Digital for All – เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อโอกาสที่เท่าเทียม ยกระดับบริการภาครัฐสะดวกรวดเร็วลดเหลื่อมล้ำเข้าถึงได้ทุกที่

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติของชีวิต เทคโนโลยีไม่เพียงแต่ช่วยให้การสื่อสารรวดเร็วขึ้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในสังคม แนวคิด 'Digital for All' หรือ 'เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อโอกาสที่เท่าเทียม' จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของภาครัฐและเอกชนทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพ หรือภาคสังคม

โดยส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แนวคิดนี้มีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Divide) และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลัก

ขณะที่กลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมด้านดิจิทัลในประเทศไทย คือ 'กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม' (กองทุนดีอี) ที่ขับเคลื่อนผ่านการให้ทุนพัฒนาโครงการต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา - เทคโนโลยีช่วยให้การศึกษาออนไลน์สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ทำให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กในเมือง, ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล - การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถทำธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และแข่งขันในตลาด, พัฒนาการให้บริการทางสาธารณสุข - ระบบสาธารณสุขดิจิทัลช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ผ่าน Telemedicine ลดภาระของโรงพยาบาลและช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างทักษะดิจิทัล – การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลช่วยให้แรงงานมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต

ทั้งนี้ หนึ่งในโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนดีอี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่เป็นตัวอย่างของการตอบโจทย์การให้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ นั่นก็คือ “โครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อบริการประชาชนสำหรับบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Green Intelligence Digital Services)” ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานปลัดกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยโครงการดังกล่าว เป็นการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล (Smart E-Service) ให้บริการกับประชาชนเรื่องบริหารงานใบอนุญาตประสานการขออนุญาตรับเรื่องร้องเรียนชำระค่าธรรมเนียมส่งเสริมเผยแพร่รวมถึงสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับผู้นำชมชุมชนให้มีความทันสมัยมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับนโยบายและภารกิจในปัจจุบันและอนาคต

โดยทำการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของระบบงานต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียนและพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล (Enrolment and Identity Proofing) การยืนยันตัวตน (Authentication) การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Government Data Exchange) เอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) การประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamping) ผ่านการให้บริการประชาชนด้วยดิจิทัลแบบ One-Stop Service เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการบริการยิ่งดีขึ้น​​

และแน่นอนว่า โครงการนี้เมื่อพัฒนาเสร็จสมบูรณ์จะช่วยให้การบริการประชาชนมีความสะดวกรวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถเพิ่มโอกาสในการใช้บริการด้านดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

กองทุนดีอีพร้อมเดินหน้าภารกิจสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยในอนาคต