144 ที่นั่ง ดังนั้นจึงมีที่นั่งเพิ่ม 73,388 ที่นั่ง

นอกจากนี้ ได้ให้ กพท.ประสานหน่วยงานด้านการบินทั้งสายการบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท การบินกรุงเทพ และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เพื่อวางแผนจัดสรรตารางเวลาการบินของสนามบิน และขอขยายเวลาการให้บริการเพื่อให้สายการบินสามารถทำการบินได้มากขึ้นทั้งช่วงเช้าและช่วงดึก และขอให้สนามบินที่มีการจราจรคับคั่งผ่อนผันเวลาการเปิดให้บริการเพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง โดยเฉพาะวันที่ 27-28 ธันวาคม 2567 และวันที่ 1-2 มกราคม 2568 ซึ่งจะเป็นช่วงมีการเดินทางสูงกว่าช่วงเวลาปกติ

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนวางแผนการเดินทางในช่วงเทศกาล เนื่องจากจะมีความต้องการในการเดินทางสูงกว่าช่วงเวลาปกติ จึงทำให้ตั๋วโดยสารมีราคาสูงขึ้นตามความต้องการ รวมทั้งขอให้ตรวจสอบราคาค่าโดยสารผ่านช่องทางต่างๆ ก่อนทำการซื้อ โดยเฉพาะการซื้อผ่านตัวแทนออนไลน์หรือ OTA ในเวลากระชั้นชิด ที่อาจพบราคาตั๋วที่สูงกว่าปกติ

และแนะนำให้ซื้อตั๋วโดยสารตรงกับเว็บไซต์ของสายการบินเนื่องจากมีการควบคุมราคาเพดานค่าโดยสารจาก กพท. รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุเปลี่ยนแปลงการเดินทางหรือต้องการการชดเชยกรณีต่างๆ ผู้โดยสารจะสามารถประสานโดยตรงกับสายการบินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดย กพท.จะทำการตรวจสอบราคาค่าโดยสารในช่วงเทศกาลอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ค่าโดยสารเกินกว่าราคาเพดานที่กำหนด หากประชาชนพบเห็นการขายตั๋วเครื่องบินเกินเพดาน สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ https://portal.caat.or.th/complaint/

อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ผู้โดยสารเผื่อเวลาในการเดินทางไปสนามบิน เนื่องจากช่วงเทศกาลจะมีปริมาณการเดินทางหนาแน่น และขอให้ผู้โดยสารติดตามข่าวสารจากทางสายการบิน ศึกษาเรื่องเอกสารที่ต้องใช้ในการเดินทาง รวมถึงสิทธิของผู้โดยสารหากเที่ยวบินล่าช้า หรือถูกยกเลิก ได้จากจุดประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจและสามารถผ่านจุดตรวจต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น

อนาคตอันสดใสของปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ด้วย กม.ใหม่ของ ‘พีระพันธุ์’ รับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมายาวนาน กระทั่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่า ไทยเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของโลก แต่ในความเป็นจริงตลอดเวลาที่ผ่านมาการเกษตรของไทยในภาพยังขาดการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบเลย แม้กระทั่ง ‘ข้าว’ อันเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักซึ่งถือเป็นเรือธง (Flagship) ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าทางการเกษตรก็ตาม โดยพิจารณาจากความทุกข์ยากลำบากของชาวนาส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีจำนวนมากที่สุดของไทยแต่รายได้จากการทำนาปลูกข้าวกลับไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทั้ง ๆ ที่ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ ชาวนาส่วนใหญ่ต้องตกเป็นลูกหนี้ของพ่อค้า นายทุน และธกส. เรื่อยมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวข้องตรงทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ 

ในขณะที่ ‘อ้อย’ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอ้อย และ น้ำตาลทราย ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ และ วางแผนการการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึง วิเคราะห์ วิจัย เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย

และมีสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้คณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม ศึกษา วิจัย และพัฒนา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามนโยบายของประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย โรงงาน และผู้บริโภค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ‘อ้อย’ จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการดูแลจากสองหน่วยงานดังกล่าว และวงจรของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้แทบจะไม่มีปัญหาและสร้างรายได้มหาศาลแก่ทุกภาคส่วนในวงจรดังกล่าว ซึ่งแตกต่างไปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับข้าวโดยสิ้นเชิง เพราะวงจรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างมากมายคือ ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ค้าข้าว ส่วนชาวนาผู้ข้าวยังคงทุกข์ยากลำบากและมีหนี้สินเช่นที่ได้เล่าแล้ว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับปาล์มน้ำมันในไทยก็มีความคล้ายคลึงกับข้าว แต่ด้วยเป็นพืชที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าและแปรรูปเป็นผลผลิตได้มากกว่าเช่นกัน โดยสามารถนำมาแปรรูปทำเป็นทั้งในรูปแบบของน้ำมันพืชที่ใช้ในการประกอบอาหาร และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีมและเนยเทียม เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน ไบโอดีเซล รวมถึงเป็นส่วนผสมเพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งยังสามารถแปรรูปเป็น สบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนอาหารสัตว์ ด้วยการนำใบมาบดเป็นอาหารสัตว์ กะลาปาล์มสามารถทำเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิง ทะลายปาล์มใช้เพาะเห็ด และกระทั่งการปลูกลงดินไปแล้วก็ช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

การผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ของไทยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ในระยะแรกภาครัฐกำหนดให้มีการผสมในอัตรา 2-3% เรียกว่า B2 ในปี พ.ศ. 2555 การผสมไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 5% (B5) และเพิ่มเป็น 7% (B7) ในปี พ.ศ. 2557 ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลลงในบางช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศมีไม่เพียงพอ (ปี พ.ศ. 2558-59) และปรับเพิ่มสัดส่วนในช่วงที่มีผลผลิตส่วนเกินของปาล์มน้ำมัน (ปี พ.ศ. 2561-62) ทั้งนี้ ไบโอดีเซลจะเน้นผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ 

การนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสมเพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ เนื่องจากกระบวนการอุดหนุนเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานจนทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่า กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งที่ความจริงแล้วความช่วยเหลือต่อเกษตรกรเป็นเพียงผลพลอยได้ ด้วยภารกิจของกระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรเลย แต่ต้องรับผิดชอบดูแลสืบเนื่องมาจากนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพได้ถูกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาแล้ว ทั้งยังไม่มีหน่วยงานอื่นใดร่วมช่วยคิดเพื่อแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องรับหน้าที่ดังกล่าวเพื่อช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกรต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล โดยปี พ.ศ. 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะชดเชย ซึ่ง ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นว่า ‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยังไม่มีการจัดการวงจรของปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ จึงมักจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยที่ ‘รองพีร์’ และคณะทำงานจึงได้ทำการศึกษาแล้วเห็นว่า การนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาล ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาล จึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อยกร่างกฎหมายที่คล้ายกันกับพ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายสำหรับปาล์มน้ำมัน โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ ‘สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย’ และ ‘สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย’ ในบริบทของ ‘ปาล์มน้ำมัน’ เพื่อกำกับ ดูแล และสนับสนุนวงจร ‘ปาล์มน้ำมัน’ และ ‘อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ’ จะทำให้ ‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตที่สดใสต่อไป

MASTER ผนึก “Lumeo Health” พาร์ตเนอร์อินโดนีเซีย ปักธง ผู้นำศัลยกรรมความงามแห่งภูมิภาคอาเซียน

(18 พ.ย. 67) บมจ. มาสเตอร์ สไตล์ หรือ “MASTER” ปักธงก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางศัลยกรรมความงามแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศร่วมมือ “Lumeo Health” พาร์ตเนอร์อินโดนีเซีย ตอกย้ำการขยายตลาดภูมิภาค – เสริมศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย - ขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจต่อเนื่อง เพิ่มการแข่งขันในระดับภูมิภาค ผลักดันอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงาม และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช Specialty Hospital ผู้นำอุตสาหกรรมด้านความงามของประเทศไทยและเอเชีย กล่าวว่า MASTER GROUP มุ่งมั่นที่จะขยายการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในด้านศัลยกรรมความงามและการแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงมีการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อ และความนิยมในหัตถการความงามในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ความต้องการบริการขยายตัวอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ยังมีการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ เช่น อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชา ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการมอบบริการที่มีคุณภาพระดับสากล โดย MASTER ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางศัลยกรรมความงามแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"มองว่าตลาดภูมิภาคมีการเติบโตสูง และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของทั้งนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และคนในท้องถิ่นที่หันมาสนใจศัลยกรรมและความงามมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศอย่างอินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา และไทย ซึ่งประชากรที่มีกำลังซื้อสูง มีความสนใจการทำศัลยกรรมความงามเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเราได้เห็นถึงความสำเร็จจากการขยายฐานลูกค้าและการเติบโตที่โดดเด่นของกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่าย Influencer และช่องทางการตลาดออนไลน์ที่ช่วยสร้างความรู้จัก และเพิ่มความไว้วางใจให้กับ MASTER ในฐานะศูนย์กลางศัลยกรรมความงามระดับภูมิภาค โดยเรามุ่งเน้นการนำเทคนิคทางการแพทย์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการให้บริการ และขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับภูมิภาค" นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าว

นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER กล่าวว่า ต่อจากนี้จะเริ่มเห็น MASTER ก้าวเข้าสู่การเป็น "Regional  Company" โดยจะมีความร่วมมือกับ MASTER PARTNER ในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความแข็งแกร่งของบริษัทไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย MASTER ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ หรือ MOU กับ Lumeo Health ซึ่งบริษัทจัดตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย โดยมีสำนักงานในจาการ์ตา ซึ่ง Lumeo Health โดดเด่นในฐานะที่ปรึกษาศัลยกรรมความงามและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่ครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับการเติบโตภายในประเทศของบริษัทฯ ถือว่าแข็งแกร่ง โดย MASTER GROUP มีจุดให้บริการมากกว่า 90 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่สำคัญๆ ในทุกภูมิภาค โดยให้บริการที่ครอบคลุมความต้องการในทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งด้านศัลยกรรมความงามและการแพทย์เฉพาะทาง ถือเป็นจุดแข็งของเราในการตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

Dr. Queencha Chaidy, Chief Executive Officer Lumeo Health กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานกับโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช Specialty Hospital ผู้นำอุตสาหกรรมด้านความงามของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าการลงนาม MOU ครั้งนี้จะเป็นการผนึกกำลังอีกขั้นของการพัฒนาด้านศัลยกรรมความงาม ให้เติบโตในระดับภูมิภาค

ก.อุตสาหกรรม ติดปีก SME กว่า 200 ราย หนุนเพิ่มขีดการแข่งขันด้านดิจิทัลดันธุรกิจโตยั่งยืน

(18 พ.ย. 67) กระทรวงอุตสาหกรรม ลุยโครงการพัฒนา SME ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เดินหน้าเต็มสูบหนุนเอสเอ็มอีด้วยโครงการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) และโครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Productivity) ด้วยการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสการค้าของ SME สู่ตลาดสากล คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 62 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยุคใหม่ที่มีความผันผวน คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ธุรกิจ SME ไทย จำเป็นต้องปรับตัว รับมือ Digital Disruption และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจากผลสำรวจ SME Digital Maturity Survey 2023 ชี้ชัดว่า SME ไทย อยู่ในระดับ "Digital Follower" พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในระดับ ปานกลาง โดยเฉพาะ SME ขนาดกลางและภาคการผลิตที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ด้านการตลาด การเงินและบัญชี และการขายมากที่สุด

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ขานรับนโยบายในการสนับสนุน SME โดยได้อัดฉีดงบกว่า 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนา SME ไทย จำนวนกว่า 200 ราย ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่ม ลดต้นทุน และรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่าน 2 โครงการสำคัญ คือ 1. โครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ SME ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจและ การบริหารจัดการโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเอสเอ็มอีจำนวน 100 กิจการ ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีความต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 2. โครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Productivity) เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยมีเอสเอ็มอีจำนวน 100 กิจการ ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่นที่มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำปรึกษาแนะนำเพื่อปรับใช้และเตรียมความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ยั่งยืน รวมไปถึงการสนับสนุนด้านเงินทุน ผ่านสินเชื่อ จากกองทุนฯ เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เพิ่มรายได้และขยายโอกาสการค้าของ SME ที่เข้าร่วมโครงการสู่ตลาดสากล คาดจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 62 ล้านบาท

“การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ที่ต้องการให้ “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน มุ่งสู่เป้าหมายยกระดับ SME ไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมรับมือทุกความท้าทาย โดยเสริมสร้างความสามารถทางด้านดิจิทัล ความพร้อมในด้านการผลิตที่ยั่งยืน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังสามารถติดตาม ประเมินผล ด้วย Green Productivity Measurement ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถก้าวไกลได้บนเวทีโลก” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

‘รองนายกฯ พิชัย’ นำทีมบีโอไอ บุกโรดโชว์จีน เร่งดึงลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ – อิเล็กทรอนิกส์

(18 พ.ย. 67) “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี นำทีมบีโอไอ เยือนมหานครเซี่ยงไฮ้ เร่งช่วงชิงโอกาสดึงการลงทุน ในจังหวะเวลาที่บริษัทจีนจำนวนมากเกิดความกังวลจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา เดินหน้าจัดสัมมนาใหญ่ พร้อมพบบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ และอิเล็กทรอนิกส์ ยกระดับไทยเป็นฐานผลิตสำคัญของจีนในภูมิภาคอาเซียน เผย 9 เดือน จีนยื่นขอลงทุนไทย 554 โครงการ มูลค่ากว่า 1.14 แสนล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะนำคณะบีโอไอ พร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชน เดินทางไปโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะพบหารือกับนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ในวาระที่จะครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี 2568 พร้อมผนึกกำลังองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจีน (China Council for the Promotion of International Trade: CCPIT) และ Bank of China จัดงานสัมมนาใหญ่ “Thailand – China Investment Forum 2024” ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่นครเซี่ยงไฮ้ เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจีนให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนากว่า 500 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ดิจิทัล เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุ เป็นต้น  

ภายในงานสัมมนา รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการบีโอไอ จะนำเสนอศักยภาพและโอกาสการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ จะมีผู้บริหารจากภาคเอกชนชั้นนำร่วมบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จของการทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น Bank of China, บริษัท Haier ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะรายใหญ่ มีการลงทุนในไทยรวมกว่า 16,000 ล้านบาท, บริษัท Westwell Technology ผู้นำด้าน AI และ Digital Green Logistics โดยได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ยกระดับธุรกิจต่าง ๆ เช่น การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะในประเทศไทย อีกทั้งมีผู้แทนภาคเอกชนไปร่วมออกบูธให้ข้อมูลด้านการลงทุนและโอกาสการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทไทย ประกอบด้วยกลุ่มธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคม WHA, TRA, TFD, เอส, โรจนะ และนิคม 304 

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการบีโอไอ จะหารือกับนักลงทุนชั้นนำของจีนเป็นรายบริษัท เพื่อเจรจาแผนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน โดยเน้นการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ธุรกิจบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อเตรียมรองรับปริมาณแบตเตอรี่ใช้แล้วที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและอุปกรณ์โทรคมนาคม การผลิตบรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศไทย เป็นต้น

“ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นฐานการผลิตหลักของจีนในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีคลื่นการลงทุนลูกใหม่จากประเทศจีนเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) กิจการ Data Center และ Cloud Service สำหรับการเยือนจีนครั้งนี้ จะเน้นดึงการลงทุนในกลุ่มแบตเตอรี่และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชน และต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้เข้ามาลงทุนแล้ว โดยเราจะเชิญชวนให้นักลงทุนจีนพิจารณาการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศด้วย” นายนฤตม์ กล่าว  

ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 416 โครงการ เงินลงทุน 158,121 ล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน 2567) จีนขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 554 โครงการ เงินลงทุน 114,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

‘พีระพันธุ์ - เอกนัฏ - อรรถวิชช์’ ประสานมือช่วยเกษตรกร ดันร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

(18 พ.ย. 67) ‘พีระพันธุ์’ ตั้ง ‘อรรถวิชช์’ นั่งประธานคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่เป็นธรรม พร้อมรับมือกองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยไบโอดีเซลอีก 2 ปีข้างหน้า คาด 5-6 เดือนเห็นรูปร่าง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่จะปรับตัวสูงขึ้น หลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569  พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนในฐานะที่มีส่วนกำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา  และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน  โดยมอบหมายให้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว และคาดว่าภายใน 5-6 เดือนหลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นายพีระพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มเป็นอย่างมาก และในอดีตน้ำมันปาล์มยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันเบนซินมีราคาแพง โดยนำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ทำให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลง เรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ B 100   เนื่องจากน้ำมันปาล์มในช่วงเวลานั้นมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินหลายเท่า 

แต่ปัจจุบัน  ราคาน้ำมันปาล์มตกอยู่ที่ประมาณ 41-42 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซินที่นำมาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร  ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด  และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ  

ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ  1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3  นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ  โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20% 

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เพื่อดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง จึงต้องร่างกฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อว่า กฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะมีรูปแบบเหมือนกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เพื่อเป็นการรองรับในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน และต้องเร่งทำให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน 

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะมีการศึกษาพัฒนาต่อยอดการนำผลผลิตไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายพีระพันธุ์กล่าว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเคยออกกฎหมายที่เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล’ เพื่อวางระบบให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลประโยชน์จากการนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาล โดยมีการวางระบบจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกันเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และจะเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายเพื่อดูแลปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกันต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top